1.
Four Weddings and a Funeral อายุครบ 27 ปีในปีนี้ ย้อนไปในปี 1994 ที่หนังเข้าฉาย มันสร้างประวัติศาสตร์กวาดเงินทั้งในอังกฤษและอเมริกาถล่มทลาย ปั้นฮิวจ์ แกรนต์ขึ้นเป็นซูเปอร์สตาร์ หนังเข้าชิงรางวัลใหญ่และคว้าคำชมมากมายให้แก่บทและการแสดงอันสุดเนี้ยบ แถมยังแผ่อิทธิพลต่อทั้งวงการหนังโรแมนติกคอมเมดี้, ทำให้เพลง Love is All Around ของ Wet Wet Wet เด้งติดท็อปชาร์ต, ทรงผมพระเอกนางเอกฮิตไปทั้งโลก และเปลี่ยนเทรนด์การอ่านคำอาลัยในงานศพไปอย่างไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน
แต่ก่อนจะมาถึงจุดนี้ เชื่อหรือไม่ว่านี่คือหนังที่แทบไม่มีใครยอมให้ทุนสร้าง แถมยังไม่มีใครสักคน-แม้แต่ฮิวจ์ แกรนต์-เชื่อว่ามันจะประสบความสำเร็จไปได้!
2.
ริชาร์ด เคอร์ติส มือเขียนบทรายการตลกทางทีวี Blackadder ในวัย 34 มาจับมือกับโปรดิวเซอร์ ดันแคน เคนเวิร์ธที รับโจทย์จากค่ายอังกฤษ Working Title ที่ให้ทำหนังรักตลกๆ สักเรื่อง เคอร์ติสจึงตัดสินใจเอาประสบการณ์ตัวเองจากการเข้าร่วมงานแต่งงานมาเป็นพล็อต (เขาเล่าว่า ในช่วง 11 ปีนั้น เขาไปงานแต่งงานทั้งสิ้นถึง 65 งาน และในงานหนึ่ง มีแขกคนหนึ่งมาขอเขาแต่งงานด้วย แต่เขาปฏิเสธเธอไปและยังคงเสียใจมาตลอด)
เคอร์ติสเขียนบทถึง 17 ร่างกว่าจะมาถึงร่างสุดท้ายที่เราเห็นในหนัง “ผมเรียนจบสาขาวรรณกรรมอังกฤษมาพร้อมความเชื่อว่า การเขียนอะไรตลกขบขันเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ขณะที่ผู้กำกับ ไมค์ นีเวลล์ เป็นสายที่เชื่อการสร้างความสมจริง ดังนั้นตัวละครในหนังเรื่องนี้ไม่ว่าจะบทเล็กบทใหญ่จึงมีเรื่องราวของตัวเองรองรับเสมอ ไม่มีใครโผล่มาเป็นแค่มุกสามประโยคจบ และนี่จึงเป็นหนังโรแมนติกว่าด้วยความรักกับมิตรภาพ ที่แหวกว่ายอยู่ในทะเลแห่งมุกตลก”
3.
ใครเคยดูหนังย่อมจำฉากเปิดลือลั่นที่อุดมไปด้วยคำว่า Fuck ได้ เคอร์ติสบอกว่าเขาปลื้มใจสุดๆ ที่จะได้ทำหนังที่มีฉากเปิดแบบนี้เสียที “แต่ปัญหาคือตราบใดที่เราไม่ได้ตัวนักแสดงที่เหมาะกับมัน มันก็จะถูกมองเป็นแค่คำหยาบบนหน้ากระดาษเท่านั้น”
หลังจากออดิชั่นนักแสดง 70 กว่าคน นักแสดงหนุ่มวัย 34 ชื่อฮิวจ์ แกรนต์ก็โผล่เข้ามา ตอนนั้นอาชีพเขากำลังอยู่ในช่วงซบเซา เขาต้องหาเงินด้วยการไปรับจ้างสอนนางเอกฝรั่งเศสชื่อดัง จูเลียต บิโนช ฝึกพูดสำเนียงอังกฤษ แต่ความตลกโปกฮาผสมน่ารักสดใสอย่างเหลือเชื่อของเขา ทำให้เคอร์ติสรู้ทันทีว่า พ่อหนุ่มคนนี้เกิดมาเพื่อบท “ชาร์ลส์” พระเอกหล่อป้ำเป๋อผู้พลาดรักครั้งแล้วครั้งเล่าในหนังเรื่องนี้อย่างแท้จริง
4.
