Avatar: The Way of Water – ‘คุณพ่อรู้ดี’ ที่ไม่เคยหายไปแม้ย้ายเผ่า

ในแง่หนึ่ง หนัง Avatar: The Way of Water ไม่ทำให้ใครหลายคนผิดหวัง โดยเฉพาะในแง่ของ CG ที่ถ่ายทำโลกใต้น้ำออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ แม้หนังจะยาวถึงสามชั่วโมงกว่า แต่ทุกฉากล้วนเป็นฉากที่ควรค่าแก่การนั่งดู ทำให้ไม่อาจพลาดสายตาไปได้แม้แต่ฉากเดียว

Avatar: The Way of Water เป็นหนังภาคต่อ เรื่องราวเท้าความจากภาคเดิมที่ เจค ซัลลี นายทหารพิการคนหนึ่ง ได้เข้าร่วมปฏิบัติการกวาดล้างชาวนาวีบนดาวแพนดอรา ดาวที่มนุษย์โลกตั้งใจสร้างเป็นอาณานิคมหลังโลกล่มสลาย แต่แล้วเขากลับรับรู้ถึงคุณค่าอันลึกซึ้งของชีวิตที่อยู่บนนั้นและกลายเป็นส่วนหนึ่งของชาวเผ่านาวีโดยสมบูรณ์แบบผ่านร่างอวตารที่สร้างขึ้นเพื่อเขา เจคได้กลายเป็นผู้นำของชาวเผ่านาวี เป็นวีรบุรุษสงครามที่ชาวเผ่าเรียกขานกันว่า โทรุคมัคโต เขาได้แต่งงานกับเนทีรี ลูกสาวของหัวหน้าเผ่าคนก่อน และมีลูกด้วยกัน 4 คน

ชีวิตของเจคคงจะเป็นชีวิตที่สงบสุขดี หากผู้พันควอริทช์ไม่กลับมา ทั้งที่เขาที่เสียชีวิตไปแล้วหลังชาวนาวีขับไล่กลับไปยังโลก ผู้พันควอริทช์เป็นผู้นำของกองรบที่ต้องการเข้ายึดครองแพนดอรา ชาวแพนดอราเรียกมนุษย์โลกเหล่านี้ว่า “คนจากฟ้า (Sky People)” และคนที่แค้นคนพวกนี้มากที่สุดคงหนีไม่พ้นเนทีรีเพราะพวกเขาทำให้ผู้เป็นที่รักของเธอตายไปมากมาย

แนวคิดของการกลับไปคืนดีกับพระแม่ธรณีหรือ ไกอา (Gaia) ดูจะเป็นแนวคิดที่ชัดเจนมากที่สุดในภาคนี้ อันที่จริงมันก็ชัดมาก ๆ อยู่แล้วในภาคก่อน แต่ในสถานการณ์ที่แนวคิดอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกำลังมาแรง ดูเหมือนว่าการสร้าง CG อลังการเพื่อให้เห็นความสวยงามของท้องทะเลและสัตว์ทะเลจะมีวาระซ่อนเร้น (hidden agenda) ให้เรากลับไปคืนดีกับธรรมชาติ ครอบครัวซัลลีที่ประกอบไปด้วยหกชีวิตต้องระหกระเหินจากเผ่าไปเพราะผู้พันควอริทช์มีเป้าหมายในการสังหารเจค พวกเขามุ่งไปในทิศทางของหมู่เกาะและลี้ภัยในกลุ่มชาวนาวีทะเล ผู้มีวิถีต่างออกไป

ภาพของพระแม่ธรณีที่กลายเป็นวัตถุแห่งการโดนกระทำปรากฏขึ้นหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นตอนที่คนจากฟ้าลดความเร็วของจรวดทำให้เกิดลำแสงเป็นทางตรงจี้ลงไปยังป่าของแพนดอรา เหล่าสิงสาราสัตว์ต้องหนีตายจากไฟป่าอันเกิดจากไอพ่นจรวด ภาพการ “ซอกซอน (Penetrate)” ลงไปยังผืนดินของพระแม่ธรณี ในแง่หนึ่ง-ถ้าคิดตามทฤษฎีของฟรอยด์-เปรียบเสมือนการข่มขืน และพระแม่ธรณีที่เป็นหญิงนั้นถูกทำให้กลายเป็นวัตถุไร้ค่าซึ่งต้องตอบสนองต่อความต้องการของเพศชาย ยังไม่นับการมาถึงของเหล่าเครื่องจักรที่กระทำการหักร้างถางพงบนผืนดินแพนดอราโดยตรงที่สะท้อนให้เห็นว่าคนจากฟ้าเห็นธรรมชาติเป็นวัตถุไร้ชีวิตเพียงไร

