Home Review Film Review ของดีจากเทศกาลหนังออนไลน์ We Are One

ของดีจากเทศกาลหนังออนไลน์ We Are One

0
ของดีจากเทศกาลหนังออนไลน์ We Are One

We Are One เป็นเทศกาลหนังออนไลน์ ที่รวมเอาหนังเทศกาลทั้งจากคานส์ ซันแดนซ์ ไปยันเยรูซาเลม มาเก๊า ฯลฯ เริ่มแล้วบน youtube และมีจำกัดเวลาดูเพียง 7 วันหลังพรีเมียร์ ด้านล่างคือหนังส่วนหนึ่งจากหลายเรื่องที่ Film Club แนะนำ


Crazy World (2019, Navwana IGG, Uganda)

เล่าเรื่องคร่าวๆ นี่คือ TAKEN ฉบับอูกันดาที่ถ่ายกันในหมู่บ้าน พร้อมนักแสดงแอ็กชันแห่งยุค บรูซ ยู ซูป้า คอมมานโด วากาสตารซ เบบี้คอมมานโด และ อูกันดา นินจา !!!

พระเอกเป็นคอมมานโด โดยลักลูกฆ่าเมียจนเป็นบ้า แต่คอยตามล่าแก๊งลักเด็ก ตอ่มาเด็กถูกลักมากขึ้นเพราะต้องเอามาบูชายัญก่อนลงเสาเข็มตึก เด็กๆเองก็เหมือนหลุดมาจากหนังแอ็กชัน มีฝีมือแอ็กชันสตาร์ เตะต่อยตบตี ทีมพ่อทีมลูกเลยช่วยกันสยบเหล่าร้าย

หนังบ้าบอสุดขีดและมีทั้งการต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ (ด้วยการส่งเครื่องบินตามไปจับคนละเมิดที่ปารีสและโตรอนโต) หรือตัวอย่างหนังเรื่องต่อไปอย่าง ’ลุงบานงระลึกชาติ‘ ที่โผล่แทรกมากลางเรื่องเสียเฉยๆ แถมหนังมีผู้กำกับมาพากย์ไปตลอดเรื่อง!!!

เจ้ยต้องหลีก ทีมพากย์พันธมิตรต้องไหว้ คู่แข่งเดียวคือวีระศักดิ์ สุยะลา!!!

หนังหมดระยะเวลาการดูไปแล้ว


 Ticket Of No Return (1979, Ulrike Ottinger, West Germany)

เรารีวิวเอาไว้แล้วตามลิงก์ด้านล่าง

หนังหมดระยะเวลาการดูไปแล้ว


Bridges of Sarajevo (2014)

Bridges of Sarajevo คือหนัง omnibus ที่รวมตัว 13 ผู้กำกับจากทั่วทวีปยุโรปมาทำหนังสั้นในโจทย์เดียวกัน (หนังเปิดตัวในสาย Special Screenings ที่เมืองคานส์เมื่อปี 2014) เพื่อสะท้อนความทรงจำ ความคิดเห็น และความรู้สึกของพวกเขาที่มีต่อเมืองซาราเยโว เมืองหลวงของประเทศบอสเนีย-เฮอร์เซโกวินาในปัจจุบัน และอดีตสมรภูมิรบในสงครามยูโกสลาเวียระหว่างปี 1991 ถึง 2001 ที่บอบช้ำรุนแรงที่สุดทั้งจากการปิดล้อม สังหารหมู่ และพยายามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ทั้งสายตาที่จับจ้องไปในซาราเยโวปัจจุบันเพียง 10 ปีเศษ (ในปีที่หนังออกฉาย) หลังเหตุการณ์รุนแรงทั้งหมด ส่องสะท้อนความทรงจำ ความเจ็บปวด และผลกระทบของสงครามต่อผู้คนกับพื้นที่ ไปจนถึงตีความประวัติศาสตร์ ส่งเสียงตะโกนเรียกร้องทางการเมือง หรือย้อนไปเล่าเรื่อง ณ เวลาที่สงครามยังดำเนินไป บ้างก็ย้อนไปถึงซาราเยโวในวันที่เกิดเหตุการณ์ซึ่งจุดระเบิดให้สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง – ทั้งหมดทั้งมวลล้วนคือความพยายามของคนทำหนังที่จะจดจำและอธิบายว่า สำหรับทวีปยุโรปแล้ว เหตุการณ์ที่ซาราเยโว (และบอสเนียฯ) มีความหมายและสำคัญแค่ไหน

