A World Not Our Own : โลกไม่ใช่ของเรา 10 ภาพยนตร์เพื่อทำความเข้าใจความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล – ปาเลสไตน์

เหตุการณ์ของการสู้รบต่อเนื่องที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศปาเลสไตน์ – อิสราเอล ที่สร้างบาดแผลความเสียหายครั้งใหญ่ในวงกว้างตอนนี้ ในช่วงระยะปัจจุบันนั้นอาจเกิดขึ้นเพียงแค่ 11 วัน และผู้เสียชีวิตนั้นมีจำนวนมากกว่า 240 คน แต่ระยะเวลาของสงครามที่แท้จริงนั้นเกิดขึ้นมาอย่างยาวนานตั้งแต่ช่วงสงครามโลก และภาพทางออกในการสมานฉันท์ของทั้งสองประเทศ ยังคงเป็นสิ่งที่ห่างไกลจากความจริงในปัจจุบันเหลือเกิน หากจะต้องทำความเข้าใจบริบทถึงประวัติศาสตร์ที่มาของความขัดแย้งครั้งสำคัญที่ทั่วโลกต่างจับตามอง อาจจะต้องทำการศึกษากันพอสมควร เพราะปัจจัยแห่งการก่อสงครามนั้นไม่ได้เกิดขึ้นมาจากแค่ปัจจัยเดียว และมันซับซ้อนเกินกว่าที่จะสามารถทำความเข้าใจทุกบริบทในสงครามครั้งนี้

แต่สิ่งที่น่ากลัวอย่างไม่เปลี่ยนแปลงคือผลกระทบและความสูญเสียที่เกิดขึ้นระหว่างในช่วงสงคราม ที่ผู้ชนะเขียนอนาคตขึ้นมาใหม่ได้ด้วยมือของตัวเอง ผู้แพ้อาจถูกลบหายไปจากประวัติศาสตร์ แต่ในขณะที่ชีวิตของผู้ที่ตกอยู่ในศูนย์กลางของสงครามนั้นต้องเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล และสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่จะทำความเข้าใจสถานการณ์คือการทำความเข้าใจผู้คนตัวเล็กตัวน้อยที่ต้องดิ้นรนอยู่ภายในสภาวะสงคราม จากผลกระทบทุกอย่างที่เกิดขึ้น ภาวะของความเครียด ความกดดันจากสภาวะเศรษฐกิจและสังคม จากสถาบันครอบครัว วัฒนธรรม การเมือง และศาสนา มีทั้งคนที่ได้ และเสียประโยชน์อยู่ภายใต้สถานการณ์เหล่านั้น หากคนที่สามารถตักตวงผลประโยชน์จากสถานการณ์เหล่านั้นได้ อาจได้มีชีวิตที่สุขสบายในระยะยาว แต่สำหรับคนที่ถูกลิดรอนผลประโยชน์ จากความเป็นอยู่ พวกเขาต้องใช้แรงที่มีทั้งหมดในการดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด หรือเพื่อมีชีวิตใหม่ คือการไปจากที่แห่งนี้ เพื่ออนาคตที่ดีกว่า หรือไม่ก็ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อทวงในสิ่งที่พวกเขาควรจะได้ หรือมีอยู่แล้วตั้งแต่แรก

เราอาจจะไม่รู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ในประเทศนั้นๆ แต่การได้ดูหนังในประเทศนั้นเพียงสักหนึ่งเรื่อง ที่สะท้อนถึงชีวิตและความเป็นอยู่ของตัวละครใดตัวละครหนึ่งในที่แห่งนั้น เราอาจได้รับรู้ถึงความยากลำบากและชะตากรรมอันแสนน่าเศร้าของผู้คนที่ต้องดิ้นรนอยู่ภายใต้สถานการณ์อันเลวร้าย ซึ่งภาพยนตร์เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการสะท้อนความเจ็บปวดของผู้คนในนั้น นี่คือ 10 ภาพยนตร์ที่จะฉายภาพของคนที่ตกอยู่ท่ามกลางสงครามระหว่างเขตแดนทั้งสองประเทศ เราจะได้พบเห็นเรื่องราวที่คนภายนอกไม่ได้รับรู้ และพบเห็นในสิ่งที่ไม่เคยได้เห็น เสียงของพวกเขาถูกได้ยินขึ้นมาแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าคนที่ได้ยินจะทำอย่างไรกับสิ่งที่พวกเขาสื่อสารต่อไป


