“คุณแอ็บบี้ ฮอฟฟ์แมน คุณดูหมิ่นรัฐบาลของคุณจริงหรือไม่”
“มันเทียบไม่ได้หรอกครับกับการดูหมิ่นที่รัฐบาลของผมมีให้กับผม!”
ในผลงานเขียนบทควบกำกับเรื่องล่าสุดนี้ของ แอรอน ซอร์คิน (แห่งซีรีส์ The West Wing และหนัง The Social Network) อัดแน่นไปด้วยบทพูดเดือดๆ ตามสไตล์ถนัดของเขา มันเดือดเสียจนหลายคนอาจนึกสงสัยว่าเขาเติมสีใส่ไข่จากเรื่องจริงเข้าไปเองมากเกินไปหรือเปล่า …แต่เปล่าเลย! เพราะเรื่องจริงของ “คดีชิคาโก 7” ก็เดือดดาลไม่น้อยไปกว่า หรืออาจจะมากกว่าภาพจำลองของซอร์คินด้วยซ้ำ!
The Trial of the Chicago 7 สร้างจากเรื่องจริงของแกนนำผู้จัดการเดินขบวนประท้วงสงครามเวียดนาม ที่นำพามวลชนร่วมหมื่นคนไปปักหลักในชิคาโก ระหว่างงานประชุมใหญ่ของพรรคเดโมแครตที่ International Amphitheatre เมื่อปลายเดือนสิงหาคมปี 1968 (เรียกย่อๆ ว่า Chicago DNC เป็นการประชุมเพื่อคัดเลือกตัวแทนพรรคลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายน)
แต่การชุมนุมที่เริ่มต้นขึ้นอย่างสงบเริ่มถูกขัดขวาง เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมพยายามยื่นขออนุญาตจากเมืองชิคาโกให้เคลื่อนตัวเข้าใกล้สถานที่ประชุม ทว่า ริชาร์ด เดลีย์ นายกเทศมนตรีชิคาโกปฏิเสธทุกคำขอ ซ้ำยังประกาศเคอร์ฟิวในบริเวณใกล้เคียง ตามด้วยการสั่งการให้ตำรวจ 12,000 นาย, กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิแห่งอิลลินอยส์ 5,600 นาย และทหารอีก 5,000 นาย เข้าสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตาและกระบองในวันที่ 28 สิงหาคม 1968 (โดยผู้ชุมนุมตอบโต้ด้วยก้อนหินและขวด) ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บหลายร้อยและถูกจับกุมถึง 668 คน นำมาสู่คดีบนชั้นศาลเมื่อกระทรวงยุติธรรมของรัฐบาลประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ตั้งข้อหาจำเลยจำนวน 8 คนว่า สมคบคิดกันก่ออาชญากรรม ด้วยการเดินทางข้ามเส้นแบ่งเขตรัฐเพื่อจงใจปลุกระดมให้เกิดการจลาจล
การพิจารณาคดีเริ่มต้นในวันที่ 24 กันยายน 1969 หรือกว่าหนึ่งปีถัดมา และกินเวลายาวนานกว่า 5 เดือนโดยเต็มไปด้วยเรื่องบ้าคลั่ง ภายในศาลนั้นผู้พิพากษาใช้อคติแทรกแซงครอบงำคดีอย่างที่ไม่เคยปรากฏ ขณะที่ภายนอกศาลก็เนืองแน่นไปด้วยผู้คนซึ่งร่วมเปล่งเสียงตะโกนประโยคที่ว่า “ทั้งโลกกำลังเฝ้าดู!” (“The whole world is watching!”) อันมีนัยถึงการจับตามองความพยายามของรัฐบาลที่กำลังต้องการเล่นงานฝ่ายซ้ายและกำจัดขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามเวียดนาม
เหตุการณ์ทั้งหมดนี้สะท้อนความแตกแยกลึกซึ้งในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งกำลังตกอยู่ในภาวะสับสน จากทั้งเหตุการณ์ลอบสังหาร มาร์ติน ลูเธอร์ คิง และวุฒิสมาชิก โรเบิร์ต เคนเนดี, สงครามเวียดนามที่กำลังส่อเค้าเลวร้าย, ความว้าวุ่นทางการเมืองหลังจากปธน. ลินดอน จอห์นสัน ประกาศจะไม่ลงสมัครสมัยที่สอง (ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน) และความชัดแย้งภายในของพรรคเดโมแครตเองเมื่อสมาชิกจำนวนหนึ่งสนับสนุนให้รองปธน. ฮูเบิร์ต ฮัมฟรีย์ เป็นตัวแทนพรรคลงสมัครปธน. แต่นักศึกษากับปัญญาชนฝ่ายซ้ายซึ่งต่อต้านสงครามต้องการหนุนวุฒิสมาชิกหัวก้าวหน้าอย่าง ยูจีน แม็กคาร์ธี มากกว่า และตัดสินใจใช้การเดินขบวนประท้วงเป็นส่วนหนึ่งในการบรรลุจุดประสงค์ดังกล่าว
การพิจารณาคดีเริ่มต้นในวันที่ 24 กันยายน 1969 หรือกว่าหนึ่งปีถัดมา และกินเวลายาวนานกว่า 5 เดือนโดยเต็มไปด้วยเรื่องบ้าคลั่ง ภายในศาลนั้นผู้พิพากษาใช้อคติแทรกแซงครอบงำคดีอย่างที่ไม่เคยปรากฏ ขณะที่ภายนอกศาลก็เนืองแน่นไปด้วยผู้คนซึ่งร่วมเปล่งเสียงตะโกนประโยคที่ว่า “ทั้งโลกกำลังเฝ้าดู!”
นอกจากบริบททางสังคมที่เข้มข้นแล้ว คดีนี้ยังมีองค์ประกอบดุเดือดอีกหลายประการที่ทำให้มันกลายเป็นบทบันทึกทางประวัติศาสตร์หน้าสำคัญ ได้แก่
1. พวกเขาเป็นเหยื่อกลุ่มแรกของ “กฎหมายต่อต้านการจลาจลฉบับแรกของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ”
ก่อนหน้านั้น กฎหมายต่อต้านการจลาจลเป็นกฎหมายที่ใช้กันแค่ในระดับท้องถิ่นหรือรัฐ แต่ในปี 1968 มีการผ่านกฎหมาย “1968 Civil Rights Act” ซึ่งสั่งห้ามมิให้มี “การเดินทางข้ามรัฐเพื่อก่อการจลาจล” และเมื่อเกิดความวุ่นวายขึ้นในการประชุม Chicago DNC นายกเทศมนตรีชิคาโกก็เรียกร้องให้รัฐบาลใช้กฎหมายนี้เข้ามาจัดการผู้ประท้วงทันที แต่ในตอนแรก แรมเซย์ คลาร์ค (ในหนังรับบทโดย ไมเคิล คีตัน) รมต.ยุติธรรมของรัฐบาลปธน. ลินดอน จอห์นสัน (ซึ่งมาจากพรรคเดโมแครต) ยังไม่เห็นด้วยเพราะ “เราไม่พบหลักฐานที่จะเอาผิดผู้ประท้วงได้ แต่เราพบหลักฐานที่ชี้ว่าตำรวจละเมิดสิทธิพลเมืองของผู้ประท้วงเสียด้วยซ้ำ”
อย่างไรก็ตาม หลังจากเหตุการณ์ล่วงเลยมากว่าหนึ่งปี การเมืองก็เกิดการเปลี่ยนขั้ว เมื่อ ริชาร์ด นิกสัน จากพรรครีพับลิกันขึ้นเป็นปธน. ต่อจากจอห์นสัน แล้วแต่งตั้ง จอห์น มิตเชลล์ เป็นรมต.ยุติธรรมคนใหม่ (ต่อมาเขาคือหนึ่งในผู้ที่ถูกตัดสินรับโทษจากคดีวอเตอร์เกต) และด้วยคำสั่งของทั้งคู่นี่เองที่กฎหมายดังกล่าวถูกนำมาใช้งานจนได้ โดยมีผู้ประท้วงต่อต้านสงครามที่ชิคาโก 8 คนตกเป็นเหยื่อกลุ่มแรก
