Comrades Almost A Love Story : Almost A Political Story

(1996, Peter Chan)

“ตอนผมทำหนังเรื่องนี้ผมไม่คิดถึงการเมืองเลย แต่ไม่ว่าอย่างไรผมก็หนีจากการเมืองไม่พ้น” ปีเตอร์ ชาน ตอบคำถามหนึ่งของผู้ชมที่ถามเกี่ยวกับการเมืองในหนังเรื่องนี้ ระหว่าง Q&A ในวาระที่ House สามย่านเอาหนังเรื่องนี้กลับมาเข้าฉายอีกครั้งหลังผ่านไป 25 ปี

ก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่วัน เพิ่งมีภาพการนำตัวโจชัว หว่อง ที่ถูกสั่งจำคุก 13.5 เดือน ถูกนำตัวมาศาลเพื่อพิจารณาคดีนักกิจกรรมการเมืองประชาธิปไตยฮ่องกง 47 คนซึ่งถูกตั้งข้อหา “ฝ่าฝืนกฎหมายความมั่นคง” “สมคบคิดล้มล้างอำนาจรัฐ”1https://www.facebook.com/standnewshk/photos/3948929285192662 และในเวลาใกล้ๆกันสภาประชาชนแห่งชาติจีนหรือเอ็นพีซี รับรองมติ “ชาตินิยมปกครองฮ่องกง”รายละเอียดตามญัตตินี้จะมีการปรับลดตัวแทนฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยลง และเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลจีนเข้ามาคัดกรองและเลือกผู้สมัครได้ 2https://www.bbc.com/thai/international-56360474 ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนมองว่ากฎหมายความมั่นคง และกฎหมายเลือกตั้งนี้คือจุดจบของฮ่องกงที่เราเคยรู้จัก

สองเรื่องนี้จึงวิ่งเข้าหากันพร้อมกับภาพเริ่มต้นและภาพจบของหนังเรื่องนี้ ซึ่งเป็นภาพที่มีอยู่ในหัวของปีเตอร์ ชาน ภาพที่เป็นจุดตั้งต้นของหนัง ภาพของขบวนรถไฟที่เคลื่อนสู่ชานชาลา ชายหญิงแปลกหน้าสองคนเผลอหลับพิงศีรษะเข้าหากัน ขบวนรถไฟนั้นมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ คนผู้ชายคือเสี่ยวจิน เขามาจากทางเหนือพูดกวางตุ้งแทบไม่ได้ มาหางานทำเพื่อจะเก็บเงินไปแต่งเมีย คนผู้หญิงคือหลี่เฉียว เธอมาจากกวางโจว คล่องแคล่วและเต็มไปด้วยความฝันถึงชีวิตที่ดีกว่า พวกเขาไม่ได้รู้จักกัน ครั้นพอรถเคลื่อนมาถึงชานชาลา หลี่เฉียวก็ลุกไป ทำให้เสี่ยวจินละดุ้งตื่นไปด้วย ทั้งคู่ออกจากขบวนรถไฟ แยกออกไปคนละทาง ก่อนจะวนเวียนกลับมาพบกันครั้งแล้วครั้งเล่าบนเกาะเล็กๆ แห่งนี้ในช่วงเวลาที่ดีที่สุดของมัน

และนี่คือเรื่องที่เกือบจะเป็นเรื่องรักของเสี่ยวจิน หนุ่มหน้าซื่อที่มาอาศัยในห้องเช่าของป้าที่เป็นแฟลตของบรรดาหญิงงามเมืองจากหลากเชื้อชาติ ป้าผู้ซึ่งยังคงอาศัยอยู่ในวันชื่นคืนสุขเมื่อครั้งที่เธอได้เป็นคู่รักชั่วคราวของวิลเลียม โฮลเด้น ในตอนที่เขามาถ่ายหนังที่ฮ่องกง วันเวลาเหล่านั้นหล่อเลี้ยงจิตใจของเธอผู้ร่วงโรย เสี่ยวจินทำงานในร้านขายเนื้อเป็ดไก่ ทุกวันเชือดไก่จับใส่จักรยานไปส่งในที่ต่างๆ ตกค่ำเขียนจดหมายหาหญิงคนรักที่เมืองจีน เก็บเงินจะรับเธอมาแต่งอยู่กินกันที่นี่

