Business Update : เมื่อค่ายสตรีมมิ่งขยายพื้นที่ใหม่ไปในดินแดนต้องห้ามที่เรียกว่า โรงภาพยนตร์

ข่าวที่สร้างความฮือฮาให้แก่แวดวงธุรกิจภาพยนตร์โลกในช่วงเวลานี้ คงไม่มีข่าวไหนเกินข่าวลือที่ว่า บริษัท Amazon ซึ่งเป็นเว็บไซต์ขายของที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีความสนใจที่จะเข้าซื้อกิจการโรงหนัง AMC ซึ่งกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจจากการที่ต้องปิดโรงหนังจากพิษของโควิด 19 ทันทีที่ข่าวลือแพร่สะพัดออกไป หุ้นของ AMC ที่ตกต่ำเรี่ยดินตลอดสองเดือนที่ผ่านมาก็พุ่งทะยานราวพลุไฟฉลองวันชาติเลยทีเดียว อันที่จริง การที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งจะเข้าเทคโอเวอร์กิจการของบริษัทที่กำลังเข้าสู่ภาวะล้มละลาย มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าบริษัทที่เข้าเทคโอเวอร์ ไม่มีบริษัทลูกที่เป็นผู้ประกอบการสตรีมมิ่งที่ใหญ่เป็นอันดับสองของอเมริกา อย่าง Amazon Prime VDO

ความขัดแย้งระหว่างโรงหนัง กับสตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่ ดำเนินต่อเนื่องมาตลอด นับตั้งแต่โรงภาพยนตร์เริ่มรู้สึกว่าลูกค้าลดจำนวนลง ขณะที่ความนิยมในแพล็ทฟอร์มสตรีมมิ่งอย่าง Netflix และ Amazon Prime VDO มีแต่ขึ้นเอาๆ โรงจึงดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อกดดัน เช่นห้ามไม่ให้ค่ายหนัง ฉายหนังบนช่องทางออนไลน์ก่อนฉายโรง ซึ่งบริษัทยูนิเวอร์ซัลได้ทำไปแล้วกับหนังแอนิเมชันเรื่อง Trolls World Tour และโดนตอบโต้จากโรงหนังเครือใหญ่อย่าง AMC ด้วยการประกาศว่าจะไม่รับฉายหนังจากค่ายยูนิเวอร์ซัลอีกต่อไป ส่วนค่ายสตรีมิ่งเอง หากต้องการฉายหนังที่โรงเพื่อให้ผ่านเกณฑ์การประกวดรางวัลออสการ์ ก็ต้องยอมรับเงื่อนไขต่างๆ นานา เช่นหนังต้องเปิดตัวที่โรงอย่างน้อย 90 วันถึงจะฉายออนไลน์ได้ หากไม่ยอมรับเงื่อนไขนี้ ก็ต้องไปหาโรงหนังเล็กๆ ฉายแทน ยกตัวอย่างกรณีของ The Irishman เป็นต้น

แต่จุดสมดุลของโรงหนังได้เปลี่ยนไปหลังจากโรคโควิดได้ระบาดไปทั่วโลก ส่งผลให้สถานที่ที่รวมคนมากๆ หลายแห่ง ซึ่งรวมถึงโรงหนังต้องหยุดกิจการโดยไม่ทันตั้งตัว ผลก็คือโรงหนังเครือใหญ่ในสหรัฐฯ ทั้ง AMC และ Regal (เปรียบได้กับ เครือเมเจอร์ฯ และ เอสเอฟฯ) ต้องสูญเสียรายได้มหาศาล โดยเฉพาะ AMC ที่มีข่าวมาตลอดว่าขาดสภาพคล่องทางการเงินจนส่งผลให้อาจต้องล้มละลายในไม่ช้า อย่างไรก็ดี สถานการณ์เดียวกันกลับทำให้ธุรกิจบันเทิงออนไลน์ ทั้งแบบชำระค่าชมต่อหนังหนึ่งเรื่อง ที่เรียกว่า Transactional VOD หรือ Premium VOD ก็ว่าไป และแบบบอกรับสมาชิกหรือ Subscription VOD เฟื่องฟูคึกคักเนื่องจากตอบโจทย์วิถีชีวิตรูปแบบใหม่ของคนที่ต้องหมกตัวซ่อนโรคร้ายอยู่ภายในที่พักตลอดทั้งวันทั้งคืนได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าข่าวลือที่ Amazon จะเทคโอเวอร์โรงหนังค่าย AMC ยังคงยืนยันไม่ได้ แต่จากปรากฏการณ์หุ้นพุ่งแรงของ AMC ก็น่าจะทำให้พอมีเค้าลางอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ทีนี้ก็เลยทำให้ต้องคิดต่อว่า “สมมุติ” ถ้า AMC ยอมขายกิจการให้กับ Amazon จริงๆ ซีนารีโอที่จะเกิดขึ้นน่าจะมีอะไรบ้าง ผู้เขียนขอประมวลความเป็นไปได้ดังนี้