The Lab (2013, Yotam Feldman)

ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ 9/11 อุตสาหกรรมเกี่ยวกับอาวุธในอิสราเอลก็เริ่มวางแผนที่จะทำการใหญ่ขึ้น บริษัทขนาดใหญ่หลายที่ในอิสราเอลเริ่มพัฒนาและทดสอบอาวุธเพื่อใช้ในสงครามที่ยังคงเกิดขึ้นต่อไป อาวุธเหล่านั้นถูกขายไปทั่วโลกผ่านนายหน้าบริษัทอิสราเอล ที่มีเครือข่ายสามารถติดต่อกับนักการเมืองในประเทศผู้บังคับบัญชาระดับสูงในกองทัพได้ ในขณะที่นักทฤษฎีของอิสราเอลเองก็ได้พยายามอธิบายต่างประเทศให้รู้ถึงวิธีการกำจัดพลเมืองและกองกำลังติดอาวุธต่อต้านรัฐ ซึ่งทั้งหมดนั้นมาจากประสบการณ์การทำสงครามของประเทศตัวเอง

สารคดีติดตามอดีตทหารเก่าทั้งสามคน ปัจจุบันพวกเขาผันตัวเป็นนายหน้าค้าอาวุธและเทคโนโลยีการสู้รบต่างๆ ให้กับ “The Lab” เพื่อใช้ในการต่อสู้ยึดครองพื้นที่ตัวเมืองที่มีประชากรจำนวนมาก หนังจะเล่าถึงเรื่องราวทำไมอิสราเอลได้กลายเป็นประเทศที่ส่งออกอาวุธระดับต้นๆ ของโลก และตั้งคำถามต่อไปว่าใครกันที่ได้ประโยชน์จากการก่อสงครามครั้งนี้

ดูหนังได้ที่ Vimeo


5 Broken Cameras (2011, Emad Burnat + Guy Davidi)

เมื่อ จิบรีล ลูกชายคนที่สี่ของ เอหมัด ถือกำเนิดขึ้น หนุ่มชาวบ้านเมืองบิลินในปาเลสไตน์อย่างเอหมัด ก็ตัดสินใจใช้กล้องวิดีโอเก่าๆ ของเขา เริ่มต้นบันทึกสภาพความเปลี่ยนแปลง และความล่มสลายของวิถีชีวิตผู้คนแวดล้อม หลังจากอิสราเอลใช้นโยบายรุกไล่ และสร้างกำแพงขึ้นบนที่ดินของพวกเขา ตลอดระยะเวลาห้าปีหลังจากนั้น กล้องห้าตัวของเอหมัดได้บันทึกทั้งการเติบโตท่ามกลางความสับสนและกังขาของจิบรีล การล้มหายตายจากของเพื่อนรัก และบาดแผลที่พุพองขึ้นเรื่อยๆ ในจิตใจของเขาเอง


Divine Intervention (2002, Elia Suleiman)

ในเมืองนาซาเรธ ประเทศอิสราเอล ที่ถูกฉาบหน้าไปด้วยความธรรมดาสามัญน่าเบื่อ แต่ก็เคลือบไปด้วยความเบาปัญญาในนั้น ชายคนหนึ่งล้มป่วยจากความกดดันจากธุรกิจที่ล้มเหลว ลูกชายของเขาที่เป็นชาวปาเลสไตน์ที่มาจากเยรูซาเลม (เล่นโดย Elia Suleiman เอง) ได้ตกหลุมรักกับสาวปาเลสไตน์ที่อยู่ในเมืองรามาลาห์ เขาต้องพยายามสร้างความสมดุลชีวิตรักของเขากับการดูแลพ่อที่ป่วยไปพร้อมๆ กัน

