ขึ้นชื่อว่าซีรีส์สายอาชีพ หลายคนคงคาดหวังว่าจะได้ดำดิ่งไปในโลกของอาชีพที่หวือหวา ไม่ว่าจะเป็นโลกของหมอ ตำรวจ หรือนักสืบ ซึ่งอาชีพเหล่านี้มีลักษณะเด่นที่ทำให้วางพล็อตได้ง่าย แต่ใครจะไปคิดว่าอีกอาชีพหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน และเป็นอาชีพใกล้ตัวหลายๆ คน คืออาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัย
อย่าเพิ่งด่วนตัดสินว่าซีรีส์เรื่องนี้จะเล่าแต่เรื่องบนหอคอยงาช้าง จนคนทั่วไปเอื้อมไม่ถึง! เพราะในชีวิตของ คิม จี ยุน หัวหน้าภาควิชาภาษาอังกฤษคนใหม่ของมหาวิทยาลัยเพมโบรค มันเต็มไปด้วยความโกลาหลไม่ต่างจากอาชีพอื่นๆ ทั้งการต้องล็อบบีให้อาจารย์หน้าใหม่ไฟแรงได้ตำแหน่ง การต่อรองกับคณบดีไม่ให้ไล่อาจารย์รุ่นลายครามออก การพยายามทำให้สังคมรับรู้ถึงคุณค่าของวิชาวรรณคดีและวรรณกรรม ความท้าทายของเธอไม่ได้อยู่แค่ในเรื่องงานเท่านั้น แต่เธอยังต้องรับมือกับลูกสาวบุญธรรมสุดแก่น ที่กำลังอยู่ในวัยอยากรู้อยากเห็น และยังปากร้ายสุดๆ!
ซีรีส์ The Chair เปิดเรื่องมาด้วยการที่จียุนได้รับตำแหน่งใหม่ เธอเป็นหัวหน้าภาคหญิงคนแรก และยังเป็นคนเชื้อสายเอเชียคนแรกที่รับตำแหน่งนี้ วันเริ่มงาน ทุกอย่างก็เริ่มส่อเค้าของความวุ่นวาย (อาจนับการที่เก้าอี้ทำงานของเธอหักตอนเธอนั่งมันครั้งแรกว่าเป็นลางร้ายอย่างหนึ่งก็ได้) เมื่ออาจารย์คนดังของคณะ บิล ด็อบสัน ขาดประชุม เนื่องจากเขายังทำใจไม่ได้ที่สูญเสียภรรยาไปเมื่อปีก่อน และยังต้องส่งลูกสาวออกจากบ้านไปเรียนมหาวิทยาลัย อีกปัญหาหนึ่งคือเพื่อนร่วมงานของเธอ โจน แฮมบลิง ถูกย้ายห้องทำงานไปไว้ใต้โรงยิมที่ทั้งเสียงดังและไม่มีไวไฟ ส่วนอีกด้านหนึ่ง คณบดีพอล ลาร์สัน ก็บีบให้เธอไล่เพื่อนร่วมงานที่ค่าจ้างมาก แต่มีนักศึกษาลงทะเบียนในรายวิชาน้อยออกถึงสามคน
“ฉันรู้สึกเหมือนใครสักคนโยนระเบิดเวลามาให้ และเขาต้องการให้แน่ใจว่าตอนมันระเบิด ผู้หญิงเป็นคนถือมันอยู่”
ในฐานะคนดู เราอดจะเชียร์ไม่ได้จริงๆ ให้เธอมีสักสามร่างในคนเดียว เพราะในขณะที่เธอพยายามจัดการงานที่ล้นมือ เธอก็ต้องจัดการกับความรู้สึกตนเองที่มีต่อบิล เพื่อนร่วมงานที่เป็นอาจารย์คนดัง ที่เธอแอบหลงรัก แค่หวั่นไหวในใจก็แย่พออยู่แล้ว แต่เธอยังพบว่าเขาเข้ากันได้ดีกับจูจู ลูกสาวของเธอด้วย อย่างไรก็ตาม ในขณะที่บิลมาหาเพื่อจะยื่นข้อเสนอให้เธอรับเขาเข้ามาไว้ในชีวิต เหล่านักศึกษาก็มาประท้วงที่หน้าคณะ
“ไม่เอาศาสตราจารย์ฮิตเลอร์!” – พวกเขาตะโกนอย่างบ้าคลั่งพร้อมชูป้ายอันใหญ่
เรื่องกลับกลายเป็นว่า บิลทำท่าเคารพแบบนาซีในคาบเรียนวิชาหนึ่ง และเหล่านักเรียนที่ถ่ายคลิปไว้ก็ทำให้มันกลายเป็นไวรัลอย่างรวดเร็ว พวกเขาโกรธเกรี้ยว และเรียกร้องให้บิลออกมาขอโทษ แต่บิลซึ่งทั้งหัวดื้อและมีทิฐิกลับไม่เลือกวิธีการเรียบง่ายที่จียุนและคณบดีเสนอ เขากลับเลือกพูดคุยกับนักศึกษาอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิดเป็นวงกว้างออกไปอีก
“นายแค่เป็นเหมือนผู้ชายผิวขาวคนอื่นๆ ที่คิดว่าทำเรื่องแบบนี้ไว้แล้วจะเดินหนีไปโดยไม่ต้องทำอะไร”
