Home Article Special Article Nobody speaks the lover. (Culture is the rule, and lover is the exception.) หลอกกันทำไม ไอ้คนไม่มีหัวใจ (เป็นคนรักใครก็หวงก็ห่วงจริงไหม)

Nobody speaks the lover. (Culture is the rule, and lover is the exception.) หลอกกันทำไม ไอ้คนไม่มีหัวใจ (เป็นคนรักใครก็หวงก็ห่วงจริงไหม)

Nobody speaks the lover. (Culture is the rule, and lover is the exception.) หลอกกันทำไม ไอ้คนไม่มีหัวใจ (เป็นคนรักใครก็หวงก็ห่วงจริงไหม)

หากพูดถึงการนอกใจ มักเป็นความสัมพันธ์ที่ทุกคนมักพบเจอ หรือมักจินตนาการถึงอยู่เสมอ นี่อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตคู่ว่าจะจบลงที่ตรงนี้ หรือจะเป็นการให้อภัยกันครั้งใหญ่ในที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต เรามักจะได้พบเห็นความสัมพันธ์ที่เป็นพิษเช่นนี้ตามสื่อในโทรทัศน์ตั้งแต่เรายังเป็นเด็กมาจนถึงปัจจุบัน และเราจดจำถึงจุดจบของคนนอกใจที่ไม่สวยทุกครั้งไป ประเด็นของการนอกใจยังคงเป็นที่ถกเถียงอยู่เสมอในปัจจุบัน ตั้งแต่ประเด็นเรื่องการทำผิดศีลธรรม ค่านิยม ”ชายเป็นใหญ่” (patriarchy) ที่ถูกปลูกฝังมาอย่างยาวนาน ไปจนถึงวัฒนธรรมที่ถูกกดทับจากการเป็น “ผัวเดียวเมียเดียว” (monogamy) แม้จะยังหาข้อสรุปไม่ได้ในปัจจุบันว่าการนอกใจนั้นเกิดมาจากสาเหตุใดกันแน่ มันอาจเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ จริยธรรม หรือการเมือง แม้ในปัจจุบันคนส่วนใหญ่มองว่าการนอกใจเป็นสิ่งที่ไม่สามารถรับได้และสมควรที่จะมีการวางโทษทัณฑ์ แต่เมื่อตัดภาพมาในชีวิตจริงก็ใช่ว่าคนที่นอกใจจะเจอผลของการกระทำที่เลวร้ายเสมอไป

ในส่วนของภาพยนตร์ เรามักจะได้เห็นการนอกใจของตัวละครอยู่บ่อยครั้งเช่นเดียวกับสื่ออื่นๆ มันอาจเป็นการสร้างบททดสอบความของความสัมพันธ์ของทั้งคู่ ในหนังโรแมนติกหรือดราม่าความสัมพันธ์ หรืออาจจะเป็นแบบทดสอบที่เอาไว้ท้าทายจารีต ประเพณีต่างๆ การนอกใจนั้นไม่ได้เป็นแค่เรื่องปกติในโลกภาพยนตร์ หากมันยังเกิดขึ้นจริงอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ถึงแม้เราจะยังเห็นการนอกใจยังคงฉายภาพอยู่ตามจอเงิน แต่ภาพยนตร์เป็นเพียงแค่ภาพวาดหนึ่งบนผืนผ้าใบที่ผู้สร้างต้องการจะสรรค์สร้างมันอย่างไรก็ได้ มันอาจจะเป็นสิ่งที่ดีงามตามครรลอง หรือชั่วร้ายหักล้างความถูกต้องทั้งหมดก็ได้