ตามธรรมชาติของหนัง omnibus ที่นำหนังสั้นจากต่างคนต่างที่มารวมกันภายใต้โจทย์เดียวกัน หนังบางเรื่องย่อมกลบรัศมีของบางเรื่อง พลังและความแหลมคมย่อมไม่เท่ากัน แต่สำหรับ Bridges of Sarajevo มีอยู่ 4 เรื่องที่แข็งแรง ทรงพลัง และคุ้มค่าอย่างยิ่งที่จะลอง

The Bridges of Sighs ของ Jean-Luc Godard (ซึ่งอินการเมืองและประเด็นบอสเนียมากๆ อยู่แล้ว) คือคอลลาจเดือดพล่านร้อนแรงที่ทำหน้าที่ถ้อยแถลงการเมืองอย่างท้าทาย ผ่านการใช้ภาพ เสียง และตัวอักษรของประวัติศาสตร์ในพื้นที่ ตรงข้ามกับสายตาสงบนิ่งแต่คมกริบของ Reflections ที่กำกับโดย Sergei Loznitsa ซึ่งจ้องมองภาพถ่ายของกองกำลังติดอาวุธที่ลุกขึ้นปกป้องซาราเยโวในช่วงสงคราม ผ่านกระจกแกลเลอรี่ที่สะท้อนทัศนียภาพของเมือง ในขณะที่ Quiet Mujo ของ Ursula Meier คือการส่งผ่านความทรงจำจากผู้ใหญ่ที่บอบช้ำ ถ่ายทอดให้เด็กน้อยที่ยังบริสุทธิ์ผ่องแผ้วและขาดจากประสบการณ์เลวร้ายที่มนุษย์เคยเผชิญในที่แห่งนั้น และ Sara and Her Mother ของ Teresa Villaverde คือการนำเสนออดีตอันเจ็บปวดที่สงบนิ่งเงียบเชียบ ในบ้านที่เสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ความทรงจำเลวร้ายยังคงกัดกร่อนและบ่อนเซาะตัวตนของคนคนหนึ่งอย่างเยียบเย็น

หนังหมดระยะเวลาการดูไปแล้ว


Shiraz: A Romance in India (1928, Franz Osten)

Franz Osten คือคนทำหนังชาวเยอรมันที่มีบทบาทสำคัญในยุคแรกเริ่มของภาพยนตร์ในอินเดีย (ก่อนต้องยุติบทบาทเมื่อถูกกองทัพอังกฤษจับกุมตัว โดยในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สองเขาเป็นสมาชิกพรรคนาซี แต่หลังจากนั้นได้เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสตูดิโอซึ่งต่อมาพัฒนาเป็น Bavaria Film Studio ที่ยังทำหนังอยู่ในเยอรมนีปัจจุบัน) หลังจากทำหนังเยอรมันตั้งแต่ปี 1911 และเป็นนักข่าวกับทหารในช่วงสงคราม เขาได้รับการติดต่อจาก Himansu Rai นักเรียนกฎหมายที่มุ่งมั่นจะก่อตั้งสตูดิโอภาพยนตร์ในอินเดีย (ซึ่งต่อมาเป็นอีกหนึ่งผู้บุกเบิกคนสำคัญ) ก่อนจะลงเอยด้วยการทำหนังในอินเดียถึงเกือบ 20 เรื่อง และ Shiraz คือหนึ่งในนั้น

เนื้อเรื่องที่ผูกพันกับตำนานการสร้างทัชมาฮาลคือจุดขายที่แข็งแรงของหนัง ทว่าชื่อเรื่องกลับไม่ได้สื่อถึงราชินีผู้งดงามอย่างมุมตาซ (ซึ่งในหนังใช้ชื่อเจ้าหญิงเซลิมา) หรือจักรพรรดิชาห์จาฮานแห่งราชวงศ์โมกุล แต่ระบุถึง ชิราซ (Rai เล่นเอง) พี่ชายบุญธรรมของพระมเหสีที่ปักใจรักเธอมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กน้อยตราบจนสิ้นอายุขัย และหนังเขียนให้เขาถ่ายเทความรักที่ไม่เคยสูญสลาย จนกลายเป็นอนุสรณ์สถานทัชมาฮาล

