Home Article Special Article 100 ปีชาตกาลของ มิโคลส แยงโซช์ ตราบเท่าที่ประชาชนยังคงทวงถาม

100 ปีชาตกาลของ มิโคลส แยงโซช์ ตราบเท่าที่ประชาชนยังคงทวงถาม

100 ปีชาตกาลของ มิโคลส แยงโซช์ ตราบเท่าที่ประชาชนยังคงทวงถาม

หญิงสาวในสภาพเปล่าเปลือยถูกผลักให้เดินหน้าไปยังกลุ่มนายทหารที่ยืนตั้งแถวยาวขนาบข้าง พวกนั้นรุมเอาไม้เรียวฟาดที่ผิวเปลือยของเธอเมื่อเธอถูกบังคับให้วิ่งผ่านรอบแล้วรอบเล่า, “วิ่งไปสิ” นายพลสั่งนักโทษหนุ่ม เขาออกวิ่งตามคำสั่งขณะที่อีกฝ่ายยกปืนลูกซองเล็งประทับบ่า เหนี่ยวไก ร่างนั้นล้มฟุบไม่ไหวติงหลังโอบกอดอิสรภาพได้เพียงไม่กี่อึดใจ, “ฉันขอสาปแช่งเผด็จการทุกคน ขออำนวยพรแก่ทุกคนที่ต่อต้านเผด็จการ และทุกท่านที่ถูกพวกมันทุบทำลาย” เธอประกาศ แผดเผาด้วยแรงแค้นของคนที่ฆ่าพ่อของเธอแม้เวลาจะล่วงผ่านมากว่าสิบห้าปีแล้ว

เรื่องราวในหนังของ มิโคลส แยงโซช์ (Miklós Jancsó) คนทำหนังชาวฮังการีมักกอปรขึ้นมาด้วยองค์ประกอบบางอย่างคล้ายคลึงกัน หนึ่งในนั้นคือเรื่องราวของคนที่ถูกรัฐย่ำยี, การต่อต้านสงคราม, ประเทศฮังการีภายใต้การยึดครองของโซเวียต ตลอดจนเวิ้งภาพทุ่งนากว้างสุดลูกหูลูกตา เกือบทุกเรื่องมีการเมืองและการต่อสู้ของคนตัวเล็กตัวน้อยเป็นฉากหลังอยู่เสมอ ซึ่งหากมองจากแง่มุมส่วนตัวแล้วอาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ แยงโซช์เกิดมาในครอบครัวของผู้อพยพชาวทรานซิลเวเนีย ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของโรมาเนียภายหลังอาณาจักรออสเตรีย-ฮังการีล่มสลายเมื่อสงครามโลกสงบลง ภายหลังเรียนจบด้านกฎหมาย (ซึ่งเขาให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่า “ผมไปเรียนกฎหมายเพราะตอนนั้นผมไม่รู้จริงๆ ว่าตัวเองอยากทำอะไร” หากแต่ “เราก็ได้เรียนรู้ว่ากฎหมายนั้นคือเสรีภาพ และกฎหมายจะสร้างขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีเสรีภาพเท่านั้น”) ในเมืองเปช, ฮังการี และเรียนต่อด้านประวัติศาสตร์กับชาติพันธุ์วิทยาในทรานซิลเวเนีย หนุ่มน้อยแยงโซช์ก็เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่สอง และถูกจับเป็นเชลยสงครามอยู่ช่วงหนึ่ง ภายหลังแยงโซช์หยิบเอาเรื่องราวในห้วงนี้มาดัดแปลงเป็น My Way Home (1965) หนังสงครามที่เล่าถึงเด็กหนุ่มวัย 17 ปีที่ถูกกองทัพโซเวียตจับตัวไปเป็นเชลย ก่อนจะได้ผูกมิตรกับนายทหารหนุ่มชาวรัสเซียที่ชีวิตถูกชะตากรรมชักจูงให้มาเป็นทหาร ระหว่างที่พวกเขาพยายามหาทางกลับ ‘บ้าน’ ที่ตัวเองต่างจากมา