ด้วยสถานการณ์ความขัดแย้ง ฝ่ายหญิงจึงไม่สามารถไปหาเขาที่เมืองได้เนื่องจากเธอไม่สามารถข้ามจุดตรวจของกองกำลังป้องกันตนเองของอิสราเอล พวกเขาจึงได้แค่นัดเจอกันตรงที่จอดรถร้างแถวจุดตรวจนั้น ทั้งเขาและเธอไม่สามารถปล่อยตัวเองเป็นอิสระจากหน้าที่การงานได้ ความสัมพันธ์ของพวกเขานั้นก็ถูกเพ่งเล็งจากทหาร ความโดดเดี่ยวและความปรารถนากำลังจะแปรเปลี่ยนกลายเป็นการตอบโต้อันรุนแรง และหัวใจก็กำลังเต้นด้วยความโกรธพร้อมกับการหาทางหลบหนีออกจากที่แห่งนี้

ถึงแม้พล็อตหนังจะดูเข้มข้น แต่หนังนั้นอัดแน่นไปด้วยอารมณ์ขันและมุกตลกแบบเซอร์เรียล ความยอดเยี่ยมของหนังได้พา Elia Suleiman คว้ารางวัล Jury Prize และ FIPRESCI จากเวทีเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ในปีนั้น


3000 Nights (2015, Mai Masri)

Layal ครูสาวชาวปาเลสไตน์ ถูกจำคุกในอิสราเอล 8 ปี ด้วยความผิดที่ตัวเองไม่ได้ก่อ เธอถูกส่งไปอยู่ในเรือนจำหญิงที่มีการป้องกันแน่นหนาสูงสุด หลังจากที่ Layal รู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ พัศดีนั้นพยายามกดดันให้เธอทำแท้งและเป็นสายลับคอยสอดส่องนักโทษหญิงร่วมชาติ แต่สุดท้ายเธอก็ได้ให้กำเนิดบุตรชายในเรือนจำนั้น

หลังจากผ่านความยากลำบากในการเลี้ยงดูลูกชายของเธอ Layal ก็ได้เริ่มเห็นความหวังและความหมายของชีวิตเธอมากขึ้น เมื่อสภาของเรือนจำนั้นเริ่มทรุดโทรม และนักโทษชาวปาเลสไตน์เริ่มทำการประท้วง พัศดีได้ทำการข่มขู่ไม่ให้เธอเข้าร่วมการต่อต้านครั้งนี้ ไม่เช่นนั้นพวกเขาจะพรากลูกของเธอไป Layal จึงทำการตัดสินใจที่จะส่งผลต่อชีวิตของเธอไปทั้งชีวิต

ดูหนังที่ Vimeo


Omar (2013, Hany Abu-Assad)

Omar นั้นคุ้นเคยดีกับการหลบหนีดงกระสุนการเฝ้าระวังเพื่อข้ามกำแพงแห่งความแบ่งแยกไปเจอกับ Nadia คนรักของเขาอยู่แล้ว แต่พื้นที่ปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครองทำให้เรารู้ว่านั่นไม่ได้เป็นความรักที่เรียบง่ายหรือเป็นเพียงสงครามที่เราจะเข้าใจได้โดยง่าย ในอีกด้านหนึ่งของกำแพง Omar ผู้ใช้ชีวิตเป็นนักทำขนมปังผู้อ่อนไหว ต้องไปเข้ากองกำลังปลดแอกอิสรภาพของประเทศ ทำให้เขาต้องเผชิญกับการตัดสินใจเลือกระหว่างชีวิตกับความเป็นลูกผู้ชายของเขาเอง

