จากค็อกเทลถึงเหล้าขาว ผู้หญิงและปมที่ไม่ได้รอคอยผู้ชายกลับไปแก้ไข ใน One for the Road

(2021, นัฐวุฒิ พูนพิริยะ)

ผู้เขียนสังเกตเห็นปฏิกิริยาของผู้รับชม One for the Road ของ นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ผ่านทางทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก พบว่ามีคนเทียบ One for the Road กับ Happy Old Year (นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์, 2019) เยอะพอสมควร ทั้งการคืนของแฟนเก่า พ่อชอบดนตรี หรือคนรุ่นใหม่ที่ไปล่าฝันเมืองนอก แต่ด้วยความที่ผู้เขียนเพิ่งได้ดู Drive My Car (2021, ริวสุเกะ ฮามากุจิ) ก็อดคิดเทียบกันไม่ได้ ในแง่ที่ว่ามันเป็นโร้ดมูฟวี่ และเป็นเรื่องของการกลับไปเผชิญหน้าอดีตอันขมขื่นของผู้ชายที่ไม่เอาไหน นี่เองที่อาจทำให้เรานึกถึง Happy Old Year (2019) ไม่มาก เพราะตัวละครหลักเป็นผู้หญิง แต่ผู้กำกับเป็นผู้ชาย แต่ One for the Road กับ Drive My Car (2021) ผู้กำกับก็เป็นผู้ชาย แต่เล่าเรื่องของผู้ชายที่ไม่เอาไหน 

แต่ในความไม่เอาไหนของผู้ชายก็มีลำดับชั้นของความไม่เอาไหน เพราะบอสถึงไม่เอาไหน กล่าวคือไม่ได้เป็นผู้ชายแบบขนบรักต่างเพศผัวเดียวเมียเดียวที่มีครอบครัวอบอุ่น หน้าที่การงาน การศึกษาดี แต่บอสกลับเป็นเหมือนเพศชายที่เป็นที่ใฝ่ฝันของเพศชาย เพราะหน้าตาดีดึงดูดเพศตรงข้าม มีเงินใช้ มีห้องหับที่หรูหรา มีชีวิตที่เลือกได้ มีความสัมพันธ์กับเพศตรงข้ามแบบไม่ซ้ำหน้า แถมยังเป็นเจ้าของบาร์ในแมนฮัตตัน 

ความไม่เอาไหนของบอสจึงเป็นคนละชั้นกับความไม่เอาไหนของอู๊ด เมื่ออู๊ดเป็นลูกเจ้าของร้านแผ่นเสียง พ่อที่เสียชีวิตจากมะเร็งเม็ดเลือดขาว แม่ที่หายสาบสูญจากเรื่องเล่าชีวิตของอู๊ด และโรคร้ายที่ส่งทอดมายังอู๊ด อู๊ดไปอเมริกาเพื่อหาเงินและอาจจะต้องการชีวิตที่ดีกว่า การไปอเมริกาของอู๊ดไม่เหมือนกับบอส เพราะบอสไปได้เพราะบอสมีทางเลือก บอสไปเพราะคนรักของเขาอยากมีบาร์ที่เมืองนอก การไปของบอสจึงเป็นสิ่งที่เลือกได้ แต่อู๊ดอาจไปด้วยความจำเป็น และแน่นอนว่าการไปอเมริกาของอู๊ดก็คงเทียบไม่ได้กับคนพลัดถิ่นไทบ้านที่ไปในฐานะแรงงานผิดกฎหมายเพื่อส่งเงินกลับมาให้คนที่บ้านนอกใช้ 

ความไม่เอาไหนของอู๊ดคงเป็นชายที่ไม่รวย ทำงานเป็นพนักงานร้านอาหารไทย อยู่บ้านพักราคาถูก และต้องเก็บเงินเพื่อซื้อของให้คนที่เขาแอบชอบ ความไม่เอาไหนของชายในเรื่องสองคนจึงไม่เท่าเทียมกันแม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นความไม่เอาไหนของเพศชาย ดังนั้นเพศชายที่สิ้นฤทธิ์แต่ก็ยังมีลำดับชั้นของการสูญเสียอำนาจ หรือการดำรงสถานะของเพศชายที่คงเหลือไว้ไม่เท่ากัน

