Hillbilly Elegy : ความหลังของคนหลังเขา

(2020, Ron Howard)

“คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกได้ว่าจะเป็นอะไร” คำพูดของมามอว์ (ยาย) ที่บอกกับ เจ.ดี. วันนั้น เป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้เขาขึ้นจากหุบเหวแห่งความไร้จุดหมาย การไม่รู้จักตนเอง และการจมดิ่งลงกับต้นกำเนิดอันแสนอับโชค เขาเป็นเด็กชายชนชั้นกลางค่อนล่างที่เติบโตขึ้นในครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว มีพี่สาวหนึ่งคน และมีแม่ที่อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ เบเวอร์ลี แม่ของเขาก็เป็นผลผลิตจากความไม่พร้อมของมามอว์ และจากครอบครัวที่แตกร้าว จนถึงจุดหนึ่ง เธอหันไปใช้ยาเสพติด ไปกับพวกผู้ชายขี้ยา และครอบครัวของเขาก็ไม่เคยเหมือนเดิมอีก

ในตอนต้นเรื่อง เราเห็นเจ.ดี. ไปพักผ่อนวันหยุดฤดูร้อนกับครอบครัวที่ต่างรัฐ เราได้เห็นความอ่อนโยนและการเป็นคนมองโลกในแง่ดีจากการที่เขาช่วยเต่าที่กระดองแตก แต่เขาก็ถูกรังแกโดยเด็กๆ แถวนั้นระหว่างที่ลงไปเล่นน้ำในสระ เสียงพากย์ของ เจ.ดี. ในตอนหนุ่มบอกว่า ท้ายที่สุดแล้ว คนที่จะช่วยเขาขึ้นมาได้ก็คือครอบครัว

อะไรคือนิยามของคำว่าครอบครัว? มันอาจไม่ใช่แค่สายเลือด แต่เป็นความพยายามเกาะติดกันไว้แม้ในคราวที่เราเหม็นหน้ากันมากที่สุด เป็นความพยายามปกป้องคนในครอบครัวจากสิ่งภายนอกและจากตัวพวกเขาเอง ทั้งด้วยวิธีมองดูอยู่ห่างๆ เข้าไปแทรกแซง หรือทำชีวิตตัวเองให้ดี ซึ่ง เจ.ดี. ได้เรียนรู้จากทั้งมามอว์ ปาปอว์ แม่ และพี่สาว แม้แม่จะตวาดใส่เขาตอนที่เขาทำซุ่มซ่าม แต่เธอก็มาง้อด้วยการพา เจ.ดี. ไปร้านโปรด สำหรับเขา ภาพแม่ที่เขาจำได้เป็นภาพที่สวยงามและเต็มไปด้วยความอบอุ่น แม้ในช่วงที่เขาโตขึ้นมา แม่เริ่มใช้ยาและทำตัวเหลวแหลก แต่ความสัมพันธ์ของเขากับแม่ไม่อาจตัดกันได้ขาด

มามอว์บอกว่า “ครอบครัวคือสิ่งเดียวที่มีความหมาย” และเขาไม่ได้เข้าใจคำนั้นจนกระทั่งเขาโตขึ้น ในวัยเด็ก ครอบครัวเปรียบเสมือนสิ่งฉุดรั้งเขาไว้จากความก้าวหน้า และมันก็เกือบทำเช่นนั้นได้เมื่อเขาเริ่มไปกับแก๊งอันธพาลที่เป็นพรรคพวกของลูกแฟนใหม่แม่ มามอว์เป็นคนช่วยเขาไว้ด้วยการพาเขามาอยู่ด้วย และตบเขากลับเข้าที่เข้าทาง ทำให้เขามีสมาธิและความมุ่งมั่นมากขึ้น ตั้งใจเรียนจนได้คะแนนสูงที่สุดของห้อง และภาพก็ตัดมาตอนเขากลายเป็นชายหนุ่มที่ได้เข้าเรียนในคณะนิติศาสตร์ของเยล แต่แค่อนาคตที่ดูสดใสขึ้นก็ยังไม่ได้ทำให้เขาเชื่อมต่อกับรากของตนเอง แม่ของเขากลับมาใช้ยาอีกครั้ง และพี่สาวขอร้องให้เขากลับบ้านในช่วงเวลาที่เขามีสัมภาษณ์งานครั้งสำคัญที่จะตัดสินว่าเขาจะมีเงินมาจ่ายค่าเรียนต่อหรือไม่ เจ.ดี. กลับไปบ้านเพื่อจะพบว่าเขาเข้าหน้ากับแม่ไม่ติด เขาหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงแฟนสาวอนาคตดีของตนเอง และพยายามทำทุกอย่างในเชิงปฏิบัติให้แม่ได้เข้าโปรแกรมบำบัด แต่แม่เขาก็ดื้อไม่ยอมทำตาม นั่นทำให้เขาคิดจะยอมแพ้และไม่สนใจอีกต่อไปแล้วว่าแม่จะเป็นตายร้ายดีอย่างไร

