Ghost Lab สุญญตากับต้มข่าไก่

(2021, Paween Purijitpanya)

กว่าคนเขียนจะหลุดพ้นจากความร่ำไร ผู้อ่านที่สิงสถิตอยู่ในโลกออนไลน์ (เช่นเดียวกับตัวหนัง) ก็คงได้เห็นทะลุแล้วซึ่งความแพรวพราวสุดแสนของสรรพสิ่งที่หนังซุกซ่อนไว้ ตั้งแต่รอยเปื้อนรูป Batman กับหว่างขา Buzz Lightyear ที่ตั้งใจสะท้อนไดนามิคแบบ cinematic duo ของหมอกล้าหมอวี เงายอดไม้ที่เปลี่ยนตู้กดสินค้าเป็นต้นไม้ต้องห้ามตามพระคัมภีร์ ตัวละครเจ้าของเสื้อยืดนาซ่าในวัยเยาว์บนทางเดินวูบไหวคล้ายกำลังมุ่งหน้าสู่ยานอวกาศ ภาพถ่ายสองยอดนักจิตวิเคราะห์ที่เคยเป็นมิตรก่อนตีกันยับ ไปจนถึงการให้ตัวละครถนัดขวายื่นมือซ้ายหาเพื่อนตอนเริ่มภารกิจเพื่อ “แทนความหมายของการเริ่มต้นที่ผิดธรรมชาติของมนุษย์ คือการร่วมมือกันฝืนธรรมชาติ โดยทำการทดลองเรื่องผี”

ไม่แน่ใจว่าพอเฉลยหมดเปลือกแล้วคนปลาบปลื้มในความลึกล้ำหรือนั่งขำในความพยายามกันแน่ แต่เท่าที่ผมเห็นคงเป็นอย่างหลัง โดยเฉพาะสำหรับผู้ชมกลุ่มที่ชีวิตเคยได้พัวพันเรียนรู้กระบวนการของการทดลอง เขียนเปเปอร์วิชาการ หรือทำวิจัย ที่แซะหนังในประเด็นความไม่สมจริงของสนามวิชาการในเรื่องอย่างสามัคคี

ตอนอ่านผมก็นั่งขำเหมือนที่คนเขียนหลายๆ คนดูแล้วขำ (ให้คะแนนพิเศษเรื่องตัวละครไม่ยอมทบทวนวรรณกรรม) แต่ความสมจริงข้อนี้ยังถือเป็นกำแพงใหญ่สำหรับหนังหรือซีรี่ส์ไทยกระแสหลักตอนนี้ -App War (2018) ต้องเฉือนประเด็นสตาร์ทอัพให้เส้นเรื่องรัก Mother Gamer (2020) ขยายเรื่องแม่ลูกจนแทบกลบเรื่องอีสปอร์ต และความเนิร์ดวิชาการแสดงใน I Promised You the Moon (2021) ยังถูกรุมฟาดว่าแปลรักฉันให้ใครดู- แต่ว่ากันตามตรง ความล้มเหลวของ Ghost Lab ปรากฏชัดและเกิดขึ้นก่อนที่เราจะได้คุยกันมาถึงหัวข้อนี้เสียอีก

ถ้าหนังตั้งใจเริ่มฉีกกฎทดลองผีด้วยมือซ้ายเพื่อแทนค่าการเริ่มต้นที่ผิดธรรมชาติ ก็ต้องนับว่าสื่อความได้สำเร็จดีทีเดียว ไม่ใช่เพราะเห็นกระจ่างว่าตัวละครฝืนวิทยาศาสตร์หรือสัจธรรมอะไร แต่หนังทั้งเรื่องนี่แหละเริ่มต้นอย่างผิดธรรมชาติ และฉากมือซ้ายที่จบด้วยชื่อเรื่องคือกระดุมเม็ดแรกที่กลัดผิดแล้วไม่ยอมแก้

