Spring, Summer, Fall, Winter… and Spring สุนทรียะของฤดูกาลและการก้าวผ่านช่วงวัย

(2003, Kim Ki-duk)

เงาแดดทอประกายบนผิวน้ำ ใบไม้เปลี่ยนสี หิมะโปรยปราย ทะเลสาบกลายเป็นน้ำแข็ง…

เราอาจพูดได้ว่า “ฤดูกาล” คือตัวละครเพียงหนึ่งเดียวของหนังเรื่องนี้ หากกล่าวอย่างถึงที่สุด หนังทั้งเรื่องไม่ได้พูดถึงสิ่งใดนอกจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล การเปลี่ยนแปลงอันแสนสามัญที่ครอบครองและคลี่คลุมทุกฉากของชีวิต ฤดูกาลเป็นทั้งผู้อยู่ ผู้มาเยือน และผู้จากไป

บางครั้งสายตาของหนังก็ชวนให้เราเพ่งพินิจความเปลี่ยนแปลงในระยะใกล้ บางครั้งก็เป็นการทอดสายตามองความเปลี่ยนแปลงอย่างเฉื่อยชาในระยะไกล

เณรน้อยเติบโต พระอาจารย์แก่ชรา ฤดูกาลผันผ่านไป…


Spring

อาศรมไม้หลังนั้นตั้งอยู่กลางทะเลสาบ ทะเลสาบอยู่ใจกลางหุบเขา วิธีเดียวที่จะเดินทางไปอาศรมแห่งนั้นได้คือต้องนั่งเรือข้ามไป วิธีเดียวที่จะนั่งเรือข้ามไปได้คือต้องให้นักบวชในอาศรมแห่งนั้นพายเรือมารับ อาศรมแห่งนั้นมีพระอาจารย์รูปหนึ่งอาศัยอยู่กับลูกศิษย์ที่เป็นเณรน้อยอีกรูปหนึ่ง มันเป็นศาสนสถานแสนสันโดษ แทบจะเรียกได้ว่าตัดขาดจากโลกภายนอกโดยสมบูรณ์

เรื่องราวเริ่มต้นในเช้าวันหนึ่ง เณรน้อยขี้เซาตื่นขึ้นพร้อมเสียงสวดภาวนาทำวัตรเช้าของพระอาจารย์ พระอาจารย์บอกว่าจะพายเรือออกไปเก็บสมุนไพรบนฝั่ง เขาขอติดตามไปด้วย เมื่อถึงฝั่ง ต่างคนต่างแยกกัน เณรน้อยในวัยซุกซนปีนป่ายลัดเลาะไปตามโตรกผาและลำธาร ครั้งแรกเขาจับปลาขึ้นมา ผูกก้อนหินติดไว้กับตัวมัน แล้วปล่อยมันกลับลงไปในลำธาร พอเห็นมันว่ายน้ำดิ้นรนไปอย่างทุลักทุเลโดยมีก้อนหินถ่วงรั้งไว้ ก็หัวเราะชอบใจไปกับภาพที่เห็น และอีกสองครั้งต่อมาเขาทำแบบเดียวกันกับกบและงู พฤติกรรมทั้งหมดนี้ไม่รอดพ้นสายตาของพระอาจารย์ที่แอบยืนสังเกตอยู่อีกมุมหนึ่ง

เช้าวันต่อมา เณรน้อยรู้สึกตัวตื่นขึ้นพร้อมกับหินก้อนหนึ่งที่ถูกผูกติดไว้กับแผ่นหลัง ร้องห่มร้องไห้อย่างไร้เดียงสา ไม่นานจึงได้รู้ว่ามันคือกุศโลบายคำสอนของอาจารย์ อาจารย์บอกว่า “เจ้าต้องออกไปตามหาสัตว์พวกนั้นทุกตัวและแก้มัดให้มัน อาจารย์ถึงจะแก้มัดให้ แต่ถ้าเกิดสัตว์พวกนั้นตายไป เจ้าจะต้องแบกหินในใจของเจ้าไปชั่วชีวิต” นั่นคือบทเรียนสำคัญที่เณรน้อยได้เรียนรู้ บทเรียนซึ่งในเวลาต่อมาจะกลายเป็นอุปมานิทัศน์ (allegory) ที่สอดแทรกไว้ตลอดทั้งเรื่อง

