I Care A Lot : ประกอบสร้างตัวตนตามฝันอเมริกันสีเทา

(2020, J Blakeson)

มีเส้นบางๆ ระหว่างการให้บทเรียนจากการกระทำของตัวละครที่ทำผิด กับการยกชูความเลวร้ายของตัวละครเหล่านั้น และนั่นทำให้ I Care A Lot (2021) หนังที่ส่งให้โรซามุนด์ ไพค์ ได้รางวัลลูกโลกทองคำสาขานักแสดงนำหญิง ถูกวิจารณ์ด้วยเสียงที่แตกออกเป็นสองฝั่ง ในแง่หนึ่ง หนังให้ความบันเทิงกับผู้ชมที่ทำฝันตัวเองให้เป็นจริงโดยการรู้สึกร่วมไปกับตัวละครที่ใช้เล่ห์เหลี่ยมไต่ระดับชั้นทางสังคม (ไพค์ได้สร้างตัวละครนี้ขึ้นอย่างซับซ้อน จนอดคิดไม่ได้ว่าบทนางสิงห์สาวนั้นเหมาะกับเธอจริงๆ) แต่ในอีกแง่ เราจะมองได้หรือไม่ว่าหนังกำลังทำให้ผู้ชมเห็นว่าการหลอกลวงผู้อื่นเพื่อเอาเงินเข้ากระเป๋าตัวเองทีละหลายแสนนั้นเป็นสิ่งที่แสนโรแมนติกอย่างไม่ควรจะเป็น

I Care A Lot เล่าเรื่องของ มาร์ลา เกรย์สัน นักธุรกิจแสนไฮโซที่มีเบื้องหลังเป็นนักต้มตุ๋น ที่ใช้ช่องว่างทางกฎหมายหาเหยื่อเป็นคนแก่ที่ดูจะมีแนวโน้มดูแลตัวเองไม่ได้ เธอขอให้ศาลออกคำสั่งให้ย้ายคนแก่เหล่านั้นเข้าบ้านพักคนชรา และฮุบทรัพย์สินของพวกเขาขายทอดตลาด โดยอ้างว่าใช้เป็นทุนในการดูแลพวกเขา มาร์ลาทำธุรกิจนี้กับฟราน คนรักสาวและมือขวาคนสนิทของเธอ และมันก็ดูจะไปได้ด้วยดี จนวันหนึ่ง เธอได้พบกับเจนนิเฟอร์ ปีเตอร์สัน แหล่งเงินทุนมหาศาลที่มีประวัติขาวสะอาดและไม่มีทายาท ด้วยความโลภ มาร์ลาฮุบเหยื่อนี้ทันที โดยไม่ล่วงรู้ว่าเจนนิเฟอร์เป็นคนสนิทของมาเฟียรัสเซียสุดโหด นามโรมัน ลุนยอฟ (อีกบทที่แสนโดดเด่นของปีเตอร์ ดิงค์เลจ จาก Game of Thrones)

I Care A Lot อาจสามารถจัดเข้าประเภทหนัง Black Comedy -Thriller ได้ มันทำให้เราเห็นถึงการหักเหลี่ยมเฉือนคมของ “คนเลวที่ฉลาด” สองคน และทำให้เรารู้สึกขำไปกับความกระอักกระอ่วนเมื่อมาร์ลาพบว่าเหยื่อของเธอเป็นเคสสุดหิน และอาจนำอันตรายมาสู่ชีวิตเธอ จุดนี้เป็นจุดที่ทำให้คนดูรู้สึกแสบๆ คันๆ และบันเทิงไปกับความ “ซวย” ที่ตัวละครขุดหลุมฝังตัวเอง ในขณะเดียวกัน อีกจุดที่ทำให้มันเป็น Comedy ก็คือยุทธวิธีสุดแสบสันต์ที่มาร์ลาและฟรานใช้จัดการกับมาเฟียที่ดูจะไม่มีใครเข้าถึงได้อย่างโรมัน และนั่นทำให้การต่อสู้กันระหว่างเจ้าแม่และเจ้าพ่อคู่นี้เป็นความลุ้นที่หฤหรรษ์