ตอนนายแพทย์ชีวีตอบนายแพทย์อาจองว่า “กูเอาด้วย” ผมก็แวบสงสัยขึ้นมาทันทีว่าใครเอาด้วยกับมึง เพราะนอกจากมหกรรม vlog ล่าท้าผีอาจองแชนเนลกับผีไฟไหม้ที่ปรากฏตัวกลางห้องโถงโรงพยาบาล ทุกอย่างก็รวบรัดตัดความเข้าเรื่องโดยละทิ้งคำอธิบายในรายละเอียด (ไม่ว่าจะด้วยน้ำเสียงสมจริง เหนือจริงเป็นการ์ตูน หรือเยาะหยัน) เหมือนหวังให้คนดูคิดช่วยเติมช่องเอาเองตามคลิเช่ที่คุ้นชิน ทำนองว่ายังไงไอ้พวกนักวิทยาศาสตร์ก็ต้องสปาร์คลุ่มหลงกับการทดลองวิจัยอะไรสักอย่างขึ้นมาเอง เพื่อให้เรื่องเดินต่อได้

ผมให้เครดิตการเขียนตัวละครหมอกล้าหมอวีให้ไม่กลัวผีตั้งแต่ต้นจนจบ (ทั้งผีไฟไหม้ ผีวีลแชร์ ผีร่วมทดลอง) เพราะช่วยผลักหนังออกจากคลิเช่เก่าเชยแบบหนังผีที่สุดท้ายพวกลองดีสายวิทย์หรือสายลบหลู่ต้องกลัวสิ่งเหนือธรรมชาติเสมอ และพอจะช่วยยืนพื้นให้ความลุ่มหลงเรื่องพิสูจน์ผีที่เลยเถิดเตลิดเปิดเปิงไปเรื่อยๆ ได้บ้าง แต่เมื่อหนังเลือกวิ่งตะลุยแบบจะเอาแต่เส้นเรื่องอย่างเดียว ทิ้งคำอธิบายที่จะช่วยเสริมรายละเอียด แล้วบอกคนดูแบบแตะแค่ผิวๆ ว่าเจ้ากล้าเชื่อมาตลอดเลยนะเพราะผีพ่อ ส่วนเจ้าวีก็ยึดมั่นวิทยาศาสตร์จนไม่เชื่อผีแล้วค่อยถูกหักล้างเมื่อเห็นเองกับตา หนังจึงล้มเหลวด้านความน่าเชื่อถืออย่างสิ้นเชิง

แทนที่จะได้ลุ้นตามว่าตัวละครจะล้ำเส้นธรรมชาติมนุษย์ไปถึงขั้นไหน กลายเป็นต้องมานั่งขำจนทอดถอนใจว่ามันอินเอาเป็นเอาตายอะไรขนาดนั้น ยิ่งขำก็ยิ่งมีแต่คำถามที่ทำให้ความหนักแน่นของหนังล้มละลาย เพราะยิ่งเล่าไปเรื่อยๆ การทดลองที่ดูแสนยิ่งใหญ่ท้าทายสะเทือนโลก (ถึงขั้นใช้ชื่อไททันที่ท้าทายขโมยไฟจากเทพเจ้าให้มนุษย์อย่าง Prometheus เป็นนามสกุลภาษาอังกฤษของวี) เอาเข้าจริงแล้วกลับทำงานแค่ระดับเดียวกับรายการผีท้าพิสูจน์

ลองคิดช่วยจากสิ่งที่หนังโปรยทิ้งไว้มากมายแต่สุดท้ายไม่ได้เน้นย้ำให้สำคัญ (อาจเคยอยู่ในบทแล้วถูกเฉือนทิ้งจนสิ้นความหมายไประหว่างทาง) นอกจากได้เห็นผีซึ่งหน้าด้วยตาเนื้อแล้ว อีกจุดเชื่อมโยงอาจคือการที่วีใช้ความ “วิทย์” เปิดช่องให้กล้า (ซึ่ง “ไสย” กว่า) มองเห็นตรรกะ สมมติฐาน และออกแบบการทดลองเหนือธรรมชาตินี้ได้เป็นรูปธรรมมากขึ้น (วีถึงรู้สึกมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของการทดลองมากกว่าแค่ช่วยเพื่อนสนิท) ก่อนที่ตรรกะวิทย์จะค่อยๆ บิดเบี้ยวกลายเป็นเรื่องส่วนตัวหลังเสียแม่ ซึ่งอธิบายต่อได้เช่นกันว่าภาวะซึมเศร้าหลังการสูญเสียมีอิทธิพลกับความลุ่มหลงในการพิสูจน์ผีเพื่อที่จะได้เจอผีแม่อีกครั้ง – ห้วงจังหวะสั้นๆ ที่น่าสนใจมากคือตอนที่วีพยายามยืนยันกับคนรอบตัวว่าเขาปกติด้วยผลสแกนสมองกับตรวจปัสสาวะ ซึ่งถ้าหนังไม่ใส่มาแค่ผ่านๆ แล้วโยนทิ้ง ก็คงใช้อธิบายได้แหลมคมว่าตัวละครกำลังบิดเบือนวิทยาศาสตร์เพื่อรับใช้เป้าหมายส่วนตัว หรืออาจถึงขั้นใช้วิทยาศาสตร์เพื่อหลอกตัวเอง