ตามทฤษฎีของเจมส์ เลิฟล็อค ไกอาหรือพระแม่ธรณีซึ่งเป็นแทพกรีกถูกใช้เป็นชื่อของแนวคิดว่า ทุกสิ่งในโลกล้วนสัมพันธ์กันเพื่อให้เกิดสมดุล และสมดุลนั้นก็เอื้อให้เกิดชีวิต ในทฤษฎีของเลิฟล็อค ธรรมชาติไม่เคยเป็นสิ่งไร้ชีวิต ต้นไม่แต่ละต้นในป่ามีใยประสาทเชื่อมโยงส่งข้อมูลและสารอาหารแก่กันและกัน อาจเห็นตัวอย่างนี้ได้ชัดในต้นไม้ที่ผลัดใบต่างฤดูกัน ในกรณีนี้ต้นไม้ที่ผลัดใบในหน้าหนาวจะได้รับสารอาหารจากไม้ที่ไม่ผลัดใบ และต้นไม้ยังเตือนภัยให้กันอีกด้วย ถ้าช่วงไหนใกล้มีไฟป่า ต้นไม้จะผลิตสารเคมีที่จำเป็นเพื่อให้มันยืนต้นสู้ไฟได้ น่าทึ่งที่ลูกหลานของเหล่าต้นไม้สามารถยืนหยัดรอดมาได้แม้เกิดไฟป่า

ดูเหมือนว่า Avatar ภาคนี้จะสะท้อนวิธีคิดแบบไกอาอยู่เหมือนกัน ในท่ามกลางลูก ๆ ของเจคกับเนทีรีที่ได้ความกล้าจากพ่อมาเต็ม ๆ มีลูกอยู่คนหนึ่งซึ่งเป็นลูกเลี้ยง เธอเกิดจากร่างอวตารของนักวิทยาศาสตร์หญิงซึ่งตั้งครรภ์ระหว่างที่ร่างถูกแช่ในตู้ไคโรพอด การตั้งครรภ์นี้เป็นปริศนา และคีรีก็ถือกำเนิดขึ้นมาโดยมีครอบครัวซัลลีรับเป็นลูกบุญธรรม

ความน่าสนใจของตัวละครคีรีก็คือ เธอสามารถสื่อสารกับธรรมชาติได้ เธอรับรู้ถึง “ลมหายใจ” ของเอวาหรือพระแม่ธรณีของชาวนาวี นักวิทยาศาสตร์ที่เจคเรียกมาช่วยต่างบอกว่า การเชื่อมโยงกับธรรมชาติในระดับเหนือคนอื่น ๆ ของเธอเป็นโรคทางจิตแบบหนึ่งซึ่งจะทำให้เห็นภาพหลอน แต่จริง ๆ แล้วศักยภาพของคีรีที่จะเชื่อมโยงกับธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่อาจเปรียบเสมือนองค์ความรู้ที่ถูกทิ้งให้สาบสูญไปในโลกสมัยใหม่ของเรา นั่นคือองค์ความรู้จากเหล่าผู้นำทางจิตวิญญาณ (Shaman) หรือหมอยา