แต่ความไม่เอาไหนก็ไม่ได้จำกัดไว้แต่เพศชาย เพราะความไม่เอาไหนใน One for the Road กลับขยายไปถึงความไม่เอาไหนของวัยผู้ใหญ่ตอนต้นที่อายุเข้าใกล้สามสิบทั้งชายหญิง อลิซที่กลับจากอเมริกามาเปิดร้านสอนเต้นที่ลูกค้าถูกกลืนด้วยผู้สูงอายุ ถ้าหากการเต้นเป็นเรื่องของคนมีเงินและเวลาว่าง แต่วัยรุ่นที่เป็นเป้าหมายหลักของร้านกลับไม่มีเงินและไม่มีเวลา หนูนาดูจะไปได้ดีที่สุด และอาจไม่ถูกจัดว่าเป็น “คนไม่เอาไหนในวัยสามสิบ” เธอไปได้ดีกับอาชีพนักแสดงตามความฝันที่เธอไปนิวยอร์ก 

หนูนาดูจะรอดพ้นจากจำกัดความของความไม่เอาไหนของวัยสามสิบได้ เช่นเดียวกับรุ้งที่มีครอบครัวอบอุ่นเมื่อเธอได้พบรักกับชาวต่างชาติ การแต่งงานข้ามเชื้อชาติเป็นเรื่องปกติ พัชรินทร์ ลาภานันท์ (2012) ลงพื้นที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดอุดรธานี พบว่าการแต่งงานกับชาวต่างชาติไม่ใช่เพื่อเงินเพียงเดียว และมีเหตุผลอื่นๆ ที่ซับซ้อนเช่น ผิดหวังจากชายไทย ต้องการมีชีวิตสามีภรรยาที่มีความสุข ต้องการให้ลูกได้รับการศึกษา หรือครอบครัวสนับสนุนให้แต่งงาน แต่การแต่งงานกับชาวต่างชาติไม่ได้ทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้นเสมอไป (ทิพย์สุดา ปรีดาพันธุ์, 2558)

ตั๊ก แม่ของบอสก็อาจพยายามต่อรองกับสภาพเศรษฐกิจและความไม่มั่นคงของครอบครัวไม่ต่างจากรุ้งเพียงแต่คนละเงื่อนไข การเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวอาจทำให้เธอจำใจต้องสร้างเรื่องเล่าว่าลูกของเธอเป็นน้องชาย เพื่อหวังว่าจะได้มีชีวิตครอบครัวที่ดีและบอสจะได้มีการศึกษาที่ดีในประเทศที่โอกาสจะมาพร้อมกับเงิน ซึ่งเป็นสิ่งที่ นัฐวุฒิ พูนพิริยะ หนักแน่นในการย้ำเสมอถึงความไม่มั่นคงของชีวิตโดยเฉพาะตั้งแต่เจนวายเป็นต้นมาที่ต้องเผชิญ นับตั้งแต่ Countdown (2012) 

ครอบครัวของบอสจึงเป็นครอบครัวที่เราได้เห็นแม่แต่ไม่ได้เห็นพ่อ ต่างจากครอบครัวของอู๊ดที่เราได้เห็นพ่อแต่ไม่ได้เห็นแม่ นี่แสดงให้เห็นถึงครอบครัวที่เว้าแหว่งไม่เป็นไปตามขนบของครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ เช่นเดียวกับ พริม ที่เราไม่ได้เห็นพ่อ แต่เราได้เห็นแม่ ผู้เป็นแม่ค้าขายอาหารตามสั่ง ราวกับว่าความเว้าแหว่งของครอบครัวต่างๆ นี้เป็นเหมือนคำสาปกับมนุษย์ให้ต้องหาชิ้นส่วนมาเติมเต็มอยู่เสมอ 

การเติมเต็มเป็นเพียงเรื่องของผู้ชายหรือไม่ อู๊ดที่อิจฉาอยากเป็นแบบบอส บอสที่รู้สึกขาดพริมจึงไปใช้ชีวิตสำมะเลเทเมา พริมที่สร้างผลงานการชงเหล้าจากความทรงจำที่เธอมีกับบอส หนูนาที่สร้างผลงานการแสดงได้ถึงบทบาทเพราะความโกรธแค้นจากความสัมพันธ์ของเธอกับอู๊ด รุ้งที่เริ่มต้นชีวิตใหม่เมื่อผิดหวังจากอู๊ด และตั๊กที่ยอมมีสามีใหม่และให้ลูกเรียกเธอว่าพี่สาวเพื่อจะได้ให้ลูกมีชีวิตที่ดี 

