คำกล่าวที่ว่า ”ดนตรีนั้นไม่เคยเป็นอาวุธของใคร” นั้นทำให้ใครหลายคนแค้นเคือง เพราะถ้าหากดนตรีไม่เคยเป็นอาวุธจริง นั่นอาจหมายความว่าดนตรีนั้นไม่มีพลวัตที่จะขับเคลื่อนอะไรได้ แม้แต่อุตสาหกรรมดนตรีที่เพลงและคนทำเพลงอยู่เองก็ตาม ในขณะที่ยังมีเพลงที่คอยมอบพื้นที่แห่งความรื่นเริงและความสนุกสนาน คอยขับขานเรื่องราวความเป็นไปได้ของความรักได้อย่างไม่รู้จบ อีกด้านหนึ่งศิลปินหลายคนในหลายๆ ประเทศ พวกเขายังต้องใช้เสียงเพลงเพื่อเป็นเครื่องมือในการแสดงออก เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการสรรเสริญว่าพวกเขายังมีความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมที่พวกเขาได้ร่วมกันสร้างขึ้นมาตั้งแต่บรรพบุรุษ หรือเป็นอีกหนึ่งบทบันทึกว่าความโหดร้ายที่พวกเขาเผชิญนั้นเกิดขึ้นจริงไม่ใช่เพียงแค่เสียงลือเสียงเล่าอ้าง เพราะพวกเขาถ่ายทอดทุกอย่างที่เกิดขึ้นลงไปในนั้น เป็นอีกหนึ่งการถ่ายทอดเรื่องราว เป็นสิ่งหนึ่งที่ยืนยันตัวตนว่าพวกเขายังมีชีวิตอยู่ เสียงเพลงและดนตรีนั้นไม่เคยเป็นศัตรู จนกระทั่งมีใครบางคนที่มองว่ามันกลายเป็นภัยคุกคาม แค่นั้นดนตรีก็กลายเป็นอาวุธที่ใครจะหยิบจับขึ้นมาใช้กันได้แล้ว แต่การเป็นอาวุธของมันไม่ได้สร้างความเจ็บปวดทางกายให้กับใคร แต่มันอาจคือเสียงเล็กๆ ที่อาจงัดคานอำนาจอันยิ่งใหญ่หากในทางตรงกันข้ามก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการรัดตรึงให้เราว่านอนสอนง่ายได้เช่นเดียวกัน
ที่น่าเศร้าคือคำว่า “ดนตรีไม่เคยเป็นอาวุธของใคร” นั้นออกมาจากปลายนิ้วของบุคลากรที่ใช้เสียงเพลงในการทำงาน ถึงแม้เขาจะได้กลับมาขอโทษด้วยความไม่ทันได้ตระหนักถึงอานุภาพความยิ่งใหญ่ของดนตรีที่มีอยู่ แต่ก็อาจจะสายเกินแก้ไปแล้ว ในขณะที่บุคลากรวงการเพลงไทยหลายๆ คนที่เป็นรุ่นพี่ของเขา และเป็นนักแต่งเพลงในดวงใจของใครหลายคนก่อนหน้า ใช้เสียงเพลงเป็นอาวุธในการครอบงำจัดระเบียบความคิดของผู้คนให้แสดงความรักของบุคคลที่ซึ่งถูกเทิดทูนเอาไว้เหนือหัว การจะถอนมนต์สะกดนั้นออกมาได้ต้องใช้เวลาที่ยาวนาน หรือเหตุการณ์ที่สะเทือนใจพอที่จะกลับมามองเห็นความจริง และนั่นคือสิ่งที่เขาต้องตระหนักอยู่ทุกครั้งว่าในขณะที่ดนตรีของเขานั้นใช้เพื่อปลอบประโลม ในทางหนึ่งนั่นก็คืออำนาจของเพลงของเขาเองที่กล่อมเกลาให้พวกเราเชื่องซึมและละเลยกับเหตุการณ์จริงที่กำลังโหดร้ายอยู่ตรงหน้า จากผู้มีอำนาจที่ควบคุมเสียงเพลงทุกอย่างให้เป็นไปตามที่ต้องการ เหมือนกับศิลปะแขนงอื่นๆ ที่เขาต่างเซ็นเซอร์ และถูกริดรอนซ้ำไปซ้ำมาไม่รู้จบ
