Space Sweepers : โลกบริสุทธิ์อันเป็นพิษ

(2021, Jo Sung-hee)

หากพูดถึงวงการหนังเกาหลี เราคงต้องยกนิ้วให้กับนวัตกรรมด้านพล็อต เทคนิคการนำเสนอใหม่ๆ และการใส่ลายเซ็นอันเป็นเอกลักษณ์ให้กับหนังแต่ละเรื่อง จนทำให้เกาหลีผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำด้านสื่อบันเทิงอย่างโดดเด่น และหากใครต้องการแสดงให้โลกเห็นว่า วงการหนังของตนเองไม่น้อยหน้าชาติใดในโลกแล้วล่ะก็ คงหนีไม่พ้นการทำหนังอวกาศโปรดักชั่นยักษ์ใหญ่ ที่การันตีด้วยซีจีแบบอลังการ แบบที่ Space Sweepers ทำให้ผู้ชมทึ่งไปเลยว่า “หน้าเกาหลีมันไปสุดขนาดนี้เลยหรอ!?”

Space Sweepers เล่าเรื่องราวโลกในอนาคตของภารโรงอวกาศ อันประกอบไปด้วยมนุษย์ 3 คน และหุ่นยนต์ 1 ตัว ที่ทำอาชีพล่าขยะที่ลอยอยู่กลางอวกาศจนอาจเป็นภัยต่อชุมชน และทำเงินจากขยะเหล่านั้น ทีมภารโรงอวกาศสุดกวนประกอบด้วย แทโฮ อดีตยามอวกาศผู้มีความหลังฝังใจและเป้าหมายเพื่อตามหาคนคนหนึ่ง กัปตันจาง อดีตสลัดอวกาศผู้มีความแค้นส่วนตัวกับเจ้าของบริษัทยักษ์ใหญ่ ไทเกอร์ พาร์ค อดีตพ่อค้ายาที่หนีจากโลกหลังถูกพิพากษาประหารชีวิต และบับส์ หุ่นยนต์ที่เคยเป็นหน่วยรบมือฉมัง ทั้งสี่ดูเป็นเหมือนกลุ่มคนตกกระป๋องที่ทำงานเดือนชนเดือนเพื่อหาเงินมาเป็นค่าบำรุงยานและค่าอาหาร แต่แล้วชะตากรรมของพวกเขาก็เปลี่ยนไป เมื่อพวกเขาได้พบกับโดโรธี หุ่นแอนดรอยด์เด็กผู้หญิงที่เป็นอาวุธสังหารอันตราย ที่ถูกขอซื้อโดยกลุ่มสลัดอวกาศด้วยมูลค่านับล้าน

ดูจากพล็อตแล้ว Space Sweepers น่าจะเป็นแค่หนังเกี่ยวกับหนูตกถังข้าวสาร ที่ปูทางชีวิตตัวละครไปสู่ความวุ่นวายก่อนที่พวกเขาจะกลายเป็นคนมั่งคั่ง แต่พล็อตย่อย (sub plot) ของหนังที่มีความซับซ้อนกลับทำให้หนังออกมามีมิติมากกว่านั้น โดยหนังวางพล็อตย่อยที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ เจมส์ ซัลลิแวน ชายที่มั่งคั่งที่สุดในโลก และเจ้าของบริษัท UTS ที่พัฒนานิคมบนอวกาศและดาวอังคารอันเป็นที่ที่คนมั่งคั่งอาศัยอยู่ ภายหลังจากที่ดาวโลกกลายเป็นแหล่งมลพิษอันแปดเปื้อนหลังยุคสงคราม โลกของ UTS เป็นโลกในอุดมคติที่เต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียวและอากาศบริสุทธิ์ ต่างจากโลกที่ตัวเอกต้องเผชิญซึ่งเต็มไปด้วยขยะ โดยนายซัลลิแวนผู้นี้มีอายุกว่าร้อยปีแล้วและมีแผนการบางอย่างที่เกิดจากปมในใจของเขา