การเว้าแหว่งและการเติมเต็มจึงดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติของทั้งชายและหญิง แต่จริงๆ แล้วมันถูกอธิบายได้ด้วยเรื่องของการขาดหรือไม่ เราขาดหรือเราถูกทำให้รู้สึกขาด ทั้งๆ ที่มันอาจเป็นเพียงเรื่องของการยึดติดและการพลัดพราก (attachment and detachment) มันเป็นเรื่องปกติหรือไม่ที่เราจะรู้สึกยึดติดในบางครั้งและเราก็รู้สึกว่าพลัดพรากในบางคราว 

เพราะหากมองว่ามันเป็นเรื่องของการอิจฉาองคชาติ (penis envy) ผู้หญิงที่รู้สึกว่าองคชาติขาดหายไปและต้องตามหา เหมือนเป็นกระดูกซี่โครงของอดัม หรือเพศชายที่ต้องสร้างอัตลักษณ์ของตนเองตามพ่อราวกับเป็นปมตั้งแต่สามขวบ การอิจฉาองคชาติจึงเป็นเหมือนบาปที่ทุกคนต้องรู้สึก เป็นบาปของมนุษย์ที่ต้องสารภาพและจำนน แต่มันใช่หรือไม่เมื่อใน One for the Road ผู้หญิงกลับเป็นองค์ประธานผู้กุมอำนาจไว้ไม่น้อย 

เพศชายเป็นฝ่ายผิดหวังเมื่อกลับไปหาแฟนเก่าและนำวัตถุของความทรงจำไปคืน เพศชายต้องพบว่าแฟนเก่าไม่ใช่ภาพฝันที่เขาสร้างไว้ เพศชายที่พบว่าเพศหญิงมิใช่สิ่งหยุดนิ่งและเข้าถึงได้อย่างสมบูรณ์ เช่นเดียวกับปมที่มิใช่สิ่งที่รอคอยการกลับเข้าไปวิเคราะห์หรือแก้ไข ดังเช่น หนูนาที่ไม่แม้แต่จะมองหน้าอู๊ด เธอเขวี้ยงตุ๊กตาออสการ์ที่เขาตั้งใจเอามาให้ เหมือนกับรุ้งที่โกหกว่าไปสิงคโปร์และไม่ยอมแม้แต่จะเจออู๊ด ไปจนถึงพริมเองที่แม้จะเลิกรากับบอส เธอก็ยังคงใช้ชีวิตต่อไปได้ เช่นเดียวกับอลิซที่ดิ้นรนและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการบริหารธุรกิจโรงเรียนสอนเต้นได้ถึงแม้ว่าอู๊ดจะมาหาเธอหรือไม่ก็ตาม 

ผู้ชายในเรื่องจึงเป็นชายไม่เอาไหนที่มีปมกับคนรัก และเป็นด้านกลับของปมเพศหญิงที่ต้องเข้าหาผู้ชาย ผู้หญิงในเรื่องจึงมิใช่ผู้หญิงที่ใช้ชีวิตต่อไปไม่ได้เพราะขาดผู้ชาย พวกเธอดำรงชีวิตต่อไปและมีวิธีการเยียวยาบาดแผลในอดีตได้ในแบบของพวกเธอ เพศหญิงจึงไม่ใช่ฝ่ายที่รอคอยให้เพศชายไปแก้ปมในอดีตเพื่อให้พวกเธอใช้ชีวิตต่อไปได้ราวกับผู้ชายเป็นพระผู้ไถ่ ผู้ชายในเรื่องต่างหากที่ยังยึดติดกับอดีตแต่หลงคิดไปว่าตนเองได้ก้าวข้ามผ่านไปแล้ว เมื่อความตายมาถึงตรงหน้า ความเป็นชายในตัวอู๊ดเริ่มถูกท้าทาย และเป็นโมงยามที่เขาได้กลับไปสำรวจอดีตที่ตนไม่กล้าเผชิญหน้า

