Home Review Series Review Andor (Season 1) : เหตุแห่งการต่อต้าน

Andor (Season 1) : เหตุแห่งการต่อต้าน

Andor (Season 1) : เหตุแห่งการต่อต้าน

ไม่มีใครอยากเป็นแคสเซียน แอนดอร์

แคสเซียนไม่มีอะไรใกล้เคียงกับบรรดาวีรบุรษทั้งหลายในจักรวาลอันไกลโพ้นของสตาร์วอร์ส เขาเป็นผู้รอดชีวิตคนเดียวจากดาวเหมืองที่ถูกจักรวรรดิยึดครอง โตมากับพ่อแม่บุญธรรมที่เป็นหัวขโมยซากยาน ความฝันสูงสุดมีเพียงตามหาน้องสาวที่พลัดพรากให้เจอและหนีไปเสียให้พ้นหูพ้นตาเผด็จการครองกาแล็กซี่ เขาเข้าใจดีว่าตัวเองไม่มีพลังอำนาจอะไรจะเปลี่ยนสิ่งที่เป็นอยู่ และไม่มีความคิดจะสู้เพื่อใครทั้งนั้นนอกจากตัวเอง

ไม่มีอะไรที่ใกล้เคียงกับการเป็นวีรบุรุษเลยแม้แต่น้อย

จากตัวละครกบฏนักสู้ใน Rogue One: A Star Wars Story (2016) งานเขียนบทร่วมของ Tony Gilroy กับ Chris Weitz ชีวิตของ แอนดอร์ (Diego Luna) ก่อนเข้าร่วมฝ่ายต่อต้านถูกนำมาขยายเป็น Andor ซีรีส์ 12 ตอนจบภายใต้การดูแลของกิลรอย ผู้ชมและนักวิจารณ์จำนวนมากยกให้มันเป็นเรื่องราวจากจักรวาลสตาร์วอร์สที่เข้มข้นที่สุดเรื่องหนึ่ง แม้ว่ามันจะไม่พูดถึงฟอร์ซหรือไลท์เซเบอร์เลยแม้แต่นิดเดียว และแคสเซียน แอนดอร์ ตัวเอกของเรื่องเป็นเพียงพาหนะที่พาเราไปสำรวจเรื่องราวของหลากชีวิตในขบวนการต่อต้านอำนาจของจักรวรรดิกาแล็กติก สิ่งที่ทำให้ Andor ดูเป็นผู้ใหญ่ขึ้นผิดหูผิดตาจากหนังและซีรีส์เรื่องอื่นๆ ในแฟรนไชส์เดียวกันไม่ใช่เรื่องราวของวีรบุรุษผู้เป็นความหวังหนึ่งเดียวของจักรวาล แต่เป็นการสะท้อนภาพกลไกแห่งการกดขี่ และการเหตุแห่งการต่อต้านสุดแรงของไพร่อวกาศใต้อำนาจที่ทำทุกวิถีทางเพื่อปิดปากพวกเขาให้เงียบสนิท 

Andor ถ่ายทอดเรื่องราวด้วยโครงสร้างคล้ายการเอาหนังสามเรื่องมาต่อกัน เรื่องแรกว่าด้วยการผจญภัยของโจรมือดีแต่ถังแตกที่พลั้งมือฆ่าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (ของบริษัทเอกชนที่จักรวรรดิจ้าง) ตายในเหตุวิวาท ก่อนที่จะต้องระเห็จออกจากดาวไปกับหัวหน้าจารชนของกองกำลังกบฏ เรื่องที่สองคือเรื่องราวของกลุ่มโจรที่วางแผนบุกปล้นเงินก้อนโตจากฐานทัพทหาร เรื่องที่สามคือหนังแหกคุกแรงงานกลางทะเล และบทส่งท้ายว่าด้วยบางสิ่งที่ถูกปลุกขึ้นมาหลังจากที่ผู้คนเข้าใจถึงธรรมชาติบางอย่างของเผด็จการครองจักรวาล

