“จงเคารพจู๋!”
วาทะคลาสสิกของไลฟ์โค้ชคนนี้ คงบ่งบอกได้ดีถึงความอหังการ์ในความเป็นชายอย่างไม่ธรรมดา แต่เชื่อหรือไม่ว่า ตัวละครบ้าคลั่งในตำนานจากหนังชิงออสการ์เรื่อง Magnolia คนนี้ กลับถูกสร้างผ่านความเศร้าเกินเยียวยาของทั้งดาราและผู้กำกับมาอย่างเข้มข้น!
1) ย้อนไปในปี 1998 ระหว่างถ่ายหนังเรื่อง Eyes Wide Shut อยู่ในอังกฤษ (อ่านเบื้องหลังบ้าคลั่งพอกันของหนังเรื่องนี้ได้ที่นี่) ทอม ครูส กับ นิโคล คิดแมน ภรรยาในขณะนั้น มีเวลาว่างจัดเลยชวนกันดู Boogie Nights (1997) ผลงานลำดับ 2 ของผู้กำกับอัจฉริยะวัย 27 ปีนาม พอล โธมัส แอนเดอร์สัน และประทับใจสุดๆ ถึงขั้นที่ครูสต้องโทรไปชื่นชม บังเอิญเหลือเกินที่แอนเดอร์สันอยู่ลอนดอนตอนนั้นพอดี ครูสจึงชวนเขามาเที่ยวกองถ่าย Eyes Wide Shut โดยไม่รอช้า
2) มิตรภาพของครูสกับแอนเดอร์สันเบ่งบานอย่างรวดเร็ว เพราะไม่แค่ชอบฝีมือกัน แต่ทั้งคู่ยังพบว่าต่างมีปมกับ “พ่อ” เหมือนกันอีกต่างหาก แอนเดอร์สันกำลังเศร้าเพราะพ่อเพิ่งตายไปไม่กี่เดือนก่อนหน้าด้วยโรคมะเร็ง (พ่อของเขาเป็นพิธีกรรายการสยองขวัญยามดึก และเคยซื้อกล้องวิดีโอให้ลูกชายอันบ่มเพาะให้เขาโตมารักการทำหนัง) มันเป็นความเศร้าที่ครูสเข้าใจดี เขาเองก็เสียพ่อไปให้แก่โรคร้าย แต่เจ็บปวดยิ่งกว่าเพราะตั้งแต่เด็กจนโตเขาเคยเห็นหน้าพ่อแค่สองครั้งคือตอนพ่อมารับไปดูหนัง และตอนเฝ้าพ่อในนาทีสุดท้าย พ่อตายไปโดยไม่เคยดูหนังของครูสเลยแม้แต่เรื่องเดียว
3) เวลาเจอผู้กำกับเก่งๆ ครูสชอบเอ่ยปากขอหนังเล่น แอนเดอร์สันก็ได้รับข้อเสนอเช่นกัน (เขาอายุน้อยกว่าครูส 8 ปี ถือว่าเป็นผู้กำกับอายุน้อยที่สุดที่ครูสเคยทำงานด้วย) และตัดสินใจสร้างตัวละครชื่อ “แฟรงค์ ทีเจ แม็กคีย์” ขึ้นในหนังเรื่องต่อมาของเขาคือ Magnolia โดยนำเรื่องราวความสัมพันธ์กับพ่อ ทั้งของตัวเขาและครูสมาใส่เป็นปูมหลัง
4) แต่อุตส่าห์ได้ดาราระดับทอม ครูสมาเล่นทั้งที ตัวละครนี้มันต้องเปิดโอกาสให้ได้โชว์ฝีมือระดับสุดขั้วสิดาราจะได้ประทับใจ แอนเดอร์สันคิดงั้นและถามตัวเองว่า “พอนึกถึงหน้าหล่อๆ ของทอม ผมก็เกิดไอเดียบ้าๆ ขึ้นมาว่า ทำไมไม่ลองให้เขากลายเป็นไอ้บ้ากามขี้เหยียดเพศหญิงดูล่ะ? เราไม่เคยเห็นเขาในบทแบบนี้มาก่อนเลยนะ” ซึ่งด้วยไอเดียนี้เอง ตัวละครนักพูดสร้างแรงบันดาลใจผู้มาพร้อมสโลแกนประจำตัวว่า “ผู้หญิงมีไว้หลอกล่อ แล้วทำลาย” ก็กำเนิดขึ้น