2. จำเลยผู้มากสีสัน และศาลที่กลายเป็นโรงละครแห่งความโกลาหล
แม้จำเลยทั้ง 8 คนจะยืนหยัดบนจุดยืนเดียวกันคือการต่อต้านสงครามเวียดนาม แต่ตัวตนของพวกเขาไม่ได้กลืนเป็นเนื้อเดียวกัน แต่ละคนแตกต่างกันทั้งสไตล์, กลยุทธ์ และวาระการต่อสู้
แอ็บบี้ ฮอฟฟ์แมน (ในหนังรับบทโดย ซาชา บารอน โคเฮน) กับ เจอร์รี รูบิน (เจเรมี สตรอง) สองแอ็กติวิสต์กลุ่ม Youth International Party (ซึ่งเรียกสมาชิกกลุ่มว่า ยิปปี้) ที่นำพาท่วงท่ายียวนกวนโมโหมาใช้เป็นอาวุธต่อต้านอำนาจรัฐ มีคำกล่าวว่าตลอดระยะเวลาเกือบ 5 เดือนของการขึ้นศาลนั้น พวกเขาได้เปลี่ยนศาลให้กลายเป็น “โรงละครการเมือง” โดยรูบินให้สัมภาษณ์ว่า “กลยุทธ์ของเราคือทำให้ผู้พิพากษาหัวใจวาย แต่สุดท้ายเราทำให้ทั้งระบบศาลหัวใจวายไปเลย ซึ่งยิ่งดีเข้าไปใหญ่”
ทอม เฮย์เดน (เอ็ดดี เรดเมย์น) กับ เรนนี เดวิส (อเล็กซ์ ชาร์ป) สองผู้ก่อตั้งกลุ่มนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย (Students for a Democratic Society – SDS) และเป็นผู้รวบรวมองค์กรจากสถาบันการศึกษากว่า 150 องค์กรเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบและยุติสงคราม เฮย์เดนเป็นคนที่เชื่อมั่นในการต่อสู้ด้วยระบบและอย่างสันติ เขาจึงมักขัดแย้งทางความคิดกับฮอฟฟ์แมน
เดวิด เดลลิงเจอร์ (จอห์น คาร์รอลล์ ลินช์) ผู้จัดการกลุ่ม Mobilization Committee to End the War in Vietnam (MOBE) ซึ่งก่อตั้งขึ้นก่อนการประท้วงใหญ่หนึ่งปี
จอห์น ฟรอยน์ส กับ ลี วายเนอร์ (แดนนี ฟลาเฮอร์ตี และ โนห์ รอบบินส์) ทั้งคู่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องเพียงเล็กน้อยกับการวางแผนการประท้วง แต่เชื่อว่าถูกรวบตัวเพราะรัฐต้องการส่งสัญญาณเตือนไปยังเหล่านักวิชาการที่ทำกิจกรรมต่อต้านสงครามคนอื่นๆ
บ็อบบี้ ซีล (ยาห์ยา อับดุล-มาทีน ที่สอง) ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มแบล็คแพนเธอร์ (Black Panther) ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นกลุ่มที่นิยมวิธีการแบบทหารมากกว่า
วิลเลียม คันสต์เลอร์ (มาร์ค ไรแลนซ์) และ เลียวเนิร์ด ไวน์กลาสส์ (เบน เชงก์แมน) สองทนายความเพื่อสิทธิพลเมืองที่มาว่าความให้จำเลย คันต์สเลอร์คือผู้ร่วมวางกลยุทธ์ให้ฮอฟฟ์แมนกับรูบินป่วนการพิจารณาคดี ต่อมาเขาถูกตัดสินจำคุก 4 ปีข้อหาหมิ่นศาล ซึ่งหนึ่งในนั้นเกิดจากตอนที่เขาเรียกศาลนี้ว่า “ห้องทรมานนักโทษยุคกลาง”