เมื่อ Omar ถูกจับหลังจากบุกจับกุมกองกำลังต่อต้าน ทำให้เขาต้องตกยู่ในการเล่นเกมไล่จับกับตำรวจ เมื่อเขาต้องทรยศต่อเพื่อนสมัยเด็กของเขา และสหายร่วมกองกำลังอย่าง Amjad และ Tarek ซึ่งคนหลังมีศักดิ์เป็นพี่ชายของ Nadia ความรู้สึกทั้งหมดของ Omar ก็ได้ถูกทำลายอย่างรวดเร็วท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองในปาเลสไตน์ แต่ทุกคนจะได้รู้ว่าทุกอย่างที่เขาทำลงไปนั้น เป็นเพราะความรักที่เขามีต่อ Nadia

กำกับโดย Hany Abu-Assad ที่สร้างชื่อจาก Paradise Now ในปี 2005 หนังเรื่องนี้ได้รางวัล Special Jury Prize ในเทศภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ และเป็นตัวแทนของประเทศปาเลสไตน์ที่ส่งเข้าชิงในสาขารางวัลภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมของออสการ์ และได้ติดในรายชื่อ finalist 5 รายชื่อสุดท้ายที่ได้เข้าชิงด้วย


The Red Army / PFLP: Declaration of World War (1971, Masao Adachi + Koji Wakamatsu)

ผลงานที่หาชมได้ยากเรื่องนี้เป็นหมุดหมายสำคัญของการทำหนังเกี่ยวกับสงครามและเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญของยุคสมัยเริ่มต้นการปฏิวัติครั้งสำคัญของโลก นักทำหนังสายแอคติวิสต์คนสำคัญในญี่ปุ่นอย่าง Masao Adachi และผู้กำกับ pink film คนสำคัญที่เป็นมิตรสหายกันอย่าง Koji Wakamatsu ได้ไปถ่ายทำที่เบรุต เมืองหลวงเลบานอนหลังจากเดินทางมาจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในปี 1971

ที่นั่นกลุ่มคนทำหนังได้เข้าร่วมกับกลุ่มกองทัพแดงญี่ปุ่น (Japanese Red Army หรือ JRA) กลุ่มกองกำลังข้ามชาติที่ต้องการโค่นล้มราชวงศ์ญี่ปุ่นที่เพิ่งก่อตั้งขึ้น และ กลุ่มผู้นำแนวร่วมประชาชนเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์ (Popular Front for the Liberation of Palestine หรือ PFLP) กลุ่มกองกำลังติดอาวุธที่มีจุดประสงค์ตามชื่อ นำโดย Ghassan Kanafani และ Leila Khaled พวกเขาทำหนังฉายภาพให้เห็นถึงกิจวัตรประจำวันของกองกำลังปาเลสไตน์เพื่อเรียกหาการปฏิวัติวัฒนธรรมแบบเหมาไปทั่วโลก

The Red Army / PFLP Declaration of World War อาจเป็นผลงานที่ดูดิบหยาบมากกว่าผลงานอื่นๆ ของผู้กำกับทั้งสอง แต่นี่เป็นหนังที่สร้างขึ้นได้อย่างรวดเร็วและสำคัญจนเป็นผลงานโดดเด่นที่แตกต่างจากหนังที่ขึ้นชื่อของพวกเขา จนทำให้ทั้งสองต้องข้ามโลกมาเผชิญกับการเซ็นเซอร์ของประเทศญี่ปุ่น หนังเรื่องนี้เสนอให้เห็นภาพล้ำค่าอันเป็นกุญแจสำคัญที่ให้เห็นการร่วมมือกันระหว่างกองกำลังปาเลสไตน์ กองกำลังญี่ปุ่น กลุ่มคนทำหนังเอง และกลายเป็นหลักฐานที่โดดเด่นในการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความเป็นมนุษย์ของกลุ่มนักปฏิวัติเหล่านี้


A World Not Ours (2012, Mahdi Fleifel)

การสืบทอดความบ้ากล้องตั้งแต่รุ่นพ่อลงมา ทำให้ Mahdi Fleifel ผู้กำกับได้ใช้วัตถุดิบเหล่านี้ในการทำหนังสารคดีเกี่ยวกับชีวิตของเขา และผู้คนรอบกายในค่ายผู้ลี้ภัย Ain al-Hilweh ในเลบานอน เขาได้ผสมผสานฟุตเตจโฮมวิดีโอของพ่อ และวิดีโอไดอารี่จากกล้องของเขาเป็นเวลาหลายปีในค่ายที่เขาเกิดและเติบโต จนถึงก่อนที่จะหลบหนีไปที่ดูไบและยุโรปในภายหลัง

