Ema

2019. Pablo Larrain

มันเริ่มต้นด้วยการเต้นในสตูดิโอขนาดใหญ่หรูหรา บนเวทีที่ผู้ชมยืนรายล้อมมีนักเต้นหลายสิบชีวิตกำลังเคลื่อนไหวร่างกายที่ถูกออกแบบมาจากหัวหน้าคณะที่ยืนมองความเป็นไปอย่างเคร่งเครียด เธอยืนอยู่กึ่งกลางเวทีที่มีภาพดวงอาทิตย์บนจอมหึมาเป็นฉากหลัง ดาวฤกษ์ที่กำลังเผาไหม้ตัวเองเหมือนกับเธอ นี่คือหนังที่มีชื่อเธอเป็นชื่อเรื่อง นี่คือหนังเกี่ยวกับเธอและผู้คนที่หมุนวนโคจรอยู่รอบตัวเธอ เธอคือดวงอาทิตย์ดวงนั้น เธอชื่อเอม่า

เอม่าเป็นนักเต้นอยู่ในคณะของแกสตองสามีเธอที่เป็นนักออกแบบท่าเต้น โดยทั้งคู่อายุห่างกันสิบสองปี และพวกเขาไม่สามารถมีลูกได้จึงรับโปโลบุตรบุญธรรมมาเลี้ยง ในเหตุการณ์หนึ่งที่หนังไม่ได้แสดงภาพให้เราเห็น โปโลจุดไฟเผาบ้านเป็นเหตุให้พี่สาวของเอม่าถูกไฟคลอกใบหน้าไปครึ่งซีก เอม่าและแกสตองตัดสินใจคืนลูกชายกลับสู่สถานรับเลี้ยงเพื่อให้เขาไปอยู่กับครอบครัวใหม่ ท่ามกลางชีวิตแต่งงานที่กำลังจะพังทลาย เอม่ารวมกลุ่มกับสาวๆ ในคณะเต้นเพื่อชิงตัวลูกชายกลับคืนมา โดยเริ่มต้นตีสนิทและมีความสัมพันธ์อย่างลับๆ กับคู่สามีภรรยาที่กำลังรับเลี้ยงโปโลอยู่

นี่เป็นผลงานเรื่องที่แปดจากผู้กำกับชาวชิลี ปาโบล ลาร์ราอิน (Pablo Larraín) เจ้าของผลงานไตรภาคปิโนเชต์ (Tony Manero, Post Mortem, No) และ Jackie ที่เคยเข้าฉายในไทยเมื่อหลายปีก่อน ใน Ema ลาร์ราอินเลือกฉากหลังเป็นเมืองฟาลปาไรโซ (Valparaíso) เป็นครั้งที่สาม (ก่อนหน้านี้คือ Fuga และ Neruda) มันเป็นเมืองท่าในชิลีที่ล้อมรอบไปด้วยหุบเขาและประดับประดาไปด้วยสีสัน

หนังของลาร์ราอินมักจะวนเวียนอยู่กับเรื่องราวของผู้คนที่กำลังฟื้นฟูตนเองหลังจากเรื่องเลวร้ายผ่านพ้นไป ใน Ema ก็เช่นเดียวกัน หนังเปิดเรื่องด้วยซีเควนซ์ที่สลับสับเปลี่ยนระหว่างฉากเต้นกับการเล่าเรื่องราวอย่างคร่าวๆ อดีตและปัจจุบันกระโดดข้ามไปมาอย่างลื่นไหล หลายๆ ฉากในช่วงต้นไม่ได้ถูกเรียงร้อยกันตามตรรกะเวลา แต่มันเชื่อมโยงกันด้วยอารมณ์ของตัวละครอย่างสวยงาม และเมื่อเอม่าได้ตัดสินใจที่จะไปนำตัวโปโลกลับมา หนังก็เลือกเล่าเรื่องอย่างพุ่งทะยานไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง เราอาจจะกล่าวได้ว่า หนังถูกเล่าเหมือนกับการเต้นที่นักเต้นไม่หยุดเคลื่อนไหวเลยก็ไม่น่าจะเกินเลยไป