หนังเริ่มเรื่องตั้งแต่องค์หญิงน้อยแห่งราชวงศ์แถบเปอร์เซียถูกทิ้งไว้กลางทะเลทราย หลังคาราวานถูกกลุ่มโจรดักปล้นฆ่า กระทั่งครอบครัวช่างปั้นหม้อของชิราซมาพบและชุบเลี้ยงเป็นลูก เมื่อเติบโตเป็นสาวงาม เธอถูกกลุ่มนักค้าทาสลักตัวไปขาย แต่ผู้ชนะประมูลคือตัวแทนจากวังขององค์ชาย (ก่อนขึ้นครองราชย์) ผู้แสดงออกชัดว่าถูกใจเธอ จนทำให้ ดาเลีย ลูกสาวขุนนางที่มักใหญ่ใฝ่สูง พยายามวางแผนกำจัดอยู่ลับหลัง ประจวบกับที่ชิราซอาศัยความช่วยเหลือของนางรับใช้คนสนิทลอบเข้าพบเซลิมาได้ถึงในวัง ก่อนที่ความจริงจะถูกเปิดเผยทั้งแผนร้ายของดาเลียและเลือดสีน้ำเงินแท้ของเซลิมา

ตามประสาหนังเงียบจากยุคอาณานิคม ผู้ชมหลายท่านอาจตะขิดตะขวงใจอยู่บ้างกับท่าทีและสายตาที่มองโลกฝั่งตะวันออกอย่างฝรั่งผิวขาวที่ exoticize ชาติใต้อาณัติอย่างเต็มที่ แต่เนื้อเรื่องโรแมนซ์แต่งเติมที่สนุกครบรสและการถ่ายภาพที่งดงามหมดจด ก็ทำให้ Shiraz กลายเป็นหนึ่งในหนังเงียบเรื่องสำคัญ

หนังหมดระยะเวลาการดูไปแล้ว


The Epic of Everest (1924, J.B.L. Noel, UK)

* ตัวอย่างชั้นดีของ “ภาพยนตร์สารคดี” ที่สร้างขึ้นในยุคหนังเงียบ (ซึ่งต่างจากการบันทึกห้วงขณะของเหตุการณ์จริงในหนังเงียบยุคแรกเริ่มที่คุ้นตากัน) ในฐานะบทบันทึกอย่างเป็นทางการที่ติดตามความพยายามพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ของสองนักสำรวจชาวอังกฤษ George Mallory และ Andrew Irvine ในปี 1924 (ผู้กำกับ Noel เองก็เป็นนักสำรวจและนักผจญภัย ผู้เคยพยายามขึ้นยอดเขาเอเวอเรสต์มาแล้วเมื่อปี 1913 จากฝั่งธิเบต แต่ไม่ประสบความสำเร็จ)

* นอกจากทัศนียภาพอันยิ่งใหญ่ของเทือกเขาหิมาลัยและยอดเขาเอเวอเรสต์ (ที่ผ่านการบูรณะฟิล์มครั้งล่าสุดเมื่อปี 2013) The Epic of Everest ยังได้บันทึกช่วงแรกเริ่มของการแข่งขันพิชิตยอดเขาเอาไว้ ตัวหนังที่ตั้งใจเผยแพร่สู่สาธารณชนได้อธิบายอย่างละเอียดว่าการเดินทางสู่เทือกเขาหิมาลัยของ Mallory กับ Irvine นั้นสำคัญแค่ไหน ท้าทายด้วยเหตุปัจจัยใดบ้าง เพื่อกระตุ้นให้คนตื่นเต้นและรู้สึกร่วมกับภารกิจอันยิ่งใหญ่ (หลัง George Finch กับ Geoffrey Bruce เป็นสองคนแรกที่ขึ้นถึงระดับความสูง 8,000 เมตรเมื่อปี 1922)

* เป็นความรู้สึกคนละเรื่องกับการรับรู้ของผู้คนหลังความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ของ Edmund Hillary กับ Tenzing Norgay ในปี 1953 – ใช่แล้ว The Epic of Everest จบด้วยโศกนาฏกรรม

