Quis custodiet ipsos custodes? หรือ ” Who will guard the guards themselves?” เป็นอีกหนึ่งวลีละตินที่มีไว้เพื่อถามกับตัวเองว่า เราสามารถเชื่อมั่นได้กระบวนการยุติธรรมได้หรือไม่ แล้วใครจะเป็นผู้ที่ดูแลเหล่าผู้คุมกฎไม่ให้เดินออกนอกเส้นทางเสียเอง วลีนี้เริ่มถูกดัดแปลงใช้ในความหมายทางการเมืองอยู่บ่อยครั้งเพื่อให้เข้ากับบริบทที่เกิดขึ้น เช่น Who police the police? (ใครจะตรวจตราเหล่าตำรวจ?) หรือ “Who watches the watchmen?” (ใครจะคอยเฝ้ามองเหล่าคนเฝ้ายาม) มาถึงปัจจุบันที่มีประโยคคำถามเกิดขึ้นและใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันอย่าง “Who do you call when the police murders?” (เราจะโทรหาใครในตอนที่ตำรวจเป็นฆาตกร?) ถูกตั้งขึ้นต่อความเลวร้ายที่เกิดขึ้นจากกระบวนการยุติธรรมของตำรวจที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ม็อบการประท้วงที่ฮ่องกง ไปจนถึงการสังหารชายผิวดำอย่างไร้สาเหตุที่สหรัฐอเมริกา การใช้กำลังปราบปรามอย่างเกินความจำเป็นของเจ้าหน้าที่ต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่มีการเรียกร้องถึงสิ่งต่างๆ นั้นสร้างบาดแผลทั้งร่างกายและจิตใจ ทั้งที่ในความเป็นจริงมันอาจไม่ถึงขั้นต้องลงมือด้วยการใช้อาวุธด้วยซ้ำ
กลับมามองในสถานการณ์ปัจจุบันที่เราได้แต่ตั้งความสงสัยต่อระบบความยุติธรรมที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ที่เสียงเรียกร้องของประชาชนนั้นไม่เคยส่งไปถึงผู้ที่มีอำนาจ เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมกฎหมายล้วนแต่ใช้กำลัง ยิ่งนับวันความรุนแรงที่ใช้เข้าสลายผู้ชุมนุมก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น แต่เหตุการณ์ฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยนั้นอาจทำให้ความอดทนและความเชื่อมั่นของใครหลายคนสิ้นสุดลง ว่าระบบยุติธรรมของบ้านเรานั้นไม่เคยมีอยู่จริง ถึงแม้จะมีหลักฐานหลายอย่างที่สามารถไว้ใช้เอาผิดกับผู้ที่กระทำผิดได้ แต่กลับไม่มีความหมายเลยเมื่ออยู่ต่อหน้ากับผู้ที่ควบคุมกฎหมายที่สามารถปรับถูกให้กลายเป็นผิดได้ และเมื่อผู้คุมกฎหมายกระทำผิด แต่ยังคงถูกปกป้องจากผู้คุมกฎหมายด้วยกันเอง เพื่อยังคงรักษาไว้ซึ่งความถูกต้องของหลักการที่พวกเขาเชื่อมั่น แล้วกฎหมายนั้นจะมีประโยชน์อะไร ในเมื่อผู้ที่ทำผิดนั้นจะไม่มีทางได้รับผิด และผู้ที่ได้รับผิดนั้นมีเพียงแต่ผู้ที่ต่อต้านพวกเขาเพียงเท่านั้น แล้วสิ่งใดที่จะทำให้ความไม่เป็นธรรมเหล่านี้ถูกชำระล้างไป