แล้วถ้าเราเทียบ One for the Road กับ Drive My Car ทำไมเราจึงอาจจะชอบ Drive My Car มากกว่า เพราะรถอันเป็นพื้นที่ส่วนตัวของคาฟูกุค่อยๆ กลายเป็นพื้นที่ส่วนรวม เป็นความทรงจำร่วมของการเปิดบาดแผลและเยียวยา เมื่อเขากล้าเผชิญหน้ากับความจริง พร้อมๆ กับมิซากิ หญิงที่เลี้ยงชีพด้วยการขับรถ เราอาจชอบเพราะ Drive My Car มันไม่หมกมุ่นกับเพศชาย พื้นที่รถไม่ได้ถูกครอบครองด้วยเพศชาย? ต่างจากใน Drive My Car ที่รถเป็นพื้นที่ต่อรองทางชนชั้นระหว่างเจ้านายและลูกจ้าง ระหว่างชายและหญิง ระหว่างความทรงจำของปัจเจกและความทรงจำร่วมของสังคมญี่ปุ่นร่วมสมัย

หรือเพราะเรื่องของ One for the Road มันหมกมุ่นกับภาพฝันคนรวยของบอส ในขณะที่ Drive My Car พาเราไปเผชิญกับชีวิตอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชีวิตแบบคาฟุกุ ข้อถกเถียงนี้ก็ถูกจะตกไปเมื่อพบว่าใน One for the Road ก็มีตัวละครจากชนชั้นอื่นๆ ได้แก่ พริม หญิงสาวที่เกิดจากความสัมพันธ์ข้ามเชื้อชาติในเมืองพัทยา นี่ก็ทำให้เราได้เห็นชีวิตอื่นๆ ที่นอกจากบอส แต่แน่นอนว่าโร้ดมูฟวี่ใน One for the Road ก็คงไม่ใช่แบบที่เราจะพบใน Mysterious Object at Noon (2000) ที่มันแทบจะเป็นนิทานและสารคดีจากชนชั้นแบบพริมหรือยิ่งกว่าพริม

เมื่อการเดินทางของเรื่องเล่าผ่านรถใน One for the Road และ Drive My Car ดูจะเป็นการเดินทางที่ถีบคนดูอย่างเราออกไป ทั้งรถเก่าคลาสสิคและชีวิตที่ร่ำรวยแบบไม่รู้จะใช้เงินอย่างไรหมด ทั้งเพลงฝรั่งและการชงเหล้า ทั้งมุราคามิและนิยายรัสเซีย ผลไม้ปริศนาใน Mysterious Object at Noon กลับเป็นพาหนะที่พาเราไปยังเรื่องราวที่ดึงดูดเราให้ติดตามมากกว่า หรือเป็นเพราะเรากระหายเรื่องเล่าที่เหมือนกับชีวิตของเราในชีวิตประจำวัน ชีวิตที่ลำบากและไม่สมบูรณ์ ชีวิตที่ไม่ลงเอยอย่างงดงามด้วยการเป็นเจ้าของบาร์ที่ปลดหนี้ได้ ชีวิตที่ไม่อาจก้าวข้ามอดีตได้อย่างหมดจด ชีวิตที่ไม่อาจสะสางแก้ทุกปมได้ก่อนจากไปในระยะสุดท้ายของชีวิต 

Drive My Car (2021, ริวสุเกะ ฮามากุจิ)

แต่บางครั้งเราก็อยากฟังเรื่องเล่าของชีวิตที่สุขสบายกว่าเรา บางครั้งที่รู้สึกว่าการดูชีวิตที่เศร้าและผิดหวังยิ่งเป็นการตอกย้ำชีวิตที่เปราะบางภายใต้รัฐ เหมือนที่เราชอบดูละครหลังข่าว วล็อกเกอร์ที่พาไปเที่ยวในสถานที่แปลกใหม่ หรือสารคดีนำเสนอรัฐสวัสดิการ เพราะชีวิตที่สุขสบายเป็นอะไรชวนฝันและดึงดูดเราอยู่เสมอ แม้ว่าชีวิตที่สุขสบายพวกนั้นอาจไปได้ดีกับทุนนิยมหรือการมีอยู่ของรัฐ 