* อีกข้อมูลทรงคุณค่าที่หนังได้บันทึกไว้ก็คือเทคโนโลยีของการถ่ายทำภาพยนตร์ในยุคสมัยนั้น เพราะนอกจากต้องอธิบายว่าการพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ยิ่งใหญ่แค่ไหน หนังต้องอธิบายให้คนดูเข้าใจด้วยว่าทีมถ่ายทำของ Noel ต้องคิดค้นดัดแปลงอุปกรณ์กล้องอย่างไร ให้เหมาะสมกับการเดินทางในสภาพภูมิประเทศทุรกันดาร ทนต่ออากาศหนาวในระดับฆ่าคนได้ และเพื่อให้บันทึกภาพ Mallory กับ Irvine ได้จากระยะไกลชนิดข้ามเขาเป็นลูกๆ (กล้องในหนังซูมถ่ายทั้งคู่จากแคมป์ที่เป็นจุดปลอดภัย)

* เมื่อหนังจบลงด้วยความสูญเสีย (จากที่ตั้งเป้าว่าจะเป็นภาพของความสำเร็จ) และตัดต่อเพื่อออกฉายในปีเดียวกันหลังเหตุการณ์เพียงไม่นาน ความเวิ้งว้างของภูมิทัศน์จึงเปี่ยมอารมณ์ท่วมท้นเข้มข้น และกลายเป็นบทบันทึกความเกรี้ยวกราดโกรธาของเจ้าอาณานิคมที่พ่ายแพ้และไม่อาจได้รับเกียรติเป็นผู้พิชิตดินแดนท้าทายแห่งใหม่

หนังหมดระยะเวลาการดูไปแล้ว


Electric Swan (2019, Konstantina Kotzamani)

ห่านดินกินหญ้า แล้วหงส์ไฟฟ้ากินอะไร(วะ)? อ๋อ หงส์ไฟฟ้าเขามีไว้ขายนักท่องเที่ยวอย่างเรานี่แหละลูก

Konstantina Kotzamani คือคนทำหนังชาวกรีกรุ่นใหม่น่าจับตา (เธออายุ 37) มีหนังสั้นที่ได้ฉายทั้งที่เบอร์ลิน (Washingtonia, 2014) โลการ์โน (Yellow Fieber, 2015) คานส์ (Limbo, 2016 – เคยมาฉายที่กรุงเทพ) เวนิซ (เรื่องนี้แหละ) และเข้าชิงหนังสั้นยอดเยี่ยม European Film Awards มาแล้วสองครั้ง

Electric Swan คือ Swan Lake เวอร์ชั่นกวนตีนแปลกประหลาดที่เสียดสีเรื่องชนชั้นได้แสบลึก (หนังเปิดเรื่องด้วยนักท่องเที่ยวจีนถีบเรือเป็ด แต่อยู่ในสวนลุม / หนองประจักษ์ / บึงแก่นนคร ของอาร์เจนตินา) หงส์ขาวคือคุณหนูนักบัลเลต์ที่มีชีวิตลำพังในห้องสวีตชั้นบนสุดของคอนโด ส่วนหงส์ดำคือพี่ยามชื่อคาร์ลอสซึ่งเป็นชนพื้นเมือง ผู้แทบจะมีชีวิตอยู่แค่คอกยามชั้นล็อบบี้กับห้องนอนที่ชั้นใต้ดินของตึก

นอกจากสองคนนี้ อีกหลายชีวิตในตึกก็ประหลาดไม่แพ้กัน ทั้งคุณยายไฮโซที่เลี้ยงหมาป่วยไว้แล้วไม่กล้าการุณยฆาตเอง เด็กน้อยที่ชอบฝันกลางดึก (แล้วมาเล่าให้คาร์ลอสฟัง) ถึงคนในตึก แล้วฝันของเธอก็ดูจะจริงเสียเหลือเกิน – คุณน้องนักบัลเลต์กำลังเผชิญกับอาการบ้านหมุนที่ยิ่งคลื่นไส้หนักเพราะอยู่ชั้นบนสุด แต่ก็ไม่รู้ว่าบ้านหมุนในหัวตัวเองหรือตึกนี้มันแอบเดินตอนที่ไม่มีคนเห็น ในขณะที่ชั้นใต้ดินของคาร์ลอสก็น้ำหยดน้ำรั่วมายาวนาน หาสาเหตุไม่เจอ บางทีอาจจะมาจากตึกข้างๆ ที่เจรจาอะไรไม่ได้เพราะเขาใช้นวัตกรรมใหม่คือจ้างคนบ้านนอกมาเป็นยามกะดึกผ่าน Skype

