Home Article Special Article Get Me Away from Here, I’m Dying : หนีไปเสียจากที่นี่

Get Me Away from Here, I’m Dying : หนีไปเสียจากที่นี่

Get Me Away from Here, I’m Dying : หนีไปเสียจากที่นี่

มีคำกล่าวที่เอาไว้ใช้ตอบโต้กับผู้ที่มองเห็นด้านลบในประเทศอยู่เสมอว่า ”ประเทศไทยนั้นยังคงเป็นประเทศที่ดี” เพื่อเอาไว้ใช้บอกกับทุกคนว่า ประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองยังมีความงาม ความน่าภาคภูมิใจที่ยังคงอยู่อย่างยาวนาน มันอาจเป็นคำพูดปลอบใจให้หันกลับไปมองถึงข้อดีที่ประเทศของตัวเองที่มีอยู่ แต่นั่นก็ไม่สามารถกลบสิ่งที่เลวร้ายที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ได้ และสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นนั้นก็ไม่ใช่เพราะเพียงแค่กลุ่มคนที่มีอำนาจในการบริหารประเทศ แต่อาจเป็นเพราะส่วนหนึ่งของการปิดหูปิดตามองข้ามจุดประสงค์ของกลุ่มคนที่ต้องการออกจากประเทศเพื่อไปใช้ชีวิต คนที่ถูกซ่อนเร้นอยู่ใต้เงาของตึกสูง ไม่ว่าจะเป็นทั้งคนที่ไม่ได้รับสวัสดิการของรัฐ หรือคนที่เขาบอกว่าทำงานไม่มากพอที่จะก้าวหน้าจนมาถึงจุดที่พวกเขาประสบความสำเร็จ คนที่มีตำแหน่งหรือสายงานที่ไม่ได้ถูกเหลียวแลหรือไม่ได้รับความสำคัญ คนจากตำแหน่งชายขอบของประเทศ และบาดแผลของความไม่ใส่ใจมันกำลังปริออกมาเรื่อยๆ ผ่านผู้คนที่กำลังเรียกร้องมากขึ้น และมากขึ้น จนเริ่มมีความคิดที่ว่าเมื่อไม่มีใครเหลียวแล ถ้าไม่ต่อสู้เพื่อให้ได้รับชัยชนะ เราจึงต้องหนีไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

เมื่อสถานการณ์ในประเทศดูน่าสิ้นหวัง หดหู่ และไม่มีทางที่จะดีขึ้นกว่านี้ได้ การต่อสู้เพื่อความถูกต้องนั้นอาจกินเวลามากกว่าที่คิด ในชีวิตคนหนึ่งคนมันอาจต้องใช้เวลาทั้งชีวิต อาจเกิดความท้อแท้เหนื่อยล้ามากขึ้นจนทำให้ใครบางคนเริ่มหมดหวังที่จะเปลี่ยนแปลง หรือสิ่งที่ต้องจ่ายนั้นดูเกินกำลังของตัวเอง ความคิดของการหนีออกไปจากที่นี่จึงเกิดขึ้น การไปใช้ชีวิตที่เปิดหูเปิดตาและมีชีวิตที่ดีกว่านี้มันอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพื่อที่จะได้ไม่ต้องกลับมาที่นี่อีก หรือเพื่อมีชีวิตรอดกลับมาที่นี่อีกครั้งในความหวังที่ว่ามันอาจจะเจริญขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ใช่เพราะว่าพวกเขาอยากหลบหนีและทอดทิ้งสิ่งที่พวกเขาเห็นอยู่ตรงหน้าและไปแสวงหาโอกาสที่ดี และไม่ใช่แค่การออกไปใช้ชีวิตอยู่เฉยๆ แต่ในอีกนัยหนึ่งมันคือการวางแผนและการต่อสู้ระยะยาว หากเป็นคนที่มองเห็นความหวังหรืออนาคตของตัวเอง มักจะหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเองอยู่เสมอ นั่นจึงอาจกลายเป็นจุดกำเนิดของความคิดที่ว่า “เรามาย้ายกันประเทศกันเถอะ” และกลายเป็นกรุ๊ปในเฟซบุ๊คที่มาแรงที่สุดในช่วงนี้