หลี่เฉียวทำงานเป็นสาวร้านแมคโดนัลด์ ร้านอาหารที่เป็นที่สุดของความใฝ่ฝันของคนจีนแผ่นดินใหญ่ที่สินค้าตะวันตกถูกแบน ที่นั่นเธอพบเสี่ยวจินที่เก็บเงินทั้งเดือนมากินแมค เธอหลอกล่อให้เขาไปลงเรียนภาษาอังกฤษเพื่อหักค่าหัวคิว ตัวเธอเองทำงานเป็นคนทำความสะอาดในสถาบันนั้น คอยเรียนแบบครูพักลักจำตอนที่มาเช็ดกระจกห้องเรียน เธอเอ็นดูความซื่อไร้เดียงสาของเขา และได้เขามาช่วยเหลืองานต่างๆ ส่วนเขาเองมีเธอเป็นเพื่อนคนเดียวในเมืองแปลกหน้านี้ ตรุษจีนปีนั้น สองคนลงขันซื้อเทปเพลงและโปสเตอร์ของเติ้งลี่จวินมาขาย ที่ไหนมีคนจีนที่นั่นมีเติ้งลี่จวิน แต่ตรุษจีนปีนั้นฝนตก คนฮ่องกงที่พูดกวางตุ้งก็มองว่าคนฟังเติ้งลี่จวินมีแต่พวกคนอพยพจากแผ่นดินใหญ่ การลงทุนล้มเหลว ท่ามกลางลมฝนและความปรารถนาของหนุ่มสาว คืนนั้นเป็นครั้งแรกที่พวกเขาใกล้ชิดกันอย่างถึงที่สุด

วันคืนเคลื่อนผ่าน เสี่ยวจินเปลี่ยนไปทำงานพ่อครัว หลี่เฉียวโดนพิษเศรษฐกิจจนต้องมาเป็นหมอนวด ทั้งคู่ไม่ใช่คนรักแต่มากกว่าเพื่อนความสัมพันธ์ก้ำกึ่งดำเนินไปเงียบๆ ท่ามกลางความผันแปรของเศรษฐกิจของเกาะฮ่องกง คนจีนอพยพไร้รากสองคนเคลื่อนที่เข้าหากัน พอถึงจุดนึง สภาวะทางเศรษฐกิจ สังคม และชีวิตก็ผลักทั้งสองคนออกไปจากกัน

‘สหายเสี่ยวจิน คุณไม่ได้มาฮ่องกงเพื่อฉัน และฉันก็ไม่ได้มาฮ่องกงเพื่อคุณ’ หลี่เฉียวกล่าวกับเขาก่อนจะแยกไปขึ้นรถไฟ จากกันไปหลังจากนั้น

หลายปีต่อมาเสี่ยวจินก็แต่งงานกับเสี่ยวถิงหญิงคนรัก หลี่เฉียวคบกับพี่เป้า นักเลงหัวไม้ที่เป็นลูกค้าโรงนวดของเธอ พวกเขากลับมาพบกันอีกครั้งในงานแต่งของเสี่ยวจิน ท่ามกลางการระลึกถึงวันชื่นคืนสุขและการหักห้ามใจ จนในที่สุดในบ่ายวันหนึ่งที่ทั้งคู่บังเอิญพบกับเติ้งลี่จวินตัวจริงบนถนน และอีกครั้งค้นพบว่าตลอดเวลาที่ผ่านมามีแต่กันและกัน ตั้งใจว่าในที่สุดจะทำเพื่อตัวเอง

แต่โชคชะตาเล่นตลกเสมอ หลังจากบ่ายจวบจนค่ำคืนนั้นใครจะรู้ว่าทั้งคู่จะต้องพลัดพรากจากกันไปอีกหลายปี ต่างคนต่างพเนจรไปเอมริกา คลาดกันทั้งที่อยู่ร่วมเมือง พบเจอทุกข์สุขและความตายมากมาย ในเมืองนิวยอร์กที่พี่เป้าบอกว่ามาตั้งไกล ย่านคนจีนก็ไม่ได้ต่างอะไรจากฮ่องกง จนหลังจากการพลัดพรากซ้ำแล้วซ้ำเล่าทั้งคู่กลับมาพบกันอีกครั้งในวันที่เติ้งลี่จวินตาย

มันเป็นหนังที่ผู้คนจดจำมาตลอดหลายปี หนังออกฉายครั้งแรกในปี 1996 หนึ่งปีก่อนเกาะฮ่องกงถูกกลับคืนสู่จีน มันถูกจดจำในฐานะหนังรักที่โรแมนติก รวดร้าวและทรงพลังที่สุดเรื่องหนึ่งของเอเซีย และถูกจดจำในระดับเดียวกันว่าเป็นหนังที่พูดถึงการเมืองในยุคเปลี่ยนผ่านของฮ่องกงได้อย่างทรงพลังที่สุด