หลายฉากชวนให้นึกถึง High-Rise (ทั้งนิยายของ J.G. Ballard และหนังของ Ben Wheatley) ที่รักษาท่าทีมากกว่าหน่อย แต่หมัดเด็ดของหนังคือการคารวะ Tsai Ming-Liang กันแบบเอาให้คนรู้ว่าครูของฉันคือใคร ฉากที่ไหว้ The Hole (1998) ยังเข้าธีมอยู่ตามเส้นเรื่องน้ำรั่ว แต่พอเข้าช่วงกราบเท้า I Don’t Want to Sleep Alone (2006) นี่ถึงกับต้องขำออกเสียงด้วยความเจ็บแสบ ไม่รู้คิดได้ยังไง

หนังหมดระยะเวลาการดูไปแล้ว


No One Left Behind (2019, Guillermo Arriaga Jordán, Mexico)

ทหารอเมริกันหมู่หนึ่งพร้อมผู้บังคับบัญชา นั่งไปในรถยนต์เงาวับสามคันขับเรียงแถว ภูมิประเทศเป็นลูกรังฝุ่นทราย ทั้งหมดปรากฏตัวด้วยเครื่องแบบติดเข็มเต็มยศ วันทยหัตถ์ทำความเคารพอย่างแข็งขันเคร่งครัด ขบวนรถจอดที่หน้าบ้านหลังหนึ่ง นายพลสอบถามทักทายด้วยภาษาสเปนตามมารยาท ได้รับคำตอบก่อนเดินเข้าไปด้านใน

ภาพเหตุการณ์เริ่มดูแปลกๆ ทหารอเมริกันมาทำอะไรถึงเมืองบ้านนอกของเม็กซิโก?

พวกเขามาร่วมงานศพของเพื่อนทหารชาวเม็กซิกัน ที่เคยร่วมรบช่วยชีวิตมีความทรงจำต่อกันในสมรภูมิอิรัก ไม่ได้มาตามมารยาท แต่รู้สึกเศร้ากับการเสียชีวิตอย่างมนุษย์ และต้องการเชิดชูเกียรติของชายหนุ่มที่จากไปก่อนวัยอันควรด้วยใจจริง นายพลขออนุญาตพ่อคนตายทำพิธีคลุมธงชาติให้โลงศพ พ่อโพล่งว่าลูกกูเป็นเม็กซิกันตอนพวกเขาคลี่ธงชาติอเมริกัน ไม่เป็นไร เรารู้ เรามีธงชาติเม็กซิโกเตรียมมาด้วย

เพื่อเชิดชูเกียรติสูงสุด พวกเขาถึงกับขอศพลูกชายพ่อกลับไปฝังในสุสานนายทหารอเมริกัน ให้สมเกียรติของผู้รับใช้ชาติอย่างเต็มภาคภูมิ พ่อเลยถามต่อว่าถ้าลูกกูเป็นวีรบุรุษ แล้วประเทศมึงเนรเทศเขาทำไม เขาไปอยู่ประเทศมึงสิบห้าปี รบให้มึงไปแล้วก็เจ็ดปี มีความหมายอะไรหรือเปล่า
ความเหนือชั้นของ No One Left Behind คือการขยับเล่าเรื่องไปไกลกว่าวิวาทะข้างต้น – Guillermo Arriaga (มือเขียนบท Amores Perros, 21 Grams, Babel) ไม่ได้ต้องการแค่วิพากษ์นโยบายกีดกันคนต่างชาติในสมัยทรัมป์หรือต่อต้านสงครามแบบทื่อๆ แต่ต้องการพูดถึงสิ่งซึ่งแม้กระทั่งหัวจิตหัวใจและความเป็นมนุษย์ก็ไม่อาจแก้ไขเยียวยา

หลังจากโดนพ่อคนตายตอกหน้า ทหารอเมริกันก็ล่าถอย สงบนิ่ง พวกเขาขอแค่อยู่ค้างคืนเพื่อร่วมพิธีฝังในรุ่งเช้า เจ้าภาพต้อนรับอย่างอบอุ่นเต็มที่ มีบทสนทนาหยอกล้อกับเด็กๆ ในบ้าน แลกเปลี่ยนความทรงจำและวีรกรรมของผู้วายชนม์ บ้างก็จำวิทยุที่เพื่อนผู้จากไปซื้อไว้ตั้งแต่สมัยอยู่เท็กซัสได้