“ดนตรีนั้นคืออาวุธ” อยู่เสมอ มันจะเป็นเช่นนั้นอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้มันอาจจะถูกค้นพบแต่ไม่รู้ตัวว่ามันเป็น หรือจะถูกหลบซ่อนเร้นอำพรางตาด้วยกลอันโฉ่งฉ่างของอำนาจของเบื้องบนก็ตาม และบทความนี้เป็นอีกหนึ่งเครื่องเตือนใจสำหรับผู้ที่หลงลืมอีกหนึ่งหน้าที่ที่แท้จริงของดนตรีว่ามันมีไว้เพื่อเป็นอาวุธของใครบางคนอยู่เสมอ ไม่วาจะเป็นทั้งกลุ่มคนผู้เรียกร้องซึ่งสิทธิเสรี เสรีภาพ และความเท่าเทียม หรือกลุ่มคนที่ต้องการควบคุมอำนาจที่พวกเขามีให้ยังดำรงอยู่ต่อไป หากความไม่เข้าใจว่าเพลงเพลงหนึ่งจะกลายเป็นอาวุธที่ทรงอานุภาพได้อย่างไร พวกเขาจะไม่สามารถผลักดันตัวเองให้ไปพร้อมกันกับทุกคนได้ ผลกระทบของเพลงหนึ่งเพลงมันส่งผลกับทุกคนไม่ว่าจะร่างกาย จิตใจ หรือความคิดเองก็ตาม มันทั้งสร้างกำลังใจต่อเป้าหมายที่อยู่ในบทเพลง ในอีกทางหนึ่งมันก็กำลังทิ่มแทงคนที่ถูกทอดทิ้งไว้อยู่เบื้องหลังไปพร้อมๆ กัน และนั่นก็เป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกคนควรเข้าใจว่าบทเพลง ศิลปะ การเมือง ชีวิต ความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ มันสอดคล้องกันไปอย่างเป็นระบบ
ภาพยนตร์ทั้ง 10 เรื่องที่แนะนำขึ้นมานี้แสดงให้เห็นว่าดนตรีนั้นยังคงเป็นอาวุธที่ทรงพลังที่คอยส่งเสียงให้กับผู้ที่ได้พบเห็นว่าพวกเขายังอยู่ และการต่อสู้เหล่ามันเคยเกิดขึ้นอยู่ที่ฟากฝั่งของโลก หรือมันยังคงเกิดขึ้นอยู่ไม่จบสิ้น ดนตรีของพวกเขาที่เราเห็นในหนังแต่ละเรื่อง อาจจะยังไม่เปลี่ยนแปลงโลกทั้งใบได้ แต่อย่างน้อยที่สุดมันก็สร้างความเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้กับคนที่ได้รับฟัง หรือที่ได้ดูหนังเรื่องเหล่านี้เช่นกัน
Summer of Soul (…Or, When the Revolution Could Not Be Televised) (2021, Ahmir “Questlove” Thompson)
ผลงานในฐานะผู้กำกับหนังเรื่องแรกของ Ahmir Khalib Thompson หรือ Questlove มือกลองและหัวหน้าวง The Roots อีกหนึ่งวงดนตรีฮิปฮอปรุ่นใหญ่ในตำนาน หรือหลายคนอาจจะเคยเห็นหน้าในฐานะนักดนตรีแบ็คอัพในรายการ The Tonight Show Starring Jimmy Fallon ซึ่งเขาหยิบเอาเหตุการณ์เทศกาลดนตรีที่เฉลิมฉลองวัฒนธรรมอย่างยิ่งใหญ่ที่สุดประวัติศาสตร์ของคนผิวดำในสหรัฐอเมริกา แต่ถูกปกปิดและหายไปจากการรับรู้ของคนทั่วไปยาวนานนับ 50 ปี และฟุตเตจทั้งหลายที่ถูกถ่ายในเทศกาลครั้งนี้ จะกลับมาให้ผู้ชมได้รับชมอีกครั้งในปีนี้