สิ่งที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือ การกระทำเหล่านี้กำลังจะทำให้ผู้คนนั้นเฉยชา เอือมระอาจนหมดแรงที่จะเห็นจนยอมเพิกเฉย มองมันกลายเป็นมาตรฐานของความถูกต้องใหม่ที่เกิดขึ้น และกลับไปใช้ชีวิตแบบปากกัดตีนถีบเพื่อเอาตัวรอดต่อไป หรือถ้าไม่ต่อต้านก็ต้องเข้าร่วมอย่างไม่มีเงื่อนไข เพื่อต่อชีวิตของตัวเองที่วาดฝันว่าจะมีชีวิตอย่างเป็นสุข แต่นอกจากผู้ที่ได้รับผลกระทบซึ่งนอกจากประชาชนธรรมดา ก็ยังมีเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยที่ต้องตกอยู่ภายใต้ความลำบาก เป็นผู้ที่โดนดึงเข้าสู่ระบบอันเลวร้าย พวกเขาต่างเป็นผู้กระทำ และผู้ถูกกระทำจากระบบทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้น ถ้าหากมองเข้าไปเป็นจุดเล็กๆ ของระบบเหล่านั้น เราจะเริ่มมองเห็นฟันเฟืองตัวเล็กๆ ที่กำลังสึกหรอและค่อยๆ ถูกย่อยสลายไปตามเครื่องจักรล้าสมัยขนาดใหญ่ พวกเขาเป็นเพียงคนธรรมดาหนึ่งคนที่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ต้องหาทางเอาตัวรอดและมีชีวิต แต่ความรู้สึกเหล่านั้นจะทำให้พวกเขากล้าปฏิบัติตนในรูปแบบที่ถูกต้องที่ควรต่อสังคมและบริบทในปัจจุบันหรือเปล่า พวกเขาจะกลับมาช่วยเหลือผู้ที่เขาต้องช่วยเหลือตามหน้าที่ หรือช่วยเหลือเพื่อนพ้องร่วมอาชีพเพื่อไม่ให้ตัวเองถูกทอดทิ้งจากระบบ ต้องเป็นเรื่องที่พวกเขาจะตัดสินใจ และสังคมจะเป็นผู้ตัดสินการกระทำของพวกเขาเหล่านั้นอีกทอดหนึ่ง
ที่จริงเราไม่จำเป็นต้องทำความเข้าใจถึงความยากลำบากของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะพวกเขาก็ต้องเผชิญกับความลำบากเหมือนกับทุกๆ คนที่กำลังทำหน้าที่ของตัวเอง แต่ Film Club จะขอแนะนำหนังทั้ง 10 เรื่องที่มีการนำเสนอมุมมองของตำรวจในแง่ต่างๆ จากมุมอื่นๆ ของโลก หนังเหล่านี้ล้วนสะท้อนถึงวิกฤติที่พวกเขาต้องเผชิญ จากการเป็นทั้งคนในหรือการเป็นคนนอกที่ต้องประจันหน้ากับตำรวจ ความแตกต่างของเส้นทางระหว่างผู้ที่ต่อสู้กับระบบอันเป็นปัญหาและผู้ที่เข้าร่วม เพื่อแสดงให้เห็นว่านี่คืออีกหนึ่งประเด็นใหญ่ที่ผู้คนทั่วโลกล้วนกำลังเผชิญกับมัน และต้องหาวิธีแก้ไขจากระบบที่กำลังฉุดรั้งทุกคนให้ลงเหวไปพร้อมกัน
On the President’s Orders
(2019, James Jones/Olivier Sarbil, UK/USA)
ในปี ค.ศ. 2016 ประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ โรดริโก ดูแตร์เต (Rodrigo Duterte) ได้ประกาศสงครามยาเสพติดขึ้นในประเทศ โดยมีการตั้งค่าหัวให้กับผู้ต้องสงสัยคดียาเสพติด ทำให้เกิดการล่าค่าหัวขึ้นจากตำรวจที่จ้างมือปืนสังหารผู้ต้องสงสัยแทนตัวเองและแบ่งค่าหัวกัน สงครามที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลาหลายเดือนส่งผลให้มีคนฟิลิปปินส์ถูกสังหารแล้วมากกว่า 12,000 คน ซึ่งมีทั้งผู้เกี่ยวข้อง และมีทั้งผู้บริสุทธิ์ และยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าปฏิบัติการที่ทำอยู่นี้ช่วยแก้ปัญหาได้จริง
จนกระทั่งมีชาวฟิลิปปินส์เริ่มออกมาประท้วงแสดงความไม่พอใจต่อมาตรการที่ถือว่าเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ในทางมิชอบ สารคดี On the President’s Orders จะพาเข้าไปสำรวจทั้งฝั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการสังหารคนที่อยู่ในรายชื่อผู้เสพและค้ายาเสพติด และฝั่งของครอบครัวที่สูญเสียคนในครอบครัวจากการสังหารเหล่านั้น เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้ที่มีอำนาจจะใช้มันไปได้ไกลถึงขนาดไหนกัน