3. คนดังหลากวงการประกาศร่วมต่อสู้อย่างเปิดเผย
3 เดือนก่อนคดีเริ่มต้น กลุ่มนักคิดนักเขียน 19 คนได้ส่งจดหมายถึงกองบก. ของ The New York Review of Books เพื่อทักท้วงว่า กฎหมายต่อต้านการจลาจลที่รัฐใช้นี้อาจก่อผลเสียหายร้ายแรง โดยเฉพาะต่อบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ของรัฐธรรมนูญ (First Amendment) ที่รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน เพราะมันจะเป็นการบิดเบือนด้วยการอ้างว่า “กลุ่มประท้วงทางการเมือง คือกลุ่มก่อความรุนแรง” อันเป็นจุดเริ่มต้นของ “การเปลี่ยนอเมริกาให้กลายเป็นรัฐตำรวจ”
จดหมายฉบับนี้ลงนามโดยนักคิดสำคัญๆ อย่าง โนม ชอมสกี, ซูซาน ซอนแทก, เบนจามิน สปอค รวมถึงนักร้อง จูดี้ คอลลินส์ กับนักเขียน นอร์แมน เมลเลอร์ (คอลลินส์กับเมเลอร์ไปให้การเป็นพยานในศาลด้วย โดยคอลลินส์ร้องเพลงแต่ถูกสั่งให้หยุด ส่วนเมเลอร์ใช้บทกวีบรรยายความโหดร้ายของตำรวจ) และเนื่องจากจำเลยทั้งแปดเรียกขานตัวเองอย่างประชดประชันว่า “The Conspiracy” (กลุ่มสมคบคิด) นักคิดทั้ง 19 คนจึงตั้งชื่อกลุ่มตนบ้างว่า “Committee to Defend the Conspiracy” (คณะกรรมการปกป้องการสมคบคิด) โดยมีการเปิดระดมทุนจากประชาชนเพื่อใช้ในการสู้คดีด้วย
นอกจากนั้น ในระหว่างการพิจารณาคดียังมีการเรียกตัวพยานกว่า 100 คนมาช่วยให้การว่า การประท้วงต่อต้านสงครามครั้งนี้เป็นไปโดยสงบและตำรวจต่างหากที่เป็นฝ่ายใช้ความรุนแรง ในจำนวนนี้มีไอค่อนคนดังยุค 1960 อย่าง ดิก เกรกอรี นักแสดงตลก, วิลเลียม สไตรอน นักเขียน, อาร์โล กูธรี นักร้อง และ โจ แม็กดอนัลด์ นักร้องคันทรี่ที่เพิ่งดังจากเพลง I-Feel-Like-I’m-Fixin’-to-Die Rag ที่เขาร้องในวู้ดสต็อกก่อนคดีเริ่มต้นเพียงหนึ่งเดือน เขาพยายามจะร้องเพลงต่อต้านสงครามในศาลด้วย แต่ผู้พิพากษาไม่อนุญาต เขาจึงใช้วิธีท่องเนื้อเพลงให้ทุกคนฟังแทน
แต่คนที่มาเป็นพยานได้แซ่บที่สุดสำหรับงานนี้ หนีไม่พ้น อัลเลน กินส์เบิร์ก กวีกลุ่มบีท ซึ่งตอบคำถามด้วยการสวดฮเรกฤษณะใส่ผู้พิพากษา เรียกเสียงฮาครืนจากคนดูทั้งห้อง และแม้ผู้พิพากษา จูเลียส ฮอฟฟ์แมน (ไม่ได้เป็นญาติกับจำเลย แอ็บบี้ ฮอฟฟ์แมน) จะโต้ตอบว่า “ภาษาของศาลอเมริกันคือภาษาอังกฤษ” แต่เขาก็ยังท่องบทสวดเดิมซ้ำอีกสามวันรวด แถมด้วยการสวดคำว่า “โอมมมมมม…” เพื่อสงบสติอารมณ์ของฮอฟฟ์แมนกับทนายคันสต์เลอร์ อย่างไรก็ตาม ขณะที่คนดูสนุกสนานกับความกวนเหล่านี้ ตัวกินส์เบิร์กเองก็ถูกบั่นทอนด้วยคำถามของอัยการที่พยายามขุดเรื่องเพศสภาพของเขามาเล่นงานด้วยหวังให้อับอาย และยังมีการพูดเป็นนัยว่าเขามีเซ็กซ์กับสองจำเลยคือ แอ็บบี้ ฮอฟฟ์แมน และ เจอร์รี รูบิน (ซึ่งไม่มีหลักฐานพิสูจน์) ด้วย