1) วินโดว์ หรือ ระยะห่างระหว่างโรงภาพยนตร์กับช่องทางวิดีโออนดีมานด์อาจสั้นลง เดิมที (หรือแม้แต่ตอนนี้) หนังที่เข้าฉายในโรงจะมีระยะยืนโรงได้ประมาณ 90 วัน หลังจากนั้นจึงสามารถไปฉายในช่องทางจัดจำหน่ายอื่นอย่าง ดีวีดี หรือ วิดีโอออนดีมานด์ได้ แต่การที่ผู้ประกอบการวิดีโอออนดีมานด์อย่าง Amzon Prime VOD สามารถเข้าไปมีบทบาทในดินแดนที่เคยเป็นพื้นที่ต้องห้ามมาก่อน อย่างโรงภาพยนตร์ได้ ก็อาจผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้เช่น ต่อไปหนังอาจไม่จำเป็นต้องฉายโรงนานขนาด 3 เดือนก็ได้ บางทีอาจฉายพร้อมกันทั้งโรง กับช่องทางวิโอดี (ปรากฏการณ์แบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นกับโรงเครือใหญ่มาก่อน)

2) หนังลุงทุนสูงของค่ายสตรีมมิ่งจะมีโอกาสได้ฉายในโรงที่มีระบบภาพและเสียงที่สมบูรณ์เสียที ลองถึงการได้ดูหนังเแบบ Extraction ในโรงด้วยระบบเสียง Atmos นอกจากนี้การได้มีโอกาสฉายหนังทุนสูงในโรงจะช่วยลดความเสี่ยงจากการขาดทุนของค่ายได้ไม่น้อย เดี๋ยวนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้นทุนการผลิตหนังของค่ายสตรีมมิ่งสูงระดับน้องๆ ค่ายสตูดิโอฮอลลีวูดเลยทีเดียว (ยกตัวอย่าง The Irishman ที่ลงทุนร้อยกว่าล้านเหรียญฯ แต่ได้ฉายไม่กี่โรงในอเมริกา) การพึ่งพิงรายได้จากค่าสมาชิกรายเดือนแต่เพียงอย่างเดียวอาจไม่พอ ต้องอาศัยช่องทางอื่นด้วย

3) แน่นอนว่าหนังเต็งรางวัลออสการ์จากค่ายสตรีมมิ่ง ซึ่งแต่เดิมมักถูกฉายในโรงหนังเล็กๆ แบบจำกัดโรง ก็จะมีโอกาสได้ฉายในวงกว้างอย่างเต็มภาคภูมิเสียที ถึงตอนนี้ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า นอกจากช่วงซัมเมอร์ที่ถือเป็นช่วงเวลาทำเงินของหนังบล็อกบัสเตอร์ ช่วงไตรมาสที่สี่ต่อช่วงไตรมาสแรกของปีถัดไป คือช่วงเวลาทำเงินของหนังชิงรางวัลออสการ์อย่างแท้จริง และหลังๆ หนังจากค่ายสตรีมมิ่งทั้ง Netflix และ Amazon Prime VDO แถมด้วย Hulu ก็ขโมยซีนหนังค่ายสตูดิโออย่างต่อเนื่อง

4) เราอาจได้เห็นซีรีส์ฟอร์มยักษ์มีโอกาสฉายในโรงมากขึ้น โดยรูปแบบการฉายอาจเป็นแบบมาราธอนที่ผู้ชมสามารถเลือกชมซีรีส์ทั้งสิบเอพิโซดในโรงภาพยนตร์ถ้าอยากได้ประสบการณ์ที่สมบูรณ์แบบ หรือ จะเลือกดูอยู่ที่บ้านก็ได้ (ลองจินตนาการว่ากำลังดู Game of Thrones ในโรงภาพยนตร์ด้วยระบบเสียงอลังการไปด้วย)

5) ซีนารีโอนี้อาจทำให้ความหวังของซีนารีโอทั้งสี่ก่อนหน้านี้ต้องดับไป ถ้าหากใครสักคนมองว่าการควบรวมกิจการของ Amazon เป็นการผูกขาดทางธุรกิจเข้าข่ายผิดกฎหมาย anti trust law ซึ่งบริษัทฮอลลีวูดอย่างยูนิเวอร์ซัลเคยได้รับบทเรียนมาแล้วในปี 1947 หลังจากถูกตัดสินว่าการที่สตูดิโอเป็นเจ้าของโรงภาพยนตร์ด้วย ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการผูกขาดทางธุรกิจแบบครบวงจร ซึ่งถ้าล็อตเตอรีออกเบอร์นี้ ทุกคนก็คงแยกย้ายกันกลับบ้านใครบ้านมัน

แต่ไม่ว่าซีนารีโอไหนจะมีความเป็นไปได้มากกว่ากัน (หรืออาจไม่มีเลยก็ได้ ถ้าข่าวลือการเทคโอเวอร์ไม่เป็นจริง) โรงหนังก็ยังคงทำหน้าที่ของมันต่อไป ผู้เขียนได้อ่านบทความของ สตีเฟน แมคไบรด์ นักวิเคราะห์การเงิน แห่ง RiskHedge ที่เขียนไว้ในนิตยสารฟอร์บส์ว่า โรงหนังจะเป็นหนึ่งภาคอุตสาหกรรมที่หายไปเพราะวิกฤตการณ์โควิด 19 ผู้เขียนขอแย้งแบบหัวชนฝา เพราะไม่ว่าอย่างไร โรงหนังก็จะยังคงอยู่ แน่นอนมันต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงตามสภาวะที่เปลี่ยนไปเท่านั้นเอง

Related NEWS

LATEST NEWS