A.C.A.B. All Cops Are Bastards
(2012, Stefano Sollima, Italy)
ACAB เป็นตัวย่อของคำว่า All Cops Are Bastards (ตำรวจล้วนเลวทั้งหมด) เป็นคำศัพท์ที่ใช้อย่างแพร่หลายในประเทศอังกฤษยุค 1970 เพื่อเอาไว้ใช้ต่อต้านตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่ถูกต้อง คำนี้ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกจากวัฒนธรรมของเพลงพังค์ชื่อเดียวกันของวง The 4-Skins ตัวย่อ ACAB นั้นถูกปรับเปลี่ยนหยอกล้อความหมาย และนำไปใช้ตามบริบทต่างๆ มากมาย บางครั้งอาจใช้เป็นตัวเลข 1312 ตามลำดับตัวอักษรภาษาอังกฤษ หรือ ACAB นั้นถูกเปลี่ยนเป็นบอกว่า Always carry a bible (จงพกคัมภีร์ไบเบิลไว้) เพื่อเป็นซ่อนความหมายที่แท้จริงไว้ หรือเป็นคำว่า All Cats Are Beautiful (แมวทุกตัวนั้นสวยงาม) ซึ่งเคยเกิดเหตุการณ์ที่มีคนสะพายกระเป๋าที่มีคำนี้และถูกจับมาแล้วในประเทศสเปน
หนังเรื่องนี้สร้างจากหนังสือในชื่อเดียวกันของ Carlo Bonini เล่าเรื่องของ Cobra, Nero และ Mazinga สามตำรวจกองกำลังปราบปรามจลาจลที่มีเป้าหมายทำให้คนเคารพกฎหมายถึงแม้ว่าจะต้องยอมใช้กำลังก็ตาม พวกเขาต้องมาฝึกตำรวจใหม่อย่าง Adriano -ผู้เพิ่งเข้ามาอยู่ในหน่วย- ทั้งทางกฎหมายและการใช้กำลัง การปราบปรามการก่อจลาจลนั้นบางครั้งอาจได้ผล บางครั้งมีการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ และสร้างผลกระทบไปทั้งชีวิตของพวกเขา บางคนอาจถูกจับตามองจากกการใช้กำลังเกินเหตุ บางคนมีชีวิตส่วนตัวที่ล้มเหลวจนเริ่มแยกงานกับปัญหาส่วนตัวออกจากกันไม่ได้ หรือบางคนอาจถูกเล่นงานกลับโดยกลุ่มก่อจลาจลนั้นเอง
Memories of Murder
(2003, Bong Joon-ho, Korea)
สร้างจากเหตุการณ์ฆาตกรรมสะเทือนขวัญช่วงปี 1986 – 1991 ณ เมืองเล็กๆ นอกกรุงโซล เมื่อผู้หญิง 10 คนซึ่งมีตั้งแต่เด็กนักเรียนวัย 13 ปีถึงคุณยายวัย 71 ปี ถูกข่มขืนและสังหารอย่างเหี้ยมโหดภายในขอบเขตพื้นที่รัศมีเพียง 2 กิโลเมตร ด้วยฝีมือของ “ฆาตกรต่อเนื่องคนแรกของเกาหลี” สิ่งที่สร้างความสยดสยองแก่ผู้คนก็คือ การที่ฆาตกรไม่ทิ้งร่องรอยหลักฐานอะไรไว้เลย มันจึงกลายเป็นคดีปริศนาที่ต้องใช้ตำรวจรวมกว่า 3 แสนนาย มีผู้ต้องสงสัยถูกสอบสวนกว่า 3 พันคน แต่ไม่เคยมีการจับตัวคนร้ายมาดำเนินคดีได้เลยแม้แต่คนเดียว
Memories of Murder นำเสนอเหตุการณ์พิลึกพิลั่นนี้ทาบทับลงบนภาพของสังคมเกาหลีใต้ใน “ยุคสมัยแห่งความไร้เดียงสาและความเพิกเฉย” ผ่านเรื่องของตำรวจสองนายที่ได้รับมอบหมายให้คลี่คลายคดีดังกล่าวโดยไร้ซึ่งความสนับสนุนช่วยเหลือ หนังฉายภาพถึงการทำงานอันด้อยประสิทธิภาพของตำรวจในยุคนั้นที่ไม่มีเครื่องมือในการสืบสวน เน้นการใช้กำลังในการสืบสวนผู้ต้องสงสัย จนเกิดการต่อต้านจากประชาชน และสะท้อนสังคมเกาหลีที่อาจบ่มเพาะถึงต้นตอแห่งความรุนแรงที่ฝังลึกลงไปในคนทุกคนโดยไม่ทันได้รู้ตัว