ปัญหาคือหนังไม่ได้ลดทอนคำอธิบายเหล่านี้ (ถ้าเคยมีอยู่จริงแต่แรก) เพื่อเปิดทางให้ปริศนากับความคลุมเครือซับซ้อนของมนุษย์ หรือทิ้งเชื้อให้คิดต่อจากมุมกลับของวิทยาศาสตร์ที่หนังทำทีว่าถือหางอยู่พร้อมตัวละครตั้งแต่ต้นเรื่อง แต่เพื่อสยบยอมให้ชุดคำสำเร็จรูปที่แทบไม่ต้องย่อยคิดใคร่ครวญ ตระกูลหนัง (genre) มักเขียนให้วิทยาศาสตร์สติเฟื่องเลยเถิดกัดกินทำลายตัวเอง ก็เล่าไปโดยไม่ลงลึกว่ากัดกินอย่างไร ความเชื่อแบบไทยๆ ที่ผูกโยงกับวิธีคิดแบบพุทธมองโลกหลังความตายอย่างไร ก็โกยทั้งก้อนมาโยนใส่ไว้ในหนัง เพื่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคนกับผีที่สุดท้ายไม่นำไปสู่อะไร นอกจากทำซ้ำเรื่องหลุดพ้นที่เคยฟังเทศน์กันมา (ถึงขนาดให้ความว่างเปล่าไม่มีตัวตน “สุญญตา”  เป็นนามสกุลของกล้า)

Ghost Lab โยนทฤษฎีเกี่ยวกับผีแบบวิทย์ๆ ที่ไม่ใช่แนวตรวจวัดความร้อนจับคลื่นพลังงานใส่หนังไว้ตั้งมากมาย (ฟังขึ้นหรือเปล่าก็เป็นอีกเรื่อง) แต่ดันไม่ยอมเล่าโลกหลังความตายของตัวเองให้เห็นภาพ นอกจากแวบสั้นๆ ที่พูดเรื่องโลกสีขาวไร้ภาพกับพลังงานผีที่ยึดโยงวิญญาณกับคนที่ยังมีห่วง (ยอมนับข้อความที่พิมพ์ได้แค่เป็นคำด้วยก็ได้) แล้วคาดหวังให้คนดูเชื่อเอาตามคติแบบไทยๆ ว่าสุดท้ายแล้วมันก็แค่เรื่องมีห่วง มีแค้น มีครอบครัว มีคนรัก มีสุคติ มีที่ชอบที่ชอบ

ความเกรี้ยวกราดของผี (ที่คนดูมากมายตั้งคำถามว่าเป็นอะไรของมึง) กลายเป็นแค่เครื่องมือในเชิงบทภาพยนตร์ ทั้งที่โครงเรื่องเปิดโอกาสให้หนังได้จินตนาการหรือนำเสนอทฤษฎี (ไม่ว่าจะด้วยตรรกะอย่างมนุษย์หรือวิญญาณสมมติ) ว่าโลกหลังความตายในจักรวาลนี้ทำงานอย่างไร เหตุผลของที่นี่สั่นคลอนความมุ่งมั่นของคนที่ยอมตายถวายชีวิตให้วิทยาศาสตร์อย่างไร ตัวตนของเขาสลายกลายเป็นความไม่มีในโลกสีขาวนั้นแบบใด หรือกระทั่งว่าคนที่ไม่เคยกลัวตายพอเจอความตายจริงๆ แล้ววิญญาณเขาคิดอะไรหรือถูกหักล้างความเชื่อแบบใด

