เรื่องจริงสุดเดือดของคดีประวัติศาสตร์ “Chicago 7”

“คุณแอ็บบี้ ฮอฟฟ์แมน คุณดูหมิ่นรัฐบาลของคุณจริงหรือไม่”
“มันเทียบไม่ได้หรอกครับกับการดูหมิ่นที่รัฐบาลของผมมีให้กับผม!”

ในผลงานเขียนบทควบกำกับเรื่องล่าสุดนี้ของ แอรอน ซอร์คิน (แห่งซีรีส์ The West Wing และหนัง The Social Network) อัดแน่นไปด้วยบทพูดเดือดๆ ตามสไตล์ถนัดของเขา มันเดือดเสียจนหลายคนอาจนึกสงสัยว่าเขาเติมสีใส่ไข่จากเรื่องจริงเข้าไปเองมากเกินไปหรือเปล่า …แต่เปล่าเลย! เพราะเรื่องจริงของ “คดีชิคาโก 7” ก็เดือดดาลไม่น้อยไปกว่า หรืออาจจะมากกว่าภาพจำลองของซอร์คินด้วยซ้ำ!

ขบวนประท้วงต่อต้านสงครามเวียดนามบนถนนมิชิแกน ในช่วงสัปดาห์ประชุมใหญ่พรรคเดโมแครต ดำเนินไปอย่างสงบและดึงดูดให้มีผู้ประท้วงรุ่นเยาว์จากทั่วประเทศเดินทางมาร่วม

The Trial of the Chicago 7 สร้างจากเรื่องจริงของแกนนำผู้จัดการเดินขบวนประท้วงสงครามเวียดนาม ที่นำพามวลชนร่วมหมื่นคนไปปักหลักในชิคาโก ระหว่างงานประชุมใหญ่ของพรรคเดโมแครตที่ International Amphitheatre เมื่อปลายเดือนสิงหาคมปี 1968 (เรียกย่อๆ ว่า Chicago DNC เป็นการประชุมเพื่อคัดเลือกตัวแทนพรรคลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายน)

แต่การชุมนุมที่เริ่มต้นขึ้นอย่างสงบเริ่มถูกขัดขวาง เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมพยายามยื่นขออนุญาตจากเมืองชิคาโกให้เคลื่อนตัวเข้าใกล้สถานที่ประชุม ทว่า ริชาร์ด เดลีย์ นายกเทศมนตรีชิคาโกปฏิเสธทุกคำขอ ซ้ำยังประกาศเคอร์ฟิวในบริเวณใกล้เคียง ตามด้วยการสั่งการให้ตำรวจ 12,000 นาย, กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิแห่งอิลลินอยส์ 5,600 นาย และทหารอีก 5,000 นาย เข้าสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตาและกระบองในวันที่ 28 สิงหาคม 1968 (โดยผู้ชุมนุมตอบโต้ด้วยก้อนหินและขวด) ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บหลายร้อยและถูกจับกุมถึง 668 คน นำมาสู่คดีบนชั้นศาลเมื่อกระทรวงยุติธรรมของรัฐบาลประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ตั้งข้อหาจำเลยจำนวน 8 คนว่า สมคบคิดกันก่ออาชญากรรม ด้วยการเดินทางข้ามเส้นแบ่งเขตรัฐเพื่อจงใจปลุกระดมให้เกิดการจลาจล

การพิจารณาคดีเริ่มต้นในวันที่ 24 กันยายน 1969 หรือกว่าหนึ่งปีถัดมา และกินเวลายาวนานกว่า 5 เดือนโดยเต็มไปด้วยเรื่องบ้าคลั่ง ภายในศาลนั้นผู้พิพากษาใช้อคติแทรกแซงครอบงำคดีอย่างที่ไม่เคยปรากฏ ขณะที่ภายนอกศาลก็เนืองแน่นไปด้วยผู้คนซึ่งร่วมเปล่งเสียงตะโกนประโยคที่ว่า “ทั้งโลกกำลังเฝ้าดู!” (“The whole world is watching!”) อันมีนัยถึงการจับตามองความพยายามของรัฐบาลที่กำลังต้องการเล่นงานฝ่ายซ้ายและกำจัดขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามเวียดนาม

เหตุการณ์ทั้งหมดนี้สะท้อนความแตกแยกลึกซึ้งในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งกำลังตกอยู่ในภาวะสับสน จากทั้งเหตุการณ์ลอบสังหาร มาร์ติน ลูเธอร์ คิง และวุฒิสมาชิก โรเบิร์ต เคนเนดี, สงครามเวียดนามที่กำลังส่อเค้าเลวร้าย, ความว้าวุ่นทางการเมืองหลังจากปธน. ลินดอน จอห์นสัน ประกาศจะไม่ลงสมัครสมัยที่สอง (ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน) และความชัดแย้งภายในของพรรคเดโมแครตเองเมื่อสมาชิกจำนวนหนึ่งสนับสนุนให้รองปธน. ฮูเบิร์ต ฮัมฟรีย์ เป็นตัวแทนพรรคลงสมัครปธน. แต่นักศึกษากับปัญญาชนฝ่ายซ้ายซึ่งต่อต้านสงครามต้องการหนุนวุฒิสมาชิกหัวก้าวหน้าอย่าง ยูจีน แม็กคาร์ธี มากกว่า และตัดสินใจใช้การเดินขบวนประท้วงเป็นส่วนหนึ่งในการบรรลุจุดประสงค์ดังกล่าว

การพิจารณาคดีเริ่มต้นในวันที่ 24 กันยายน 1969 หรือกว่าหนึ่งปีถัดมา และกินเวลายาวนานกว่า 5 เดือนโดยเต็มไปด้วยเรื่องบ้าคลั่ง ภายในศาลนั้นผู้พิพากษาใช้อคติแทรกแซงครอบงำคดีอย่างที่ไม่เคยปรากฏ ขณะที่ภายนอกศาลก็เนืองแน่นไปด้วยผู้คนซึ่งร่วมเปล่งเสียงตะโกนประโยคที่ว่า “ทั้งโลกกำลังเฝ้าดู!”

นอกจากบริบททางสังคมที่เข้มข้นแล้ว คดีนี้ยังมีองค์ประกอบดุเดือดอีกหลายประการที่ทำให้มันกลายเป็นบทบันทึกทางประวัติศาสตร์หน้าสำคัญ ได้แก่

1. พวกเขาเป็นเหยื่อกลุ่มแรกของ “กฎหมายต่อต้านการจลาจลฉบับแรกของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ”

สมาชิก “ชิคาโก 7” และทนายของพวกเขาขณะชูกำปั้นพร้อมกันหน้าศาล (จากซ้ายไปขวา) ทนาย เลียวเนิร์ด ไวน์กลาสส์, เรนนี เดวิส, แอ็บบี้ ฮอฟฟ์แมน, ลี วายเนอร์, เดวิด เดลลิงเจอร์, จอห์น ฟรอยน์ส, เจอร์รี รูบิน, ทอม เฮย์เดน, ทนาย วิลเลียม คันสต์เลอร์

ก่อนหน้านั้น กฎหมายต่อต้านการจลาจลเป็นกฎหมายที่ใช้กันแค่ในระดับท้องถิ่นหรือรัฐ แต่ในปี 1968 มีการผ่านกฎหมาย “1968 Civil Rights Act” ซึ่งสั่งห้ามมิให้มี “การเดินทางข้ามรัฐเพื่อก่อการจลาจล” และเมื่อเกิดความวุ่นวายขึ้นในการประชุม Chicago DNC นายกเทศมนตรีชิคาโกก็เรียกร้องให้รัฐบาลใช้กฎหมายนี้เข้ามาจัดการผู้ประท้วงทันที แต่ในตอนแรก แรมเซย์ คลาร์ค (ในหนังรับบทโดย ไมเคิล คีตัน) รมต.ยุติธรรมของรัฐบาลปธน. ลินดอน จอห์นสัน (ซึ่งมาจากพรรคเดโมแครต) ยังไม่เห็นด้วยเพราะ “เราไม่พบหลักฐานที่จะเอาผิดผู้ประท้วงได้ แต่เราพบหลักฐานที่ชี้ว่าตำรวจละเมิดสิทธิพลเมืองของผู้ประท้วงเสียด้วยซ้ำ”

อย่างไรก็ตาม หลังจากเหตุการณ์ล่วงเลยมากว่าหนึ่งปี การเมืองก็เกิดการเปลี่ยนขั้ว เมื่อ ริชาร์ด นิกสัน จากพรรครีพับลิกันขึ้นเป็นปธน. ต่อจากจอห์นสัน แล้วแต่งตั้ง จอห์น มิตเชลล์ เป็นรมต.ยุติธรรมคนใหม่ (ต่อมาเขาคือหนึ่งในผู้ที่ถูกตัดสินรับโทษจากคดีวอเตอร์เกต) และด้วยคำสั่งของทั้งคู่นี่เองที่กฎหมายดังกล่าวถูกนำมาใช้งานจนได้ โดยมีผู้ประท้วงต่อต้านสงครามที่ชิคาโก 8 คนตกเป็นเหยื่อกลุ่มแรก