4. ผู้พิพากษาสั่งล่ามจำเลย
หนึ่งในเหตุการณ์ชวนช็อคที่สุดของการพิจารณาคดีนี้และของประวัติศาสตร์ศาลอเมริกัน เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 1969 หลังจาก บ็อบบี้ ซีล แห่งกลุ่มแบล็คแพนเธอร์ (ซึ่งถูกจับกุมมาเป็นหนึ่งใน 8 จำเลยด้วย ทั้งที่เขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเดินขบวนเลย เขาแค่มาเสริมในฐานะผู้ปราศรัยบนเวทีเท่านั้น) ขอเลื่อนการพิจารณาคดีเนื่องจากทนายของเขาเข้ารับการผ่าตัด แต่แล้วคนทั้งศาลก็ต้องอ้าปากค้างเมื่อ จูเลียส ฮอฟฟ์แมน ผู้พิพากษาวัย 74 ปีที่ขึ้นชื่อด้านความหัวร้อน (ในหนังรับบทโดย แฟรงค์ แลนเจลลา) ปฏิเสธคำขอนี้และแต่งตั้งทนายใหม่ให้ ซีลไม่ยอมและยืนยันสิทธิที่จะเป็นทนายให้ตัวเอง แต่ฮอฟฟ์แมนก็ปฏิเสธอีกซึ่งทำให้ซีลโกรธสุดขีดจึงด่าเขาว่า “ไอ้หมูเหยียดผิว” ส่งผลให้ผู้พิพากษาแค้นจัด สั่งให้เจ้าหน้าที่จับตัวซีลมัดปาก ใส่กุญแจมือแล้วล่ามตัวติดกับเก้าอี้ทันที โดยทำแบบนี้ตลอดการพิจารณาคดีถึง 3 วัน
ในยุคนั้นยังไม่อนุญาตให้ใช้กล้องถ่ายรูปในศาล แต่ภาพสเก็ตช์ชายผิวดำถูกล่ามก็ถูกส่งต่อไปยังสื่อวงกว้าง สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงตุลากรอย่างหนัก และทำให้คดีได้รับความสนใจจากสังคมท่วมท้น (รวมทั้งเป็นที่มาของเพลง “Chicago” ของ เกรแฮม Nash ในอีก 1 ปีครึ่งต่อมา)
ไม่จบแค่นี้ สัปดาห์ถัดมาฮอฟฟ์แมนยังพิพากษาให้ซีลติดคุก 4 ปีข้อหาหมิ่นศาล และประกาศแยกซีลออกไปเป็นคดีสมคบคิดต่างหาก (จึงทำให้ “คดีชิคาโก 8” เหลือเพียง “ชิคาโก 7”) อย่างไรก็ตาม หลังจากคณะลูกขุนไม่สามารถเอาผิดกับกลุ่มชิคาโก 7 ในข้อหาสมคบคิดได้ อัยการรัฐชิคาโกจึงมีความเห็นไปยังฮอฟฟ์แมนให้ถอนคดีของซีลออกในที่สุด
5. ไม่ใช่แค่ขัดแย้งทางคดี แต่มันคือ “การปะทะทางวัฒนธรรรม”
ฮอฟฟ์แมนกับรูบินเป็นสองจำเลยที่สร้างสีสันและความแสบสันแก่การพิจารณาคดีมากที่สุด เพราะใช้กลเม็ดมากมายมาดึงความสนใจจากสื่อมวลชนและสังคม ไม่ว่าจะเป็นการมาปรากฏตัวในศาลด้วยการสวมชุดคลุมของผู้พิพากษา เพื่อประท้วงที่ผู้พิพากษาฮอฟฟ์แมนไม่ยอมให้จำเลยเดลลิงเจอร์ได้ประกันตัว และเมื่อผู้พิพากษาสั่งให้ทั้งคู่ถอดชุดคลุมออก พวกเขาก็ปล่อยมันทิ้งลงพื้น เอาเท้าขยี้ แล้วเผยให้เห็นว่าใต้ชุดคลุมนั่นพวกเขาสวมเครื่องแบบตำรวจชิคาโกอยู่ด้วย!
