26 มิถุนายน 1969 ท่ามกลางบรรยากาศคุกรุ่นของสงครามเย็น ทั้งโลกแทบหยุดหายใจพร้อมกันเมื่อมนุษย์คนแรกย่างเท้าลงบนดวงจันทร์ เขาเปิดหน้ากากบังแสงขึ้นเพื่อให้เห็นใบหน้าชัดเจน ก่อนจะพูดผ่านสัญญาณถ่ายทอดสดกับทุกคนบนโลกว่า “ผมขอก้าวลงบนดวงจันทร์เพื่อชาติของผม เพื่อผู้คน และเพื่อวถีของมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ ด้วยความตระหนักว่าการผจญภัยเล็กๆ นี้ จะพาพวกเราไปยังดวงดาวทั้งหลาย”
เขาพูดด้วยภาษารัสเซีย ทำเอาเจ้าหน้าที่นาซ่าทุกคนต้องกุมขมับ
นี่คือฉากเปิดเรื่องของ For All Mankind ซีรีส์ของ Apple TV+ ที่เล่าเรื่องราวของหลากชีวิตในเส้นทางการไปให้ถึงดวงดาวของนาซ่า ในประวัติศาสตร์สมมติที่สหภาพโซเวียตย่างเท้าลงบนดวงจันทร์ได้ก่อนสหรัฐอเมริกา และเบี่ยงวิถีทางสู่ความเป็นไปได้ที่แตกต่างจากความเป็นไปบนโลกนอกจอ โลกที่อเมริกาเป็นเจ้าของก้าวสำคัญของมวลมนุษยชาติในการออกเดินทางสู่ห้วงอวกาศอันไกลโพ้น
ตลกร้ายที่คำว่า “เพื่อมวลมนุษยชาติ” เดิมทีแล้วเป็นเพียงแค่คำสวยๆ ที่ใช้อธิบายโครงการราคาสูงลิบของมหาอำนาจในการแข่งขันกับมหาอำนาจอีกฝ่าย เช่นเดียวกับที่นวัตกรรมหลายต่อหลายอย่างบนโลกมีตัวจุดชนวนเป็นการแข่งขันที่รุนแรงป่าเถื่อนอย่างสงคราม (ทั้งแบบร้อนและแบบเย็น ระหว่างชาติและระหว่างบรรษัท) หากจะพูดว่าโครงการอวกาศทั้งหลายของ NASA ในช่วงเริ่มต้นนั้นเป็นไปเพื่อการโฆษณามากกว่าประโยชน์ของมวลมนุษยชาติ ก็คงจะไม่ห่างไกลจากความเป็นจริงนัก
แต่อย่างน้อยฟันเฟืองในการแข่งขันนี้ยังได้รับอนุญาตให้มีความฝันและความหวัง For All Mankind เลือกใช้เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ที่ต่างออกไปในการเล่าถึงบรรดาผู้คนที่ต้องเอาชนะแรงดึงดูดของโลก และแรงกดดันทางการเมืองไปพร้อมๆ กัน โครงสร้างของตัวซีรีส์นั้นเรียบง่าย มันมักจะเริ่มด้วยไอเดียที่หวังผลทางการเมืองอย่างที่สุดของประธานาธิบดี (Richard Nixon ในเวลานั้น) ถูกโยนลงมากลางที่ประชุมของ NASA ให้ทุกคนสนองตอบ นำไปสู่ดราม่าสะเทือนชีวิตรายบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากแรงกระเพื่อมของมัน
ประวัติศาสตร์ทางแยกของ For All Mankind ทำหน้าที่คล้ายเรื่องเล่าแนวพหุจักรวาล ในแง่ที่มันใช้ถูกใช้เพื่อวิพากษ์ความเป็นจริงที่เราอาศัยอยู่ ความร้ายกาจของมันอยู่ที่การผสมฟุตเตจจริงเข้าไปในเรื่อง ลูกเล่นหวือหวานี้ไม่ได้มีผลแค่ในแง่ส่งเสริมสไตล์การเล่าเรื่องเท่านั้น แต่มันยังชวนให้รู้สึกว่าสิ่งที่เกิดบนจอเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้จริง แม้ว่ามันจะกำลังเล่าเรื่องผู้หญิงที่จะได้ไปดวงจันทร์เร็วกว่าความเป็นจริงนับสิบปีก็ตาม
เมื่อเรื่องดำเนินไปพ้นจากช่วงปูพื้นประวัติศาสตร์ เราจะเห็นได้ว่าเป้าหมายที่แท้จริงของตัวซีรีส์ไม่ใช่อัตตาที่สั่นคลอนของผู้นำโลกเสรี แต่มันคือสถานะทางอำนาจของผู้ชายในสังคมสมัยใหม่ (ระบุให้ชัดกว่านี้ก็คือผู้ชายอเมริกันคนขาวในยุค 70-90) ช่วงหลังสงครามที่เหนื่อยล้าเต็มทน และต้องลดบทบาทลงเพื่อให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในงานที่เคยเป็นของผู้ชาย มันคือจุดหักเหแรกสุดที่พาเรื่องราวเบี่ยงออกไปจากเส้นทางประวัติศาสตร์จริง และการพิสูจน์ตัวเองก็เป็นเงื่อนไขสำคัญในแทบทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอด 10 ตอน