สำหรับจุดที่เป็น Thriller เราอาจจะรู้สึกถึงความน่ากลัวในมุมมองของมาร์ลา และเอาใจช่วยเธอไม่ต่างจากตัวละครตกอับในหนัง Thriller อื่นๆ เพราะมาร์ลาและฟรานต้องถูกข่มขู่และไล่ล่าจากมาเฟียมืออาชีพ ซึ่งจุดที่หนังทำให้เราเห็นใจตัวละครสองตัวนี้นี่เอง ที่ทำให้มันทำงานบนพื้นที่สีเทา แต่มันก็ทำให้คนดูตั้งคำถามว่าเหตุใดพวกเขาจึงเห็นใจคนเลว แต่ไม่เห็นใจเหยื่อของพวกเธอซึ่งถูกทำร้ายไม่ต่างกัน หนังให้บทเหยื่อของมาร์ลาค่อนข้างน้อย และให้เขากลายมาเป็นตัวละครสำคัญในตอนท้ายของเรื่อง ซึ่งคนดูหลายคนอาจลืมเขาไปแล้ว

การลืมเลือนเหยื่อของตัวละครเอกไป อาจเป็นจุดที่ทำให้เราฉุกคิดว่า หากเรามีโอกาสทำอย่างมาร์ลา เราอาจจะเลือกทำแบบเธอ เพราะการประกอบสร้างตัวตนของตัวละครตัวนี้ไม่ได้อิงอยู่กับสายสัมพันธ์ระหว่างความดีงามและความเลว ดังที่พูดไปแล้วว่าหนังทำงานกับพื้นที่สีเทา – คนอย่างมาร์ลาก็ไม่ได้ “แคร์” เช่นกันว่าเธออยู่ตรงไหนในสเปกตรัมทางศีลธรรม เพราะทุกคนล้วนอยู่ในจุดที่เป็นกลางๆ ไม่ครั้งใดก็ครั้งหนึ่งในชีวิต เธอเพียงจับจุดที่อยู่ตรงกลางนั้นมาขยายและประกอบสร้างตัวตน ที่ชุดคุณค่าในตัวตนนั้นมีเพียง “คนที่แข็งแรง” และ “คนที่อ่อนแอ” อันเป็นภาพสะท้อนของสังคมทุนนิยมแบบอเมริกันที่คนอเมริกันอาจไม่ได้ชอบใจและไม่อยากจะยอมรับนัก หรือแม้กระทั่งการตีความทุนนิยมแบบดาร์วินนิสม์ (Darwinism) ขวาจัด ที่เห็นความสำคัญของการคัดเลือกตามธรรมชาติ ที่ “คนแข็งแกร่งเท่านั้นจะอยู่รอด (The fittest survives)”

อาวุธของมาร์ลามีเพียงความกล้าและกัดไม่ปล่อย ซึ่งดูแล้วมันไม่น่าจะเทียบอะไรได้กับอำนาจที่โรมันมี แต่ตัวละครของไพค์ทำให้เห็นว่า อำนาจของปัจเจกนิยม ที่จัดวางปัจเจกเข้าไว้เป็นคู่ตรงข้ามของโลก (Me VS The World/Others) นั่นน่าครั่นคร้ามและอาจทำให้คนอย่างโรมันขนลุกขึ้นมาได้เลย เพราะสำหรับสิ่งที่คนทั่วไปกลัว อย่างเช่น ความตาย หรือการที่คนในครอบครัวถูกปองร้าย ไม่ใช่สิ่งที่มาร์ลาเกรงกลัว โรมันอาจขู่มาร์ลาได้ แต่ในเมื่อเธอไม่กลัว เขาก็กลายเป็นคนที่ “ไม่มีอะไรจะเสีย” ดังที่มาร์ลาได้ทำนายเกี่ยวกับการขู่เข็ญของบุรุษเพศไว้ว่า เมื่อพวกเขาเริ่มขู่ นั่นแปลว่ามันเป็นสิ่งสุดท้ายที่พวกเขาเหลืออยู่

หากวิเคราะห์ตัวละครมาร์ลา จะพบว่าเป็นเป็นปัจเจกนิยมสุดขั้ว เพราะเธอ “สร้างตัวเอง” ด้วยเงื่อนไขที่เธอกำหนดเอง เป้าหมายของเธอคือความมั่งคั่งในระดับที่จะสามรถ “ใช้เงินเป็นอาวุธ” ได้ เพราะในโลกที่ทุกคนเป็นปัจเจกสุดๆ นั้น ทุกคนย่อมต้องคอยระแวดระวังไม่ให้ตนเองเสียผลประโยชน์ และอาวุธอาจเป็นทางออกของการควบคุมปัจจัยเหล่านี้ นอกจากนั้นเธอยังตัดขาดจากแม่ของเธอ และแหกกรอบทางสังคมในเรื่องตัวตนทางเพศ เพราะเธอเป็นเลสเบี้ยน