2. จำเลยผู้มากสีสัน และศาลที่กลายเป็นโรงละครแห่งความโกลาหล

แม้จำเลยทั้ง 8 คนจะยืนหยัดบนจุดยืนเดียวกันคือการต่อต้านสงครามเวียดนาม แต่ตัวตนของพวกเขาไม่ได้กลืนเป็นเนื้อเดียวกัน แต่ละคนแตกต่างกันทั้งสไตล์, กลยุทธ์ และวาระการต่อสู้

แอ็บบี้ ฮอฟฟ์แมน (ในหนังรับบทโดย ซาชา บารอน โคเฮน) กับ เจอร์รี รูบิน (เจเรมี สตรอง) สองแอ็กติวิสต์กลุ่ม Youth International Party (ซึ่งเรียกสมาชิกกลุ่มว่า ยิปปี้) ที่นำพาท่วงท่ายียวนกวนโมโหมาใช้เป็นอาวุธต่อต้านอำนาจรัฐ มีคำกล่าวว่าตลอดระยะเวลาเกือบ 5 เดือนของการขึ้นศาลนั้น พวกเขาได้เปลี่ยนศาลให้กลายเป็น “โรงละครการเมือง” โดยรูบินให้สัมภาษณ์ว่า “กลยุทธ์ของเราคือทำให้ผู้พิพากษาหัวใจวาย แต่สุดท้ายเราทำให้ทั้งระบบศาลหัวใจวายไปเลย ซึ่งยิ่งดีเข้าไปใหญ่”

ทอม เฮย์เดน (เอ็ดดี เรดเมย์น) กับ เรนนี เดวิส (อเล็กซ์ ชาร์ป) สองผู้ก่อตั้งกลุ่มนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย (Students for a Democratic Society – SDS) และเป็นผู้รวบรวมองค์กรจากสถาบันการศึกษากว่า 150 องค์กรเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบและยุติสงคราม เฮย์เดนเป็นคนที่เชื่อมั่นในการต่อสู้ด้วยระบบและอย่างสันติ เขาจึงมักขัดแย้งทางความคิดกับฮอฟฟ์แมน

เดวิด เดลลิงเจอร์ (จอห์น คาร์รอลล์ ลินช์) ผู้จัดการกลุ่ม Mobilization Committee to End the War in Vietnam (MOBE) ซึ่งก่อตั้งขึ้นก่อนการประท้วงใหญ่หนึ่งปี

จอห์น ฟรอยน์ส กับ ลี วายเนอร์ (แดนนี ฟลาเฮอร์ตี และ โนห์ รอบบินส์) ทั้งคู่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องเพียงเล็กน้อยกับการวางแผนการประท้วง แต่เชื่อว่าถูกรวบตัวเพราะรัฐต้องการส่งสัญญาณเตือนไปยังเหล่านักวิชาการที่ทำกิจกรรมต่อต้านสงครามคนอื่นๆ

บ็อบบี้ ซีล (ยาห์ยา อับดุล-มาทีน ที่สอง) ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มแบล็คแพนเธอร์ (Black Panther) ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นกลุ่มที่นิยมวิธีการแบบทหารมากกว่า

วิลเลียม คันสต์เลอร์ (มาร์ค ไรแลนซ์) และ เลียวเนิร์ด ไวน์กลาสส์ (เบน เชงก์แมน) สองทนายความเพื่อสิทธิพลเมืองที่มาว่าความให้จำเลย คันต์สเลอร์คือผู้ร่วมวางกลยุทธ์ให้ฮอฟฟ์แมนกับรูบินป่วนการพิจารณาคดี ต่อมาเขาถูกตัดสินจำคุก 4 ปีข้อหาหมิ่นศาล ซึ่งหนึ่งในนั้นเกิดจากตอนที่เขาเรียกศาลนี้ว่า “ห้องทรมานนักโทษยุคกลาง”


