Resurrection : ผู้หญิง แม่คน และก้นบึ้งของความกลัว

(2022, Andrew Semans)

บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์

มาร์กาเร็ต (รีเบคกา ฮอลล์) เป็นเวิร์กกิ้งวูแมนที่ประสบความสำเร็จด้านหน้าที่การงานในบริษัทยาในเมืองอัลบานีใกล้มหานครนิวยอร์ก และดูเหมือนเธอจะเป็นหัวหน้าที่ควบคุมทุกอย่างได้อย่างอยู่มือ เธอเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวของลูกสาววัยย่าง 18 ที่ดูจะดื้อด้านไม่น้อย และดูเหมือนเธอจะไม่ยอมให้ลูกสาวหลุดรอดสายตาเช่นกัน แต่แล้ววันหนึ่งในงานสัมมนาที่กรีนแลนด์ มาร์กาเร็ตพบว่าเดวิด (ทิม ร็อธ) คนในอดีตของเธอปรากฏตัวที่นั่น และหลังจากนั้นเธอก็เสียสติไป เพราะไม่เคยลืมแม้สักวันว่าในวัย 18 เธอเคยถูกอาจารย์ชีววิทยาคนนี้ล่อลวง (grooming) ให้มีสัมพันธ์ลึกซึ้งด้วยจนเธอตั้งท้องและคลอดลูกคนแรก แต่กลับต้องหนีออกมาหลังจากเกิดเหตุไม่คาดฝันกับลูกน้อย

เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่เปิดเผยเรื่องราวของหนังและความลับของตัวละครตั้งแต่ต้นทาง และหนัง psychological thriller ของแอนดรูว์ ซีมานส์ เรื่องนี้ก็ไม่ได้มีท่าทีปิดบังว่ามีความลับดำมืดซ่อนอยู่ บรรยากาศไม่น่าไว้ใจถูกสร้างขึ้นตั้งแต่เริ่มเรื่อง ทั้งฟันเขี้ยวที่มาโผล่ในกระเป๋าสตางค์ของลูกสาวแบบไม่มีที่มาที่ไป ภาพหลอนของทารกในเตาอบที่มีควันพวยพุ่งออกมา โลเคชั่นที่จะเป็นเมืองใหญ่ก็ไม่ใช่ จะเป็นเมืองร้างก็ไม่เชิง สถาปัตยกรรมในตัวเมืองที่แข็งทื่อ และดนตรีประกอบที่เล่นใหญ่แต่เอาอยู่โดย จิม วิลเลียมส์ คอมโพสเซอร์ของ Titane (2021, Julia Ducournau) หนังปาล์มทองคำปีล่าสุด และ Possessor (2020, Brandon Cronenberg) ราวกับจะเตรียมคนดูให้พร้อมรับมือกับเหตุการณ์ชวนตกตะลึงที่จะตามมาเป็นระลอก หนังปล่อยระเบิดลูกใหญ่ตอนท้ายองก์แรกด้วยโมโนล็อกลองเทค 8 นาทีที่มาร์กาเร็ตเล่าเรื่องอดีตให้ตัวละครตัวหนึ่งฟัง แล้วหลังจากนั้นก็เร่งเครื่องหนักจนไม่มีอะไรหยุดยั้งความบ้าคลั่งได้อีก

การปรากฏตัวของเดวิดคือการเข้ามาเขย่าชีวิตปัจจุบันของมาร์กาเร็ต เขาทำให้เธอนึกถึงตอนที่เธอยังอายุเท่าลูกสาวในตอนนี้ เธอพบเขาตอนตามติดพ่อแม่ไปงานสัมมนาวิชาการ เขาเข้าหา เข้ามาตีสนิทเธอทางพ่อแม่ และหลังจากนั้นเธอก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของเขาและมีชีวิตกึ่งฮิปปี้กึ่งคัลต์ด้วยกัน เขาร้องขอให้เธอทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ให้โดยอ้างว่าสิ่งเหล่านั้นคือ ‘ความกรุณา’ ตั้งแต่การทำงานบ้านไปจนถึงการทำทุกรกิริยาประหลาดๆ โดยอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของการบำเพ็ญสมาธิ เธอไม่ได้ตั้งคำถามมากนักและทำตามที่เขาบอกมาตลอด เมื่อตั้งท้องเธอก็ไม่ได้ติดใจ แถมยังนึกไม่ออกว่าจะรักใครได้มากกว่ารักเขา แต่เมื่อคลอดลูกน้อยออกมา เธอก็เข้าใจว่าเธอรักลูกได้มากกว่า และด้วยอะไรสักอย่าง วันหนึ่งเขาใช้ให้เธอไปซื้อของในเมืองและทิ้งลูกไว้กับเขาที่บ้าน เมื่อเธอกลับมาก็พบว่าเขา ‘กิน’ ลูกเข้าไปทั้งตัว เหลือไว้แค่นิ้วเล็กๆ ไม่กี่นิ้ว