“ผมบอกทอมว่า รับรองเขามันแน่ เขาจะได้เล่นเป็นพวกขี้โชว์ ได้ขึ้นเวที ได้มีฉากดราม่าไปเยี่ยมพ่อป่วยใกล้ตาย มีครบทุกอารมณ์ว่างั้น ซึ่งทอมเข้าใจและอินเต็มที่ ไม่มีฉากไหนเลยที่เขากลัว เขาพร้อมทำทุกอย่างที่ผมบอกให้ทำ อันที่จริงผมนี่แหละต้องเป็นฝ่ายบอกด้วยซ้ำในบางฉากว่า ‘เพลาๆ หน่อยพี่ ฉากนี้พี่ไม่ต้องถือแส้ก็ได้’ เขาพร้อมเล่นสุดตัวจริงๆ เลย”
5) ใน Eyes Wide Shut ครูสแสดงเป็นนักบำบัดที่หมกมุ่นเรื่องเซ็กซ์ ทว่าบทนั้นกลายเป็นเด็กทารกไปเลยเมื่อเทียบกับ แฟรงค์ ทีเจ แม็กคีย์ ผู้ประกาศศักดาว่าสามารถทำให้ผู้หญิงทุกคนในโลกนี้ยอมพลีกายเป็นทาสเซ็กซ์ได้เพียงกระดิกปลายนิ้ว …แต่น่าสนใจเหลือเกินที่ตลอดหนังทั้งเรื่อง เรากลับไม่ได้เห็นเขาขึ้นเตียงกับผู้หญิงเลยแม้แต่คนเดียว (จริงๆ แล้วตอนถ่ายทำมี แต่แอนเดอร์สันกับครูสตัดสินใจตัดออก) แถมความสัมพันธ์ที่เขามีกับผู้หญิง 2 คนในเรื่องนี้ คือผู้ช่วยของเขา และพิธีกรสาวที่มาสัมภาษณ์ ก็เป็นไปในลักษณะที่เผยให้เห็นว่า เขาต่างหากที่ถูกควบคุมอยู่ภายใต้อำนาจของพวกเธอ
6) แม้ครูสจะขึ้นชื่อเรื่องความหล่อกริบ แต่ตลอดชีวิตการแสดงเขาแทบไม่เคยเผยเรือนร่างท่อนล่างหน้ากล้องเลย (ยกเว้นใน All the Right Moves หนังปี 1983 ส่วนใน Risky Business หนังปีเดียวกัน เขาใส่กางเกงใน) และแม้ใน Magnolia เขาจะไม่ถึงขั้นเปลือย แต่ก็ได้ฝากฉากลือลั่นไว้หลังจากแอนเดอร์สันขอหน้าตาเฉยในวันถ่ายทำว่า “วันนี้คุณช่วยถอดกางเกงหน่อยนะ …เถอะน่ะ รับรองตลก”
ตลกหรือเปล่าไม่รู้ รู้แต่สายตาทุกคู่ต้องตื่นตะลึงกับความยิ่งใหญ่ของครูสในฉากนี้ แต่ถ้าจ้องกันดีๆ ก็คงเดาได้ว่ามันน่าจะเป็นของปลอม และถ้าใครเคยดู Boogie Nights ก็คงรู้ด้วยว่าแอนเดอร์สันเคยใช้จู๋ปลอมในหนังมาแล้ว ครูสให้สัมภาษณ์ว่า ไม่รู้ว่าการที่เขาต้องพึ่งของปลอมและคนดูก็ฮือฮากันใหญ่นั้น “เป็นเรื่องที่ผมควรเสียใจหรือดีใจกันแน่” ขณะที่แอนเดอร์สันให้สัมภาษณ์ว่า “ทอม ครูส เป็นดาราใหญ่ที่สุดในโลกนะ ปัทโธ่ จู๋เขาก็ต้องใหญ่ที่สุดในโลกแน่นอนอยู่แล้ว !”