ในองก์แรกของเรื่อง (ตอนที่ 1-3) นอกจากอุปกรณ์ที่ถูกขโมยมาจากฐานทัพกับฉากสำนักงาน ISB (Imperial Security Bureau) กองทัพจักรวรรดิแทบไม่ปรากฏตัวเป็นรูปเป็นร่างเลยแม้แต่น้อย อำนาจของพวกเขามาในรูปของสิ่งที่มองไม่เห็น ในบรรยากาศขมุกขมัวของดาวเฟอร์ริกซ์ที่ผู้คนทำมาค้าขายกันได้ตามปกติภายใต้การคุ้มครองของตัวแทนอำนาจ ในรูปของหลุมเหมืองขนาดใหญ่บนดาวเคนารีในความทรงจำของแคสซ่า ทุกคนใช้ชีวิตกันตามปกติเพราะพวกเขาไร้พลังเกินกว่าจะใส่ใจ ใครเล่าจะเสียสติลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจในเมื่อทุกวันมัวแต่สาละวนกับการเลี้ยงปากท้องให้อิ่ม นอนให้หลับเพื่อจะลุกขึ้นมาหากินในเช้าวันใหม่ แต่คนกระจอกอย่างแคสเซียนก็แสดงอาการขัดขืนเล็กๆ ออกมา เขาพยายามจะหนีไปเสียให้พ้น แน่นอนว่าการกระทำของเขาแทบไม่มีอะไรใกล้เคียงกับการแสดงความกล้าหาญ มันคือการดิ้นรนที่เข้าใจได้สำหรับคนธรรมดาที่ไร้พลังสถิตและดาบลำแสง อาวุธของชาวเฟร์ริกซ์ไม่มีอะไรเลยนอกจากเสียงเคาะท่อเหล็กต่อๆ กันเพื่อเป็นสัญญาณเตือนภัย หากจะมีอะไรที่ใกล้เคียงกับการ “เริ่มที่ตัวเอง” ที่พอเข้าได้มากที่สุดก็คงจะเป็นการหนีไปเสียให้พ้นนี่เอง

แต่การเอาตัวเองให้รอดอาจจะยังไม่พอ

มือล่องหนของจักรวรรดิแสดงตัวชัดเจนยิ่งขึ้นในองก์ถัดมา (ตอนที่ 4-6) บนฉากหลังของดาวอัลดานี ฐานทัพของจักรวรรดิอันเป็นเป้าหมายในการปล้นชิง สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้ปฏิบัติการอุกอาจของเวล (Faye Marsay) และพรรคพวก ก็คือการแสดงอำนาจกดขี่ที่จักรวรรดิกระทำต่อชาวพื้นเมืองด้วยการตัดตอนวัฒนธรรม เจ้าของอำนาจกระทำความรุนแรงทางอ้อมต่อผู้ที่อยู่ใต้อาณัติด้วยการลดความสำคัญของประเพณีวัฒนธรรมพื้นถิ่นลงทีละน้อย จนเมื่อถึงจุดหนึ่ง สิ่งที่เป็นศูนย์กลางของผู้คนเรือนหมื่นก็กลายเป็นการละเล่นไร้สาระของคนไม่กี่ร้อย อำนาจชนิดนี้เองที่แบ่งแยกผู้คนออกจากกัน เบียดขับพวกเขาออกจากบ้านเพื่อสูบกินทรัพยากร ทำให้พวกเขาอ่อนแอ วุ่นวายกับการเอาตัวรอดและกลับมาร่วมกันสู้ได้อีก ผู้ปกครองทำแบบนี้ได้อย่างสะดวกใจเพราะคนพวกนี้ไม่ต่างอะไรกับสิ่งกีดขวาง ไม่มีใครสำคัญทั้งนั้นในเมื่อสุดท้ายแล้วทุกคนจะถูกลืม สกีน (Ebon Moss-Bachrach) บอกกับแอนดอร์ว่านั่นแหละคือจุดที่เราจะใช้เล่นงานพวกอิมพีเรียล ส่วนเนมิก (Alex Lawther) ก็บอกเขาว่ากว่าผู้กดขี่จุดรู้ตัว การต่อต้านก็เปลี่ยนรูปแบบไปถึงไหนต่อไหนแล้ว 