เมื่อมาร์กาเร็ตในวัยกลางคนพบว่าเดวิดกลับเข้ามาในชีวิต เธอพยายามตั้งสติแล้วตามเขาไปเพื่อบอกเขาไม่ให้มารังควานลูกสาว แต่เขากลับเอาแต่อ้างว่าลูกน้อยยังมีชีวิตอยู่ในท้องเขา ยังคงร้องไห้—ร้องเรียกหาแม่—อยู่ในท้องเขา หนังชวนเราตามติดการพบกันแต่ละครั้งของมาร์กาเร็ตกับเดวิดที่ตามมาด้วยการหลอกล่อให้เธอ ‘กรุณา’ ทำบางสิ่ง เพื่อแลกกับการที่เขาจะไม่ยุ่งกับลูกสาวเธอและไม่มาให้เห็นหน้าอีก ตั้งแต่เดินเท้าเปล่าไปทำงาน หรือไปยืนหกกบในสวนสาธารณะตอนกลางดึก ไปจนถึงตอนที่เธอวางแผนทำร้ายเขาเพื่อให้เรื่องทั้งหมดมันจบไปเสียที เหนือไปกว่านั้น ความเสียสติของเธอยังดูไม่เป็นเหตุเป็นผลในสายตาคนอื่นไปเสียหมด ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เด็กฝึกงานในบริษัท ลูกสาว หรือเซ็กซ์บัดดี้ของเธอ

ตลอดทั้งเรื่อง มาร์กาเร็ตห้อยโหนอยู่ระหว่างการเสียการควบคุมกับการพยายามควบคุมสถานการณ์ ระหว่างความเข้าใจตัวเองกับความรู้สึกผิดที่เดวิดสร้างให้ด้วยการปั่นหัว (gaslight) ในทุกครั้งที่พบกันให้เธอเชื่อว่าเธอคือคนที่ทิ้งลูก และระหว่างการแก้แค้นเพื่อความสาแก่ใจกับการเรียกคืนอำนาจจากเพศชายที่เคยฉวยประโยชน์จากเธอ ในขณะเดียวกัน คนดูที่เป็นผู้หญิงอย่างเราก็แกว่งไปแกว่งมา ไม่แน่ใจว่าจะเห็นใจหรือสมเพชมาร์กาเร็ตที่ถูกเดวิดปั่นหัว และไม่แน่ใจว่าจะรู้สึกสะใจกับตอนจบของเรื่องหรือหดหู่กับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะรู้ดีว่าการเดินออกมาจากความสัมพันธ์ที่เป็นพิษนั้นไม่เคยง่าย เมื่อวันหนึ่งผู้กระทำอาจใจร้าย แต่วันถัดมาเขากลับใจดียิ่งกว่า ยิ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นในสถานที่ที่ไกลห่างจากความปกติ ทั้งกรีนแลนด์ในอดีตที่โดดเดี่ยวจากทุกอย่าง และอัลบานีในปัจจุบันที่ในหนังดูเหมือนเมืองสมมติที่ไม่มีใครใช้ชีวิตอยู่จริง จึงไม่แปลกหากเธอจะไม่กล้าหาญพอจะเอาตัวเองออกมา