กลุ่มเฟซบุ๊ค “ย้ายประเทศกันเถอะ” หรือในปัจจุบันมีชื่อกรุ๊ปว่า “โยกย้าย มาส่ายสะโพกโยกย้าย” มีสมาชิกอยู่ถึง 9 แสนกว่าคนในเวลาประมาณหนึ่งอาทิตย์ มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากคนที่ได้อาศัยอยู่ในประเทศนั้นมาเป็นระยะเวลานาน วิธีการเข้าประเทศอย่างถูกกฎหมายต่างๆ การสอบถามถึงข้อมูลเกี่ยวกับประเทศนั้นๆ การหาโอกาสในการทำงาน พวกเขาเริ่มต้นทำอะไรบางอย่างเพื่อสร้างโอกาสให้กับตัวเองสามารถไปอาศัยที่ต่างประเทศได้อย่างยาวนานยิ่งขึ้น บางทีมันอาจมอบความหวังให้กับผู้คนในกลุ่มมากกว่าที่จะหันไปมองความจริงว่าเกิดสิ่งที่โหดร้ายและมันถูกปล่อยปละละเลยให้เป็นอยู่อย่างนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลง มันอาจสะท้อนถึงอะไรบางอย่างที่ไม่มีอยู่ในประเทศนี้ และฝากความหวังไว้กับการเห็นความหวังในประเทศอื่นเสียมากกว่า

Film Club ขอเสนอหนังทั้ง 11 เรื่องที่เล่าชีวิตของคนที่หนีออกไปจากที่นี่ ด้วยต่างวาระ ต่างจุดประสงค์ หนทางที่พวกเขาเลือกเดินอาจไม่ได้สุขสมหวังอย่างที่หวังไว้ อนาคตอาจจะดีกว่าหรือแย่กว่านี้ ไม่มีใครสามารถตัดสินได้ แต่ก็ยังจะดีกว่าการตายอย่างเดียวดายในรัฐที่ทอดทิ้งพวกเขา หรือต่อต้านความคิดของพวกเขาเองที่ต้องการจะทำให้ที่นี่เป็นที่ที่พวกเขาสามารถอยู่ไปได้ตลอดชีวิต


Bashing (2005, Masahiro Kobayashi)

หญิงสาวชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งรอดตายจากการถูกจับเป็นตัวประกันในตะวันออกกลาง แต่แล้วเมื่อเดินทางกลับถึงบ้านเกิด เธอกลับได้พบประสบการณ์ที่เลวร้ายเสียยิ่งกว่า เมื่อเพื่อนร่วมชาติของเธอต่างประณามว่า เธอเป็นตัวการทำให้ญี่ปุ่นต้องอับอายขายหน้า เนื่องจากรัฐบาลต้องยอมเจรจากับผู้ก่อการร้ายเพื่อช่วยเหลือเธอ พวกเขาไม่เข้าใจว่าเธอจะไปที่นั่นทำไม ทั้งที่รัฐบาลประกาศอยู่แล้วว่ามันเป็นสถานที่เสี่ยงอันตรายแท้ๆ

Bashing กำกับโดย มาซาฮิโระ โคบายาชิ เป็นภาพยนตร์สัญชาติญี่ปุ่นเพียงเรื่องเดียวที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าฉายในสายการประกวดหลัก (เพื่อชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม หรือ ปาล์มทองคำ) ที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2005 ซึ่งสร้างมาจากเหตุการณ์จริงในเดือนเมษายนปี 2004 เมื่อ นาโฮโกะ ทาคาโตะ พร้อมกับชาวญี่ปุ่นอีกสองคน ถูกจับเป็นตัวประกันในอิรัก โดยมีข้อเสนอว่า ญี่ปุ่นต้องถอนกำลังออกจากอิรัก แม้สุดท้ายทั้งสามจะได้กลับสู่บ้านที่ญี่ปุ่น แต่ก็กลายเป็นที่เกลียดชังของคนในชาติ


Cambodia, After Farewell (2012, Iv Charbonneau-Ching + Jeremy Knittel)

