ใครต่อใครก็พูดกันว่าชีวิตนั้นสวยงามเปี่ยมความหวัง เพียงเราไม่ย่อท้อ ทุกสิ่งล้วนมีความเป็นไปได้ไม่รู้จบ ใครที่ว่านั้นน่าจะต้องนับรวมอีลองก้า นักเรียนมัธยมอนาคตไกลเอาไว้อีกหนึ่งคน หากแต่อีลองก้าเองอาจจะต้องคิดดูใหม่ เมื่อเธอตรวจพบมะเร็งชนิดลุกลามเร็วและการรักษาตลอด 9 เดือนไม่ประสบผล เธอบอกลาพ่อบุญธรรมและขอย้ายตัวเองไปสู่บ้านพักสำหรับวัยรุ่นผู้ป่วยระยะสุดท้าย ไบรท์คลิฟฟ์เป็นคฤหาสน์เก่าหลังโตที่ที่แฝงกลิ่นแปลกแปร่งไว้ในอากาศ วัยรุ่นที่นั่นทุกคนล้วนลัดขั้นตอนการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ไปสู่การเป็นคนเจ็บไข้ใกล้ตาย
สำหรับผู้พำนักที่ไบรท์คลิฟฟ์ ความหวังเป็นมุกตลกร้ายหรืออาจถึงขั้นเป็นสิ่งหยาบคาย การเข้ากลุ่มบำบัดเป็นกิจกรรมไร้แก่นสารที่มักจบลงด้วยการทุ่มเถียงด่าทอ สิ่งเดียวที่เยียยวยาหัวใจของพวกเขาให้พ้นทุกวันไปได้คือการได้ฟังเรื่องผีดี ๆ ในชมรมลับตอนเที่ยงคืนก่อนแยกย้ายกันไปนอน และคำปฏิญาณต่อเพื่อน ๆ หัวอกเดียวกันว่าถ้าใครตายก่อน ต้องกลับมาบอกทุกคนว่าผีมีจริง
ในสภาวะอันพิสดารเช่นนี้ ผีต่างหากที่คอยปลอบประโลมใจ
ผู้เขียนเห็นว่าออกจะเป็นเรื่องน่าเอ็นดูอยู่สักหน่อยที่ Netflix ใช้คำว่า “Part of The Flanaverse Collection” ในการโปรโมตซีรีส์เรื่องใหม่ของ ไมค์ ฟลานาแกน (Mike Flanagan) เราจึงไม่ต้องเดาและไม่ต้องลุ้นเลยว่าผลงานใหม่ของฟลานาแกนจะมาในทิศทางไหน นี่คือเรื่องราวของความทุกข์ตรมที่หลอนหลอกเสียยิ่งกว่าผี อิทธิฤทธิ์พิสดารต่าง ๆ เป็นเพียงเครื่องปรุงตัดรสขมของความเศร้าโศก เมื่อจั่วหัวมาขนาดนี้เสียแล้ว ความตื่นเต้นตื่นตาที่มีต่อ Midnight Club จึงพลอยจืดจางลงไป เหมือนอย่างที่ The Haunting of Hill House และ Midnight Mass เคยทำเอาไว้ นอกจากนี้ สิ่งที่ Midnight Club ดูจะมีมากผิดหูผิดตาจากผลงานก่อน ๆ ของฟลานาแกนเห็นจะเป็นรสอมหวานและแสงสว่างในเรื่องราว แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า “เรื่องเศร้าที่มีผี” ในคราวนี้จะไม่เหลือแง่มุมที่น่าสนใจอันว่าด้วยชีวิตที่อยู่ห่างจากความตายเพียงไม่กี่ก้าวให้เราได้เอาไปใคร่ครวญต่อ
กลับกัน เรื่องผีจากปากของวัยรุ่นใกล้ตายนั้นมีฤทธิ์เกาะกุมจิตใจอย่างร้ายกาจ
เรื่องราวของชมรมเที่ยงคืนถูกแบ่งเป็นสองส่วนออกจากกันอย่างชัดเจน ส่วนแรกคือปริศนาของบ้านไบรท์คลิฟฟ์ที่ชักนำอีลองก้า (Iman Bronson) มาที่นี่ เรื่องราวของหญิงสาวอดีตผู้พำนักที่หายขาดจากมะเร็งและกลับออกไปสู่โลกราวกับไม่เคยประสบโรคร้าย ปริศนาอันอาจจะเกี่ยวพันกับลัทธิประหลาดที่เชื่อในพลังแห่งการเยียวยา อีกส่วนเป็นเรื่องเล่าของชมรมเที่ยงคืน เรื่องราวเหนือธรรมชาติที่ห่มห่อความในใจของผู้พำนักแต่ละคนเอาไว้ แม้ทั้งสองเส้นเรื่องจะไม่เกี่ยวข้องกันโดยตรง แต่แกนกลางของเรื่องก็เป็นสิ่งเดียวกัน นั่นคือตัวตนที่แท้จริงของผี และอิทธิพลของมันที่กระทำต่อคนเป็น
