Home Article Special Article ใบปิดหนังไทยด้วย “สีโปสเตอร์” จากความบังเอิญ สู่เอกลักษณ์อันไร้กาลเวลา

ใบปิดหนังไทยด้วย “สีโปสเตอร์” จากความบังเอิญ สู่เอกลักษณ์อันไร้กาลเวลา

ใบปิดหนังไทยด้วย “สีโปสเตอร์” จากความบังเอิญ สู่เอกลักษณ์อันไร้กาลเวลา

ใบปิด หรือ โปสเตอร์ เป็นสื่อโฆษณาที่เติบโตวิวัฒนาการมาคู่กับภาพยนตร์อย่างแยกจากกันไม่ได้ โดยในประเทศไทยนั้น รูปแบบของใบปิดก็มีการพัฒนามาตามยุคสมัยของเทคโนโลยีการผลิต ซึ่งช่วงเวลาที่เรียกว่าเป็นยุคทองของใบปิดหนังไทย ก็คือการค้นพบเทคนิค “การเขียนใบปิดด้วยสีโปสเตอร์” โดยบังเอิญของชายที่ชื่อ สมบูรณ์สุข นิยมศิริ หรือที่เรารู้จักกันในนาม “เปี๊ยกโปสเตอร์” และกลายเป็นจุดเริ่มต้นยุคทองของ “ใบปิดหนัง” สไตล์ไทยๆ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาจนถึงทุกวันนี้

อ.เปี๊ยกโปสเตอร์

เพราะบังเอิญ..วันนั้นฝนตก

พ.ศ. 2496 ในวัย 21 ปี สมบูรณ์สุขที่ขณะนั้นเริ่มต้นอาชีพช่างเขียนที่ ร้านไพบูลย์การช่าง ซึ่งรับทำออกแบบป้ายโฆษณา และวาดคัตเอาท์ต่างๆ หลังจบจาก วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ชั้นปีที่ 3 ก็ได้รับการว่าจ้างให้วาดภาพนักแสดงต่างประเทศ แม้ในช่วงเวลานั้น สีน้ำมันจะได้รับความนิยมในการใช้เขียนป้ายโฆษณาและคัทเอาท์ต่างๆ มากกว่า แต่ด้วยขนาดของภาพที่เล็ก ทำให้เขาตัดสินใจทดลองใช้สีโปสเตอร์ มาลองวาดรูปบุคคลสักครั้ง 

แต่เมื่อผ่านไปหลายวัน รูปที่ตั้งใจใช้สีโปสเตอร์ก็ไม่ได้ผลลัพธ์ที่ตั้งใจไว้ และเกือบจะล้มเลิกไปแล้ว จนถึงวันสุดท้ายที่จะลองเขียนรูปด้วยสีโปสเตอร์ ดันเป็นวันที่ฝนตก ก็ปรากฏผลลัพธ์ที่น่าอัศจรรย์ขึ้น

เปี๊ยกโปสเตอร์ได้เล่าให้ฟังไว้ว่า “พอรูปมันเล็ก การเขียนด้วยสีน้ำมันมันลำบาก (ภาพ)มันจะหยาบ เกลี่ยให้สีเนียนได้ยาก เลยลองซ้อมมือด้วยสีโปสเตอร์ เพราะเห็นว่ามันมีเนื้อสีนิดหน่อยและผสมกับน้ำเขียน(ทำให้เกลียสีได้ง่าย) ปัญหาคือ เวลาเขียนจุดนี้แล้วไปเขียนจุดต่อไป สักพักไอ้ตรงนั้นก็แห้ง มันก็เอามาต่อสีจากตรงนี้ตรงนั้นก็ไม่ได้ ตอนแรกจะไม่พยายามละ สู้ไม่ไหว กลัวจะไม่ทัน กะจะทดลองเป็นวันสุดท้ายละ พอดีวันนั้นฝนตก ความชื้นก็เข้ามาในบ้าน ก็เริ่มสังเกตว่าทำไมวันนี้เขียนได้ สีไม่ค่อยแห้ง (เลยรู้ว่า)เพราะได้ไอ ได้ละอองจากน้ำฝนเข้ามา”