แม้หน้าฉากของหนังจะพูดถึงความสัมพันธ์ที่เป็นพิษและมีความรุนแรงเป็นส่วนประกอบหลัก แต่กล่าวได้ว่าฉากหลังนั้นพูดถึงความกลัวที่ลึกที่สุดของผู้หญิงจำนวนหนึ่ง ตั้งแต่กลัวถูกเพศชายควบคุมในความสัมพันธ์ กลัวการต้องเป็นแม่คน กลัวสูญเสียลูก กลัวครอบครัวไม่สมบูรณ์ กลัวไม่ประสบความสำเร็จ หรือกลัวจะไม่เป็นที่รักของเพศชาย และตั้งคำถามว่าหากความกลัวนั้นพุ่งทะยานถึงขีดสุด ผู้หญิงคนหนึ่งจะยอมทำมากที่สุดถึงขั้นไหนเพื่อจะเอาทุกอย่างกลับมาอยู่ภายใต้การควบคุมอีกครั้ง และหากทำเช่นนั้น จะมีอะไรที่เธอต้องสูญเสียไปบ้างระหว่างทาง

แต่ในอีกขั้นหนึ่ง ความกลัวเหล่านี้เกี่ยวพันอย่างแนบชิดกับการควบคุมและการตกอยู่ใต้การควบคุม มันชวนให้เราคิดว่า ‘ความเป็นแม่’ แบบที่มาร์กาเร็ตเข้าใจเมื่อมีลูกคนปัจจุบัน อาจไม่ใช่การถูกยึดอำนาจที่มีเหนือตนเองทำให้ไม่สามารถมีชีวิตแบบที่เธออยากมี แต่คือการมอบอำนาจให้เธอได้ควบคุมอะไรได้อย่างที่อยาก และสามารถสร้างภาพฝันของครอบครัวในอุดมคติได้ ในเมื่อการเป็นแม่ในครั้งที่สองไม่ได้ทำให้เธอกลัวสิ่งที่เธอเคยกลัว—เธอไม่กลัวการเป็นแม่อีกแล้ว (เพราะเมื่อเคย ‘เป็น’ แล้วก็ไม่อาจ ‘ไม่เป็น’ ได้) ไม่ได้กลัวการสูญเสียลูกมากเท่ากับสูญเสียสถานะความเป็นแม่ที่ดีแบบที่ตัวเองพยายามจะเป็น (เพราะเคยถูกปั่นหัวว่าตัวเองเคยเป็นแม่ที่เลวเพราะทิ้งลูก) ไม่ได้คาดหวังว่าจะมีครอบครัวที่สมบูรณ์แบบพ่อแม่ลูกอีก (เพราะแม่เลี้ยงเดี่ยวก็เลี้ยงลูกให้ดีได้) และไม่ได้หวังว่าเพศชายจะต้องมารัก (เพราะต้องการผู้ชายเพียงแค่ตอนที่อยากมีเซ็กซ์ด้วย)

ความกลัวเหล่านี้เกี่ยวพันอย่างแนบชิดกับการควบคุมและการตกอยู่ใต้การควบคุม มันชวนให้เราคิดว่า ‘ความเป็นแม่’ แบบที่มาร์กาเร็ตเข้าใจเมื่อมีลูกคนปัจจุบัน อาจไม่ใช่การถูกยึดอำนาจที่มีเหนือตนเองทำให้ไม่สามารถมีชีวิตแบบที่เธออยากมี แต่คือการมอบอำนาจให้เธอได้ควบคุมอะไรได้อย่างที่อยาก และสามารถสร้างภาพฝันของครอบครัวในอุดมคติได้

ในช่วงท้ายของหนัง เราจึงได้เห็นว่าความกลัวที่จะสูญเสียลูกสาวคนปัจจุบันของเธอ (ไม่ว่าจะจากเดวิดหรือจากลูกที่หนีไปเองเพราะทนแม่ควบคุมไม่ไหว) เป็นเพียงเรื่องที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ แต่ความกลัวที่เกิดจากความชอกช้ำทางจิตใจในอดีตที่ไม่อาจเล่าให้ใครฟังได้ต่างหากที่ว่ายวนอยู่ใต้น้ำ ทั้งกลัวว่าเล่าไปก็จะไม่มีใครเชื่อว่าเรื่องเหนือจริงแบบนี้เกิดขึ้นจริง กลัวตัวเองเป็นแม่ที่ไม่ดีแบบที่ถูกปั่นหัว กลัวว่าความรู้สึกผิดที่หนีมาจากลูกคนแรกจะไม่ถูกไถ่ถอน และกลัวว่าวันหนึ่งตัวเองจะกลับไปตกอยู่ใต้การควบคุมของใครอีก ความกลัวของผู้หญิงคนหนึ่งหรือแม่คนหนึ่งมีอยู่นับร้อยอย่าง แต่ความกลัวที่มีความรู้สึกผิดเป็นพื้นฐานอาจเป็นต้นเหตุของความกลัวอีกร้อยอย่างที่เหลือก็เป็นได้

