ท่ามกลางการแข่งขันของสตรีมมิ่ง ผมก็นึกถึง iflix ที่ถือเป็นสตรีมมิ่งเจ้าแรกๆ ที่บุกตลาดในไทย หลังจากเข้าไปดูก็พบว่า iflix ตอนนี้เปลี่ยนจากระบบสมาชิกเท่านั้น กลายเป็นดูฟรีเสียส่วนใหญ่ พอลองเข้าไปดูหมวดอนิเมะก็ต้องตกใจบวกใจหาย เพราะมีค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับเจ้าอื่น แต่ก็มีอนิเมะที่น่าสนใจอยู่หลายเรื่องด้วยกัน (แทบไม่เชื่อว่าจะมีให้ดู) โดยเฉพาะอนิเมะของค่าย Kadokawa ในช่วง 80s ที่หาดูยาก
ยุค 80s ถือเป็นยุคผลิบานด้านไอเดียเนื่องจากวงการแอนิเมชั่นได้หลุดจากกรอบของโทรทัศน์ที่ผลิตเพื่อเยาวชน จนเกิดงานมาสเตอร์พีซขึ้นมากมายเช่น Nausicaa of the Valley of the Wind (1984, ฮายาโอะ มิยาซากิ), Super Dimension Fortress Macross: Do You Remember Love? (1984, โชจิ คาวาโมริ และ โนโบรุ อิชิกุโระ), Angel’s Egg (1985, มาโมรุ โอชิอิ) รวมถึงงานที่พาอนิเมะดังระดับโลกอย่าง Akira (1988, คัสสิโระ โอโตโมะ) และนอกเหนือจากเรื่องที่ยกตัวอย่างไป ก็ยังมี Hidden Gems อย่าง 3 เรื่องนี้
Manie – Manine
นี่คือหนัง Anthology (มีตอนสั้นๆ หลายตอนมารวมกัน) ปี 1987 แนวไซไฟแฟนตาซี ที่ดัดแปลงจากเรื่องสั้นของ ทากุ มายามุระ
เรื่องแรก Labyrinth Labyrinthos กำกับโดย รินทาโร่ ผู้กำกับอนิเมะที่มีผลงานเยอะ เช่น Adieu Galaxy Express 999 และ Metropolis …เป็นเรื่องของเด็กหญิงซาจิที่เล่นซ่อนหากับแมวของเธอจนไปเจอกับเส้นทางลับหลังนาฬิกาเรือนใหญ่ที่จะนำเธอไปสู่เขาวงกตสุดพิสดาร ที่มีตัวตลกและสิ่งแปลกประหลาดมากมาย ความโดดเด่นคืองานภาพที่คล้ายอยู่ในความฝันอันหม่นมืดน่ากลัว จนมีการเทียบเคียงกับอีกด้านของ Alice in Wonderland
เรื่องที่สอง Running Man กำกับโดย โยชิอากิ คาวาจิริ ผู้กำกับ Ninja Scroll และได้กำกับ Animatrix ตอน Program ด้วย โดยเป็นเรื่องของนักแข่งรถแห่งอนาคตที่มีความเร็วเกินกว่าที่มนุษย์จะรับได้ ทำให้สุขภาพเขาเริ่มย่ำแย่และเห็นภาพหลอนของรถวิญญาณที่พยายามจะแซงเขา
หนังมีบรรยากาศของไซเบอร์พังค์เต็มเปี่ยม ความสกปรกพังๆ ของโลกอนาคต มีโทนภาพที่จริงจังและหลอกหลอน เห็นถึงความบ้าคลั่งของคนกับเทคโนโลยี
เรื่องสุดท้าย Construction Cancellation Order กำกับโดย คัตสึฮิโระ โอโตโมะ ว่าด้วยประเทศหนึ่งในอเมริกาใต้ที่เกิดการรัฐประหาร ทำให้งานรับเหมาก่อสร้างของบริษัทญี่ปุ่นที่ถูกจ้างโดยรัฐบาลก่อนหน้านั้นต้องถูกยกเลิก ซึโตมุ จึงเป็นตัวแทนจากบริษัทญี่ปุ่นที่ถูกส่งไปหยุดยั้งการก่อสร้างที่ดำเนินโดยเหล่าหุ่นยนต์ แต่หุ่นยนต์ที่เป็นหัวหน้าคนงานกลับไม่เชื่อฟังเขา