ความสัมพันธ์ของ เจ.ดี. กับแม่ อาจเรียกได้ว่าเป็นความสัมพันธ์แบบทั้งรักทั้งเกลียด (Love-Hate Relationship) ณ จุดหนึ่ง เขาเห็นใจแม่และพยายามอยากช่วยแม่ทุกทางที่เขาจะทำได้ และรู้ว่าแม่ก็รักเขา แต่อีกใจหนึ่ง เขาคิดว่าตนเองไม่น่าต้องมาแบกรับภาระอะไรขนาดนี้ ถ้ายายเขามีความเด็ดขาดและจัดการแม่ตั้งแต่ครั้งแรกๆ ที่เธอทำผิด เธอก็คงจะไม่ทำผิดซ้ำอีก เจ.ดี. ที่เป็นแค่เด็กผู้ชายคนหนึ่งคิดว่าเขาต้องรับผิดชอบทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับแม่ทั้งที่เขาไม่ได้ผิดอะไรเลย เพราะยายเคยบอกเขาว่าหากยายไม่อยู่ คนที่จะต้องดูแลครอบครัวนี้ต่อไปก็คือเขา และแม่ก็ให้สัญญาครั้งแล้วครั้งเล่ากับเขา เป็นสัญญาที่เธอไม่เคยทำได้ นั่นทำให้จิตใจของเด็กชายถดถอยลงทุกที 

ฉากที่เขาถูกแม่ไล่ตีลงมาจากรถ จนเขาต้องไปขอความช่วยเหลือจากตำรวจ เป็นภาพสะท้อนความทั้งรักทั้งเกลียดนี้ได้ดี เจ.ดี. อยากให้ใครสักคนเข้ามาแทรกกลางความรุนแรงระหว่างแม่และตัวเขา แต่ในท้ายสุด เขากลับบอกว่าแม่ไม่ได้ทำผิดอะไร และเป็นเขาที่งี่เง่าเอง เมื่อตำรวจจะจับแม่ของเขาไป ในแง่หนึ่ง มันสะท้อนความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ปกครองและเด็กอยู่เหมือนกัน เด็กที่โดนทำร้ายอยากให้ผู้ปกครองไปจากเขาเสีย แต่เขาก็ยังต้องพึ่งพาผู้ปกครอง เรื่องมันเลยจบที่การเคลียร์กันในครอบครัว แบบ “ไฟในอย่านำออก” เพราะเห็นได้ชัดว่าคนแรกที่เขาโทรหาคือมามอว์และปาปอว์

เจ.ดี. เป็นตัวอย่างหนึ่งของเด็กที่ถูกสภาพแวดล้อมบังคับให้โตก่อนวัย นั่นอาจฟังดูเศร้า แต่มันก็เป็นบทพิสูจน์ความอดทน (resilience) ของเขาไปด้วย ไม่น่าแปลกที่ เจ.ดี. ในวัยหนุ่มเลือกเข้าร่วมกองทัพสหรัฐ ในแง่หนึ่งอาจเป็นด้วยเหตุผลเรื่องฐานะทางครอบครัว แต่อีกมุมหนึ่ง การที่เขาอดทนในครอบครัวที่แตกร้าวมาได้ขนาดนี้มันเป็นบทพิสูจน์ว่าชายหนุ่มก็พร้อมสำหรับการฝึกในกองทัพอยู่เหมือนกัน และผลการเรียนของเขาก็ทำให้เขาได้เข้าเรียนในสถาบันดีๆ อย่างที่คนในงานเลี้ยงสัมภาษณ์งานบอกเขาว่า ชีวิตเขาเหมือน “ความฝันแบบอเมริกัน (American Dream)” ตอนที่ยังไม่ได้รู้จักพื้นเพของเขาเท่าไรนัก

