Stand Up Comedy Review : Yoo Byung Jae: Discomfort Zone ‘ทัวร์ลง’ ราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการแสดงออก

“ผมคิดว่านี่คือโชว์ตลกครั้งแรกของเกาหลี ไม่สิ โชว์แรกของโลกที่รับฟังความคิดเห็นจากทุกคน แบบทุกคนจริงๆ เลยนะ”

ยู บยองแจ ตลกผมทองท่าทางยียวนอธิบายกับคนดูว่าในการแสดงครั้งนี้ เขาสร้างเครื่องมือชิ้นหนึ่งขึ้นมา เครื่องมือที่ว่านี้รวบรวมเอาความเห็นจากสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ที่เคยพูดถึงเขา วิธีการทำงานคือเมื่อเขาพูดอะไรที่น่าจะทำให้ ‘ชาวเน็ต’ ไม่สบายใจ มันจะส่งสัญญาณเตือนแล้วอ่านความเห็นจากชาวเน็ตเกี่ยวกับประเด็นที่เขาพูดออกมาให้ทุกคนฟัง

ถามว่าทำไมเขาถึงต้องทำแบบนี้
ก็เพราะว่าในโชว์คราวที่แล้ว เขาด่าอดีตประธานาธิบดีว่า “ไอ้ชาติชั่ว” น่ะสิ

“ ‘ชอนดูฮวัน ไอ้ชาติชั่ว’ นี่คิดว่าเขาเป็นเพื่อนเล่นมึงเหรอ ไอ้คอมมิวนิสต์ปากเปราะ ไอ้คิม เจดง* เวอร์ชั่นน่าสมเพช” ดีบอกซ์ (Discomfort Box) หยิบเอาข้อความหนึ่งจากเมื่อคราวที่เขาโดนทัวร์ลงหลังจบการแสดงครั้งแรกมาอ่านให้ฟังอย่างนุ่มนวล เหตุการณ์จริงไม่นุ่มนวลขนาดนั้น บยองแจโดนด่าเละเทะ เขาขอโทษขอโพยกับผู้ชมทุกคนและสำนึกแล้วว่าการด่าผู้หลักผู้ใหญ่แบบนั้นเป็นเรื่องไม่ดี 

“ผมขออภัยทุกท่านนะครับ ผมไม่เคยคิดว่าชอนดูฮวันเป็นไอ้ชาติชั่ว ที่จริงแล้วผมควรพูดว่า ชอนดูฮวัน ไอ้หน้าหี ผมขอโทษที่พูดแบบนั้นออกไป แต่จนถึงบัดนี้ชอนดูฮวันไม่เคยออกมาขอโทษในสิ่งที่เขาทำไปแม้แต่ครั้งเดียว” 

สัญญาณเตือนดังขึ้นอีกครั้ง

“รู้มั้ยว่าการด่ากันว่าไอ้หน้าหี เป็นคำด่าที่เหยียดผู้หญิงนะ กล้าพูดแบบนี้ได้ยังไงหน้าตาเฉย ถ้าไม่รู้ว่าทำไมมันถึงเหยียดก็ไปศึกษาเพิ่มเติมซะ”

แล้วยูบยองแจก็ต้องขอโทษอีกครั้ง

กว่าผมจะเข้าใจว่ากำลังโดนคุณพี่ผมทองคนนี้ ‘กวนตีน’ เอาเสียแล้ว ก็ปาเข้าไป 10 นาทีเศษ โครงสร้างการแสดงของ Discomfort Zone (เปิดแสดงปี 2018) คือการหยิบเอาบรรดาความเห็นจากคณะทัวร์บนโลกอินเทอร์เน็ตมาใช้เป็นเครื่องมือแสดงจุดยืนในการแสดงออกของเขา ยูบยองแจขอโทษ อธิบาย ก่อนจะแกล้งเผลอด่าอะไรอีกอย่างออกไป แล้วก็ต้องเปลี่ยนมาอธิบายอีกเรื่องตอบโต้กับคำด่าเผ็ดร้อนอันใหม่ ตลอดการแสดงการแสดงเราจะเห็นได้ว่าเขาได้ล่วงล้ำเข้าไปในพื้นที่อันแสนเปราะบางในใจของชาวเน็ตเกาหลีไปมากมาย 

