Home Article Special Article Transnational Cinema: ชาติสร้างคน ภาพยนตร์ข้ามชาติ

Transnational Cinema: ชาติสร้างคน ภาพยนตร์ข้ามชาติ

Transnational Cinema: ชาติสร้างคน ภาพยนตร์ข้ามชาติ

จากความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่อง Memoria ของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่ไปถ่ายทำในประเทศโคลอมเบีย คว้ารางวัล Jury Prize ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ปีล่าสุด และการร่วมมือกันของสองประเทศระหว่างประเทศเกาหลีและไทยอย่างร่างทรง ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของของบรรจง ปิสัญธนะกูล ที่ทำรายได้เป็นอันดับหนึ่งในบ็อกซ์ออฟฟิศของเกาหลีตั้งแต่สัปดาห์เปิดตัว พร้อมเสียงชื่นชมจากผู้ชมภายในประเทศ ความสำเร็จของหนังทั้งสองเรื่องที่เราได้เห็นในปีนี้คือการร่วมมือการทำหนังระหว่างบุคลากรไทยกับประเทศอื่น ทำให้การมองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ในการทำภาพยนตร์ไทยมีมากขึ้น จากโอกาสที่เริ่มริบหรี่ทั้งทางความคิดสร้างสรรค์และทางด้านเงินทุนที่อาจทำให้ทุกอย่างจำกัดลง นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า Transnational Cinema หรือ “ภาพยนตร์ข้ามชาติ” เป็นแนวคิดที่จับกลุ่มภาพยนตร์ที่มีความร่วมมือมากกว่าสองประเทศขึ้นไป แต่นิยามของภาพยนตร์ประเภทนี้อาจไม่ได้ถูกจำกัดความแค่กระบวนการที่เกิดขึ้นเพียงเท่านั้น

Transnational Cinema หรือ ภาพยนตร์ข้ามชาติ เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นผ่านการศึกษาจากความร่วมมือในการสร้างหนังและพัฒนาขึ้นมาโดยมีประเทศที่เข้าร่วมมากกว่าสองประเทศขึ้นไป การศึกษาในช่วงแรกนั้นมักจะมาจากการมองภาพยนตร์ของประเทศที่เป็นประเทศโลกที่หนึ่ง เข้าไปร่วมมือกับประเทศที่กำลังพัฒนา หรือประเทศโลกที่สาม สอดคล้องกับการเป็นยุคโลกาภิวัตน์ที่เชื่อมต่อกันได้อย่างไร้พรมแดน แต่ในภายหลังเริ่มมีการขยายวิธีการศึกษาให้กว้างมากขึ้น เนื่องจากการผนวกวัฒนธรรมนั้นอาจไม่ได้เกิดจากความเต็มใจของผู้สร้างเพียงอย่างเดียว จึงได้มีการสำรวจหนังที่เกิดจากผู้สร้างที่พลัดถิ่นจากการย้ายประเทศ หรืออพยพเข้ามา (Diasporic Cinema หรือ Exilic Cinema) ทำให้ภาพยนตร์ที่สร้างนั้นมีบริบทต่างๆ ที่ซับซ้อนมากขึ้น จากตัวหนังและเบื้องหลังของผู้สร้างเอง การศึกษานั้นอาจมีขีดจำกัดเนื่องจากบางภูมิภาคอาจยังไม่ถูกสำรวจ (ยังไม่สามารถเข้าถึงภาพยนตร์ และยังมีบางภูมิภาคที่ยังไม่ได้ถูกสำรวจ) แต่ในปัจจุบันก็เริ่มมีนักวิชาการได้เริ่มศึกษาถึงภาพยนตร์ในแต่ละภูมิภาคของตัวเองที่มีการร่วมมือกับประเทศอื่นๆ เช่น เอเชียทางตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกา หรือแม้กระทั่งการประยุกต์ไปใช้ศึกษากับประเภทของภาพยนตร์ เช่น ภาพยนตร์ LGBTQ+ เป็นต้น

