Gentefied แค่ปรับตัวก็ไม่ตายเหรอ

(2020, Linda Yvette Chávez & Marvin Lemus)

ผมระคายหูทุกครั้งที่ได้ยินว่า “ถ้าไม่ปรับตัวก็ตาย” ผมไม่เถียงหรอกว่ามันไม่จริง การปรับตัวจำเป็นมากสำหรับการใช้ชีวิต โดยเฉพาะในประเทศที่คณะบริหารโยนภาระการปรับตัวให้กับประชาชนไปเลยเต็มๆ จนหลายคนต้องสะกดจิตตัวเองว่า “ทุกอย่างแก้ไขได้ที่ตัวเรา” สิ่งหนึ่งที่นักแก้ไขด้วยตัวเองมักลืมไปก็คือ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าครองชีพ ค่าเช่าที่อยู่อาศัย ค่าเช่าพื้นที่สำหรับทำมาหากินและราคาของโอกาสในการมีชีวิตที่ดีขึ้นนั้นอยู่นอกเหนืออำนาจการควบคุมของตัวเองไปไกล การที่คำว่า Gentrification กลายเป็นหนึ่งในคำที่แพร่หลายที่สุดในช่วงปลายทศวรรษที่ผ่านมา เป็นข้อพิสูจน์เรื่องนี้ได้อย่างดี

ความหมายของ Gentrification คือการที่พื้นที่ชุมชนใดๆ มีราคาที่ดินและค่าเช่าพุ่งสูงขึ้นจากแผนพัฒนาที่ดินและย่านธุรกิจ ไม่ว่าจะในเชิงเศรษฐกิจหรือวัฒนธรรม จนเบียดขับผู้อยู่อาศัยเดิมออกไปเพราะพวกเขาไม่สามารถสู้ค่าครองชีพใหม่ได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก จนเป็นที่กังวลไปทั่วโลกในฐานะเครื่องมือสร้างความเหลื่อมล้ำของเจ้าที่ดินที่ใช้รุกรานวิถีชีวิตชุมชนของโลกยุคใหม่

ชื่อซีรีส์เรื่อง Gentefied มาจากการล้อคำว่า Gentrified ด้วยการเปลี่ยนส่วนหน้าเป็นคำว่า Gente ซึ่งในภาษาสเปนมีความหมายว่า “ผู้คน” ดูเป็นการเล่นคำที่ชาญฉลาดไม่น้อย เพราะมันคือเรื่องที่ว่าด้วยผู้คนในย่านบอยล์ไฮตส์ ชุมชนฮิสแปนิก (กลุ่มเชื้อชาติที่ใช้ภาษาสเปนเป็นหลัก) ที่กำลังจะถูกนายทุนขับไล่และกลืนชุมชนด้วยการดัดแปลงให้เป็นย่านการค้าเม็กซิกัน เพื่อหลอกขายฮิปสเตอร์คนขาวอีกที

ศูนย์กลางของ Gentefied คือครอบครัวโมเรเลส เจ้าของร้านทาโก้ต้นตำหรับขวัญใจชุมชนที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น ครอบครัวนี้ประกอบไปด้วยคุณปู่กาซิมิโร่ ‘ป๊อป’ ผู้ก่อตั้งร้านร่วมกับภรรยาตั้งแต่อพยพมาถึง, เอริก หลานชายคนโต นักเลงกลับใจที่ช่วยงานที่ร้านมายาวนาน, คริส ‘เจ้าคนขาว’ หลานชายการศึกษาดีที่อยากเรียนต่อเป็นเชฟ และอานา หลานสาวศิลปินเลสเบี้ยนที่พยายามหาที่ทางสำหรับสร้างตัวในวงการศิลปะ เป็นที่น่าสังเกตว่าสมาชิกครอบครัวนี้ปรากฏตัวในเรื่องแค่คนรุ่นปู่กับคนรุ่นหลานเท่านั้น ชวนให้คิดต่อว่าทำไมคนรุ่นพ่อแม่ของหลานๆ พวกนี้จึงหนีหายไปเสียจากบ้าน

ไม่อาจแน่ใจได้เลยว่าพวกเขาหนีหายไปจากบอยล์ไฮตส์ เพราะไม่อยากรับช่วงต่อจากป๊อป หรือเพราะพวกเขาต้องการไปจากความเป็นเม็กซิกันไปมีความฝันอเมริกันในดินแดนเสรีแห่งนี้

