Rat Film – ว่าด้วยหนู และคนดำแห่งเมืองบัลติมอร์

ทุกอย่างเริ่มต้นจากหนูตัวหนึ่งในถังขยะ ติดแหง็กโดยที่แม้จะพยายามกระโดดอย่างสุดแรง แต่เพราะถังขยะในบัลติมอร์มีความสูงอยู่ที่ 34 นิ้ว หนูที่โดยปกติจะกระโดดได้สูง 32 นิ้วจึงได้แค่กระโดดเฉียดปากถังขยะ

Rat Film คือสารคดีความยาว 80 นาที ของ Theo Anthony ผู้กำกับภาพยนตร์อายุ 31 ปี ที่อาศัยอยู่ในบัลติมอร์ สหรัฐอเมริกา “คืนหนึ่งพอผมกลับมาบ้าน ผมได้ยินเสียงดังมาจากถังขยะ ผมเลยหยิบโทรศัพท์ออกมา และเริ่มต้นถ่ายสารคดีเรื่องนี้” Anthony เล่าถึงจุดตั้งต้นของ Rat Film

ในเมืองบัลติมอร์ หนูคือสิ่งมีชีวิตหนึ่งที่อาศัยอยู่ร่วมกับผู้คนในเมืองราวกับเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่ภายใต้นิยามของ ‘ความปกติ’ ก็ไม่ได้แปลว่า ความสัมพันธ์ระหว่างหนูกับชาวเมืองบัลติมอร์จะดำเนินไปอย่างราบรื่นแต่อย่างใด กล่าวคือ พวกเขาเพียงแค่ชินชากับชีวิตประจำวันที่ต้องพบเจอกับหนูอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นหนูที่วิ่งตัดหน้าบนท้องถนน หรือหนูที่ลอบเข้ามาคุ้ยถังขยะ การปรากฏตัวอยู่เรื่อยๆ ของสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ นี้ ไม่เพียงแต่จะสร้างความรำคาญ แต่พร้อมๆ กัน ชาวเมืองก็ค่อยๆ ปรับตัว และพัฒนาวิธีการที่พวกเขาจะกำจัดหนูอย่างที่อาจเรียกได้ว่า ประหลาด และพิสดารยิ่งขึ้น

ชาวเมืองคนหนึ่งให้ Anthony ดูปืนลูกดอกที่เขาพัฒนาขึ้นเพื่อกำจัดหนูที่มักจะแอบเข้ามาในสวนหลังบ้านโดยเฉพาะ ในขณะที่วัยรุ่นอีกคู่หนึ่งก็ชวน Anthony ไปดูกิจกรรมโปรดในยามดึกของพวกเขานั่นคือ ‘การตกหนู’ โดยที่วัยรุ่นคนหนึ่งจะเกี่ยวเศษเนื้อสัตว์กับเบ็ดตกปลา เหวี่ยงออกไปในกองขยะ นั่งรอเวลาที่หนูจะวิ่งมางับเหยื่อ ส่วนวัยรุ่นอีกคนจะถือไม้เบสบอลเพื่อเตรียมที่จะวิ่งเข้าไปหวดหนูเคราะห์ร้ายตัวนั้นสุดแรง กิจกรรมในลักษณะนี้ดำเนินไปอย่างเป็นปกติไม่ต่างอะไรกับการตกปลา นั่นเพราะจำนวนของประชากรหนูในเมืองแห่งนี้มีมากมายมหาศาลไม่ต่างอะไรกับปลาในมหาสมุทร

ความน่าสนใจอยู่ที่ว่า แม้เรื่องราวของ Rat Film จะเริ่มต้นด้วยหนู แต่ Anthony กลับพาคนดูไปไกลเกินกว่าความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในเมือง กับสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ โดยเชื่อมโยงให้เห็นประเด็นทางการเมืองที่หลบซ่อนอยู่ในฉากหลังของเมืองบัลติมอร์

