Dark Waters : ความอยุติธรรมคือพิษร้าย

(2019, Todd Haynes)

1

โรเบิร์ต บิลอตต์  เป็นทนายหนุ่มไฟแรงในสำนักงานกฎหมายชื่อดัง เขาเพิ่งกลายเป็นหุ้นส่วนคนสำคัญของบริษัท ชีวิตการทำงานกำลังไปได้สวย ชีวิตส่วนตัวก็เพียบพร้อมสมบูรณ์แบบ มีภรรยาผู้ทุ่มเทเสียสละและมีลูกน้อยในวัยน่ารัก พวกเขามีชีวิตอบอุ่นปลอดภัยอยู่ในบ้านหลังงามในย่านของผู้มีอันจะกิน

แต่แล้วในวันหนึ่ง ในตอนที่โรเบิร์ตกำลังประชุมอยู่ในบริษัท ก็มีชายแปลกหน้าแต่งตัวมอซอสองคนมาขอพบ พวกเขาเป็นเกษตรกรเจ้าของฟาร์มปศุสัตว์ในรัฐเวสต์เวอร์จิเนีย ขับรถดั้นด้นมาหาโรเบิร์ตถึงรัฐโอไฮโอเพื่อขอความช่วยเหลือทางกฎหมาย มาพร้อมลังกระดาษใบใหญ่ที่อัดแน่นไปด้วยม้วนวิดีโอแสดงภาพวัวล้มตายจากสารพิษในแหล่งน้ำ พวกเขาบอกว่าไม่มีใครรับว่าความให้อีกแล้ว ไม่มีใครกล้างัดข้อกับบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเคมีภัณฑ์อย่าง ดูปองท์ (Dupont)โรเบิร์ตพยายามบ่ายเบี่ยงว่าจะช่วยหาทนายเก่งๆ ให้ แต่แล้ว วิลเบอร์ เทนแนนท์ หนึ่งในเกษตรกรสองคนนั้นก็งัดไม้เด็ดขึ้นมาว่า ยายของโรเบิร์ตที่อยู่โอไฮโอ แนะนำให้พวกเขามาหาโรเบิร์ต จากคำพูดนั้นเองที่โรเบิร์ตรู้ตัวว่าเขาไม่อาจปัดทิ้งเรื่องนี้อย่างง่ายดายได้อีกแล้ว

วันต่อมาโรเบิร์ตจึงตัดสินใจขับรถไปที่เมืองปาร์กเกอร์สเบิร์ก รัฐโอไฮโอ ไปเยี่ยมยาย และได้รู้จากยายว่าฟาร์มของเทนแนนท์คือฟาร์มที่เขาเคยไปวิ่งเล่นสมัยเด็ก เขาไปพบเทนแนนท์ที่ฟาร์มแห่งนั้น 2-3 ครั้ง ชายชราให้เขาดูซากชิ้นส่วนต่างๆ ของวัวที่ดำคล้ำผิดปกติ พาไปดูลำธารปนเปื้อนสารพิษที่วัวเหล่านั้นดื่ม ไปดูสุสานซากวัวนับร้อยหลุม ความคับแค้นขมขื่นที่วัวของเขาต้องล้มตายไปเพราะสารพิษถึง 190 ตัว ซ้ำร้ายวันนั้นยังเกิดเหตุการณ์วัวคลุ้มคลั่งจากสารพิษ ทำให้ชายชราต้องตัดสินใจยิงวัวตัวนั้นทิ้งต่อหน้าต่อตาเขา ความจริงที่เห็นตรงหน้าสั่นสะเทือนโรเบิร์ตอย่างรุนแรง

เขาจึงเริ่มดำเนินการทางกฎหมายกับดูปองท์ เริ่มจากขอให้เปิดเผยเอกสารเพื่อการสืบคดี เอกสารนับร้อยๆ กล่องจากดูปองท์จึงถูกลำเลียงมากองพะเนินเทินทึกเต็มสำนักงานกฎหมายของเขา ราวกับจะข่มขวัญให้ล้มเลิกความพยายาม โรเบิร์ตจมหายไปกับกองเอกสารเหล่านั้นราวกับคนบ้า หมกมุ่นหัวฟูกับการสืบหาเบาะแสจากข้อมูลมหาศาล ไม่ฟังคำทัดทานจากเจ้านายและเพื่อนร่วมงาน เขาค่อยๆ สูญเสียโลกรอบตัวไปทีละน้อย ภรรยาไม่เข้าใจว่าเขากำลังทำอะไร คดีนั้นค่อยๆ กลืนกินชีวิตเขา ไม่ต่างจากที่ความอยุติธรรมกลืนกินเกษตรกรไร้ทางสู้ ไม่ต่างจากที่สารพิษปนเปื้อนกลืนกินเหล่าปศุสัตว์จนล้มตายเป็นเบือ