ในตอนแรก Transnational Cinema อาจถูกมองเพียงแค่เชิงเศรษฐกิจเท่านั้น ในการร่วมทุนเป็นเม็ดเงินระหว่างสองประเทศ แต่เมื่อลองพิจารณากับมันมากขึ้น เราจะเริ่มเห็นจุดประสงค์ต่างๆ ทื่ทำให้เกิดภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ มากขึ้น เช่น เป็นการสร้างเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมและทำความเข้าใจวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศเนื่องในวาระโอกาสพิเศษ การสร้างความสัมพันธ์ผ่านการผูกตลาดของสองประเทศ ทั้งการท่องเที่ยว สินค้า อื่นๆ ที่สามารถตีเป็นมูลค่าได้ หรือเป็นภาพยนตร์ที่สำรวจถึงประเทศต่างๆ ทั้งในทางภูมิประเทศ วัฒนธรรม สังคม และด้านอื่นๆ หากเปรียบเทียบกับคู่ตรงข้ามของแนวคิดนี้ก็คือ National Cinema ซึ่งเป็นแนวคิดที่ศึกษาภาพยนตร์ในฐานะการเป็นภาพยนตร์ของชาติ ที่สร้างขึ้นมาโดยประเทศเดียว ทั้งในทางทุนสร้างและความเป็นเจ้าของในภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ เป็นการบันทึกว่าสมบัติมีค่าเหล่านั้นเป็นของที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศของตนชาติเดียวโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นในเชิงเทคนิค แนวคิดที่สะท้อนออกมาผ่านภาพยนตร์ ในขณะเดียวกันปัญหาของมันก็คือการละเลยกลุ่มคนชายขอบที่อยู่ในประเทศนั้นๆมากขึ้น เมื่อไม่ได้มองมันอย่างหลากหลายมากพอ และการช่วงชิงการรับรู้วัฒนธรรมต่างๆ ที่อาจเป็นของที่อื่นมาเป็นของตัวเอง ซึ่งเราจะเห็นได้ในภาพยนตร์ฝั่งฮอลลีวู้ด

Transnational Cinema นั้นเกิดขึ้นมาเป็นคู่ตรงข้ามของ National Cinema โดยอัตโนมัติ ทั้งด้วยความหมายของตัวคำเอง และเป็นการศึกษาที่มีไว้เพื่อบอกว่าโลกนั้นไร้พรมแดน แต่ละชาตินั้นไม่จำเป็นที่จะต้องเผยแพร่ส่งออกวัฒนธรรมที่คิดว่าตัวเองมีอยู่แต่เพียงผู้เดียว เป็นการบ่งบอกถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของโลก ด้วยการร่วมมือกันอาจสร้างการแลกเปลี่ยนต่างๆ ในโลกภาพยนตร์ของทั้งสองประเทศ ทั้งเรื่องราวใหม่ๆ ผ่านพื้นที่และตัวละคร การเปลี่ยนมุมมองจากคนในเป็นคนนอกสังคม หรืออาจเป็นเทคนิคภาพยนตร์ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ หรือการเพิ่มมูลค่าที่มากขึ้นของวงการภาพยนตร์ในพื้นที่นั้นๆ และอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงความหมายของสิ่งที่เคยถูกช่วงชิงจากภาพยนตร์ของประเทศโลกที่หนึ่งที่ทำให้คนที่ดูนั้นเกิดความเข้าใจผิดบางอย่าง มาสู่เจ้าของที่แท้จริง เพื่อทำให้ภาพยนตร์ยังคงพัฒนาผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจทั้งเทคนิคและสังคมทั่วโลก

ด้วยแนวคิดของภาพยนตร์ที่กำลังพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ เหมือนกับภาพยนตร์ที่ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง Film Club ขอเสนอรูปแบบต่างๆ ของภาพยนตร์ข้ามชาติ 10 เรื่อง ที่ทำให้เราสามารถศึกษาความเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอก พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงในโลกภาพยนตร์ ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง


From Bangkok to Mandalay (2016, ชาติชาย เกษนัส)

ภาพยนตร์ที่เป็นการร่วมทุนสร้างอย่างเป็นทางการครั้งแรกของประเทศพม่าและไทย และเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปีที่มีกองถ่ายจากต่างประเทศได้รับอนุญาตให้เข้าไปถ่ายทำในประเทศ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-พม่า และเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมของประเทศพม่าผ่านทัศนียภาพ วัฒนธรรม และเรื่องราวที่ซ่อนเอาไว้ในหนังโรแมนติก-ดราม่าเรื่องนี้