ปี 2021 นี้เป็นปีที่ครบรอบ 100 ปีชาตกาลของแยงโซช์ คนทำหนังผู้ได้ชื่อว่าเป็นหัวเรือสำคัญของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในฮังการี และได้รับการยกย่องว่าเล่าเรื่องสงครามได้งดงามราวกับบทกวี ทว่าก็ชวนหัวใจสลาย หลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบลงไม่นาน แยงโซช์เข้าเรียนด้านภาพยนตร์ในบูดาเปสต์ ขวบปีแรกๆ เขาเริ่มจากการทำหนังสารคดีขนาดสั้นที่หยิบเอาฟุตเตจภาพข่าวต่างๆ มาเล่าเรื่อง ซ้อนทับไปกับบรรยากาศร้อนระอุของฮังการีก่อนการปฏิวัติครั้งใหญ่ปี 1956 ซึ่งแยงโซช์ (ซึ่งขณะนั้นทำงานอยู่ในจีน) เล่าว่าเขา “โชคดีที่ตอนนั้นอยู่ประเทศจีน ไม่เช่นนั้นก็คงถูกยิงตายไปแล้วเพราะคงไปแสดงท่าทีต่อต้านพวกโซเวียตในการประท้วงแน่ๆ” 

The Round-Up

การปฏิวัติฮังการีปี 1956 ลงท้ายด้วยความพ่ายแพ้อันร้าวรานของประชาชนในการต่อสู้กับสหภาพโซเวียต มีคนเสียชีวิตราว 3,000 คนและกลายเป็นบาดแผลฉกรรจ์ของผู้คนในประเทศ มันเป็นความพ่ายแพ้ที่ฝังในแยงโซช์ซึ่งในเวลาต่อมา ไปปรากฏอยู่ใน The Round-Up (1966) หนังยาวที่ส่งแยงโซช์ชิงรางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังคานส์ที่พูดถึงสองทศวรรษให้หลังจากการปฏิวัติปี 1848 ของฮังการีภายใต้การนำของ ลายอส คอสซูธ นักปฏิรูปผู้หวังปลดแอกฮังการีจากออสเตรียและลงเอยด้วยความล้มเหลวของกลุ่มปฏิวัติ ยี่สิบปีต่อมา ทางการสร้างค่ายกักกันขึ้นมาเพื่อใช้กุมขังกลุ่มคนที่เคยให้การสนับสนุนคอสซูธ โดยเฉพาะ ซานดอร์ รอซ์ซา ชายนอกกฎหมายที่เชื่อกันว่าเป็นผู้สนับสนุนคอสซูธคนสุดท้ายที่ยังมีชีวิตและเชื่อกันว่าติดอยู่ในค่ายแห่งนี้ นำมาสู่การทรมานนักโทษในค่าย -ทั้งทางร่างกายและจิตใจ- เพื่อควานหาตัวรอซ์ซาซึ่งไม่มีใครรู้ว่ามีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ในค่ายแห่งนี้

มันเป็นหนึ่งในหนังที่ว่ากันว่าเป็นความทะเยอทะยานอย่างที่สุดของแยงโซช์ ไม่เพียงแต่เลือกจะพูดเรื่องการเมืองและการปฏิวัติในห้วงเวลาแห่งความเงียบที่รัฐสั่ง หากแต่มันยังใช้เวลาถ่ายทำเพียง 25 วัน กับภาพเวิ้งกว้างอันกลายเป็นสัญลักษณ์ในหนังของเขาในเวลาต่อมา ที่ราบฮังการีใหญ่ (Great Hungarian Plain) คือฮังการีในสายตาของแยงโซช์ มันคือทุ่งรกร้างโล่งกว้างกินพื้นที่กว่า 52,000 กิโลเมตร “ฮังการีมีอะไรที่พิเศษหรือ ตัวประเทศ, สถานที่, สิ่งแวดล้อมอย่างนั้นหรือ เราไม่มีมหาสมุทร ไม่ได้มีเทือกเขาใหญ่ แล้วเรามีอะไร… เรามีที่ราบยังไงล่ะ ลองออกไปดูสิ คุณมองออกไปได้ไกลสุดลูกหูลูกตากว่าที่คุณจะมองเห็นได้เสียอีก ผมว่ามันเป็นสถานที่ที่พิเศษและในยุโรปกลางก็ไม่ได้มีที่ราบใหญ่ขนาดนี้มากนัก” เขาว่า และในเวลาต่อมาทุ่งกว้างของฮังการีนี้ก็เป็นเสมือนหนึ่งในตัวละครหลักในหนังหลายๆ เรื่องของเขา ในฐานะภาพแทนของโลกที่ผิดตายดังเช่นใน The Round-Up หรือพื้นที่ไร้พรมแดนใน Red Psalm (1972)

