นอกจากการกำกับที่ทำให้ Paris, Texas ออกมาเป็นที่ชื่นชอบของคนรักหนังหลายๆ คนทั่วโลกของ วิม เวนเดอร์ส, การแสดงและการปรากฏตัวอันน่าจดจำของ แฮร์รี่ ดีน สแตนตัน และ นาตาชา คินสกี้, การกำกับภาพที่ดูแห้งแล้งและแฝงสีสันของความเหงาของ ร็อบบี้ มึลเลอร์ แล้ว อีกองค์ประกอบหนึ่งโดดเด่นและขับอารมณ์ความเปล่าเปลี่ยวโดดเดี่ยวของหนังออกมาอย่างชัดเจน คือฝีไม้ลายมือการเล่นดนตรีของ Ry Cooder (ไร คูเดอร์) ผู้ทำดนตรีประกอบ หรือสกอร์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่หลายคนเมื่อได้ดูหนังจบ ต่างชื่นชอบและยกให้เป็นซาวด์แทร็คในดวงใจ รวมไปจนถึง Dave Grohl นักร้องนำของวง Foo Fighters ให้สัมภาษณ์ในหนังสือ Spin ว่านี่คือหนึ่งในอัลบั้มซาวด์แทร็คที่เขาชอบมากที่สุด
ในโลกแห่งดนตรีโดยทั่วไป ไร คูเดอร์อาจไม่ได้เป็นนักดนตรีที่มีคนรู้จักมากนัก แต่ในโลกแห่งมือกีต้าร์ เขาคือสุดยอดผู้เล่นแห่งในการใช้เทคนิคสไลด์กีต้าร์ที่ทั่วโลกให้การยอมรับ นิตยสาร Rolling Stones ยกให้เขาเป็นอันดับ 8 จาก 100 มือกีต้าร์ที่ฝีมือดีที่สุดตลอดกาล เขาสนใจดนตรีแนวเพลงท้องถิ่นของคนอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นบลูส์, คันทรี่, กอสเปล, โฟล์ค, ร็อค หรือดนตรีท้องถิ่นจากประเทศต่างๆ และนำมาดัดแปลงให้เข้ากับสไตล์การเล่นแบบสไลด์กีต้าร์ของตัวเอง
ความเข้าใจและฝีไม้ลายมือที่เรียกได้ว่าเป็นอัจฉริยะในการเล่นดนตรีหลากหลายประเภท ทำให้เขาได้ร่วมงานนักดนตรีชั้นนำในการอัดเสียงเวอร์ชั่นสตูดิโออัลบั้มมากมาทั้ง Eric Clapton, Captain Beefheart, Van Morrison, Neil Young, The Rolling Stones ก่อนที่จะได้ออกอัลบั้มเดี่ยวของตัวเอง ควบคู่ไปกับการทำซาวด์แทร็คเพลงประกอบภาพยนตร์ ซึ่งสกอร์ของเขาที่โด่งดังมากๆ อีกอันหนึ่งของเขาคือเรื่อง Crossroads (1986, Walter Hill) ที่ชาวมือกีต้าร์หลายๆคน มีหนังเรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจ
ในการทำงานระหว่างไร คูเดอร์ กับวิม เวนเดอร์ส นั้น เขาให้สัมภาษณ์ว่า “วิมเป็นคนที่ปรับตัวได้ง่ายต่อสิ่งที่เกิดขึ้นมาก สิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าเราสองคนเข้ากันได้ ผมรู้สึกว่าเราตัดสินใจกับอะไรบางอย่างคล้ายๆกัน ทำให้ผมเชื่อในการตัดสินใจของเขา เราต้องอยู่ใกล้ๆกับคนที่เชื่อใจได้ ไม่งั้นเราจะทำอะไรไมได้เลย เราจะกลัว เราจะนอยด์ แล้วงานมันจะเกิดไม่ได้ ผมเชื่อมากๆว่า ความเชื่อมั่นเป็นสิ่งสำคัญในการทำงานจริงๆ” และนั่นคงทำให้เขาได้ร่วมงานกับเวนเดอร์สใน Buena Vista Social Club ในเวลาถัดมา
เทคนิคการสไลด์กีต้าร์ของ ไร คูเดอร์ ยังคงเป็นพระเอกในสกอร์ของหนังเรื่องนี้ แต่ไม่ใช่ในสไตล์เพลงบลูส์ที่เรารับรู้โดยทั่วไป ที่บรรจุอารมณ์ลงไปในบทเพลงอย่างเต็มเปี่ยม สกอร์ใน Paris, Texas นั้นมีความยืดยาด เนิบช้า และเสียงกีต้าร์ที่ดูเหมือนหมดแรง แสดงถึงอารมณ์ที่สั่นคลอนและเคว้งคว้างท่ามกลางความแห้งแล้งนั้นได้ดี เหมือนทำให้เราผู้ฟังรับรู้ถึงความร้อน หยดเหงื่อ เห็นภาพของทะเลทรายแม้ไม่ต้องดูหนัง