เป็นเวลากว่า 35 ปีที่แม่และน้าของผู้กำกับได้ออกจากกัมพูชาลี้ภัยสงครามกลางเมืองไปอยู่ฝรั่งเศส หลายปีผ่านไปเมื่อทุกอย่างเงียบพวกเขาตัดสินใจกลับไปยังแผ่นดินที่พ่อแม่ของเขาได้เติบโตมา กลับไปเผชิญหน้ากับความทรงจำและเหตุการณ์จริงอันโหดร้ายที่พ่อแม่เขาเคยประสบในช่วงการปกครองของเขมรแดง

การกลับมาครั้งนี้ไม่ได้ต้องการย้อนรอยประวัติศาสตร์อันโหดเหี้ยม แต่เป็นการเดินทางกลับเพื่อทำความเข้าใจกับสาเหตุที่ทำให้สมาชิกครอบครัว ต้องตายจาก และเพื่อเป็นการบันทึกความทรงจำส่วนตัวและครอบครัว


Barbara (2012, Christian Petzold)

ผลงานการร่วมมือกันที่ 5 ของผู้กำกับ Christian Petzold และนางเอกสาว Nina Hoss การันตีด้วยรางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากงานเทศกาล Berlin Film Festival 2012 และยังเป็นตัวแทนภาพยนตร์เยอรมันที่ได้เข้าร่วมชิงออสการ์ในสาขา Best Foreign Language Film ในปีนั้น

Barbara แพทย์สาวชาวเบอร์ลินที่ถูกลงโทษให้ต้องประจำการอยู่ที่โรงพยาบาลในแถบชานเมืองเยอรมันตะวันออก หลังจากที่เธอได้ยื่นเรื่องขอเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อวางแผนหลบหนีไปพร้อมกับคนรักชาวเยอรมันตะวันตกของเธอ หลังจากถูกลงโทษ Barbara ได้แต่เก็บตัวเงียบ ตัดขาดจากสังคม และอุทิศตัวให้กับการรักษาพร้อมกับแอบวางแผนหลบหนีอีกครั้ง มีเพียง Andre ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเท่านั้นที่ยังคงเป็นมิตรกับเธอ ซึ่งนั้นทำให้ Barbara เกิดความสับสนว่าแท้ที่จริงแล้วนั้น Andre อาจจะแอบมีใจให้กับเธอหรือเพียงแกล้งทำดีเพื่อคอยจับผิดแผนการหลบหนีของเธอ และกว่าที่ Brababa จะรู้ตัว กำแพงที่เธอเคยสร้างไว้ในจิตใจก็ได้พังทลายลงเมื่อเธอกลับเป็นฝ่ายตลกหลงรัก Andre จนทำให้เธอต้องเผชิญหน้ากับการตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้ง


Lost Lost Lost (1976, Jonas Mekas)

“ผมอยู่ที่นั่น และบันทึกภาพทั้งหมดด้วยกล้องของผม” เส้นทางของการเล่าเรื่องส่วนตัวและสังคมรอบตัวของ Jonas Mekas ถูกนำมาผสานกันกับภาพฟุตเตจตั้งแต่ปี 1949 ถึงปี 1963 ให้กลายเป็นไดอารี่ฟิล์มชิ้นเอกของโลก Lost Lost Lost เริ่มต้นตั้งแต่การเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองของ Mekas ที่ทำให้เขาได้เริ่มบันทึกภาพของวัฒนธรรมในนิวยอร์กด้วยตัวคนเดียว ช่วงเวลาตั้งแต่การใช้ชีวิตแบบชาวลิทัวเนียในเมือง Williamsburg การประท้วงต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์ การเริ่มทำนิตยสารภาพยนตร์อเมริกัน “Film Culture” หรือการเข้าร่วมบริษัทโรงละคร The Living Theatre

