INTERVIEW

เมื่อการ ‘บันดาลโทสะ’ คลี่คลายเป็น ‘คืนยุติ-ธรรม’

วิธีตอบคำถามของ โน้ต-กัณฑ์ปวิตร ภูวดลวิศิษฏ์ สะท้อนความไม่มั่นใจสักเท่าไหร่ จนแทบไม่น่าเชื่อว่างานกำกับชิ้นล่าสุดของเขาคือ ‘คืนยุติ-ธรรม’ อันว่าด้วยคนตัวเล็กๆ ที่ลุกขึ้นมาทวงคืนความไม่ยุติธรรมในหนึ่งคืนด้วยความโกรธแค้นล้วนๆ 

ยิ่งเราย้อนกลับไปมองงานเรื่องก่อนหน้าของเขา ‘นมัสเตอินเดีย ส่งเกรียนไปเรียนพุทธ’ (2555) หนังโร้ดมูฟวี่อารมณ์ดีที่ว่าด้วยวัยรุ่นไทยกับการออกผจญภัยในอินเดียพร้อมศึกษาพระพุทธศาสนาไปในตัว มันช่างคนละทิศละทางกับหนังเรื่องล่าสุดนี้เหลือเกิน 

ตัวตน ผลงาน และความมั่นใจ ของกัณฑ์ปวิตร กำลังย้ำเตือนเราว่าไม่ควรตัดสินทุกอย่างเพียงฉากหน้าเท่านั้น เช่นกัน บุคลิกของเขาทำให้เราเผลอตัดสินไปแล้วว่ากัณฑ์ปวิตรไม่น่าจะนำเสนอความรุนแรงได้ แต่หารู้ไม่ว่า ‘คืนยุติ-ธรรม’ ต้นกำเนิดมันก็มาจากการ ‘บันดาลโทสะ’ ของเขาเอง 


บทที่ 1: ความโกรธของคนทำหนังอินดี้ 

กัณฑ์ปวิตรกล่าวว่ามีสองความโกรธหลักๆ ที่ขับเคลื่อนให้เขาถ่ายทอดออกมาใน ‘คืนยุติ-ธรรม’ เรื่องแรกย้อนกลับไปตอนที่เขาทำ ‘นมัสเตอินเดีย ส่งเกรียนไปเรียนพุทธ’ จากคนหนุ่มที่หมกมุ่นกับการศึกษาพระพุทธศาสนาและยังอยากทำหนังด้วย เขาหอบความปรารถนาเหล่านั้นออกเดินทางไปถ่ายหนังถึงอินเดีย สำหรับหน้าใหม่ที่มีทุนรอนจำกัด (จากการสนับสนุนของกระทรวงวัฒนธรรม) อย่างเขา มันจึงนับเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ ก่อนจะเดินทางกลับประเทศพร้อมบาดแผลและบทเรียนมากมาย  

“เราต้องการคนที่จะมาช่วยติดต่อประสานงาน ก็ไปได้พี่คนนึงที่เขาทำทัวร์ แล้วเขาเรียนที่เดียวกับเพื่อนที่เป็นทีมงาน ก็รู้สึกเรามีคอนเน็กชั่นกัน ซึ่งพอไปจริงก็ไม่เป็นอย่างที่คุยกันสักอย่างเดียว เขาจัดเป็นไกด์ เขาเป็นบริษัททัวร์ที่พาคนไปแสวงบุญตามที่ต่างๆ อยู่แล้ว” นั่นคือจุดเริ่มต้นของมหากาพย์ความเจ็บปวด เมื่อการสื่อสารไม่ตรงกัน ฝ่ายหนึ่งมาเพื่อถ่ายหนัง อีกฝ่ายมาเพื่อพาเที่ยว เลยทำให้บรรยากาศการทำงานในต่างแดนเริ่มไม่สนุก พัวพันกันมาถึงเมืองไทย ฟ้องร้องกับสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคใหญ่โต 