Les Misérables
(2019, Ladj Ly, France)
ถึงแม้ว่าชื่อหนังจะคล้ายกับนิยายชื่อดังของวิกตอร์ อูโก (Victor Hugo) ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้เป็นการนำมาดัดแปลงจากนิยายต้นฉบับแต่อย่างใด ทั้งสองเรื่องมีความเกี่ยวข้องกันตรงที่ศูนย์กลางของเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นที่เมือง Montfermeil เช่นเดียวกัน Les Misérables นั้นเป็นเวอร์ชั่นหนังสั้นมาก่อนในปี 2017 ของผู้กำกับคนเดียวกัน ก่อนที่จะขยายมาเป็นหนังยาวในปี 2019 หนังได้รับรางวัล Jury Prize จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ในปีนั้น และได้เข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์
Stéphane นายตำรวจที่ถูกย้ายให้มาทำงานในเขตชุมชนชานเมือง Montfermeil เขาได้เข้าร่วมกับหน่วยปราบปรามอาชญากรรมใน สน. นั้นกับทีมงานที่ไม่สนหลักการอย่าง Chris และ Gwada Stéphane ค้นพบว่าพวกเขาต้องคอยทำตามคำสั่งท่ามกลางความตึงเครียดที่เกิดขึ้นระหว่างแก๊งค์อันธพาลทั้งสองกลุ่ม และเมื่อหน่วยของพวกเขาได้จับกุมโดยกระทำเกินกว่าเหตุ ดันมีภาพจากกล้องโดรนที่บันทึกเหตุการณ์ของพวกเขาไว้ จนทำให้ทั้งสามคนต้องรีบตามล่าคนบันทึกภาพก่อนที่เหตุการณ์ทุกอย่างจะบานปลายจนสร้างผลกระทบต่อสังคม
Beauty and the Dogs
(2017, Kaouther Ben Hania, Tunisia)
เมื่อ Mariam หญิงสาวตูนีเซียถูกข่มขืนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจคนหนึ่งก่อนที่จะได้ออกจากงานปาร์ตี้ เธอพยายามหาความช่วยเหลือจากโรงพยาบาลและสถานีตำรวจเพื่อแจ้งความคดีข่มขืน แต่สิ่งที่ได้รับคือความเฉยชา ความเกลียดชัง และการขัดขวางของเจ้าหน้าที่ต่างๆ จากความโหดร้ายในคืนนั้นทำให้ Mariam ต้องลุกขึ้นมาเพื่อต่อสู้ปกป้องสิทธิและความถูกต้อง ถึงแม้ว่าความยุติธรรมจะเลือกเอนเอียงไปทางฝั่งผู้คุมกฎหมายแล้วก็ตาม
นอกจากหนังจะเผยถึงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม เมื่อความยุติธรรมที่มีนั้นสั่นคลอน ผู้คุมกฎจะลุกขึ้นมาปกป้องตัวเองทุกทางเพื่อให้ความยุติธรรมนั้นยังคงอยู่ อีกอย่างหนึ่งหนังยังสะท้อนความยากลำบากในสังคมของผู้หญิงที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียงเมื่อเทียบเท่ากับผู้ชาย ในตอนแรก Beauty and the Dogs เกือบไม่ได้ถูกสร้างในตูนีเซียเนื่องจากไม่ได้ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจในประเทศ แต่สุดท้ายแล้วหนังเรื่องนี้ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรมเอง
The Force
(2017, Peter Nicks, USA)