เมื่อรู้เคล็ดลับในการใช้สีโปสเตอร์ในการเขียนภาพบุคคลแล้ว เปี๊ยกโปสเตอร์จึงคิดค้นเครื่องมือที่มาใช้ในการเขียนภาพด้วยสีโปสเตอร์โดยเฉพาะขึ้นมา จากการสังเกตสิ่งของรอบตัว เอามาประกอบรวมกันจนกลายเป็น “เครื่องชะลอการแห้งของสี” ที่นำหัวพ่นแอร์บรัชมาเชื่อมติดกับฝาขวดน้ำขนาดเล็กที่บรรจุน้ำเอาไว้ ก่อนจะนำหัวพ่นไปติดกับปั๊มลมขนาดเล็ก เพื่อให้ลมดันน้ำในขวดผ่านหัวแอร์บรัช จนเกิดเป็นละอองไอน้ำออกมา เพื่อช่วยให้เกิดความชื่น ทำให้เกลี่ยสีโปสเตอร์ได้ตามต้องการ 

นอกจากเครื่องชะลอการแห้งแล้ว เปี๊ยกโปสเตอร์ยังประดิษฐ์เครื่องทุ่นแรง ทั้ง “ถาดแช่สีโปสเตอร์” ที่นำเอาถาดทำน้ำแข็งในตู้เย็นบ้านๆ มาวางบนถังอลูมิเนียมที่สั่งทำขึ้นใส่ได้พอดี วิธีใช้คือใส่น้ำแข็งลงไปในถังก่อนจะวางถาดลงไป ความเย็นของน้ำแข็งจะทำให้สีโปสเตอร์ไม่จับตัวเป็นก้อน สามารถผสมเพียงครั้งเดียวและใช้วาดได้ต่อเนื่อง ทำให้สีไม่ผิดเพี้ยน ไม่ต้องผสมสีใหม่

รวมไปถึง “เครื่องยกเฟรมภาพ” ที่เปี๊ยกโปสเตอร์ นำระบบชักรอกด้วยมอเตอร์ มาประกอบกับตัวเฟรมไม้ที่ใช้วางกระดาษ ทำให้สามารถปรับตัวเฟรมขึ้นลงได้ตามใจชอบ โดยไม่จำเป็นต้องก้มตัวลงไปหรือเปลี่ยนท่าทางในการเขียนรูป

สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่า นอกเหนือจากความสามารถในการเขียนภาพแล้ว เปี๊ยกโปสเตอร์ยังเป็นผู้ริเริ่มสร้างนวัฒกรรมที่เป็นจุดเริ่มต้น ของความนิยมในการใช้สีโปสเตอร์เขียนใบปิดหนังในเวลาต่อมา

ใบปิด ‘เกาะรักเกาะสวาท’

จากใบปิด 2 สี สู่การพิมพ์แบบ 4 สี

หลังจากค้นพบเทคนิคการเขียนด้วยสีโปสเตอร์แล้ว โอกาสแรกที่เปี๊ยกโปสเตอร์ได้เขียนใบปิดหนังด้วยวิธีนี้ เกิดขึ้นเมื่อ พิสิฐ ตันสัจจา เจ้าของ โรงหนังเฉลิมไทย หนึ่งในโรงหนังชื่อดังของยุคนั้น และเป็นต้นกำเนิดของโรงหนังเครือ Apex ที่คนรุ่นหลังรู้จักกันอย่าง ลิโด หรือ สกาล่า ได้มาให้เขาช่วยออกแบบและเขียนใบปิดหนังต่างประเทศเรื่องหนึ่ง ที่ตั้งชื่อไทยว่า ‘เกาะรักเกาะสวาท’ (ไม่ทราบปีฉายและชื่อภาษาอังกฤษ) โดยกำชับว่าอยากได้ไอเดียที่แปลกใหม่ ไม่เหมือนใคร นั่นทำให้เขาตัดสินนำเทคนิคการเขียนด้วยสีโปสเตอร์ที่ค้นพบ มาใช้เขียนใบปิดหนังจริงๆ เป็นครั้งแรก