บรรยากาศเต็มไปด้วยหัวจิตหัวใจ ความเห็นอกเห็นใจ ความซื่อสัตย์จริงใจ และมนุษย์ที่ต่างโศกเศร้ากับสูญเสียทั้งในฐานะครอบครัวและเพื่อนร่วมรบ

สิ่งที่ Arriaga บันทึกไว้ได้อย่างหมดจดที่สุดก็คือความผิดที่ผิดทางแปลกประหลาด ไม่ว่าภาพสถานการณ์จะดูซาบซึ้งชวนประทับใจแค่ไหน ทหารอเมริกันเหล่านี้จะเป็นมนุษย์มากเพียงใด เกียรติยศอย่างทหารอเมริกันที่สะท้อนผ่านร่างกาย ระเบียบ และพิธีกรรม ก็ไม่อาจเป็นหนึ่งเนื้อเดียวกันกับสิ่งรอบตัวได้ – โดยเฉพาะเมื่อคนที่พวกเขาพยายามเชิดชูเกียรติ ไม่เคยถูกนับเป็นเนื้อเดียวกันอยู่แล้วตั้งแต่ต้น

หนังหมดระยะเวลาการดูไปแล้ว


Wrath of Silence (2017, Xin Yukun, China)

มันคือหนังจีนชีวิตชาวบ้านแร้นแค้นที่โดนกระทำจนตัวละครต้องลุกขึ้นมาสู้ยิบตา แล้วพระเอกดันบู๊เก่ง แต่ไม่ได้เป็นหนังบู๊เว่อร์ๆ แบบหนังบู๊ฮ่องกงนะ แล้วทางหนังก็เป็นดราม่า slow burn ที่มีแอ็กชันและทริลเลอร์หล่อเลี้ยงอยู่ตลอดเรื่อง

พระเอกเป็นใบ้ เขาเคยถูกชาวบ้านบีบให้เซ็นสัญญายินยอมให้นายทุนมาใช้ภูเขาที่หมู่บ้านทำเหมือง เหลือเขาไม่ยอมอยู่คนเดียว หลังจากที่บู๊กันแหลกไปยกหนึ่งกับเจ้ายักษ์ในหมู่บ้าน ที่สุดเขาก็ถูกบีบให้เซ็นสัญญา ส่วนตัวเขาหนีไปเป็นคนงานเหมืองในต่างเมือง

เรื่องมาเกิดเอาวันหนึ่งที่ลูกชายของเขาหายตัวไปตอนออกไปเลี้ยงแกะเหมือนทุกวัน หาอย่างไรก็หาไม่เจอ เขาต้องพกรูปลูกชายเดินท่อมๆ ข้ามภูเขาไปเที่ยวถามผู้คนว่าเห็นลูกเขาไหม

จนพอไปถึงเหมืองแห่งหนึ่ง ก็ดันประจวบเหมาะเจอกลุ่มลูกน้องนายทุนเหมืองที่เพิ่งซื้อเหมืองแห่งนั้นด้วยวิธีชั่วช้าเข้าพอดี เขาเลยจับพลัดจับผลูต้องร่วมมือกับคนงานเหมืองแห่งนั้นต่อสู้กับแก๊งลูกน้องนายทุนชั่ว จนลูกน้องมือขวาของนายทุนพูดขึ้นมาว่า เคยเห็นลูกชายแกมาก่อน ตามฉันมาสิ แล้วก็พาเขาขึ้นรถเข้าเมืองไปหาเสี่ยนายทุน

ความลับลมคมในชวนสงสัยบังเกิด หรือไอ้เสี่ยนายทุนนี้เองจะลักพาตัวลูกชายเขาไป นอกจากนี้เสี่ยก็กำลังตกที่นั่งลำบาก เพราะทางการกำลังสืบสวนการทำเหมืองผิดกฎหมายของเสี่ยอยู่ และทนายของเสี่ยก็ดูจะช่วยเสี่ยไม่ได้ ซ้ำยังชวนสงสัยว่าทนายคนนี้จะแปรพักตร์ไปเข้าข้างตำรวจเพื่อตลบหลังเสี่ยอีก