ภาพยนตร์จึงสร้างเพื่อมองความเป็นไปได้ และสาเหตุที่เกิดการนอกใจที่นอกเหนือเสียจากปัญหาแค่เรื่องความใคร่ ที่เป็นภาพฝังหัวในละครเวลาเรานึกถึงละครผัวเมีย แต่เราสามารถมองออกไปนอกเหนือจากนั้นได้ เป็นการแสดงความเป็นไปได้มากกว่าการเลิกกัน อาจเกิดความสัมพันธ์อันแปลกประหลาดที่สร้างความชวนเวียนเศียรเกล้า หรือการเล่นเกมสนุกสนานกับความสัมพันธ์ที่สร้างความยุ่งเหยิงมากขึ้น ซึ่งคนที่ดูเหล่านั้นจะเป็นผู้ตัดสินว่าความสัมพันธ์ที่ได้เห็นผ่านตากันไปนั้น เป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี ควรทำหรือไม่ควรทำ หรือมองมันเป็นเพียงแค่ภาพจำลองของเหตุการณ์หนึ่งเพียงเท่านั้น

Film Club ขอเสนอ 10 เรื่องที่ขยายปัญหาที่แตกต่างกันออกไปของการนอกใจว่ามันอาจไม่ใช่เพียงแค่เรื่องความต้องการทางเพศ แต่หากยังมีบางสิ่งซ่อนเร้นอยู่ภายใต้การกระทำของความหลงใหลและอำนาจ หนังบางเรื่องอาจเป็นภาพทับซ้อนของชีวิตจริงของคนสร้าง แต่การบอกว่าการทำหนังเหล่านั้นเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการนอกใจของตนเองก็อาจจะดูใจร้ายเกินไป มันอาจเป็นภาพสะท้อนของชีวิต การไถ่บาป หรือมันอาจเป็นทุกอย่างที่ว่ามาก็ได้


Asako I & II (2018, Ryūsuke Hamaguchi)

Asako (Erika Karata) หญิงสาวที่ได้ตกหลุมรักกับ Baku (Masahiro Higashide) ชายหนุ่มปริศนาไร้ที่มาตั้งแต่แรกเห็น พวกเขาใช้ชีวิตร่วมกัน อยู่ด้วยกันจนมากระทั่งวันหนึ่ง Baku หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยและไม่มีการบอกกล่าวใดๆ Asako จึงตกอยู่ภายใต้ความทุกข์ เวลาผ่านไปสองปี เธอใช้ชีวิตใหม่ ทำงานเปิดร้านกาแฟเล็กๆ อยู่ในโตเกียว อาซาโกะได้พบกับ Ryohei หนุ่มนักธุรกิจที่เพิ่งเรียนจบมหาลัยมาหมาดๆ แต่สิ่งที่ทำให้เธอประหลาดใจคือ เขาหน้าเหมือน Baku ทุกประการ Asako ตกหลุมรัก Ryohei อีกครั้ง ทั้งคู่เริ่มใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ภาพเก่าๆ เริ่มย้อนกลับมาอีกครั้ง ทำให้เกิดความสงสัยกับตัวเองว่า เธอชอบเขาที่เป็น Ryohei จริงๆ หรือเป็นแค่ภาพแทนของ Baku กันแน่

นอกจากจะเป็นผลงานที่น่าจับตามองของ ริวสุเกะ ฮามากุชิ ผู้กำกับญี่ปุ่นที่ทำหนังครองใจและชวนทึ่ง(ด้วยความยาว) ใน Happy Hour หลังจากที่เขาหายไปสามปีพร้อมกับผลงานชิ้นนี้ ข่าวคราวเบื้องหลังหนังเรื่องนี้ก็แซ่บไม่แพ้กัน เมื่อนักแสดงหลักทั้ง มาซาฮิโระ ฮิกาชิเดะ และ เอริกะ คาราตะ ได้คบหากันอย่างลับๆ จากภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่เรื่องจะไม่เกิดถ้ามาซาฮิโระนั้นไม่ได้เป็นสามีของวาตานาเบะ แอน นักแสดงชาวญี่ปุ่น ทำให้เธอกลายเป็นมือที่สามที่ทำลายความสัมพันธ์ของทั้งสองคน จนกลายเป็นข่าวครั้งใหญ่ในญี่ปุ่นช่วงนั้น ผลลัพธ์ที่ได้คือทั้งเอริกะและมาซาฮิโระถูกแบนจากคนดูในญี่ปุ่น ถูกยกเลิกสัญญาโฆษณาที่ได้ถ่ายทำในช่วงนั้น โดยเฉพาะฝ่ายชายที่หย่ากับภรรยาเป็นที่เรียบร้อย ทั้งคู่ออกมาขอโทษสื่อออย่างเป็นทางการ และพักจากการทำงานในวงการบันเทิงสักระยะ