ยิ่งสืบไปเรื่อยๆ เขาก็ยิ่งพบความผิดปกติหลายอย่างที่ดูปองท์พยายามจะหมกเม็ดเอาไว้ และแล้วผลจากความทุ่มเทอันยาวนานก็ทำให้เขาได้พบกับคีย์เวิร์ดที่จะไขปริศนาทั้งหมด มันคือสารเคมีที่ชื่อว่า PFOA อันเป็นส่วนผสมสำคัญในผลิตภัณฑ์หลายอย่างของดูปองท์ หนึ่งในนั้นคือกระทะเทฟลอน (Teflon) ที่ใช้กันแทบทุกครัวเรือน

นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ความลับกว่า 40 ปีในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ของโลกค่อยๆ ถูกสาวไส้ออกมา ฤทธิ์ของสาร PFOA ไม่เพียงแต่ทำให้เหล่าปศุสัตว์เท่านั้นที่ล้มตาย มันยังเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ ทำให้เด็กเกิดมาพิกลพิการ พนักงานดูปองท์หลายชีวิตที่ได้รับสารปนเปื้อนถูกปกปิดความจริงและถูกปิดปากเอาไว้

นี่คือหนังที่สร้างจากคดีที่เกิดขึ้นจริงในอเมริกา การต่อสู้อันยืดเยื้อยาวนานนับสิบปีที่เริ่มตั้งแต่ปี 1998 เนิ่นนานพอจะทำให้เด็กๆ เติบโต คนหนุ่มแก่ตัว คนชราตายจาก หนังเล่าเรื่องตามเส้นเวลาอย่างชัดเจน เรียงลำดับเหตุการณ์ปีต่อปี เราจึงได้เห็นว่า “ความอยุติธรรม” มีเวลาเหลือเฟือเพียงใดที่จะโบยตีผู้คน แต่ผู้คนไม่ได้มีเวลามากพอจะทนได้ขนาดนั้น มันอาจทำให้พวกเขาพ่ายแพ้และถอดใจไปเอง แต่ทว่าด้วยเทคนิคทางภาพยนตร์ เราจึงได้เห็นว่าเวลาเคลื่อนผ่านไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน เดือนปียืดเยื้อของการต่อสู้อันเหนื่อยหน่ายถูกมองผ่านสายตาแบบพระเจ้า ผู้คนและเหตุการณ์ถูกร้อยเรียงด้วยโครงเรื่องที่มองว่าประวัติศาสตร์คือการก้าวไปข้างหน้า การต่อสู้ถูกมองเห็น ความมืดมนค่อยๆ คลี่คลายจนเห็นแสงสว่าง ความเจ็บปวดได้รับการเยียวยา แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วมันยังเป็นประวัติศาสตร์ที่ยังไม่จบสิ้นก็ตาม


2

“…อาวุธสำคัญอีกอย่างหนึ่งของรัฐคือความสามารถในการรอ ในการที่จะเอี้ยวตัวหลบหมัดไปมา ในการที่จะทำให้ฝ่ายต่อต้านหมดแรงไปเอง ฝ่ายรัฐไม่มีวันเหน็ดเหนื่อย ไม่มีวันแก่เฒ่า ไม่มีวันต้องพัก มันมีการส่งต่อผลัดเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด แต่ประชาชนที่ต่อสู้นั้นมีวันเหนื่อยล้า พวกเขาล้มป่วย พวกเขาแก่ลง แม้แต่คนหนุ่มสาวก็แก่ก่อนวัยอันควร…”

— Arundhati Roy, The End of Imagination

ภาพหนึ่งที่หนังฉายชัดมากที่สุดคือ “ความมหึมา” ของสิ่งที่ตัวละครกำลังต่อสู้ ไม่เพียงแต่ปรปักษ์ที่ชัดเจนอยู่แล้วอย่างบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างดูปองท์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง “กระบวนการ” และความซับซ้อนยุ่งยากอีกร้อยแปดพันประการทั้งหมดที่ตามมาหลังจากนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสิ่งที่เรียกว่า “เวลา” กล่าวคือ ความล่าช้าและการรอคอยอันยืดยาวได้กลายเป็นพันธมิตรที่มองไม่เห็นซึ่งเอื้อความได้เปรียบให้ฝ่ายที่มีอำนาจกว่าอย่างไม่ต้องสงสัย