เมื่อ “ปิ่น” ได้พบจดหมายสิบฉบับจากพินัยกรรมของย่า ทำให้เธอตัดสินใจออกเดินทางไปยังประเทศพม่าเพื่อนำจดหมายเหล่านี้ไปเปิดอ่าน ณ ที่ที่มันถูกเขียนขึ้น ระหว่างการเดินทางปิ่นได้ขอร้อง ”โมนาย” หนุ่มพม่าที่คุณย่าเขียนถึงในพินัยกรรมเป็นผู้นำทางเธอไปยังสถานที่บนจดหมายนั้น บางทีจดหมายจากคนรักเก่าของย่าเหล่านี้ อาจทำให้ปิ่นได้เข้าใจอดีตที่ไม่เคยลืมของเธอและก้าวข้ามมันไปได้เสียที


Like Someone in Love (2012, Abbas Kiarostami)

ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของหนึ่งในผู้กำกับชั้นครูของประเทศอิหร่านอย่างอับบาส เคียรอสตามี (Abbas Kiarostami) ถึงแม้ภาพยนตร์จะเกิดขึ้นจากตัวเขา แต่ Like Someone In Love เป็นการร่วมทุนสร้างระหว่างประเทศฝรั่งเศส และญี่ปุ่น

เพื่อที่จะต้องหาเงินมาเพื่อจ่ายค่าเล่าเรียน อากิโกะ (Rin Takanashi) จึงทำงานเป็นหญิงขายบริการ วันหนึ่งอากิโกะต้องมาให้บริการอาจารย์วัยชราอย่างทาคาชิ (Tadashi Okuno) แต่พวกเขาแค่พูดคุยกันและผล็อยหลับไปเพียงเท่านั้น หลังจากนั้นโนริอากิ (Ryô Kase) แฟนหนุ่มของอากิโกะคิดว่าเธอกำลังมีหนุ่มใหม่ แต่ไม่รู้ว่าใคร จึงได้ปรึกษากับทาคาชิเพราะเข้าใจผิดว่าเขาเป็นปู่ของเธอ และทาคาชิก็ยอมเล่นบทบาทนั้นโดยดี ทุกการกระทำที่เกิดขึ้นของทาคาชินั้นคือ “ความรัก” หรือเปล่า? หรือเป็นเพียงแค่ความ ”อยากจะมีความรัก” เพียงเท่านั้น

ภาพยนตร์เรื่องนี้เกิดขึ้นจากประสบการณ์ของตัวอับบาสเองที่ได้พบหญิงสาวที่แต่งตัวในชุดเจ้าสาวนั่งอยู่ริมถนน ระหว่างที่เขากำลังนั่งรถในตอนกลางคืน ในปีถัดมาอับบาสได้กลับไปที่ญี่ปุ่นเพื่อทำโปรโมตหนังเรื่องใหม่ เขารู้สึกว่าเขาอยากตามหาหญิงสาวคนนั้นด้วยความรู้สึกประทับใจอะไรบางอย่างในตัวเธอคนนั้นแต่มันคงเป็นไปได้ยาก เพราะไม่มีอะไรที่เขาจดจำได้เลยนอกจากชุดเจ้าสาวนั้น และปกติก็คงไม่มีใครใส่ชุดเจ้าสาวเดินไปเดินมาแน่ๆ ความรู้สึกที่ตกค้างอยู่กับเขาทำให้อับบาสนำมาเป็นจุดตั้งต้นของภาพยนตร์เรื่องนี้


An Emissary of No Return (1984, Shin Sang-ok)

ภาพยนตร์ที่เกิดจากความร่วมมือที่แปลกประหลาดที่สุดครั้งหนึ่ง เมื่อผู้กำกับชินซางอ็อก (Shin Sang-ok) ที่เป็นชาวเกาหลีใต้ถูกลักพาตัวไปเกาหลีเหนือจากคำสั่งของคิมจองอิล (Kim Jong-il) พร้อมกับภรรยาของเขาชเวอึนฮี (Choi Eun-hee) เพื่อต้องการพัฒนาวงการภาพยนตร์ของเกาหลีเหนือให้ไปได้ไกลมากขึ้น An Emissary of No Return เป็นหนังเรื่องแรกที่ชินซางอ็อกทำให้กับเกาหลีเหนือ

ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์จริงที่เกิดในเวทีประชุมสันติภาพโลกในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์เมื่อปี 1907 เมื่อพระเจ้าโกจงได้ส่งฑูตจากเกาหลีทั้งสามคนไปที่การประชุมอย่างลับๆ หนึ่งในนั้นคือ Ri Jun เพื่อให้คว่ำสนธิสัญญาอึลซาที่ทำให้ประเทศเกาหลีตกอยู่ใต้การปกครองของญี่ปุ่น โดยการแสดงให้เห็นถึงความไม่เป้นธรรมและการถูกลิดรอนสิทธิต่างๆ จากญี่ปุ่น แต่การต่อต้านนั้นถูกปฏิเสธเนื่องจากเกาหลีได้สูญเสียอำนาจให้กับญี่ปุ่นไปแล้ว จึงทำให้ Ri Jun กระทำการฮาราคีรีกลางที่ประชุม สละตัวเองเพื่อชาติเกาหลี


Café Lumière (2004, Hou Hsiao-hsien)

ภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นในวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาลของปรมาจารย์ภาพยนตร์ชาวญี่ปุ่นที่มีคุณูปการระดับโลกอย่าง ยาสุจิโร่ โอสุ (Yasujirō Ozu) โดยค่าย Shochiku ได้ติดต่อหาผู้กำกับและได้ผู้กำกับปรมาจารย์แห่งหนังไต้หวันอย่าง “โหวเซี่ยวเฉียน” มากำกับ ด้วยการดัดแปลงวิธีการทำหนังในสไตล์โอสุทั้งธีมเรื่องและวิธีการเล่า เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบันมากขึ้น

โยโกะ (Yo Hitoto) อาจดูเป็นผู้หญิงญี่ปุ่นธรรมดา ที่ใช้ชีวิตอยู่ตัวคนเดียวในโตเกียว มีความคิดที่เป็นอิสระ ห่างเหินจากพ่อแม่และเพื่อนๆของเธอ ยุ่งอยู่กับงานของตัวเองที่ทำการศึกษาชีวิตของ Jiang Wenye นักแต่งเพลงที่เกิดที่ไต้หวัน แต่เติบโตและโด่งดังที่ญี่ปุ่นในยุค 1930 ปัญหาหลักในชีวิตของโยโกะตอนนี้คือเธอกำลังจะมีลูก และเธอไม่ได้อยากแต่งงานกับสามีของเธอ


Soy Cuba (1964, Mikhail Kalatozov)

ภาพยนตร์ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างสหภาพโซเวียตและคิวบา เพื่อเป็นโฆษณาชวนเชื่อในการโปรโมตลัทธิสังคมนิยม และเป็นการสร้างพันธมิตรระหว่างสองประเทศนี้ด้วย Soy Cuba ได้ Mikhail Kalatozov ผู้สร้างชื่อมาจาก The Cranes Are Flying ที่คว้ารางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ในปี 1958 นั่งแท่นเป็นผู้กำกับ แต่พอมาเรื่องนี้เสียงตอบรับกลับกลายเป็นตรงกันข้าม หนังไม่ประสบความสำเร็จในสักทาง ทั้งแสดงภาพลักษณ์อันตื้นเขินของชาวคิวบามากเกินไป และหนังไม่ได้เป็นโฆษณาชวนเชื่ออย่างที่โซเวียตอยากให้เป็น จึงถูกเก็บไว้และหายสาปสูญไปจากโลกใบนี้ จนกระทั่งอีก 30 ปีถัดมาที่มีการถูกค้นพบอีกครั้ง และเป็นที่ชื่นชอบของคนทำหนังอย่างมาก โดยเฉพาะ Martin Scorsese และ Francis Ford Coppola จึงได้มีการบูรณะหนังให้ภาพคมชัดขึ้นในเวลาถัดมา

