Home Article Behind the Scene หนุ่มสาว ‘สวิงกิ้ง’ และจิตวิญญาณที่ฟื้นคืนใน Austin Powers

หนุ่มสาว ‘สวิงกิ้ง’ และจิตวิญญาณที่ฟื้นคืนใน Austin Powers

หนุ่มสาว ‘สวิงกิ้ง’ และจิตวิญญาณที่ฟื้นคืนใน Austin Powers

สิ่งที่น่าจะยืนยันความเป็นไอคอนยุค 90 ของ Austin Powers ได้ นอกจากตัวเลขบ็อกซ์ออฟฟิศของทั้งสามภาครวมกันเท่ากับ 876 ล้านเหรียญฯ แล้ว มันยังเป็นสปริงบอร์ดทางอาชีพของผู้กำกับ เจย์ โรช (ซึ่งแจ้งเกิดจากหนังตลกบ้าบอเรื่องนี้จนโอกาสพุ่งเข้าหา กระทั่งปีล่าสุดเขาได้กำกับหนังพลังหญิงสุดเข้มข้นอย่าง Bombshell) และแน่นอน…พระเอก ไมค์ มายเออร์ส (ที่ทั้งเขียนบทและโปรดิวซ์ด้วย) ก็แทบจะสลัดตัวละครออกจากชีวิตไม่ได้อีกเลย แม้ว่างานนั้นจะไม่เกี่ยวกับหนังชุดนี้ อย่างการไปเล่นเอ็มวีของ บริทนีย์ สเปียร์ส ก็ตาม 

สำหรับคนที่ไม่ทันได้สัมผัสช่วงรุ่งเรืองของมัน อาจจะงงว่าทำไมหนังบ๊องแบบนี้ถึงประสบความสำเร็จนัก ก็เพราะภายใต้มุกสัปดนและตั้งหน้าตั้งตาล้อเลียนหนังสายลับ เจมส์ บอนด์ มันก็คือทั้งหมดของสิ่งที่ก่อร่างมายเออร์สขึ้นมา เนื่องจากเขาโตมากับ เจมส์ บอนด์, เดอะ บีเทิลส์, ปีเตอร์ เซลเลอร์ส, ดัดลีย์ มัวร์ และคณะตลก เดอะ กู๊ดดีส์ “ผมเขียนโครงเรื่องภายในสองสัปดาห์โดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนอื่นจะเก็ตสิ่งที่ผมทำมั้ย เพราะพวกเขาไม่ได้โตที่บ้านผม” 

ออสติน พาวเวอร์ส คือสายลับเจ้าเสน่ห์ที่ผู้หญิงทุกคนอยากนอนด้วย …นี่คือแก่นของหนังชุดนี้ (มายเออร์สยังอยากพูดถึงรูปลักษณ์ตัวเองซึ่งสวนทางกับพิมพ์นิยมด้วย) เอื้อให้หนังสามารถเล่นตลกสังขารและมุกหยาบโลนสารพัด แต่เพราะมันเกิดจากความรักที่นักแสดงตลกคนหนึ่งมีต่อยุคสมัยซึ่งหล่อหลอมเขาขึ้นมา สิ่งที่เขาตั้งใจจะล้อเลียนมันเลยได้รับการถ่ายทอดอย่างตั้งใจและกลายเป็นหนังที่สะท้อน Swinging London วัฒนธรรมหนุ่มสาวตะวันตกยุค 60 ออกมาได้อย่างหมดจด 

มันเกิดจากความรักที่นักแสดงตลกคนหนึ่งมีต่อยุคสมัยซึ่งหล่อหลอมเขาขึ้นมา สิ่งที่เขาตั้งใจจะล้อเลียนมันเลยได้รับการถ่ายทอดอย่างตั้งใจและกลายเป็นหนังที่สะท้อน Swinging London วัฒนธรรมหนุ่มสาวตะวันตกยุค 60 ออกมาได้อย่างหมดจด

Swinging London หรือ Swinging Sixties คือการปฏิวัติทางวัฒนธรรมของหนุ่มสาวอังกฤษช่วงกลางยุค 60 เป็นต้นมา มันเป็นยุคเฟื่องฟูของดนตรี วรรณกรรม ศิลปะ และภาพยนตร์ จนเกิดการผสมผสานข้ามสายพันธุ์เป็นความฉูดฉาดจัดจ้านในเนื้อเดียวกันทุกแขนง ที่สะท้อนออกมาทาง ‘แฟชั่น’ 

“ตอนนี้เหล่าสวิงเกอร์หายไปไหนหมด” มายเออร์สเกิดคำถามนี้ขึ้นขณะกำลังขับรถพร้อมฟังเพลง The Look of Love ของ เบิร์ท บาคารัค นักดนตรีและคนทำสกอร์หมุดหมายหนึ่งแห่งยุค Swinging London ด้วยหนังอย่าง Alfie (1966) กับ Butch Cassidy and the Sundance Kid (1970) จากไม่กี่นาทีของเพลงแสนรื่นหูนั้น มายเออร์สดำริชุบชีวิตและวิญญาณของ Swinging London ให้กลับมาอีกครั้ง นั่นจึงเป็นเหตุให้พล็อตของภาคแรก Austin Powers: International Man of Mystery จึงว่าด้วยสายลับและวายร้ายจากอังกฤษยุค 60 ที่ฟรีซตัวเองไว้สามสิบปี เพื่อนำจิตวิญญาณแห่งยุคสมัยกลับมาอีกครั้งในปี 1997 ที่หนังฉาย 