หนังฉายภาพความมหึมาของ “ศัตรู” อย่างแยบยล พวกเขา/พวกมันแทบไม่ต้องแสดงตัว ไม่จำเป็นต้องเข้ามาขัดขวางอย่างโฉ่งฉ่าง แต่สามารถแทรกตัวกลมกลืนอยู่ในทุกองคาพยพที่จะคอยขัดแข้งขัดขาผู้ที่กำลังต่อสู้กับมัน “ศัตรู” อาจมาในรูปของกองเอกสารมหึมาที่แทบจะท่วมทับกลืนกินตัวละคร มาในรูปขององค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เคมีที่ยากแก่การเข้าใจ มาในรูปของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเสิร์ชเอนจิ้นที่การสืบค้นข้อมูลยังมีข้อจำกัด มาในรูปของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ยุ่งยากซับซ้อนที่ต้องใช้เวลาศึกษาวิจัยนับหลายปี มาในรูปของเสียงทัดทานและความไม่เข้าใจจากคนรอบข้าง ชีวิตทางสังคมที่หายไป ครอบครัวที่จวนจะล่มสลาย ฯลฯ

ยิ่งการต่อสู้ดำเนินไป มันก็ยิ่งเรียกร้อง “ต้นทุน” ในการต่อสู้อย่างทบเท่าพันทวี สิ่งที่ตัวละครต้องต่อสู้จึงไม่ใช่แค่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่แทบจะเรียกได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่าง และในการต่อสู้กับทุกสิ่งทุกอย่าง มันจึงเรียกร้องให้ทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเข้าไปเป็นเดิมพัน ที่สุดแล้วการต่อสู้จึงประลองกำลังกันที่ความดื้อด้านทานทนของตัวละคร ประหนึ่งชะตากรรมของซิซิฟัส (Sisyphus) ที่ต้องกลิ้งก้อนหินอยู่ชั่วนิรันดร์ ต่อสู้จนกลายเป็นบ้า และต่อสู้เพื่อที่จะไม่กลายเป็นบ้า

หนังฉายภาพต้นทุนชีวิตของโรเบิร์ตและชายชราเจ้าของฟาร์มที่ค่อยๆ ร่อยหรอลง  จากทนายหนุ่มไฟแรงผู้สง่างาม กลายมาเป็นชายสติเฟื่องที่หมกมุ่นและหวาดระแวงกับสารเคมี มันครอบงำสิงสู่โรเบิร์ตอยู่ทุกขณะจิต ราวกับว่าสารเคมีและความอยุติธรรมนั้นได้แพร่พิษใส่ทุกคนในครอบครัว ภรรยาสูญเสียสามีให้กับการต่อสู้ที่เธอไม่เข้าใจ ลูกๆ เติบโตขึ้นพร้อมๆ กับความคุ้นชินไปเองว่าพ่อไม่มีเวลาให้ ในขณะที่ชายชราเจ้าของฟาร์มกับภรรยาก็ล้มป่วย แทบสิ้นเนื้อประดาตัว ความคับแค้นจากความอยุติธรรมทำให้เขาเดือดดาลและขมขื่นกับชีวิต หนังมีฉากสะเทือนใจฉากหนึ่งที่ฝูงเฮลิคอปเตอร์บินวนก่อกวนฟาร์มของชายชรา เขาจึงนอนซุ่มหนาวสั่นอยู่นอกบ้านคนเดียวทั้งคืน กอดปืนไรเฟิลราวกับคนเสียสติเพื่อปกป้องครอบครัวและผืนดินของตัวเองจากศัตรูที่มองไม่เห็น

ความอยุติธรรมจึงมีพิษร้ายไม่ต่างจากสารเคมี มันกัดกินชีวิตผู้คนจนเสียสติ บ้าคลั่ง และหมดแรง ชายชราคลุ้มคลั่งและป่วยไข้ไม่ต่างจากวัวของเขา และโรเบิร์ตเองก็ค่อยๆ ดูดซับความเดือดดาลของชายชรามาเป็นของเขาเอง ความอยุติธรรมจึงไม่ใช่เพียงความอยุติธรรมที่กระทำต่อคนใดคนหนึ่ง แต่มันหมายถึงทั้งองคาพยพของสังคมที่ช่วยค้ำยันความอยุติธรรมเอาไว้ และสารเคมีก็ไม่ใช่แค่เพียงสารเคมี แต่มันหมายถึงการจ้างงานในเมือง แรงงานในสายพานการผลิต มันหมายถึงระบบสังคมที่ “ทุน” (อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์) ได้ออกแบบไว้เพื่อเก็บเกี่ยวผลกำไรและเป็นปราการปกป้องตัวมันเอง

หนังจึงไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ดูปองท์เพียงอย่างเดียว แต่ค่อยๆ ฉายให้เห็นองคาพยพต่างๆ ในระบบนิเวศของการกดขี่ที่เกี่ยวร้อยเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ “ระบบ” ที่ในสภาวะปกติเราอาจมองไม่เห็นปัญหาในตัวมัน แต่ทันทีที่มันกลายเป็นคู่ต่อสู้ เราจึงมองเห็นเขี้ยวเล็บของมันได้ถนัดตา


3

ตั้งแต่ฉากแรกๆ จนถึงช่วงกลางๆ ของเรื่อง เราอาจเห็นคู่ขัดแย้งที่ชัดเจนว่าตัวละครกำลังต่อสู้อยู่กับอะไร แต่หลังจากที่กระบวนการต่างๆ เริ่มดำเนินไป ทั้งการต่อสู้ในศาล การต่อสู้ในพื้นที่สื่อ การต่อสู้บนท้องถนน ก่อเกิดเป็นแรงกระเพื่อมทางสังคมที่ขยายเป็นวงกว้าง ดึงดูดให้ “ตัวละคร” ใหม่ๆ เข้ามาร่วมวงด้วย ตอนนั้นเราก็แทบไม่รู้อีกแล้วว่าทนายโรเบิร์ต (รวมทั้งทีมของเขา) กำลังต่อสู้อยู่กับอะไรกันแน่ ราวกับว่าหนังเลือกที่จะละทิ้งจุดโฟกัสแต่แรกไปแล้วค่อยๆ ถอยออกมามองตัวเองในมุมกว้าง แล้วปล่อยให้สายตาของผู้ชมแต่ละคนหาจุดโฟกัสเองว่าจะมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร

ด้วยเทคนิคดังกล่าวนี้ ตัวละครเองก็ค่อยๆ หลุดลอยออกจากจุดโฟกัสเช่นกัน แม้จุดศูนย์กลางจะยังอยู่ที่ทนายโรเบิร์ตก็จริง แต่หนังได้ถ่ายเทน้ำหนักไปที่ “เหตุการณ์” มากกว่า “ตัวบุคคล” อารมณ์ของหนังก็เปลี่ยนจากความตื่นเต้นเร้าใจในตอนแรก มาเป็นความรู้สึกของการทอดอาลัยหรืออาจจะถึงขั้นซังกะตาย ด้วยวิธีนี้เองที่ทำให้ผู้ชมได้สัมผัสถึงความเหนื่อยล้าอ่อนแรงของตัวละคร พวกเขาแก่ตัวลง ป่วยไข้ และสูญเสียหลายสิ่งไปในชีวิต

ไม่ว่าเวลาจะอยู่ข้างเราหรือไม่ แต่เวลาก็ไม่เคยเป็นกลาง มันทำให้ใครบางคนได้เปรียบและทำให้ใครบางคนเสียเปรียบเสมอ และคนที่ได้เปรียบเสมอก็คือคนที่มี “ต้นทุน” มากพอจะซื้อมันมาจากคนอื่นๆ ความได้เปรียบด้านเวลาทำให้พวกเขามีความสามารถในการรอ แปรเปลี่ยนความล่าช้าเป็นศาสตราวุธ แต่ความเสียเปรียบของคนที่ไม่มีเวลามากพอ ทำให้พวกเขาไม่สามารถรอได้แม้แต่วินาทีเดียว ความล่าช้าจึงกลายเป็นความสูญเสียในตัวมันเอง การต่อสู้ของตัวละครจึงเป็นทั้งการต่อสู้กับ “การซื้อเวลา” และต่อสู้กับ “เวลา” ต่อสู้เพื่อเปิดโปงให้เห็นว่าความอยุติธรรมนั้นปล้นชิง “เวลา” ไปจากผู้คนมากมายเพียงใด ต่อสู้เพื่อให้เห็นว่าความยุติธรรมที่มาล่าช้าไม่ได้สูญเสียคุณค่าและความหมายของมันไปเพียงเพราะความล่าช้าของมัน

ณิศวร์ฐิตะ ทองน้อย
อ่านหนังสือเป็นงานประจำ ดูหนังเป็นงานอดิเรก

LATEST REVIEWS