คำถามคือว่า เราไม่อินกับ One for the Road เพราะค๊อกเทล เพลงฝรั่ง รถหรู และวรรณกรรมต่างประเทศเพราะมันเป็นรสนิยมแบบชนชั้นกลางระดับสูงจริงๆ หรือไม่ จากบาร์ใน Drive My Car ที่เป็นพื้นที่เปิดใจระหว่างคาฟุกุกับโคจิ ไปจนถึงบาร์ใน One for the Road ที่เปิดพื้นที่ระหว่างบอส อู๊ด พริม ตั๊ก และคนอื่นๆ เช่นเดียวกับรถ Saab 900 สีแดงไปจนถึง BMW 2000C/CS ที่เป็นทั้งพาหนะและพื้นที่แลกเปลี่ยนเรื่องราว จะเห็นได้ว่าชื่อเรื่อง One for the Road หรือ “สักแก้วก่อนเดินทางต่อ” ที่อาจหมิ่นเหม่ต่อคำสอนที่ว่า “ไม่ดื่มก่อนขับ” และอาจเป็นชื่อบาร์ในฝันของพริม การดื่มเหล้าที่ถูกบรรจงชงและตั้งชื่อในเรื่องไม่อาจสรุปได้อย่างง่ายๆ ว่าค็อกเทลเป็นเรื่องของชนชั้นกลางใช้เพื่อการมีสุนทรีย์กับชีวิต หรือกระทำการโรแมนติกเพื่อหลงลืมความลำบากของชนชั้นแรงงาน เพราะการดื่มค็อกเทลก็มีบทบาทคล้ายกับวงเหล้าไทบ้าน บาร์เป็นพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนเรื่องราว เยียวยาบาดแผล และเผชิญหน้ากับความจริงพอๆ กับวงเหล้าขาว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าภายใต้รัฐไทย การเข้าถึงค็อกเทลไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เมื่อเทียบกับเหล้าขาวหากคุณไม่มีเงินพอ 

เหล้ามีบทบาทที่เคลื่อนย้ายจากสิ่งที่ใช้ประกอบพิธีกรรมในการบูชาผีในสังคมก่อนมีรัฐเพื่อสื่อสารกับสิ่งที่มองไม่เห็น หรือทำให้มองเห็นความจริงอีกแบบ มาจนถึงสังคมอุตสาหกรรมและทุนนิยมที่เหล้าสามารถสั่งได้บนมือถือ จากที่เหล้าหาได้เพียงบางช่วงของปีกลายเป็นหาได้ตลอดเวลา ทั้งค๊อกเทลและเหล้าขาวจึงทำหน้าที่เดียวกันเพื่อใช้ในการลืมปัจจุบันที่โหดร้ายในสังคมที่ไม่มั่นคงและอดีตที่เจ็บปวด สังคมสมัยใหม่จึงมาพร้อมการเสพติดแอลกอฮอล์ แต่การดื่มเหล้าก็ทำให้ผู้ดื่มกล้าที่จะเล่าเรื่องราวในวงเหล้ามากขึ้นกว่าปกติและเผชิญหน้ากับความจริงได้เช่นกัน เพียงแต่ว่าเหล้ามักถูกใช้จนกระทั่งเพื่อให้ผู้ดื่มหลุดจากความเป็นจริงเสียมากกว่า เพราะโลกความจริงเป็นสิ่งที่ไม่น่าอยู่ แม้ว่าการดื่มเหล้าในระยะยาวจะเป็นการทำลายสมองส่วนความทรงจำและอารมณ์ สมองส่วนหน้า และสมองน้อย

การดื่มแอลกอฮอล์จึงไม่ต่างจากการดูหนัง ที่ในบางครั้งเราก็อยากดื่มค็อกเทลในบาร์ และในบางครั้งเราก็อยากดื่มเหล้าในวงมิตรสหาย ปัญหาจึงไม่ได้มีอยู่ว่าค็อกเทลหรือเหล้าขาวดีกว่ากัน แต่ทำอย่างไรที่การใช้แอลกอฮอล์ทั้งสองแบบจะเป็นเรื่องปกติ มิใช่เป็นเรื่องของอภิสิทธิ์ระหว่างชนชั้น มิใช่เป็นเรื่องผู้ชายหรือของผู้หญิง และมิได้เป็นเพื่อหลบหนีโลกความความจริงภายใต้รัฐที่ไม่แน่นอน รัฐที่สัญญากับเราว่าจะบันดาลประโยชน์สุขให้กับอาณาประชาราษฎร์

กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ
ทำงานด้านสาธารณสุขอยู่แถบอีสานใต้ งานอดิเรกคือเขียนถึงงานศิลปะและภาพยนตร์

LATEST REVIEWS