INTERVIEW

นนทรีย์ นิมิบุตร กราฟลงของหนังไทย ทำให้โปรดิวเซอร์ทำงานหนักขึ้น

พ.ศ. 2540 หนัง ‘2499 อันธพาลครองเมือง’ ทำรายได้ไปราว 50 ล้านบาท พร้อมกอบกู้วิกฤตศรัทธาหนังไทยจากคนดูได้สำเร็จ เกิดการเปลี่ยนแปลงมุมมองการผลิตหนังไทยนับจากนั้นให้ใส่ใจและพิถีพิถันกับงานสร้างมากขึ้น 

พ.ศ. 2563 หนัง ‘คืนยุติ-ธรรม’ ซึ่งนนทรีย์เป็นโปรดิวเซอร์ได้เข้าฉาย เป็นเวลา 20 ปีแล้วที่เขาอยู่ในวงการหนังไทยทั้งในฐานะผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ และตลอดระยะเวลานั้นเขาก็ร่วมเป็นสักขีพยานกับสายธารความนิยมหนังไทยอันผันผวนเรื่อยมา 

เราคุยกันว่าหนังไทยนั้นมีวัฏจักรของมัน เมื่อถึงวันที่มันได้รับความนิยมมากเข้า จะเกิดวิกฤตศรัทธาในหมู่ผู้ชมจนตกต่ำ ก่อนที่มันจะกลับมาผงาดได้อีกครั้ง 

ต่างกันที่จุดตกต่ำของหนังไทยครั้งนี้…ยังมองไม่เห็นว่าจะสามารถกลับมาอีกครั้งได้เมื่อไหร่? 

ผมว่าตอนนี้ถึงเวลาที่คนทำหนังไทยต้องกลับมาทบทวนการทำงานของตนเองกันแล้ว ว่าจะไปในทางไหนต่อ

เราเชื่อเสมอเวลาจะทำหนังสักเรื่อง ว่าความแตกต่าง ความใหม่ ความแปลก มันจะทำงาน ถ้าลองย้อนไปดูในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา หนังส่วนใหญ่ที่มันแปลกตา คนดูก็จะรู้สึกว่าเขาจะได้เห็นอะไรใหม่ๆ ถ้าเราดูจากสถิติการสร้างหนัง ส่วนใหญ่เราก็จะใช้วิธีว่า เมื่อเรื่องไหน แนวไหน ที่มันประสบความสำเร็จ คนก็จะทำแบบนี้ เป็นแบบนี้มาตลอด วันหนึ่งพอมันมีอะไรเป็นปรากฏการณ์ คนก็จะทำตาม เหมือนตอนก่อนเราทำ 2499 จำได้ว่ายุคนั้นมันก็จะคล้ายยุคนี้ คนอาจจะมองว่าคนดูหนังไทยคือวัยรุ่น ทุกเรื่องที่ทำออกมาก็จะเพื่อคนดูกลุ่มนี้ มันเหมือนทุกวันนี้เป๊ะเลย เหมือนวงจรมันกลับมายังไงไม่รู้ ทุกคนก็จะทำหนังเพื่อป้อนคนกลุ่มนี้ เพราะคิดว่าคนกลุ่มนี้เป็นกำลังใหญ่ของหนังไทย ก็เลยทำให้คนกลุ่มอื่นๆ อายุ 25-30 ขึ้นไป ไม่มีหนังดูแล้ว เพราะเขาคิดว่ามันไม่ใช่หนังเขา ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่สัมผัสได้ หรือพอมีหนังพูดอีสานมา ก็มีหนังพูดอีสานเต็มไปหมดเลย เพราะมันทำงาน มันก็เลยทำให้ความหลากหลายมันไม่เกิด ซึ่งในความเป็นจริง ในตัวตนของมัน ควรจะเป็นอย่างนั้น แอ็กชั่นก็ควรจะมี หนังผี หนังอีโรติก หนังดราม่า หนังกุ๊กกิ๊ก วัยรุ่น คือมันควรจะมีครบน่ะ ทุกคนก็จะแบ่งเซ็กเมนต์ว่าคนดูหนังควรเป็นกลุ่มนี้ จนทำให้กลุ่มอื่นเขาไม่มีหนังดู แล้วพอเขาไม่ได้ดูหนังเขาก็จะเริ่มรู้สึกว่ามันไม่จำเป็นกับเขาแล้ว ไปหาดูอย่างอื่นดีกว่า ยิ่งยุคนี้สตรีมมิ่งมันมีเต็มไปหมดเลย โอเคคุณไม่ได้ทำหนังเพื่อเขา ก็ไปหาทางเลือกจากทางอื่น เรายังเชื่อในประเภทของภาพยนตร์ อย่างที่ทุกคนพูดถึงเกาหลี หนังจีน หนังญี่ปุ่น เราจะเห็นเลยว่าเขายังคงความหลากหลายไว้ 