“วันที่เราไปถ่ายพุทธคยาก็ไปเจอพี่เจ้าของบริษัทเราก็ไปฟ้องเลย ปรากฏว่ามันเป็นหนังหักมุม เขาขู่เราเลยนะว่าพวกคุณไปสร้างเรื่องไว้มากมายตลอดการเดินทาง ไปถ่ายโน่นนี่ เราก็งง อะไรวะ คุยกันไว้อย่างดี จนเรื่องกลายเป็นว่าเราอาจจะไม่ได้กลับประเทศไทยนะ ซึ่งเราเสียไปสองวันแรกเพราะสื่อสารไม่ตรงกัน ทะเลทรายที่เราอยากได้ก็ต้องบินไปถ่ายที่เวียดนาม เสียเงินเสียทองกันอีก กลับมาฟ้อง สคบ. ยาวนานหลายเดือน เขาก็เอาทนายมาจัดหนักเลย นั่นก็เป็นจุดหนึ่งที่ไม่เข้าใจอะไรเลย สคบ. ก็นั่งอยู่ ทำไมกลายเป็นเราที่เป็นฝ่ายโดนยำ” 

หนังได้เข้าฉายในเมืองไทยแบบวงจำกัด จำนวนผู้ชมก็อยู่ในวงจำกัดเช่นกัน หลังจากนั้นกัณฑ์ปวิตรจึงผลิตดีวีดีขายเอง ยังไม่วายโดนละเมิดลิขสิทธิ์ “มีคนสั่งดีวีดีไปแล้วก็คุยกันทางเฟซบุ๊ก เขาหลังไมค์มาบอกว่าคอนเวิร์สดีมาก คุณภาพไฟล์สุดยอด เราก็ขอบคุณเขาไป จากนั้นวันเดียวมั้งหนังก็อยู่ในเน็ตแล้ว เช็คไปเช็คมาก็คือมันนั่นแหละ! เราโมโหก็เช็คไปจนเจอว่าเป็นคนที่ชอบเอาหนังไทยลงเน็ตตัวเอ้เลย เราไปปรึกษาผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการว่าทำยังไงดีพี่ เขาก็บอกให้ทำใจ โทรไปปรึกษาเพื่อนทนายเพื่อนก็บอกให้ทำใจ มันบอกว่าต่อให้เราฟ้องหรือขึ้นศาลมันก็อ้างได้ว่าวางดีวีดีไปใครเอาลงเน็ตก็ไม่รู้ ทั้งที่เราก็มีหลักฐานทุกอย่างเลยนะ” ความโกรธครั้งนั้นของกัณฑ์ปวิตรไม่ได้รับการสะสางอย่างตรงจุด ทำให้เขาค้างคาใจเรื่อยมา พร้อมบทเรียนครั้งสำคัญในชีวิตของคนทำหนังอิสระ 

“เราก็ต่อสู้มาตั้งแต่ต้นนะ ตั้งแต่เราหาตังค์ จนเอาเข้าโรง ดิ้นรนทุกอย่าง พยายามหาเงินมาทำพีอาร์ สุดท้ายเราทำดีวีดีขายยังไงเราก็ไม่คืนทุนมาหรอก มันเป็นหนังเรื่องแรกทำให้ได้รู้ว่าอย่าบ้ามาก (หัวเราะ) ถ้าเราย้อนกลับมาดูอีกครั้ง หนังก็ไม่ได้ดีซะทีเดียว ส่วนเรื่องการทำงานก็รู้สึกว่า มันเจ็บเยอะนะ ตอนนั้นกำลังอินศาสนาพุทธ รู้สึกว่าที่เรากำลังพูดมันสำคัญนะ มันเป็นเรื่องที่ดีนะ มันก็มีคนกลุ่มนึงที่ดูเข้าถึงมาก ดูจบแล้วไปนั่งร้องไห้บนรถ กับบางส่วนที่ ‘หนังบ้าอะไรวะเนี่ย? ไม่เห็นสนุกเลย’ คือตอนที่ทำดีวีดีเราตั้งใจให้หน่วยงานหนึ่งของภาครัฐไปแจกตามโรงเรียนหน่อย เพราะว่าเคยคุยกับ พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ว่าตั้งใจทำดีวีดีเพื่อเป็นสื่อการเรียนการสอน เราก็พยายามหาเงินจนได้มาส่วนหนึ่งและสำเร็จเป็นดีวีดี สุดท้ายหน่วยงานเขาก็บอกว่าหนังมีฉากไม่เหมาะสม มีฉากสูบบุหรี่”