ด้วยการฉายภาพความจริงแบบสัจนิยมสังคม ผสมกับการลำดับภาพแบบสลับซับซ้อน และเทคนิคการถ่ายทำที่ชวนให้นึกถึงคนทำหนังรุ่นต้นกำเนิดอย่าง Georges Méliès การทดลองถ่าย Lost Lost Lost ที่เดินทางถ่ายไปเรื่อยๆ จาก Brooklyn ถึง Manhattan ผ่านกล้อง Bolex ที่ Jonas และน้องชายของเขา Adolfas ได้ร่วมกันทดลอง ทำให้หนังเรื่องนี้กลายเป็นผลงานการทดลองที่ได้ผลมาก่อนกาล

(ดูได้ที่ MUBI หรือ Vimeo)


Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า (2019, คงเดช จาตุรันต์รัศมี)

ผลงานการร่วมงานระหว่างผู้กำกับที่แฝงนัยการเมืองได้ร้ายกาจที่สุดคนหนึ่งอย่าง “คงเดช จาตุรันต์รัศมี” กับ 2 สมาชิกวงไอดอลที่มีชื่อเสียงที่สุดในไทยอย่าง BNK48 ร่วมกันถ่ายทอดโมงยามของความอ้างว้างของคนวัยหนุ่มสาวที่อยู่ในดินแดนที่ไม่สามารถทำให้ตัวเองใช้ชีวิตอย่างมีความสุขสักที กับบทพูดที่ครองใจคนในยุคปัจจุบันอย่าง “การไปจากที่นี่นับว่าเป็นความฝันได้หรือเปล่าคะ”

เรื่องราวของผู้หญิงสองคน คือ “ซู” (เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ) และ “เบลล์” (แพรวา สุธรรมพงษ์) เพื่อนรักที่สนิทกันยิ่งกว่าเพื่อนสนิท แต่ก็ไม่เคยเป็นมากกว่านั้น ในวัยที่ถึงเวลาเปลี่ยนผ่าน ซูผู้ที่รู้สึกว่าตัวเองเกิดผิดที่มาตลอด เกลียดบ้านเกิด เกลียดที่แม่เสียชีวิต จนไปถึงเกลียดที่ต้องสืบทอดกิจการก๋วยเตี๋ยวหมูเลียงที่ต้องตื่นมาขายทุกวัน และโอกาสก็มาถึงเมื่อซูได้ทุนไปเรียนต่อเมืองนอก การเดินทางครั้งนี้อาจเป็นตั๋วเที่ยวเดียวที่เธอจะไม่กลับมาอีก ความรักของเพื่อนอย่างเบลล์จะรั้งให้ซูให้ไม่ไปได้หรือไม่ หรือสุดท้ายความรักคือการปล่อยไป ที่เบลล์ทำได้คือการช่วยซูจัดกระเป๋าครั้งสุดท้ายเท่านั้น

(ดูได้ที่ Netflix)


Shinjuku Incident (2008, Derek Yee)

หัวเหล็ก (เฉินหลง) ช่างซ่อมรถแทร็คเตอร์ที่แอบลักลอบเข้าประเทศญี่ปุ่นอย่างผิดกฎหมาย เพื่อตามหาซิวซิว (ซู จิงเล่ย) แฟนสาวของเขาที่ย้ายมาทำงานเสี่ยงดวงที่ญี่ปุ่น เขาได้เจอกับอาเจี๋ย (แดเนียล วู) พร้อมกับกลุ่มคนจีนที่อพยพอย่างผิดกฎหมายอาศัยอยู่ใต้เงาของสังคมญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก และด้วยสถานการณ์บังคับ ทำให้หัวเหล็กได้เป็นหัวหน้ากลุ่มคนใหม่ในเขตชินจุกุ ด้วยความช่วยเหลือของหัวหน้ายากูซ่าเองุจิ (มาซายะ คาโต้) และพบว่าซิวซิวที่เขาตามหาได้แต่งงานกับเองุจิและกลายเป็นคนญี่ปุ่นไปแล้ว