ในปี 1969 นอกจากจะเป็นปีที่ให้กำเนิดเทศกาลดนตรีที่เป็นตำนานอย่างยิ่งใหญ่และทรงพลังที่สุดของโลกอย่าง Woodstock Music & Art Fair แล้ว อีกร้อยกว่าไมล์ถ้ดมาในเมืองนิวยอร์ก รัฐแมนฮัตตัน The Harlem Cultural Festival ก็ถูกจัดขึ้นมาที่ Mount Morris Park เพื่อเฉลิมฉลองดนตรีของกลุ่มชนชาวแอฟริกัน-อเมริกัน กระจายวัฒนธรรมและเสริมสร้างสนับสนุนสิทธิ เสรีภาพของคนผิวดำ เทศกาลนี้ถูกขนานนามว่าเป็น Black Woodstock ด้วยความใหญ่โตที่เทียบเท่ากันนั้นเอง รวมไปถึงการที่มีศิลปินระดับท็อปของวงการมาอย่างมากมาย เช่น Stevie Wonder, Nina Simone, Sly & the Family Stone, Gladys Knight & the Pips, Abbey Lincoln & Max Roach ฯลฯ และระยะเวลาของเทศกาลที่ยาวนานถึง 6 สัปดาห์ มีผู้คนเข้าร่วมนับเกือบ 300,000 คน แต่กลับถูกไม่ได้ให้ความช่วยเหลือจากตำรวจ NYPD และได้กลุ่ม Black Panther มาช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องความปลอดภัยแทน
Summer of Soul เปิดตัวในเทศกาลภาพยนตร์ Sundance Film Festival เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ได้รับ Grand Jury Prize และ Audience Award และกำลังจะฉายในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้
The Punk Singer (2013, Sini Anderson)
หนังสารคดีที่ติดตามชีวิตของ Kathleen Hanna นักร้องนำของ Bikini Kill วงดนตรีที่เป็นกระบอกเสียงสำคัญของขบวนการ Riot grrrl ที่ผสานแนวคิดสตรีนิยม ศิลปะ การเมือง และดนตรีพังค์ร็อคเข้าด้วยกัน เธอกลายเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของ “เฟมินิสต์คลื่นลูกที่สาม” ที่มีแนวคิดว่าผู้หญิงทุกคนล้วนมีคุณค่าในตัวเอง ไปจนถึงเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องปัญหาสารพันที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงด้วยกัน เช่น การข่มขืน ความรุนแรงในครอบครัว หรือความไม่เท่าเทียมกันในสังคม
The Punk Singer คือสารคดีที่เล่าเรื่อง 20 ปีในเส้นทางการทำงานของเธอ ตั้งแต่ช่วงที่ทำเพลงพังค์ใต้ดิน ทั้งวง Bikini Kill, วง Le Tigre หรืองานเดียวในชื่อ Julie Ruin ทั้งฐานะเบื้องหลังในฐานะคนทำแฟนซีน (นิตยสารทำมือสำหรับแฟนคลับ) ไปจนถึงการต่อสู้กับโรคลายม์ (Lyme disease) ที่เรื้อรังยาวนานจนต้องพักงานในปี 2005 หรือแม้กระทั่ง มิตรภาพระหว่างตัวแฮนนากับ Kurt Cobain สมาชิกวง Nirvana ผู้ล่วงลับ ผ่านการให้สัมภาษณ์ของคนในวงการเพลง, นักวิจารณ์, สื่อมวลชนสายเฟมินิสต์ ไปจนถึงสามีของเธอ Adam Horovitz สมาชิกวงฮิปฮอประดับตำนาน Beastie Boys