Phoenix (2014, Christian Petzold)

Nelly (Nina Hoss) อดีตนักร้องสาวชาวเยอรมันเชื้อสายยิวผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกันแต่โชคไม่ดีที่เธอต้องเข้ารับการศัลยกรรมใบหน้าเพื่อรักษาบาดแผลที่เธอได้รับจากช่วงสงครามอยู่เป็นเวลานานกว่าจะสามารถกลับมามีใบหน้าคล้ายกับใบหน้าเดิมของเธอ ในขณะที่สามีของเธอ Johnny (Ronald Zehrfeld) กลับไม่สามารถจำเธอได้และเชื่อว่า Nelly ผู้เป็นภรรยาตัวจริงของเขาได้เสียชีวิตไปแล้ว จึงตัดสินใจได้ขอให้เธอซึ่งเป็นเพียงหญิงสาวที่ใบหน้าคล้ายกับ Nelly ช่วยสวมรอยเป็นภรรยาของเขาเพื่อไปรับมรดกจากทางบ้านของเธอเพื่อนำมาแบ่งกัน โดยไม่รู้เลยว่าแท้จริงแล้วเธอคือภรรยาตัวจริงของเขา นั้นจึงทำให้ Nelly จึงเริ่มตั้งคำถามและแคลงใจในความรักและความซื่อสัตย์ที่ Johnny เคยมีให้กับเธอตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา

ความซับซ้อนของความสัมพันธ์ในครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่พวกเขากำลังมีความสัมพันธ์ของการนอกใจไปมีคนรักใหม่ แต่มันคือการนอกใจไปหาคนใหม่โดยที่ไม่รู้ว่าเธอคือคนเดิม ถึงแม้ Johnny กำลังสร้างความสัมพันธ์กับ Nelly คนใหม่ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เหมือนว่า Nelly คนเดิมได้หายไปจากเขาแล้ว เธอกลายเป็นความทรงจำที่เหมือนเพียงแค่การหยิบใครมาแทนที่สมการเหล่านี้ได้ แต่สุดท้ายแล้วเธอก็ยังยอมรับในข้อเสนอเหล่านี้ จึงเป็นการตั้งคำถามแล้วว่าความรักที่แท้จริงแล้ว คุณยอมที่จะมีความรักจนต้องทิ้งตัวตนของตัวเอง เพื่อสวมเข้าไปในตัวตนที่เขาได้วางเอาไว้ให้หรือไม่ และสำหรับ Johnny แล้ว Nelly เป็นใครในสายตาของเขา


The Day After (2017, Hong Sang-soo)

ชีวิตสมรสของ Bongwan เจ้าของสำนักพิมพ์เล็กๆ ในเกาหลีกำลังจะเริ่มสั่นคลอนเมื่อภรรยาของเขาพบว่า ตัวเขาเองกำลังคบหากันผู้ช่วยของเขาอย่างลับๆ แต่หลังจากเหตุการณ์นั้นจบลงด้วยการออกของผู้ช่วยคนเดิม Areum ผู้ช่วยคนใหม่ก็ได้เข้ามาทำงานแทน แต่ในการทำงานวันแรกของเธอนั้นกลับถูกดึงไปสู่การเปลี่ยนแปลงของชีวิต Bongwan เมื่อภรรยาของเขาเข้าใจผิดว่าเธอเป็นผู้ช่วยที่สามีของเขาแอบมีความสัมพันธ์ด้วย