7) ตอนเริ่มเขียนบท แอนเดอร์สันวาดภาพแฟรงค์เป็นไอ้เนิร์ด แต่งตัวด้วยเสื้อเชิ้ตโปโลกับกางเกงกอล์ฟ ซึ่งเขาได้แรงบันดาลใจมาจาก “รอสส์ เจฟฟรีย์ส” ทนายและนักพูดสร้างแรงบันดาลใจตัวจริง (ผู้โด่งดังจากคอร์ส “สอนวิธีจับหญิง” / มีเกร็ดว่า เจฟฟรีย์สขู่จะฟ้องเพราะหนังลอกคำพูดของเขามาใช้เยอะมาก แต่โชคดีที่พอได้ดูหนังแล้วเขาชอบเลยให้อภัย)
แต่ครูสไม่เห็นด้วยกับไอเดียนั่น เขาบอกว่าเขาเห็นภาพแฟรงค์ในชุดสวมปลอกแขน นาฬิกาสายหนังเส้นใหญ่ๆ เสื้อกั๊กรัดๆ และอะไรๆ ที่แสดงถึงความเป็น “ฮีโร่เพศชาย” มากกว่า ครูสตีความว่า แฟรงค์เป็นคนที่รู้ตลอดเวลาว่าการพูดของตนเป็นแค่การเสแสร้ง ทุกสิ่งที่เขาทำล้วนผ่านการซักซ้อมมานับร้อยครั้ง เขาเป็นสิ่งมีชีวิตที่ประกอบสร้างตัวตนขึ้นมาให้เฉิดฉายในแสงสปอตไลท์ และต่อให้ถูกทุบทำลายเกราะนั้น (เช่นที่เขาถูกพิธีกรสาวล้วงถามเรื่องส่วนตัวที่ชวนเจ็บปวด) เขาก็พร้อมจะกลับมาโปรยยิ้มแล้วแสร้งสวมบทบาทไลฟ์โค้ชล่าหญิงต่อไปได้อย่างสุดพลิ้ว
8) สิ่งที่ทำให้ครูสได้รับคำยกย่องที่สุด คือการแสดงที่ผสมผสานระหว่างความมั่นใจเว่อร์และความไม่มั่นคง เพราะเบื้องหลังของหนุ่มบ้ากามคนนี้คือเด็กชายที่ถูกพ่อทิ้งไปตั้งแต่เด็ก เคยเผชิญกับความตายอันหดหู่ของแม่ตามลำพังตอนเขาอายุเพียงสิบสี่ และโตมาด้วยความเกลียดชังหวาดกลัวเต็มหัวใจ ครูสใช้ทั้งการแสดงท่าทางหวั่นไหวสลับกับการใช้ความเงียบ ซึ่งแอนเดอร์สันบอกว่า “มีหลายฉากที่เราจะเห็นแฟรงค์เงียบอึ้ง ได้แต่ถลึงตาพูดไม่ออก ทอมเล่นกับความเงียบเก่งมากๆ ผมชอบมาก”
9) ตัวตนที่แท้จริงของแฟรงค์ถูกเผยในฉากท้าย เมื่อเขาไปเยี่ยมพ่อผู้ใกล้หมดลมหายใจ (รับบทโดย เจสัน โรบาร์ดส์) และเป็นอีกครั้งที่ครูสพิสูจน์ว่าเขาเข้าใจตัวละครนี้ดีแค่ไหน ตอนแรกแอนเดอร์สันเขียนบทไว้ว่า “แฟรงค์มาถึงประตู เห็นพ่อ และร้องไห้โฮออกมา” แต่ครูสแย้งว่า “ผมไม่ได้รู้สึกแบบนั้นเลยนะ” เพราะในชีวิตจริง ครูสยังจำได้ดีถึงภาพที่เขาไปเยี่ยมพ่อที่บ้านซึ่งอย่าว่าแต่จะได้เห็นหน้ากันเลย พ่อไม่เปิดประตูรับเขาด้วยซ้ำ
“ฉะนั้น ในนาทีนี้ผมไม่มีทางรู้หรอกว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผมจะอาละวาดบ้าคลั่งใส่พ่อที่ผมเกลียดมาทั้งชีวิต หรือผมจะร้องไห้แงเหมือนเด็กน้อยที่เห็นพ่อกำลังจะตาย” และคำตอบคือ ตัวละครแฟรงค์ของเขาทำทั้งสองอย่าง แอนเดอร์สันตัดสินใจปล่อยให้ครูสด้นฉากนี้เอาเอง (“ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายมากนะในการทำหนัง ความจริงเราควรมีแผนไว้บ้าง แต่ผมยอมให้ทอมแสดงตามอารมณ์ตัวเอง ผมบอกเขาว่า คุณจะโกรธแค่ไหนก็ได้ จะเศร้ายังไงก็ได้ เอาตามที่รู้สึกจริงเลย”)
และสิ่งที่เราได้เห็น คือแฟรงค์ผู้พกความโกรธเกรี้ยวเกลียดชังมาถึงเตียงพ่อ เขาพยายามควบคุมตัวเอง (เหมือนที่เขาทำตลอดเวลาบนเวที) เขาสั่งตัวเองไม่ให้อ่อนไหว เขาสบถสาบาน เขาก้มลงสาปแช่ง เขาจ้องหน้าพ่อ เขาก่นด่า เขาร่ำไห้ มันเป็นสองนาทีที่ทุกความรู้สึกของผู้ชายน่ารังเกียจคนนี้ทะลักทลายออกมาต่อหน้าเรา เป็นส่วนผสมอันลงตัวของความบ้ากับความเปราะบางที่ทำให้เราต้องร่วมสะเทือนใจไปกับเขาในที่สุด
และเมื่อหนังออกฉาย นี่ก็คือสองนาทีที่ได้รับคำชมว่าเป็นการแสดงที่ดีที่สุดในชีวิตของครูส เขาได้เข้าชิงรางวัลออสการ์เป็นครั้งที่สามจากบทนี้