The Shining, The Exorcist, Shutter Island, Twin Peaks, Black Mirror …ถ้าจะมีอะไรสักอย่างเป็นจุดร่วมทรงพลังของหนังและซีรี่ส์เหล่านี้นอกเหนือไปจากพล็อตชวนสยองแล้วล่ะก็ สิ่งนั้นย่อมคือเสียงสกอร์อันสุดหลอนฝีมือคอมโพสเซอร์ชาวโปแลนด์ผู้ยิ่งใหญ่นาม “คริสช์ตอฟ เปนเดเรซกี” ผู้นี้!
อันที่จริงเปนเดเรซกีไม่ใช่คอมโพสเซอร์เพลงหนัง แต่งานดนตรีที่มีความเป็นนามธรรมและเสียงที่ฟังดูแปลกประหลาดให้ความรู้สึกทั้งหลอนทั้งอลังการ ทำให้มันถูกหยิบไปใช้ในหนังระทึกขวัญสยองขวัญของผู้กำกับชั้นครูมากมาย (นอกจากข้างต้น ยังมีอาทิ Wild at Heart กับ Inland Empire ของเดวิด ลินช์, Children of Men ของ อัลฟองโซ กัวรอง, Fearless ของปีเตอร์ เวียร์ หรือกระทั่งหนังแอ็กชันหายนภัยอย่าง Twister และงานใหม่ๆ อย่าง Demon หนังสยองขวัญโปแลนด์)
และก็เขาคนนี้นี่แหละที่เป็นแรงบันดาลใจใหญ่โตที่สุดของ จอห์นนี กรีนวู้ด มือกีตาร์-คีย์บอร์ดวงเรดิโอเฮดที่หันมาเอาดีกับการทำซาวด์แทร็คหนังของผู้กำกับ พอล โทมัส แอนเดอร์สัน (There Will Be Blood, Phantom Thread, The Master) เล่ากันว่า สหายข้ามรุ่นคู่นี้เจอกันครั้งแรกหลังคอนเสิร์ตครั้งหนึ่ง เมื่อฝ่ายหลังทำตัวเป็นแฟนบอยเข้าไปขอจับมือกับฝ่ายแรก หลังจากนั้นมิตรภาพทางดนตรีก็เบ่งบานด้วยการร่วมกันทำคอนเสิร์ตในปี 2011 ที่ทำให้เปนเดเรซกีหัวใจฟู เพราะมีคนหนุ่มสาวผู้อาจไม่เคยฟังงานของเขามาก่อนเลย เข้ามาชมแน่นออดิทอเรียมถึงกว่า 9 พันคน !
ในโลกดนตรีคลาสสิก เปนเดเรซกีเริ่มสร้างงานมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เป็นเจ้าของซิมโฟนี 8 ชิ้น, โอเปร่า 4 ชิ้น, คอนแชร์โตและคอรัลมากมาย โดยส่วนใหญ่ขึ้นชื่อว่านักดนตรีนำไปเล่นได้ “ยากมาก” (คนที่เคยทำสำเร็จก็เช่น แอนน์-โซฟี มุทเธอร์ นักไวโอลิน และ มาติสลาฟ รอสโตรโปรวิช นักเชลโล ซึ่งเป็นขั้นเทพทั้งคู่) และหลายเพลงต้องอาศัยพลังทั้งในการออกแบบและการคุมวงอย่างมหาศาล เช่น ซิมโฟนีหมายเลข 7 “Seven Gates of Jerusalem” ที่เขาแต่งขึ้นเพื่อฉลองสหัสวรรษที่ 3 ของเยรูซาเลมในปี 1996 ประกอบด้วยออร์เคสตราวงใหญ่, เครื่องเป่าทองเหลืองกับเครื่องเป่าลมไม้, วงประสานเสียง 3 วง, โซโล่ 5 ชิ้น และมีเสียงบรรยายอีกต่างหาก!