ในมิติของความเป็นนานาชาติ นับได้ว่า Space Sweepers ทลายกำแพงด้านภาษาโดยให้ตัวละครแต่ละเชื้อชาติพูดภาษาของตนเอง ที่มีทั้ง เกาหลี อังกฤษ สเปน ฝรั่งเศส และอื่นๆ โดยปูเรื่องให้ตัวละครทุกตัวใส่เครื่องช่วยแปล นับเป็นมิติใหม่ของการดูหนัง ซึ่งหนังคงคาดการณ์อยู่แล้วว่าผู้ชมทาง Netflix จะต้องอ่านซับไตเติ้ล ทำให้หนังออกมามีเสน่ห์ของการกำจัดกรอบทางวัฒนธรรม และให้ความหมายของการเป็นพลเมืองโลก (global citizen) ของกลุ่มตัวเอกซึ่งเป็นชาวเกาหลี นับเป็นรสชาติใหม่ในการดูหนังและทำให้อินกับเรื่องได้มากขึ้น

พล็อตย่อยอีกพล็อตที่แทรกอยู่คือเรื่องราวของกลุ่ม Black Fox ซึ่งเป็นกลุ่มโจรสลัดที่ตามหาตัวโดโรธีอยู่เหมือนกัน โดยเบื้องหลังของกลุ่มมีความเป็นมาซับซ้อนกว่าที่ผู้ชมคาดไว้ตั้งแต่แรก และสะท้อนให้เห็นถึงการพยายามต่อรองคานอำนาจ ระหว่างคนกลุ่มเล็กๆ กับบริษัทหรือองค์กรภาครัฐยักษ์ใหญ่ที่มีปากมีเสียงมากกว่า ในพล็อตย่อยของ Black Fox นี้ถือว่าทำออกมาได้อย่างน่าสนใจ และทำให้นึกถึงการรวมกลุ่มทางการเมืองในบ้านเราเพื่อสะท้อนเสียงของคนตัวเล็กๆ

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่น่าหยิบฉวยที่สุดประเด็นหนึ่งของหนังก็คือ คอนเซ็ปต์เกี่ยวกับโลกอันบริสุทธิ์ ดังที่กล่าวไปแล้วว่า UTS มีลักษณะคล้ายกับยูโทเปีย ซึ่งโลกที่ซัลลิแวนสร้างขึ้นมานั้น เขาตั้งใจให้ไม่มีคนไม่ดีแม้แต่คนเดียวมาอาศัยอยู่ โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์คัดเลือกคนที่ซื่อสัตย์เท่านั้นเข้ามาในนิคม ซัลลิแวนมีความคิดว่ามนุษย์นั้นสกปรกและน่าขยะแขยง อันเป็นปมที่เกิดจากในวัยเด็ก เขาเห็นพ่อแม่ถูกฆ่าตายต่อหน้าต่อตาในยุคสงคราม

วิทยาศาสตร์กับการคัดเลือกแค่ “คนดี” หรือพันธุกรรมที่ดี นำเรามาสู่ประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงอย่างแพร่หลายที่สุดทางปรัชญา นั่นคือ “มนุษย์มีเจตจำนงเสรี (free will) หรือไม่” หากเราเชื่อว่าซัลลิแวนคัดเลือกคนจากพันธุกรรมได้ นั่นย่อมหมายความว่า มนุษย์เลือกไม่ได้ว่าตนเองจะเป็นคนดีหรือไม่ดี เพราะพันธุกรรมเป็นตัวกำหนดทุกอย่างอยู่แล้ว คนทุกคนเกิดมาโดยถูกยีนส์กำหนดไว้แล้วว่าเขาจะกลายเป็นอะไร จะก่ออาชญากรรมหรือไม่ หรือจะเป็นคนชอบช่วยเหลือผู้อื่น ถ้าเช่นนั้น โลกก็จะดำเนินไปด้วยกฎเกณฑ์แบบนิยัตินิยม (determinism) คือทุกคนไม่ได้ “เลือก” เองว่าจะทำอะไร และนั่นย่อมหมายความว่า การลงทัณฑ์และให้รางวัลย่อมไร้ความหมาย หากใครก่ออาชญากรรมขึ้น เขาก็ไม่ต้องติดคุก เพราะเขาไม่ได้เป็นคนเลือกกระทำสิ่งนั้น เช่นเดียวกับคนที่ทำดี ย่อมไม่ควรได้รับการสรรเสริญ เพราะเขาเกิดมาเป็นแบบนั้นอยู่แล้ว