Soy Cuba หรือ I Am Cuba เป็นการเล่าเรื่องราวในช่วงการปฏิวัติคิวบาของฟิเดล คาสโตร (Fidel Castro) ผ่านตัวละครทั้งสี่ Maria หญิงสาวที่ต้องทำงานในไนท์คลับเมืองฮาวานาเพื่อปรนเปรอชาวอเมริกันผู้มั่งคั่ง เธอต้องถูกบังคับทำหน้าที่ให้ความบันเทิงและยอมหลับนอนกับนักท่องเที่ยวเพื่อหาเงิน Pedro ชาวนาผู้เช่าไร่ไว้ปลูกอ้อย กลับถูกเจ้าของที่ยึดพื้นที่คืนและนำไปขายให้กับบริษัทในอเมริกา Enrique นักศึกษามหาลัยไฟแรงผู้มีส่วนสำคัญในการปฎิวัติของนักศึกษาและปัญญาชน และ Mariano ชาวบ้านผู้ลุกขึ้นมาจับอาวุธเข้าร่วมกับกองกำลังปฏิวัติ เมื่อลูกชายของเขาถูกลูกหลงจากระเบิดของรัฐบาลเสียชีวิต


The Anabasis of May and Fusako Shigenobu, Masao Adachi, and 27 Years without Images (2011, Eric Baudelaire)

เรื่องเล่าของกองทัพแดงญี่ปุ่น (Japanese Red Army) กลุ่มปฏิบัติการข้ามชาติเพื่อหวังโค่นล้มระบอบจักรพรรดิของญี่ปุ่นที่ตั้งหลักอยู่ที่เบรุต เมืองหลวงของเลบานอนในช่วงปี 1970 และสิ้นสุดลงในปี 2001 เมื่อ Fusako Shigenobu ผู้ก่อตั้งกลุ่มถูกจับกุมตัวได้สำเร็จ กว่าระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา อุดมการณ์อันสุดโต่งถูกนำกลับมาเล่าขานอีกครั้ง ผ่านบุคคลที่มีบทบาทสำคัญ 2 คนด้วยกัน ผ่านการเล่าของผู้กำกับชาวอเมริกัน-ฝรั่งเศส Éric Baudelaire ที่สนใจขบวนการความเคลื่อนไหวของคนทำหนังญี่ปุ่นในยุค 70s โดยเฉพาะ Koji Wakamatsu และ Masao Adachi

หนึ่งคือ May Shigenobu ลูกสาวของ Fusako Shigenobu ที่เกิดในเลบานอน ผู้ได้สัมผัสการมีอยู่ของกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด และใช้ชีวิตมาอย่างเงียบๆ โดยตลอด จนกระทั่งการถูกจับกุมของแม่เธอในวัย 27 แต่นั่นกลับทำให้ชีวิตที่สองของ May เริ่มต้นขึ้น เมื่อเธอกลายเป็นที่สนใจจากสื่อ และกลายไปเป็นบุคคลสาธารณะ

อีกหนึ่งคนคือ Masao Adachi ผู้กำกับหนังชาวญี่ปุ่นสายทดลองในตำนาน ผู้คิดค้นทฤษฎี fûkeiron ขบวนการการทำหนังของญี่ปุ่นที่ถ่ายภาพทิวทัศน์เพื่อแสดงให้เห็นถึงพลังของโครงสร้างบางอย่างที่แพร่กระจายไปอยู่ทุกที่ Masao ละทิ้งการถ่ายหนังแล้วไปจับอาวุธกับกองทัพแดงญี่ปุ่นและแนวร่วมประชาชนเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PFLP: Popular Front for the Liberation of Palestine) ในปี 1974 และใช้ชีวิตด้วยการไม่ได้สร้างภาพยนตร์อีกเลยเป็นเวลา 27 ปี ถึงแม้เขาจะถ่ายภาพบางส่วนของเลบานอนเก็บไว้ แต่ก็ถูกทำลายลงในช่วงสงคราม

เรื่องราวเริ่มต้นเมื่อ Eric Baudelaire ได้ติดต่อกับ Masao Adachi เพื่อทำการสัมภาษณ์และนำเขามาอยู่ในหนัง ซึ่งเขาตกลงโดยมีเงื่อนไขว่าให้ Eric กลับไปถ่ายฟุตเทจในเลบานอนตามที่เขาต้องการ และภาพของหนังจึงเหมือนกับการรีเมคของ A.K.A Serial Killer ภาพยนตร์ชื่อดังของ Masao Adachi เอง


Genealogies of a Crime (1997, Raúl Ruiz)

