Home Article Behind the Scene ‘อโยธยา มหาละลวย’ : เรื่องเล่าจากตรอกของถนนหลักชื่อ ‘บุพเพสันนิวาส’

‘อโยธยา มหาละลวย’ : เรื่องเล่าจากตรอกของถนนหลักชื่อ ‘บุพเพสันนิวาส’

‘อโยธยา มหาละลวย’ : เรื่องเล่าจากตรอกของถนนหลักชื่อ ‘บุพเพสันนิวาส’

ฉากหลังของ ‘อโยธยา มหาละลวย’ อยู่ในช่วงรัชสมัยของ สมเด็จพระนารายณ์ คาบเกี่ยวกับช่วงเวลาในละคร ‘บุพเพสันนิวาส’ ซึ่งกำกับโดย ภวัต พนังคศิริ เหมือนกัน โลกทั้งสองใบอาจมีอะไรเชื่อมถึงกันอยู่บ้าง

ภาพรวมของ ‘อโยธยา มหาละลวย’ ว่าด้วยกลุ่มหนุ่มสาวในชุมชนที่เต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ โดยเน้นไปที่เรื่องของ เรียว (เจมส์ จิรายุ ตั้งศรีสุข) หนุ่มที่สืบเชื้อสายมาจาก ยามาดะ นางามาสะ ชาวญี่ปุ่นที่เข้ามารับใช้ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม แต่ด้วยการชิงอำนาจในรัชสมัยหลังจากนั้น ทำให้สถานะของชาวต่างชาติต้องระหกระเหินจนกลับมาเฟื่องฟูอีกรอบในสมัยสมเด็จพระนารายณ์

ภวัตยอมรับว่าการเลือกช่วงเวลาของหนัง ‘อโยธยา มหาละลวย’ นั้น มาจากการต่อยอดความคิดหลังจดจ่ออยู่กับการทำ ‘บุพเพสันนิวาส’ นั่นเอง “ผมทำ ‘บุพเพสันนิวาส’ มา เลยได้เห็นว่าจริงๆ ช่วงเวลาของสมเด็จพระนารายณ์ เป็นช่วงที่ศิวิไลซ์ หรูหราฟู่ฟ่า เป็นช่วงที่มีแต่เรื่องบันเทิง มีไทย จีน แขก ฝรั่ง ลูกครึ่ง เต็มไปหมด เป็นความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง เพราะฉะนั้นมันเลยเต็มไปด้วยสีสัน”

หากจะมองหาจุดเชื่อมโยงระหว่าง ‘บุพเพสันนิวาส’ และ ‘อโยธยา มหาละลวย’ อาจจะอยู่ที่ตัวละครที่มีตัวตนจริงอย่าง ออกญาคชบาล (‘อโยธยา มหาละลวย’) ซึ่งในเวลาต่อมาครองราชย์เป็น สมเด็จพระเพทราชา (‘บุพเพสันนิวาส’) รับบทโดย บิ๊ก ศรุต วิจิตรานนท์ ทั้งคู่

“เราทำ ‘บุพเพสันนิวาส’ เหมือนมันได้ต่อยอดคอนเทนต์ของเรา ในหนังเราเลือกที่จะเล่าช่วงเหตุการณ์ที่มันขาดหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ ซึ่งเราเอาประวัติศาสตร์มา 30% อีก 70% เราแต่งเติมเข้าไป เรารู้ว่าพระเพทราชามีลูก และเราก็ดึงคาแรกเตอร์ของลูกท่านบางส่วนมาใช้ เช่น ขวัญ (ภีม ธนบดี ใจเย็น) ก็ดึงคาแรกเตอร์ของ พระเจ้าเสือ มา ไม่ว่าจะเป็นความสามารถทางมวย เรื่องหนีเที่ยว เรื่องเที่ยวผู้หญิง หรือยามาดะเองก็ตาม ซึ่งตอนนั้นกษัตริย์เราให้ยศกับต่างชาติเยอะแยะมากมาย ฟอลคอน (คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือ พระยาวิไชเยนทร์) ก็คนหนึ่งแหละ เป็นถึงสมุหนายก (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นพระเพทราชาท่านไม่ชอบต่างชาติอยู่แล้ว เจอที่ไหน มีเมื่อไหร่ กำจัดที่นั่น

“สมมติว่าผมเล่า ‘บุพเพสันนิวาส’ เป็นถนนเส้นหลัก เรารู้สึกว่าในซอยเล็กๆ นั่นน่าจะมีอะไรเล่าเนอะ ในซอยนั้นมันน่าจะมีโรงชำเรา มันน่าจะมีวัยรุ่นตีกัน หรือวัยรุ่นมาจีบผู้หญิงกัน เออมันน่าจะแวะเข้าไปสำรวจในซอยนั้นดูสักนิดนึง ถ้าจะให้เปรียบเทียบ ‘อโยธยา มหาละลวย’ ก็จะเหมือนการเดินเข้าไปในตรอกหนึ่งที่แยกมาจาก ‘บุพเพสันนิวาส’

“บุพเพฯ มันเล่าถึงโรงชำเรานะ แต่มันไม่เข้าไปแตะข้างในเลย รู้เห็นแค่ภายนอกว่าอยู่ตลาดน้อย เรื่องนี้เราเลยขอเข้าไปสำรวจข้างในหน่อย และคนประเภทไหนที่จะเข้าไปในนั้น มันก็ต้องเป็นวัยรุ่น นักเลง กับพวกที่หนีออกมาเที่ยวต้องปิดบังใบหน้า เพราะฉะนั้นหนังเรื่องนี้มันเลยเป็นเรื่องของความหลากหลายของคนในตอนนั้นที่พวกเขาอาจจะถูกทำให้หลงลืมไปจากหน้าประวัติศาสตร์” 

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here