วัฏจักรของหนังไทยมันมีเป็นประจำ จนสถานการณ์ล่าสุดผมนึกไม่ออกเลยว่าจะกลับมาเมื่อไหร่ ทุนสร้างต่ำลง รายได้บ็อกซ์ออฟฟิศก็คาดหวังไม่ได้ 

ทุนสร้างต่ำลงมันมีเหตุผลของมัน หลักๆ เลยคือการล่มสลายของตลาดดีวีดี อันนั้นชัดเจนมาก งบประมาณราว 10 ล้านบาทก็หายไปเลย เมื่อก่อนงบประมาณโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 25 ล้านบาท นี่คือหนังทุนสร้างขนาดกลาง เดี๋ยวนี้มันอยู่ที่ 10 ล้านบาท แน่นอนคุณภาพมันต้องดรอปลงชัดเจน แน่นอนคุณจะทำหนังมาตรฐานเท่าเดิมด้วยทุนสร้างที่มันหายไปครึ่งนึงมันไม่ได้อยู่แล้ว นอกจากว่าเราฉลาดและเก่งในการใช้เงินอันนั้นก็จะเป็นอีกเรื่องนึง ไม่ใช่บอกว่าทำไม่ได้มันก็มีคนทำได้อยู่ เพียงแต่ว่าไอ้การทำได้นั้นมันก็จะได้ระดับนึง คุณลงทุนเท่านี้ก็จะได้รับความสนใจอยู่ที่ประมาณนี้ มันก็สมเหตุสมผลของมัน ถ้าคุณลงทุนเยอะแล้วคนดูเขารู้สึกคุ้มค่าได้เท่ากับหนังต่างประเทศที่เข้ามาฉายในบ้านเรา แต่ถ้าเขาจ่ายเงินเท่ากันโดยที่มาตรฐานงานสร้างไม่เท่ากัน เขาก็จะรู้สึกไม่คุ้มค่า ผมเชื่อว่าคนดูเขามีความคาดหวังก่อนจะมาดูหนังสักเรื่อง คาดหวังจะมาร้องไห้ คาดหวังจะมาหัวเราะ คาดหวังจะมาสนุกกับมัน ถ้ามันไม่ตอบโจทย์ก็จบ เขาไม่รู้สึกว่าจะคุ้มค่ากับการมาดู มันไม่ใช่แค่เงินนะ เวลา ค่ารถ ค่ากิน ปัจจัยหลายอย่างที่จะทำให้การตัดสินใจมันยากขึ้น เหมือนกับเมื่อก่อนที่เราบอกว่าไม่ไปดูโรงหรอกเรื่องนี้เดี๋ยวค่อยดูดีวีดีเอาก็ได้ จากเมื่อก่อนเว้นระยะ 6 เดือนถึงจะออกแผ่น ลดเหลือ 3 เดือน จนเหลือเดือนเดียว เดี๋ยวนี้ก็เหมือนกัน เดี๋ยวค่อยรอดูสตรีมมิ่ง มันก็เลยเป็นเหมือนวัฏจักรเดียวกัน 