จากหนังสือ Homo Gaia มนุษย์กาญ่า เขียนโดยสรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ มีหลักฐานว่าคนสามารถสื่อสารกับพืชและสัตว์ได้ ยกตัวอย่างว่า ที่มนุษย์รู้ว่าพืชใดกินได้หรือกินไม่ได้ อาจไม่ได้มาจากการลองผิดลองถูกอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เกิดจากการที่หมอยาของเผ่าต่าง ๆ สื่อสารกับพืชได้โดยตรง การรับรู้ได้ผ่านสมาธิ (Psychic) อาจเป็นสิ่งที่มนุษย์สมัยใหม่เห็นว่าเป็นเรื่องงมงาย ทั้งที่ในอดีตมันช่วยชีวิตมนุษย์เอาไว้ นักวิทยาศาสตร์สามารถพิสูจน์ได้ว่าพืชมีเสียงและในโลกนี้ก็มีคนที่สามารถสื่อสารกับสัตว์ได้จริง ๆ ในระดับที่รู้ว่าสัตว์ตัวนั้นต้องการเปลี่ยนชื่อ

การเชื่อมโยงกับธรรมชาติของชาวนาวีอาจสะท้อนเรื่องราวเหล่านี้ ชาวนาวีเชื่อมโยงกับสัตว์โดยใช้อวัยวะหนึ่งที่อยู่ข้างหลัง และสำหรับชาวทะเล พวกเขาสามารถพูดคุยกับเหล่าวาฬอพยพซึ่งเปรียบเสมือนสมาชิกในครอบครัวของตัวเองได้ ชาวนาวีทุกคนต้องเข้าพิธีเป็นหนึ่งเดียวกับเอวา ไม่ว่าจะเป็นชาวบกหรือชาวทะเล และในเอวานี้เองที่พวกเขาค้นพบทุกสิ่ง ทุกพลังงานเป็นเพียงการยืมใช้และไม่เคยสูญหายไป บรรพบุรุษและผู้วายชนม์ต่างสถิตอยู่ในเอวาและพวกเขาไม่เคยแยกจากกันจริง ๆ พวกเขายังคงเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ดำรงอยู่ในทุกที่ที่คนที่มีชีวิตเยื้องย่างไป

เราจะกลับไปพูดถึงการที่พระแม่ธรณีถูกกระทำกันอีกสักเล็กน้อย ในเรื่องนี้ดูเหมือนตัวละครที่เป็นตัวร้ายจะมาจากขั้วที่เป็นเพศชาย หรืออารยธรรม รวมทั้งเทคโนโลยี และเขากระทำต่อป่าซึ่งเป็นเพศหญิง แต่จุดที่น่าสังเกตก็คือ คนที่เป็นศูนย์กลางของเรื่องก็คือเจค ซึ่งเป็นมนุษย์ผู้ชายที่ย้ายฝั่งไปอยู่กับชาวนาวี หนังเริ่มเรื่องมาด้วยการบอกว่า “พ่อคือผู้ที่ปกป้อง” และหลังเกิดภัยคุกคามจากชาวฟ้า เจคเองก็ยังคงยึดติดกับการทำกับครอบครัวเหมือนเป็นกองทหาร คนที่ดูเหมือนจะเข้าใจอะไร ๆ ดีกว่าก็คือเนทีรี เธอรู้ว่าตามวิถีของชาวนาวี ความกลัวไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหา แต่สุดท้ายเธอก็เลือกเชื่อเจคและอพยพไป ปัญหาของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่คุณภาพของการตัดสินใจ แต่อยู่ที่เสียงของใครดังกว่า และเสียงนั้นยังคงเป็นเสียงของผู้ชายผิวขาว (ที่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นสีฟ้าแล้ว)

ในความเป็นเจค มันมีความ Mansplaining อยู่เยอะพอสมควร เนทีรีแสดงออกทุกอย่างอย่างตรงไปตรงมาซึ่งนั่นอาจจะดีต่อสุขภาพจิตมากกว่าด้วยซ้ำ ชาวนาวีเองก็แสดงออกอย่างตรงไปตรงมา แต่ทั้งเรื่อง ดูเหมือนความกลัวของเจคจะเป็นสิ่งชี้นำทุกคน เขาบอกลูก ๆ และเนทีรีว่าต้องทำยังไงและลามไปถึงการบอกชาวนาวีทะเลว่าต้องทำยังไง มองในแง่หนึ่ง อาจเป็นเพราะเขาเป็นคนเดียวที่เข้าใจว่าคนจากท้องฟ้าคิดอะไรอยู่ พวกมนุษย์มีความซับซ้อนและไม่ตรงไปตรงมา แต่หนังก็เหลือช่องไว้ให้คิดเหมือนกันว่า ถ้าชาวนาวีโต้ตอบอย่างตรงไปตรงมาจะเกิดอะไรขึ้น

