Home Article Behind the Scene “เกือบจะไม่ได้เป็น The Godfather” 10 เกร็ดสำคัญ วิบากกรรมเบื้องหลังการถ่ายทำ

“เกือบจะไม่ได้เป็น The Godfather” 10 เกร็ดสำคัญ วิบากกรรมเบื้องหลังการถ่ายทำ

“เกือบจะไม่ได้เป็น The Godfather” 10 เกร็ดสำคัญ วิบากกรรมเบื้องหลังการถ่ายทำ

1) The Godfather เป็นโปรเจกต์ที่ไม่มีผู้กำกับคนไหนอยากจับ และคอปโปลาเกือบโดนไล่ออกระหว่างถ่ายทำ

ก่อนตกมาถึงมือ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา หนังเรื่องนี้ของค่ายพาราเมาท์เคยโดนผู้กำกับดังๆ ปฏิเสธมาแล้วถึง 12 คน ทั้งอีเลีย คาซาน, อาร์เธอร์ เพนน์, ริชาร์ด บรูคส์, คอสตา-กาฟราส, เซอร์จิโอ เลโอเน, ปีเตอร์ บ็อกดาโนวิช ฯลฯ และเมื่อคอปโปลาตกลงมากำกับ ทางค่ายก็ไม่ชอบ “หนังเจ้าพ่อพูดมากท่าทางเศร้าๆ” แบบที่เขาทำอีก แถมเขายังถ่ายช้ากว่ากำหนดมาก ซึ่งทำให้ค่ายหัวเสียสุดๆ ถึงขั้นมีการเตรียมผู้กำกับสำรองไว้รอเรียบร้อยแล้ว

กระทั่งคอปโปลาถ่ายฉากไมเคิลฆ่าโซลอซโซกับแม็กคลัสกี้นั่นเองที่ค่ายชักเริ่มชอบใจในความโหดและยอมให้เขาทำต่อ

(เซอร์จิโอ เลโอเนปฏิเสธโปรเจกต์นี้ในตอนแรกเพราะรู้สึกว่าพล็อตเชิดชูมาเฟียไม่เห็นน่าสนใจ แต่ต่อมาเขาก็เสียใจมากและไปทำหนังเจ้าพ่อของตัวเองบ้างคือ Once Upon a Time in America ปี 1984)


2) คอปโปลาเองก็เกือบปฏิเสธหนังเรื่องนี้เช่นกัน

เหตุผลเดียวที่เขายอมมาทำ ก็เพราะตอนนั้นบริษัทของเขากับเพื่อนรักอย่าง จอร์จ ลูคัส กำลังติดหนี้ค่ายวอร์เนอร์บราเธอร์สก้อนใหญ่ สืบเนื่องจากหนังที่พวกเขาสร้างคือ THX 1138 (1971 – ลูคัสกำกับ) ใช้เงินเกินงบถึง 4 แสนเหรียญ ลูคัสจึงยุให้คอปโปลามารับงานนี้เพื่อหาเงินใช้หนี้


3) พาราเมาท์อยากให้เปลี่ยนฉากหลังของเรื่องเป็นปัจจุบัน แต่คอปโปลาไม่ยอม

พาราเมาท์ต้องการให้คอปโปลาทำ The Godfather เป็นหนังเจ้าพ่อทุนต่ำและเล่าเรื่องในยุคปัจจุบัน รวมทั้งย้ายไปถ่ายทำที่แคนซัสซิตี้ซึ่งต้นทุนจะถูกกว่าถ่ายในนิวยอร์กซิตี้ แต่คอปโปลายืนกรานว่านี่ต้องเป็นหนังดราม่าพีเรียด ฉากหลังอยู่ในนิวยอร์กยุค 40-50 เท่านั้นเพื่อความเข้มข้นของเรื่องราว


4) พาราเมาท์ไม่อยากได้มาร์ลอน แบรนโดมาแสดงนำ

ทันทีที่ได้ยินข้อเสนอของคอปโปลาว่าแบรนโดเหมาะมากกับบทวีโต คอร์เลโอเน ผู้บริหารพาราเมาท์ในตอนนั้นก็ตอบว่า “ดาราคนนี้จะไม่มีวันได้เล่นหนังค่ายเราเด็ดขาด” แล้วก็กดดันให้คอปโปลาไปเลือกลอเรนซ์ โอลิเวียร์มาแทน (นอกจากนั้นยังมีข่าวว่า ออร์สัน เวลส์ก็อยากมาเล่นบทนี้มากๆ ถึงขั้นยืนยันว่าจะยอมลดน้ำหนักให้)