3. คนดังหลากวงการประกาศร่วมต่อสู้อย่างเปิดเผย

3 เดือนก่อนคดีเริ่มต้น กลุ่มนักคิดนักเขียน 19 คนได้ส่งจดหมายถึงกองบก. ของ The New York Review of Books เพื่อทักท้วงว่า กฎหมายต่อต้านการจลาจลที่รัฐใช้นี้อาจก่อผลเสียหายร้ายแรง โดยเฉพาะต่อบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ของรัฐธรรมนูญ (First Amendment) ที่รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน เพราะมันจะเป็นการบิดเบือนด้วยการอ้างว่า “กลุ่มประท้วงทางการเมือง คือกลุ่มก่อความรุนแรง” อันเป็นจุดเริ่มต้นของ “การเปลี่ยนอเมริกาให้กลายเป็นรัฐตำรวจ”

จดหมายฉบับนี้ลงนามโดยนักคิดสำคัญๆ อย่าง โนม ชอมสกี, ซูซาน ซอนแทก, เบนจามิน สปอค รวมถึงนักร้อง จูดี้ คอลลินส์ กับนักเขียน นอร์แมน เมลเลอร์ (คอลลินส์กับเมเลอร์ไปให้การเป็นพยานในศาลด้วย โดยคอลลินส์ร้องเพลงแต่ถูกสั่งให้หยุด ส่วนเมเลอร์ใช้บทกวีบรรยายความโหดร้ายของตำรวจ) และเนื่องจากจำเลยทั้งแปดเรียกขานตัวเองอย่างประชดประชันว่า “The Conspiracy” (กลุ่มสมคบคิด) นักคิดทั้ง 19 คนจึงตั้งชื่อกลุ่มตนบ้างว่า “Committee to Defend the Conspiracy” (คณะกรรมการปกป้องการสมคบคิด) โดยมีการเปิดระดมทุนจากประชาชนเพื่อใช้ในการสู้คดีด้วย

นอกจากนั้น ในระหว่างการพิจารณาคดียังมีการเรียกตัวพยานกว่า 100 คนมาช่วยให้การว่า การประท้วงต่อต้านสงครามครั้งนี้เป็นไปโดยสงบและตำรวจต่างหากที่เป็นฝ่ายใช้ความรุนแรง ในจำนวนนี้มีไอค่อนคนดังยุค 1960 อย่าง ดิก เกรกอรี นักแสดงตลก, วิลเลียม สไตรอน นักเขียน, อาร์โล กูธรี นักร้อง และ โจ แม็กดอนัลด์ นักร้องคันทรี่ที่เพิ่งดังจากเพลง I-Feel-Like-I’m-Fixin’-to-Die Rag ที่เขาร้องในวู้ดสต็อกก่อนคดีเริ่มต้นเพียงหนึ่งเดือน เขาพยายามจะร้องเพลงต่อต้านสงครามในศาลด้วย แต่ผู้พิพากษาไม่อนุญาต เขาจึงใช้วิธีท่องเนื้อเพลงให้ทุกคนฟังแทน

อัลเลน กินส์เบิร์ก ขณะเข้าร่วมงานประชุมใหญ่พรรคเดโมแครตที่ลินคอล์นพาร์ค ชิคาโก เดือนสิงหาคมปี 1968

แต่คนที่มาเป็นพยานได้แซ่บที่สุดสำหรับงานนี้ หนีไม่พ้น อัลเลน กินส์เบิร์ก กวีกลุ่มบีท ซึ่งตอบคำถามด้วยการสวดฮเรกฤษณะใส่ผู้พิพากษา เรียกเสียงฮาครืนจากคนดูทั้งห้อง และแม้ผู้พิพากษา จูเลียส ฮอฟฟ์แมน (ไม่ได้เป็นญาติกับจำเลย แอ็บบี้ ฮอฟฟ์แมน) จะโต้ตอบว่า “ภาษาของศาลอเมริกันคือภาษาอังกฤษ” แต่เขาก็ยังท่องบทสวดเดิมซ้ำอีกสามวันรวด แถมด้วยการสวดคำว่า “โอมมมมมม…” เพื่อสงบสติอารมณ์ของฮอฟฟ์แมนกับทนายคันสต์เลอร์ อย่างไรก็ตาม ขณะที่คนดูสนุกสนานกับความกวนเหล่านี้ ตัวกินส์เบิร์กเองก็ถูกบั่นทอนด้วยคำถามของอัยการที่พยายามขุดเรื่องเพศสภาพของเขามาเล่นงานด้วยหวังให้อับอาย และยังมีการพูดเป็นนัยว่าเขามีเซ็กซ์กับสองจำเลยคือ แอ็บบี้ ฮอฟฟ์แมน และ เจอร์รี รูบิน (ซึ่งไม่มีหลักฐานพิสูจน์) ด้วย


