Standup Comedy Review : Hannah Gadsby Nanette (2018) “ฉันโชคดีที่มีอารมณ์ขัน”

เสน่ห์ประการหนึ่งของตลกเดี่ยวไมโครโฟนคือ การที่มันสะท้อนเสรีภาพในการพูดและการแสดงออกต่อประเด็นปัญหาต่างๆ ในสังคมผ่านมุกตลกหลายรูปแบบ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวาระ Pride Month เราจึงขอแนะนำการแสดงของตลกที่ได้รับการกล่าวขวัญว่าพูดถึงเรื่องราวของ LGBTQ และความเลวร้ายของโลกที่ชายเป็นใหญ่ได้เข้มข้นที่สุดคนหนึ่ง

เธอคนนั้นชื่อ ฮันนาห์ แกดสบี้

“หลังจากทบทวนจุดยืนของตัวเองหลังจากเล่นตลกมาสิบปี มุกตลกแนวจิกกัดตัวเอง (ในความเป็นเกย์) คือวิถีทางที่ฉันใช้สร้างอาชีพนี้ขึ้นมา ฉันไม่อยากทำแบบนั้นอีกต่อไปแล้ว คุณรู้ไหมว่ามันมีความหมายยังไงเวลามุกแบบนี้มันออกมาจากปากคนที่เป็นชนกลุ่มน้อยอยู่แล้ว มันไม่ใช่การยอมเอาเรื่องน่าอายมาขายขำหรอก มันคือการทำให้ตัวเองขายหน้าต่างหาก ฉันกดตัวเองให้ต่ำลงเพื่อที่จะได้พูด เพื่อให้สังคมอนุญาตให้ฉันพูด ฉันไม่ทำแบบนั้นอีกแล้ว ไม่ว่าจะทำกับตัวเอง หรือคนที่แสดงตนออกมาเหมือนกันกับฉัน

….และถ้าการเลิกทำแบบนั้นจะทำให้อาชีพของฉันจบลง ก็ให้แม่งจบไปเลย”

นักแสดงตลกชาวออสเตรเลียประกาศกร้าวใน ‘Nanette’ (2018) โชว์นั้นกลายเป็นที่พูดถึงในหมู่ผู้ชมเป็นวงกว้างทันทีที่มันลงสู่บริการสตรีมมิ่งในฐานะโชว์ที่ ‘ไม่ควรพลาด’ เพราะมันพูดถึงปัญหาที่สังคมชายเป็นใหญ่กระทำต่อความเป็นอื่นทั้งผู้หญิงและเกย์ ได้ถึงลูกถึงคนที่สุด

เธอเริ่มต้นการแสดงด้วยการเล่าเหตุการณ์เข้าใจผิดที่วัยรุ่นชายคนหนึ่งเข้ามาหาเรื่องที่ป้ายรถบัสเพราะคิดว่าเธอเป็นผู้ชายที่กำลังเข้าไปจีบแฟนสาวของเขา ก่อนจะขอโทษยกใหญ่เมื่อพบว่าจริงๆ แล้วเธอเป็นผู้หญิง เรื่องตลกแบบนี้ทิ้งคำถามเอาไว้หลังเสียงหัวเราะว่า ถ้าเธอแสดงตัวว่าไม่ใช่ทั้งผู้ชายหรือผู้หญิงเลย ผลลัพธ์ของมันจะออกมาเป็นอย่างไร ก่อนจะยกระดับความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเธอเริ่มหยิบเอาท่าทีของ ‘ผู้ชาย’ ที่ต่อต้านการบำบัดอาการป่วยไข้ทางจิตใจด้วยยา มาต่อยอดให้เป็นเล็กเชอร์วิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ว่าด้วยการมองเห็นสีเหลืองของฟินเซนต์ ฟาน โคค และความน่ารังเกียจของปาโบล ปีกัสโซ

แกดส์บี้เลือกวิธีการที่บ้าบิ่นมากๆ สำหรับการแสดงตลกสแตนด์อัพ นั่นคือการไล่ระดับความรุนแรงไปเรื่อยๆ จนเมื่อถึงจุดหนึ่งมันกลายเป็นการระเบิดความอัดอั้นที่สะสมไว้นานนับสิบปีออกมาเป็นการประท้วงต่ออำนาจ ส่วนบาดหัวใจมากที่สุดคือการที่เธอเฉลยว่า เรื่องเข้าใจผิดที่ป้ายรถบัสในตอนต้น จบลงด้วยการที่เธอถูกวัยรุ่นคนนั้นซ้อมจนยับเมื่อเห็นว่าเธอ ‘เป็นทอม’ เธอไม่กล้าแม้กระทั่งจะไปแจ้งความและไปโรงพยาบาล เพราะคิดว่าลึกๆ แล้วเธอสมควรโดน นั่นยังไม่รวมถึงประสบการณ์ที่ผู้ชายทั้งหลายถือเอาอำนาจมาข่มเหงล่วงละเมิดเธอตลอดชีวิตที่ผ่านมา นี่คือการล้วงเข้าไปในแก่นกลางของความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน ที่สังคมบ่มเพาะความเกลียดชังลงไปแม้กระทั่งในใจตัวเธอเองด้วยการกดคุณค่าบางอย่างลงไปให้เป็นความผิดปกติและอนุญาตให้คนอื่นๆ แสดงความเกลียดชังต่อความผิดปกตินี้