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่านี่คือหนังเกี่ยวกับเอม่าและผู้คนที่รายล้อมตัวเธอ พูดอย่างเจาะจงอีกสักนิด นี่คือหนังที่เกี่ยวกับการตื่นรู้ของผู้หญิงคนหนึ่ง การก้าวออกจากขนบกฎเกณฑ์และอิสรภาพในการตัดสินใจของตน ภาพเปิดของหนังคือภาพไฟสัญญาณจราจรที่ถูกเผาไหม้ ในหลายฉากต่อมาเราเห็นเอม่าใช้เครื่องพ่นไฟทำลายรถยนต์ สองฉากนี้อาจจะหมายถึงการปฎิเสธเส้นทางตามแบบแผนของสังคม นอกจากนั้นแล้วมันเป็นเพียงสองฉากที่เราได้เป็นประจักษ์พยานในการเผาของเธออย่างเป็นรูปธรรม และการตื่นรู้ของเอม่าเชื่อมโยงกับการเผา ดวงอาทิตย์เผาผลาญตนเองและทุกสิ่งรอบข้างฉันใด จิตใจของเอม่าก็เดือดดาลและทำลายล้างคนรอบข้างฉันนั้น

นี่คือหนังที่เกี่ยวกับการตื่นรู้ของผู้หญิงคนหนึ่ง การก้าวออกจากขนบกฎเกณฑ์และอิสรภาพในการตัดสินใจของตน ภาพเปิดของหนังคือภาพไฟสัญญาณจราจรที่ถูกเผาไหม้ ในหลายฉากต่อมาเราเห็นเอม่าใช้เครื่องพ่นไฟทำลายรถยนต์ สองฉากนี้อาจจะหมายถึงการปฎิเสธเส้นทางตามแบบแผนของสังคม นอกจากนั้นแล้วมันเป็นเพียงสองฉากที่เราได้เป็นประจักษ์พยานในการเผาของเธออย่างเป็นรูปธรรม และการตื่นรู้ของเอม่าเชื่อมโยงกับการเผา

อีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือ การเต้นของเอม่า แกสตองไม่ได้เป็นแค่สามีเธอแต่เขายังเป็นคนออกแบบท่าเต้นของเธอ หลายๆ ฉากทั้งการซ้อมและการแสดงจริงเราเห็นการปรากฏตัวของเขาอย่างเด่นชัด เฝ้ามองจากวงนอกและกำหนดให้ทุกสิ่งเป็นไปตามต้องการของตน การปะทะที่สำคัญของเรื่องเกิดขึ้นเมื่อหนึ่งในนักเต้นพูดออกมาว่า แกสตองควรจะออกไปดูคนเต้นบนถนนจริงๆ แทนที่จะสร้างถนนจำลองที่ไม่มีอยู่จริงขึ้นมา เหล่านักเต้นอยากเต้นแบบที่ทุกคนกำลังเต้นกันอยู่บนท้องถนน ไม่เพียงเท่านั้นหนังยังจงใจเปรียบเทียบการเต้นของเอม่าระหว่างบนเวทีของแกสตองกับการเต้นของเอม่าเองบนถนน แน่นอนเราเห็นว่าเธอมีความสุขมากขนาดไหนในอย่างหลัง

ฉากการเต้นของเอม่าถูกนำเสนอในรูปแบบมิวสิควิดีโอ (เพลงประกอบในฉากนี้มีชื่อว่า Real) เพลงประเภทเรเกตอน (Raggaeton) ถูกนำมาใช้ (ซึ่งลาร์ราอินค้นพบจากการนั่งฟังเพลงฮิตใน Spotify ตามคำแนะนำของคนทำสกอร์) เรเกตอนมีอีกชื่อว่าลาตินฮิปฮอป เกิดขึ้นในเปอโตริโกในยุค 90 ก่อนที่จะกลับมาโด่งดังเมื่อไม่กี่ปีมานี้ และท่าเต้นที่มาพร้อมๆ กับเพลงแนวนี้ถูกเรียกว่า Grinding อธิบายง่ายๆ มันเป็นท่าเต้นที่คู่ชายหญิงจะเต้นคู่กันแบบฝ่ายหนึ่งหันหลังแนบไปกับอีกฝ่ายหนึ่ง ในขณะที่เอม่าและเพื่อนๆ เลือกปลดปล่อยตนเองด้วยเพลงเรเกตอน แกสตองกลับดูถูกเพลงเรเกตอน บอกว่ามันเป็น “ภาพลวงตาของอิสรภาพ“