สภาพการณ์ของบยองแจไม่ต่างอะไรกับเซเลบดาราอื่นๆ ทั่วโลกที่ออกมาแสดงตัวยืนหยัดเพื่ออะไรสักอย่างและไม่พ้นการถูกชาวเน็ตประเภทที่ชอบแบ่งอะไรเป็นสองขั้วผลักให้ไปอยู่อีกฟาก พอบอกว่าชอบดูซีรีส์เรื่อง My Mister* ก็โดนเฟมินิสต์ด่า แต่พอสนับสนุน Me Too ก็โดนฝั่งผู้ชายหาว่าฉวยโอกาส ล้อศิลปิน YG ก็โดนแฟนคลับรุมถล่ม พอไม่พูดอะไรเลยก็โดนถามว่าทำไมถึงไม่แสดงจุดยืน ไม่ว่าบยองแจจะพูดอะไรก็จะต้องมีใครสักคนในอินเทอร์เน็ตหาเรื่องมาด่าเอาจนได้ ด้วยความหัวไวอันเหลือเชื่อของเขา เสียงตำหนิเหล่านี้กลับถูกเอามาใช้เป็นเครื่องมือในการตอกกลับอย่างเจ็บแสบ ทุกส่วนของมันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเล่นงานจุดอ่อนไหวในสังคมเกาหลี และเป็นการประกาศถึงจุดยืนของเขาต่อความเห็นมากมายบนโลกอินเทอร์เน็ต

“ผมตั้งใจมาเล่าเรื่องตลก ไม่ได้จะมาพูดจาเหยียดหยามใคร การล้อเลียนเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงตลก ผมไม่เคยคิดว่ามุกตลกทั้งหมดต้องเป็นการล้อเลียน แต่พอผมล้อใครซักคน มันก็กลายเป็นว่าพวกเขา (ในอินเทอร์เน็ต) อยากให้ผมล้อทุกคนเลย คนพวกนี้อยากให้ผมแสดงจุดยืนมากกว่าเล่นตลกเสียอีก

“ฟากนึงเรียกผมว่าผู้ชายฮันนัม* ส่วนอีกฟากก็เรียกผมว่าไอ้เมกาเลียน* ถ้าผมแสดงตัวว่าอยู่ตรงกลางทุกคนก็รุมด่าผมว่าเป็นนกสองหัวอยู่ดี

“สิ่งที่ทำให้ผมหงุดหงิดมากก็คือการที่ใครๆ ก็คิดว่าผมสามารถแสดงออกได้อย่างเสรี นักร้อง นักแสดง เซเลบคนดังบ้านเราไม่มีใครทำได้หรอกครับ เพราะไม่ว่าใครจะพูดอะไร มันจะต้องมีทัวร์ลงอยู่ดี แต่ไม่เป็นไรหรอกครับ ถ้าจะโดนด่าบ้างก็คงดีกว่าหุบปากไปทั้งชาติ”

บรรดาคำขอโทษทั้งหลายที่ยูบยองแจพร่ำพูดตลอดการแสดง Discomfort Zone นั้นไม่ได้เป็นเพียงลมปาก และคำวิจารณ์ทั้งหลายก็ถูกโอบรับเอาไว้โดยดี เขาขอโทษแต่ไม่รู้สึกเสียใจเพราะมันคือราคาที่ต้องจ่าย หากเพียงแต่ว่าการแสดงครั้งนี้เป็นการจ่ายที่ค่อนข้างคุ้มค่าคุ้มราคาทีเดียว เมื่อมันสามารถสร้างได้ทั้งเสียงหัวเราะ และสำนึกที่มีต่อการแสดงความเห็นในที่สาธารณะในคราวเดียวกัน


ไปดูยูบยองแจล้อเลียน YG และรายการ Show Me The Money ใน Yoo-Byung Jae: Discomfort Zone ได้แล้วทาง Netflix


(แนะนำเพิ่มเติม เพื่ออรรถรสที่ดีควรรับชมพร้อมซับไตเติลภาษาอังกฤษ)

* คิม เจดง – อดีตพิธีกรรายการทีวีชื่อดังในเกาหลีใต้ที่ผันตัวจากสายบันเทิงมาเป็นพิธีกรสายตลก-การเมือง ก่อนที่จะเลิกจัดรายการเพราะปัญหาข้อพิพาททางการเมืองมากมายในปี 2019

* My Mister – ซีรีส์เกาหลีว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ของหนุ่มออฟฟิศวัยกลางคนที่มีปัญหาชีวิตรุมเร้ามากมายกับเด็กสาวน้องใหม่หนี้ท่วมหัวในที่ทำงานเดียวกัน ตัวเรื่องถูกวิจารณ์โดยพลเมืองชาวเน็ตเกาหลีใต้ว่านำเสนอแฟนตาซีผิดๆ เกี่ยวกับชายแก่และเด็กสาวรุ่นคราวลูก

* ผู้ชายฮันนัม – (Hannam-chung) คำสแลงใช้เรียกผู้ชายที่มีทัศนคติเหยียดผู้หญิง

* เมกาเลียน – คำสแลง ใช้เรียกกลุ่มเฟมินิสต์หัวรุนแรง มีที่มาจากชื่อบอร์ด Megalia กระดานสนทนาเฉพาะกลุ่มผู้ขับเคลื่อนขบวนการเฟมินิสต์ในเกาหลีใต้ 

สิทธิชัย เปลี่ยนทองดี
นักทำงานอดิเรก, เล่นบอร์ดเกม, ดูตลกแสตนด์อัพ, จัดพอดแคสต์บำบัด และดื่มเบียร์คนเดียว

LATEST REVIEWS