ช่วงแรกๆ หนังฉายภาพความสัมพันธ์ระหว่างศิษย์กับอาจารย์ผ่านกิจวัตรต่างๆ ที่ทำร่วมกัน กิจวัตรที่ไม่มีอะไรมากไปกว่าการพายเรือออกไปเก็บสมุนไพร การตำยาสมุนไพร และการบำเพ็ญภาวนา มันคือโลกใบเล็กแคบอันแสนสันโดษที่ไม่มีสิ่งเร้าใดๆ มารบกวน โลกที่ความอ่อนเยาว์ไร้เดียงสาของเณรน้อยยังเป็นสิ่งที่อาจารย์สามารถ “เข้าถึง” และขัดเกลาได้ และโลกทั้งใบของเณรน้อยมีเพียงอาจารย์ผู้เงียบขรึมและอาศรมกลางน้ำอันเวิ้งว้างเท่านั้น

“ภาษา” ของหนังเรื่องนี้คือภาษาของปริศนาธรรม โดยมากแล้วปริศนาธรรมมักจะไม่ถูกอธิบายอย่างกระจ่างแจ้ง แต่มักจะซ่อนความหมายระหว่างบรรทัดเอาไว้ให้ตีความหรือขบคิดต่อเสมอ ผู้กำกับหยิบยืมเอาลักษณะเฉพาะดังกล่าวนี้มาใช้กับภาษาของภาพยนตร์ได้อย่างแยบคาย มุมกล้องและสายตาของหนังถูกออกแบบมาให้เป็นสายตาของความช่างสังเกตสังกา จับจ้องไปยังสิ่งละอันพันละน้อย เสียงลั่นเอี๊ยดอ๊าดของประตู ภาพเรือลอยโคลงเคลง การเคลื่อนไหวของสิงสาราสัตว์ สรรพเสียงของธรรมชาติ อากัปกิริยาเล็กๆ น้อยๆ ของตัวละคร ฯลฯ องค์ประกอบเหล่านี้ประกอบสร้างสุนทรียะเฉพาะตัวของหนังและโลกของตัวละครขึ้นมา

ถ้อยคำถูกทอนออกไปแล้วแทนที่ด้วยความเงียบ ความเงียบเปรียบเหมือนผืนน้ำเวิ้งว้างที่ล้อมอาศรมเอาไว้ ถ้อยคำจะถูกเอ่ยออกมาเท่าที่จำเป็น เช่นเดียวกับที่เรือจะถูกพายก็ต่อเมื่อจะออกไปหรือกลับเข้ามาที่อาศรมเท่านั้น…


Summer

พร้อมๆ กับความเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ตัวละครก็เติบโตขึ้น เณรน้อยกลายเป็นพระหนุ่ม การเติบโตที่มาพร้อมกับสายตาและตัวตนแบบใหม่ หนังอธิบายการเติบโตของตัวละครไว้อย่างแยบคายในฉากที่พระหนุ่มเดินเล่นบนโขดหินแล้วสังเกตเห็นงูสองตัวกำลังเลื้อยเกี้ยวพากัน ความตื่นเต้นในแววตาพระหนุ่มไม่ใช่ความไร้เดียงสาในแววตาของเณรน้อยคนนั้นอีกแล้ว

หญิงสาวมาถึงในฤดูร้อน เธอป่วยด้วยโรคบางอย่าง เธอเดินทางดั้นด้นข้ามหุบเขามาพร้อมกับแม่ที่หวังว่าจะฝากลูกสาวให้พระอาจารย์ช่วยรักษาอาการป่วยนั้น หลังจากฝากฝังลูกสาวไว้กับอาจารย์แล้ว แม่ก็เดินทางกลับ จึงเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่อาศรมสันโดษกลางน้ำมีสมาชิกเพิ่มเข้ามาอีกหนึ่งคน

การมาถึงของหญิงสาวมาพร้อมกับความรู้สึกบางอย่างที่อธิบายไม่ได้ในตัวพระหนุ่ม ความแปลกหน้าค่อยๆ กลายเป็นความคุ้นเคย ความคุ้นเคยเปลี่ยนเป็นการหยอกเย้ากันอย่างสนิทสนม การแอบมอง การลอบส่งสายตาหากัน พฤติกรรมทั้งหมดค่อยๆ สุกงอมจนไฟปรารถนาลุกโชน หนังค่อยๆ พาเราสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างเงียบๆ พร้อมกับการเฝ้ามองของผู้เป็นอาจารย์

การก้าวผ่านช่วงวัย (coming of age) ของตัวละครมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงในภาษาภาพยนตร์อย่างน่าสนใจ การมีสมาชิกเพิ่มเข้ามาทำให้ความเงียบแบบเดิมถูกทำลายลงและวิธีการสื่อสารเปลี่ยนไป ความเงียบเริ่มไม่เงียบ เพราะความเงียบกลายเป็นรวงรังแห่งความลับส่วนตัวระหว่างหนุ่มสาว ความเงียบเปลี่ยนจากความนิ่งงันไปเป็นความเคลื่อนไหวที่ปราศจากเสียง ความเงียบของความลับกลายเป็นกำแพงที่กั้นอาจารย์ออกจากลูกศิษย์ ความเงียบของอาจารย์กลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจ “พูด” กับลูกศิษย์ได้อีกต่อไป