ขวานมันไม่ได้จำไม้ทุกต้น ต้นไม้ต่างหากที่ไม่เคยลืม

ทันทีที่ยานขนส่งทะยานขึ้นเหนือท้องฟ้าพร้อมเงินที่ปล้นมาหนีหายไปในแสงของ The Eye ช่วงเวลาที่ผู้คนตระหนักได้ว่าพวกเขามีสิทธิเหวี่ยงขวานคืนจึงเริ่มต้น

และเมื่อเรื่องเดินทางมาถึงองก์สุดท้าย (ตอนที่ 8-10) เครื่องมือแห่งการกดขี่ก็แสดงตัวชัดเจน จักรวรรดิแสดงอำนาจไม่ยั้งมือเมื่อถูกท้าทายบนอัลดานี พวกเขาจองจำผู้คนตามใจชอบ ลงโทษคนตามอำเภอใจเพื่อแสดงอำนาจ คุกไร้ลูกกรงบนดาวนาร์คิน่าไฟว์นำเสนอวิธีบริหารอำนาจของผู้กดขี่ได้อย่างเฉียบคมและน่าตื่นตา มีเพียงชุดเครื่องแบบและการเดินไปไหนมาไหนด้วยเท้าเปล่าเท่านั้นที่ทำให้นักโทษแตกต่างจากผู้คนที่อยู่นอกเรือนจำ พวกเขานอนในห้องขังเปิดโล่ง ถูกเลี้ยงให้กินอิ่มนอนหลับเป็นเวลาเพื่อที่จะลุกขึ้นมาทำงานตามกะที่กำหนดให้ วันๆ วุ่นอยู่กับการทำงานแข่งกันเองเพื่อให้ได้รับรางวัลและเลี่ยงการถูกลงโทษ นักโทษชั้นดีจะได้รับตำแหน่งหัวหน้ากะคอยคุมนักโทษคนอื่นให้อยู่ในความสงบ ทุกคนถูกสอนให้กลัวพื้นโล่งที่มีสัญญาณไฟสีแดงซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่ามีไฟฟ้าแรงสูงแล่นอยู่ตามพื้น เมื่อความทุกข์ทรมานไร้รูปร่างเช่นนี้แล้ว คุกก็ไม่จำเป็นต้องมีตรวนและลูกกรง ทุกที่เป็นคุกได้เท่าๆ กัน  

ฉากหนึ่งที่ดูโหดเหี้ยมเป็นพิเศษในองก์นี้ คือฉากที่เจ้าหน้าที่มีโร (Denise Gough) ทรมานบิกซ์ (Adria Arjona) ให้คายความลับด้วยการให้ฟังเสียงร้องของเอเลี่ยนที่เป็นปรปักษ์ล้มตายอย่างเจ็บปวด แม้ผู้ชมจะไม่ได้ยินเสียงที่ว่า แต่เรื่องราวความเป็นมาของเสียงที่ว่าก็ชวนให้อกสั่นขวัญแขวนไม่น้อยไปกว่าเหยื่อของการทรมาน นี่คือผลลัพธ์ของความรุนแรงจากน้ำมือผู้กดขี่ พวกเขาทรมานทุกคนไม่ได้ แต่ใช้ความหวาดกลัวเป็นเครื่องมือจองจำทุกคนได้ คีโน ลอย (Andy Serkis) เรียกมันว่าอำนาจ แต่แคสเซียนไม่เห็นด้วย 

“Power doesn’t panic.”