ผีในที่นี้ไม่ใช่เจตภูตหรือร่างวิญญาณแลบลิ้นปลิ้นตา ผีของ Midnight Club คือเรื่องเล่า เรื่องราวพิสดารที่ห่างไกลชีวิตจริงจนเหมือนจะจับต้องไม่ได้ แต่ก็วนเวียนอยู่ในโลกของผู้ฟังไม่ไปไหน สมาชิกชมรมเที่ยงคืนทุกคนอาจมีวิธีรับมือกับความตายที่กำลังจะมาถึงแตกต่างกันไป แต่สิ่งที่พวกเขาทำเหมือน ๆ กันคือส่งมอบเรื่องเล่าของตัวเองให้กับเพื่อน ๆ ที่เหลืออยู่ เรื่องเล่ากลายเป็นสิ่งที่มีอายุยืนยาวกว่าตัวเจ้าของ เป็นคราบในความทรงจำของคนที่ยังเหลืออยู่ ไม่มีใครยึดถือคำมั่นเรื่องการติดต่อกลับมาจากโลกหลังความตายเป็นจริงเป็นจังเท่ากับการแอบออกมาเล่าเรื่องลี้ลับสนุก ๆ ในทุก ๆ คืน พวกเขาล้วนปรารถนาการจดจำ ต้องการให้เรื่องของพวกเขาเป็นผีที่น่าประทับใจอยู่เคียงข้างผองเพื่อนไปจนถึงวันสุดท้าย และให้ผีช่วยปลดเปลื้องสิ่งที่ค้างคาใจ
เราอาจใช้แนวคิดเดียวกันนี้อธิบายความนิยมของการเล่าเรื่องผีในสื่ออื่น อย่างเรื่องผีทั้งหลายในรายการวิทยุ (หรือจะให้ถูกต้องกว่านั้นคือ สตรีมมิ่ง ยูทูบ พอดแคสต์) ทั้งผู้เล่าและผู้ฟังไม่ได้อยากได้เรื่องราวสั่นประสาทเท่ากับเรื่องราวที่มีลีลาน่าประทับใจ ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว นักเล่าเรื่องทุกคนใช้เรื่องเล่าของตัวเองในการถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ภายในใจ และปล่อยให้ผีของพวกเขาส่งอิทธิพลต่อผู้ฟัง ยิ่งเรื่องราวน่าประทับใจเท่าไร ผีตนนั้นก็จะยิ่งมีพลังมากขึ้น จำนวนคนที่เต็มใจจะมาถูก “หลอก” ก็ยิ่งเพิ่มพูน
ผีสองตัวที่หลอกหลอนผู้เขียนหนักเป็นพิเศษคือ เรื่องเล่าของนัตสึกิ (Aya Furukawa) ในตอน Road to Nowhere และเรื่องเล่าของสเปนเซอร์ (William Chris Sumpter) ในตอน The Eternal Enemy เรื่องแรกว่าด้วยเด็กสาวคนหนึ่งที่ขับรถหนีออกจากบ้านและแวะรับนักโบกรถสองคน ก่อนจะเดินทางไปบนเส้นทางปริศนาที่ดูคล้ายจะยืดยาวไม่มีสิ้นสุด เรื่องราวของนัตสึกิสะท้อนถึงสภาวะจิตใจของผู้ที่เผชิญกับภาวะซึมเศร้าว่ามันเหมือนกับการต่อสู้ในจิตใจว่าจะทนขับรถหนีไปจนกว่าจะพ้นจากทุกข์โศกเบื้องหลัง หรือตัดสินใจหยุดการเดินทางนั้นเพื่อจะมีชีวิตอยู่ต่อ เป็นบททดสอบที่เหนื่อยล้าแสนสาหัสที่ไม่อาจตัดสินได้เลยว่าทางเลือกไหนคือทางที่เหมาะที่ควร และเมื่อเด็กสาวตัดสินใจเปิดประตูก้าวลงจากรถ ก็พบว่าชีวิตต่างหากคือถนนปริศนาที่มองไม่เห็นปลายทาง เรื่องราวนี้เลือกคนฟัง และคนที่นัตสึกิเลือกก็คืออาเมช (Sauriyan Sapkota) เด็กชายที่เชื่อว่าคนใกล้ตายอย่างเขาไม่สมควรมีความรัก เพราะปลายทางอันแสนเจ็บปวดจะมาถึงในเร็ววัน เธอเล่ามันออกมาเพื่อจะบอกว่าเธอเข้าใจความรู้สึกนี้ดี แต่ปลายทางของถนนปริศนาที่เรียกว่าชีวิตอาจไม่สำคัญอีกต่อไปแล้ว การสลักบางอย่างลงในความทรงจำของผู้คนที่พวกเขาห่วงใยดูน่าจะสำคัญกว่า