หากคุณรับรู้ว่าเจ้านายที่คุณกำลังทำงานและชื่นชมนั้นอยากสร้างความสัมพันธ์กับคุณในขณะที่เขาก็มีคู่รักของเขาอยู่แล้ว แล้วจะทำอย่างไร หนังที่เล่าอย่างเรียบง่ายแต่เจ็บจุกและชวนกระอักกระอ่วนเป็นอย่างดีของผู้กำกับเกาหลีชั้น auteur อีกหนึ่งนักทำหนังจ้าวแห่งความสัมพันธ์ชวนล้ำเส้นที่คนรักหนังล้วนจับตามองอย่างฮงซังซู ที่ในช่วงนั้นก็มีข่าวสะเทือนวงการหนังเกาหลีเช่นกัน เมื่อเขานั้นสารภาพความลับว่าได้เริ่มความสัมพันธ์อย่างลับๆ กับคิมมินฮี นักแสดงสาวคู่บุญของเขาที่ร่วมงานกันตั้งแต่เรื่อง Right Now, Wrong Then ปี 2015 และยังคงเล่นหนังเรื่องล่าสุดให้กับเขาอยู่ ซึ่ง The Day After นั้นอาจต้องดูคู่กับ On the Beach at Night Alone ที่เสมือนเป็นด้านกลับการเล่าเรื่องของทางฝั่งหญิงที่ถูกเปิดเผยว่าเธอนั้นเป็นชู้กับผู้กำกับคนหนึ่งที่แต่งงานไปแล้ว ราวกับว่าการทำหนังทั้งสองเรื่องนี้เพื่อเปิดบาดแผลแห่งความสัมพันธ์เหล่านี้จะเป็นการไถ่บาปของเขาที่มีต่อผู้หญิงทั้งสองคน ทั้งภรรยาของเขา และตัวคิมมินฮีเอง


Friday Night (2002, Claire Denis)

เรื่องเริ่มต้นเมื่อ Laure (Valerie Lemercier) แพ็คของจากห้องในอพาร์ตเมนต์ของเธอเพื่อจะย้ายไปอยู่กับแฟนหนุ่ม สถานการณ์ความวุ่นวายทั้งหลายก็ได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ Laure ขับรถเข้าเมืองเพื่อไปทานข้าวดินเนอร์กับเพื่อนๆ แต่ก็ไปไม่ถึงสักทีเพราะรถติดหนักมาก ข่าวจากวิทยุรายงานสาเหตุว่าเป็นเพราะการประท้วงหยุดงานที่ทำให้เกิดการรถติดครั้งใหญ่ พายุฝนที่ตกยิ่งทำให้เธอขุ่นมัว แต่เมื่อเธอได้เห็นชายหนุ่มแปลกหน้าคนหนึ่ง (Vincent Lindon) เดินทางด้วยเท้า เธอกลับเสนอที่จะขับรถไปส่งเขา แต่สุดท้ายแล้วพวกเขาไม่ได้เดินทางไปที่ไหนไกล แค่สูบบุหรี่ กินพิซซ่า พูดคุยกันเล็กน้อย และยกเลิกแผนการไปดินเนอร์กับเพื่อนๆ กัน พวกเขาใช้เวลาในคืนวันศุกร์ด้วยการอยู่ด้วยกัน และคืนวันศุกร์ของ Laure ก็เปิดกว้างมากขึ้นจนพวกเขาจะทำอะไรก็ได้ตามที่ใจต้องการ

Claire Denis ผู้กำกับที่ชอบถ่ายทอดเรื่องราวของมนุษย์ ความเปลี่ยวเหงาและบรรยากาศได้อย่างละเมียดละไม ทำเรื่องราวของการพบเจอกันของคนแปลกหน้าสองคนในสถานการณ์ที่เป็นใจ ในบทสนทนาที่มีอยู่น้อยนิดแต่พวกเขากลับมีเคมีที่เข้ากันกว่าที่คิด หนังไม่ได้เล่าเหตุการณ์ในอดีต โฟกัสอยู่กับเหตุการณ์ในปัจจุบันเพียงแค่ระยะเวลาหนึ่งคืนสั้นๆ เท่านั้น บางครั้งเราอาจรู้สึกว่ามันไม่สมเหตุสมผล แต่เราก็ไม่สามารถไปตัดสินความรู้สึกของพวกเขาในขณะนั้นได้ ได้แต่คอยสำรวจการพัฒนาความรู้สึกเป็นระยะสั้นๆ อยู่ห่างๆ ของพวกเขาผ่านแค่สิ่งที่เห็นเพียงอย่างเดียว