นอกจากนั้น ฮอฟฟ์แมนยังเคยหอบเอาธงของแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติเวียดนามใต้ (เวียดกง) มากางกลางศาล, กวนโมโหด้วยการเรียกผู้พิพากษา จูเลียส ฮอฟฟ์แมนว่า “จูลี่”, ส่งจูบให้, สบถคำหยาบใส่ในภาษายิดดิช (ทั้งเขาและผู้พิพากษาเป็นคนยิว) โดยให้เหตุผลว่า วิธีการเหล่านี้ไม่แค่ช่วยให้สื่อสนใจพวกเขามากขึ้น แต่มันยังเป็นการตอบโต้ด้วยการหมิ่นศาลกลับ หลังจากที่ศาลดูหมิ่นย่ำยีพวกเขาก่อน
แล้วพฤติกรรมอะไรบ้างของผู้พิพากษาฮอฟฟ์แมนที่ถูกมองว่าไม่เป็นธรรมต่อจำเลย? ตัวอย่างก็เช่น
– ตั้งแต่วันแรกของการพิจารณาคดี เขาก็อนุมัติหมายจับทนาย 4 คนของฝ่ายจำเลย ทั้งๆ ที่คนเหล่านั้นทำงานตั้งแต่ก่อนคดีจะเริ่ม และเมื่อคดีในชั้นศาลเริ่มก็ไม่ได้เกี่ยวข้องแล้ว แต่คำสั่งนี้ถูกคนในวงการตุลาการวิจารณ์อย่างหนัก เขาจึงยอมถอนหมายไป
– ระหว่างการพิจารณาคดี เขาไม่ยอมให้คณะลูกขุนได้เห็นหลักฐานสำคัญหลายๆ ชิ้น (ที่เป็นประโยชน์ต่อจำเลย) หนึ่งในนั้นคือเอกสารแผนการประท้วงที่ ทอม เฮย์เดน เขียนไว้ชัดเจนว่า “การประท้วงของเราจะต้องไม่ใช้ความรุนแรง”
– เขาแสดงท่าทีดูหมิ่นฝ่ายจำเลยครั้งแล้วครั้งเล่า เช่น ว่ากล่าวทนาย วิลเลียม คันสต์เลอร์ ที่เอียงตัวพิงโต๊ะ, เรียกชื่อทนาย เลียวเนิร์ด ไวน์กลาสส์ ผิดๆ ถูกๆ เป็นไฟน์กลาสส์บ้าง ไวน์รัสส์บ้าง และหนักสุดคือพูดว่า “คุณจะชื่ออะไรก็ช่าง”, สั่งลงโทษจำคุก แอ็บบี้ ฮอฟฟ์แมน เพิ่มอีก 7 วันด้วยข้อหา “หัวเราะในศาล” ฯลฯ โดยรวมความแล้วเขาสั่งลงโทษจำเลยด้วยข้อหาหมิ่นศาลทั้งหมดถึง 175 ครั้ง
6. สารพัดการประท้วงศาลของเหล่าสามัญชน
ในฉากไคลแม็กซ์ของหนัง The Trial of the Chicago 7 ผู้พิพากษาฮอฟฟ์แมนเสนอลดโทษให้ ทอม เฮย์เดน หากเขาแสดงความสำนึกผิด แต่นอกจากเฮย์เดนจะปฏิเสธแล้ว เขายังประท้วงด้วยการขานชื่อทหารนับพันคนที่เสียชีวิตในสงครามเวียดนาม ซึ่งเป็นฉากส่งท้ายหนังที่ทรงพลังอย่างยิ่ง
ในเรื่องจริง เหตุการณ์นี้ก็เกิดขึ้นเช่นกัน แต่เกิดในวันแรกๆ ของคดีคือในวันที่ 15 ตุลาคม 1969 เมื่อคนอเมริกันทั่วประเทศร่วมรำลึก Vietnam Moratorium Day (วันยุติสงครามเวียดนาม) โดยในวันนั้น จำเลยพยายามนำธงชาติอเมริกันและธงเวียดนามใต้ออกมาคลี่ในศาล แต่ถูกผู้พิพากษาสั่งห้าม จากนั้นจำเลยได้พยายามอ่านออกเสียงชื่อทหารที่เสียชีวิต แต่ก็ถูกสั่งห้ามเช่นกัน
จากที่ว่ามาทั้งหมด เราจะเห็นได้ว่าการพิจารณาคดีนี้เต็มไปด้วยการประท้วงของเหล่าจำเลยผ่านวิธีต่างๆ แต่ที่เด็ดกว่านั้นคือ แม้แต่ประชาชนที่เข้ามาชมการพิจารณาคดีก็ยังแสดงท่าทีต่อต้านศาลอย่างพร้อมเพรียง ไม่ว่าจะด้วยการส่งเสียงหัวเราะ โห่ฮือไม่เห็นด้วย (เช่น ตอนที่ผู้พิพากษาไม่ยอมให้นำเค้กเข้ามาฉลองวันเกิดบ็อบบี้ ซีล) หรือตอนที่ผู้พิพากษาไล่คนดูทั้งหมดออกไปก่อนจะอ่านคำตัดสิน ก็มีคนตะโกนขึ้นว่า “พวกเขาจะเต้นรำฉลองบนหลุมศพของแก จูลี่! และบนหลุมศพทุกหลุมของไอ้พวกหมูทุกตัว!”