“จริงๆ ก็มีคนเตือนแล้วแหละว่าพยายามมองมันเป็นแค่งานงานหนึ่ง อย่าเอาตัวเองเข้าไปผูกกับมันมากขนาดนั้น จนเหมือนชีวิตเราขึ้นอยู่กับมัน” 


บทที่ 2: ความโกรธของคนขับรถ 

นับจาก ‘นมัสเตอินเดีย ส่งเกรียนไปเรียนพุทธ’ จนถึงวันที่ ‘คืนยุติ-ธรรม’ เข้าฉาย เป็นเวลาทั้งสิ้น 8 ปี และเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เขาลงมือถ่ายทอดความคับข้องลงในบทหนัง เกิดขึ้น ณ วันหนึ่งบนท้องถนน เมื่อรถโฟร์วีลของเขาถูกรถยุโรปชนอย่างแรงจนกระเด็นไปชนแท็กซี่ที่จอดอยู่ตรงหน้า “วันนั้นขับรถในซอยเล็กๆ แล้วมีผู้หญิงขับบีเอ็มมาชนตูดจนรถเรากระเด็นไปชนแท็กซี่ข้างหน้าอีกทีนึง ซึ่งมันแรงมาก ผู้หญิงคนนั้นเขาก็ลงมาชี้หน้าด่าเลย เขาปฏิเสธทุกอย่างหนีไปอยู่ในเซเว่นไม่ยอมออกมาคุยจนตำรวจต้องอัญเชิญทุกคน ไปคุยกันที่โรงพักเพราะไม่มีใครมีประกันเลยสักคนเดียว ประมาณสองชั่วโมง คนผู้หญิงคนนั้นก็บอกว่าตัวเองไม่ผิด รู้จักตำรวจคนนั้นคนนี้ จนสุดท้ายนางก็ยอมเซ็นรับผิด โดนปรับไปห้าร้อย ส่วนค่าเสียหายถ้าอยากได้ให้ไปฟ้องเอา หลังจากเขากลับไปเราก็มองหน้าตำรวจอีกสองคน ตำรวจก็พูดว่า ‘คนเรานี่มันไม่เหมือนกันนะ’ ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ทำให้เราเข้าใจว่ามันไม่เหมือนกันจริงๆ และสิ่งที่เราได้จากตำรวจคนนั้นคือเราเชื่อว่าคู่กรณีเชื่ออย่างสนิทใจว่าตัวเองถูก อันนี้มันก็เลยนำมาซึ่งส่วนผสมของไอ้ความโมโหกับเรื่องมุมมองความยุติธรรม ถ้าสมมติว่าความยุติธรรมมันเหมือนเป็นกฎ กติกา ให้เราอยู่ในสังคมร่วมกัน ง่ายๆ ก็คือเป็นกฎหมาย ถ้าทางศาสนาก็เป็นกฎแห่งกรรม สุดท้ายทุกคนจะได้อะไรสักอย่างที่เหมาะสมกับการกระทำของเขา อันนั้นมันคือกติกาที่มันลอยๆ แต่พอมาปฏิบัติจริง มันจะถูกใส่มุมมองเข้าไป ในการจะเกิดความยุติธรรมได้มันต้องมีคู่ขัดแย้งใช่มั้ย เราอยู่ฝั่งนี้ ขับรถมาเฉยๆ อีกฝั่งก็เชื่อว่าเขาถูก ดังนั้นบางแง่มุมของความยุติธรรมมันเลยเป็นเรื่องของมุมมอง และการตีความ เหมือนอย่างทนายก็จะพยายามตีความ นี่เราไม่ได้พูดถึงหลักใหญ่อย่างกฎแห่งกรรมนะ ซึ่งมันอาจจะมีใครหรืออะไรสักอย่างมาฟันธงให้อีกที เรากำลังพูดเรื่องของมนุษย์ ซึ่งมันจะมีทัศนคติเข้ามาเกี่ยวข้อง 

