My Spy: เสริมอีโก้สายลับชาย แบบเนียนว่าจะเท่าเทียม

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เดฟ เบาทิสตา เป็นนักแสดงชายดาวรุ่งที่ดูจะได้บทพระเอกนักบู๊สุดเท่บ่อยๆ และหนัง My Spy ก็เป็นอีกเรื่องที่เขาได้รับบทอย่างที่ว่านี้ โดยที่ไม่น่าสงสัยแต่อย่างใดว่ามันเข้ากับมัดกล้ามแน่นๆ ของอดีตนักมวยปล้ำผู้นี้เป็นอย่างมาก และขึ้นชื่อว่าเป็นหนังแอ็คชัน ย่อมต้องให้ตัวละครชายเป็นตัวเด่นที่สุด

แต่มันจะไม่น่ากระอักกระอ่วนแต่อย่างใด หากหนังไม่พยายามใส่เมสเสจของความเท่าเทียมที่ดูอีหลักอีเหลื่อ และพยายามเกลี่ยบทให้ตัวละครหลายเพศและหลายเชื้อชาติแบบส่งๆ จนทำให้กลายเป็นหนังที่พูดถึงผู้หญิงและคนชายขอบได้อย่างไม่จริงใจเอามากๆ อันที่จริงหากหนังจะทำตามสูตรสำเร็จแบบหนังสายลับ ที่ทำให้ผู้หญิงกลายเป็นฉากหลัง (Backgrounding) ไปเลย อาจจะดูเข้าใจได้มากกว่านี้

My Spy เป็นเรื่องราวของเจเจ สายลับคนสำคัญของซีไอเอ ที่ไปทำภารกิจสังเกตครอบครัวหนึ่งที่พัวพันกับอาชญากรในอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่ง เขาทำงานร่วมกับบ็อบบี สาวเฉิ่มฝ่ายเทคโนโลยี ที่ในใจแอบปลื้มเจเจอยู่ แต่ก็พยายามตีเนียนเป็นคู่หูที่ดี แต่แล้วแผนของทั้งสองกลับแตก เพราะโซฟี ลูกสาวของครอบครัวนั้นเกิดมาจับได้ว่าเขาแอบมาสอดแนม และขู่จะเปิดโปงตัวตนของพวกเขาหากทั้งสองไม่ทำตามใจเธอ โซฟีเป็นเด็กไม่ค่อยมีเพื่อน เธอจึงอยากผูกมิตรและสนิทกับเจเจ และยังพาเจเจไปอวดเพื่อนที่โรงเรียน พร้อมกันนั้น เธอก็พยายามเชียร์ให้เจเจได้คบกับเคท แม่ของเธอ 

ด้วยความเป็นหนังแอ็คชันที่มีเด็กอยู่ในนั้น ก็ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าหนังพยายามจะขายความน่ารักกุ๊กกิ๊ก และความไร้เดียงสาแบบเด็กๆ ซึ่งนักแสดงนำอย่างโคลอี โคลแมน ในบทโซฟี ก็เล่นออกมาได้น่ารักดี เธอพยายามจะเรียนรู้วิธีการเป็นซีไอเอจากเจเจ และเซ้าซี้ให้เขาสอนเทคนิคต่างๆ ซึ่งในขณะเดียวกัน บ็อบบี ที่เป็นคู่หูของเจเจกลับไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมมากนัก และถูกกันออกไปจากซีน หนังวนอยู่กับการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเจเจ กับโซฟี และเคท ซึ่งเป็นความพยายามใส่อารมณ์ขันตามฉบับแอ็คชัน คอมิดี โดยที่บางครั้งเล่นมุกเสียดสีตัวละครชายขอบอย่างบ็อบบีเสียด้วยซ้ำ

