เพราะสถานการณ์ปัจจุบันบังคับให้เราต้องดูหนังอยู่บ้านเป็นหลัก ชีวิตนักดูหนังอย่างเราๆ เลยต้องพัวพันกับรหัสลับอย่าง HD, 4K และ Dolby Vision ใครที่สนใจเทคโนโลยีอยู่แล้วอาจรู้จักมันเป็นอย่างดี แต่สำหรับคนที่เพิ่งสังเกตเห็นมันอาจต้องมาเริ่มทำความเข้าใจใหม่เพื่อการดูหนังที่บ้านให้เต็มอิ่มที่สุดบนอุปกรณ์ของตัวเอง เพราะไม่แน่ว่าเราอาจจะต้องอยู่กับมันไปอีกนาน
ด้วยเหตุนี้เราเลยคุยกับ กฤษฎา แก้วมณี Technical Director แห่ง One Cool Production บริษัทโพสต์โปรดักชั่นทั้งหนังไทยและเทศ รวมไปถึงซีรีส์ที่ออกอากาศทางโทรทัศน์และสตรีมมิ่ง ผู้ซึ่งต้องคลุกคลีกับปัจจุบันยันอนาคตของเทคโนโลยีภาพยนตร์ก่อนจะกลายเป็นสินค้าให้เราได้เสพไม่ว่าจะผ่านช่องทางไหนก็ตาม และน่าจะเป็นผู้ที่บอกได้ดีที่สุดด้วยว่า เทคโนโลยีเพื่อการดูหนังที่บ้านนั้นจะสามารถทดแทนการดูหนังในโรงได้หรือไม่? เราสรุปมาให้คุณแล้ว
1) DolbyVision คือระบบภาพที่พัฒนาโดย Dolby เป็น HDR โดยมีคู่แข่งคือ #HDR10 ซึ่งเป็นระบบภาพเหมือนกัน แต่เกิดจากการพัฒนาร่วมกันระหว่างสตูดิโอกับโทรทัศน์ยี่ห้อต่างๆ ส่วน #4K คือความละเอียดของภาพ
2) หากหนังเรื่องไหนหรือโทรทัศน์รุ่นใดจะบรรจุหรือรองรับระบบ Dolby Vision ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้ Dolby จึงทำให้โทรทัศน์ที่รองรับมีราคาสูงกว่ารุ่น HDR10 ซึ่งใช้ฟรี อย่างไรก็ตาม Dolby Vision จะมาพร้อมโหมดอัจฉริยะ โดยมันจะคำนวณคุณภาพของทีวีให้สัมพันธ์กับคอนเทนต์เพื่อแสดงผลตรงกับความต้องการของคนทำหนังมากที่สุด “เคยได้ยินโหมดอัจฉริยะมั้ย แต่แทนที่มันจะคำนวนล่องลอยอะไรก็ไม่รู้ บางทีเราทำหนังผี เราไม่อยากให้คนเห็นว่าตรงนี้มันมีผีชัดๆ แต่ทีวีอัจฉริยะมันขุดขึ้นมาให้เราเห็นโจ๋งครึ่มเลย ความน่ากลัวมันก็จะผิดไปจากความตั้งใจของคนทำ… Dolby Vision มันก็ยืนอยู่บนหลักการอะไรประมาณนั้นแหละ แต่มันเป็นการคำนวนตามสิ่งที่คนทำหนังเขาตั้งใจว่าอยากให้ออกมาเป็นยังไง แล้วความสามารถตรงนี้มันก็จะผูกอยู่กับความสามารถของจอด้วยว่ามันสามารถมืดสว่างได้แค่ไหน”
3) ดังนั้นไม่จำเป็นว่าจอที่คุณใช้ดูหนังจะต้องเทพมาจากไหน แต่หากหนังเรื่องนั้นๆ มีระบบ Dolby Vision อยู่ มันจะคำนวนเพื่อแสดงผลที่ดีที่สุดบนข้อจำกัดของแต่ละจอเอง
4) Dolby Vision เกิดที่โรงหนังก่อนจะพัฒนาไปอยู่ในโทรทัศน์, สมาร์ทโฟน, แทบเล็ต และคอมพิวเตอร์ วิธีการทำงานคือเมื่อหนังที่มีระบบ Dolby Vision ส่งฉายในโรง Dolby Vision (ซึ่งมักจะมีระบบเสียง Dolby Atmos ด้วย) เครื่องฉายก็จะประมวลข้อมูลเพื่อแสดงผลตรงตามที่ผู้สร้างต้องการโดยอัตโนมัติ เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกโรงทั้งโลก …ในเมืองไทยยังไม่มีโรง Dolby Vision แต่มันแพร่หลายในโทรทัศน์กับสมาร์ทโฟน ด้วยระบบการทำงานแบบเดียวกัน
5) ด้วยเหตุนี้เลยยังไม่มีหนังไทยเรื่องไหนทำมาสเตอร์ในระบบ Dolby Vision เลยสักเรื่องเดียว แม้ว่าจะเป็นที่ต้องการในตลาดสตรีมมิ่งแค่ไหนก็ตาม