4. ผู้พิพากษาสั่งล่ามจำเลย

หนึ่งในเหตุการณ์ชวนช็อคที่สุดของการพิจารณาคดีนี้และของประวัติศาสตร์ศาลอเมริกัน เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 1969 หลังจาก บ็อบบี้ ซีล แห่งกลุ่มแบล็คแพนเธอร์ (ซึ่งถูกจับกุมมาเป็นหนึ่งใน 8 จำเลยด้วย ทั้งที่เขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเดินขบวนเลย เขาแค่มาเสริมในฐานะผู้ปราศรัยบนเวทีเท่านั้น) ขอเลื่อนการพิจารณาคดีเนื่องจากทนายของเขาเข้ารับการผ่าตัด แต่แล้วคนทั้งศาลก็ต้องอ้าปากค้างเมื่อ จูเลียส ฮอฟฟ์แมน ผู้พิพากษาวัย 74 ปีที่ขึ้นชื่อด้านความหัวร้อน (ในหนังรับบทโดย แฟรงค์ แลนเจลลา) ปฏิเสธคำขอนี้และแต่งตั้งทนายใหม่ให้ ซีลไม่ยอมและยืนยันสิทธิที่จะเป็นทนายให้ตัวเอง แต่ฮอฟฟ์แมนก็ปฏิเสธอีกซึ่งทำให้ซีลโกรธสุดขีดจึงด่าเขาว่า “ไอ้หมูเหยียดผิว” ส่งผลให้ผู้พิพากษาแค้นจัด สั่งให้เจ้าหน้าที่จับตัวซีลมัดปาก ใส่กุญแจมือแล้วล่ามตัวติดกับเก้าอี้ทันที โดยทำแบบนี้ตลอดการพิจารณาคดีถึง 3 วัน

ในยุคนั้นยังไม่อนุญาตให้ใช้กล้องถ่ายรูปในศาล แต่ภาพสเก็ตช์ชายผิวดำถูกล่ามก็ถูกส่งต่อไปยังสื่อวงกว้าง สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงตุลากรอย่างหนัก และทำให้คดีได้รับความสนใจจากสังคมท่วมท้น (รวมทั้งเป็นที่มาของเพลง “Chicago” ของ เกรแฮม Nash ในอีก 1 ปีครึ่งต่อมา)

ไม่จบแค่นี้ สัปดาห์ถัดมาฮอฟฟ์แมนยังพิพากษาให้ซีลติดคุก 4 ปีข้อหาหมิ่นศาล และประกาศแยกซีลออกไปเป็นคดีสมคบคิดต่างหาก (จึงทำให้ “คดีชิคาโก 8” เหลือเพียง “ชิคาโก 7”) อย่างไรก็ตาม หลังจากคณะลูกขุนไม่สามารถเอาผิดกับกลุ่มชิคาโก 7 ในข้อหาสมคบคิดได้ อัยการรัฐชิคาโกจึงมีความเห็นไปยังฮอฟฟ์แมนให้ถอนคดีของซีลออกในที่สุด


5. ไม่ใช่แค่ขัดแย้งทางคดี แต่มันคือ “การปะทะทางวัฒนธรรรม”

แอ็บบี้ ฮอฟฟ์แมน กับ เจอร์รี รูบิน สวมชุดคลุมผู้พิพากษาโชว์ออกสื่อ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ปี 1970

ฮอฟฟ์แมนกับรูบินเป็นสองจำเลยที่สร้างสีสันและความแสบสันแก่การพิจารณาคดีมากที่สุด เพราะใช้กลเม็ดมากมายมาดึงความสนใจจากสื่อมวลชนและสังคม ไม่ว่าจะเป็นการมาปรากฏตัวในศาลด้วยการสวมชุดคลุมของผู้พิพากษา เพื่อประท้วงที่ผู้พิพากษาฮอฟฟ์แมนไม่ยอมให้จำเลยเดลลิงเจอร์ได้ประกันตัว และเมื่อผู้พิพากษาสั่งให้ทั้งคู่ถอดชุดคลุมออก พวกเขาก็ปล่อยมันทิ้งลงพื้น เอาเท้าขยี้ แล้วเผยให้เห็นว่าใต้ชุดคลุมนั่นพวกเขาสวมเครื่องแบบตำรวจชิคาโกอยู่ด้วย!