เคนเวิร์ธทีกับเคอร์ติสวางงบ Four Weddings ไว้ 4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ถูกค่ายสั่งตัดออกล้านกว่าๆ ซ้ำช่วงกลางปี 1992 ยังเกิดปัญหาเงินไม่มาจนเกือบต้องล้มโปรเจ็กต์ โชคดีที่ทั้งคู่ยังสู้ต่อไป โดยใช้เวลาช่วงรอเงินไปกับการออดิชั่นนักแสดงเพิ่ม และคุยปรับบทกันจนทำให้ได้บทที่แข็งแรงขึ้นมาก ทั้งยังทำให้นักแสดง (ซึ่งไม่มีรถเทรลเลอร์ให้อยู่เพราะไม่มีงบ) มีเวลาคลุกคลีใกล้ชิดกันนานกว่าปกติจึงเข้าฉากกันได้อย่างสนิทสนมสมจริง
5.
การถ่ายทำกลับมาเริ่มในฤดูร้อนปี 1993 โดยผู้กำกับ ไมค์ นีเวลล์ โชว์ความเทพด้วยการถ่ายแค่ 36 วันรวดแล้วปิดกล้องทันที เร่งมือชนิดดาราไม่ได้พักได้ผ่อน แกรนต์ถึงกับติดไข้และต้องถ่ายหนังไปด้วย บางฉากที่ใช้นักแสดงเยอะๆ และรายละเอียดยุบยิบซึ่งปกติจะถ่ายกันหลายชั่วโมง นีเวลล์ก็เก๋าจัดขนาดถ่ายเสร็จภายใน 20 นาที! (หนังเรื่องนี้ยังเป็นยุคที่ตัดต่อกับฟิล์มจริงๆ ไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์)
6.
อย่างไรก็ดี ไม่มีใครเชื่อเลยว่าหนังจะประสบความสำเร็จได้ โดยเฉพาะค่าย Polygram นายทุนและผู้จัดจำหน่ายฝั่งอเมริกา ซึ่งส่งแฟ็กซ์มาหาเคอร์ติสรัวๆ เพื่อตินั่นตินี่ พวกเขาถึงขั้นเขียนลิสต์ว่าคำหยาบแบบไหน ฉากเซ็กซ์ประเภทใดบ้างที่ห้ามทำ (เพราะจะทำให้ฉายในทีวีอเมริกันไม่ได้) และที่โหดที่สุดคือ การสั่งให้เปลี่ยนชื่อหนังซะ เนื่องจาก “Four Weddings and a Funeral เป็นชื่อที่…
– ผู้ชายได้ยินแล้วไม่อยากดู ไม่มีผู้ชายคนไหนอยากดูฉากแต่งงานสี่ฉากติดๆ กันหรอก- ชื่อมันแสดงถึงปัญหาว่าหนังขาดช่วงเป็นตอนๆ ไม่ต่อเนื่องกัน ท่าทางน่าเบื่อ
– มีคำว่า Wedding เหมือนหนังเจ๊งๆ หลายเรื่อง เช่น The Wedding, Betsy’s Wedding และ The Wedding Banquet
– ค่ายเสนอให้ลองใช้ชื่อ True Love and Near Misses หรือ Loitering in Sacred Places หรือ Rolling in the Aisles หรือไม่ก็ Skulking Around แทน (><)
แต่โชคดีที่เคอร์ติสเมินคอมเมนต์เหล่านี้ แม้เขาเคยพยายามจะเปลี่ยนมันเป็นชื่อ “The Best Man” แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจยึดชื่อเดิมแล้วตอบไปว่า “ตราบใดที่พวกคุณยังหาชื่อที่ดีกว่าชื่อของผมไม่ได้ ผมก็จะยังไม่เปลี่ยนล่ะนะ”
7.
อีกคำที่ถูกถกเถียงกันมากเป็นพิเศษก็คือ “fuck” ทั้งหลายในหนัง เคอร์ติสเล่าว่า “ในอเมริกาเขาเคร่งครัดกว่าเราในอังกฤษเยอะ เพราะถ้าคิดจะให้หนังฉายทีวีหรือฉายบนเครื่องบิน ก็ห้ามมีคำสบถแบบนี้ มีคำหยาบสัก 70 คำได้มั้งที่ห้ามเราใช้ แต่สุดท้ายเราพบว่าเอ๊ะ เขาไม่ได้ห้ามคำว่า ‘bugger’ นี่นา เราก็เลยเปลี่ยนมาใช้คำนี้แทน เหตุผลก็เพราะคนอเมริกันไม่รู้ว่าคำนี้แปลว่าอะไร เขาคิดว่ามันแปลว่า ‘ไอ้เฒ่า’ เฉยๆ ^^”
8.