หนังเหมือนเป็น A Touch of Sin เวอร์ชั่นผู้ชาย แต่มาในแบบ slow burn เนื้อเรื่องดี และมีศิลปะในการเรียงลำดับการเล่า ค่อยๆ เอาเส้นเรื่องของพระเอกใบ้กับทนายของเสี่ยมาบรรจบกันด้วยการผูกเรื่องที่เข้าท่า ศิลปะการเล่ายังมาในรูปของวิธีที่จะเล่าหรือไม่เล่าอะไร หรือการเฉลยด้วยการไม่เล่าด้วยวิธีโจ่งแจ้งในตอนจบ ที่ก่อให้เกิดพลังมหาศาลกว่าการเล่าตรงๆ อีก

ดราม่าก็ได้ ทริลเลอร์ก็ได้ บู๊แอ็กชันก็ได้อีก ท่ามกลางบรรยากาศเมืองบนภูเขาเหมืองแร้นแค้นของจีน

หนังหมดระยะเวลาการดูไปแล้ว


Air Conditioner (2020, Fradique, Angola)

จู่ๆ ในแองโกล่าก็มีปรากฏการณ์แอร์ตก ซึ่งไม่ได้หมายถึงเครื่องปรับอากาศหยุดทำงานแบบทั่วไป แต่คือปรากฏการณ์ที่ใครก็ตามที่ติดแอร์ไว้บนเพดาน ตัวแอร์มันก็จะหล่นลงมาเอง แอร์ทั่วทั้งแผ่นดินร่วงหล่นลงมาเหมือนนกเจอไข้หวัดนกระบาดเลย ทั่วกรุงลูอันดาเมืองหลวงคือศพแอร์กล่นเกลื่อนกันเต็มถนนไปหมด แอร์เจ๊งกันเป็นแถบๆ บางทีก็ตกใส่หัวคน คนนอกจากจะหัวร้อนแล้วยังจะต้องตัวร้อนอีกเพราะไม่มีแอร์ นายมาเตเซโด้กระทาชายพระเอกของเรื่องเป็นนักการภารโรงที่ต้องจัดหาแอร์ให้เจ้านาย ขณะเดียวกันวิทยุก็รายงานการวิเคราะห์ว่า เริ่มมีกระแสคนหันกลับไปใช้ชีวิตแบบไม่มีแอร์ “เขาบอกว่าแอร์เป็นของต่างชาติที่เข้ามาในแองโกล่า เราต้องปรับตัวกับการเป็นประเทศเขตร้อนของตัวเอง” มาเตเซโด้ยกแอร์ไปให้ร้านซ่อมเครื่องใช้ไ้ฟฟาที่มีนายทหารเก่าสมัยสงครามกลางเมืองเป็นคนซ้อม แม้ชาวบ้านชาวช่องเขาจะเม้าท์กันว่านายคนนี้ซ่อมอะไรไม่ค่อยได้

ของต่างชาติที่เข้าในสังคมเพื่อให้คนอยู่กันได้สบายขึ้น ? (แอร์ในประเทศเขตร้อน?) นายทหารที่ถูกคาดหวังให้ซ่อมแต่ซ่อมอะไรไม่ได้นอกจากให้ความหวังไปเรื่อยๆ ?

Air Conditioner เป็นภาพยนตร์รสแปร่งที่มีลีลาแสนกลแบบหนังที่ใช้ภาษาโปรตุเกสทั่วไป ตัวหนังโดดเด่นด้วยบทเพลงที่เลี้ยงบรรยากาศเศร้าสุขระคอไปด้วยกัน ที่สำคัญคือตัวหนังเล่นกับอุปลักษณ์การเปรียบเปรยทางสังคม แต่ลีลาการกำกับที่อ่อนหวานก็ไม่ได้ถีบคนดูให้หนีห่างแต่สามารถปรุงการเล่าเรื่องแบบสัญลักษณ์ได้กลมกล่อมชวนติดตาม

หนังหมดระยะเวลาการดูไปแล้ว


Adela Has Not Had Supper Yet (1978, Oldrich Lipský, Czechoslovakia)