หากเราเชื่อว่าซัลลิแวนคัดเลือกคนจากพันธุกรรมได้ นั่นย่อมหมายความว่า มนุษย์เลือกไม่ได้ว่าตนเองจะเป็นคนดีหรือไม่ดี เพราะพันธุกรรมเป็นตัวกำหนดทุกอย่างอยู่แล้ว คนทุกคนเกิดมาโดยถูกยีนส์กำหนดไว้แล้วว่าเขาจะกลายเป็นอะไร จะก่ออาชญากรรมหรือไม่ หรือจะเป็นคนชอบช่วยเหลือผู้อื่น ถ้าเช่นนั้น โลกก็จะดำเนินไปด้วยกฎเกณฑ์แบบนิยัตินิยม (determinism) คือทุกคนไม่ได้ “เลือก” เองว่าจะทำอะไร

ดูเหมือนโลกในอุดมคติของซัลลิแวนที่เขาตั้งใจสร้างขึ้นจะย้อนแย้งในตนเองเล็กน้อย มีฉากหนึ่ง เขากล่อมให้นักข่าวคนหนึ่งเหนี่ยวไกปืนฆ่าคนทรยศของ UTS โดยบอกว่าจะให้รางวัลตอบแทนด้วยการให้เขากลายเป็นพลเมืองของ UTS ถาวร หลังจากนักข่าวเหนี่ยวไก เขากลับเปิดโปงสัญชาตญาณดิบของนักข่าวผู้นั้น ว่าแท้จริงแล้วนักข่าวเองนั่นแหละที่มีมลทิน สมควรแก่การลงโทษ ดูเหมือนซัลลิแวนจะไม่เคลียร์กับตนเองในเรื่องการลงทัณฑ์และให้รางวัล เพราะเป็นเขาเองที่บอกว่าตัวเองเลือกคนที่ซื่อสัตย์ได้ การที่นักข่าวทำอะไรบางอย่างลงไป ย่อมหมายความว่าเขาไม่ได้เลือกเอง เพราะนั่นคือธรรมชาติของเขา หนังควรจะสำรวจประเด็นธรรมชาติของมนุษย์ให้ละเอียดขึ้นอีกนิด แต่แม้จะไม่ทำเช่นนั้นก็เข้าใจได้ เพราะด้วยพล็อตย่อยที่มีหลายพล็อตของหนัง กับเวลาแค่ 2 ชั่วโมงอาจไม่เพียงพอให้เล่าในประเด็นนี้