ในที่นี้คนที่ติดกับอยู่ในความลวงที่สุดอาจจะเป็นแกสตอง เขาเคยกล่าวว่า โปโลเป็น “ลูกชายจริงๆ” ที่เขามอบให้เอม่า แต่ต่อมาเขากลับคำเมื่อโปโลไปอยู่กับครอบครัวใหม่และถามว่า ใครคือโปโล ความจริงสำหรับแกสตองคือความจริงที่เขาเลือกที่สอดคล้องกับสิ่งที่เขายึดมั่นกับโลกเสมือนที่เขาสร้างขึ้น ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ภาพลวงของอิสรภาพที่เขากล่าวจึงอาจะหมดความน่าเชื่อถือไป มันเป็นเพียงข้ออ้างที่เขาใช้เพื่อทำร้ายเอม่าก็เท่านั้น

อีกสองตัวละครสามีภรรยาที่เป็นเหยื่อเพลิงของเอม่าก็มีสถานะไม่ค่อยต่างจากแกสตอง ฝ่ายสามีเป็นนักดับเพลิง (ที่โดนเพลิงไหม้เสียเอง แถมยังล้มเหลวในการดับ) เขามีภาพฝันในจินตนาการว่าเขาและภรรยาจะร่วมสร้างอะไรบางอย่างด้วยกัน แต่ความจริงและจินตนาการที่ไม่ไปด้วยกันทำให้เขามีชู้และชีวิตแต่งงานอยู่ในจุดเรียบนิ่ง ส่วนฝ่ายภรรยาเป็นทนายรับฟ้องคดีหย่าร้างที่ชีวิตแต่งงานก็ล้มเหลวเสียเอง (เธอทำให้เรานึกถึงมาริแอนน์จาก Scenes from a Marriage ของอิงมาร์ เบิร์กแมน) เธอปฎิเสธความรักจากเอม่า ถึงขนาดบอกว่าเธอและเอม่าไม่ได้มีความสัมพันธ์กัน ถึงแม้ว่าตลอดทั้งเรื่องเราจะพบว่า เธอและเอม่ามีความสัมพันธ์ที่ดูจริงและเป็นไปได้กว่าคู่อื่นก็ตาม

ตั้งแต่ต้นจนจบเอม่าอาจจะไม่ใช่ตัวละครที่ตัดสินใจได้ถูกต้องที่สุด แต่เราปฎิเสธไม่ได้ว่าอย่างน้อยเธอเป็นคนที่ยอมรับในชะตากรรมของตัวเอง รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรและมุ่งหน้าไปสู่จุดหมายนั้น การก้าวออกมาจากจุดปลอดภัยอาจจะเป็นเรื่องอันตราย แต่ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดที่ไม่มีความเจ็บปวด “ลุกไหม้เพื่อเกิดใหม่อีกครั้ง” เธอกล่าว ดังเช่นที่ การเผาของโปโลนำไปสู่การเผาของเอม่า

หนังจบตัวเองด้วยภาพเอม่าเติมน้ำมันใส่แกลลอนที่ปั๊มแห่งหนึ่ง มือเพลิงอาจจะเตรียมเชื้อไฟไว้สำหรับการเผาครั้งถัดไปที่กำลังจะมาถึงในเร็ววันหรืออาจจะส่งต่อเชื้อไปให้ใครสักคน ไม่มีใครรู้


ดู Ema ได้ที่ Mubi

LATEST REVIEWS