และด้วยเทคนิคนี้ ทำให้ได้ภาพใบปิดที่สวยงามแปลกตา โดยเฉพาะใบหน้าของบุคคลที่สีเรียบเนียน และชื่นชอบในการใช้สีน้ำตาลอมเหลืองและสีดำ อันเป็นเทคนิคที่ได้รับอิทธิพลมาจาก แรมบรันต์ (Rembrandt van Rijn) ศิลปินที่เขาชื่นชอบ และยังกลายเป็นสไตล์การวาดภาพบุคคล ที่ถูกส่งต่อไปยังลูกศิษย์ของเขา จนกลายเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของใบปิดสไตล์ไทยอีกด้วย

ทว่าในห้วงเวลานั้นเทคนิคการพิมพ์ในไทยยังไม่สามารถพิมพ์ใบปิดที่มีสีสันมากขนาดนี้ได้ ทำให้พิสิฐได้ส่งต้นฉบับไปพิมพ์ในระบบออฟเซ็ต 4 สี ที่ประเทศฮ่องกง ทำให้กล่าวได้ว่าใบปิดหนังเรื่อง ‘เกาะรักเกาะสวาท’ เป็นใบปิดแรกของไทย ที่ใช้การวาดด้วยสีโปสเตอร์และพิมพ์ด้วยระบบออฟเซ็ตแบบ 4 สี

ด้วยความชื่นชอบในฝีมือ ทำให้พิสิฐชักชวนเปี๊ยกโปสเตอร์ไปทำงานเป็นช่างเขียนประจำโรงหนังเฉลิมไทย และที่นี่ก็คือสถานที่สร้างชื่อเสียงของเขา ไปจนถึงทำให้บรรดาผู้สร้างหนังชาวไทย เริ่มเข้ามาให้เขาเขียนใบปิดหนังไทยด้วยเทคนิคสีโปสเตอร์นี้มากขึ้นเรื่อยๆ

และเมื่องานเริ่มมากจนไม่สามารถรับมือด้วยตัวคนเดียวได้ ทำให้เปี๊ยกโปสเตอร์มองหาช่างเขียนฝีมือดี มาฟอร์มทีมรับงานออกแบบและเขียนใบปิดหนังอย่างจริงจัง และเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “สำนักเปี๊ยกโปสเตอร์” นั่นเอง

ใบปิด ‘มนต์รักลูกทุ่ง’ (พ.ศ. 2513, รังสี ทัศนพยัคฆ์) ผลงานออกแบบโดย เปี๊ยกโปสเตอร์

ใบปิดหนังไทยสไตล์ ยิ่งเยอะยิ่งดี

จุดเด่นของใบปิดด้วยสีโปสเตอร์นั้น นอกจากความสวยงามของภาพแล้ว รายละเอียดต่างๆ ทั้งการใส่ตัวละครจำนวนมากลงไปในภาพ หรือการยกฉากเด็ดฉากขายมาใส่ไว้ในภาพ จนหลายครั้งกลายเป็นความแน่นแทบไม่เหลือพื้นที่ว่าง ก็เป็นเสน่ห์ของใบปิดไทย ที่มาจากการออกแบบ “ตามสั่ง” ของเจ้าของหนังนั่นเอง