กลไกในธุรกิจภาพยนตร์มันไม่เอื้อให้เกิดการลงทุนอีกต่อไปแล้วหรือเปล่า

มียุคนึงในยุคของเรานี่แหละ เขาจะบอกว่าเป็นยุคนายทุนเสียศูนย์คือกำหนดอะไรไม่ได้เลย ผกก.จะทำเรื่องนี้ จะทำอย่างนี้ จะเอาดาราคนนี้ มันก็เวิร์คไงในยุคนั้น เพราะนายทุนไม่ได้ตัดสินใจแค่ยื่นเงินให้ไปทำแล้วทำเงินกลับมาให้ได้ มันเหมือนคุณค่าทางศิลปะภาพยนตร์มันสูงมากหนังมันก็ได้ไปต่างประเทศ ได้รับการตอบรับในต่างประเทศสูง ทุกเรื่องต้องโกยเงินกลับเข้ามา บางเรื่องโกยเงินกลับมาได้มากกว่าในประเทศเสียอีก เมื่อคุณค่าทางภาพยนตร์มันสูงแล้ว มันก็จะได้โอกาสนอกประเทศด้วย แต่เดี๋ยวนี้เมื่อคุณภาพมันไม่ได้ หรือต่ำกว่ามาตรฐาน หรือเสมอมาตรฐานเป๊ะๆ ไม่มีอะไรแปลกใหม่ เพราะมันเล่นอะไรไม่ได้ มันมีเงินอยู่เท่านี้ ไม่สามารถสร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ ได้ มันก็เลยยากที่จะได้ไปข้างนอก หรือไปในราคาพาร์มากๆ ไปเป็นเข่ง มันก็เลยไม่ได้เม็ดเงินที่เราเคยมี เมื่อก่อนเราอาจจะบอกว่าเรามีตลาดในประเทศ ขายสาย ดีวีดี ฟรีทีวี เคเบิ้ลทีวี และต่างประเทศ คำนวนดูแล้วมันก็มีเงินกลับมาที่น่าลงทุน เดี๋ยวนี้มันหายไปหมดเลย ยิ่งพอช่วงโควิดหนังไทยฉายได้เรื่องละ 6 ล้านบ้าง 2 ล้านบ้าง ผมว่ามันก็เลยจะยิ่งยากไปอีกระดับหนึ่ง 

เหมือนคนทำหนังต้องคิดเยอะขึ้น ทำงานหนักขึ้น แล้วคุณมองเห็นอะไรใน ‘คืนยุติ-ธรรม’ ในช่วงที่การผลิตหนังแต่ละเรื่องต้องคิดหน้าคิดหลังเยอะๆ 