7. บทสรุปของความอยุติธรรมที่ทำให้คดีพลิก
หลังจากพิจารณาคดีอย่างยืดเยื้อเกือบ 5 เดือน ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 1970 คณะลูกขุนก็ตัดสินให้จำเลยทั้ง 7 หลุดพ้นจากข้อหาสมคบคิด แต่ 5 คนในนั้นอันได้แก่ เดวิส, เดลลิงเจอร์, เฮย์เดิน, ฮอฟฟ์แมน, รูบิน ยังถูกตัดสินว่ามีความผิดข้อหาเดินทางข้ามรัฐเพื่อก่อการจลาจล ต้องโทษจำคุก 5 ปีและปรับคนละ 5,000 เหรียญ ขณะที่ฟรอยน์สกับไวเนอร์พ้นผิดทุกข้อหา (ซึ่งฟรอยน์สให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่า “ผมโกรธมาก ผมอยากเข้าไปอยู่กับเพื่อนๆ แต่ผมกลับเป็นแค่หนึ่งในสองคนที่ได้รับอิสรภาพ ผมร้องไห้ทันทีที่ได้ยินคำตัดสินนี้”) ไม่แค่นั้น จำเลยทั้ง 7 รวมถึงทนายของพวกเขายังถูกผู้พิพากษาฮอฟฟ์แมนสั่งให้รับโทษจำคุกในข้อหาหมิ่นศาล มีตั้งแต่ระยะเวลา 2 เดือนครึ่ง ไปจนถึง 4 ปีกับ 18 วัน อีกด้วย
หลังจากได้ยินคำตัดสิน เดลลิงเจอร์กล่าวต่อศาลว่า “โทษที่ผมได้รับนี้ยังน้อยนิดนัก เมื่อเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนเวียดนาม, คนดำ และอาชญากรทั้งหลายที่ต้องเข้ารับโทษในคุกที่นี่” ส่วนผู้พิพากษาฮอฟฟ์แมนยังแสดงอาการเหยียดแคลนส่งท้าย ด้วยการสั่งให้ช่างตัดผมของเรือนจำคุ้กเคาน์ตีลงมือหั่นผมยาวๆ ของจำเลยทุกคนออกไม่ให้เกะกะสายตาน่าหงุดหงิดอีกต่อไป (ในการแถลงข่าวหลังจากนั้น แอ็บบี้ ฮอฟฟ์แมน ในสภาพถูกตัดผมสั้นยังถูกเจ้าหน้าที่พาตัวมาโชว์ด้วย)
อย่างไรก็ตาม สองปีต่อมาวงล้อแห่งความยุติธรรมก็หมุนเปลี่ยนทิศ ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 1972 ศาลอุทธรณ์ภาคเจ็ดแห่งสหรัฐอเมริกาได้กลับคำตัดสินของศาลชั้นต้นทั้งหมด ด้วยเหตุผลว่า “ผู้พิพากษา จูเลียส ฮอฟฟ์แมน มีพฤติกรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อจำเลย ใช้อคติส่วนตัวในการปฏิเสธไม่ให้มีการเลือกคณะลูกขุนที่ปราศจากอคติทางวัฒนธรรมและสีผิว” พร้อมๆ กับที่ข้อหาของบ็อบบี้ ซีลก็ถูกยกเลิกเช่นกัน และยังมีการสอบสวนในเวลาต่อมาซึ่งสรุปผลด้วยว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในการประท้วงปี 1968 นั้น แท้จริงแล้วตำรวจเป็นฝ่ายเริ่มก่อน
วันนี้ของจำเลยทั้ง 8
หลังมรสุมผ่านพ้น พวกเขาทั้งแปดคนยังคงทำงานแอ็กติวิสต์ต่อไป แต่มีเพียง 4 คนเท่านั้นที่มีอายุยืนยาวมาจนถึงปี 2019 เมื่อคดีนี้อายุครบ 50 ปี
เรนนี เดวิส : เป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิ Foundation for a New Humanity ในโคโลราโด ทำงานด้านแนวคิดในการสร้างวิถีชีวิตแบบใหม่ ปัจจุบันอายุ 80 ปี