ในวิดีโอไดอารี่ที่ดูสนุกสนานและน่าประทับใจเรื่องนี้ ผู้กำกับได้พาเราไปรู้จักกับสถานที่ที่เขาเกิด เติบโต และพาไปรู้จักกับคนรอบตัวที่เขารู้จัก หนึ่งในนั้นคือคุณปู่อายุ 82 ปี และญาติของเขาที่เริ่มตาสว่างไปพร้อมกับโอกาสอันริบหรี่ของปาเลสไตน์ ความฝันที่จะได้กลับไปที่บ้านเกิดอาจจะถูกเลือนหายไปตามกาลเวลา นอกเสียจากในช่วงบอลโลกทุกสี่ปีที่เขาจะได้เชียร์ทีมที่พวกเขาชื่นชอบในปีนั้นๆ แต่ก็ไม่มีประเทศไหนที่พวกเขาจะเชียร์ได้อย่างเต็มที่เพราะพวกเขาไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นของประเทศไหนเลย

อีกหนึ่งศูนย์กลางของเรื่องราวอันหวานขมของผู้กำกับนั้นคือความสัมพันธ์กับ Abu Iyad เพื่อนสนิทตั้งแต่สมัยเด็กที่พูดคุยกันได้ตั้งแต่เรื่องฟุตบอลไปจนถึงเรื่องการเมือง แต่สิ่งเหล่านั้นก็แยกพวกเขาออกจากกันด้วย เป็นความจริงที่ทำให้ผู้กำกับออกจากประเทศได้ แต่ Abu Iyad นั้นไม่สามารถทำได้

หนังได้ฉาย World Premiere ในเทศภาพยนตร์นานาชาติโตรอนโตเมื่อปี 2012 และได้ฉายในไทยในเทศกาล Salaya Doc ที่จัดขึ้นโดยหอภาพยนตร์ เมื่อปี 2017 อีกด้วย

ดูหนังได้ที่ Vimeo


The First 54 Years – An Abbreviated Manual for Military Occupation (2021, Avi Mograbi)

ถ้าอยากสำเร็จในหน้าที่การยึดประเทศภายในเวลาอย่างน้อย 54 ปีต้องทำยังไงบ้าง Avi Mograbi ที่ทั้งรับบทผู้กำกับและผู้บรรยาย ได้สร้างคู่มือวิธีการทำงานอันสมบูรณ์แบบที่อ้างอิงมาจากคำให้การของทหารอิสราเอลและฟุตเทจ ผลลัพธ์ที่เห็นก็คือชาวปาเลสไตน์นับ 5 ล้านคนที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของทหารอิสราเอล ซึ่งคนที่อาศัยในฉนวนกาซ่าอยู่ถึง 2 ล้านคนจากทั้งหมด และพวกเขาถูกล้อมด้วยกองกำลังทหารมาเป็นเวลาหลายปีมานี้

คำกล่าวที่ว่า “อิสเราเอลนั้นยึดครองพื้นที่เวสต์แบงก์และฉนวนกาซ่ามาแล้วถึง 54 ปี” มันอาจจะยังไม่รู้ถึงรายละเอียดเบื้องลึกมากนัก คำว่า “การยึดครอง” ของพวกเขานั้นบ่งบอกถึงอะไรบ้าง สารคดีเรื่องนี้พุ่งเป้าไปที่การหาข้อมูลเชิงลึกของการยึดครองประเทศปาเลสไตน์ที่ยังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน ผ่านคำสั่ง เป้าหมาย ภารกิจ และการทำงานของพวกเขา เหล่าทหารอิสราเอลได้พบเห็นรายงานขั้นตอนของการเข้าบุกปาเลสไตน์ตั้งแต่ปี 1967 จนถึงปัจจุบัน และด้วยประจักษ์พยานเหล่านี้จะเปิดเผยโฉมหน้าของเครื่องจักรแห่งการยึดครอง