โรงหนังในทุกวันนี้มันรองรับ 4K แต่ใน 100 โรง อาจจะมีสัก 20 โรงที่ไม่รองรับ คนทำเลยไม่กล้าเสี่ยง ส่งหนังไปให้เย็นนี้พรุ่งนี้ฉายแล้วเกิดมันฉายไม่ได้ทำยังไง? พอเป็นแบบนี้ กลายเป็นว่าสตรีมมิ่งได้เปรียบมากเลย เพราะมันสามารถทำเป็น 4K ได้ทันที โดยที่ไม่ต้องมีความยุ่งยากอะไรเพิ่มเติม จอของใครเป็น 4K ก็จะเห็นเป็น 4K ยิ่งสตรีมมิ่งมันเป็นระบบคอมพิวเตอร์ มันเป็นอะไรก็ได้ มันง่ายกว่าโรงหนังเยอะเลย
6) แล้วหนังไทยทำมาสเตอร์เป็นระบบไหนกัน? “ตอนนี้จะเป็น 2K แล้วก็เป็น SDR หมดเลย ยังไม่มี HDR เสียงก็เป็น 5.1 กับ 7.1 ส่วน 4K มีเทสต์ไปบ้างแล้ว แต่ก็ติดปัญหาที่บางโรงอายุการใช้งานนานแล้ว อาจจะไม่ซัพพอร์ต จริงๆ โรงหนังมันเป็น 4K มาตั้งแต่วันที่มันเกิดเลย แต่ว่าเราทำมันแค่ 2K เพื่อความสะดวก เราสามารถฉาย 4K ได้อยู่แล้ว แต่มันจะเป็น 4K ที่ใช้บิทเรตเดียวกับ 2K หมายความว่าเรามีออพชั่นสองอย่าง คือ เราจะเรนเดอร์เป็น 2K แต่แน่นหรือ 4K แต่หลวม เราเลือกได้”
7) ส่วนสาเหตุที่ผู้สร้างหนังไทยเลือกทำมาสเตอร์แค่ 2K เพราะว่า “โรงหนังในทุกวันนี้มันรองรับ 4K แต่ใน 100 โรง อาจจะมีสัก 20 โรงที่ไม่รองรับ คนทำเลยไม่กล้าเสี่ยง ส่งหนังไปให้เย็นนี้พรุ่งนี้ฉายแล้วเกิดมันฉายไม่ได้ทำยังไง? พอเป็นแบบนี้ กลายเป็นว่าสตรีมมิ่งได้เปรียบมากเลย เพราะมันสามารถทำเป็น 4K ได้ทันที โดยที่ไม่ต้องมีความยุ่งยากอะไรเพิ่มเติม จอของใครเป็น 4K ก็จะเห็นเป็น 4K ยิ่งสตรีมมิ่งมันเป็นระบบคอมพิวเตอร์ มันเป็นอะไรก็ได้ มันง่ายกว่าโรงหนังเยอะเลย ตอนนี้ก็มีซีรีส์ไทยหลายเรื่องที่ทำเป็น 4K ไป เพราะมันเป็นมาตรฐานไปแล้วสำหรับซีรีส์ที่ต้องส่งนอก”
8) นอกจาก 4K ตอนนี้มีโทรทัศน์บางยี่ห้อเริ่มไปถึงขั้น 8K กันแล้ว หนังสตรีมมิ่งต้องปรับตัวกันอีกหรือไม่? ใครที่กำลังคิดจะซื้อทีวีมาดูหนังควรจัด 8K มาดักเทคโนโลยีเลยหรือเปล่า? กฤษฎาบอกว่า “ไม่ต้อง” หากต้องการอุปกรณ์มาเพื่อดูหนังโดยเฉพาะ มันจะอยู่ที่ความละเอียด 4K ไปอีกยาว ในขณะที่ 8K พัฒนามาเพื่อรองรับกลุ่มบรอดคาซท์มากกว่า เช่น ถ่ายทอดสดฟุตบอล เป็นต้น
9) สรุปแล้ว เทคโนโลยีเพื่อการดูหนังที่บ้าน สามารถทดแทนการเข้าโรงหนังได้หรือไม่? กฤษฎาบอกว่าทดแทนกันได้แน่นอน แต่ปัจจัยสำคัญมันอยู่นอกเหนือเรื่องเทคโนโลยี
10) จุดเปลี่ยนที่น่าติดตามคือข่าวโรงหนังเครือยักษ์ของอเมริกาอย่าง AMC แบนหนังจากสตูดิโอยูนิเวอร์ซัล เพราะดันข้ามหัวโรงไปเปิด Trolls World Tour บนสตรีมมิ่งแล้วดันมียอดผู้ชมถล่มทลาย และหากค่ายหนังไม่ง้อโรงน่าจะเกิดการพลิกโฉมครั้งสำคัญ “สมมติฉายได้สามอาทิตย์โดนโรงไล่ออกล่ะ ยังฉายได้ไม่เท่าไหร่เลย ขณะที่สตรีมมิ่งมันอยู่นาน เราจะเห็นบางเรื่องขึ้น top10 ประเทศไทย 3-4 เดือนแล้วก็ยังไม่ตกเลย พอกระแสดีคนก็ยังดูระลอกสอง ซึ่งมันเป็นสิ่งที่โรงภาพยนตร์ให้ไม่ได้ หลังจากนี้มันจะมีหนังเรื่องไหนอีกมั้ยที่ข้ามโรงไปเลย เทคโนโลยีไม่ต้องไปพูดถึง มันสู้ได้แน่นอน”
11) กล่าวโดยสรุปคือ กฤษฎามองว่าเทคโนโลยีไม่ใช่ตัวแปรสำคัญที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมการดูหนัง แต่หากในอนาคตจะมีหนังที่หลากหลายและยั่วน้ำลายมากพอไปอยู่ในสตรีมมิ่งจนคนดูพร้อมจะลงทุนกับอุปกรณ์ เมื่อนั้นทิศทางก็จะเปลี่ยนไป