หลังจากที่หัวเหล็กได้สถานะการเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายในญี่ปุ่น เขาจึงตัดสินใจเริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างสงบกับแฟนสาวคนใหม่ ลิลลี่ (ฟาน ปิงปิง) แต่ความสงบสุขของพวกเขาก็อยู่ได้ไม่นานเมื่อคิตาโน่ (นาโอโตะ ทาเคนากะ) ตำรวจที่เขารู้จักแจ้งข่าวว่าอาเจี๋ยถูก เองุจิ ใช้ทำงานเพื่อทำธุรกิจการค้าขายยาเสพติด หัวเหล็กจึงต้องเดินทางเข้าไปในเมืองเพื่อช่วยเหลือเพื่อนๆ ของเขาและแก้ไขในสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ความตั้งใจดีของเขากลับถูกเข้าใจผิดทำให้ตกอยู่ในภัยอันตรายจากกลุ่มยากูซ่าที่เขาเคยทำงานด้วย ในขณะเดียวกัน เองุจิก็ตั้งใจใช้โอกาสนี้เพื่อกำจัดหัวเหล็กและคิตาโน่ที่เป็นเสี้ยนหนามออกไป


Heartbound (2018, Janus Metz + Sine Plambech)

จากหมู่บ้านในโคราช สู่พัทยา สมหมายได้พบ “นีลส์” ชายวัยกลางคนชาวเดนมาร์กผู้ยอมรับว่า เขามาเพื่อเก็บเกี่ยวความสุขจากการท่องเที่ยว แต่สิ่งที่เขาไม่เคยคาดเดาได้ล่วงหน้าก็เกิดขึ้น เขาตกหลุมรักผู้หญิงคนนี้ ที่กลายมาเป็นภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของเขาในที่สุด จากพัทยาสู่เดนมาร์ก ตลอด 25 ปีต่อมา สมหมายช่วยนำพาผู้หญิงไทยอีกมากมายไปสู่เส้นทางชีวิตสายใหม่ที่นั่น

เรื่องราวของเขากับเธอกลายมาเป็นหัวใจของ Heartbound สารคดีสุดจับใจที่คนทำหนัง เยนูส เม็ตซ์ (Janus Metz) และนักมานุษยวิทยา ซิน่า พลามเป็ก (Sine Plambech) ใช้เวลากว่า 10 ปี ตามติดชีวิตคู่รักหญิงอีสาน-ชายเดนมาร์กหลายต่อหลายคู่

(ดูได้ที่ Doc Club on Demand)


China Behind (1974, Tang Shu Shuen)

ท่ามกลางหนังกำลังภายในที่กำลังเป็นที่นิยมในฮ่องกง Tang Shu Shuen หรือ Cecile Tang ทำเรื่อง China Behind ขึ้นมาจนเป็นหนังที่โดดเด่นและน่าค้นหามากในซีนหนังฮ่องกงยุค 70’s หนังถูกแบนในช่วงนั้นเนื่องจากถูกกล่าวว่า “หนังอาจทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศอื่นๆ” และได้กลับมาฉายอีกครั้งในปี 1980

หนังเล่าเรื่องเกี่ยวกับกลุ่มวัยรุ่นหนุ่มสาวและปัญญาชนจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่ต้องการจะหนีออกจากประเทศจากการปฏิวัติทางวัฒนธรรมในประเทศช่วงเหมาเจ๋อตง พวกเขาเดินทางลัดเลาะไปตามชายแดนของประเทศอย่างผิดกฎหมาย และว่ายน้ำข้ามประเทศอย่างยากลำบาก จนได้มาขึ้นฝั่งฮ่องกงที่ปกครองโดยสหราชอาณาจักร แต่สิ่งที่พวกเขาพบเจอในแผ่นดินนี้ยังห่างไกลกับคำว่า “เสรีภาพ” ที่พวกเขาเฝ้าใฝ่หามากนัก นี่เป็นหนึ่งในหนังที่พูดถึงการปะทะกันระหว่างแนวคิดของคอมมิวนิสต์กับแนวคิดทุนนิยมที่จะแสดงผลให้เราเห็นเมื่อตอนปี 1997 ที่ฮ่องกงนั้นถูกคืนเกาะให้กับจีน


Barbie (2012, Lee Sang-Woo)