ความจริงที่ว่าบ็อบบีเป็นหญิงสาวหน้าตาไม่ดี และมีบุคลิกเนิร์ดๆ เฉิ่มๆ ทำให้เธอดูกลายเป็นตัวตลกของเรื่อง ซึ่งในบางมิติ มุกกระทบกระเทียบคนอย่างเธอ เช่น การที่โซฟีหัวเราะคิกคักกับเจเจหลังจากบอกว่า ถ้ามีคนร้ายเข้ามา บ็อบบีก็จะนั่งอยู่เฉยๆ และไม่ช่วยอะไร กลายเป็นมุกที่ไม่ตลกเอาเสียเลย และทำให้เรานึกไปถึงการสร้างมาตรฐานความงามแบบที่เน้นให้ผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ ผู้หญิงที่ดีจะต้องเป็นผู้หญิงที่สวยและน่ามอง เป็นคนที่มีความอ่อนหวาน เป็นผู้เยียวยา ซึ่งบุคลิกเนิร์ดคอมพิวเตอร์แบบบ็อบบีตรงข้ามกับลักษณะของผู้หญิงในอุดมคติแทบจะทุกอย่าง ยิ่งเมื่อดูหนังไปเกินครึ่งเรื่อง ความรู้สึกว่ารอคอยให้หนังแก้ตัวเพื่อให้บ็อบบีได้มีบทบาทนำที่เป็นประโยชน์ต่อโครงเรื่องยิ่งถดถอยลงไป เพราะหนังไม่ได้ทำให้เธอมีส่วนช่วยแก้ปัญหาอะไรอย่างเป็นชิ้นเป็นอันเลยจริงๆ และดูเหมือนให้เธอมา “นั่งเฉยๆ” อย่างที่โซฟีว่ากระทบไว้จริงๆ

ในทางตรงข้าม เคท แม่ของโซฟี ที่เป็นนางเอกของเรื่อง และเป็นผู้หญิงที่ “สมหญิง” จริงๆ กลับได้ทำอะไรให้เรื่องเดินมากกว่าบ็อบบี ทั้งที่เธอโผล่มาเพียงไม่กี่ฉาก ซึ่งหนึ่งในฉากนั้นยังเป็นฉากแอ็คชันเสียด้วย แต่เคทก็ไม่ได้เป็นตัวละครที่สมบูรณ์ในตัวเองแต่อย่างใด เพราะดูเหมือนบทบาทของเธอจะมีขึ้นเพื่อหนุนความเป็นชายแท้ของเจเจ ทำให้เจเจได้จีบใครสักคน และเยียวยาแผลใจของตนเองจากการถูกคู่หมั้นทิ้งเพราะหน้าที่การงาน กรอบเรื่องชายเป็นใหญ่ดูชัดเจนขึ้นเมื่อตัวละครของเคทเป็นตัวสนับสนุนให้เจเจได้เผยทั้งด้านที่ “แมน” รวมทั้งด้านที่อ่อนโยนและอ่อนแอออกมา อาจกล่าวได้ว่า บทของเคทมีไปเพื่อขับเน้นความกลมของตัวละครเจเจ ทำให้เขากลายเป็นตัวละครที่สมบูรณ์กว่าตัวละครอื่นๆ ทั้งหมด

กลับมาที่บ็อบบีกันบ้าง มีอยู่บางฉากเหมือนกัน ที่เธอพยายามจะต่อรองเกี่ยวกับคุณค่าของตนเอง เช่น เมื่อโซฟีว่ากระทบว่าเธอคงนั่งอยู่เฉยๆ ถ้ามีคนร้ายเข้ามา เธอก็สวนว่า ถ้าไม่มีเธออยู่ เจเจก็จะมองไม่เห็นคนร้ายที่มาจากทิศทางอื่น บทในลักษณะนี้ทำให้เรามีความหวังว่า หนังอาจพลิกให้บ็อบบีได้มีโอกาสสื่อสาร และแสดงศักยภาพมากกว่านี้ แต่เหตุการณ์เช่นนั้นกลับไม่เกิดขึ้น นี่เป็นลักษณะหนึ่งของหนังที่ “ไปไม่สุด” หลังจากพยายามทิ้งประเด็นให้ตัวละครชายขอบได้แสดงตัวตน และทำให้คนดูรู้สึกค้างอยู่ตรงกลาง