ประเด็นอื่นที่หนังนำเสนอเป็นแกนกลาง มีทั้งประเด็นที่เห็นได้ดาษดื่นในหนังเกาหลี และประเด็นที่แปลกใหม่ โดยจะขอพูดในประเด็นที่เห็นได้บ่อยก่อน นั่นคือประเด็นเรื่องครอบครัว พระเอกของเรื่องคือแทโฮ และโดโรธี มีส่วนที่คล้ายคลึงกัน คือพวกเขาถูกทำให้พลัดพรากจากครอบครัว ในสภาพแวดล้อมที่วุ่นวายไปด้วยคนทุกชาติพันธุ์ปะปนกันอยู่ในอวกาศ สภาพแวดล้อมแบบที่มีความเป็น cyberpunk ซึ่งเป็นยุค post-apocalypse แบบหนึ่ง สื่อถึงความเสื่อมโทรมของสังคมมนุษย์หลังจากยุคสงคราม ซึ่งทำให้สายใยของผู้คนที่อยู่ใกล้ตัวมีความเปราะบางสูง การพลัดพรากจากกันในอวกาศเป็นเรื่องน่ากลัวมาก เพราะนั่นอาจหมายถึงการ “หลุดออกนอกวงโคจร” และหากันไม่เจออีกเลย ในสภาพของความเป็นพหุวัฒนธรรมที่ยุ่งวุ่นวายของสังคมยุคหลังสงครามนี้ ยิ่งขับเน้นความโหยหาถึงสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดที่หาได้ยากยิ่ง ซึ่งหนังก็ได้ขยี้อารมณ์ของการพรากจากกันของครอบครัว ว่ามันน่าเจ็บปวดและน่าเศร้าเพียงใด มันอาจดูเหมือนการสูญเสียที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจที่ทำให้เรายังเป็นมนุษย์และไม่กลายเป็นจักรกลไปเสียก่อน ยิ่งกับแทโฮเองที่ถูกขับออกจากชนชั้นสูง และไม่มีเงินมากพอใช้บริการตามหาสมาชิกในครอบครัวแสนแพง ที่การันตีผลภายในไม่กี่นาที ยิ่งเป็นภาพสะท้อนของกลุ่มคนที่ถูกละเลย ไร้ทางสู้ ไร้อำนาจ ที่ถูกทำให้สิ้นหวังลงไปทุกวัน ตัวละครเช่นนี้ทำให้ประเด็นเรื่องครอบครัวของหนังมีความเป็นดราม่ามากขึ้นไปอีก ซึ่งในประเด็นเรื่องครอบครัวนี้ วงการหนังเกาหลีทำให้กลายเป็นลายเซ็นของหนังอยู่หลายเรื่อง

ยิ่งกับแทโฮเองที่ถูกขับออกจากชนชั้นสูง และไม่มีเงินมากพอใช้บริการตามหาสมาชิกในครอบครัวแสนแพง ที่การันตีผลภายในไม่กี่นาที ยิ่งเป็นภาพสะท้อนของกลุ่มคนที่ถูกละเลย ไร้ทางสู้ ไร้อำนาจ ที่ถูกทำให้สิ้นหวังลงไปทุกวัน

แม้ประเด็นเรื่องครอบครัวจะถูกทำให้เป็นประเด็นดาษดื่นในหนังเกาหลี แต่มันก็ถูกเล่าใหม่ด้วยเช่นกัน โดยการนิยามคำว่า “ครอบครัว” ให้ต่างออกไปจากเดิมด้วย ครอบครัว อาจเป็นกลุ่มคนที่มาทำงานด้วยกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน ตั้งวงไพ่และหาเงินมาใช้หมุนในทีมด้วยกัน โดยไม่คำนึงถึงภูมิหลังที่อาจมีบาดแผลมาก่อนของแต่ละคน เคมีของตัวละครและพล็อตย่อยของหนังได้เสริมความแข็งแกร่งให้กับจุดนี้ได้อย่างดี โดยทำให้เราเชื่อจริงๆ ว่าทั้ง 4 คน (ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นหุ่นยนต์) เป็นมากกว่าแค่เพื่อนร่วมงาน แต่เป็นทีมที่มีความเป็นครอบครัวอย่างแท้จริง แทโฮ กัปตันจาง ไทเกอร์ พาร์ค และหุ่นยนต์บับส์ เป็นเพียงเดนตายสังคมที่มารวมตัวกันด้วยจุดประสงค์ร่วมกันคือสร้างความมั่งคั่งให้ตนเอง และถีบตนเองให้พ้นกับดักความจนเสียที แต่พวกเขาก็พบว่าพวกเขามีส่วนที่คล้ายกันมากกว่าที่คิด ยิ่งในเรื่องสำคัญที่ต้องตัดสินใจ เช่น การจะช่วยโดโรธีไว้หรือส่งเธอให้ตำรวจ พวกเขาสามารถตัดสินใจไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีความเป็นทีมได้อย่างดี อาจกล่าวได้ว่าทั้งสี่ไม่ได้คาดคิดว่าตนเองจะได้พบครอบครัวอีกครอบครัวในอวกาศอันเคว้งคว้างแห่งนี้ แต่พวกเขา “กลายเป็น” ครอบครัวจากการค่อยๆ ผสานตัวตนให้สอดรับกันและกัน