สิ่งที่เราเห็นถึงความเป็นโอโตโมะคือฉากวินาศสันตะโร ภาพการทำลายล้าง ซึ่งนอกจากในเรื่องนี้และงานคลาสสิคของเขาอย่าง Akira แล้ว ก็ยังปรากฏในงานถัดๆ มาอย่าง Steam Boy, Memories (ตอน Cannon Fodder) และ Short Peace (ตอน Combustible) ด้ว
ดูได้ที่ iflix (หรือผ่านแอพ iflix บนมือถือ)
The Dagger of Kamui (1985, รินทาโร่)
ดัดแปลงจากนิยายของ เท็ตสึ ยาโนะ – เป็นคนละเรื่องกับ “คามุยยอดนินจา” หรือ Kamui Gaiden ที่เคยสร้างเป็นซีรีส์ (ฉายช่อง 9 เมื่อนานมาแล้ว) และถูกสร้างเป็นหนังคนแสดงในปี 2009 โดยเรื่องนั้นดัดแปลงจากมังงะชื่อเดียวกันและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ The Dagger of Kamui – หนังเล่าเรื่องของ จิโร่ เด็กกำพร้าที่วันหนึ่งแม่บุญธรรมและพี่สาวบุญธรรมถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยมแถมยังโดนชาวบ้านหาว่าเป็นฆาตกรและขับไล่เขาจากหมู่บ้าน จิโร่หนีมาเจอ เทนไค พระผู้ชี้นำเขาให้ไปล้างแค้นนินจาฆาตกรตัวจริง ก่อนที่เทนไคจะนำจิโร่ไปฝึกวิถีแห่งนินจาจนเก่งกาจ
หนังมีองค์ประกอบที่น่าสนใจมากมาย ตั้งแต่การที่จิโร่มีแม่เป็นชาวไอนุ ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองทางตอนเหนือของญี่ปุ่น แล้วการที่มีช่วงหนึ่งจิโร่ไปอาศัยอยู่กับเผ่าอินเดียนแดงซึ่งเป็นชนพื้นเมืองของอเมริกาเหนือก็เหมือนเป็นการล้อสถานะของกันและกัน เพราะชนพื้นเมืองของทั้งสองประเทศต่างต้องสูญเสียดินแดนและความเป็นอยู่ให้กับผู้รุกราน หรือการเข้ามาของ แซม ตัวละครทาสผิวดำที่นับถือจิโร่ และยังมี ชิโค่ หญิงชาวฝรั่งเศสผู้ถูกอินเดียนแดงเก็บมาเลี้ยงตั้งแต่เด็ก นี่จึงเป็นอนิเมะที่เต็มไปด้วยตัวละคร “คนนอก”
อีกทั้งมีการใส่ฉากหลังของประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นช่วงสงครามปฏิวัติเมจิที่ล้มล้างระบอบอำนาจของโชกุนโตกุกาว่า คนญี่ปุ่นเริ่มอยากออกไปโลกกว้างเพื่อเรียนรู้วิทยาการต่างๆ หลังจากที่ถูกอำนาจของโชกุนสั่งปิดประเทศมาหลายร้อยปี จิโร่ได้พบคนในประวัติศาสตร์อย่าง ไซโก ทากาโมริ หนึ่งในผู้นำคณะปฏิวัติจากแคว้นซัตสึมะ หรือกระทั่ง มาร์ค เทวน ที่เป็นนักเขียนอเมริกันชื่อดังก็มีส่วนร่วมในการผจญภัยของจิโร่ด้วย