ในการฉายเปิดตัวรอบปฐมทัศน์โลกที่เทศกาลหนังซันแดนซ์ ทีมงานนั่งอกสั่นขวัญแขวน เพราะเพียงแค่เริ่มฉายได้ 2 นาที คำหยาบอันพรั่งพรูในฉากเปิดก็ทำให้คนดูเกือบ 30 คนลุกออกจากโรงไปเลย ฮิวจ์ แกรนต์หันไปพึมพำกับเคอร์ติสว่า “สงสัยมันคงไม่ดังอย่างที่เราหวังแล้วล่ะ”
แต่แล้วสิ่งที่แกรนต์กลัวก็จบลงแค่ตรงนั้น บทวิจารณ์แรกหลังการฉายเสร็จสิ้นมาจาก Variety ซึ่งเขียนว่า “หนังโรแมนติกคอมเมดี้ที่มีเสน่ห์จริงๆ นั้นเป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำยากที่สุด และทีมหนังชาวอังกฤษทีมนี้ทำได้แล้ว” สัญญาณแห่งความสำเร็จฉายชัดขึ้นทันที ส่งผลให้ค่าย Polygram ตัดสินใจทุ่มงบถึง 11 ล้านให้หนังทุน 3 ล้านเรื่องนี้ใช้ในการโปรโมท และผลคือมันก็โด่งดังกลายเป็นขวัญใจผู้ชม จนสามารถทำรายได้ทั่วโลกไปถึง 144 ล้าน ขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในหนังอังกฤษที่ทำเงินสูงสุดตลอดกาล
9.
เมื่อมาย้อนนึกในวันนี้ เคอร์ติสบอกว่าเซอร์ไพรส์มากที่หลายๆ สิ่งที่คนดูรักและจดจำจากหนังของเขาหลายๆ เรื่อง ไม่ได้เกิดจากการเขียนของเขาด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็น
– ฉากบทอำลาในงานศพที่แสนซาบซึ้งตรึงใจ ซึ่งหนังนำมาจากบทกวีของ ดับเบิลยู เอช ออเดน
– ฉากพระเอกเดินผ่านแล้วฤดูกาลรอบตัวเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ใน Notting Hill เขาก็ไม่ได้เขียน แต่เพิ่งคิดขึ้นมาในระหว่างถ่ายทำ
– ฉากตัวละครของเอมมา ทอมป์สันร้องไห้ตอนฟังเพลงของโจนี มิตเชลล์ใน Love Actually ก็ไม่ได้อยู่ในบท แต่เกิดขึ้นระหว่างถ่ายทำอีกเช่นกัน เคอร์ติสบอกว่า “ที่น่าสนใจคือ ในหนังที่มีบทพูดเยอะๆ อย่างเช่นหนังของผมนั้น เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ตัวละครหยุดพูดและเกิดอะไรบางอย่างขึ้นมาแทน ฉากเหล่านั้นแหละที่มักจะกลายเป็นฉากที่กระแทกใจคนดูมากที่สุด”
– รวมถึงสปีชบนเวทีลูกโลกทองคำหลังคว้ารางวัลนักแสดงนำชาย (สายหนังตลก) ของฮิวจ์ แกรนต์ด้วย เคอร์ติสบอกว่า “พวกเราโตมากับเขา แต่ในสายตาคนดูหนังทั่วโลก เขาคือความมหัศจรรย์ ลองคิดดูสิว่าตอนนั้นเขาทั้งหนุ่มทั้งหล่อขนาดไหน ที่เจ๋งกว่านั้นคือเขาโคตรตลกเลยด้วย ใครๆ ก็คิดว่าสปีชที่มีแต่มุกฮาของเขาบนเวทีคืนนั้นเป็นฝีมือการเขียนของผม ยังไม่มีใครรู้ว่าฮิวจ์ตัวจริงตลกมาก มากกว่าผมซะอีก”
10.
และแน่นอน สิ่งที่เคอร์ติสกับเคนเวิร์ธทีจำแม่นไม่มีทางลืม ก็คืองานประกาศรางวัลออสการ์ที่บท Four Weddings ได้เข้าชิง ยิ่งกว่านั้นคือหนังเล็กๆ เรื่องนี้ถึงขั้นได้ชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ปะทะกับคู่แข่งแข็งปั๋งอย่าง Pulp Fiction, The Shawshank Redemption, Quiz Show และ Forrest Gump “เราไม่คิดว่าหนังเราจะชนะหรอก แต่เราก็ยังอดมีหวังอยู่วูบนึงไม่ได้” เคอร์ติสเล่า “โดยเฉพาะไอ้เสี้ยววินาทีตอนที่เขาประกาศว่า ผู้ชนะได้แก่หนังเรื่อง ‘ฟออออ…’ นั่นน่ะครับ!” 😆