โดยขั้นตอนการออกแบบใบปิดของไทยในยุคนั้น ก็เริ่มจากที่เจ้าของหนังจะส่งภาพนิ่งต่างๆ มาให้ หรือถ้าเป็นหนังที่ยังอยู่ในระหว่างถ่ายทำ ก็ต้องเข้าไปในกองถ่ายเพื่อเก็บภาพนิ่งกลับมาออกแบบ เขียนเป็นภาพร่างออกมา เสร็จแล้วจึงนำกลับไปให้เจ้าของหนังดูอีกที ถ้าแบบผ่าน จึงนำกลับมาเขียนจนเสร็จ ก่อนให้เจ้าของหนังดูอีกครั้ง ซึ่งในขั้นตอนสุดท้ายนี้ อาจจะมีการแก้ไข หรือเพิ่มรายละเอียดเข้าไปในภาพตามที่เจ้าของหนังต้องการ

อังเคิลอดิเรก วัฏลีลา เล่าให้ฟังว่า “อย่างถ้าเป็นหนังรัก เราก็ต้องขายตัวละคร ขายวิว หนังไปถ่ายที่ไหน ไปเชียงใหม่ ไปนิวยอร์ค หรือเป็นโลเคชั่นแปลก เช่นเจมส์ บอนด์ ไปถ่ายที่เขาตะปู ก็ต้องวาดใส่ลงไป มีรถไฟ มีเครื่องบิน ให้คนดูรู้ว่าลงทุนนะ”

ทว่าหลายครั้ง คำขอของเจ้าของหนังก็เป็นความลำบากใจของช่างเขียนเหมือนกัน ซึ่ง บรรณหาร ไทธนบูรณ์ หนึ่งในศิษย์ ‘สำนักเปี๊ยกโปสเตอร์’ เล่าให้ฟังว่า “บางครั้ง คำขอของผู้จ้างมันก็ผิดธรรมชาติ เช่นเขาอยากได้ปืนอันใหญ่ๆ ซึ่งมุมมองมันไม่ได้ไง แต่เขาก็อยากได้ปืนใหญ่ๆ วาดไปทำไมปืนใหญ่กว่ามือตั้งเยอะ มันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น แต่มันคือความต้องการของเจ้าของเขา หรือแม้แต่คำพูดที่ว่า หนังไทยมันต้องระเบิดภูเขาเผากระท่อม ซึ่งบางครั้งมีไม่มีในหนังเราก็ไม่รู้ แต่เจ้าของหนังขอให้เขียนใส่ลงไป เราก็ต้องเขียน คือตามปกติช่างเขียนเขาก็จะออกแบบการวางคอมโพสต์ต่างๆ ให้มันดูกลมกลืนอยู่แล้วในตอนแรก”

แต่ในความล้นๆ สไตล์ใบปิดหนังของไทย ที่เล่าทุกอย่างที่อยู่ในหนังลงไป ก็กลายเป็นความคลาสสิคที่เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของใบปิดในช่วงเวลานั้นก็ว่าได้

อดิเรก วัฏลีลา (คนซ้าย) และ บรรณหาร ไทธนบูรณ์ ขณะกำลังเขียนใบปิด โดยอดิเรกเขียนเรื่อง ‘วัยรัก’ (พ.ศ. 2521, ชรินทร์ ดิษยนิยม) ส่วนบรรณหารเขียนเรื่อง ‘รักระแวง’ (พ.ศ. 2521, พันธุ์เทพ อรรถไกวัลวที)

คุณผู้อ่านที่สนใจในใบปิดสไตล์ไทยๆ แบบนี้ สามารถมาเยี่ยมชมได้ ในนิทรรศการ “ใบปิด” จัดขึ้นโดยความร่วมมือของ WOOF PACK , Doc Club & Pub.  และ หอภาพยนตร์ Thai Film Archive 

โดยภายในนิทรรศการมีการจัดแสดงต้นฉบับของใบปิดหนัง จากช่างเขียนตัวจริงที่อยู่คู่วงการหนังมาตลอด 50 ปี อันหาชมได้ยาก ตั้งแต่วันนี้ – 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 เวลา 10.00 – 21.00 น. ที่ Woof Pack Gallery (ชั้น 2 อาคาร Woof Pack)

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here