“ตลอดชีวิตที่ผ่านมามีแต่คนบอกว่าฉันเป็นพวกเกลียดผู้ชาย ไม่เลย…ฉันไม่ได้เกลียด ฉันไม่เชื่อด้วยว่าผู้หญิงจะดีกว่าผู้ชาย เพราะพวกเธอเองก็หลงในอำนาจได้เหมือนกันนั่นแหละ แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่าจนถึงบัดนี้ ‘อำนาจ’ มันอยู่ในมือของพวกคุณจริงๆ และถ้าคุณยอมรับคำวิจารณ์ไม่ได้ คุณถูกล้อเลียนไม่ได้ คุณจัดการกับความตึงเครียดของตัวเองโดยปราศจากความรุนแรงไม่ได้ ก็จงพิจารณาตัวเองให้ดีเถอะว่าตัวเองเหมาะจะถือครองอำนาจแบบนั้นไว้จริงๆ หรือเปล่า”

“…ปัญหามันอยู่ที่ว่าจนถึงบัดนี้ ‘อำนาจ’ มันอยู่ในมือของพวกคุณจริงๆ และถ้าคุณยอมรับคำวิจารณ์ไม่ได้ คุณถูกล้อเลียนไม่ได้ คุณจัดการกับความตึงเครียดของตัวเองโดยปราศจากความรุนแรงไม่ได้ ก็จงพิจารณาตัวเองให้ดีเถอะว่าตัวเองเหมาะจะถือครองอำนาจแบบนั้นไว้จริงๆ หรือเปล่า”

เสียงตอบรับต่อการแสดงครั้งนี้แบ่งออกเป็นสองฝั่งอย่างชัดเจน ฝั่งหนึ่งเห็นว่าการแสดงของแกดส์บี้ครั้งนี้จงใจละเลยมิติของความเท่าเทียมกันอย่างชัดเจน ใช้ประโยชน์จากเวทีตลกให้กลายเป็นเครื่องมือกระจายโฆษณาชวนเชื่อ และทิ้งส่วนที่สำคัญที่สุดของการแสดงตลกอย่างอารมณ์ขัน โชว์ครั้งนี้จึงไม่ต่างอะไรกับ ‘Ted Talk ขนาดยาวของคนที่มีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์’ ในขณะที่อีกฝั่งก็ยอมรับนับถือในความกล้าหาญของแกดส์บี้ที่ใช้พื้นที่การแสดงพูดถึงปัญหาการกดขี่อย่างครบถ้วนชัดเจน เต็มไปด้วยอารมณ์ และโครงสร้างการเขียนบทที่ชาญฉลาด

ไม่ว่าจะชอบหรือชัง ‘Nanette’ ก็มักจะเป็นโชว์ ‘ห้ามพลาด’ ที่หลายสำนักพูดถึงในฐานะโชว์ Anti-comedy ที่ก่อให้เกิดบทสนทนามากมายเกี่ยวกับอำนาจการกดขี่ในสังคมชายเป็นใหญ่ หากว่าแกดส์บี้ตั้งใจจะกระตุ้นเตือนให้ผู้คนทบทวนถึงอำนาจในมือของตนเองก็อาจะเรียกได้ว่ามันประสบความสำเร็จอย่างงดงาม


Hannah Gadsby: Nanette มีให้รับชมแล้วทาง Netflix

และหากคุณไม่หนำใจมีการแสดงอีกชิ้นที่ชื่อว่า Hannah Gadsby: Douglas ผลงานคืนเวทีปี 2020 ของแกดส์บี้ มีทั้งเลคเชอร์ประวัติศาสตร์ศิลป์สุดมันส์ และชุดมุกตลกที่ว่าด้วยความขี้ตู่ของมนุษย์เพศชาย ถือได้ว่าเป็นภาคต่อชั้นเยี่ยมของ Nanette ที่แสบไม่แพ้กัน 

สิทธิชัย เปลี่ยนทองดี
นักทำงานอดิเรก, เล่นบอร์ดเกม, ดูตลกแสตนด์อัพ, จัดพอดแคสต์บำบัด และดื่มเบียร์คนเดียว

LATEST REVIEWS