อันแรกเลย พอเราอ่านบทแล้วรู้สึกว่ามันแตกต่างจากที่มันมีอยู่ในปัจจุบัน อ่านแล้วอยากดู มันเป็นกลิ่นใหม่ที่ไม่เหมือนกลิ่นเดิมๆ ที่มีอยู่ เราก็ต้องมานั่งคิดกันว่าเราจะทำความแตกต่างนี้ให้มันดีที่สุดเท่าที่งบประมาณที่มันมีได้ยังไง อันนี้แหละที่สำคัญ เรื่องนี้เราทำงานกันขนาดว่าต้องใส่เบอร์แต่ละฉากนะเพื่อให้รู้ว่าแต่ละฉากมันมีระดับความสำคัญแค่ไหน สมมติมันมี 50 ฉาก เราอาจจะต้องมีฉากระดับเบอร์สิบได้แค่ 2 ฉากเท่านั้น ฉากนี้ธรรมดาอย่าไปใช้เงินกับมันมาก เวลา เงิน มันขึ้นอยู่กับความสำคัญแบบนี้เลย ข้อกำหนดทำให้งานโปรดิวเซอร์มันหนักขึ้นอย่างรุนแรงเลย มีกระทั่งว่าบางฉากความสำคัญของมันคือเบอร์ห้าเลย แต่เราขอลดทอนมันลงหน่อยได้มั้ย หรือบางอันเราต้องขอยกออกไปเลยเถอะ เพราะถ้าเราไม่มีอันนี้อาจจะมีเงินไปเพิ่มให้ฉากที่สำคัญเบอร์สิบได้อีกสักหน่อยนึง เพื่อให้เบอร์สิบมันสิบจริงๆ มันเป็นงานคำนวนหมดเลยนะ อย่างเมื่อก่อนตอนเราทำให้เป็นเอก (รัตนเรือง) เราก็มีหน้าที่รวบรวมมนุษย์มาให้เป็นเอก เจรจา ต่อรองราคาโน่นนี่ เพื่อให้คุณได้คนทำงานที่ดีที่สุดมาอยู่กับคุณ เพื่อให้ผู้กำกับเขามีครีเอทีฟได้เต็มที่โดยไม่ต้องมายุ่งกับเรื่องพวกนี้เลย คุณมีข้าวกินแน่นอน คุณมีกองถ่ายออกแน่นอน สบายๆ ถึงเวลานอนก็นอน ถึงเวลากินก็กิน แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่าเราต้องลงไปทำงานที่มันมากกว่านั้น ถึงขั้นว่าเราต้องลงไปดูทุกฉากว่ามันใส่เบอร์อะไรไว้ แล้วก็พล็อตกราฟกันไปเลยว่าความตื่นเต้นควรจะไปอยู่ที่ตรงไหน อันนี้เส้นกราฟนิ่งว่ะ เอาออกไปมั้ย มันต้องคำนวนกันแบบนั้นเพื่อให้เม็ดเงินมันคัฟเวอร์โดยที่ยังคงความสนุกเอาไว้ 

แล้วอย่างนี้ความเย้ายวนในการทำหนังอยู่ที่อะไร เพราะมันเหนื่อยกว่าเดิมเยอะ

(หัวเราะ) มันแทบไม่ใช่งานครีเอทีฟแล้วไง ตอนถ่าย ‘เดอะเล็ตเตอร์ จดหมายรัก’ มันจะมีฉากท่ารถที่นางเอกขึ้นรถลงรถแล้วพระเอกไปรับบ่อยๆ เราก็ไม่เจอที่สวยเลย โปรดักชั่นดีไซน์ อยากให้ข้างหลังมันเป็นหุบเขา อยากให้มันสร้างบรรยากาศ เราสร้างใหม่เลยนะ หมดเป็นล้านเพื่อสร้างตลาดนั้นทั้งตลาด เพราะมันตอบโจทย์ มันสร้างบรรยากาศ เมื่อก่อนเราทำงานกันแบบนี้ เราเป็นโปรดิวเซอร์ เห้ย เอาเลย เราแค่ไปดูว่าจะเอาเม็ดเงินจากตรงไหนมาดี เดี๋ยวนี้มันไม่ใช่ มันคืองานที่ทำให้สมบูรณ์ด้วยการคำนวณนาที มันไม่เหมือนงานศิลปะเท่าไหร่ ทั้งนี้ทั้งนั้นเรายังเชื่อในประสบการณ์เรา 

ผมยังเชื่อว่าคนดูต้องการความแปลกใหม่ แต่ก็ไม่ใช่ความแปลกจนตามไม่ทัน ซึ่งผมว่า ‘คืนยุติ-ธรรม’ มันยังเป็นแบบนั้นอยู่ 