แต่สิ่งที่โดดเด่นจริงๆของ The Dagger of Kamui คือการออกแบบที่มีการใช้เทคนิคหลากหลายทางภาพยนตร์ รวมถึงเทคนิคที่มีเฉพาะในอนิเมชั่นอย่างความยืดหยุ่น (Elasticity) หรือแม้กระทั่งซาวด์ดีไซน์และความเงียบ การใช้สีโมโนโทนในบางฉาก และฉากแอคชั่นอันสวยงามทั้งที่เต็มไปด้วยความรุนแรง
ดูได้ที่ iflix (หรือผ่านแอพ iflix ในมือถือ)
The Five Star Stories (1989, คาสึโอะ ยามาซากิ)
‘ตำนานเบญจดารา’ ของยามาซากิ ผู้มีผลงานฮิตใน 80s อย่าง Urusei Yatsura หรือ ‘ลามู ทรามวัยต่างดาว’ และ Mezon Ikkoku ‘บ้านพักหรรษา’ โดย The Five Star Stories นั้นดัดแปลงจากมังงะชื่อเดียวกันของ มาโมรุ นากาโนะ
เรื่องของกลุ่มดาวโจ๊กเกอร์ ที่ทำสงครามกันโดยใช้ “มอเตอร์เฮดด์” หุ่นยนต์ขนาดยักษ์ ซึ่งคนขับมอเตอร์เฮดด์นั้นจะต้องเป็นมนุษย์ที่มีความสามารถสูงและจะถูกเรียกว่า “เฮดไลน์เนอร์” การจะบังคับระบบอันซับซ้อนได้จำเป็นต้องมี “ฟาติมา” มนุษย์เทียมร่างเป็นหญิงมาช่วยจัดการระบบปลีกย่อยเพื่อสนับสนุนเฮดไลนเนอร์ เมื่อเหล่าเฮดไลน์เนอร์จากอาณาจักรต่างๆ ได้มารวมตัวกันที่งานเปิดตัวฟาติมา “ลาคิซิส” ผลงานชิ้นเอกของ ดร. บาลันเซ่ โดยงานนี้จะมีการเลือกว่าเฮดไลนเนอร์คนไหนจะได้รับลาคิซิสไปเป็นคู่หู
The Five Star Stories นั้นเป็น Mecha Sci-fi หรือไซไฟที่มีหุ่นยนต์ยักษ์ซึ่งเป็นที่นิยมของวงการอนิเมะ ผู้เขียนมังงะของเรื่องนี้อย่างนากาโนะก็เคยมีส่วนร่วมในการออกแบบคาแรคเตอร์และออกแบบเมคานิคดีไซน์ใน Heavy Metal L-gaim (1984) หลังจากนั้นนากาโนะจึงเริ่มเขียนเรื่อง The Five Star Stories โดยอิงโครงเรื่องจาก Heavy Metal L-gaim ในขณะที่ L-gaim นั้นเล่าฝั่งปฎิวัติที่ต้องการล้มจักรวรรดิแต่ The Five Star Stories เล่าผ่านมุมมองของจักรพรรดิอามาเทราสุ เทพแห่งแสงผู้ปกครองจักรวาล ซึ่งนากาโนะได้แรงบันดาลใจจากมหากาพย์ของอินเดียมาผสมกับตำนานเทพเจ้าของญี่ปุ่น
The Five Star Stories จัดเป็นมังงะที่โด่งดังมากของญี่ปุ่นและยังคงเขียนต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเพราะงานดีไซน์ของนากาโนะ ทั้งตัวละคร เสื้อผ้า สถาปัตยกรรม และสิ่งที่เป็นเหมือนไอคอนของเรื่องก็คือดีไซน์ของเหล่ามอเตอร์เฮดด์ที่ทั้งเท่ สง่างาม และน่าเกรงขาม จนว่ากันว่าเป็นงานออกแบบหุ่นยนต์ที่สวยที่สุด
สำหรับตัวอนิเมะ The Five Star Stories นั้นมีความสวยงามตามสไตล์แอนิเมชั่น 80s ซีนหุ่นยนต์ที่ถึงจะมาน้อยแต่ทรงพลัง มีฉากต่อสู้ที่รุนแรงเลือดสาด เป็นเหมือนบทนำไปสู่จักรวาลของ The Five Star Stories ให้ติดตามอ่านฉบับบมังงะต่อไป
ดูได้ที่ iflix (หรือผ่านแอพ iflix ในมือถือ)