Solange (Catherine Deneuve) ทนายฝ่ายจำเลยที่เป็นที่โด่งดังจากการไม่เคยชนะคดีมาก่อน ได้รับว่าความให้กับ René เด็กหนุ่มผู้ถูกกล่าวหาว่าสังหาร Jeanne น้าสาวผู้ร่ำรวยผู้ที่อยู่ในสมาคมจิตวิเคราะห์ฝรั่งเศส-เบลเยี่ยม ด้วยวิธีการสืบสวนและมุมมองอันแปลกประหลาดของ Solange เธอได้อ่านบันทึกของ Jeanne หาพยานหลักฐานและความเป็นไปได้ในการฆ่าของ René ทั้งหมดทำให้เธอสรุปได้ว่าจำเลยของเธอเป็นผู้บริสุทธิ์ และถูกชักจูงใส่ร้ายให้กลายเป็นฆาตกร เรื่องราวเริ่มวุ่นวายมากขึ้นเมื่อมีการปรากฎตัวของ Georges Didier เจ้าของสมาคมจิตวิเคราะห์ และ Christian คู่แข่งของเขาที่เชื่อว่าเหตุของอาชญากรรมนั้นมาจากภูมิหลังของแต่ละคน เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป René นั้นเป็นผู้บริสุทธิ์จริงๆ และ Solange จะว่าความชนะสักทีหรือไม่

ผลงานของ Raúl Ruiz ผู้กำกับชาวชิลีที่ขึ้นชื่อในวิธีการทำหนังที่ทดลองทำอะไรใหม่ๆ สอดแทรกไปกับการตั้งคำถามในเรื่องปรัชญา จิตวิเคราะห์ เทววิทยา และอารมณ์ขันอันเหนือจริง เขาเกิดและเติบโตในประเทศชิลี แต่อพยพจากประเทศตัวเองพร้อมลูกและภรรยาไปอยู่ที่ฝรั่งเศสในปี 1973 เนื่องจากหลบหนีระบอบเผด็จการทหารของออกุสโต ปิโนเชต์ ที่ทำการรัฐประหารยึดอำนาจมา Genealogies of a Crime เป็นภาพยนตร์ที่เขาทำในตอนที่เขาอยู่ประเทศฝรั่งเศส และคว้ารางวัล Silver Bear เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลินในปีนั้น


Here and Elsewhere (1976, Jean-Luc Godard + Jean-Pierre Gorin + Anne-Marie Miéville)

ในปี 1968 ฌอง-ลุค โกดาด์ (Jean-Luc Godard) เจ้าพ่อแห่งขบวนการหนัง French New Wave ได้ร่วมมือกับฌอง-ปิแยร์ กอแร็ง (Jean-Pierre Gorin) นักทำหนังที่เคยเขียนบทให้เขาในเรื่อง La Chinoise จัดตั้งกลุ่มที่ทำภาพยนตร์การเมืองที่สนับสนุนแนวคิดฝ่ายซ้ายนิยมมาร์กซิสม์ในนาม “Dziga Vertov Group” ซึ่งตั้งชื่อตามผู้กำกับชั้นครูของโซเวียตในยุค 20-30’s

ปี 1970 พวกเขาได้ทำภาพยนตร์เรืองหนึ่งที่ชื่อว่า Jusqu’à la victoire (Until Victory) ที่ได้ถ่ายชีวิตของกองกำลังต่อต้านกลุ่มองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (Palestine Liberation Organiztion หรือ PLO) แต่ภาพยนตร์กลับไม่ได้สร้างต่อจนเสร็จ เนื่องจากสมาชิกของกำลังต่อต้านที่พวกเขาตามถ่ายนั้นถูกสังหารจากกองทัพของจอร์แดนในเหตุการณ์สงครามกลางเมืองที่เรียกว่าเป็น “Black September”

ภายหลังที่กลุ่ม Dziga Vertov Group ได้แยกย้ายกันไป โกดาด์ได้ร่วมงานกับอันน์-มารี เมอวิลล์ คนรักของเขา ด้วยการนำฟุตเทจการภาพยนตร์ที่พวกเขาสร้างไม่เสร็จ มาประกอบสร้างกลายเป็นภาพยนตร์เรื่องใหม่ และเพิ่มฟุตเทจที่เหมือนเป็นขั้วตรงข้ามกัน ระหว่างภาพของครอบครัวชนชั้นกลางฝรั่งเศสที่นั่งดูทีวีอย่างอยู่ดีมีสุข สลับกับภาพของกองกำลังต่อต้านในปาเลสไตน์ที่ฝึกหนักอย่างเอาเป็นเอาตาย เรื่องนี้ถือเป็นการวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดของตัวเองในช่วงที่อยู่กลุ่ม Dziga Vertov Group ด้วย