อย่างไรก็ตาม แม้ The Round-Up จะพูดเรื่องการปฏิวัติในปี 1848 เป็นหลัก หากแต่นักวิจารณ์หลายคนก็มองว่ามันมีกลิ่นอายการพูดถึงประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของฮังการีอย่างการปฏิวัติปี 1956 อยู่มาก เพราะไม่เพียงเป็นการลุกขึ้นสู้ที่ลงเอยด้วยการที่ฮังการีพ่ายแพ้เหมือนกัน แต่มันยังพูดถึงความอำมหิตของรัฐที่ตามจองล้างจองผลาญประชาชนและการต่อสู้ในอดีต ด้วยการพยายามเด็ดหน่ออ่อนที่จะทำให้เกิดการลุกขึ้นสู้ทุกทางอย่างบ้าเลือด เช่นการออกกวาดล้างคนที่เคยให้การสนับสนุนคอสซูธในปี 1848 หรือการปิดปากห้ามไม่ให้ประชาชนพูดถึงการปราบปรามอย่างรุนแรงในปี 1956 ไปอีกสามทศวรรษ (ทำให้แยงโซช์ถูกมองว่า การที่เขาเลือกเล่าเรื่องผ่านการต่อสู้ปี 1848 เป็นเพราะเลี่ยงจะพูดถึงการต่อสู้ปี 1956 โดยตรงด้วย)

ภายหลังแยงโซช์บอกว่า “หนังเรื่องนี้ไม่ได้พูดถึงแค่ปี 1956 นะ มันพูดถึงผู้คนที่โหยหาอิสระเสรีกับคนที่กดขี่คนกลุ่มแรก และเหล่าคนที่กดขี่นั้นก็มักจะใช้วิธีการแบบเดิมๆ เสมอ ในประเทศที่ปราศจากเสรีภาพ ไม่ว่าจะตุรกี อิหร่าน หรือจีน เรื่องมันก็เป็นเช่นนี้เอง”

The Red and the White

The Red and the White (1967) หนังต้านสงครามลำดับต่อมาของแยงโซช์ที่ร่วมทุนสร้างโดยโซเวียต-ฮังการี เป้าประสงค์หลักของหนังคือเพื่อเฉลิมฉลองครบ 50 ปีการปฏิวัติเดือนตุลาคมในรัสเซีย (October Revolution -ภายหลังทำให้เกิดสงครามกลางเมืองรัสเซียนานหกปี และเป็นชนวนสำคัญให้เกิดการประกาศตัวเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซียในเวลาต่อมา) หากแยงโซช์เลือกจะไม่เล่าถึงการปฏิวัตินั้นโดยตรง แต่เลือกจะพูดถึงช่วงเวลาสองปีให้หลังที่เกิดการปฏิวัติอันนำไปสู่สงครามกลางเมือง โดยหนังเล่าถึงกลุ่มนายทหารชาวฮังการีที่หลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจบลง ก็ตกเป็นเชลยของรัสเซีย และเข้าร่วมกับพรรคบอลเชวิคหลังเกิดสงครามกลางเมือง ทั้งจากความเชื่อว่าพรรคจะช่วยพาพวกเขากลับบ้าน หรือจากความรู้สึกซาบซึ้งต่ออุดมการณ์ของคอมมิวนิสต์เองก็ตามที