ทุกตอนในซีรีส์ตลกความยาว 10 ตอนเรื่องนี้พาเราไปสำรวจความรู้สึกนึกคิดของผู้คนแต่ละแบบในชุมชนบอยล์ไฮตส์โดยมีเส้นเรื่องหลักอยู่ที่การพยายามเพิ่มรายได้ให้กับร้านทาโก้ ‘มาม่าฟีน่า’ เพื่อให้พอจ่ายค่าเช่า ที่อยู่ๆ ก็เพิ่มขึ้นสูงอย่างกะทันหัน แต่ละตอนจะใช้ตัวละครหลักที่แตกต่างกันเพื่อนำเสนอ ‘เฉด’ ทางความคิดของชาวฮิสแปนิกที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น

ยกตัวอย่างตอนที่ชื่อว่า “The Mural” อานา ศิลปินวัยกำลังสร้างตัวมีปัญหากับแม่ของเธอ เนื่องจาก “งานศิลปะ” ที่เธอทำอยู่ไม่สร้างรายได้มากพอจะบรรเทาภาระค่าเช่าบ้าน อานาได้รับข้อเสนอจากลูกค้าคนขาวให้ไปวาดจิตรกรรมฝาผนังที่ตึกแห่งหนึ่งของเขากลางย่านชุมชน เธอตัดสินใจวาดภาพนักมวยปล้ำลูชาดอร์จุมพิตกันอย่างดูดดื่มเพื่อเฉลิมฉลองให้แก่ชุมชนเพศทางเลือก ผลที่ได้คือลูกค้าประทับใจมาก แต่คุณป้าเจ้าของร้านชำที่อยู่ในตึกกลับเกลียดมันเข้าไส้ ผลของการเปลี่ยนแปลงนี้ลุกลามใหญ่โตในชั่วข้ามคืนเมื่อมันกลายเป็นจุดดึงดูดคนขาวให้มาเยี่ยมชม แต่กลับสร้างความอึดอัดให้ผู้คนในชุมชนอย่างเหลือเชื่อ

ที่ชวนฉงนกว่านั้นคือ แม้ว่าคุณป้าจะขายของได้มากขึ้นและหมดเร็วขึ้นแต่เธอกลับไม่ปลื้มเลยแม้แต่น้อยเมื่อก๊วนลูกค้าประจำพากันหลบลี้หนีหน้าไปพึ่งพาร้านอื่น วิธีใดๆ ที่อานาคิดใช้แก้ปัญหาไม่เคยได้ผลแม้ว่ามันจะชาญฉลาด มี “Insight” แบบคนรุ่นใหม่แค่ไหนก็ตาม เรื่องราวนี้จบลงโดยที่ผู้ชมอย่างเราไม่อาจแน่ใจได้เลยว่าคุณป้าไม่พอใจภาพบนผนังนั้นด้วยเหตุผลใด เพราะมันเกย์เกินไป เพราะมันก่อความวุ่นวาย หรือเพราะเธอแค่ไม่ชอบความเปลี่ยนแปลง

ตอน “The Grapevine” เล่าถึงฮาเวียร์ นักดนตรีมาริอาชี่ที่ดิ้นรนสุดชีวิตเพื่อจะหาเงินเช่าบ้านอยู่ในบอยล์ไฮตส์กับลูกชาย เพราะสภาพแวดล้อมในชุมชนดีและปลอดภัยต่อการเติบโตของลูก แต่โชคไม่เข้าข้าง นอกจากราคาค่าเช่าบ้านจะสูงขึ้นแล้ว ดนตรีสไตล์มาริอาชี่แบบดั้งเดิมของเขาก็ไม่ได้รับความนิยมในย่านนี้เสียแล้ว ลูกค้าฮิปสเตอร์ดูจะหลงใหลได้ปลื้มกับการที่วงมาริอาชี่มาเล่นคัฟเวอร์เพลงป๊อปอมตะเสียมากกว่า ฮาเวียร์จึงต้องเลือกระหว่างการปล่อยให้วิญญาณมาริอาชี่เฉาตายไปแล้วกัดฟันทนเก็บเงินหาบ้านเช่าแพงๆ หรือยอมแพ้แล้วไปเสี่ยงตายทำงานในโรงงาน เขาต้องตัดสินใจภายใต้ความกดดันที่ว่าภรรยาของเขาที่ทำงานอยู่อีกที่หนึ่งอาจจะทิ้งเขาไปก็ได้หากไม่เลือกให้ดี หรือแท้ที่จริงแล้ว มันไม่มีทางเลือกที่ถูกต้องอยู่ในสถานการณ์นี้เลย