Scenes from a Marriage (1973, Ingmar Bergman)

Johan (Erland Josephson) และ Marianne (Liv Ullmann) ดูจะเป็นคู่ชีวิตที่ดีถ้าเทียบกับชีวิตรักของคนอื่นโดยทั่วไป พวกเขามีบ้านสองหลัง รถสองคัน ลูกสาวสองคน มีอาชีพกันทั้งสองคน จนมากระทั่งวันหนึ่ง มันดูไม่เป็นอย่างนั้น พวกเขาทบทวนตัวเองอีกครั้งว่า พวกเขาพลาดอะไรสำคัญในชีวิตไป Scenes from a Marriage เล่าเรื่องราวในช่วงเวลาสิบปีแห่งความรักและความวุ่นวายที่คอยผูกมัด Marianne และ Johan เอาไว้ ผ่านความสัมพันธ์ที่ค่อยๆ คืบหน้าขึ้นในทางที่ดีและเลวร้าย ตั้งแต่การแต่งงาน การนอกใจ หย่าร้าง และการเป็นหุ้นส่วนชีวิตในภายหลัง นี่คือสำรวจเรื่องราวของความรักอย่างละเอียดลออที่สุดของคู่รักคู่หนึ่ง

Scenes from a Marriage นั้นเริ่มต้นจากการเป็นมินิซีรี่ส์ขนาด 6 ตอน ที่ฉายในทีวีเยอรมัน ความยาวร่วม 5 ชั่วโมง ก่อนจะถูกตัดในเวอร์ชั่นฉายโรงความยาว 2 ชั่วโมง 47 นาที อ้างอิงมาจากส่วนหนึ่งในชีวิตของเบิร์กแมนเอง ทั้งความสัมพันธ์ของเขากับอุลล์มานน์ รวมไปจนถึงการแต่งงานระหว่างเขากับคู่รักคนก่อน และความสัมพันธ์ของพ่อแม่เขาที่เต็มไปด้วยการทะเลาะเบาะแว้ง เป็นมินิซีรี่ส์ที่นำไปดัดแปลงเป็นละครเวทีอยู่หลายครั้ง และเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้กำกับหนังอีกหลายคน เช่น Rob Reiner, Woody Allen, Asghar Farhadi หรือแม้กระทั่ง Marriage Story ของ Noah Baumbach ที่ดูได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องนี้ค่อนข้างชัดเจน ล่าสุดกำลังจะกลับมาทำใหม่อีกครั้งโดย HBO นำแสดงโดย Oscar Isaac และ Jessica Chastain


Cesar and Rosalie (1972, Claude Sautet)

Rosalie (Romy Schneider) แม่ม่ายลูกหนึ่งที่ในตอนนี้เธอกำลังคบกับ César (Yves Montand) พ่อค้าขายเศษโลหะ ทั้งคู่เดินทางไปที่งานแต่งงานใหม่ของแม่เธอ ในงานแต่ง Rosalie ได้พบกับแฟนเก่าของเธอ David (Sami Frey) นักวาดการ์ตูนที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากอเมริกา และในงานนั้น David ได้บอกกับ César ไปตรงๆ ว่าเขายังรัก Rosalie อยู่ และ César ก็สัมผัสได้ว่านี่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ความรักฝ่ายเดียว เขาจึงพยายามทำทุกอย่างเพื่อพิสูจน์ว่า Rosalie นั้นยังรักเขาอยู่ ไม่ใช่ David ความสัมพันธ์ของคนทั้งสามก็ค่อยๆ ผันผวนไปตามการกระทำของความรัก