“บัลติมอร์น่ะไม่เคยมีปัญหาเรื่องหนูหรอก เรามีแต่ปัญหาเรื่องคน” Edmund ชายผิวดำผู้คอยกำจัดหนูในบัลติมอร์กล่าว ย้อนกลับไปในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 บัลติมอร์เป็นเมืองแรกของสหรัฐอเมริกาที่ได้มีการผ่าน ‘กฎหมายการแยกที่อยู่อาศัย’ (residential segregation law) นายกเทศมนตรีเมืองบัลติมอร์ในขณะนั้นถึงกับกล่าวว่า “คนดำควรจะถูกแยกให้อยู่แค่ในสลัมเพื่อที่จะช่วยลดอัตราการเกิดความไม่สงบ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคติดต่อไปยังชุมชนคนขาวข้างเคียง และเพื่อปกป้องทรัพย์สินของคนขาวซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่”1https://www.epi.org/blog/from-ferguson-to-baltimore-the-fruits-of-government-sponsored-segregation/ และแม้ว่าไม่กี่ปีต่อมา ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกาจะให้การตัดสินว่า การแยกที่อยู่อาศัยในลักษณะนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทว่าปฏิบัติการแยกขาดที่อยู่อาศัยระหว่างคนดำกับคนขาวก็ได้โยกย้ายไปสู่ภาคเอกชน เกิดเป็นข้อตกลงภายในชุมชนของคนขาวที่จะคอยกีดกันสิทธิของคนดำต่อการเป็นเจ้าของบ้านในชุมชนต่างๆ 

ต่อมาในปี 1933 ช่วงภาวะเศรษฐกิจครั้งใหญ่ (The Great Depression) ก็ได้มีการก่อตั้ง the Home Oners’ Loan Corporation (HOLC) ขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่สูญเสียบ้านจากภาระหนี้สิน เช่นเดียวกับชื่อบริษัท หน้าที่ของ HOLC คือการให้ประชาชนกู้ยืมเงินในการซื้อบ้าน โดยที่เจ้าหน้าที่ของบริษัทจะลงสำรวจพื้นที่ ประเมิน และวาดแผนที่ที่แสดงให้เห็นถึงคุณภาพของพื้นที่หนึ่งๆ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับความเป็นไปได้ในการจะอนุมัติเงินกู้ยืมให้กับประชาชนในพื้นที่อีกที แผนที่ที่ถูกวาดขึ้นนี้จึงปรากฏสีที่สะท้อนให้เห็นคุณภาพของพื้นที่หนึ่งๆ ภายใต้การประเมินของเจ้าหน้าที่จาก HOLC (ที่ล้วนแล้วแต่เป็นคนขาว) ในกรณีของบัลติมอร์ พื้นที่ซึ่งถูกประเมินด้วย ‘สีเขียว’ ว่าเป็นพื้นที่คุณภาพล้วนแล้วแต่เป็นชุมชนซึ่งคนขาวอาศัยอยู่ ในขณะที่พื้นที่ซึ่งถูกถมทับด้วย ‘สีแดง’ ว่าเป็นพื้นที่ไร้คุณภาพล้วนแล้วแต่เป็นสลัมของคนดำ ปฏิบัติการเช่นนี้รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า ‘การขีดเส้นแดง’ (redlining) ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นสาเหตุให้คนดำไม่ได้รับอนุมัติการขอกู้ยืมเงินจาก HOLC และจำต้องทนอยู่ในสลัมต่อไป หากการขีดเส้นแดงยังผลิตซ้ำภาพจำต่อชุมชนคนผิวดำว่าเป็นพื้นที่สกปรก ไร้คุณภาพ และอันตราย2The Color of the Law, A Forgotten History of How Our Government Segregated America – Richard Rothstein

ในปี 1942 ท่ามกลางเปลวเพลิงแห่งสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกาที่กังวลว่าเชื้อโรคอาจกลายเป็นอาวุธสำคัญของฝ่ายศัตรู และหนูอาจกลายเป็นอาวุธสำคัญในการแพร่กระจายเชื้อโรคจึงได้พยายามที่จะผลิตสารพิษกำจัดหนูขึ้นมา โดยที่บัลติมอร์ก็ได้กลายเป็นห้องทดลองสำหรับสารพิษนี้ Dr. Curt P. Richter นักชีววิทยาแห่งมหาวิทยาลัย John Hopkins ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ และทดลองสารพิษกำจัดหนูที่เขาคิดค้นขึ้นกับประชากรหนูในเมืองๆ นี้ ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยเมื่อ Rat Film เปิดเผยกับเราว่า สลัมคนดำได้กลายเป็นพื้นที่สำหรับทดลองสารพิษชนิดนี้ไป นั่นเพราะด้วยสภาพแวดล้อมของชุมชนที่ชำรุดผุพังเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของหนู ในแง่นี้ สลัมคนดำจึงกลายเป็นห้องทดลองที่เหมาะสมที่สุดในการพัฒนาสารพิษสำหรับกำจัดหนู ขณะเดียวกัน เมื่อหนูคือสิ่งมีชีวิตที่เหมาะสมต่อการทดลองวิชาแพทย์สมัยใหม่ สลัมคนดำในบัลติมอร์จึงไม่เพียงแต่จะถูกรับรู้ในฐานะห้องทดลองสำหรับการพัฒนาสารพิษอีกต่อไป หากยังเป็นพื้นที่สำหรับการทดลองทางการแพทย์อื่นๆ กล่าวได้ว่า สาเหตุที่สลัมคนดำในบัลติมอร์ไม่ได้ถูกพัฒนาจึงประกอบด้วยหลายเงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็นการกีดกันทางเชื้อชาติที่ผูกพันอยู่กับการปฏิเสธโอกาสในการเข้าถึงเงินทุนกู้ยืม และการที่พื้นที่แห่งนี้มีสภาพแวดล้อมอันเหมาะสมต่อการทดลองทางการแพทย์ในประชากรหนู