อย่างไรก็ตาม สหภาพโซเวียตไม่ปลื้มหนังเรื่องนี้นัก จนมันถูกจับไปแก้ไขเพื่อฉายรอบปฐมทัศน์ ให้เล่าเรื่องความเกรียงไกรยิ่งใหญ่ของสงครามมากกว่าขับเน้นเส้นเรื่องของทหารหนุ่มจากฮังการี แล้วจึงถูกแบนไม่ให้ฉายหลังจากนั้น เชื่อกันว่าเพราะตัวหนังพูดถึงความรุนแรงและความไร้แก่นสารของสงครามที่กลืนกินความเป็นมนุษย์ไปทีละน้อย โดยเฉพาะฉากที่นายทหารแก้เบื่อด้วยการ ‘เล่นเกม’ ส่งเชลยศึกออกวิ่งแล้วยกปืนขึ้นประทับบ่า แล้วยิงทิ้งในนัดเดียว หรือความย้อนแย้งของอิสระเสรีที่ไม่มีอยู่จริงในกองทัพแดง เมื่อทหารใช้ชีวิตอยู่ในเวิ้งกว้างซึ่งอนุญาตให้เขาไปไหนก็ได้ แต่พวกเขาก็ไม่รู้จะไปที่ไหนในดินแดนอันแล้งไร้สุดลูกหูลูกตาเช่นนี้ ตลอดจนหนังมักจะจับภาพตัวละครหลักจากระยะไกลสุดสายตาจะมองเห็น เราจึงแทบไม่อาจระบุได้ว่าชะตากรรมเลวร้ายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นของตัวละครไหน มีชุดอุดมการณ์แบบใด แต่เรารู้เพียงว่าเขาคือหนึ่งในเหยื่อของสงครามและความป่าเถื่อนเท่านั้น (ทั้งยังถูกขับเน้นด้วยการถ่ายลองเทคสุดพลังจาก ธามัส ซอมโล ผู้กำกับภาพคู่บุญของแยงโซช์ ที่ให้คนดูได้เห็นการกระเสือกกระสนดิ้นรนเอาชีวิตรอดของตัวละครตั้งแต่ต้นจนจบในระยะไกลลิบตา) และแม้ว่าหนังจะไม่ได้รับความนิยมในโซเวียตนัก แต่มันก็ได้รับกระแสแง่บวกจากในฮังการีจนถูกเอาไปฉายในหลายๆ ประเทศรวมทั้งสหรัฐฯ จนมันกลายเป็นหนึ่งในหนังของแยงโซช์ได้ได้ออกฉายเป็นวงกว้างมากที่สุด (ทั้งมันยังได้เกือบไปฉายรอบปฐมทัศน์ที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ด้วย หากแต่ตอนนั้นฝรั่งเศสจำต้องเลื่อนการจัดงานออกไปก่อนอันเนื่องมาจากการประท้วงรัฐบาลในเดือนพฤษภาคมปี 1968) 

“ทุกคนรู้ว่าฮังการีต้องเผชิญสถานการณ์อะไรบ้าง ไม่ใช่แค่นักวิชาการ นักวิจารณ์หรือคนดูหนังหรอก แม้แต่คนที่ไม่ดูหนังเลยก็รู้ หนังของผมจึงประสบความสำเร็จ เพราะคนรู้สึกว่ามันกำลังเล่าเรื่องบางอย่างซึ่งไม่ได้อยู่แค่สิ่งที่เราเห็นบนจอหนัง แต่ยังมีนัยซ่อนอยู่ด้วย และนั่นแหละคือภาพยนตร์” แยงโซช์เล่า 

“ช่วงนั้นเองที่พวกเขาเริ่มขนานนามผมว่า ‘ผู้กำกับแห่งฉากลองเทค’ สมัยนั้นเราใช้ฟิล์มเนกาทีฟ 35 มม. และจะถ่ายยาวไปเช่นนั้นจนกว่าฟิล์มจะหมดม้วนซึ่งก็อยู่ที่ราวๆ 11-12 นาทีได้ สมัยนั้นการถ่ายแบบมองตาจได้รับความนิยมมาก แต่เราไม่ทำกันแบบนั้นหรอก” แยงโซช์เล่า อย่างไรก็ดี ความที่กล้องที่สามารถบันทึกเสียงด้วยได้ในสมัยนั้นมีขนาดใหญ่เทอะทะและมีน้ำหนักเยอะ ทำให้แยงโซช์กับซอมโลตั้งสร้างขาตั้งกับรางเลื่อนเพื่อรองรับกล้องขึ้นมา และถ่ายทำไปจนหมดม้วนซึ่งแยงโซช์บอกว่า “ทำให้ได้ภาพและมุมดีๆ แบบที่คาดไม่ถึงเชียวล่ะ”