ถึงแม้ว่าพล็อตเรื่องแบบนี้จะเป็นพล็อตหนังรักสามเส้าที่เราน่าจะพอคุ้นชินกันอยู่บ้าง แต่เรื่องนี้กลับเป็นรักสามเส้าที่ทุกคนมีน้ำหนักเท่ากัน ไม่มีใครที่ได้เปรียบ เสียเปรียบ และต่างมีการตัดสินใจที่เป็นอิสระเพื่อตัวเอง และเป็นหนังที่ไม่ได้บอกว่าที่สุดแล้วใครนั้นเหมาะสมกับใคร แต่เป็นการหาความเป็นไปได้ว่าความสัมพันธ์แบบใดที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุดในความรักของทั้งสามคนครั้งนี้ หรือกลายเป็นว่าปัญหาของทุกอย่างก็คือความรักที่ทำให้เกิดสมการอันซับซ้อนที่ไม่สามารถแก้ไขได้โดยง่าย


Hannah and Her Sisters (1986, Woody Allen)

เรื่องราวที่มีศูนย์กลางของเรื่องเป็น Hannah (Mia Farrow) ที่มีน้องสาวอีกสองคนคือ Lee (Barbara Hershey) และ Holly (Dianne Wiest) Hannah นั้นแต่งงานอยู่กับ Elliot (Michael Caine) พนักงานบัญชีและนักวางแผนการเงินที่กำลังตกหลุมรัก Lee น้องสาวของเธอที่กำลังอาศัยอยู่กับ Frederick (Max Von Sydow) ศิลปินที่มีชีวิตค่อนข้างอยู่ดีกินดีในย่าน Soho ในขณะเดียวกัน Holly ที่ปัจจุบันเป็นนักแสดงที่ไม่ได้ประสบความสำเร็จในเส้นทางของตัวเองเท่าไหร่ ได้เดตกับ Mickey (Woody Allen) โปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ที่เคยเป็นอดีตสามีของ Hannah และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการครุ่นคิดว่าเขากำลังจะตายในอีกไม่นาน เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นในระยะเวลา 24 เดือน หรือ 2 ปี ตั้งแต่ช่วงระยะเวลา Thanksgiving

วู้ดดี้ อัลเลน เป็นผู้กำกับที่มีข่าวกับเรื่องความสัมพันธ์อยู่บ่อยครั้ง ทั้งการมีความสัมพันธ์กับนักแสดงในกองถ่าย การล่วงละเมิดทางเพศ หรือว่าการมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า บางคนก็ยังไม่บรรลุนิติภาวะเสียด้วยซ้ำ ซึ่งความสัมพันธ์ปัจจุบันที่เขาได้แต่งงานกับลูกเลี้ยงของตนเองที่กลายมาเป็นภรรยาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่หากเป็นทางศีลธรรมมันอาจดูน่าขัดเคือง สร้างความฉงนงงงวยให้กับคนที่ติดตามอยู่ตลอด และหนังของเขาในช่วงหนึ่งก็ถูกนำไปเปรียบเทียบว่าเป็นภาพสะท้อนของตัวเองอยู่บ่อยๆ ยิ่งถ้าเป็นบทที่ตัวเขาเองเล่นมันยิ่งดูใช่ ซึ่งแม้ตัววู้ดดี้จะให้การปฏิเสธอยู่ตลอด แต่สำหรับคนที่ดูหนังของเขาหลายๆ เรื่อง ก็คงเชื่อเรื่องการแก้ตัวนี้ได้ยากอยู่ดี ขนาดเรื่องของเขากับมีอา ฟาร์โรว์ที่เลิกกันไปแล้วก็ยังตรงตามเรื่องนี้เลย


The Lovers (1958, Louis Malle)

