จากการที่ “ดาบพิฆาตอสูร เดอะมูฟวี่ ศึกรถไฟสู่นิรันดร์” ทำรายได้มหาศาลใน box office ไทยตอนนี้ สิ่งหนึ่งที่สามารถกล่าวได้ทันทีนั้นคือ ภาพยนตร์อนิเมะก็สามารถทำเงินระดับหนังบล็อกบัสเตอร์ได้เช่นกัน
ถ้าให้มองไปก่อนหน้านี้ ปี พ.ศ. 2559 ที่ภาพยนตร์อนิเมะอย่าง Your Name ก็เคยสร้างปรากฏการณ์ทำรายได้ 43 ล้านบาท หลังจากนั้นก็มีการซื้อภาพยนตร์อนิเมะมาฉายในโรงไทยอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้เท่า Your Name แต่ก็สามารถบอกได้ว่ามีกลุ่มคนดูที่พร้อมจะเสียเงินเข้าไปดูอนิเมะในโรงเหมือนกัน
จนกระทั่งมาถึงปรากฏการณ์สะเทือน Box office ไทยของดาบพิฆาตอสูร จึงเกิดคำถามขึ้นมากมายว่าเพราะอะไร ภาพยนตร์อนิเมะเรื่องหนึ่งถึงมีคนเข้าไปชมเยอะแยะขนาดนี้ อนิเมะไม่ได้มีไว้สำหรับเด็กดูหรือ? ทำไมวัยรุ่นและคนวัยทำงานถึงแห่กันไปดูมากมาย?
จาก Pop Culture สู่ Sub Culture
ต้องมองย้อนกลับไปว่าประเทศไทยนั้นได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมญี่ปุ่นมายาวนาน ผ่านทั้งมังงะ อนิเมะ ละคร และภาพยนตร์ต่างๆ โดยเฉพาะคน Gen X และ Gen Y ที่วัยเด็กนั้นโตมากับวัฒนธรรมเหล่านี้จนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งใน Pop Culture ของพวกเขา มาจนถึงยุคปลาย 80 ถึงกลาง 90 ที่เป็นยุคทองของอนิเมะบนฟรีทีวี ไม่ใช่แค่ช่อง 9 แต่ช่อง 3 และ 7 ต่างก็มีช่วงฉายอนิเมะของตัวเอง มีการเอาหนังอนิเมะดังๆ มาฉายในวันหยุดนักขัตฤกษ์ (ใช่ครับ Akira เคยฉายบนฟรีทีวีมาแล้วหลายครั้ง) เป็นยุครุ่งโรจน์ของวงการหนังสือการ์ตูนไพเรต (ผิดกฎหมายลิขสิทธิ์) และวิดีโออนิเมะเถื่อน (ที่สมัยนั้นเรามักเข้าใจว่าถูกลิขสิทธิ์) ที่ราคาถูกและหาได้ง่ายตามร้านเช่าวิดีโอทั่วไป
แต่หลังจากนั้นพื้นที่ทางวัฒนธรรมของสื่ออนิเมะจากญี่ปุ่นก็ลดลง อนิเมะตามฟรีทีวีลดลงแม้แต่ตัวช่อง 9 การ์ตูน มังงะและวิดีโออนิเมะเข้าสู่ระบบลิขสิทธิ์ ราคาสูงขึ้น เข้าถึงยากขึ้น ประกอบกับโลกเข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ตที่วัฒนธรรมอื่นๆ เริ่มเข้ามามีอิทธิพลกับวัยรุ่นมากขึ้น ทำให้เหล่า Gen X ที่ย่างเข้าสู่วัยทำงานกับ Gen Y ที่เป็นวัยรุ่นเต็มตัวค่อยๆ ถอยห่างจากอนิเมะและมังงะไป จนวัฒนธรรมอนิเมะและมังงะของญี่ปุ่นค่อยๆ ลดบทบาทลงจนกลายเป็น Sub Culture ใครที่โตแล้วและยังดูหรือตามอยู่ก็จะถูกมองว่าเป็นพวกที่คลั่งไคล้หมกมุ่นหรือ “โอตาคุ”
การมาถึงของยุควิดีโอสตรีมมิ่ง
