Home Interview จาก ‘คิง’ ถึง ‘เติม’ : คนเขียนบทจากไป แต่หัวใจของบทยังคงอยู่

จาก ‘คิง’ ถึง ‘เติม’ : คนเขียนบทจากไป แต่หัวใจของบทยังคงอยู่

จาก ‘คิง’ ถึง ‘เติม’ : คนเขียนบทจากไป แต่หัวใจของบทยังคงอยู่

23 มิ.ย. เวลา 13.00 น.

“เดี๋ยวลองโทรมาใหม่ตอนบ่ายสองได้มั้ย เพราะพี่กำลังไปเชิญวิญญาณพี่เติมอยู่” 

คิง-สมจริง ศรีสุภาพ บอกกับเราผ่านโทรศัพท์หลังจากหนึ่งวันที่ เติม-ชนินทร ประเสริฐประศาสน์ เสียชีวิตด้วยการกระทำอัตวิบากกรรมบนเก้าอี้วีลแชร์ของตัวเอง การที่คิงเข้าร่วมพิธีอัญเชิญดวงวิญญาณของผู้วายชนม์และเป็นผู้รับหน้าจัดการรายละเอียดต่างๆ กระทั่งของว่างที่แจกในพิธีสวดอภิธรรม คงพอจะบอกได้ว่าทั้งคู่สนิทสนมกันขนาดไหน 

ตลอดชีวิตการทำหนังของคิง เขาสร้างผลงานที่ประสบความสำเร็จด้านรายได้อยู่หลายเรื่อง และ 3 เรื่องในนั้นเขียนบทโดย เติม-ชนินทร ซึ่งตลอดชีวิตของเติม เขามีเครดิตเขียนบทหนังเอาไว้แค่ 5 เรื่องเท่านั้น นั่นหมายความว่าเกินครึ่งหนึ่งเป็นการเขียนบทให้น้องรัก คิง-สมจริง 

หนังทั้ง 3 เรื่องที่ ‘เติม’ เขียนบทให้ ‘คิง’ ได้แก่ ‘รักแรกอุ้ม’ (2531), ‘พริกขี้หนูกับหมูแฮม’ (2532) และ ‘กลิ้งไว้ก่อนพ่อสอนไว้’ (2534) อีกสองเรื่องที่เติมเขียนบทคือ ‘ต้องปล้น’ (2533) ของ ชูชัย องอาจชัย กับ ‘กาลครั้งหนึ่ง เมื่อเช้านี้’ (2537) ของ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล…แม้จะเป็นเพียงหนังแค่ 5 เรื่อง ตลอดชีวิต 59 ปีของเติม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกเรื่องต่างได้รับการยกย่องจนผ่านกาลเวลามาจนปัจจุบัน 

คิงปลีกตัวจากการส่งแขกในงานสวดอภิธรรมของเติมที่ล้นศาลา 2 วัดอุทัยธารามเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ เพื่อมาคุยกับเรา แต่มันกลับเต็มไปด้วยความรักที่คิงมีมอบให้รุ่นพี่สุดที่รักของเขา จนบางช่วงก็ไม่อาจสะกดน้ำตาเอาไว้ได้ 

จุดเริ่มต้นของการร่วมงานกับพี่เติมอยู่ตรงไหน? 

พี่เติมเป็นรุ่นพี่ที่นิเทศฯ จุฬาฯ แล้วเราสนิทกันตั้งแต่สมัยเรียน พอจบมาก็คุยกันตลอดจนกระทั่งวันหนึ่งได้ทำหนังที่ ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คุณวิสูตร พูลวรลักษณ์ แกก็ให้โอกาส ถามว่ามีเรื่องที่อยากทำมั้ย ก็เลยไปปรึกษาพี่เติม สุดท้ายก็มาลงเอยที่ ‘รักแรกอุ้ม’ เนื่องจากว่ามันเป็นนิยายของอุ๋มอิ๋ม วดีลดา เพียงศิริ เรื่อง ‘ถึงเจ้าวายร้ายตัวน้อย’ กับ ‘เรื่องของอะตอม’ ก็เลยเอามารวมกันเป็น ‘รักแรกอุ้ม’ 

เล็งเห็นอะไรถึงได้ชวนพี่เติมมาร่วมงาน? 