มาร์ติน สกอร์เซซี เคยเล่าถึงหนังแยงโซช์ไว้ว่า “ผมไม่เคยสัมผัสความอ่อนไหวแบบนั้นในภาพยนตร์มาก่อนจนกระทั่งได้ดูหนังของเขา ทุกการเคลื่อนกล้องมันมีความยิ่งใหญ่และสง่างามอย่างยิ่ง”

“ไม่มีหรอก ไม่มีใครเทียบเคียงแยงโซช์ได้ โดยเฉพาะฉากลองเทคกับการบอกเล่าเรื่องราวทางการเมืองอันแสนทรงพลัง โดยเฉพาะฉากจบของ The Round-Up ซึ่งผมว่าเป็นการสรุปภาพรวมได้ดีที่สุดเท่าที่มีคนเคยทำมาทีเดียว… ลองนึกสิว่าคุณได้นั่งตรงนั้น ดูหนังเรื่องนี้ แล้วถูกลากเข้าไปอยู่ในโยงใยของเส้นเรื่องในหนังด้วยการเคลื่อนกล้อง ก่อนจะถูกทุบด้วยตอนจบอันแสนจะสมเหตุสมผล ขอเพียงคุณนั่งดูหนังเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง แล้วตราตรึงอยู่ในมวลอารมณ์ที่หนังมอบให้ก็พอแล้ว”

Red Psalm (1972)

แยงโซช์หวนกลับไปพูดถึงผลกระทบภายหลังการปฏิวัติฮังการีปี 1848 อีกครั้งใน Red Psalm (1972) หรือ Még kér a nép ซึ่งชื่อเรื่องแปลคร่าวๆ ได้ว่า ‘และประชาชนยังคงทวงถาม’ อันเป็นท่อนหนึ่งของบทกวีอันลือลั่นของ ซันดอร์ เปโตฟี กวีผู้เป็นหัวเรือของการลุกฮือในปี 1848 และเป็นผู้เขียน ‘Nemzeti dal’ หรือเพลงชาติซึ่งเชื่อกันว่าเป็นแรงผลักสำคัญที่ก่อให้เกิดการปฏิวัติเรียกร้องแยกตัวจากจักรวรรดิออสเตรียของฮังการี หนังเล่าถึงหมู่บ้านเล็กๆ ในชนบทแห่งหนึ่งในปี 1890s หลายปีให้หลังการปฏิวัติ เมื่อคนงานในฟาร์ม นำโดย แรกซ์เนอ (จอนจี บูโร) หญิงสาวที่พากันหยุดงานประท้วงแต่กลับต้องเผชิญหน้าจากการตอบโต้อันป่าเถื่อนจากรัฐ แยงโซช์ใช้เพลงพื้นบ้านฮังการีเพื่อขับเน้นความผาสุกและความกลมเกลียวของชาวบ้านพร้อมฉากเต้นรำในท้องทุ่ง (จากที่หนังเรื่องก่อนๆ ของเขาแทบไม่มีดนตรีประกอบ) ก่อนจะค่อยๆ เงียบหายลงเมื่อรัฐย่างกรายเข้ามาใช้ความรุนแรงเพื่อปราบปราม หนังส่งเขาคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมและชิงปาล์มทองจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ และแยงโซช์หวนกลับมาเล่าเรื่องโดบใช้ตัวละครหญิงเป็นหลักอีกครั้งใน Elektra (1974) ที่ถ่ายอย่างบ้าพลังไปที่ 12 ช็อตจากหนังทั้งเรื่องที่ยาว 70 นาที และหยิบเอาตำนานกรีกเก่าแก่มาผนวกรวมกับประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของฮังการี พูดถึง อิเล็กตรา (มารี โทโรสลิค) บุตรสาวของ อะกาเมมนอน ราชาที่ถูก อีจีสธัส ชายที่เป็นชู้กับเมียสังหารและช่วงชิงบัลลังก์ อิเล็กตราจึงใช้ชีวิตด้วยความเคืองแค้นและเฝ้ารอวันที่จะได้ทวงความยุติธรรมให้แก่พ่อของเธอทุกเมื่อเชื่อวัน แม้เวลาจะล่วงผ่านไปกว่าสิบปีแล้วก็ตาม