ในปี 2014 หลังจากที่รัฐจับตามองถึงการประพฤติตนในทางที่มิชอบ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนของตำรวจมาเป็นเวลาหลายสิบปี กรมตำรวจโอ๊คแลนด์ (Oakland Police Department) ได้เรียกตัว ผกก. Sean Whent ผู้ที่ยังหนุ่มยังแน่นและมีวิสัยทัศน์กว้างไกลมาเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์อันดี จากที่เคยบาดหมางกันมาอย่างยาวนานระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและคนในชุมชนที่พวกเขาดูแล โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหา Black Lives Matter ความตั้งใจของ Trent และเป้าหมายที่จะทำให้เกิดความโปร่งใสขึ้นในองค์กรนั้นได้รับเสียงตอบรับที่ดี แต่เมื่อเขาได้เริ่มลงมือทำจริงๆ เรื่องอีกด้านของกรมตำรวจนี้ได้ถูกเปิดเผยออกมาทีละอย่าง เป็นความจริงอันโหดร้ายจากเรื่องอื้อฉาวที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ที่ผสมโรงไปกับข้อกล่าวหาใหม่ๆ ในเรื่องการใช้ความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศที่ยังคงเกิดขึ้น
ถึงแม้ความไม่น่าไว้วางใจจากชุมชนจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น แต่กรมตำรวจแห่งนี้ก็เป็นที่ถูกจับตามองของสาธารณชนในการเป็นแบบอย่างของการปฏิรูปตำรวจ และเมื่อที่นี่อยู่ในช่วงที่ฝ่าอุปสรรครอบด้านที่เข้ามาอย่างหนักหน่วง หัวหน้างานอย่าง Whent ต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในอาชีพของเขา เมื่อความลับบางอย่างถูกเปิดเผย
Kinatay
(2009, Brillante Mendoza, Phillipines)
Peping นักศึกษาเกี่ยวกับอาชญาวิทยาถูกเรียกตัวโดยเพื่อนของเขา Abyong ให้ไปทำงานเป็นเด็กเดินสาส์นของพวกมาเฟียท้องถิ่น คอยเรียกเก็บค่าคุ้มครองจากธุรกิจต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ในมะนิลา เงินที่ Peping ได้มานั้นก็เก็บไว้ใช้ Cecille แฟนของเขาที่เป็นนักเรียนเหมือนกันใช้แทน วันหนึ่งเขาตัดสินใจที่จะขอเธอแต่งงาน แต่การจะแต่งงานได้นั้นต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก Abyong ได้ติดต่อเขามาอีกครั้ง แต่ครั้งนี้จะเป็น “ปฏิบัติการพิเศษ” ที่จะทำให้เขาได้เงินมากกว่าเดิม
Kinatay เป็นหนังของอีกหนึ่งผู้กำกับคนสำคัญของฟิลิปปินส์ Brillante Mendoza เปิดตัวครั้งแรกในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติคานส์ในปีนั้น และคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมมาได้
Raman Raghav 2.0
(2016, Anurag Kashyap, India)
หนังได้แรงบันดาลใจมาจากฆาตกรต่อเนื่องตัวจริง Raman Raghav ผู้ที่สังหารคนไร้บ้านในเมืองมุมไบในช่วงปลายยุค 1960 ด้วยการทุบตีด้วยท่อนเหล็กจนตาย สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้คนในเมืองเป็นอย่างมาก จนกระทั่งเขาถูจับกุมโดยตำรวจในมุมไบ และสารภาพว่าฆ่าไปแล้ว 41 ราย ในตอนแรกศาลตัดสินโทษประหารชีวิต แต่ด้วยการวินิจฉัยว่าเขาเป็นโรคจิตเภทชนิดหวาดระแวง จึงทำให้เปลี่ยนโทษกลายเป็นจำคุกตลอดชีวิตแทน Raman เสียชีวิตในคุกด้วยภาวะไตวายหลังจากที่ถูกจำคุกมานานกว่า 19 ปี