นอกจากนั้น ฮอฟฟ์แมนยังเคยหอบเอาธงของแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติเวียดนามใต้ (เวียดกง) มากางกลางศาล, กวนโมโหด้วยการเรียกผู้พิพากษา จูเลียส ฮอฟฟ์แมนว่า “จูลี่”, ส่งจูบให้, สบถคำหยาบใส่ในภาษายิดดิช (ทั้งเขาและผู้พิพากษาเป็นคนยิว) โดยให้เหตุผลว่า วิธีการเหล่านี้ไม่แค่ช่วยให้สื่อสนใจพวกเขามากขึ้น แต่มันยังเป็นการตอบโต้ด้วยการหมิ่นศาลกลับ หลังจากที่ศาลดูหมิ่นย่ำยีพวกเขาก่อน

แล้วพฤติกรรมอะไรบ้างของผู้พิพากษาฮอฟฟ์แมนที่ถูกมองว่าไม่เป็นธรรมต่อจำเลย? ตัวอย่างก็เช่น

– ตั้งแต่วันแรกของการพิจารณาคดี เขาก็อนุมัติหมายจับทนาย 4 คนของฝ่ายจำเลย ทั้งๆ ที่คนเหล่านั้นทำงานตั้งแต่ก่อนคดีจะเริ่ม และเมื่อคดีในชั้นศาลเริ่มก็ไม่ได้เกี่ยวข้องแล้ว แต่คำสั่งนี้ถูกคนในวงการตุลาการวิจารณ์อย่างหนัก เขาจึงยอมถอนหมายไป

– ระหว่างการพิจารณาคดี เขาไม่ยอมให้คณะลูกขุนได้เห็นหลักฐานสำคัญหลายๆ ชิ้น (ที่เป็นประโยชน์ต่อจำเลย) หนึ่งในนั้นคือเอกสารแผนการประท้วงที่ ทอม เฮย์เดน เขียนไว้ชัดเจนว่า “การประท้วงของเราจะต้องไม่ใช้ความรุนแรง”

– เขาแสดงท่าทีดูหมิ่นฝ่ายจำเลยครั้งแล้วครั้งเล่า เช่น ว่ากล่าวทนาย วิลเลียม คันสต์เลอร์ ที่เอียงตัวพิงโต๊ะ, เรียกชื่อทนาย เลียวเนิร์ด ไวน์กลาสส์ ผิดๆ ถูกๆ เป็นไฟน์กลาสส์บ้าง ไวน์รัสส์บ้าง และหนักสุดคือพูดว่า “คุณจะชื่ออะไรก็ช่าง”, สั่งลงโทษจำคุก แอ็บบี้ ฮอฟฟ์แมน เพิ่มอีก 7 วันด้วยข้อหา “หัวเราะในศาล” ฯลฯ โดยรวมความแล้วเขาสั่งลงโทษจำเลยด้วยข้อหาหมิ่นศาลทั้งหมดถึง 175 ครั้ง


6. สารพัดการประท้วงศาลของเหล่าสามัญชน

โปสเตอร์ประท้วงการจับกุมและดำเนินคดี “ชิคาโก 7”

ในฉากไคลแม็กซ์ของหนัง The Trial of the Chicago 7 ผู้พิพากษาฮอฟฟ์แมนเสนอลดโทษให้ ทอม เฮย์เดน หากเขาแสดงความสำนึกผิด แต่นอกจากเฮย์เดนจะปฏิเสธแล้ว เขายังประท้วงด้วยการขานชื่อทหารนับพันคนที่เสียชีวิตในสงครามเวียดนาม ซึ่งเป็นฉากส่งท้ายหนังที่ทรงพลังอย่างยิ่ง

ในเรื่องจริง เหตุการณ์นี้ก็เกิดขึ้นเช่นกัน แต่เกิดในวันแรกๆ ของคดีคือในวันที่ 15 ตุลาคม 1969 เมื่อคนอเมริกันทั่วประเทศร่วมรำลึก Vietnam Moratorium Day (วันยุติสงครามเวียดนาม) โดยในวันนั้น จำเลยพยายามนำธงชาติอเมริกันและธงเวียดนามใต้ออกมาคลี่ในศาล แต่ถูกผู้พิพากษาสั่งห้าม จากนั้นจำเลยได้พยายามอ่านออกเสียงชื่อทหารที่เสียชีวิต แต่ก็ถูกสั่งห้ามเช่นกัน

จากที่ว่ามาทั้งหมด เราจะเห็นได้ว่าการพิจารณาคดีนี้เต็มไปด้วยการประท้วงของเหล่าจำเลยผ่านวิธีต่างๆ แต่ที่เด็ดกว่านั้นคือ แม้แต่ประชาชนที่เข้ามาชมการพิจารณาคดีก็ยังแสดงท่าทีต่อต้านศาลอย่างพร้อมเพรียง ไม่ว่าจะด้วยการส่งเสียงหัวเราะ โห่ฮือไม่เห็นด้วย (เช่น ตอนที่ผู้พิพากษาไม่ยอมให้นำเค้กเข้ามาฉลองวันเกิดบ็อบบี้ ซีล) หรือตอนที่ผู้พิพากษาไล่คนดูทั้งหมดออกไปก่อนจะอ่านคำตัดสิน ก็มีคนตะโกนขึ้นว่า “พวกเขาจะเต้นรำฉลองบนหลุมศพของแก จูลี่! และบนหลุมศพทุกหลุมของไอ้พวกหมูทุกตัว!”


7. บทสรุปของความอยุติธรรมที่ทำให้คดีพลิก

จำเลยทั้ง 7 จัดแถลงข่าวหลังจากศาลอุทธรณ์ยอมให้ประกันตัว

หลังจากพิจารณาคดีอย่างยืดเยื้อเกือบ 5 เดือน ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 1970 คณะลูกขุนก็ตัดสินให้จำเลยทั้ง 7 หลุดพ้นจากข้อหาสมคบคิด แต่ 5 คนในนั้นอันได้แก่ เดวิส, เดลลิงเจอร์, เฮย์เดิน, ฮอฟฟ์แมน, รูบิน ยังถูกตัดสินว่ามีความผิดข้อหาเดินทางข้ามรัฐเพื่อก่อการจลาจล ต้องโทษจำคุก 5 ปีและปรับคนละ 5,000 เหรียญ ขณะที่ฟรอยน์สกับไวเนอร์พ้นผิดทุกข้อหา (ซึ่งฟรอยน์สให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่า “ผมโกรธมาก ผมอยากเข้าไปอยู่กับเพื่อนๆ แต่ผมกลับเป็นแค่หนึ่งในสองคนที่ได้รับอิสรภาพ ผมร้องไห้ทันทีที่ได้ยินคำตัดสินนี้”) ไม่แค่นั้น จำเลยทั้ง 7 รวมถึงทนายของพวกเขายังถูกผู้พิพากษาฮอฟฟ์แมนสั่งให้รับโทษจำคุกในข้อหาหมิ่นศาล มีตั้งแต่ระยะเวลา 2 เดือนครึ่ง ไปจนถึง 4 ปีกับ 18 วัน อีกด้วย

หลังจากได้ยินคำตัดสิน เดลลิงเจอร์กล่าวต่อศาลว่า “โทษที่ผมได้รับนี้ยังน้อยนิดนัก เมื่อเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนเวียดนาม, คนดำ และอาชญากรทั้งหลายที่ต้องเข้ารับโทษในคุกที่นี่” ส่วนผู้พิพากษาฮอฟฟ์แมนยังแสดงอาการเหยียดแคลนส่งท้าย ด้วยการสั่งให้ช่างตัดผมของเรือนจำคุ้กเคาน์ตีลงมือหั่นผมยาวๆ ของจำเลยทุกคนออกไม่ให้เกะกะสายตาน่าหงุดหงิดอีกต่อไป (ในการแถลงข่าวหลังจากนั้น แอ็บบี้ ฮอฟฟ์แมน ในสภาพถูกตัดผมสั้นยังถูกเจ้าหน้าที่พาตัวมาโชว์ด้วย)

อย่างไรก็ตาม สองปีต่อมาวงล้อแห่งความยุติธรรมก็หมุนเปลี่ยนทิศ ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 1972 ศาลอุทธรณ์ภาคเจ็ดแห่งสหรัฐอเมริกาได้กลับคำตัดสินของศาลชั้นต้นทั้งหมด ด้วยเหตุผลว่า “ผู้พิพากษา จูเลียส ฮอฟฟ์แมน มีพฤติกรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อจำเลย ใช้อคติส่วนตัวในการปฏิเสธไม่ให้มีการเลือกคณะลูกขุนที่ปราศจากอคติทางวัฒนธรรมและสีผิว” พร้อมๆ กับที่ข้อหาของบ็อบบี้ ซีลก็ถูกยกเลิกเช่นกัน และยังมีการสอบสวนในเวลาต่อมาซึ่งสรุปผลด้วยว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในการประท้วงปี 1968 นั้น แท้จริงแล้วตำรวจเป็นฝ่ายเริ่มก่อน