Swinging London เป็นการปลดแอกทางวัฒนธรรมของหนุ่มสาวอังกฤษหลังจากสถานการณ์อันตึงเครียดของสงครามอันยาวนาน งานศิลปะที่เป็นภาพแทนยุคเบ่งบานของมันก็ได้แก่ ภาพถ่ายของ เดวิด ไบลีย์, เทอร์เรนซ์ โดโนวาน และ ดัฟฟี่ ที่มาพร้อมนางแบบของพวกเขา จีน ชริมป์ตัน, ซีเลีย แฮมมอนด์ และ พอลีน สโตน ซึ่งภาพเหล่านี้ก็สะท้อนแนวทางแฟชั่นของสาวๆ ยุคนั้น ก่อนที่ต่อมามันจะส่งอิทธิพลข้ามไปถึงนิวยอร์คกับ แอนดี้ วอร์ฮอล 

ภาพถ่าย จีน ชริมป์ตัน โดย เดวิด ไบลีย์

ทวิกกี้ คือนางแบบชาวอังกฤษที่เป็นไอคอนแห่งยุคนั้น เธอมาพร้อมผมบ๊อบดวงตาแป๊วที่เกิดจากการติดขนตาทั้งบนและล่าง และยุคนั้นยังมีมินิสเกิร์ตกับบูตยาวเลยเข่า เสื้อผ้าลายเรขาคณิตสีสันจัดจ้าน กับแฟชั่นแบบม้อด ทางฝั่งผู้ชายก็มีภาพลักษณ์แบบ เดอะบีเทิลส์ เป็นต้นแบบ กับผมหน้าม้าและจิตวิญญาณความเป็นศิลปิน ส่วนหนังที่เป็นภาพแทนได้อย่างดีก็คือ Blow-Up หนังปี 1966 ของ มิเกลอันเจโล อันโตนิโอนี ที่อิมพอร์ตจากอิตาลีมาทำหนังทริลเลอร์ในแวดวงช่างภาพแฟชั่นอังกฤษ ที่มาพร้อมสไตล์อันจัดจ้านของ Swinging London อย่างสมบูรณ์ จนเป็นหนึ่งในหนังที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อวงการแฟชั่นโลกในเวลาต่อมา 

ทวิกกี้ นางแบบไอคอนของ Swinging London
Blow-Up โดย มิเกลอันเจโล อันโตนิโอนี
เดอะ บีเทิลส์ ไอคอนแห่ง Swinging London

ขณะที่ Blow-Up เป็นหนังซึ่งสะท้อนสภาพแวดล้อมและแฟชั่นแห่งยุค หนังที่วิพากษ์วิจารณ์สังคม Swinging London ได้แสบที่สุดคือ Darling ของ จอห์น ชเลซิงเกอร์ ที่ส่งให้ จูลี่ คริสตี้ คว้าออสการ์มาได้ เธอรับบทเป็นนางแบบที่ทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุดของวงการแฟชั่นที่กำลังฟูเฟื่องด้วยความหิวกระหาย ฉากเปิดของหนังคือภาพบิลบอร์ดของเด็กผู้ยากไร้ที่ถูกแปะทับด้วยภาพสุดหรูของคริสตี้ ก่อนที่จะมีการประมูลวิกผมเครื่องประดับของเธอเพื่อไปช่วยเด็กในประเทศโลกที่สามอีกที มันสะท้อนมุมมองความฟู่ฟ่าแบบไม่แคร์โลกของยุคนั้นได้อย่างดี 

Darling โดย จอห์น ชเลซิงเกอร์

อย่างไรก็ตาม Darling ยังเป็นหนังแค่ไม่กี่เรื่องในยุคนั้นที่แสดงความร้ายกาจของผู้หญิงซึ่งสามารถกำหนดหนังทั้งเรื่องได้ นี่คือกุญแจสำคัญของยุค Swinging London ที่นอกจากจะเป็นความเบ่งบานทางแฟชั่นและศิลปะแล้ว มันยังสะท้อนเสรีภาพของผู้หญิงที่ลุกขึ้นมามีวิถีเป็นของตัวเอง ทั้งการทำงานและการแต่งตัว ดังจะเห็นได้ว่าแฟชั่นของผู้หญิงยุคนี้แสบไส้และหลากหลายกว่าฝั่งของผู้ชายนัก 

ย้อนกลับมาที่ Austin Powers ที่แม้จะฉาบหน้าด้วยความสัปดน และมุกตลกแบบเหยียดเพศ แต่มันก็สะท้อนจิตวิญญาณแห่งยุคสมัยได้อย่างดีทั้งแฟชั่นและการพยายามคัดง้างของเพศชายที่จะดำรงไว้ซึ่งความเป็นใหญ่ มันจึงไม่ใช่หนังที่มอบเพียงความบันเทิงแต่ยังชุบชีวิตและจิตวิญญาณของ Swinging London ได้อย่างคมคายอีกด้วย 


LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here