“จริงๆ หนังเรื่องนี้เราไม่ได้พยายามเข้าไปวิพากษ์วิจารณ์ความไม่ยุติธรรมในบ้านเมือง มันเป็นเพียงเซ็ตติ้งของโลกในหนังที่มันสะท้อนสังคมไทย เราอยากจะสะท้อนมุมมองของคนที่มีต่อความยุติธรรม เช่น ตัวละครหลักของเรา มานพ ชีวิตมันไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็ต้องร้องหาความเป็นธรรมให้ตัวเอง ในขณะที่ก็มีตัวละครของคุณหมอกานดา (ปูเป้-รามาวดี นาคฉัตรีย์) ที่เขามีมุมมองต่อความยุติธรรมอีกแบบหนึ่ง เหมือนเวลาเราเห็นข่าว เราคนนอกไงเราก็มีแนวโน้มที่จะตัดสินตามเหตุและผล แต่ลองถ้าเราเข้าไปเป็นคู่ขัดแย้งสิ เราคิดว่าเรายังเป็นคนดีขนาดนั้นอยู่รึเปล่า หนังเรื่องนี้เราตั้งใจอยากจะสื่อสารประเด็นนี้ด้วย” 

“แต่มันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความอยุติธรรมมันมักมาคู่กับความเหลื่อมล้ำทางสังคม” เราถาม “มันก็คือเรื่องปกติจนเราชินชากับอะไรพวกนี้ไปแล้ว เราอาจจะไม่ได้คิดเยอะว่าจะต้องสะท้อนสังคมอะไร เราแค่อยากจะสะท้อนความรู้สึกในสิ่งที่เรารับรู้มาตลอดตั้งแต่เด็กยันโต เราก็จะถูกปลูกฝังเรื่องเหล่านี้มาโดยไม่ได้ตั้งใจ เอาจริงๆ เรื่องนี้เราไม่ได้รีเสิร์ชเลยนะ โอเคเรารีเสิร์ชเรื่องทางการแพทย์ เรื่องความสมจริง แต่เราไม่ได้ไปหยิบเหตุการณ์อะไรมาเป็นตัวตั้งต้นในการเขียนลงไปในบท เขียนมาจากความรู้สึกที่เป็นเรื่องปกติที่คนรวยจะเป็นแบบนี้ 

“เราเขียนเรื่องนี้ด้วยการตั้งคำถามมากกว่า เราไม่ได้หาคำตอบ ตัวละครตัวหนึ่งสุดท้ายเมื่อถึงทางเลือกแล้วจะทำยังไง มันเป็นสิ่งที่อยากให้คนดูและเราเองตั้งคำถามว่าความยุติธรมมันมีอยู่จริงรึเปล่า เพราะเราไม่เคยต้องไปอยู่ในเหตุการณ์ที่มันบีบคั้นขนาดในหนัง เพราะฉะนั้นหนังเราก็ไม่ได้หาคำตอบเสียทีเดียว”

ความชินชาต่อความอยุติธรรมในสังคมที่กัณฑ์ปวิตรกล่าวถึง ยังคงวนเวียนอยู่ในหัวตลอดการสัมภาษณ์ จนเราตั้งคำถามกับเขาว่าเราจะต้องอยู่กันอย่างนี้ต่อไปจริงหรือ? “แยกระหว่างหนังกับส่วนตัวนะ เราไม่โอเคหรอก เรื่องเหล่านี้มันมีมาตลอด เวลาเห็นอะไรที่มันไม่ถูกไม่ต้อง แต่เราพยายามเริ่มจากทบทวนที่ตัวเองก่อน ประเด็นอะไรที่เรามองแล้วรู้สึกว่ามันไม่ดีก็หาวิธีแก้ไขมันไป ส่วนตัวเราก็พยายามปรับปรุงตัวเอง จะเรื่องความยุติธรรม สภาพแวดล้อม” 

จริงอยู่ว่าการหันมามองและแก้ไขที่ตัวเราเองคือเรื่องง่ายที่สุด แต่ก็เรื่องบางเรื่องอาจต้องทบทวนกับทั้งระบบ “ตราบใดที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบยังคิดไม่ได้ เขาก็จะออกกฎเกณฑ์หรือใช้อำนาจบังคับเพื่อเป็นไปอย่างที่เขาต้องการ อาจจะมีเรื่องผลประโยชน์อะไรก็สุดแล้วแต่ พื้นฐานเราอาจจะอินเรื่องพระพุทธศาสนา ที่ทุกอย่างเราเริ่มจากตัวเราเอง” 

LATEST