Lili Marleen (1981, Rainer Werner Fassbinder)
สร้างมาจากนิยายอัตชีวประวัติเรื่อง Der Himmel hat viele Farben (The Heavens Have Many Colors) ของ Lale Andersen นักร้องและนักแสดงชาวเยอรมัน และชื่อหนังเรื่องนี้ก็มาจากเพลงที่มีชื่อเสียงที่สุดของเธออีกด้วย
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่องราวเริ่มต้นในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ Willie นักร้องสาวชาวเยอรมนีตกหลุมรักกับนักแต่งเพลงหนุ่มชาวยิว Robert ที่กำลังต่อต้านกองกำลังนาซีด้วยการให้ความช่วยเหลือกับผู้ที่อพยพ วันหนึ่งเธอช่วยเหลือ Robert ได้ แต่ต้องแลกกับการอยู่ที่เยอรมนี หลังจากที่เธอเริ่มร้องเพลง Lili Marleen เพลงที่ Robert แต่งให้ กลายเป็นว่าเพลงนี้เป้นเพลงฮิตในเยอรมนีเป็นอย่างมาก ทหารเยอรมนีทุกคนต้องได้ยินเพลงนี้ผ่านวิทยุสักครั้ง เธอกลายเป็นดารา ใครๆ ก็ต่างอยากพบเธอ แม้กระทั่งตัวฮิตเลอร์ยังต้องชวนเธอไปร้องที่งานเลี้ยงส่วนตัว ซึ่งนั่นทำให้เธอถูกห้ามเข้าสวิตเซอร์แลนด์อย่างเป็นทางการ
แต่ด้วยความรักของทั้งคู่ Robert จึงแอบลักลอบเข้าไปที่เบอร์ลินเพื่อพบเธออีกสักครั้ง แต่กลับถูกจับตัวได้ ทำให้เขาและเธอไม่ได้เจอกันอีก ทำได้เพียงแค่รอสงครามครั้งนี้สิ้นสุดลงเท่านั้น
No One Knows About Persian Cats (2009, Bahman Ghobadi)
ผู้กำกับ Bahman Ghobadi ที่ได้รางวัล Caméra d’Or ในเทศกาลเมืองคานส์ปี 2000 จากเรื่อง A Time for Drunken Horses ครั้งนี้เขาได้ร่วมงานกับ Roxana Saberi นักข่าวชาวสหรัฐอเมริกาที่ถูกจำคุกอยู่ในอิหร่านอย่างไม่เป็นธรรมถึง 8 ปี เพื่อบอกเล่าถึงความน่าสนใจของซีนดนตรีใต้ดินของอิหร่าน ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้านอำนาจรัฐในรูปแบบใหม่
No One Knows About Persian Cats ติดตามชีวิตของคู่หหูักดนตรี Ashkan และ Negar ที่เพิ่งถูกปล่อยจากคุก พวกเขามีเป้าหมายที่จะตั้งวงดนตรีร็อคของพวกเขาและเดินทางไปเล่นที่ยุโรป แต่ด้วยการแบนเพลงร็อคแอนด์โรลในประเทศอิหร่าน ทำให้พวกเขาจึงเริ่มวางแผนที่จะหนีออกจากประเทศผ่านโปรโมเตอร์ ที่พาพวกเขาเดินทางทั่วเตหะรานเพื่อตามหาสมาชิกวง และเล่นดนตรีในประเทศเป็นครั้งสุดท้าย หนังเรื่องนี้จะพาให้เรารู้จักอีกด้านของเมืองเตหะราน ที่มีซีนดนตรีใต้ดินที่มีสีสันมากมาย เพราะที่นี่มีวงดนตรีนอกกระแสที่ต้องหลบหนีจากกฎหมายร่วม 2,000 วง
Super Dimension Fortress Macross The Movie: Do You Remember Love? (1984, Noboru Ishiguro + Shōji Kawamori)
ภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากเวอร์ชั่นทีวีซีรี่ส์ จำนวน 36 ตอน ในชื่อเรื่องเดียวกัน เรื่องเริ่มต้นหลังจากที่วาร์ปออกมาจากโลกมนุษย์หลายปีแสง ยานอวกาศ Macross ก็ยังคงบรรทุกเมือง ผู้คน และเหล่าทหารนับห้าหมื่นชีวิต เพื่อพาพวกเขากลับบ้าน เหล่ามนุษย์ยังคงต้องต่อสู้กับการตามล่าของเผ่าพันธุ์ Zentradi และ Meltrandi มนุษย์ต่างดาวขนาดยักษ์ที่ต้องการทำสงครามกับมนุษย์โลก
ระหว่างเกิดสงคราม ยาน Macross นักบิน Hikaru Ichijou ได้ขับยานหุ่นรบเข้าช่วยเหลือไอดอล Lynn Minmay จากการถูกบุกเข้าโจมตีของยักษ์ระหว่างที่จัดคอนเสิร์ต หลังจากนั้นความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็ได้เริ่มต้นขึ้น แต่สิ่งนั้นต้องถูกปกปิดเอาไว้เพราะมันจะกลายเป็นภัยต่อชื่อเสียงและชีวิตของ Lynn Minmay เอง
ในขณะที่สงครามยังคงดำเนินต่อไป และจะมีแต่เพิ่มความรุนแรงขึ้นไปเรื่อยๆ Hikaru และเหล่าเพื่อนพ้องนักบินขับหุ่นรบต้องเผชิญกับศัตรูปริศนา และอีกด้านหนึ่งทั้ง Hikaru และ Minmay ต้องห้ามความรู้สึกของกันและกันเอาไว้ แต่ด้วยความรู้สึกอันท่วมท้นของ Minmay ที่ได้ใส่ลงไปในบทเพลงของเธอ นั่นอาจเป็นกุญแจที่ไขความลับสู่ความสงบสุขของทั้งจักรวาลนี้ก็เป็นได้
Sonita (2016, Rokhsareh Ghaemmaghami)
เจ้าของรางวัลสารคดีโลกยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังซันแดนซ์ เรื่องราวทรงพลังของ “โซนิตา อะลิซาเดห์” เด็กสาววัย 18 ที่ลักลอบอพยพจากอัฟกานิสถานมาอาศัยในชุมชนแออัดของอิหร่าน และไม่เพียงปัญหาความยากจนข้นแค้นเท่านั้นที่เธอต้องการหลบหนี ทว่าโซนิตายังปรารถนาจะหลุดพ้นจากแรงกดดันของครอบครัวที่ต้องการ “ขาย” เธอไปเป็นเจ้าสาวเพื่อแลกกับเงินสดหนึ่งก้อนซึ่งพี่ชายของเธอต้องการใช้จัดงานแต่งงานของตัวเอง ซ้ำร้าย โซนิตายังมีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักร้องแร็ปอันเป็นสิ่งต้องห้ามในสังคมของเธอ เด็กสาวผู้นี้จะแสวงหาเสรีภาพได้อย่างไรในท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยข้อบังคับอันยากจะต้านทาน (ดูได้ที่ Doc Club on Demand)
Straight Outta Compton (2015, F. Gary Gray)
หนังที่สร้างมาจากอัตชีวประวัติของวง N.W.A. (Niggaz Wit Attitudes) วงดนตรีฮิปฮอประดับตำนานที่ริเริ่มแนวเพลงย่อยลงไปคือ แก๊งสตาร์ แร็ป (Gangsta Rap) ที่บรรยายชีวิตของชาวแก็งค์ เนื้อหากล่าวถึงความยากจน ความรุนแรงและเรื่องต้องห้ามของสังคม เช่น ยาเสพติด อาชญากรรม การข่มขืน โสเภณี วัตถุนิยม