เธออาจน่ากลัวกว่าโรมันอีก เพราะโรมันยังมีสิ่งที่เขาหวงแหนและหวาดกลัว อำนาจเส้นสายที่เขามีนั้นเป็นเพียงปราการที่ขวางกั้นความอ่อนแอเปราะบางข้างใน มันถูกฉาบเคลือบไว้ด้วย “ความเป็นชาย” ที่ใหญ่คับฟ้า ที่มาร์ลามองทะลุไปได้ในเพียงปราดเดียว โรมันถูกครอบงำด้วยอารมณ์ได้ง่ายกว่ามาร์ลาเสียอีก ในขณะที่มาร์ลาสงบนิ่งแม้จะถูกจับตัวไปสอบปากคำ โรมันก็หัวเสียและงุ่นง่าน และใช้กำลังในการแก้ปัญหาแบบตรงๆ จนทำให้ลูกน้องต้องซวยตามกันไปหมด

เราอาจนิยามฝันของมาร์ลาว่าเป็นฝันแบบอเมริกันจ๋าก็ย่อมได้ เพราะเธอเป็นคนที่กระหายทั้งความสำเร็จและสถานะทางสังคม และเธอไม่ได้สนใจว่าเธอจะเหยียบหัวใครบ้างในการไต่ระดับครั้งนี้ หนึ่งในองค์ประกอบของฝันแบบอเมริกันก็คือ “โอกาส” และมาร์ลาก็เป็นนักฉวยโอกาส ที่ใช้ทั้งประโยชน์จากความเด็ดเดี่ยวของตัวเอง และกระบวนการทางกฎหมายที่มีช่องโหว่ในการสร้างความสำเร็จให้แก่ตนเอง เธอยืนอยู่ในขั้วของปัจเจกนิยม แต่เธอใช้กลไกรัฐที่มีความนิยมกลุ่ม (collectivism) ในการจัดการกับคนแก่ที่ไร้ทางสู้ น่าสนใจว่า ในการออกคำสั่งพาคนแก่เหล่านั้นไปอยู่ในบ้านพักของคนชรา รัฐกำลังมองตัวเองเป็น “ผู้จัดการควบคุมที่หวังดี” ที่ทำหน้าที่ “คิดแทน” คนแก่เหล่านั้น ด้วยเห็นว่าพวกเขาเป็นสมาชิกของสังคมที่ต้องถูกแทรกแซง มาร์ลาเข้าใจดีกลไกรัฐทำงานเช่นไร และเธอก้าวมาสู่พื้นที่ปลอดภัยขณะที่ปล่อยให้กลไกรัฐที่ไม่มีอะไรเหมือนกับเธอเลยจัดการกับเหยื่อ

ดูเหมือนเราในฐานะคนดูจะเคลิ้มไปกับความฝันแบบอเมริกันในพื้นที่สีเทาไปกับมาร์ลาอยู่เหมือนกัน ตอนท้ายเรื่องที่ทุกอย่างพลิกล็อคและดูน่าตื่นเต้นไปหมด เราก็อดรู้สึกไม่ได้ว่าชีวิตของมาร์ลานั้นเจ๋งเอามากๆ และอดรู้สึกตลกตามไปไม่ได้กับการที่ชะตาชีวิตของมาร์ลาพลิกไปเกินกว่าที่เราคาดไว้ ในกระแสสำนึกหนึ่ง เรามีความเป็นอาชญากรและอยากเอาเปรียบคนอยู่ในตัว แต่กฎเกณฑ์ทางสังคมก็ห้ามเราไว้ไม่ให้ทำตามความอยากนั้น เราจึงปลดปล่อยไปกับหนังที่ตัวละครสามารถทำทุกอย่างได้ตามใจ และนั่นทำให้เส้นแบ่งระหว่าง “การหาบทเรียน” และ “การยกชู” พฤติกรรมอันร้ายกาจของตัวละคร อยู่ในพื้นที่ที่เป็นสีเทาเอามากๆ จนเรานึกสงสัยตัวเองได้อยู่เหมือนกัน


ดู I Care a Lot ได้ทาง Netflix

นภัทร มะลิกุล
จบการศึกษาจากเอกปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ปัจจุบันเป็นนักวิจารณ์หนังและหนังสือให้กับสื่อออนไลน์ และยังเป็น co-founder ของบล็อกคุยเรื่องหนัง afterthescene.com เธอชอบเรียนรู้เรื่องมนุษย์ผ่านสื่อและศิลปะ และมีเป้าหมายอยากเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต

LATEST REVIEWS