อย่างไรก็ดี หลังเจอลูกตื๊อหนักหน่วงจากคอปโปลา ค่ายก็ใจอ่อน แต่ขอตั้งเงื่อนไข 3 ข้อว่า แบรนโดจะต้องยอมมาทำสกรีนเทสต์ก่อน, หากได้รับเลือก แบรนโดต้องยอมเล่นหนังเรื่องนี้ฟรี และถ้าแบรนโดมีพฤติกรรมแย่ๆ ในกองถ่ายจนเกิดความเสียหาย เขาจะต้องจ่ายเงินรับผิดชอบ

เมื่อดีลค่ายสำเร็จแล้ว คอปโปลาก็ต้องไปดีลแบรนโดมาให้ได้ เขาทำให้แบรนโดยอมมาสกรีนเทสต์ด้วยการหลอกว่า “คุณได้รับเลือกแล้ว ขอนัดมาลองเมคอัพหน่อย” จากนั้นเขาก็นำฟุตเตจการเทสต์นี้กลับไปให้ทางค่ายดู ซึ่งโชคดีที่ค่ายชอบมากถึงขนาดยอมให้แบรนโดมาเล่นและยอมยกเลิกเงื่อนไขข้อ 2 กับ 3 อีกต่างหาก

ฝ่ายแบรนโดนั้น กว่าจะยอมตกลงมาเล่นก็มีเงื่อนไขเช่นกัน เขาบอกคอปโปลาว่าจะโอเคมาแสดงให้ ต่อเมื่อไม่มีเบิร์ต เรย์โนลด์ส (ซึ่งเกือบจะได้เล่นเป็นซอนนี่) ร่วมแสดงเท่านั้น เพราะเขามองว่าเรย์โนลด์สเป็นแค่ “ดาราทีวี” ไม่ใช่ “ดาราหนัง”


5) พาราเมาท์ก็ไม่อยากได้อัล ปาชิโนมาแสดงนำ

พวกเขาอยากได้โรเบิร์ต เรดฟอร์ด หรือไม่ก็ไรอัน โอนีล มาเล่นเป็นไมเคิล คอร์เลโอเน แต่คอปโปลาดึงดันว่าต้องเป็นปาชิโนเท่านั้น และมันก็กลายเป็นหนึ่งในสิ่งที่ดีที่สุดของหนัง (ปาชิโนได้ค่าตัวจากบทนี้แค่ 35,000 เหรียญ -เท่ากับเจมส์ คานและไดแอน คีตัน- แต่หลังจากนั้นเขาไปโด่งดังสุดๆ จาก Scarecrow กับ Serpico และเมื่อได้รับการทาบทามให้กลับมาเล่น The Godfather: Part II เขาเลยขึ้นค่าตัวเป็น 6 แสนถ้วน)


6) พาราเมาท์ไม่ชอบที่หนัง “มืดเกินไป”

หลังจากได้เห็นฟุตเตจ ผู้บริหารค่ายก็บ่นอุบว่าหนังมืดเหลือเกินและพยายามแนะนำให้จัดแสงมากกว่านี้ แต่ กอร์ดอน วิลลิส ผู้กำกับภาพยืนยันว่าแสงเงาแบบนี้แหละเหมาะสมกับการถ่ายทอดเรื่องราวธุรกิจมีเงื่อนงำของครอบครัวคอร์เลโอเนมากที่สุด (วิลลิสเป็นผู้กำกับภาพที่ได้รับฉายาว่า “The Prince of Darkness”)

คอปโปลาเองก็ช่วยวิลลิสเถียงกับค่ายจนชนะ ดูราวกับเป็นผู้กำกับและผู้กำกับภาพที่รักกันมาก แต่ความจริงแล้ว ความสัมพันธ์ของทั้งสองในกองถ่ายนั้นสุดจะย่ำแย่ พวกเขาเคยทะเลาะกันในออฟฟิศแล้วคอปโปลาทุ่มของลงพื้นเสียงโครมครามจนคนนอกห้องตกใจเพราะนึกว่าเป็นเสียงกระสุนที่คอปโปลายิงตัวตายไปแล้ว สาเหตุสำคัญข้อหนึ่งของการวิวาทก็คือ วิลลิสเป็นตากล้องที่โหดมาก ชอบจัดไฟมืดๆ และบังคับให้นักแสดงยืนตรงจุดที่กำหนดเป๊ะๆ ถ้าใครยืนผิดเขาจะปิดไฟแล้วสั่งให้ถ่ายไปเลยในความมืด ทำให้คอปโปลาต้องหัวร้อนออกมาทะเลาะกับวิลลิสแทนนักแสดงบ่อยๆ