Resurrection ไม่ได้เป็นหนังที่ดูแล้วขนลุกขนพองแบบทันท่วงทีในทุกจังหวะ แต่เก่งฉกาจในการทำให้คนดูตั้งตารอแบบใจไม่ดีว่าเรื่องราวจะพินาศได้ถึงขั้นไหน แม้คนดูที่ช่ำชองหนังทรงนี้อยู่แล้วจะพอเดาเหตุการณ์ได้ แต่หนังก็ฉลาดใช้จังหวะคอเมดี้ผ่ากลางเพื่อสร้างลูกเล่นให้ฉากที่เดาได้มีอะไรน่าจดจำ ซึ่งหากคนดูไม่ซื้อก็อาจพูดได้ว่าจังหวะคอเมดี้นี่เองที่เป็นตัวลดทอนพลังของหนังลงไป แต่สำหรับคนที่ไม่ค่อยชินกับหนังทรงนี้ อาจมีหลายจังหวะที่ต้องนั่งจิกเบาะและหรี่ตาดู เพราะหนังได้ก้าวข้ามความขึงขังจริงจังในช่วงแรก และไม่เหนียมอายที่จะกลายร่างเป็นหนังเกรดบีในช่วงท้าย (รีเบ็คกา ฮอลล์ ที่เป็นหนึ่งใน Executive Producer ใส่เต็มแรงจนร่างกายแทบจะระเบิดคาจอ ส่วนทิม ร็อธ ก็เล่นน้อยแต่หลอนจนเอาอยู่และช่วยเชื่อมร้อยความไม่ลงล็อกของหนังในบางช่วงบางตอนได้ดีอย่างคาดไม่ถึง)

Resurrection ไม่ได้เป็นหนังที่ดูแล้วขนลุกขนพองแบบทันท่วงทีในทุกจังหวะ แต่เก่งฉกาจในการทำให้คนดูตั้งตารอแบบใจไม่ดีว่าเรื่องราวจะพินาศได้ถึงขั้นไหน แม้คนดูที่ช่ำชองหนังทรงนี้อยู่แล้วจะพอเดาเหตุการณ์ได้ แต่หนังก็ฉลาดใช้จังหวะคอเมดี้ผ่ากลางเพื่อสร้างลูกเล่นให้ฉากที่เดาได้มีอะไรน่าจดจำ

ความไม่เหนียมอายนี่เองที่ทำให้เรารู้สึกถึงความดิบสดของหนังและอยากรอดูหนังใหม่ของเขาเรื่อยไป แม้จะไม่ใช่แฟนหนังทรงนี้มาก่อนก็ตามที


Resurrection เป็นผลงานเขียนบทและกำกับของ แอนดรูว์ ซีมานส์ จาก Nancy, Please (2012) ที่เคยเข้าชิงที่เทศกาลหนัง Tribeca มาก่อน เขาเพิ่งพา Resurrection ไปพรีเมียร์แบบนอกสายประกวดที่เทศกาลหนัง Sundance เมื่อเดือนมกราคม และเข้าประกวดสาย American Independents Competition ที่เทศกาลหนัง Cleveland เมื่อสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หนังจะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์อเมริกาและสตรีมใน Shudder กลางปีนี้

วรรษชล ศิริจันทนันท์
ชอบเขียนถึงภาพยนตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม เรียนจบด้านประวัติศาสตร์ยุโรป ความฝันในวัยเกือบ 30 คือการได้ย้ายออกจากประเทศ

LATEST REVIEWS