ความฉลาดของผู้กำกับ (กัณฑ์ปวิตร ภูวดลวิศิษฏ์) ซึ่งเขาเขียนบทด้วย เขาสามารถเอาสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว และจับต้องได้ไม่ยาก เอามาไว้ในหนังเพื่อแทนค่าให้คนเข้าใจได้ พอเป็นรถหรูชนมอเตอร์ไซค์คนเก็ตทันที โดยไม่ต้องปูว่าเขาเป็นใคร มาจากไหน เราไม่ต้องเล่าเยอะ อย่างที่บอกว่าเราต้องคำนวน เพราะคนมีความรับรู้ในเรื่องแบบนี้อยู่แล้ว มันทำให้การเล่าเรื่องมันง่ายขึ้น และใกล้คนมากขึ้น และเราพยายามทำให้ตัวละครหลักของเรื่องเป็นคนธรรมดาที่สุด ความเป็นคนธรรมดามันก็จะใกล้กับคนทั่วไปได้ง่าย ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็จะเคยเผชิญกับปัญหาแบบในหนัง เราก็เลือกเรื่องมาเล่าในสิ่งที่คนรับรู้ได้ง่ายเข้ามา ทำให้คน “อ๋อ” ไปได้เรื่อยๆ ระหว่างดู อีกอย่างนะ ในแง่จิตวิทยา สมมติว่ามีหนังแบบนี้แล้วบอกว่าตัวละครได้แก้ไขปัญหาให้ไปแล้ว บางทีมันจะเป็นการทำให้คนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมอยู่อาจจะรู้สึกว่ามันถูกจัดการไปแล้ว 

วิธีคิดนี้น่าสนใจ คือแทนที่จะทำหนังให้เป็นแนวที่คนอยากดู แต่เลือกจะเล่าประเด็นที่คนอยากรู้แทน

ว่ากันว่า เมื่อเราไม่มีตังค์ ก็ต้องทำการบ้านเยอะ (หัวเราะ) คือคิดลงไปให้ครบถ้วนกระบวนความค่อยออกมาจัดการกับมัน จะเล่าหนังยังไงให้คนติดตามไปได้ตลอด เพราะจริงๆ ‘คืนยุติ-ธรรม’ มันเกิดขึ้นภายในหนึ่งคืนเท่านั้น ผมว่าตรงนี้มันเป็นพอยต์ที่ดีที่ว่าเราจะจัดการกับมันยังไง ระหว่างทางเราค่อยเล่าว่ามันเกิดอะไรขึ้นก่อนหน้านั้น เพราะงั้นเราเลยรู้สึกว่าถ้าเราเล่าในหนึ่งคืนสลับกับเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนหน้า แล้วเราหยิบเอาคดีจริงมาใช้ก็ทำให้คนดูรับรู้ไปพร้อมกับเรา ไอ้บริบทของความยุติธรรมมันมีอะไรบ้าง แล้วจะจัดการกับมันอย่างไร 

ทำหนังเหนื่อยขึ้น แต่เงินน้อยลง บางทีเราอาจต้องการแค่ความอุ่นใจในอาชีพเท่านั้นเอง 

ใช่ จริงๆ แล้ว คำว่าอุ่นใจคืออะไร? คือในปีหนึ่งเรามีเงินทำหนังซึ่งอาจจะไม่ได้เยอะหรอก แต่เราก็รู้ว่าเราจะมีเงินทำหนังต่อแน่ๆ เพราะเวลาเราคุยก็คุย 3-4 โปรเจกต์นี่แหละ ถ้าเราเสร็จจากหนังเรานี้เราก็เอาเงินจากหนังเรื่องที่แล้วมาใช้ เดี๋ยวเราก็มีก้อนใหม่เข้ามา เราจะมีความอุ่นใจแบบนั้น แต่พูดตรงๆ ตอนนี้ถ้าตลาดเราไม่มีสตรีมมิ่งอีกก็หายไปหมดเลยนะ ไม่รู้จะทำอะไร ยิ่งผกก.ใหม่ๆ ที่ไม่ได้มีคอนเน็กชั่นอาจจะไปทำซีรีส์ได้ ขณะที่ซีรีส์เองก็งบจำกัดเหมือนกัน ฉะนั้นความอุ่นใจมันหายไป แต่ตอนนี้มันมีตลาดสตรีมมิ่งเข้ามา ถ้ามันแข็งแรงขึ้นและมีเม็ดเงินมากพอที่จะชดเชยรายได้ที่หายไป ความอุ่นใจก็อาจจะกลับมา

LATEST