ยิ่งนานวันเข้า ความเงียบของพระอาจารย์ยิ่งกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมและเหลือทนสำหรับพระหนุ่ม โลกของอาศรมกลางน้ำเป็นสิ่งที่ไม่อาจเข้าใจได้อีกต่อไป เขาจะ “สื่อสาร” และ “แบ่งปัน” ตัวตนกับพระอาจารย์ที่มีแต่ความนิ่งเงียบ เย็นชา และไม่เคยสื่อสารอย่างเรียบง่ายตรงไปตรงมาได้อย่างไร เขาอยู่กับพระอาจารย์มาค่อนชีวิต แต่ไม่อาจเข้าถึงตัวตนของพระอาจารย์พอๆ กับที่รู้สึกว่าพระอาจารย์ก็ไม่เข้าใจในตัวเขา ผิดกับหญิงสาวที่รู้จักกันเพียงไม่นาน แต่เขาสามารถแบ่งปันสิ่งต่างๆ กับเธอได้อย่างที่ไม่มีอะไรมากั้นกลาง

และแล้ว ความสัมพันธ์ที่ถลำลึกลงเรื่อยๆ ก็ถูกจับได้ในวันหนึ่ง พระอาจารย์สั่งให้หญิงสาวกลับไป ไม่นานหลังจากที่หญิงสาวต้องกลับไป พระหนุ่มที่เพ้อคลั่งด้วยพิษรักก็จากไปพร้อมกับเธอ เขาขโมยพระพุทธรูปประจำอาศรมและไก่ที่อาจารย์เลี้ยงไปด้วย ประหนึ่งว่าต้องการเอาคืนด้วยการพรากสิ่งที่รักไปจากอาจารย์เช่นกัน


Fall

ใบไม้เปลี่ยนสี อาศรมเงียบเหงา สังขารโรยรา…

อาจจะผ่านไป 10 ปีหรือมากกว่านั้น แล้ววันหนึ่งพระหนุ่มก็กลับมา แต่ตอนนี้เขาไม่ได้เป็นพระอีกแล้ว เขาเติบโตเป็นชายหนุ่มวัย 30 ผู้เหนื่อยล้ากับชีวิต สีหน้าอมทุกข์ แววตาซ่อนความกังวลและหวาดกลัว ก่อนหน้านี้เขาจากไปพร้อมกับความไม่เข้าใจโลกของอาศรมกลางน้ำ บัดนี้เขากลับมาพร้อมกับความไม่เข้าใจโลกภายนอก โลกภายนอกซับซ้อนเกินไป หัวใจของคนและความสัมพันธ์ยิ่งซับซ้อนกว่านั้น ชายหนุ่มพลั้งมือฆ่าภรรยา เขากลับอาศรมพร้อม “ก้อนหิน” หนักอึ้งถ่วงรั้งอยู่บนหลัง

ชายหนุ่มจากไปในฤดูร้อน และกลับมาในฤดูใบไม้ร่วง เพียงเพื่อจะพบว่าความเงียบของอาจารย์มีเพียงฤดูเดียว…

หนังจับจ้องไปที่ความรู้สึกของชายหนุ่ม ความรุ่มร้อนรู้สึกผิด ความเงียบงำอัดอั้น ความรู้สึกว่าไม่อาจเป็นหนึ่งเดียวกับโลกอาศรมกลางน้ำได้อีกต่อไป ความรู้สึกว่าตัวเองแปดเปื้อนเกินไปสำหรับสถานที่แห่งนี้ อาจารย์ก็เป็นเช่นอาศรม แวดล้อมด้วยความเงียบ เขารู้ว่าอาจารย์ไม่ได้โกรธเคือง แต่ก็ไม่ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ ราวกับโลกใบเล็กแห่งนี้ไม่มีประวัติศาสตร์ ไม่มีความทรงจำ โลกทั้งใบลดรูปลงเหลือเพียงความเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล สายตาที่อาจารย์ใช้มองเขาคือสายตาแบบเดียวกับที่ใช้มองความเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล รับรู้มันในฐานะสรรพสิ่งที่เกิด-ดับหมุนวนเป็นวัฏจักร

