“เธอจะถามเรื่องที่กระเทยเอาบทพูดในหนังของเราไปใช้ประท้วงใช่มั้ย? ช่วยเขียนไปเลยว่าถ้าเรื่องการเมืองเราไม่ยุ่ง แต่ส่วนใครจะเอาไปใช้ทำอะไรมันก็สิทธิของเขา”
ยังไม่ทันจะเข้าเรื่อง พชร์ อานนท์ ก็ดักคอเสียแล้ว ทั้งที่เราเปิดประเด็นไว้แค่ว่าเบื้องหลัง “วรรคทอง” ในหนังของเขาเป็นอย่างไร ซึ่งก็จริงเพราะในช่วงการชุมนุมของ “ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล” ไดอะล็อกในหนัง ‘หอแต๋วแตก แหวกชิมิ’ (2554) ถูกนำมาต่อบทกันเพื่อเป็นนัยยะทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็น “หนูด่าตุ๊กตา” และ “นี่บ้านมึงเหรอ?”
แต่ถ้ามองไปไกลกว่าเรื่องการเมือง บทพูดในหนังของพชร์ โดยเฉพาะในซีรีส์ ‘หอแต๋วแตก’ ก็ถูกนำมาเล่นจนเป็นวรรคทองเสมอมา ไม่ว่าจะเป็น “อีช็อกการี” ในหนังภาคเดียวกัน และ “ใครฆ่าอารียา… พยูน ไม่ได้ฆ่า” จาก ‘หอแต๋วแตก แหกกระเจิง’ (2552)
ประโยค “หนูด่าตุ๊กตา” อยู่ในฉากที่ แพนเค้ก (โก๊ะตี๋ – เจริญพร อ่อนละม้าย) มาทวงตุ๊กตาไบลธ์ที่ เจ๊แต๋ว (จาตุรงค์ พลบูรณ์) สัญญาว่าจะซื้อให้ แต่กลับได้ตุ๊กตาราคาถูกมาแทน ซึ่งอย่างที่รู้กันว่าหนังของพชร์มักช่วงชิงสิ่งที่กำลังเป็นกระแสในขณะนั้นมาใส่ในหนังอย่างทันท่วงที และมุกนี้ก็เป็นบทบันทึกว่าครั้งหนึ่งมีสิ่งที่เรียกว่า “ตุ๊กตาไบลธ์” เคยได้รับความนิยมจนมีราคาในท้องตลาดสูงลิบ พอที่จะเป็นมุกจิกกัดในหนังพชร์ได้
“ถ้าเคยติดตามวิธีการทำงานของเรามาจะรู้ว่าทุกอย่างเกิดจากการคิดหน้ากอง และถ่ายเดี๋ยวนั้น อย่างอันนี้คือเราได้อีตุ๊กตามาในเรื่องแล้ว เราก็คุยกันกับโก๊ะตี๋และพี่รงค์ว่าจะเล่นอะไรกับมันดี แล้วมันก็ออกมาแบบนี้ รวมไปถึงมุกอื่นๆ อย่าง ‘อีช็อกการี’ หรือ ‘มึงออกจากบ้านกูไปเดี๋ยวนี้นะ’ มันก็มาจากการทำงานแบบนี้ทั้งนั้น”
สิ่งที่น่าทึ่งคือ การทำงานแบบด้นสดของพชร์กลับสามารถสร้างวรรคทองให้คนเอาไปเล่นต่อได้เรื่อยมา จนราวกับว่าเขาเขียนขึ้นเพื่อสร้างการจดจำ “เราเป็นคนพูดจาแบบนี้อยู่แล้วไง ถ้าเคยดูรายการที่เราเป็นพิธีกรก็จะชอบเอาคำที่คนอื่นเขาไม่พูดกันมาใช้ โดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัว เพราะเป็นคนชอบประชดประชันแบบขำๆ ไม่ได้คิดอะไร แล้วพอเป็นแบบนี้กับการที่เราได้ร่วมงานกับโก๊ะตี๋และพี่รงค์ซึ่งเขาดันเข้าใจดีว่าเราเป็นคนยังไง มันเลยเข้าขากัน ก่อนถ่ายเราก็เล่าให้เขาฟังว่าฉากนี้จะทำอะไร เขาก็ไปช่วยกันคิดแล้วเอามาขาย บางอันถ้าชอบเราก็ซื้อ อันไหนไม่ชอบเราก็ไม่ซื้อ ไม่ใช่ว่าเอาหมด มันเหมือนเราได้คู่ขามาซึ่งทั้งคู่ช่วยเราได้เยอะมาก”
และเมื่อย้อนกลับมาที่ปรากฏการณ์ทางการเมือง เมื่อบทพูดในจักรวาล ‘หอแต๋วแตก’ กลายเป็นสื่อกลาง พชร์ก็ยังยืนยันเช่นเดิมว่า “ถ้าเรื่องการเมืองเราจะไม่ยุ่ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากคนที่ไปประท้วงวันนั้นส่วนใหญ่เป็นเกย์และกระเทยซึ่งเขาเป็นแฟนหนังของเรามาเป็นสิบๆ ปีแล้ว และก็ถูกเอามาเล่นในโซเชียล ใน TikTok ในลิปซิงค์ จนมาถึงการชุมนุม พี่ก็มองว่าเป็นเรื่องปกติ มันเป็นมุกที่ติดปากอยู่แล้ว จะให้เราไปห้ามเขาเหรอ? มันไม่ได้”