I Don’t Want to Sleep Alone (2006, Tsai Ming-liang)

เสี่ยวกัง (Lee Kang-sheng) หนุ่มไร้บ้านที่เดินร่อนเร่ไปตามเมืองกัวลาลัมเปอร์ เขาโดนักเลงรีดไถเงินและถูกซ้อมปางตาย แต่ได้ ราวาง หนุ่มกรรมกรที่อพยพจากบังคลาเทศมาดูแลไว้ได้ทัน ความสัมพันธ์ของทั้งสองคนอันไร้ที่มาที่ไปอาจก่อตัวกันเป็นความรัก แต่การมาของเซียงฉี พนักงานเสิร์ฟสาวที่รู้สึกว่าเสี่ยวกังนั้นเป็นคนพิเศษ ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสามซับซ้อนยิ่งขึ้น ท่ามกลางหมอกควันที่ทำให้ทุกคนหายใจได้ลำบาก และตึกร้างแสนประหลาดที่มีบ่อน้ำอยู่กลางตึกในเมืองใหญ่

ไฉ้หมิงเลี่ยง (Tsai Ming-liang) ผู้กำกับชั้นนำชาวไต้หวันได้กลับไปถ่ายทำที่ประเทศมาเลเซียที่ที่เขาอาศัยในวัยเด็กเป็นครั้งแรก ความที่เขาไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไต้หวัน หรือเป็นคนมาเลเซียเอง ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนถึงความแปลกแยกของตัวเองในกัวลาลัมเปอร์ ผ่านแรงงานข้ามชาติและตึกร้างทีไม่เคยถูกสร้างเสร็จ จากพิษของวิกฤติต้มยำกุ้งที่ทำให้เศรษฐกิจของมาเลเซียนั้นถดถอย I Don’t Want to Sleep Alone นั้นถูกแบนจากกองเซ็นเซอร์ของมาเลเซียในครั้งแรกด้วยเหตุผลมากมาย แต่การส่งเข้ากองเซ็นเซอร์ครั้งถัดมาเขาได้รับการอนุญาตให้ฉายแต่แลกกับการตัด 5 ฉากในภาพยนตร์ทิ้ง ซึ่งไฉ้หมิงเลี่ยงยอมตัดฉากเหล่านั้นเพื่อให้ได้ฉายในมาเลเซีย


Fruits of Passion (1981, Shuji Terayama)

เรื่องราวความรักของ โอ (Isabelle Illiers) หญิงที่หลงรักเซอร์สตีเฟน (Klaus Kinski) อย่างเต็มหัวใจ จนยอมทำทุกอย่างเพื่อเป็นการแสดงความรักของเธอ ทำให้สตีเฟนส่งโอมาอยู่ที่หอนางโลมในญี่ปุ่น เพื่อที่เขาจะได้เฝ้ามองเธอมีเซ็กซ์กับชายอื่น ทำให้มีชายหนุ่มที่ได้พบกับเธอและตกหลุมรักกับเธอ เขาต้องไปเข้าร่วมกับกองกำลังปฏิวัติเพื่อหาเงินมาหลับนอนกับโอ

ภาพยนตร์ที่ร่วมทุนสร้างระหว่างประเทศญี่ปุ่นและฝรั่งเศส กำกับโดยชูจิ เทรายามะ (Shuji Terayama) หนึ่งในผู้กำกับสายทดลองที่พิสดารที่สุดคนหนึ่งในญี่ปุ่น ดัดแปลงอย่างหลวมๆ จากนิยาย Retour à Roissy ของ Anne Desclos ซึ่งถือว่าเป็นภาคต่อจากนิยายและภาพยนตร์เรื่อง the Story of O ซึ่ง Arielle Dombasle นักแสดงภายในเรื่องได้ให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่าในการเข้าฉากของเธอกับ Klaus Kinski นักแสดงนำนั้นเป็นประสบการณ์ที่เลวร้ายมาก

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here