ชายหนุ่มกลับมาพร้อมพระพุทธรูปที่ขโมยไปและมีดอีกเล่มหนึ่ง “มีด” เป็นสัญญะที่น่าสนใจ หนังบอกให้เรารู้ว่ามันคือมีดเล่มที่เขาใช้ปลิดชีพภรรยา และต่อมาเขาก็ใช้มีดเล่มนี้ปลงผมตัวเอง ฉากที่ทรงพลังที่สุดฉากหนึ่งของหนังเรื่องนี้คือฉากที่พระอาจารย์ใช้หางแมวต่างพู่กันจดจารข้อความจาก “ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร” ลงไปจนเต็มพื้นชานอาศรม แล้วสั่งให้ชายหนุ่มใช้มีดเล่มนั้นแกะสลักตาม มีดที่เป็นเหตุแห่งทุกข์จึงถูกใช้เป็นมรรควิธีแห่งการดับทุกข์นั้น


Winter

อาศรมถูกทิ้งร้าง หิมะโปรยปรายทับถม พระอาจารย์ละสังขารไปแล้วหลายปี…

กาลเวลาหยุดนิ่งราวกับถูกแช่แข็งเอาไว้ ทะเลสาบกลายเป็นน้ำแข็ง เรือลำเดียวที่เป็นพาหนะก็จมอยู่ใต้พื้นน้ำแข็ง แต่การเดินทางไปอาศรมไม่จำเป็นต้องใช้เรืออีกต่อไป นับเป็นครั้งแรกในวงรอบของฤดูกาลที่ใบหน้าและเรือนร่างของอาศรมเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด

ประตูอาศรมถูกเปิดออกอีกครั้ง ปรากฏภาพชายวัยกลางคนเดินเข้ามา ชายคนนั้นคือ Kim Ki-duk ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ ซึ่งเข้ามารับบทเป็นชายหนุ่ม/พระหนุ่มคนเดิมนั่นเอง

ในพาร์ตนี้หนังค่อยๆ เปลี่ยนท่วงทำนองการเล่าจากแนว minimalism ไปเป็นแนว symbolism อย่างเข้มข้น จริงอยู่ว่าก่อนหน้านี้ก็เล่าด้วยแนว symbolism ควบคู่ไปกับ minimalism มาตลอด แต่ในพาร์ตนี้จะสังเกตได้ว่าน้ำหนักของความ minimalism ถูกทอนออกไป กลายเป็นแนว symbolism อย่างเข้มข้นและเต็มตัว อีกทั้งฉาก เหตุการณ์ และตัวละครก็ถูกนำเสนอด้วยลีลาของความมหัศจรรย์ (magical) ตัวอย่างเช่น ฉากที่หญิงปริศนาคลุมหน้าคลุมตาอุ้มเด็กทารกคนหนึ่งมาที่อาศรม แต่เมื่อเปิดผ้าคลุมหน้าเธอออกมาก็กลับกลายเป็นใบหน้าของพระพุทธรูป

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือการเปลี่ยนตัวนักแสดง นักแสดงที่รับบทเป็นเณรน้อย/พระหนุ่ม/ชายหนุ่ม จะถูกเปลี่ยนไปทุกฤดู (ในทั้งหมด 4 ฤดู เปลี่ยนนักแสดงที่รับบทนี้ฤดูละ 1 คน) หากนี่คือปริศนาธรรมเรื่องสภาวะของจิต ก็อาจพูดได้ว่าต่อให้ “กาย” เปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ไปแค่ไหน แต่ “จิต” ก็ยังเป็นดวงเดิม


…and Spring

ในพาร์ตสุดท้ายที่ฤดูใบไม้ผลิวนกลับมาครบรอบอีกครั้ง หนังก็ท้าทายเราด้วยการใช้นักแสดงที่รับบทเณรน้อยในต้นเรื่องมารับบทเป็นเณรน้อยอีกครั้ง (แต่คนที่รับบทเป็นพระอาจารย์คือ Kim Ki-duk) ชะตากรรมก็เล่นซ้ำยั่วล้อกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว มันจึงน่าสนใจอย่างยิ่งว่าที่สุดแล้วหนังเรื่องนี้อาจไม่ได้เล่าเรื่องของใครเลย นอกจากตัวละครเพียงหนึ่งคนที่เติบโตขึ้นและแก่ชราลงไปตามฤดูกาลของชีวิต ความแตกต่างที่เห็นอาจเป็นเพียงมายาของสภาวะจิตที่เกิด-ดับซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างเป็นอนิจจัง ในที่สุดแล้วทั้งเณรน้อย ชายหนุ่ม พระหนุ่ม และพระอาจารย์ผู้ชรา ก็จะหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน

ณิศวร์ฐิตะ ทองน้อย
อ่านหนังสือเป็นงานประจำ ดูหนังเป็นงานอดิเรก

LATEST REVIEWS