ในเมืองมุมไบยุคปัจจุบัน Ramanna ฆาตกรต่อเนื่องผู้ยอมมอบตัวกับตำรวจและหลบหนีออกมาได้ เขาได้เจอกับ Raghvana ตำรวจที่มีนิสัยดิบเถื่อนและติดยาเสพติด Ramanna พบว่าเขาเหมือนกับเป็นอีกด้านของกันและกัน จึงวางแผนทุกอย่างให้ Raghvana ตามสืบสวนคดีนี้ ไล่จับเขา และค่อยๆ เปิดเผยให้เห้นว่าพวกเขาทั้งสองคนเหมือนกันมากขนาดไหน
Sicario
(2015, Denis Villeneuve, USA)
เคท มาร์ซี่ (เอมิลี่ บลันท์) เธอเข้าร่วมภารกิจแกะรอยพ่อค้ายาเสพติดรายใหญ่ของเม็กซิโกที่สุดแสนอันตราย ร่วมทีมกับทหารรับจ้างหนุ่มอเล็กฮานโดร (เบเนซิโอ เดล โตโร่) ภารกิจครั้งนี้นอกจากเธอจะต้องเผชิญหน้ากับความเป็นตายแล้ว เธอยังถูกทดสอบทางจริยธรรมและศีลธรรมจนไม่สามารถหันหลังกลับได้อีกต่อไป
หนังตั้งคำถามกับคำว่าความถูกต้อง และพาเราไปสำรวจโลกแห่งอาชญากรรมที่ดำมืดและโหดร้าย การที่จะก้าวเข้าไปเพื่อปราบปรามอาชญากรรมจำเป็นต้องยอมแลกกับอุดมคติบางอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้ เพื่อเผชิญกับโลกแห่งความเป็นจริงที่เกิดขึ้น สถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันทำให้ภาพของ Sicario ปรากฏขึ้นบ่อยครั้งจากฉากทานข้าวเย็นสุดเหี้ยมโหด ที่ยิ่งได้ดูในตอนนี้จะยิ่งรู้สึกสาแก่ใจมากขึ้น หนังมีภาคต่อที่ชื่อ Sicario: Day of the Soldado ในอีก 3 ปีถัดมาที่เปลี่ยนแนวจากทริลเลอร์อาชญากรรมเข้มข้น มาสู่การเป็นหนังแอ็คชั่นอย่างเต็มตัว
Female Prisoner Scorpion: Jailhouse 41
(Shunya Itō, Japan, 1972)
หนังภาคที่สองของ Female Convict Scorpion หนังไตรภาคที่สร้างจากมังงะของ Tōru Shinohara ซึ่งสร้างชื่อให้กับผู้กำกับ Shunya Itō คว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากหนังภาคแรก (Female Prisoner #701: Scorpion) และนางเอก Meiko Kaji กลายเป็นที่รู้จัก เพลงประกอบในหนังเรื่องนี้ Urami Bushi (怨み節) ถูกนำไปใช้ประกอบหนังเรื่อง Kill Bill ของ Quentin Tarantino จนทำให้หนังเรื่องนี้กลับมาเป็นที่รู้จักของคนตะวันตกมากขึ้น
Nami นักโทษหญิงที่รู้จักกันในนาม Scorpion ถูกขังไว้ยังส่วนที่ลึกที่สุดของคุกเนื่องจากก่อกวนงานต้อนรับพัศดี Goda และทำให้เขาได้รับบาดแผล ทำให้เธอถูกทารุณจากผู้คุมชายอยู่ตลอด วันหนึ่งที่ Nami ได้ออกมาจากห้องขังคุกใต้ดินเพื่อไปทำงานอยู่ในค่ายกักกัน เธอได้อาศัยจังหวะหนีออกมาพร้อมกับนักโทษอีก 6 คนที่ไม่ได้ชอบหน้าเธอเอาเท่าไหร่ เหล่านักโทษหญิงทั้ง 6 ต่างเดินทางหลบหนีเหล่าตำรวจที่กำลังตามล่า พวกเธอหวังจะให้ได้เป็นอิสระ แต่ยกเว้น Nami ที่มีเป้าหมายคือการกลับไปล้างแค้นพัศดี Goda ที่กำลังจะได้เลื่อนขั้นเร็วๆ นี้ ด้วยความแค้นที่ทำให้เธอถูกข่มขืนและคอยทรมานเธอให้เหมือนตกอยู่ในนรกทั้งเป็น