“ความมืดมิด หดหู่ และให้ความรู้สึกถึงลางร้าย” คืออารมณ์หลักในงานของเปนเดเรซกี ซึ่งน่าจะเป็นผลจากอดีตแสนเศร้าในชีวิตของเขาเอง เขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ผมเกิดและโตในโปแลนด์ วัยเด็กมีแต่สงคราม ลุงกับอาถูกเยอรมันฆ่าตาย บ้านเราตั้งอยู่กลางเมือง หลังบ้านคือค่ายกักกันคนยิว แม้เมื่อสงครามจบไปแล้ว เราก็ยังต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้รัฐบาลหุ่นอีกถึง 45 ปี เป็นยุคสมัยที่การเมืองไม่มีเสรีภาพใดๆ ทั้งนั้น ทุกสิ่งอยู่ใต้บังคับการของมอสโก”
แสงสว่างเริ่มสาดส่องเข้าสู่ชีวิตของเปนเดเรซกีในวัย 20 กว่า เมื่อโปแลนด์อนุญาตให้ประชาชนฟังเพลงจากชาติตะวันตกได้ เป็นครั้งแรกที่เขาได้ยินสรรพเสียงที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน โดยเฉพาะดนตรีอิเลกทรอนิกซึ่งมีอิทธิพลต่องานประพันธ์แนวทดลองช่วงแรกๆ ของเขาโดยตรง หลายเพลงที่เขาเขียนตอนนั้นจงใจเล่นกับความไม่สอดประสานของเมโลดี้และสื่อถึงประวัติศาสตร์ของโปแลนด์ที่ถูกต่างชาติครอบงำ ซึ่งความล้ำของงานเหล่านี้แจ้งเกิดให้เขาอย่างรวดเร็วในฐานะศิลปินอาวองการ์ดคนสำคัญ
อย่างไรก็ตาม เปนเดเรซกีแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ล้ำแท้จริงยิ่งกว่างานเหล่านั้น ก็คือตัวเขาเองนี่แหละ เพราะในเวลาต่อมา เขากลับประกาศเลิกทำเพลงในแนวทางนั่น เพราะพบว่า แทนที่มันจะนำพาศิลปะและสังคมไปสู่สิ่งใหม่ มันกลับส่งผลในทางทำลายมากกว่า เพราะ “การทำงานที่แลดูก้าวหน้า ได้สร้างภาพลวงตาให้เราหลงคิดไปว่าประเทศเรามีเสรีภาพ” นอกจากนั้นเขายังพบว่าการทำดนตรีทดลองได้มาถึงทางตันแล้ว ควรต้องค้นหาแนวทางใหม่เสียที
ตัวอย่างงานที่ยืนยันความเป็นคนคิดสร้างสรรค์ไม่เคยหยุดของเขา คือ The Polish Requiem ซึ่งเริ่มด้วยการเป็นเพลงชื่อ Lacrimosa ที่แต่งขึ้นใช้ในพิธีเปิดรูปปั้นอู่เรือเมืองกดัญสก์ เพื่อยกย่องเหล่านักสู้ที่ถูกรัฐบาลสังหารในการจลาจลปี 1970 ก่อนจะแต่งเพิ่มเป็นเพลง Mass ที่เปิดแสดงวงใหญ่ครั้งแรกในปี 1984, แต่งเพิ่มอีกในปี 1993 และสุดท้ายคือในปี 2005 ที่เพิ่มท่อนสุดท้ายเข้าไปอีกเพื่อใช้ในการเชิดชูเกียรติสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2
คริสช์ตอฟ เปนเดเรซกี จากเราไปแล้วเมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ขณะอายุได้ 86 ปี …วันนี้ Film Club จึงขอชวนไปฟังบางผลงานของเขาที่ถูกนำมาใช้หนังโด่งดังกัน :
The Shining
ผู้กำกับสแตนลีย์ คูบริคชอบเปนเดเรซกีมากถึงขั้นโทรไปขอให้ช่วยแต่งเพลงใส่หนังให้ แต่เปนเดเรซกีแนะนำงานที่แต่งไว้แล้วให้แทนคือ The Awakening of Jacob ซึ่งคูบริคก็นำมาใช้ทันที แถมยังเลือกเพิ่มอีก 5 เพลงคือ Utrenja II: Ewangelia, Utrenja II: Kanon Paschy, De Natura Sonoris No. 1, De Natura Sonoris No. 2 และ Polymorphia
ดูเขาคุมวงเอง
ตัดต่อสลับหนัง
ซาวด์แทร็คเต็มเรื่อง
The Exorcist (1973)
หนังสยองคลาสสิกอีกเรื่องที่เลือก Polymorphia มาใช้ และยังใช้งานของเปนเดเรซกีอีก 4 ชิ้นคือ Kanon For Orchestra and Tape, Cello Concerto, String Quartet (1960), The Devils of Loudon
Children of Men
ช่วงท้ายของหนังเรื่องนี้ใช้เพลง Threnody to the Victims of Hiroshima ที่เปนเดเรซกีแต่งในปี 1960 บรรเลงด้วยเสียงเครื่องเสียง 52 ชิ้น อุทิศแด่ผู้เสียชีวิตในฮิโรชิมาจากระเบิดนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกา
และเมื่อเพลงนี้ไปปรากฏในฉากระเบิดนิวเคลียร์สุดจะหลอนใน Twin Peaks: The Return ของ เดวิด ลินช์
Shutter Island
หนังระทึกหลอนจิตเรื่องนี้ของสกอร์เซซีใช้เพลง Symphony No.3 Passacaglia – Allegro Moderato และ Fluorescences