“หากคนที่ยังอยู่แม้เพียงคนเดียวยังจดจำได้ ก็จะไม่มีใครลืมเลือนได้ลง… เพราะหากการก่ออาชญากรรมเลวร้ายนั้นไม่ได้รับการลงโทษ กฎหมายก็ไร้ประโยชน์ และหากกฎหมายไร้ประโยชน์ เราจะยังต้องมาพูดอะไรกันอีก มนุษย์ย่อมมิใช่มนุษย์อีกต่อไป”

แยงโซช์ใช้ความยุติธรรมจากตำนานกรีกเมื่อสองพันปีก่อนยึดโยงเข้ากับความขมขื่นที่ประชาชนฮังการีร่วมสมัยต้องเผชิญ และมอบความหวังให้แก่คนดูด้วยฉากจบเมื่อเฮลิคอปเตอร์สีแดง -ในนามของการปฏิวัติ- ร่อนลงจอดในทุ่งเล็กๆ และนำพาอิเล็กตรากับคนของเธอไปยังโลกอีกใบเพื่อควานหาความยุติธรรมมาไว้ในมือ 

แยงโซช์เอ่ยปากว่าเขาเป็นมาร์กซิส นั่นทำให้ธีมหลักในหนังของเขาไม่ว่าจะกี่เรื่องต่อกี่เรื่องล้วนเล่าถึงคนตัวเล็กตัวน้อยที่ตกเป็นเหยื่อของสังคม ทั้งจากสงคราม ความรุนแรงและความเหลื่อมล้ำเสมอ “ใจความสำคัญในหนังของผมไม่ว่าจะยุคไหนนั้นเหมือนกันหมด คือมันว่าด้วยการสำรวจสังคมที่มีคนกลุ่มหนึ่งพยายามเอาเปรียบอีกกลุ่มอยู่เสมอ แม้คนเหล่านั้นจะมาจากชนชั้นที่ได้เปรียบทางสังคมอยู่แล้วก็ตาม เมื่อใดก็ตามที่พวกเขามีอำนาจพวกเขาก็จะใช้มันเพื่อกดขี่ผู้อื่น นี่เป็นประเด็นหลักที่ผมยังสนใจอยากสำรวจอยู่จนทุกวันนี้” แยงโซช์ว่า “บางทีแล้วคนดูทั่วโลกรับรู้และเข้าใจกลเกมอำนาจนี้มากกว่าที่ผมเล่าไว้ในหนังทุกเรื่องของผมเสียอีก”

ภายหลังจากยุค 70s แยงโซช์เริ่มขยับจากการทำหนังที่มีฉากหลังเป็นภาพอดีตหรือสงครามมาเป็นฮังการีร่วมสมัย และเลือกเปิดเรื่องด้วยลองเทคความยาวสี่นาทีเต็มของชายคนหนึ่งที่ขับรถเปิดประทุนไล่เรื่อยไปตามถนนของเมืองบูดาเปสต์ แม้ว่าหลังจากนั้นเรื่องราวจะขยับไปเล่าเรื่องในชนบทแบบที่แยงโซช์ถนัด ว่าด้วยชีวิตของคุณครูที่ใช้ชีวิตหลังเกษียณกับลูกสาวในไร่เล็กๆ โดยมีเหล่าลูกศิษย์ลูกหาและเพื่อนครูมาร่วมสังสรรค์ จนเกิดเป็นวงถกเถียงปรัชญาอันนำไปสู่เรื่องลี้ลับบางอย่างในท้ายที่สุด

The Lord’s Lantern in Budapest (1999)