Straight Outta Compton เล่าเรื่องจากชีวิตจริงของกลุ่มคนหัวกบฏทางวัฒนธรรมที่มีเนื้อเพลง ความกร่าง ความกล้าหาญ และพรสวรรค์ เป็นอาวุธประจำตัวในการยืนหยัดต่อต้านอำนาจจากภาครัฐ โดยดำเนินเรื่องผ่านตัวละครหลักทั้งสามคน ซึ่งเป็นสมาชิกคนสำคัญของวง และเป็นบุคลากรคนสำคัญของวงการฮิปฮอป อย่าง ไอซ์ คิวบ์ (Ice Cube), ดร.เดร (Dr.Dre) และอีซี่ อี (Eazy-E) จนพวกเขาและเพื่อนๆ อย่าง อาราเบียน พรินซ์ (Arabian Prince) ดีเจเยลล่า (DJ Yella), และเอ็มซี เร็น (MC Ren) ได้มารวมตัวกันมาเป็น N.W.A. ศิลปินกลุ่มที่อันตรายที่สุดในโลก พวกเขาถ่ายทอดความจริงอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ด้วยการเปิดเผยเรื่องราวชีวิตของพวกเขาในสังคมอาชญากรรมที่เต็มไปด้วยความก้าวร้าวและความรุนแรง ซึ่งจุดประกายสู่การปฏิวัติทางสังคมและส่งผลมาถึงปัจจุบัน
The Mission (1986, Roland Joffé)
The Mission กำกับโดย Roland Joffé จาก The Killing Fields ได้รับรางวัล Palme d’Or จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ และได้รางวัลออสการ์ ในสาขาการกำกับภาพยอดเยี่ยมในปีนั้นจากฝีมือของ Chris Menges
เรื่องราวความขัดแย้งระหว่างพ่อค้าทาสและมิชชั่นนารีคณะเยสุอิต ในช่วงที่ทวีปอเมริกาใต้นั้นถูกยึดครองโดยประเทศสเปนและโปรตุเกส ในปี ค.ศ. 1750 บาทหลวงเยสุอิตชาวสเปนชื่อ คุณพ่อ Gabriel (เจเรมี ไอร์ออนส์) ได้เข้าไปในป่าดงดิบของอเมริกาใต้เพื่อทำภารกิจเผยแพร่ศาสนาที่ดินแดนของชนเผ่าพื้นเมืองกวารานี เขาได้เจอกับ Rodrigo Mendoza (โรเบิร์ต เดอ นีโร) พ่อค้าทาสที่ทั้งฆ่าและจับชนเผ่ากวารานีไปขาย และสังหารน้องชายที่แย่งชิงแฟนสาวของเขาไปด้วยความหึงหวง ทำให้เขาตกอยู่ในความทุกข์และสำนึกผิดต่อบาป คุณพ่อ Father Gabriel ได้เข้ามาช่วยเหลือจนทำให้ Mendoza ตัดสินใจบวชเป็นบาทหลวงเพื่อรับใช้ศาสนา
แต่เมื่อคณะเยสุอิตต้องถอนตัวจากการเผยแพร่ศาสนาให้ชนเผ่าพื้นเมืองตามคำสั่งของเบื้องบน นั่นทำให้การค้าทาส และใช้ความรุนแรงจากพ่อค้าทาสยังคงดำเนินต่อไป พวกเขาต้องตัดสินใจระหว่างจะกลับถิ่นที่จากมา หรือช่วยเหลือชนเผ่าพื้นเมืองกวารานี จากอำนาจจากการปกครองของประเทศโปรตุเกส
ตัวละครของคุณพ่อ Gabriel นั้นได้แรงบันดาลใจมาจาก โรก กอนซาเลซ เดอ ซานตา ครูซ (Roque González de Santa Cruz) บาทหลวงเยสุอิตและนักบุญชาวปารากวัย
Dzi Croquettes (2009, Raphael Alvarez + Tatiana Issa)