มันไม่ใช่การชวนเลยนะ พวกเราเขียนบทด้วยกันตั้งแต่สมัยยังเรียนหนังสือ ตอนนั้นพี่เติมน่าจะเขียนบทให้ช่อง 3 แล้วด้วยซ้ำ เขามีงานแล้ว ส่วนผมเขียนหนังสือให้นิตยสาร ‘เรา’ เป็นนักเขียน เขียนคอลัมน์ เรื่องสั้น เขียนนั่นนี่ พวกเราทำงานเขียนกันมาตลอด ฉะนั้นเราก็คุยกันตลอดเวลา แล้วตอนเขาเป็นพี่ที่คณะลงมาก็เจอกัน คุยกัน ไปดูหนังด้วยกันตอนเย็น อัดกันไปบนรถสามล้อ ยังแซวกันอยู่เลยว่าหน้ารถเขาจะกระดกเอา (หัวเราะ) 

คิง-สมจริง ศรีสุภาพ

แนวทางการเขียนบทของพี่เติมเป็นอย่างไร? 

เขาเป็นคนชัดเจนเรื่องคาแรกเตอร์นะ ฉะนั้นตัวเอกในแต่ละเรื่องจะคาแรกเตอร์ชัดมาก เช่น ‘พริกขี้หนูกับหมูแฮม’ คาแรกเตอร์ของ จันทร์จิรา จูแจ้ง ทุกวันนี้คนก็ยังจำได้อยู่เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘กลิ้งไว้ก่อนพ่อสอนไว้’ ตัวละครหลัก 5 ตัว คนก็จำได้หมดนะ เพราะเขาแม่นในเรื่องนี้มาก ซึ่งผมว่าคนที่เข้าใจเรื่องคาแรกเตอร์จะไปต่อได้ในการคิดเรื่อง บางทีเราได้อ่านบทเรื่องนึง คาแรกเตอร์ไม่ชัด เราไปไหนต่อไม่ได้เลยนะ พอเราเข้าใจเรื่องคาแรกเตอร์แล้วสถานการณ์อื่นๆ มันจะตามมา เพราะพอเรารู้ว่าคาแรกเตอร์เป็นยังไง เราก็หากิจกรรมให้เขาทำได้ไง สมมติเรารู้ว่าตัวละครชอบถ่ายรูปหรือชอบเซลฟี หูยกิจกรรมมันตามมาเยอะเลยนะ ถ้าเราตีคาแรกเตอร์ได้มันแตกสถานการณ์ไปได้อีกมหาศาลเลย

เวลาเริ่มแต่ละโปรเจกต์มีการคิดเรื่องคาแรกเตอร์นานขนาดไหน? 

เราคิดสตอรี่ก่อนค่อยไปเห็นคาแรกเตอร์ แล้วคาแรกเตอร์มันจะขับเคลื่อนสตอรี่อีกที มันต้องมีโครงใหญ่ๆ ออกมาก่อน ค่อยลงรายละเอียดของมัน

ถ้าให้ยกตัวอย่าง ‘พริกขี้หนูกับหมูแฮม’ อะไรในนั้นที่แสดงความเป็นพี่เติมได้ชัดที่สุด

ไดอะล็อก ความคมคาย และความตลก ทั้งหมดมันไปด้วยกันได้ดีกับคาแรกเตอร์ เหมือนพอพี่เติมเขามั่นใจในคาแรกเตอร์ตัวละครของเขาแล้วมันสนุกไปถึงระดับไดอะล็อกเลย ตอนนั้นเราโดนด่าเหมือนกันนะว่าสถานการณ์ที่ตัวละครจอห์น (ขจรศักดิ์ รัตนนิสสัย) ฆ่าตัวตาย มันไม่น่าจะไปถึงจุดนั้นได้ ซึ่งจริงๆ แล้วบางทีคนเรามันอาจจะมีแค่วูบเดียวเท่านั้นแหละ อะไรมันก็เกิดขึ้นได้ มนุษย์นี่เนอะ แต่เราเล่าออกมาให้ตลกไง เราไม่ได้เร้าอารมณ์ดราม่า อย่างในเรื่องเขาผูกคอตายเราก็เห็นเป็นควิกคัต เชือกแขวน เก้าอี้เสือกเข้ามาในเฟรม ทุกอย่างมันถูกเล่าเป็นคอมิดี ซึ่งเราก็ไม่ได้ติดใจว่าทำไมจอห์นถึงจะฆ่าตัวตายไม่ได้ คนผิดหวังจากความรักมาต้องมีสติตลอดเวลาเลยเหรอ ไม่จำเป็น 