อารมณ์โกรธของผู้หญิงดูเหมือนจะถูกทำให้เป็นวัตถุไร้สาระและไร้แก่นสาร ดังที่ผู้พันควอริทช์กล่าวหาว่าเนทีรีเป็นบ้า ในขณะที่เมื่อผู้ชายโกรธ มันดูจะทำให้เขาสมชาย สุดท้ายหนังจึงยังกลายเป็นการฉะระหว่างผู้ชายแบบแมน ๆ ที่มีเพียงมีดและมือเปล่า ความเสียใจของเนทีรีกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เธอไม่เข้มแข็ง และกลายเป็นเจคอีกเหมือนเดิมที่ต้องมาบอกเนทีรีว่าเธอต้องทำยังไง

น่าเสียดายที่บทของคิรีซึ่งดูน่าสนใจมากที่สุด กลับถูกเผยออกเพียงเล็กน้อย แต่ก็อาจเป็นส่วนที่สามารถสร้างต่อเป็นภาคหน้าได้ สิ่งที่น่าเสียดายจริง ๆ ก็คือ เหล่าผู้หญิงในเรื่องสู้สุดใจขาดดิ้นมาก แต่คนที่ได้รับเครดิตกลับไปยังกลายเป็นผู้ชายที่พูดปิดเรื่องว่า “พ่อคือผู้ปกป้อง” การหายไปของผู้หญิงในฐานะฉากหน้าของการแก้ปัญหาทั้งหมดสะท้อนมุมมองของผู้ชายผิวขาวที่คิดว่าตนเองต้องเป็นผู้นำอยู่เสมอ และเป็นผู้ชายผิวขาวที่ take credit จากความทุ่มเทของผู้หญิงในครอบครัว ถือว่าเป็นการทำให้ผู้หญิงกลายเป็น “ฉากหลัง (backgrounding)” หรือกลายเป็นเพียงส่วนสนับสนุนที่ไม่สลักสำคัญ ทั้งที่ผู้ชายไม่อาจดำรงอยู่ได้โดยปราศจากพวกเธอ

ความย้อนแย้งของหนังจึงอยู่ที่การนำเสนอวิธีคืนดีกับพระแม่ธรณีซึ่งเป็นหญิง แต่กลับใช้วิธีแก้ปัญหาแบบผู้ชาย และให้ตัวละครชายมีทั้งพระเดชและพระคุณต่อตัวละครหญิงทั้งหลาย น่าสนใจว่า วิธีการที่ไม่ตรงไปตรงมาในแบบของเจคนั้น สุดท้ายมันอาจไม่นำไปสู่อะไรที่ดีกว่า การที่เขามาจากส่วนของอารยธรรมนั้นอาจทำให้เข้าไม่อาจเข้าร่วมกับธรรมชาติอย่างชาวนาวี ซึ่งหนังก็ได้นำเสนอประเด็นนี้เหมือนกันว่าเจคอาจกำลังเข้าใจผิด กระนั้นวิธีนำเสนอแบบนี้ก็ทำให้เพียงขั้วของเพศแม่เป็นสิ่งสนับสนุนการเติบโตของตัวละครชายซึ่งเรียนรู้การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มากขึ้น มันเป็น journey ของผู้ชายมาตลอด และผู้หญิงในเรื่องรวมทั้งพระแม่ธรณีก็เป็นเพียงเบื้องหลังของผู้ชาย เพื่อเกื้อหนุนให้เขารู้จักตัวเองและพูดแทนคนทั้งสองเพศได้อย่างสมบูรณ์แบบก็เท่านั้น

นภัทร มะลิกุล
จบการศึกษาจากเอกปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ปัจจุบันเป็นนักวิจารณ์หนังและหนังสือให้กับสื่อออนไลน์ และยังเป็น co-founder ของบล็อกคุยเรื่องหนัง afterthescene.com เธอชอบเรียนรู้เรื่องมนุษย์ผ่านสื่อและศิลปะ และมีเป้าหมายอยากเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต

LATEST REVIEWS