มาที่โซฟี ลักษณะอย่างหนึ่งของเธอ ที่ทำให้เธอกลายเป็นตัวละครหญิงที่ได้รับบทเด่น ก็คือการที่เธอ “เป็นเด็ก” ซึ่งเจ้าความเป็นเด็กนี้เองที่ทำให้เธอยังไม่ได้กลายเป็นผู้หญิงโดยสมบูรณ์ ความเป็นเด็กของโซฟีทำให้ผู้เขียนนึกถึงหนังสัญชาติอิหร่าน เรื่อง The Day I Became a Woman ซึ่งมีตอนหนึ่งของหนังที่เด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายเล่นด้วยกัน และสนิทกัน แต่เมื่อเด็กผู้หญิงก้าวข้ามเส้นอายุที่เธอจะต้องโตไปเป็น “ผู้หญิง” จริงๆ เธอกลับโดนกีดกันจากเพื่อนของเธอ และทั้งสองก็เล่นด้วยกันเหมือนเดิมไม่ได้อีกแล้ว เด็กหญิงถูกเก็บตัวไว้ในบ้านไม่ให้เจอใคร และเหมือนอิสรภาพของเธอสิ้นสุดลง ความเป็นเด็กของโซฟีก็เหมือนกับเด็กหญิงในเรื่องนี้ นั่นคือ มันทำให้เธอมีความเท่าเทียมกับผู้ชายในฐานะที่เป็น “เพศตั้งตน (default)” ของโลกใบนี้ นั่นคือความไม่มีเพศ และความมีอิสระที่จะทำอะไรก็ได้ ซึ่งผู้ชายจะมีลักษณะของความเป็นเพศตั้งต้นตั้งแต่เกิดจนโต เขาไม่ต้องทำอะไรเลย เขาก็มีอิสระที่จะทำได้ทุกอย่าง ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ โซฟีจึงกลายมาเป็นเพื่อนของเจเจได้ เธอไม่ได้ดูเหมือนเป็นลูกของเขาด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่เธอพยายามจะทำให้เจเจได้เดทกับแม่ตัวเอง กล่าวได้ว่า ผู้หญิงที่จะเท่าเทียมกับตัวเอกชายของเรื่องนี้ได้ ก็คือผู้หญิงที่ “ยังไม่เป็นผู้หญิง”

อีกตัวละครที่หนังพยายามเกลี่ยบทให้ดูมีความเท่าเทียมทางเพศแบบเปลือกๆ ก็คือตัวละครคู่เกย์ข้างห้องของโซฟี ซึ่งสุดท้ายทั้งสองเปิดเผยว่าตนเองเป็นหน่วยลับมาสืบเรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัวโซฟีเหมือนกัน บทบาทเด่นของคู่เกย์คู่นี้ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการช่วยเจเจแต่งตัวเสริมหล่อก่อนออกเดท ซึ่งเป็นอีกครั้ง ที่หนังใช้ตัวละครเพศอื่นนอกเหนือจากเพศชายมาเป็นฉากหลัง เพื่อขับเน้นให้ตัวละครเอกชายของเรื่องสมบูรณ์ยิ่งขึ้น อันที่จริง เจตนาของหนังดูเหมือนจะอยากสร้างความเท่าเทียมด้วยการเล่าถึงตัวละครหญิงที่ไม่เป็นตามขนบ และตัวละครเพศอื่นๆ ที่มีความสามารถ แต่ด้วยความที่ “คิดมาไม่จบ” ทำให้ภาพแทนของตัวละครเหล่านี้ออกมาดูแย่กว่าที่ควรจะเป็น

ตามสูตรสำเร็จของหนังแอ็คชันฮอลลีวูด ย่อมต้องมีคนผิวสีและคนสัญชาติอื่น ซึ่งคนผิวสีถูกรับบทบาทไปแล้วโดยเคท แต่ยังมีตัวละครเอเชียอยู่ด้วยอีกหนึ่งคน ซึ่งก็คือคิม หัวหน้าของบ็อบบีและเจเจ ซึ่งการให้คนเอเชียมารับบทเป็นผู้นำนั้นดูเหมือนจะออกมาดี แต่หนังทำให้คิมกลายเป็นตัวตลกอีกตัวหนึ่ง เพราะเขาไม่ไว้วางใจเจเจและบ็อบบีจนเกือบทำเรื่องเสีย และยังตามไม่ทันแผนของคนร้ายอีกด้วย

ท้ายสุดแล้ว การที่เจเจมาบอกเอาตอนท้ายว่า เขาอยากให้บ็อบบีกับเจ้าหน้าที่หญิงคนอื่นได้ขึ้นเงินเดือนเท่ากับเขา ดูเป็นบทหนังที่ไม่จริงใจเอาเสียเลย เมื่อเทียบกับสิ่งที่หนังทำให้ตัวละครหญิงต่างๆ กลายเป็นแค่พรมปูทางไปสู่ความเป็นฮีโร่ของตัวละครเอกผู้ชาย ซึ่งหนังควรจะคิดออกมาให้ละเอียดกว่านี้ ว่าจุดประสงค์แท้ๆ ของหนังที่ทำให้ต้องใส่ประเด็นความเท่าเทียมเข้ามาคืออะไรกันแน่


ดู My Spy ได้ที่ HBO GO

นภัทร มะลิกุล
จบการศึกษาจากเอกปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ปัจจุบันเป็นนักวิจารณ์หนังและหนังสือให้กับสื่อออนไลน์ และยังเป็น co-founder ของบล็อกคุยเรื่องหนัง afterthescene.com เธอชอบเรียนรู้เรื่องมนุษย์ผ่านสื่อและศิลปะ และมีเป้าหมายอยากเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต

LATEST REVIEWS