ส่วนเรื่อง “ศัตรูตลอดกาล” ของสเปนเซอร์เล่าถึงคู่รักนักศึกษาชายที่บังเอิญพบกับเครื่องอัด VHS ที่บันทึกเหตุการณ์จากอนาคต เหตุการณ์ประหลาดชักนำทั้งคู่ให้ไปอยู่ท่ามกลางสงครามข้ามเวลาระหว่างนักวิทยาศาสตร์ใจสลายกับหุ่นยนต์ที่มีข้อบกพร่องร้ายแรง สเปนเซอร์เล่าเรื่องราวนี้หลังจากที่เขาเผชิญหน้ากับแม่ที่ปฏิเสธจะพบหน้าเขา นับตั้งแต่ล่วงรู้ว่าลูกชายเป็นเกย์และติดโรคร้าย เรื่องเล่าข้ามเวลาของสเปนเซอร์ไปไกลกว่าการปลอบประโลมวัยรุ่น LGBTQ อย่างอ่อนโยน มันพูดถึงความรักที่มีต่อตัวเองอันเป็นสากล ไม่มีใครเกิดมาเป็นสิ่งชำรุด ไม่ว่าคนผู้นั้นจะถูกปฏิเสธจากค่านิยมหรือมีอันต้องเข้าใกล้ความตายก่อนวัยอุันควรก็ตาม ทั้งสองเรื่องที่ยกตัวอย่างมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการเฉลิมฉลองพลังของเรื่องเล่าที่ฟลานาแกนและ Leah Fong ตั้งใจจะส่งมันผ่านมาทางตัวละครวัยรุ่นใกล้ตายของพวกเขา
ทว่าตัวตนของ “ผี” ยังมีอิทธิฤทธิ์มากกว่านั้น ในเรื่องราวของลัทธิพารากอนและตำนานเด็กสาวที่หายจากโรคมะเร็ง ความเชื่อที่ปิดหูบังตาเป็นผีที่ร้ายที่สุด ทรงอิทธิพลที่สุด มันชักจูงให้อีลองก้ากับพันธมิตรของเธอลงมือกระทำการที่โหดร้ายเหลือเชื่อ เพื่อผลลัพธ์ที่สูญเปล่าอย่างน่าเหลือเชื่อยิ่งกว่า คงไม่ผิดนักหากจะพูดว่าผีตัวเดียวกันนี่เองที่ทำให้ผู้คนหลงเชื่อทฤษฎีสมคบคิดในโลกจริงอย่าง Q-Anon หรือบรรดาบัญชีผีที่คอยกรอกข่าวปลอมลงในสื่อสังคมออนไลน์ “ผีไอโอ” หลอกหลอนเหยื่อของมันด้วยความหวังปลอม ๆ กระตุ้นให้พวกเขาลุกขึ้นมาสละบางอย่างเพื่อนายของผี และละเลยคุณค่าของมนุษย์เป็น ๆ ที่ยังมีลมหายใจได้อย่างไม่น่าเชื่อ ปลายทางของเรื่องคือบทเรียนสำคัญของอีลองก้าในฐานที่เธอถูกผีบังตาจนละเลยการเตรียมใจของเพื่อนคนอื่น ๆ ในบ้านไบรท์คลิฟฟ์
จริงอยู่ที่การจะแยกผีดีกับผีร้ายในโลกคนเป็นของเรานั้น ไม่เคยเรียบง่ายเหมือนกับเรื่องเล่าทั้งหลายในคฤหาสน์โบราณของอีลองก้าและผองเพื่อน และแม้ว่าผู้เขียนจะไม่ได้ประทับใจ Midnight Club ไปกว่าผลงานอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ของฟลานาแกน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คืออีกครั้งที่เขาใช้เรื่องราวของความตายถ่ายทอดความหมายของการมีชีวิตได้อย่างอ่อนโยนที่สุด เมื่อสุดท้ายแล้วการติดต่อกลับมาจากโลกหลังความตายอาจไม่สำคัญเท่ากับความทรงจำที่ผู้จากไปทิ้งเอาไว้เบื้องหลัง เท่ากับการให้อภัยตัวเองก่อนวาระสุดท้ายจะมาถึง เท่ากับสายสัมพันธ์ที่คนเป็นและคนตายมีต่อกัน
นั่นคือลมหายใจของภูตผี
คือเลือดเนื้อของผู้ที่ยังอยู่ แต่ไม่ปรากฏ ณ ที่แห่งนี้