ตัวอย่างสุดท้ายคือตอนที่ชื่อว่า “Women’s Work” เล่าเรื่องของเบียทริซ คุณแม่หน้างอของอานาที่มักจะปรากฏตัวขึ้นเพื่อทำร้ายจิตใจกันตลอดทั้งเรื่อง เบียทริซคือภาพจำของแม่ต่างด้าวในอเมริกาที่มักจะเข้มงวดกับลูกด้วยวิธีการอันร้ายกาจ เบื้องหลังความร้ายนี้มาจากภาวะความเครียดในการพยายามหาเลี้ยงครอบครัวของแม่เลี้ยงเดี่ยว เธอเป็นช่างตัดเย็บฝีมือดีในโรงงานเสื้อผ้าที่มีเจ้านายจอมกดขี่ เบียทริซทำตามที่เขาสั่งโดยไม่ตั้งคำถาม หอบงานกลับมาทำที่บ้านโดยไม่ปริปากบ่น ไม่ใช่ว่าเธอไม่จะรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม แต่หากถูกจับได้ว่าเข้าร่วมกับสหภาพแรงงานเพื่อประท้วง เธออาจจะตกงานจนทำให้ลูกๆ ไม่มีที่ซุกหัวนอน จนกระทั่งลูกสาวคนโตต้องออกปากพูดกับเธอว่า “ที่แม่ต้องหนีมาอยู่ที่นี่ เพราะแม่อยากได้ชีวิตที่ดีกว่าเดิมไม่ใช่เหรอ สภาพที่เป็นอยู่ตอนนี้มันต่างอะไรกับการทำงานจนหลังหักที่บ้านเกิด”

Gentefied รวบรวมเอามุมมองของชาวฮิสแปนิก-อเมริกันในอเมริกาหลายแบบเข้าไว้ด้วยกันอย่างมีมิติและชาญฉลาดโดยกลุ่มมือเขียนบทลูกหลานผู้อพยพ ไม่เพียงแต่เป็นปากเสียงให้กับชาวเม็กซิกันในอเมริกา แต่มันยังเป็นตัวแทนความคิดความรู้สึกของผู้คนเชื้อชาติอื่นๆ บนดินแดนที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงลิบอีกด้วย ภาวะการกลืนชุมชมด้วยทุนเป็นเครื่องมือล่าอาณาเขตของกลุ่มทุนสมัยใหม่ ไม่เพียงขับไล่ผู้คนออกจากถิ่นของพวกเขา แต่มันยังลดทอนคุณค่าของวัฒนธรรมชุมชนให้ลงไปอยู่ในรูปเปลือกสีสันแปลกตาสำหรับจอมขูดรีดหน้าเดิมที่ยังคงคิดวิธี “ปรับตัว” ใหม่มาเอาเปรียบคุณได้เสมอ

“นายใช้ชีวิตทั้งหมดสร้างธุรกิจขึ้นมาเพื่อให้ไอ้โง่ที่ไหนไม่รู้มาเอาไป นายสร้างมรดกเอาไว้ แต่สุดท้ายก็รู้ว่ามันไม่พอ… ไม่พอจะให้พวกเขามีอนาคตที่มั่นคง ไม่พอจะให้เขาก้าวไปข้างหน้า ไม่พอให้พวกเขาได้ทำตามความฝันที่เราไม่นึกฝันให้ตัวเอง แล้ววันหนึ่งมันก็จะโดนไถทิ้งไป เหมือนเราไม่มีค่าอะไรเลย…” ป๊อปกาซิมิโรกล่าวออกมา ก่อนปัสสาวะรดป้าย ‘กำลังปรับปรุงพื้นที่’ หน้าตึกแห่งหนึ่งด้วยความเมามาย

“ใครจะไปตายห่าที่ไหนก็ช่าง ฉันจะอยู่ที่นี่ ให้ฉันตายที่นี่เถอะ”

ใครบอกแค่เริ่มที่ตัวเองก็รอด แค่ปรับตัวก็อยู่ได้สบาย

จะโดนปู่เยี่ยวใส่ก็สมควรแล้ว


Gentefied มีให้รับชมได้แล้วบน Netflix

สิทธิชัย เปลี่ยนทองดี
นักทำงานอดิเรก, เล่นบอร์ดเกม, ดูตลกแสตนด์อัพ, จัดพอดแคสต์บำบัด และดื่มเบียร์คนเดียว

LATEST REVIEWS