Anthony ผู้กำกับสารคดีเรื่องนี้ เคยกล่าวไว้กับบทสัมภาษณ์หนึ่งว่า “แม้ว่าผมจะเริ่มทำหนังเรื่องนี้จากความสนใจเล็กๆ แต่สิ่งที่ขับเคลื่อนผมจริงๆ คือความพยายามที่จะเข้าใจว่าเมืองบัลติมอร์ในความเป็นจริงเป็นอย่างไร ในฝั่งหนึ่งของถนน เรามีบ้านราคาหลายล้าน แต่บนถนนอีกฟากกลับมีห้องแถวเก่าๆ เรียงติดกัน มันเป็นภาพที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงมากๆ เพราะสองฝั่งฟากถนนคือประชากรผู้มีรายได้ และระดับการศึกษาที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เมื่อคุณเป็นคนขาว และมีอภิสิทธิ์ มันมีพื้นที่บางแห่งในบัลติมอร์ที่คุณไม่ควรไป คุณจะมีเส้นทางที่สร้างไว้สำหรับคุณอยู่แล้ว เพียงแต่เส้นทางนี้กลับไม่เคยถูกพูดถึง แต่เมื่อคุณลองมองให้ดีๆ ว่า ทำไมเส้นแบ่งเหล่านี้ถึงดำรงอยู่ คุณจะพบว่ามันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เกิดจากความตั้งใจ เป็นแผนผังที่วางไว้อย่างละเอียด และถูกบังคับใช้อย่างเชี่ยวชาญในทุกๆ ระดับของการปกครอง”

เมื่อคุณเป็นคนขาว และมีอภิสิทธิ์ มันมีพื้นที่บางแห่งในบัลติมอร์ที่คุณไม่ควรไป คุณจะมีเส้นทางที่สร้างไว้สำหรับคุณอยู่แล้ว เพียงแต่เส้นทางนี้กลับไม่เคยถูกพูดถึง แต่เมื่อคุณลองมองให้ดีๆ ว่า ทำไมเส้นแบ่งเหล่านี้ถึงดำรงอยู่ คุณจะพบว่ามันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เกิดจากความตั้งใจ เป็นแผนผังที่วางไว้อย่างละเอียด และถูกบังคับใช้อย่างเชี่ยวชาญในทุกๆ ระดับของการปกครอง

Rat Film คือสารคดีที่เริ่มต้นเรื่องราวจากจุดเล็กๆ นั่นคือหนูในถังขยะ ทว่าภายใต้ความพยายามของหนูตัวเล็กๆ ต่อการจะกระโดดให้พ้นจากถังขยะกลับคือความสิ้นหวัง นั่นเพราะถังขยะถูกสร้างขึ้นด้วยความสูงที่คำนวนไว้แล้วอย่างละเอียดว่า หากหนูตกลงไป มันจะไม่มีวันกระโดดหนีจากถังขยะใบนี้ได้ หากหนูคือคนดำในเมืองบัลติมอร์ที่พยายามตะเกียกตะกาย ถังขยะก็ไม่ต่างอะไรกับผังเมืองบัลติมอร์ที่ขีดเส้นแบ่งที่อยู่อาศัยไว้อย่างแม่นยำ ต่อให้ดิ้นรนสักเพียงใด แต่ภายใต้โครงสร้างทางการเมืองคอยกดขี่ และกีดกันทางเชื้อชาติอย่างต่อเนื่อง และแนบเนียน หนูที่ร่วงหล่นลงไปในถังขยะจึงทำได้แต่เพียงหล่อเลี้ยงความหวังไปเรื่อยๆ ผ่านการกระโดดซ้ำๆ อย่างหวังๆ ว่าสักวันหนึ่งมันจะหลบหนีออกไปได้

หลบหนีออกไปเพียงเพื่อจะได้พบกับถังขยะอีกใบที่สูงใหญ่ยิ่งกว่าถังขยะใบเดิมที่มันหลุดพ้นออกมา


ดู Rat Film ได้ใน MUBI

LATEST REVIEWS