ก่อนหน้าที่จะมาถึงยุคที่มีการให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่ง ผู้ที่ชื่นชอบอนิเมะต้องหาช่องทางผิดลิขสิทธิ์เพื่อดูอนิเมะทางอินเทอร์เน็ต (จากการมาของเทคโนโลยี ADSL และ Bittorrent) ซึ่งมีคนนำอนิเมะที่ฉายในญี่ปุ่นมาแปลและใส่ซับไตเติลหรือที่เรียกกันว่า แฟนซับ (Fan sub) มีการรวมกลุ่มกันเป็นชุมชนเพื่อแบ่งปันกันดู ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าจะเข้าถึงง่ายทุกคน บริษัทที่นำเข้า วีซีดี ดีวีดี แบบถูกลิขสิทธิ์ก็มี แต่ราคาและค่าครองชีพทำให้จำนวนคนซื้อมีไม่เยอะ และจำนวนเรื่องที่ซื้อลิขสิทธิ์มาก็ไม่ได้ครอบคลุมต่อความต้องการของคนที่อยากดู วงการอนิเมะในบ้านเราจึงอยู่ในอินเทอร์เน็ตแบบผิดลิขสิทธิ์มานานหลายปี จนเริ่มมีบริการวิดีโอสตรีมมิ่งมาทำตลาดในไทย ซึ่งใช้เวลาหลายปีในการเติบโต ทั้งแบบฟรีแต่มีโฆษณา (Line TV, TrueID) แบบฟรีบางส่วนเพราะมีบางคอนเทนต์ต้องเสียเงินสมัครสมาชิก VIP เพื่อรับชม (We TV, IQIYI) และแบบที่เก็บค่าสมาชิกรายเดือน (Netflix) จนมาถึงปัจจุบันนี้ จะเห็นว่าแทบทุกเจ้าต่างก็มี category “Anime” ของตนเอง และต่างก็แข่งขันที่จะมี Content ที่เป็นอนิเมะเรื่องเด็ดๆ ไว้ดึงดูดลูกค้าของตน หรือมีแม้กระทั่งเจ้าที่เป็น Anime Streaming โดยเฉพาะอย่าง Flixer และ Bilibili
การกลับมาดูอนิเมะของวัยรุ่นและคนวัยทำงาน
ความเข้าถึงได้ง่ายโดยไม่ต้องขวนขวายมากคือปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้คนหันกลับมาดูอนิเมะ เพราะปัจจุบันทุกคนต่างก็ใช้บริการวิดีโอสตรีมมิ่งอยู่แล้ว (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีที่ผ่านมาเพราะ Covid-19) แถมอนิเมะนั้นเป็นสื่อที่ดูง่าย ตอนหนึ่งก็ใช้เวลาเพียง 24 นาที และมีหลากหลายแนวให้เลือก แนวที่เมนสตรีมที่สุดก็คงไม่พ้นแนวแอคชันสไตล์โชเน็น (เด็กผู้ชาย) อย่าง Kimetsu no Yaiba (ดาบพิฆาตอสูร), My Hero Academia ที่กลุ่มเป้าหมายกว้างตั้งแต่เด็กผู้ชาย เด็กผู้หญิง ไปถึงวัยรุ่นและวัยทำงาน (ขึ้นอยู่กับเนื้อหาของเรื่อง) หรือแนวเซย์เน็น (เด็กโต) ที่มีเนื้อหาที่ซับซ้อนดูผู้ใหญ่ขึ้น อย่างเช่น Gantz. Attack on Titan ก็เป็นตัวเลือกที่ทำให้การดูอนิเมะนั้นไม่จำกัดเนื้อหาเฉพาะเด็กอีกต่อไป
อีกหนึ่งปัจจัยที่เสริมให้คนเลือกดูอนิเมะก็เพราะคอนเทนต์ต่างๆ เกี่ยวกับอนิเมะในโซเชียล ทั้งยูทูปเบอร์และอีกหลายช่องทางมากมาย จนเกิดเป็นกระแส หรือแม้กระทั่ง meme ที่ฮิตในอินเทอร์เน็ตหลายอันก็มาจากอนิเมะ อย่างเช่นกรณีของ Jojo Bizarre Adventure (โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ) ที่ถึงจะเป็นอนิเมะเก่าแต่ด้วยความดังของ meme ก็ทำให้คนหามาดูกันก็มากเพื่อไม่ให้ตัวเองนั้นตกเทรนด์ ซึ่งสรุปได้ว่าอนิเมะเรื่องไหนที่เป็นที่ถูกกล่าวถึงในโซเชียลและหาดูง่าย ก็สามารถดึงคนดูทั่วไปที่ปกติไม่ได้ดูอนิเมะให้มาดูได้นั่นเอง
ความนิยมของอนิเมะทั้งบนสตรีมมิ่งและในโรงภาพยนตร์