Dzi Croquettes เป็นกลุ่มละครที่ผสมผสานการเต้นเข้ากับอารมณ์ขันและการล้อเลียนรัฐบาลเพื่อท้าทายอำนาจเผด็จการป่าเถื่อนในตอนนั้นที่กำลังปกครองประเทศบราซิลในช่วงยุค 70 พวกเขาได้สร้างภาษาของละครเวทีขึ้นมาใหม่จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นนั้นได้ทำตามหรือกล้าแสดงออก กลุ่มละครกลุ่มนี้ได้ขับเคลื่อนขบวนการความเคลื่อนไหวของกลุ่มเกย์ในประเทศอย่างมากจนทำให้ถูกเซ็นเซอร์และแบนในช่วงการปกครองของกลุ่มทหารในเวลาถัดมา ประวัติศาสตร์ของพวกเขาได้หล่อเลี้ยงวัฒนธรรมป๊อบคัลเจอร์ของบราซิลให้รุ่งเรืองในช่วงยุค 70 ถึง 80
สารคดีเรื่องนี้จะเล่าตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการตั้งกลุ่ม ความทะเยอทะยานอย่างไม่หยุดยั้ง และการเป็นที่รักของผู้คนมากมายทั้งในประเทศ และนอกประเทศ ไปจนถึงศิลปินชื่อดังระดับโลก อย่าง Mick Jagger, Jeanne Moreau, Omar Sharif, Josephine Baker และ Liza Minnelli ที่กลายเป็นเพื่อนสนิทคนสำคัญของคนในกลุ่มละครที่ทำให้พวกเขา/เธอได้ไปทำการแสดงที่ปารีส ไปจนถึงช่วงเวลาสุดท้ายของกลุ่มที่ความกดดัน อีโก้ การถูกสังหาร และยุคสมัยของการค้นพบโรคเอดส์ ได้ทำลายกลุ่มละครนี้อย่างช้าๆ
Afghan Star (2009, Havana Marking)
ในประเทศอัฟกานิสถาน คุณต้องเอาชีวิตเข้าไปเสี่ยงเพื่อให้ได้แค่ร้องเพลง หลังจากที่ประเทศตกอยู่ในศูนย์กลางของสงครามนับ 30 ปี และถูกยึดครองโดยกลุ่มตาลีบัน ป๊อบคัลเจอร์ก็ถูกมอบกลับคืนแก่ประเทศ ช่วงปี 2005 เป็นต้นมา ผู้คนนับล้านต่างรอเฝ้าดูรายการทางช่อง Tolo TV ที่ชื่อว่า Afghan Star เป็นรูปแบบรายการที่คล้ายคลึงกับ American Idol คือรายการที่รับสมัครผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเพศใด จากประเทศไหน เชื้อชาติอะไร หรืออายุเท่าไหร่ก็ตาม เข้ามาประกวดแสดงความสามารถเพื่อหาผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียว รับเงินรางวัลและเซ็นสัญญากับค่ายเพลงทันที มีคนร่วมสมัครนับหลายพันคน รวมไปถึงผู้หญิงที่กล้าที่จะสมัครรายการนี้อีกสามคน คนดูทุกคนจะสามารถโหวตผู้เข้าแข่งขันที่ชื่นชอบเพื่อให้เขาหรือเธอชนะเลิศผ่านทางโทรศัพท์ นั่นคือสิ่งแรกที่ทำให้พวกเขาได้รู้จักกับกระบวนการประชาธิปไตย
สารคดีพาติดตามชีวิตของผู้เข้าแข่งขันรอบสุดท้ายทั้ง 4 คน ที่ทั้งพวกเขาและเธอต้องยอมเสี่ยงทุกอย่างเพื่อให้ได้เป็นป๊อบสตาร์ยอดนิยมของประเทศนี้ โดยทำการสำรวจความคิดของผู้คนอัฟกันต่อวัฒนธรรมป๊อบคัลเจอร์ที่เพิ่งกำเนิดขึ้นมา ที่กำลังขัดแย้งกับวัฒนธรรมดั้งเดิมที่พวกเขารับสืบทอดกันมาโดยตลอด