การแสดงอำนาจอย่างล้นเกินคืออาการตื่นตระหนก เผด็จการครองกาแล็กซี่ทำทุกอย่างที่โหดเหี้ยมเกินจินตนาการเพราะพวกเกรงว่าหากไม่ทำเช่นนั้นจะยิ่งถูกท้าทาย ความคิดบ้าบิ่นเช่นนี้เองที่ทำให้คุกนาร์คิน่าไฟว์ล่มสลาย เมื่อคีโนและเพื่อนร่วมเรือนจำคนอื่นๆ ตระหนักได้ว่ายอมตายเสียอาจจะดีกว่ายอมให้ “พวกมัน” ได้สิ่งที่ต้องการ การต่อต้านคือทางออกเดียวที่พวกเขามี ปฏิบัติการแหกคุกของแคสเซียนในครั้งนี้จึงต่างไปจากการหนีหัวซุกหัวซุนออกจากดาวเฟอร์ริกซ์ในองก์แรกโดยสิ้นเชิง

“ถ้าเราสู้ได้สักครึ่งหนึ่งของที่เราก้มหน้าก้มตาทำงานให้พวกมัน พวกเราคงกลับถึงบ้านกันไปนานแล้ว”  

ทั้งหมดนี้นำไปสู่ฉากทลายเพดานทะลุฝ้าในงานศพของมาร์วา แอนดอร์ในบทส่งท้ายของเรื่อง สตาร์วอร์สของกิลรอยนั้นรู้ตัวดีว่ากำลังพูดถึงศึกที่เอาชนะได้ยากเย็นและกินเวลามาที่สุดบนโลกแห่งความเป็นจริง ไม่มีอะไรที่ง่ายดาย ตั้งแต่การรวมผู้คนหลากหลายแบบ ทั้งนักสู้ที่ไม่เกี่ยงวิธีอย่างลูเธน (Stellan Skarsgard) นักการเมืองในสภาอย่างมอน มอธม่า (Genevieve O’Reilly) นักอนาธิปไตยอย่างซอว์ เกอร์ริลล่า (Forest Whitaker) ให้รบกับศัตรูที่มีร่วมกันทั้งที่ถืออุดมการณ์คนละแบบ การต่อสู้กับทรราชที่มีทั้งกำลังสมองและทรัพยากรเต็มมือเช่นพวกจักรวรรดิ ไปจนถึงการเสียสละอนาคตของตัวเองเพื่อแลกกับชีวิตที่ดีกว่าของผู้คนที่เราอาจไม่มีวันได้รู้จัก

“การที่คนตายมาบอกให้คนลุกขึ้นสู้มันอาจจะฟังดูมักง่าย มันก็คงจริง การต่อสู้มันอาจจะเปล่าประโยชน์ บางทีมันคงสายไปแล้ว แต่ถ้าฉันย้อนกลับไปได้ สิ่งที่ฉันต้องการคือฉันจะตื่นให้เร็วกว่านี้ แล้วลุกขึ้นมาสู้กับพวกห่านี่ตั้งแต่แรก” ฉากสุนทรพจน์คำสั่งเสียของมาร์วาได้ยกระดับ Andor ให้กลายเป็นมากกว่าของเล่นสำหรับคนช่างฝันอย่างที่สตาร์วอร์สเคยเป็นมา ความหวังของจักรวาลไม่ได้ขึ้นอยู่กับวีรบุรุษที่มีพลังพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ไม่มีอะไรรับประกันว่าความดีงามจะชนะ และไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้เห็นดอกผลของการต่อสู้ขัดขืน ไม่ว่าคุณจะอยู่ใต้อำนาจจักรวรรดิกาแล็กติกหรือใต้ปกครองของเผด็จการเส้นศูนย์สูตร คุณก็จำเป็นต้องตื่นจากการหลับใหลไม่ต่างกัน 

ไม่มีใครต้องเป็นแคสเซียน แอนดอร์

หากมีแม้สักครั้งที่คุณอยากจะหนีให้พ้นไปจากการกดขี่ 

ถือว่าเริ่มต้นได้ดีแล้ว

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here