กลุ่มเป้าหมายของวิดีโอสตรีมมิ่งที่ดูฟรีนั้น มักจะเป็นเด็กประถม มัธยม ไปจนถึงมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว จึงไม่ยากที่อนิเมะจะเป็นหนึ่งในคอนเทนต์ยอดนิยม อย่างเช่น “ยอดนักสืบจิ๋ว โคนัน” ก็ติดอยู่ในทำเนียบร้อยล้านวิวของทาง Line TV ที่น่าสนใจคือสตรีมมิ่งที่กลุ่มเป้าหมายเป็นวัยทำงานอย่าง Netflix ก็จะมีอนิเมะติดอันดับใน Top 10 in Thailand ประจำวันอยู่เสมอ ซึ่งในหมวด Top TV Show in Thailand ของปี 2020 จากการติดตามวัดผลอันดับของเว็บ https://flixpatrol.com อนิเมะเรื่อง Kimetsu no Yaiba ก็ติดอยู่ที่อันดับ 11 ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงมากเมื่อต้องแข่งกับซีรีส์ชื่อดังทั้งเกาหลี ฝรั่งและไทย อันดับที่น่าสนใจต่อๆ มาก็ได้แก่ Dr.Stone อันดับ 27 My Hero Academia อันดับ 40 และอีกหลายเรื่องที่ติดอันดับจากซีรีส์นับพันที่มีอยู่ในแพลตฟอร์ม ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจที่ฐานคนดูอนิเมะนั้นสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องฮิตอย่าง Kimetsu no Yaiba (ดาบพิฆาตอสูร) ที่มีแฟนคลับเป็นจำนวนมาก และมีให้ดูในวิดีโอสตรีมมิ่งเกือบทุกเจ้า จึงไม่ต้องแปลกใจที่จะเข้าโรงไปดูแล้วเห็นว่าคนวัยทำงานมาดูกันมากมายไม่แพ้วัยรุ่นและเด็ก (และคนวัยทำงานนี่แหละที่มีกำลังซื้อดูในโรงพิเศษอย่าง IMAX)
ส่วนในโรงภาพยนตร์นั้นหลังจาก Your Name บ้านเราก็มีโอกาสได้ดูภาพยนตร์อนิเมะในโรงอย่างสม่ำเสมอ ถึงแม้จะส่วนใหญ่จะฉายแบบจำกัดโรงก็ตาม แต่ในปีนี้ก็มีสถิติที่น่าสนใจ อย่างการที่ My Hero Academia : Heroes กวาดรายได้อันดับหนึ่งของบ็อกซ์ออฟฟิศไทยในวันที่ 2 กรกฎาคม ทำเงินไป 0.72 ล้านบาทและทำรายได้อันดับหนึ่งต่อเนื่องถึง 2 สัปดาห์ ก่อนที่ภาพยนตร์อนิเมะเช่นเดียวกันจะมาโค่นแชมป์ก็คือ Digimon Adventure Last Evolution Kizuna ที่ทำรายได้เปิดตัวอันดับหนึ่งไป 0.62 ล้านบาท ถึงแม้ว่าตัวเลขจะดูไม่มากนักเพราะเป็นช่วงที่โรงหนังเพิ่งจะกลับมาฉายอีกครั้งได้ไม่นาน แต่ภาพยนตร์อนิเมะทั้งสองเรื่องก็กวาดรายได้อันดับหนึ่งในช่วงนั้นและกวาดรายได้รวมไปไม่น้อยเลยทีเดียว
ถึงจาก sub culture จะกลับมาเป็น pop culture ได้ แต่อย่างไรก็ตามการที่คนหันมาดูอนิเมะมากขึ้นเพราะธุรกิจวิดีโอสตรีมมิ่งก็ไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับรายได้สะเทือนโรงของ “ดาบพิฆาตอสูรเดอะมูฟวี่ ศึกรถไฟสู่นิรันดร์” เพราะยังไงสาเหตุหลักของความสำเร็จนั้นย่อมมาจากการที่เวอร์ชั่นซีรีส์สามารถสร้างฐานแฟนคลับไว้จำนวนมากและคุณภาพของตัวภาพยนตร์ที่ทำให้คนพูดถึงปากต่อปากหรือสนุกจนอยากมาดูซ้ำนั่นเอง