ในวัยหนุ่ม เจ.ดี. ยังคงค้นหาอะไรบางอย่าง และไม่มั่นใจในตนเองอยู่เสมอ ในใจเขาคิดว่าตนเองมีอะไรที่ขาดหายไป และเขาก็คิดว่าตนเองยังไม่คู่ควรกับอุชา แฟนสาวจากไอวี่ลีกส์ นอกจากนั้นเขายังไม่รู้ธรรมเนียมปฏิบัติแบบที่คนในไอวี่ลีกส์ทำกัน ดังจะเห็นได้ถึงความหงุดหงิดเรื่องการใช้ช้อนส้อมในงานเลี้ยงสัมภาษณ์งาน ที่เขาต้องโทรหาอุชาเพื่อถามเกี่ยวกับมารยาทบนโต๊ะอาหาร

เขาไม่คาดคิดว่าเขาจะพบตนเองเมื่อกลับบ้านอีกครั้งหลังจากบ้านมาแสนนาน ในสถานการณ์ที่น่าอึดอัด ที่คนดูอาจจะอึดอัดแทนเมื่อเห็นชายหนุ่มอนาคตดีคนหนึ่งต้องมาจมปลักกับปัญหาในบ้านหลังเขาของเขา เขากลับได้ทบทวนเกี่ยวกับอดีตของตนเอง และมองเห็นแม่ของตนเองในจุดที่อ่อนแอที่สุด เจ.ดี. ได้ “เห็น” และไม่ใช่แค่ “มอง” แม่ในแบบที่แม่เป็นจริงๆ หลังจากที่ไม่มีใครเห็นความต้องการที่แท้จริงของแม่เขาเลย แม่ที่ต้องอยู่กับครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงและไม่เคยสงบสุขตั้งแต่เด็ก แม่ที่ต้องตั้งท้องเขาตั้งแต่อายุยังน้อย และไม่เคยได้ใช้ชีวิตในแบบที่เธอต้องการจริงๆ เพราะทั้งชีวิตเธอต้องอุทิศให้ลูกมีอนาคตดีกว่าที่เธอเป็น ในจุดที่ความรู้สึกของเขาพลิกผัน เขาบอกว่าเขารับรู้ความพยายามของแม่ และจะช่วยแม่ทุกทาง และในการสัมภาษณ์งานครั้งนั้น เขาก็เลือกที่จะเล่าเรื่องของครอบครัวตนเอง รวมทั้งเปิดเผยเรื่องเกี่ยวกับแม่ให้อุชารับรู้ด้วย

มามอว์เล่าให้ฟังว่า คนในหมู่บ้านที่พวกเขาอยู่ล้วนเคารพคนตาย เพราะพวกเขาเป็นคนหลังเขา และเจ.ดี.ก็ได้เห็นพวกเขายืนเรียงแถวเมื่อขบวนรถแห่ศพของปาปอว์เคลื่อนผ่าน เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะคนเหล่านี้เห็นคุณค่าของการเชื่อมโยงกับอดีต การที่คนคนหนึ่งตายไปไม่ใช่จุดจบของเขา เพราะสิ่งที่เขาทำในระหว่างที่ยังมีชีวิตได้ถักทอเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับผู้วายชนม์ และมันยังคงสืบเนื่องอยู่ในวิถีชีวิตของคนในชุมชน เหมือนที่เรื่องของมามอว์และปาปอว์ยังเด่นชัดอยู่ในความทรงจำของ เจ.ดี. และความยากลำบากทั้งมวลที่แม่และครอบครัวเขาเผชิญได้ทำให้เขากลายเป็นคนแข็งแกร่งเช่นทุกวันนี้ เจ.ดี. เลือกที่จะเล่าว่า ครอบครัวทำให้เขาเป็นเขา และเลิกปฏิเสธรากเหง้าของตนเอง กล่าวโดยย่อ หนังเรื่องนี้เกี่ยวกับการค้นหาตนเอง และประณีประนอมกับความจริงที่ว่าเราเป็นใครและมาจากไหน


ชม Hillbilly Elegy ได้ที่ Netflix

นภัทร มะลิกุล
จบการศึกษาจากเอกปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ปัจจุบันเป็นนักวิจารณ์หนังและหนังสือให้กับสื่อออนไลน์ และยังเป็น co-founder ของบล็อกคุยเรื่องหนัง afterthescene.com เธอชอบเรียนรู้เรื่องมนุษย์ผ่านสื่อและศิลปะ และมีเป้าหมายอยากเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต

LATEST REVIEWS