หมุดหมายสำคัญที่ปรากฏในหนังของแยงโซช์ช่วงยุค 90s คือมันจับจ้องไปยังห้วงเวลาแห่งการล่มสลายของคอมมิวนิสต์ในปี 1989 สาธารณรัฐประชาชนฮังการีถูกเปลี่ยนไปเป็นสาธารณรัฐฮังการีที่ 3 ในปีเดียวกัน ก่อนจะค่อยๆ จัดตั้งรัฐสภาและตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยในปี 1990 เวลานั้นแยงโซช์ขยับมาทำสารคดีเป็นว่าเล่น ทั้งการจับภาพไปยังเมืองต่างๆ ในฮังการีในสารคดีไตรภาค Kövek üzenete หรือเล่าเรื่องนักไวโอลินตลอดจนวงร็อค และจับความ ‘ความเป็นไป’ ในฮังการีร่วมสมัยได้อย่างน่าสนใจ ทั้งเรื่องของผู้คนในเมืองซึ่งถูกบอกเล่าผ่านสารคดี หรือระเบิดห้วงอารมณ์ผ่านเพลงร็อคหัวสั่นหัวคลอน โดยแยงโซช์เล่าช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านและการล่มสลายของคอมมิวนิสต์ไว้ใน Blue Danube Waltz (1992) ว่าด้วยนายกรัฐมนตรีฮังการีที่ถูกลอบสังหารที่ย่านแม่น้ำดานูบ และ The Lord’s Lantern in Budapest (1999) ที่พูดถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายหลังการล่มสลายของคอมมิวนิสต์ผ่านสายตาของแยงโซช์ที่สมาทานแนวคิดสังคมนิยมเต็มตัว และเลือกเปิดเรื่องด้วยประโยค “หากฉันเป็นสัตว์ ฉันคงไม่เอามนุษย์มาเป็นสัตว์เลี้ยงหรอก” ซึ่งน้ำเสียงเสียดเย้ยและอารมณ์ขันแห้งแล้งเหล่านี้กลายเป็นที่ชอบใจของคนดูหนังรุ่นใหม่ในฮังการีจน The Lord’s Lantern in Budapest เป็นอีกหนึ่งเรื่องของแยงโซช์ที่ประสบความสำเร็จ หนังมองคนรุ่นใหม่ในตัวเมืองที่ใช้เวลาแกร่วไปวันๆ ผ่าน คาปา (โซลตัน มักซี) และ เปเป้ (พีเตอร์ เชอเรอร์) คู่หูที่โยนตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ชวนหัวอันกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ความเป็นที่นิยมของหนังทำให้แยงโซช์สร้างหนังอีกเรื่องที่พูดถึงนายคาปาและเปเป้โดยเฉพาะอย่าง Ede megevé ebédem (2006) ที่วิพากษ์ระบบทุนนิยมซึ่งก่อตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็วในฮังการีหลังคอมมิวนิสต์ล่มสลายลง ผ่านคู่หูที่ใช้ชีวิตโดยไม่คิดอะไรอื่นนอกจากหาเงินมาให้ได้เยอะๆ แบบไม่เกี่ยงวิธี 

ภายหลัง แยงโซช์บอกว่าเหตุผลหนึ่งที่เขาไม่เคยละเลยจะพูดถึงสังคมและการเมืองในหนังของเขาแม้ในวันที่คอมมิวนิสต์ล่มสลายไปแล้วนั้นเป็นเพราะ “ผมไม่ได้เปลี่ยนไป ที่เปลี่ยนไปคือโลกเราต่างหาก อย่างไรก็ตาม ผมไม่ใช่คนที่มองโลกในแง่ร้ายนัก และคิดว่าศิลปิน คนทำหนัง หรือใครก็ตามควรจะเอ่ยปากปฏิเสธต่อความอยุติธรรมซึ่งรายล้อมตัวพวกเราอยู่”

“สิ่งสำคัญคือศิลปินต้องซื่อสัตย์ต่อตัวเองไม่ว่าจุดยืนจะเป็นอย่างไร” แยงโซช์บอก “รัฐ ผู้มีอำนาจล้วนแล้วแต่ชอบคนที่เฉยเมยต่อสิ่งรอบตัวทั้งนั้น เพราะพวกเขาอยู่ได้ด้วยความเมินเฉยของผู้คนเหล่านี้ แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่ความเมินเฉยนั้นแหลกสลายไป ศิลปินก็จะมีอิสระในการสร้างงานและเป็นไทแก่ตัวเองเมื่อนั้น”

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here