ความเป็นไปได้ที่เปิดกว้างขึ้นไม่ได้เปิดรับแค่ผู้หญิง มันเปิดรับความหลากหลายทางชาติพันธุ์เข้ามาอีกด้วย มันคือสิ่งเดียวกับที่นาซ่าในโลกจริงเชิดชูตลอดมา (ตลกร้ายอีกครั้ง Werner von Braun วิศวกรผู้วางรากฐานระบบจรวดให้นาซ่าตั้งแต่แรกเป็นอดีตสมาชิกพรรคนาซีเยอรมัน) ภารกิจ “เพื่อมวลมนุษยชาติ” ไม่ได้หมายความถึงมนุษยชาติที่จะเดินทางออกสู่อวกาศเท่านั้น มันหมายความถึงมนุษย์คนอื่นๆ บนโลก ทั้งคนดำ ผู้อพยพ รวมไปถึงคนของฝั่งตรงข้ามอย่างชาวรัสเซีย
ฉากที่นำเสนอเรื่องของโอกาสได้น่าสนใจคือฉากภารกิจเยือนดวงจันทร์ครั้งแรกของทีมอะพอลโล 11 ในตอน Red Moon เรื่องราวของภารกิจเสี่ยงตายบนอวกาศถูกเล่าขนานกับการลักลอบอพยพเข้าเมืองของครอบครัวชาวเม็กซิกัน การลงสู่พื้นดวงจันทร์ไร้เสียงถูกอุปมาดั่งการเดินทางอันเงียบงันข้ามชายแดนของผู้อพยพ คนขาวผู้ยิ่งใหญ่บนพื้นโลกเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตแปลกหน้าที่แสวงหาความเป็นไปได้ใหม่ในห้วงจักรวาล ไม่ต่างอะไรกับพ่อลูกโรซาเลสที่หนีมาหาโอกาสใหม่ที่ฮิวสตัน นับเป็นการเปรียบเปรยที่คมคายเอาการ มันเชิดชูจิตวิญญาณการฟันฝ่าเพื่อโอกาสใหม่ไปพร้อมๆ กับจี้ปมความแตกต่างทางโอกาสบนเส้นทางความฝันแบบอเมริกันในคราวเดียวกัน
แต่สิ่งหนึ่งที่ดูจะไม่เปลี่ยนไปเลยไม่ว่าใครจะไปถึงดวงจันทร์ได้ก่อน คือฉากและชีวิตของเกย์กลางศตวรรษที่ 20 เรื่องนี้ถูกนำเสนอผ่านตัวละครนักบินอวกาศหญิง Ellen Wilson (Jodi Balfour จาก Ted Lasso และ The Crown) ผู้ถูกบีบให้แต่งงานเพื่อรักษาหน้าที่การงานเอาไว้ มันไม่ใช่การนำเสนอดราม่าการปกปิดเพศสภาพที่แปลกใหม่อะไรนัก แต่ความน่าสนใจของมันอยู่ที่การในคำอธิบายว่าเกย์เป็นหนึ่งในเหยื่อของเกมล่าแม่มดของ FBI ที่ถูกใช้เพื่อเบี่ยงความสนใจของประชาชนไปจากความฉ้อฉลในคณะรัฐบาล และครั้งหนึ่งเกย์เคยถูกโยงเข้ากับคอมมิวนิสต์ มีภาพลักษณ์ใกล้เคียงกับจารชนของสหภาพโซเวียต
คงไม่ผิดนัก หากจะพูดว่า For All Mankind เป็นแฟนฟิกชั่นฉบับจริงจังที่สร้างโดยแฟนตัวยงของโครงการอวกาศ Ronald D. Moore และทีมบทของเขายังคงแม่นยำในการเล่าเหตุการณ์ระทึกขวัญ ใต้เงื่อนไขทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างเข้มข้นไม่แพ้งานสร้างชื่อของเขาอย่าง Battlestar Galactica และ Star Trek: Deep Space Nine โดยเฉพาะในช่วงท้ายซีรีส์ที่มันดึงเอารสชาติของหนังอุบัติการณ์อวกาศเข้มๆ อย่าง Gravity, Apollo 13 และ The Martian ออกมาได้อย่างถึงเครื่อง ในจังหวะที่เหมาะเจาะพอดี เราทุกคนต่างพอจะคาดเดาได้ว่าผลลัพธ์ของมันจะออกมาเป็นเช่นไร แต่มันก็ประสบความสำเร็จทุกครั้งในการกระตุ้นให้เรารู้สึกเอาใจช่วยตัวละครในสถานการณ์เสี่ยงตายของพวกเขา
นั่นเป็นเพราะมีอีกสิ่งที่มันให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือหัวจิตหัวใจที่อยู่ภายในตัวตนอันเล็กจ้อยของมนุษย์ในเรื่องราวนี้ มันลึกลับดำมืด ไม่สมเหตุสมผล เต็มไปด้วยปริศนาให้ค้นไม่มีที่สิ้นสุด แต่ก็เปี่ยมความหวังในคราวเดียวกัน ไม่ต่างอะไรกับห้วงอวกาศที่โอบล้อมเราอยู่ ตลอดทางการรับชมมักจะชวนให้นึกถึงคำกล่าวของ Neil de Grasse Tyson ที่ว่า “เราไม่เพียงแต่อาศัยอยู่ท่ามกลางดวงดาว ดวงดาวเองก็อาศัยอยู่ท่ามกลางพวกเราเช่นกัน”