ประเด็นเรื่องเพศและสีผิว ดูจะเป็นจุดโฟกัสหนึ่งของหนัง มันเริ่มจากเรื่องราวของยาซ แม็คเคย์ อาจารย์พิเศษที่เป็นผู้หญิงผิวดำ ซึ่งเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงสุดๆ เพราะเธอทำให้เด็กมาสนใจวิชาวรรณคดีได้ด้วยวิธีการสอนใหม่ๆ เช่น ใช้ทวิตเตอร์เป็นตัวบท เธอกำลังยื่นเรื่องขอเป็นอาจารย์ประจำ โดยหนึ่งในคณะกรรมการที่จะส่งความเห็นไปให้ผู้บริหาร ก็คือศาสตราจารย์เอลเลียต เรนซ์ อาจารย์ชายผิวขาวที่มีอดีตอันรุ่งเรืองและไม่ได้อัปเดตหลักสูตรของเขามาสามสิบปีแล้ว อีกทั้งยังติดอยู่ในลิสต์ที่จียุนจะต้องไล่ออก
ไดนามิคระหว่างเอลเลียตกับยาซ เป็นลักษณะของความเก่าปะทะความใหม่ โลกของนักวิชาการรุ่นบุกเบิกที่ไม่เคยทำตัวเป็น “เซลส์แมน” ปะทะกับนักวิชาการหัวก้าวหน้าที่รู้จัก “ขาย” วิชาของตนเอง จียุนให้ยาซกับเอลเลียตควบรวมวิชากัน เพื่อให้เอลเลียตมีจำนวนนักเรียนมากพอที่จะเข้าสอน และเราก็ได้เห็นความแตกต่าง ทั้งในวิธีคิดและวิธีสอนระหว่างทั้งสองคน แม้หนังจะมีโทนที่โทษชายผิวขาวอายุมากในวงวิชาการ ในฐานะผู้ขัดขวางความหลากหลายและเสรีภาพทางความคิด หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นคนที่ “เหยียด” เพศ ชาติพันธุ์ สีผิว แต่หนังก็ได้ให้ผู้ชมรับฟังความคิดในมุมมองของนักวิชาการเหล่านั้นอยู่บ้าง เพราะเราก็ได้รู้ว่า เอลเลียตเองเห็นว่ายาซเพียงต้องการสนุกกับนักศึกษา และไม่ได้ทำตัวเป็นผู้สอนที่ทรงภูมิมากพอ
กลับมาที่ปัญหาของบิล ซึ่งเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของชายผิวขาวที่ไม่แคร์ใคร เขาทำให้จียุนต้องมาตามล้างตามเช็ดในสิ่งที่ตนเองทำตลอด และไม่ได้ทำตัวจริงจังทั้งในเรื่องการงานและชีวิตส่วนตัว ในประเด็นนี้ก็น่าคิดอยู่เหมือนกันว่าหนังให้ความยุติธรรมกับจียุนมากพอหรือไม่ ในเมื่อเมื่อเวลาผ่านไป จียุนหันมาเข้าข้างบิลในภายหลัง แต่ในประเด็นของบิลมีจุดที่น่าสนใจเรื่องการปะทะระหว่างเขากับนักศึกษา ท่ามกลางสิ่งที่เรียกว่า “แคนเซิลคัลเจอร์ (Cancel Culture)”
นิยามของแคนเซิลคัลเจอร์มีหลายแบบ หนึ่งในนั้นคือ การที่ใครสักคนโดนผลักออกนอกวงการทางวิชาชีพ หรือวงสังคมใดสังคมหนึ่ง เพราะเขาแสดงออกในรูปแบบที่น่าตั้งคำถาม หรือสร้างความขัดแย้ง บิลเองโดนแคนเซิล หรือ “แบน” จากนักศึกษา เพราะการกระทำของเขาทำให้คนกังขาว่าเขาสนับสนุนนาซี และยังเป็นตัวจุดชนวนให้มีคนแสดงสัญลักษณ์ของนาซีในพื้นที่สาธารณะ นอกจากนั้นเขายังถูก “คอลเอาท์” ให้ออกมาขอโทษอีกด้วย (ในบางบริบท คำว่าแคนเซิลคัลเจอร์ และวัฒนธรรมคอลเอาท์สามารถใช้แทนกันได้ แต่บริบทของไทย แคนเซิลคัลเจอร์น่าจะหมายถึงการแบน ในขณะที่การคอลเอาท์หมายถึงการเรียกร้องให้ออกมาพูดในเรื่องสำคัญมากกว่า)