เดวิด เดลลิงเจอร์ : หนึ่งในนักจัดการประท้วงสงครามมือฉมังแห่งยุค 1960 เป็นผู้เขียนหนังสือ Yale to Jail: The Life Story of a Moral Dissenter เขาเสียชีวิตในปี 2004 ขณะอายุ 88
จอห์น ฟรอยส์ : ปัจจุบันอายุ 81 ปี เป็นศาสตราจารย์กิตติคุณที่ UCLA Fielding School of Public Health เชี่ยวชาญวิชาเคมี และเป็นผู้อำนวยการหน่วยงานบริหารจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
ทอม เฮย์เดน : ผู้นำด้านการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองและการต่อต้านสงคราม เขาเข้าสู่การเมืองกระแสหลักและดำรงตำแหน่งในสภาแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียนาน 1 ทศวรรษ ตามด้วยตำแหน่งวุฒิสมาชิกแคลิฟอร์เนีย 8 ปี นอกจากนั้นยังเป็นอาจารย์สอนที่อ็อกซิเดนทัลคอลเลจและฮาร์วาร์ด, เป็นผู้เขียนหนังสือ 17 เล่ม, เป็นผู้อำนวยการศูนย์ Peace and Justice Resource Center ในลอสแองเจลิส เฮย์เดนแต่งงาน 3 ครั้ง แต่คนรักที่โด่งดังที่สุดก็คือ เจน ฟอนดา นักแสดงและแอ็กติวิสต์ที่เขาใช้ชีวิตคู่ด้วยนานถึง 17 ปี เฮย์เดนเสียชีวิตเมื่อปี 2016 ใน วัย 76
แอ็บบี้ ฮอฟฟ์แมน : หลังจากเก็บตัวเงียบหลายปี เขาปรากฏตัวอีกครั้งในปี 1980 ด้วยการไปเล็กเชอร์ตามมหาวิทยาลัย, เป็นนักแสดงตลก และเป็นผู้จัดกิจกรรมชุมชน ฮอฟฟ์แมนเสียชีวิตในปี 1989 ขณะอายุ 52 จากการใช้ยาบาร์บิทูเรต (อันเนื่องจากโรคไบโพลาร์) เกินขนาด
เจอร์รี รูบิน : ถูกกล่าวถึงในฐานะ “ฮิปปี้คนเดียวจากกลุ่มชิคาโก 8 ที่เปลี่ยนเป็นยัปปี้เต็มตัว” เพราะหันไปทำงานในวอลล์สตรีต รูบินเสียชีวิตในปี 1994 ขณะอายุ 56 จากอุบัติเหตุถูกรถชนใกล้บ้านที่แคลิฟอร์เนีย
บ็อบบี้ ซีล : เมื่อปี 1973 เขาลงเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีโอกแลนด์และได้คะแนนอันดับ 2 (จากผู้สมัคร 9 คน) ต่อมาเขาเบื่อการเมืองและหันไปเขียนหนังสือแทน มีผลงานอย่าง A Lonely Rage (1978) และหนังสือทำอาหาร Barbeque’n with Bobby (1987) ปัจจุบันเขาอายุ 83 อาศัยอยู่ที่เท็กซัส
ลี วายเนอร์ : หลังพ้นคดี เขาไปร่วมงานกับ Anti-Defamation League of B’nai B’rith (สมาคมต่อต้านการดูหมิ่น) ในนิวยอร์ก, รณรงค์ระดมทุนแก่งานวิจัยโรคเอดส์, เป็นรองประธาน AmeriCares Foundation และเพิ่งเขียนหนังสือ Conspiracy to Riot: The Life and Times of One of the Chicago 7 ปัจจุบันเขาอายุ 81 อาศัยอยู่ที่คอนเน็กติกัต
ชม The Trial of the Chicago 7 ได้ที่ Netflix