อย่างที่เวนเดอร์สได้ให้สัมภาษณ์ถึงช่วงที่ทำสกอร์กันว่า “เมื่อเรากำลังจะอัดเพลงไรจะยืนถือกีต้าร์จ้องหน้าจอที่ฉายหนังอยู่ และเล่นไปพร้อมกับมัน ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังถ่ายภาพนั้นใหม่ และกีต้าร์ก็เปรียบเสมือนกล้องของเขา” เริ่มต้นเพลงแรกในอัลบั้มอย่างเพลง ‘Paris, Texas’ ที่เหมือนเป็นเพลงธีมของหนังที่ทำให้เราเห็นภาพจำในตอนที่แทรวิสเข้ามาในเฟรมหนังครั้งแรก ท่ามกลางทะเลทรายอันแห้งแล้ง และเขาต้องเดินไปอย่างไม่มีจุดหมาย ไม่มีซึ่งจิตวิญญาณของการมีชีวิต และเหมือนคนที่สูญสิ้นทุกอย่างไปหมด
อีกหนึ่งเพลงที่เป็นตัวชูโรงของอัลบั้ม และเป็นอีกหนึ่งโมเมนท์ที่ทุกคนล้วนจดจำได้ในหนังเรื่องนี้ คือฉากที่แทรวิสได้ดูวิดีโอจากม้วนฟิล์ม super 8 เก่า ภาพในอดีตของเขาที่ได้อยู่ร่วมกับเจน ฮันเตอร์ในตอนที่ยังเป็นเด็กเล็ก และครอบครัวของวอลท์ ภาพที่ปกคลุมไปด้วยรอยยิ้มและอดีตอันแสนหวานเหล่านั้น เคล้าคลอไปกับเพลง ‘Canción mixteca’ ที่ร้องโดยตัว แฮร์รี่ ดีน สแตนตัน เองด้วยภาษาเม็กซิกัน ซึ่งต้นฉบับของเพลงนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 1912 โดย José López Alavez ศิลปินชาววาฮากา (Oaxaca) ซึ่งในตอนแรกมีเพียงแค่ภาคดนตรีเท่านั้น ภายหลังในปี 1915 จึงมีเวอร์ชั่นที่มาพร้อมเนื้อร้องอีกที
ตัวเพลงอธิบายถึงความรู้สึกโหยหาบ้านที่ได้จากมาเป็นเวลานาน เพลงนี้มีหลากหลายเวอร์ชั่นมาก เพราะนี่คือหนึ่งในบทเพลงอมตะที่อยู่คู่กับชาววาฮากา และชาวเม็กซิโกมานับร้อยปี ซึ่งเวอร์ชั่นของไร คูเดอร์นั้นก็ได้ใช้เทคนิคการสไลด์กีต้าร์ที่เป็นเอกลักษณ์ ผสมผสานไปกับแนวเพลงแบบบลูส์ แต่ฟังดูอบอุ่น และหอมหวาน สิ่งที่น่าตกใจคือเราไม่ได้คาดคิดว่า แฮร์รี่ ดีน สแตนตัน จะมีเสียงร้องที่แข็งแรงและวางนำเสียงหนักเบาได้เข้ากับเพลงอย่างน่าทึ่งขนาดนี้ กลายเป็นเพลงที่มีพลังในแง่บวกมากที่สุดในอัลบั้ม โดยลำพังเพลงนี้ก็กลายเป็นเพลงที่ยอดเยี่ยมอยู่ในตัวอยู่แล้ว พอประกอบกับภาพในซีนนั้นทำให้เพลงยิ่งเป็นที่น่าจดจำขึ้นไปอีก ภายหลังสแตนตันมีอัลบั้มเดี่ยวเป็นของตัวเองในชื่ออัลบั้ม Partly Fiction อัลบั้มเพลงแนวโฟล์คซึ่งเป็นซาวด์แทร็คประกอบภาพยนตร์สารคดีในชื่อเรื่องเดียวกันเมื่อปี 2012 ในอัลบั้มนั้นมีเพลง Canción mixteca ที่ทำขึ้นมาใหม่ด้วย
อีกหนึ่งเพลงที่เป็นอีกหนึ่งเพลงเด็ดของซาวด์แทร็คอัลบั้มนี้คือ ‘I Knew These People’ ซึ่งมีความยาวทั้งหมด 8.43 นาที เพลงนี้คือการยกโมโนล็อคทั้งซีนที่แทรวิสเล่าเรื่องอดีตระหว่างเขากับเจน ขึ้นต้นด้วยประโยคที่เป็นชื่อเพลงนั้น เล่าไปอย่างเอื่อยๆ แต่ค่อยๆ ขับเน้นอารมณ์มาเรื่อย จากความสัมพันธ์ตั้งแต่เริ่มคบจนจบลงอย่างโศกเศร้า เพื่อให้เธอรู้ตัวว่าฝั่งตรงข้ามที่กำลังพูดอยู่คือเขาเอง ในเพลงนั้นมีการตัดบางประโยคที่ไม่จำเป็นออกไปบ้าง ในช่วงต้นนั้นจะมีแค่เสียงพูดของแทรวิสเพียงอย่างเดียว เวลาที่เราได้กลับมาฟังหลังจากดูหนังอีกรอบ จะทำให้เราอยู่ไปกับตัวเพลง และนึกถึงซีนนั้นในหนังมากขึ้น ก่อนที่เพลงของ ไร คูเดอร์ จะค่อยๆ บรรเลงขึ้นช่วงประมาณนาทีที่ 6 ตัวเพลงจะเหมือนเป็นการดัดแปลงตัวเพลง Canción mixteca และเพิ่มเสียงของเปียโนเข้ามาประกอบ ทำให้มีความนุ่มนวลขึ้น การกลับมาของทำนองเพลงนี้ทำให้เรานึกถึงฉากที่กลับไปดูฟุตเตจ super 8 ตอนนั้นอีกครั้ง และทำให้ซีนนั้นเป็นซีนที่มีพลัง และเป็นที่พูดถึงเมื่อได้ดูหนังเรื่องนี้
เพลงสุดท้ายในอัลบั้มถือเป็นเพลงที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นเพลงที่ทำให้สกอร์อื่นๆ ของหนังเรื่องนี้ขึ้นมา อย่าง ‘Dark Was the Night (Cold Was the Ground)’ ที่เป็นการคัฟเวอร์เพลงบลูส์ชั้นครูของ Blind Willie Nelson ศิลปินเพลงบลูส์-กอสเปลระดับตำนานของอเมริกา ซึ่งคูเดอร์ให้คำนิยามกับเพลงนี้ว่า “เป็นเพลงที่อัดแน่นไปด้วยอารมณ์ และดีเยี่ยมที่สุดในบรรดาเพลงอเมริกันทั้งหมดที่เกิดขึ้นมา” ในเวอร์ชั่นของคูเดอร์นั้น เขาได้ตัดเสียงคร่ำครวญลง ทำให้เพลงช้าลง และอารมณ์ที่เปล่าเปลี่ยว มากกว่าจะเป็นอารมณ์ความเศร้าแบบรวดร้าวเหมือนในต้นฉบับ พอฟังแล้วจะนึกถึงเพลง Paris, Texas ที่มีความคล้ายคลึงกัน ซึ่งเพลงส่วนใหญ่ในอัลบั้มจะมีทำนองที่ยึดโยงมาจากเพลงนี้นั่นเอง
เพลงอื่นๆ ในอัลบั้มที่น่าสนใจอย่าง ‘She’s Leaving the Bank’ ที่มีความยาว 6.02 นาที ในช่วงแรกของเพลงยังมีความคล้ายกับเพลงอื่นๆ บ้าง แต่พอเพลงเริ่มเข้าช่วงกลางๆ กลับเปลี่ยนทำนองให้เร็วขึ้น ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นการผจญภัย เป็นเพลงที่ฟังได้เพลินๆ ได้อารมณ์การท่องเที่ยว เป็นเพลงที่มีจังหวะปานกลาง แต่นั่นก็ถือว่าเร็วที่สุดในอัลบั้มแล้ว ยิ่งถ้าได้เห็นภาพในหนัง ฉากที่แทรวิส และฮันเตอร์กำลังขับรถตาม ยิ่งรู้สึกลุ้นและตื่นเต้น เอาใจช่วยให้สองพ่อลูกได้เจอเจนอย่างที่พวกเขาต้องการเสียที หรือ ‘No Safety Zone’ ซึ่งปรากฏอยู่ในอีกหนึ่งซีนที่แทรวิสได้เจอกับชายที่ยืนตะโกนอย่างเสียสติและหมดหวังอยู่ที่บนสะพาน เป็นแทร็คที่ให้ความรู้สึกถึงความเศร้าแต่เจือไปด้วยอารมณ์ที่อบอุ่นอยู่กลายๆ ไร คูเดอร์ ได้ลดการใช้การสไลด์กีต้าร์ลง และเปลี่ยนวิธีการเล่นกีต้าร์ไปเป็นโน้ตแบบปกติมากขึ้น
สกอร์หนังเรื่องนี้กลายเป็นอีกผลงานชิ้นเอกของคูเดอร์ที่ทำให้ทั่วโลกได้รู้จักในตัวเขา จนทำให้ได้เข้าชิงในรางวัล BAFTA Awards สาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปี 1985 ถึงในปัจจุบันความยอดเยี่ยมของ Paris, Texas อาจถูกกลบจากหนังคลื่นลูกใหม่ที่ซัดสาดเข้ามาบ้าง แต่หนังที่คลาสสิคที่ยังคงค้างอยู่ในกาลเวลา ก็มักจะถูกขุดพบเจอขึ้นมาได้เสมอ สกอร์ของคูเดอร์ก็เช่นเดียวกัน ถ้าหากต้องการนึกถึงซาวด์แทร็คที่มีความโดดเด่นในอารมณ์ความเหงา และให้บรรยากาศที่เห็นภาพความแห้งแล้ง อัลบั้มนี้อาจถูก และเป็นสกอร์ที่สามารถฟังได้เดี่ยวๆ โดยไม่ต้องพึ่งภาพในหนังมาประกอบได้เช่นเดียวกัน ซึ่งอาจจะได้อรรถรสไปอีกแบบหนึ่ง