ดูเหมือนว่าสื่อโซเชียลจะมีอิทธิพลต่อแคนเซิลคัลเจอร์เป็นอย่างมาก เพราะในการจะผลักให้ใครสังคมออกนอกสังคมใดสังคมหนึ่งได้ จำเป็นต้องใช้แรงกดดันจากคนจำนวนมากพอ และโซเชียลมีเดียก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่ทำให้คนมารวมตัวกันเพื่อกดดันใครสักคนได้อย่างได้ผลดี การแพร่กระจายของความเกลียดชังผ่านโซเชียลเช่นนี้ ทำให้มีผู้ตั้งคำถามเช่นกันว่า แคนเซิลคัลเจอร์เป็นความรุนแรงที่กระทำต่อบุคคลชนิดหนึ่งหรือไม่ อย่างที่บารัค โอบามา เคยออกมาเตือนเกี่ยวกับแคนเซิลคัลเจอร์ว่า “คนที่ทำสิ่งดีๆ อาจมีจุดบกพร่อง คนที่คุณกำลังสู้อยู่อาจรักลูกของเขา และมีบางสิ่งที่เหมือนกับคุณ” หรือโดนัลด์ ทรัมป์ เองก็วิจารณ์ว่าวัฒนธรรมเช่นนี้เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของระบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ (Totalitarianism) โดยเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการโจมตีคนที่ไม่เห็นด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้แคนเซิลคัลเจอร์และวัฒนธรรมคอลเอาท์จะน่าตั้งคำถาม แต่ The Chair กลับมองวัฒนธรรมเหล่านี้ในเชิงสร้างสรรค์ ในขณะที่เหล่ากรรมการด้านการศึกษาหวงแต่ภาพลักษณ์และการทำกำไรของสถานศึกษา โลกของเหล่าวัยรุ่นก็กำลังลุกไหม้ไปด้วยปัญหาต่างๆ ทั้งความไม่เท่าเทียม การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ ดูเหมือนว่า โลกของพวกเขาเป็นโลกที่อยู่ยากกว่าโลกที่เหล่าผู้ใหญ่พบเจอมา และทางออกของพวกเขาคือการลงมายังท้องถนนและแสดงพลัง บิลเองเห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านี้ และเห็นว่าการที่นักศึกษาออกมาพูดแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่อาจารย์อย่างพวกเขาสอนมันได้ผล แต่เขาเองก็ไม่ได้รู้จักวัฒนธรรมทั้งสองอย่างนี้มากพอที่จะรับมือได้
ทางออกอาจอยู่ในคำตอบของจียุน ที่ตระหนักขึ้นได้กลางวงประชุมว่า “พวกเราทำอะไรกันอยู่” เธอบอกว่า ถ้าหากจะแก้ปัญหาที่เหล่านักศึกษาประท้วง มันไม่อาจทำได้โดยการไล่ใครสักคนออก แต่คือการรื้อระบบของผู้มีอำนาจออกมาทั้งระบบ และเปลี่ยนรูปแบบให้มันแก้ปัญหาของเด็กๆ ได้จริงๆ เพราะในขณะที่การศึกษาให้เสรีภาพทางปัญญา การศึกษาก็เป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจเช่นเดียวกัน ทำไมเราจะไม่ตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจกันล่ะ ในเมื่อเครื่องมือทุกอย่างในสังคมเอื้ออำนวย และโลกของเราก็กำลังลุกไหมจากน้ำมือของผู้มีอำนาจไม่ใช่หรือ?
เมื่อพูดถึงวัฒนธรรมคอลเอาท์ ตัวซีรีส์นี้เองก็เป็นการคอลเอาท์อย่างหนึ่ง โดยเฉพาะในแง่มุมของความเป็นชายที่เป็นพิษ หรือ Toxic Masculinity ในแวดวงวิชาการ จากการสอบถามผู้ชมที่อยู่ในแวดวงนี้ พบว่าปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศเกิดขึ้นกับผู้หญิงในแวดวงจริงๆ และ The Chair ก็ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ออกมาได้อย่างตรงจุด ไม่ว่าจะเป็นการที่อาจารย์ผู้หญิงได้เงินเดือนน้อยกว่าอาจารย์ชาย การที่บุคลากรผู้หญิงถูกโยนงานจัดการและงานเอกสารให้มากกว่า การที่ผู้หญิงถูกกีดกันออกจากวงสังคมของอาจารย์ชาย และความไม่เป็นกลางทางเพศของคณะกรรมการด้านวิชาการ หากจะมีอะไรบ้างที่ต่างออกไป ก็คือในโลกแห่งความเป็นจริง ปัญหาดังกล่าวหยั่งรากลึกกว่าที่คิด และไม่อาจแก้ไขได้โดยง่าย
ดู The Chair ได้ที่ Netflix