วันนี้ของจำเลยทั้ง 8

หลังมรสุมผ่านพ้น พวกเขาทั้งแปดคนยังคงทำงานแอ็กติวิสต์ต่อไป แต่มีเพียง 4 คนเท่านั้นที่มีอายุยืนยาวมาจนถึงปี 2019 เมื่อคดีนี้อายุครบ 50 ปี

เรนนี เดวิส : เป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิ Foundation for a New Humanity ในโคโลราโด ทำงานด้านแนวคิดในการสร้างวิถีชีวิตแบบใหม่ ปัจจุบันอายุ 80 ปี

เดวิด เดลลิงเจอร์ : หนึ่งในนักจัดการประท้วงสงครามมือฉมังแห่งยุค 1960 เป็นผู้เขียนหนังสือ Yale to Jail: The Life Story of a Moral Dissenter เขาเสียชีวิตในปี 2004 ขณะอายุ 88

จอห์น ฟรอยส์ : ปัจจุบันอายุ 81 ปี เป็นศาสตราจารย์กิตติคุณที่ UCLA Fielding School of Public Health เชี่ยวชาญวิชาเคมี และเป็นผู้อำนวยการหน่วยงานบริหารจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

ทอม เฮย์เดน : ผู้นำด้านการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองและการต่อต้านสงคราม เขาเข้าสู่การเมืองกระแสหลักและดำรงตำแหน่งในสภาแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียนาน 1 ทศวรรษ ตามด้วยตำแหน่งวุฒิสมาชิกแคลิฟอร์เนีย 8 ปี นอกจากนั้นยังเป็นอาจารย์สอนที่อ็อกซิเดนทัลคอลเลจและฮาร์วาร์ด, เป็นผู้เขียนหนังสือ 17 เล่ม, เป็นผู้อำนวยการศูนย์ Peace and Justice Resource Center ในลอสแองเจลิส เฮย์เดนแต่งงาน 3 ครั้ง แต่คนรักที่โด่งดังที่สุดก็คือ เจน ฟอนดา นักแสดงและแอ็กติวิสต์ที่เขาใช้ชีวิตคู่ด้วยนานถึง 17 ปี เฮย์เดนเสียชีวิตเมื่อปี 2016 ใน วัย 76

แอ็บบี้ ฮอฟฟ์แมน : หลังจากเก็บตัวเงียบหลายปี เขาปรากฏตัวอีกครั้งในปี 1980 ด้วยการไปเล็กเชอร์ตามมหาวิทยาลัย, เป็นนักแสดงตลก และเป็นผู้จัดกิจกรรมชุมชน ฮอฟฟ์แมนเสียชีวิตในปี 1989 ขณะอายุ 52 จากการใช้ยาบาร์บิทูเรต (อันเนื่องจากโรคไบโพลาร์) เกินขนาด

เจอร์รี รูบิน : ถูกกล่าวถึงในฐานะ “ฮิปปี้คนเดียวจากกลุ่มชิคาโก 8 ที่เปลี่ยนเป็นยัปปี้เต็มตัว” เพราะหันไปทำงานในวอลล์สตรีต รูบินเสียชีวิตในปี 1994 ขณะอายุ 56 จากอุบัติเหตุถูกรถชนใกล้บ้านที่แคลิฟอร์เนีย

บ็อบบี้ ซีล : เมื่อปี 1973 เขาลงเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีโอกแลนด์และได้คะแนนอันดับ 2 (จากผู้สมัคร 9 คน) ต่อมาเขาเบื่อการเมืองและหันไปเขียนหนังสือแทน มีผลงานอย่าง A Lonely Rage (1978) และหนังสือทำอาหาร Barbeque’n with Bobby (1987) ปัจจุบันเขาอายุ 83 อาศัยอยู่ที่เท็กซัส

ลี วายเนอร์ : หลังพ้นคดี เขาไปร่วมงานกับ Anti-Defamation League of B’nai B’rith (สมาคมต่อต้านการดูหมิ่น) ในนิวยอร์ก, รณรงค์ระดมทุนแก่งานวิจัยโรคเอดส์, เป็นรองประธาน AmeriCares Foundation และเพิ่งเขียนหนังสือ Conspiracy to Riot: The Life and Times of One of the Chicago 7 ปัจจุบันเขาอายุ 81 อาศัยอยู่ที่คอนเน็กติกัต


ชม The Trial of the Chicago 7 ได้ที่ Netflix

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์
อดีตบก. BIOSCOPE และผู้ก่อตั้ง Documentary Club

RELATED ARTICLES