หรืออีกชื่อภาษาอังกฤษว่า Dinner for Adele (แต่ชื่อ Adela เก๋กว่าตั้งเยอะ) ถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกของเทศกาล We Are One ที่เหมาะสมสำหรับผู้ต้องการหนังหลุดโลก ปั่นประสาท และควรค่าแก่การรับชมเป็นหมู่คณะเพื่อความบันเทิงสูงสุด หลังจากที่หลายๆ คนได้เจออิทธิฤทธิ์ปืนไฟบาแก็ตของ Crazy World จากยูกันดาไปแล้ว

Adela ไม่ได้ดิบเถื่อนเป็นบ้านสลัมกำแพงสังกะสีขนาดนั้น ความเสียสติของหนังใส่สูทเนี้ยบกับกระโปรงฟูสีหวานๆ อยู่ตามสไตล์ยุโรป ตัวหนังเล่าเรื่องหนึ่งคดีของ “ยอดนักสืบที่โด่งดังที่สุดของสหรัฐอเมริกา” นิค ปาร์คเกอร์ แกโด่งดังขนาดไหน ก็ขนาดที่ว่า เชอร์ล็อค โฮล์มส์ ยังส่งจดหมายชื่นชมอัดกรอบมาให้ตั้งโชว์ถึงโต๊ะทำงาน มีคนมาลอบฆ่าถึงสำนักงานนักสืบทุกวี่ทุกวัน วางกับดักรออยู่แล้วทุกมุมห้องแบบเก๋ๆ เวลาอยากทำภารกิจก็สุ่มหยิบๆ เอา รอบนี้ได้ไปกรุงปรากว่ะ เป็นจดหมายจากเคาน์เตส รายละเอียดคดีให้ไปรู้ที่โน่น

คุณนิคเป็นคนเก่งคนดัง คุณนิคเลยหัดภาษาเช็คจากหนังสือบนรถไฟ (แต่ตอนอยู่อเมริกาแกก็พูดภาษาเช็คนั่นแหละ) หาชุดชาวเช็คจากหนังสือเพื่อแต่งตัวให้แนบเนียน (แต่เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ออสเตรีย-ฮังการี) แต่งตัวไปแกก็เนียนอยู่นะ แต่ตำรวจจำได้ อ้าว ตกใจ ทำไมรู้ล่ะว่าเป็นผม แหม ก็คุณออกจะเลื่องชื่อว่าปลอมตัวได้ยอดเยี่ยม ใครเห็นใครก็ต้องจำได้สิครับ (เอ๊ะ)

ก่อนจะไปหาเคาน์เตสเจ้าของคดีก็ไปนั่งคุยกับผู้บัญชาการตำรวจ แบบว่าจริงๆ แล้วตำรวจก็อยากทำคดี แต่เคาน์เตสเธอเมนคุณนิค มีหนังสือทุกเล่ม ตามทุกคดี รักมากเลยไม่ยอมให้ตำรวจยุ่ง เอาเป็นว่าเดี๋ยวฝากลูกน้องไปเป็นผู้ช่วยแล้วกัน พรุ่งนี้ค่อยเริ่ม ดีเลยยังไม่ต้องเริ่มวันนี้ งั้นก็แดกเบียร์แม่งทุกร้านเลยก็แล้วกัน

ถองเบียร์กันจนเช้า เข้าไปเตรียมสืบคดี อ๋อ เป็นคดีคนหาย หายไปดื้อๆ เลยคืนหนึ่ง เคาน์เตสเล่นเพลงกล่อมนอนอยู่ก็แวบหายไปจากห้องเฉยเลย โอ้โห คดีเหนือธรรมชาตินี่ แต่อ้าว ที่เล่ามาทั้งหมดไม่ใช่คนนี่ครับ มันเป็นหมา นี่ยอดนักสืบอย่างผมต้องมาทำคดีหมาหายเหรอเนี่ย เสียเกียรติยิ่งแล้วแม่แก้วจอมขวัญ แต่ทว่าสืบไปสืบมา ดูเหมือนผู้ร้ายในคดีนี้จะเป็นดอกไม้กินคน (!!!) ตายแล้วว

ที่เล่ามานี่แค่ประมาณ 20 นาทีของเรื่อง ส่วนที่เหลือถ้าอยากรู้ว่าตกลงแล้ว Adela นี่มันเป็นใคร(วะ) แล้วคดีจะจบลงอีท่าไหน เห็นทีจะต้องให้ไปดูกันเอง

หนังหมดระยะเวลาการดูไปแล้ว

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here