Jeanne Tournier (Jeanne Moreau) เป็นภรรยาของเจ้าของสำนักข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ที่แก้ความเบื่อหน่ายของตัวเองด้วยการใช้เวลาอยู่ในปารีสกับ Maggy (Judith Magre) เพื่อนผู้มั่งคั่งของเธอและคนรักลับๆ ของเธออย่าง Raoul (Jose Luis de Villalonga) วันหนึ่งรถของ Jeanne เกิดเสียกลางทาง และทำให้เธอได้พบกับสถาปนิกหนุ่ม Bernard (Jean-Marc Bory) ที่ขออาสามาส่งเธอที่บ้าน ในคืนนั้นระหว่างที่ทั้งสองคนได้เดินกลับบ้านและพูดคุยกัน Jeanne ได้ค้นพบว่าตัวเองกำลังตกหลุมรักกับชายแปลกหน้าคนนี้ และคิดว่ามันถึงเวลาที่เธอจะต้องตัดสินใจอะไรบางอย่างเพื่ออนาคตและความรักของเธอ

ถึงแม้ The Lovers จะเหมือนเน้นไปที่การมีความรักต้องห้าม แต่มันก็ให้อารมณ์ของการเสียดสีความเป็นขนบมากกว่าเรื่องเพศและกามารมณ์ หนังพุ่งเป้าไปที่ชีวิตคู่ที่น่าเบื่อ และการเป็นชู้ที่เล่นกันตามขนบธรรมเนียมของกลุ่มคนชนชั้นสูงที่พากันหลงไหลในทรงผมสุดหรูหรา หรือเกมโปโลของผู้มีจะกิน Louis Malle พยายามสร้างความแตกต่างชีวิตอันแห้งแล้งของคนรวย และความสัมพันธ์ที่ก่อตัวขึ้นมาอย่างเป็นธรรมชาติจาก Jeanne และ Bernard จนไปถึงตอนจบที่เหน็บแนมความสัมพันธ์ของเธอ สามี และคนรักลับๆ ก่อนหน้าของเธอ และหนังเรื่องนี้ก็ไปสร้างเรื่องไกลที่อเมริกา ในปี ค.ศ. 1964 หลังจากที่โรงหนัง Heights Art Theatre ที่เมือง Cleveland Heights รัฐ Ohio ผู้จัดการของโรงหนังที่ชื่อ Nico Jacobellis ก็ถูกตำรวจเข้าจับกุมในข้อหาครอบครองและจัดฉายสื่ออนาจาร แต่สุดท้ายแล้วเมื่อได้ขึ้นศาลสูงสุดของสหรัฐ คดีนี้ก็ถูกปัดตกไป เนื่องจากมีการพิจารณาแล้วหนังเรื่องนี้ไม่ได้เป็นสื่อลามกอนาจารอย่างที่เข้าใจ


Lady Chatterley’s Lover (1955, Marc Allégret)

Constance Chatterley ภรรยาของ Sir Clifford นายทหารที่ได้รับบาดเจ็บในสงครามจนร่างกายท่อนล่างเป็นอัมพาต ซึ่ง Constance ก็ยังคงพอใจที่ยังได้รักษาพรหมจรรย์ของเธอ และได้ทำหน้าที่เป็นภรรยาที่ดีคอยรักษาสามีเสมือนพยาบาลส่วนตัว แต่อีกด้านหนึ่งเธอกลับรู้สึกไม่เติมเต็ม เพราะสามีของเธอไม่สาสมารถให้ความสุขทางเพศได้ และความรู้สึกของ Constance ก็ได้เปลี่ยนไปเมื่อเธอกลับไปตกหลุมรักกับ Mellors คนสวนประจำบ้านของเธอ ซึ่งทำให้แรงปรารถนาทางเพศของเธอถูกกระตุ้นขึ้นมา