สรุปแบบรวบรัดก็คือ Ghost Lab แค่ขยับตัวเองจากคู่ตรงข้าม วิทยาศาสตร์-ไสยศาสตร์ ไปสู่สิ่งที่ใหม่ขึ้นนิดหน่อยคือ วิทยาศาสตร์-ศาสนา (ในนามของสัจธรรมหรือ “ธรรมชาติของมนุษย์”) ซึ่งสะท้อนผ่านการจัดวางเพศของตัวละครเป็นคู่ตรงข้ามชายหญิงอย่างชัดเจน สอดคล้องกับโครงสร้างที่ปรากฏในหนังที่เล่าเรื่องพุทธศาสนาหลายเรื่อง อาจกล่าวได้ว่าหมอกล้าหมอวีคล้ายพระสงฆ์ที่พยายามเคี่ยวเข็ญบรรลุธรรมที่กำลังเผชิญสิ่งเร้ายั่วยวน เพียงแต่อยู่ในสถานะตัวแทนของวิทยาศาสตร์กับความมุ่งมั่นแบบเพศชาย ในขณะที่เพศหญิงเป็นตัวแทนของความรู้สึก ห่วงยึด และบ้านของใจในเชิงศาสนา (บทพูดเกือบทั้งหมดของแม่กล้าคือเรื่องการหลุดพ้นและสุคติ)

หากหนังละเอียดรอบคอบกว่าที่เป็นอยู่ ก็คงใช้ความลุ่มหลงในเป้าหมายของสองหมอเป็นเครื่องมือวิพากษ์ความเป็นชายอันล้นเกินได้น่าสนใจไม่น้อย เพราะระหว่างทางมีตัวละครหญิงได้รับแรงสั่นสะเทือนจากการทดลองนี้อยู่ตลอด และพวกเขาแสดงออกชัดว่าพร้อมจะหลอกลวง ฉวยใช้ประโยชน์ หรือละทิ้งเมินเฉยพวกเธอในขณะที่ตัวเองกำลังไขว่คว้าหาความสำเร็จ ก่อนที่ความตายจะดึงทั้งกล้ากับวีให้กลับมาพิจารณาตำแหน่งแห่งที่ของครอบครัวกับคนรักอีกครั้ง แล้วได้บทเรียนจากความลุ่มหลงที่ข้ามเส้นจริยธรรมของตัวเองในที่สุด (ฉากที่วีได้พบครอบครัวของกล้าอาจยิ่งน่าสนใจ ถ้าเราได้เห็นว่าเขากระอักกระอ่วนหรือคิดอย่างไรกับคำพูด “สายบุญ” ของแม่ ที่อาจส่งผลขัดขวางการทดลองจนล้มเหลว)

น่าเสียดายที่หนังไม่ได้มองจุดนี้อย่างซีเรียส เพราะในขณะที่ผลักความลุ่มหลงของตัวละครให้เลยเถิดไปถึงขั้นก่อความรุนแรงทางเพศ (ตั้งแต่ระดับคิดเฉยๆ อย่างผู้ป่วยมะเร็งวัยรุ่นหญิงในวอร์ด กับที่เริ่มลงมือทำจริงในเชิงข่มขู่เพื่อท้าทายผีตอนท้ายเรื่อง) ตัวละครที่หนังสื่อความในทำนองว่าท้ายที่สุดแล้วก็ได้รับบทเรียนหลังเหตุการณ์ทั้งหมด กลับไม่ได้เรียนรู้หรือตระหนักถึงความรุนแรงเหล่านี้ – จริงอยู่ที่เขาเอ่ยปากขอโทษ แต่ฝ่ายตรงข้ามก็ยกโทษให้ง่ายดาย เสมือนว่าเรื่องหนักใจที่สุดในชีวิตคือการที่เธอไม่รู้พาสเวิร์ดคอมพิวเตอร์ของคนรัก

หนังที่วางตัวว่ากำลังเล่าเรื่องสุญญตา สุดท้ายก็กลายเป็นแค่ต้มข่าไก่กับบอกลาแฟน ด้วยประการฉะนี้


ดู Ghost Lab ได้ที่ Netflix

ชญานิน เตียงพิทยากร
เขียนเกี่ยวกับภาพยนตร์ที่ Starpics, Bioscope (อดีต), The Momentum, a day, Film Club และแหล่งอื่นตามแต่จังหวะโอกาส / รางวัลชมเชยกองทุนหม่อมหลวงบุญเหลือฯ ประจำปี 2018 และ 2020 / สภาพ: ไล่ดูหนังใกล้หมดอายุใน Netflix และ MUBI

LATEST REVIEWS