7) โรเบิร์ต เดอ นีโรเกือบได้เล่นเป็นตัวอื่น

ความจริงแล้วเดอ นีโรมาแคสต์ในบทซอนนี่ แต่เป็นคอปโปลาอีกนั่นแหละที่เล็งเห็นว่าบุคลิกของเดอ นีโรดูเหี้ยมโหดรุนแรงเกินบทนี้ไปเยอะ และตัดสินใจเลือกเขามารับบทวีโต คอร์เลโอเนใน The Godfather: Part II แทน ซึ่งก็เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องน่าคารวะจริงๆ และเดอ นีโรชนะออสการ์ไปจากบทนี้


8) เปลี่ยนวิกฤติให้กลายเป็นโอกาส

หน้าตาดูเป็นหนังฟอร์มยักษ์ แต่เบื้องหลังที่แท้จริงสุดจะกระเบียดกระเสียร หลายครั้งคอปโปลาได้เวลาถ่ายทำน้อยจนต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ด้วยความอัจฉริยะมันก็ออกมาเป็นความงดงามจนได้

ตัวอย่างเช่น ฉากเลนนี่ มอนทานาซึ่งรับบทเป็นลูกา ต้องคุยกับแบรนโดในบทวีโต แต่มอนทานา (ซึ่งเป็นนักมวยปล้ำมาก่อน) เกิดประหม่าซะจนแม้จะถ่ายอยู่ทั้งวันก็ยังพูดผิดๆ ถูกๆ คอปโปลาไม่มีเวลาถ่ายใหม่แล้วจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มฉากเล็กๆ ให้มอนทานาทำเป็นซ้อมพูดคนเดียวก่อนไปเจอเจ้าพ่อ แล้วเอานำมาแทรกไว้ก่อนถึงฉากคุยกับแบรนโดจริงๆ อันเป็นวิธีแก้ที่ทำให้คนดูได้เห็นว่าลูกาคงกลัววีโตมาก และการพูดประหม่าของเขาไม่ใช่เพราะนักแสดงเล่นแข็งนะ แต่เป็นเพราะตัวละครกลัวมากๆ ต่างหากล่ะ


9) เกือบจะต้องฉายแบบมีพักครึ่ง

หนังฉบับที่คอปโปลาทำส่งพาราเมาท์ตอนแรกนั้น มีความยาว 2 ชม. 6 นาที แต่ทางค่ายดูแล้วไม่ชอบใจและสั่งให้คอปโปลาเพิ่มฉากเกี่ยวกับครอบครัวคอร์เลโอเนเข้าไปอีก จนหนังฉบับไฟนอลยาวเพิ่มอีกเกือบ 50 นาที (คือยาว 175 นาทีหรือเฉียด 3 ชั่วโมง) ซึ่งก็ถือว่ายาวเกินมาตรฐานหนังฮอลลีวู้ดไปมาก ทางค่ายจึงดำริจะให้มีการพักครึ่ง (หลังฉากยิงโซลอซโซ) ด้วย แต่คอปโปลาไม่โอเคเพราะคิดว่ามันจะทำลายอารมณ์ต่อเนื่องของคนดูได้ สุดท้ายหนังจึงได้ฉายรวดเดียวแบบไม่มีการพัก

10) ทะเลาะกันยันชื่อหนัง

คอปโปลาต้องสู้ยิบตากระทั่งเรื่องชื่อหนัง เขายืนยันว่าต้องใช้ “Mario Puzo’s The Godfather” (และกราฟิกดีไซน์ที่เป็นภาพเส้นเชือกเชิดหุ่น โดยมีชื่อพูโซอยู่ด้านบน) ไม่ใช่แค่ “The Godfather” เฉยๆ เพราะบทหนังของเขาซื่อตรงต่อบทต้นฉบับของพูโซมากจนเขาเชื่อว่าสมควรให้เครดิตแก่พูโซด้วย


เกร็ดแถมท้าย :

ท้ายที่สุด หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จทั้งรายได้และรางวัลขนาดไหนนั้นคงเป็นที่รู้กันอยู่แล้ว แต่อีกหนึ่งหลักฐานยืนยันความสำเร็จของมันที่เราอาจไม่ค่อยได้ยินกันบ่อยนักก็คือ ในปี 1974 สถานีเอ็นบีซีนำ The Godfather มาฉายออนแอร์ 2 คืน (เสาร์ 16 และจันทร์ 18 พฤศจิกายน) ตั้งแต่ 3 ทุ่มถึง 5 ทุ่ม และผลคือ เมื่อถึงเวลา 5 ทุ่มเป๊งของทั้งสองคืน การประปาของนิวยอร์กซิตี้ก็ต้องเจอปัญหาน้ำล้นท่อ เพราะคนทั่วนิวยอร์กนั่งดูหนังเรื่องนี้ติดเก้าอี้หนึบไม่ยอมลุก จนหนังจบปุ๊บจึงค่อยวิ่งเข้าส้วมและกดชักโครกพร้อมกันทั้งเมือง

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here