สร้างมาจากนิยายของ D. H. Lawrence เมื่อปี 1928 หนึ่งในผลงานชิ้นสำคัญแห่งศตวรรษที่ 20 ในฐานะนวนิยายอีโรติกเรื่องแรก ซึ่งในตอนนั้นถูกห้ามเผยแพร่ในประเทศอังกฤษเนื่องจากเป็นหนังสือโป๊ จนกระทั่งถึงปี 1960 จึงได้รับการยอมรับให้เผยแพร่ ส่วนในเวอร์ชั่นหนังก็สร้างความฮือฮาได้ไม่แพ้กัน เมื่อถูกแบนในอเมริกาในปีที่ออกฉาย เพราะมันถูกตัดสินว่าเป็นสื่อที่ส่งเสริมในการคบชู้ จนกระทั่งได้ออกฉายอีกครั้งในปี 1959 ซึ่งหนังสือเล่มนี้ก็ยังถูกดัดแปลงไปเป็นหนังและทีวีซีรี่ส์อีกหลายเวอร์ชั่น ถึงแม้ว่าเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศและความต้องการที่ไม่มีที่สิ้นสุดเหล่านี้อาจจะเป็นแนวคิดที่ในสมัยนี้ถือว่าจะเป็นเรื่องที่ธรรมดาไปเสียหน่อย แต่ถ้าเปรียบเทียบในยุคนั้นแล้ว ถือว่าเป็นการท้าทายศีลธรรมและชุดความคิดของผู้อ่านมากอยู่ทีเดียว


My Life Without Me (2003, Isabel Coixet)

โปรดิวซ์โดยบริษัทของ Pedro Almodóvar ชื่อว่า El Deseo หนังเล่าเรื่อง Ann (Sarah Polley) ผู้ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและมีความสุขกับ Don (Scott Speedman) สามีของเธอและลูกๆ อีกสองคน Penny และ Patsy แต่เมื่อเธอได้ไปหาหมอเพื่อตรวจความพร้อมในการตั้งครรภ์ Ann กลับพบว่าเธอกำลังเป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้าย และมีเวลาอยู่ได้อีกแค่ 2 เดือน เธอเก็บความลับนี้ไว้ไม่ให้คนในครอบครัวรู้ และได้เตรียมใจที่จะตายโดยการทำลิสท์สิ่งที่เธอควรทำก่อนตาย รวมไปถึงการเตรียมเทปอวยพรวันเกิดให้กับลูกๆ ทั้งสองจนถึงอายุ 18 ปี จะกินจะดื่มอะไรก็ได้ตามที่ใจต้องการ บอกทุกอย่างเป็นความจริงเท่านั้น ไปเยี่ยมพ่อของเธอในคุก หรือแม้กระทั่งการมีเพศสัมพันธ์กับชายคนอื่นที่ไม่ใช่สามีของเธอ (Mark Ruffalo)

ถึงแม้ประเด็นหลักของหนังก็คือการใช้ชีวิตที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด แต่ในส่วนเรื่องความรักและความสัมพันธ์ก็เป็นอีกประเด็นที่ Ann ให้ความสนใจ เพราะเธอไม่รู้สึกว่าตัวเองถูกเติมเต็มในเรื่องนี้เลย ในเมื่อสามีของเธอก็ไม่ได้ให้ความสนใจในตัวเธอมากขนาดนั้นอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการได้เรียนรู้ที่จะรักใครสักคนอีกครั้งอาจจะทำให้เธอรู้สึกได้กลับมาเรียนรู้ในการมีชีวิตอีกครั้ง แต่ก็ยังไม่อยากจะทอดทิ้งทุกอย่างไปโดยที่ไม่ได้ทำอะไร ไม่เช่นนั้นชีวิตของลูกๆ เธออาจจะเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง เธอจึงมีอีกหนึ่งเป้าหมายคือการหาภรรยาใหม่ให้กับ Don และเป็นแม่คนใหม่ให้กับลูกๆ ถึงจะเป็นการทดแทนส่วนที่ขาดหายเมื่อเธอจากไป แต่อีกคำถามที่ถูกตั้งก็คือว่า ถ้าเธอไม่ได้กำลังจะตายในอีกไม่นาน เธอจะกล้าพอที่ลองใช้ชีวิตสุดเหวี่ยงแบบนี้อยู่หรือเปล่า

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here