Soon-Young ต้องกลายเป็นหัวหน้าครอบครัวเมื่อเธอต้องคอยดูแลพ่อที่มีอาการป่วยทางจิตใจ ลุงที่ใช้ชีวิตสำมะเลเทเมาไปวันๆ และน้องสาว Soon-Ja ที่ร่างกายไม่แข็งแรง วันหนึ่งตัวลุงได้รับการติดต่อมาจากชายอเมริกันปริศนาคนหนึ่งที่สนใจจะรับเด็กเกาหลีสุขภาพดีเพื่อไปเลี้ยงดูที่บ้านเกิดของตน ซึ่งทำให้เขาตัดสินใจเลือก Soon-Young แต่ตัวเธอไม่อยากไปเพราะต้องคอยเลี้ยงดูพ่อที่ป่วยไข้ของเธอ ในขณะเดียวกัน Soon-Ja ที่ได้ยินแผนการนี้ขึ้นก็เกิดความอิจฉา เพราะการไปอเมริกามันคือความฝัน เธอจึงทำทุกทางเพื่อให้เธอได้ไปที่อเมริกาแม้กระทั่งโกหกหลอกลวงเพื่อทำให้พี่สาวของเธอไม่ได้ไป

เมื่อชายอเมริกันและลูกสาวของเขาเดินทางมาถึงที่เกาหลีเพื่อมาทำความรู้จักกับ Soon-Young แต่สุดท้ายแล้วนั้นเองใครกันแน่ที่จะเป็นคนได้ไปอเมริการะหว่างเธอหรือน้องสาว โดยไม่มีใครรู้ว่าจุดประสงค์ของการไปอเมริกานั้นมันคืออะไร


Absent Without Leave (2016, Lau Kek Huat)

สารคดีจากประเทศมาเลเซียของ Lau Kek Huat ที่เล่าเรื่องราวความเจ็บปวดของครอบครัวตัวเอง ขยายไปถึงการแตะประวัติศาสตร์ที่เป็นบาดแผลของชาติ และชุมชนชาวคอมมิวนิสต์ที่อพยพออกมาจากประเทศที่ถูกลืมว่าไม่เคยมีตัวตนอยู่ หนังได้รับรางวัลขวัญใจมหาชน จากงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติสิงคโปร์ เมื่อปี 2016 และรางวัลสารคดียอดเยี่ยมอาเซียน จาก Salaya Doc เมื่อปี 2017 แต่กลับถูกแบนในประเทศบ้านเกิด

สารคดีที่บอกเล่าเรื่องราวของตัวผู้กำกับเอง ซึ่งเริ่มต้นจากรูปภาพที่แขวนอยู่ที่บ้านของครอบครัวในมาเลเซีย สิ่งที่เกี่ยวข้องกับบุคคลในภาพนั้นเป็นเรื่องต้องห้ามของครอบครัว จนกระทั่งผู้กำกับภาพยนตร์ได้ค้นพบว่าเขาคือปู่ของตน ตัวตนของปู่ถูกเก็บงำเพราะว่าเขาเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมาเลเซีย ผู้กำกับจึงออกเดินทางเพื่อเปิดเผยความลับในหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศ ผ่านสายตาของปู่ของเขาเอง

(ดูได้ที่ Vimeo)


Last Year in Refugee Camp (2016, ดาโพ มรดกพนา)

ผลงานจากกลุ่มนักเรียนปกาเกอะญอจากโรงเรียน เด็กข้ามชาติช่าทูเหล่ ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความเจ็บปวดของคนจากชนกลุ่มน้อยที่ไม่เคยถูกรัฐเหลียวมอง ชีวิตในวัยเรียนที่ถูกพลัดพราก ความทรงจำถึงวันวานในค่ายผู้ลี้ภัยกะเหรี่ยง ณ ชายแดนไทย กับพี่น้องหญิงชายและเพื่อนผอง เมื่อบางชีวิตกำลังจะก้าวออกนอกรั้วไปสู่เส้นทางใหม่ แต่อีกบางชีวิตยังคงยืนรอคอยอยู่ที่เดิม หนังได้รับรางวัลชนะเลิศรางวัลช้างเผือกพิเศษจาก เทศกาลภาพยนตร์ครั้งที่ 20 ในปีนั้นเอง

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here