หนังทั้งสามเรื่องประสบความสำเร็จมากมาย พี่เติมมีส่วนเกี่ยวข้องแค่ไหน? 

มีสิ เยอะด้วย เพราะบทเป็นหัวใจของหนัง บทที่ดีก็จะทำให้คนดูมีอารมณ์ร่วมคล้อยตามได้จนถึงไคลแม็กซ์ สามเรื่องที่พี่เติมเขียนตอบตรงนี้หมด ตอน ‘กลิ้งไว้ก่อน พ่อสอนไว้’ มีเด็กคนหนึ่งเขียนจดหมายมาหาเราว่าหนังมันทำให้เขารู้สึกว่าเขาอยากจะเป็นอะไร เพราะตัวละครในเรื่องมันเป็น loser หมด ไม่มีใครมีจุดหมายในชีวิต อะไรพัดมาก็พร้อมโซซัดโซเซไปทางนั้นทางนี้ จนกระทั่งวันสุดท้ายที่สำเร็จการศึกษา พวกเขารู้แล้วว่าจะทำอะไรต่อไป มันเติบโตมาจากการตายของเพื่อนในกลุ่มที่เป็นน้องเล็กสุด ที่จู่ๆ ก็โดนตีหัว จู่ๆ ก็ต้องไปโรงพยาบาลกัน จู่ๆ ก็ต้องมาลุ้นว่าเพื่อนจะตายมั้ย มันทำให้เด็กกลุ่มนี้จุดประกายขึ้นมาว่าชีวิตเราก็มีแค่นี้เอง วันนี้เราอยากทำอะไร เราอยากเป็นอะไร ก็ (เสียงสั่นเครือ) น่าจะเดินไปตามเป้าหมายในชีวิต แต่ระหว่างทางที่เติบโตเราอาจจะเจอนั่นเจอนี่จนเบี่ยงเบนไปบ้าง อย่างน้อยในช่วงวัยหนึ่งของเขา เขาก็ได้รู้ว่าอยากเป็นอะไร อยากจะไปตรงไหน อยากออกไปหยิบความฝันของเขา ตรงนี้คือสิ่งที่ ‘กลิ้งไว้ก่อนฯ’ ชัดเจนมากๆ ที่สำคัญคนดูก็จะช็อคเพราะมันไม่มีลางบอกเหตุอะไร มันเป็นแพทเทิร์นแบบใหม่ๆ 

บทหนังของพี่เติมก็ไม่ต่างจากการตัดสินใจของเขาเลยนะครับ

มันเหมือนกันเลยแหละ มันเป็นวินาทีนั้น ถ้าเรามีสติเราก็จะรู้ตัวได้เร็ว แต่เราก็ให้เกียรติการตัดสินใจของเขานะ เพราะมันคงมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่เราก็คงไม่รู้ ทางนี้อาจจะเป็นทางที่…(นิ่งคิด) ไม่รู้สิ การที่เรามีชีวิตอยู่ พรุ่งนี้เรายังไม่รู้ว่าจะเจออะไร การที่เขาเลือกไปอีกทางมันก็คือเขาเองก็ไม่รู้ว่าจะเจออะไรเหมือนกัน ทั้งสองทางที่ว่าไม่มีใครรู้ทั้งนั้นว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น ดังนั้นถ้าเลือกเองได้เขาก็อาจจะอยากไปทางนั้น ซึ่งเราจะไปว่าเขาไม่ได้จริงมั้ย?

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here