ผลงานล่าสุดของ Avi Mograbi นักทำหนังชาวอิสราเอลที่ตีแผ่ประเด็นความขัดแย้งของอิสราเอล-ปาเลสไตน์มาโดยตลอด คราวนี้เขาจะมานั่งเล่าบนเก้าอี้โซฟาทำตัวเป็นคู่มือการปกครองโดยทหารด้วยน้ำเสียงเสียดสีและชวนหดหู่ เขาได้ตรวจสอบและตีแผ่เรื่องราวประวัติศาสตร์ของการกดทับมา 54 ปีจากทหารผ่านศึกผู้รับใช้ประเทศ ด้วยความโกรธที่ถูกกักเก็บไว้ในหนังเรื่องนี้ จะทำให้ทุกคนที่ได้ดูไม่เพิกเฉยต่อประเด็นนี้

หนังเรื่องนี้ยังไม่มีให้ดู แต่สามารถหาดูหนังเรื่องอื่นๆ ของ Avi Mograbi ได้ที่นี่


Fertile Memory (1980, Michel Khleifi)

หนังปาเลสไตน์ขนาดยาวเรื่องแรกที่ได้ถ่ายทำใน Green Line เส้นแบ่งเขตพักรบเขตแดนระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ว่าด้วยเรื่องราวชีวิตของผู้หญิงสองคน หนึ่งคือ Roumia Farah Hatoum แม่ม่ายผู้เฒ่าชราที่อาศัยอยู่ใกล้ๆ กับเมืองนาซาเรธของอิสราเอล อีกหนึ่งคือ Sahar Khalifeh นักเขียนสาวปัญญาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองรอมัลลอฮ์ของปาเลสไตน์

หนังเล่าเรื่องชีวิตการต่อสู้ของผู้หญิงทั้งสองคนในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน Roumia ต้องทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้ที่ดินของเธอที่ถือครองกันมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษต้องถูกเวนคืน จากการปกครองของอิสราเอลในปี 1947 ซึ่งไม่รู้ว่าการต่อสู้ครั้งนี้จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ และเธอจะชนะหรือไม่ ส่วน Sahar ที่กลายเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ยึดถือในหลักการของเฟมินิสต์ ต้องเข้าร่วมขบวนการนักศึกษาใน Birzeit University เธอต้องประคับประคองบทบาทหน้าที่ของความเป็นแม่ และความเป็นนักเคลื่อนไหว ในสังคมที่ความเป็นชายยังปกครองอยู่ทุกพื้นที่


They Do Not Exist (1974, Mustafa Abu Ali)

นี่คือผลงานยุคแรกๆ ของ  Mustafa Abu Ali อีกหนึ่งผู้กำกับชาวปาเลสไตน์ที่สำคัญคนหนึ่งของประเทศที่ได้เรียนจบจาก London Film School และได้ร่วมงานกับ Jean-Luc Godard ในเรื่อง Here and Elsewhere เมื่อปี 1976 และหนังเรื่องนี้โปรดิวซ์โดยแผนกภาพยนตร์ขององค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (Palestine Liberation Organization หรือ PLO)

สารคดีเรื่องนี้ถ่ายภายใต้สถานการณ์ที่เสี่ยงอันตราย เต็มไปด้วยภาพของสภาวะของค่ายผู้ลี้ภัยในเลบานอน ผลกระทบของการวางระเบิดจากอิสราเอล และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของกองกำลังติดอาวุธในค่ายฝึกรบ They Do Not Exist นั้นผสมผสานทั้งทางด้านศิลปะทางการเล่าเรื่องและเนื้อหาความเป็นการเมืองอยู่ในเรื่องเดียว จนกลายเป็นอีกหนึ่งหลักสำคัญในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ของปาเลสไตน์

RELATED ARTICLES