สำหรับประเด็นที่แปลกใหม่อีกประเด็นหนึ่ง ที่เราเห็นได้ไม่บ่อยในหนังเกาหลี ก็คือประเด็นเรื่องเพศ โดยหนังกำหนดให้ตัวละครหนึ่งใน 4 คนนี้เป็น LGBT ซึ่งนับว่าเป็นมิติใหม่ของหนัง ที่สะกิดใจให้คนดูตั้งคำถามกับตัวเองได้อย่างชะงัดว่า “เพศมีความหมายว่าอะไรกันแน่” โดยตัวละครที่เป็น LGBT นี้ได้ตามหาอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองอย่างเข้มข้น และรวบรวมทรัพยากรทุกอย่างที่มีเพื่อทำให้ตนเองมีเพศตรงกับที่ต้องการ การเลือกให้ตัวละครนี้มีอัตลักษณ์ทางเพศแบบ LGBT เป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาด เพราะเขาหรือเธอไม่ได้มีพื้นเพแบบมนุษย์ทั่วไป และทลายเส้นแบ่งของการบอกว่า “เพศถูกกำหนดมาตั้งแต่เกิด” แต่เป็นสิ่งที่ตัวละคร “เลือกเอง” หลังจากได้รับการฟูมฟักจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวและการตัดสินใจ (judgement) หลายต่อหลายครั้ง บทความนี้จะไม่บอกว่าเขาหรือเธอคนนั้นคือตัวละครไหน แต่ไม่บ่อยนักที่หนังเกาหลีจะมีตัวละครที่เป็น LGBT เป็นตัวเอกที่โดดเด่นออกมาเช่นนี้ จึงนับเป็นความแปลกใหม่ที่น่าจับตามอง

ในภาพรวม Space Sweepers เป็นหนังที่มีองค์ประกอบหลายอย่างที่ทำให้เป็นหนังดีเรื่องหนึ่ง ในเรื่องของ CGI คงไม่ต้องพูดถึง เพราะทำออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม เทียบชั้นได้กับหนับฮอลลีวูด แต่ความโดดเด่นของหนังอยู่ที่การจับพล็อตย่อยหลายๆ พล็อต อันเกิดจากภูมิหลังของตัวละครหลายๆ ตัวมายึดโยงกัน จนทำให้เราสามารถตั้งคำถามเชิงสังคม วัฒนธรรม และปรัชญาได้ จากการปูเรื่องของหนังในตอนท้าย คาดว่าหนังจะมีภาคต่อให้ได้รับชมกันในอีกไม่นาน


ดู Space Sweepers ได้ที่ Netflix

นภัทร มะลิกุล
จบการศึกษาจากเอกปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ปัจจุบันเป็นนักวิจารณ์หนังและหนังสือให้กับสื่อออนไลน์ และยังเป็น co-founder ของบล็อกคุยเรื่องหนัง afterthescene.com เธอชอบเรียนรู้เรื่องมนุษย์ผ่านสื่อและศิลปะ และมีเป้าหมายอยากเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต

LATEST REVIEWS