ในการฉายอีกครั้งในไทย หลังจากผ่านไป 25 ปี ปีเตอร์ ชานเล่าว่า เขาไม่ได้คิดว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังที่แสดงถึงความคิดของคนฮ่องกงในช่วงคืนเกาะ มากไปกว่าการเป็นหนังที่ว่าด้วยเรื่องคนจีนอพยพ ตัวละครของเขาไม่ได้มีรกรากที่ฮ่องกง และคนฮ่องกงส่วนใหญ่เองก็ไม่ได้เป็นคนฮ่องกงโดยกำเนิด เกินครึ่งเป็นผู้คนที่อพยพมาจากจีน สำหรับปีเตอร์ ชานแล้วนั้น เขากำลังพูดเรื่องของคนพลัดถิ่น ที่ไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง ซึ่งไม่ใช่แค่คนจีนในฮ่องกง แต่ยังรวมถึงคนจีนในไต้หวัน หรือในภูมิภาคเอเซียอาคเนย์นี้ ตัวละครมาจากเมืองจีนและตลอดเวลาบนจอไม่ได้กลับไป ไม่ได้มีความหวังที่จะกลับไป ฮ่องกงไม่ใช่บ้านและไม่มีที่ไหนเป็นบ้าน

ตลอดหลายสิบปีคนจีนที่อพยพจากรัฐกึ่งคอมมิวนิสต์กึ่งเผด็จการมาหางานทำ ถูกคนฮ่องกงที่มาจากรัฐอาณานิคมทุนนิยมประชาธิปไตยมองในฐานะของแรงงานชั้นล่าง คนไร้รสนิยม เป็นพวกยากจนที่มาก่ออาชญากรรม ความรู้สึกทำนองนี้ สามารถหาได้จากหนังอย่าง China Behind (1974, Tang Shu Shuen) หนังจากผู้กำกับหญิงคนแรกๆ ของฮ่องกง หนังสร้างปี 1974 แต่ถูกแบนจากฮ่องกงและไต้หวันอยู่สิบห้าปี จีนแผ่นดินใหญ่ไม่ต้องพูดถึง หนังเล่าเรื่องของเด็กหนุ่มสาวที่ไม่สามารถทนช่วงเวลาของการปฏิวัติวัฒนธรรมได้ พวกเขาเลยพากันหลบหนีจากจีนไปฮ่องกง เริ่มจากเตรียมการหาเส้นทาง เดินเท้าข้ามเมือง หลบหนีหูตาของรัฐวันแล้ววันเล่า ในป่าในเขา ข้ามไปจนเจอฝั่งทะเล แล้วว่ายน้ำข้ามไปฮ่องกง ที่เจ็บปวดคือพอข้ามมาฮ่องกงแล้วพวกเขาก็ไปเป็นคนระดับใต้ถุนสังคม หลังจากถูกบีบคั้นอย่างหนักจากสภาพยากจนในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม โลกเสรีก็บีบคั้นพวกเขาไม่ต่างกันจนเป็นบ้าไป หรือใน Long Arm Of The Law (1984, Johnnie Mak) หนังว่าด้วยแกงค์อาชญากรจากเมืองจีนที่ได้รับการว่าจ้างให้มาปล้นทองในฮ่องกง ก่อนจะลงเอยกันอย่างวินาศสันตะโร ด้วยฉากที่เป็นที่จดจำตลอดกาล อย่างการไล่ล่าใน walled city ชุมชนแออัดของฮ่องกงที่เต็มไปด้วยตรอกเล็กตรอกน้อย บีบอัดคับแคบในสลัมที่หนาแน่นที่สุดที่หนึ่งของโลก และหนังที่สร้างในเวลาใกล้ๆ กันกับ Comrades: Almost A Love Story อย่าง Intruder (1997, Tsang Kaan Cheung) หนังเกรดสามที่นำแสดงโดย อู๋เชี่ยนเหลียน นางเอกผู้หญิงข้าใครอย่าแตะ เธอรับบทของสาวจีนที่อยากมาฮ่องกงด้วยการยอมขายตัวเป็นเจ้าสาวให้พวกชายโสด แต่เมื่อมาถึงเธอจัดการฆ่าผู้ชายพวกนั้น เข้าสวมรอยให้สามีอาชญากรของเธอหนีคดีตามมา วิธีการฆ่าของเธอก็พิสดารโหดเหี้ยม หนังฉายภาพคนจีนแผ่นดินใหญ่ในฐานะผู้บุกรุกเกาะฮ่องกงอย่างไม่มีคำว่าประนีประนอมเลยแม้แต่น้อย และสะท้อนภาพความกลัวลึกๆ ในใจผู้คนในช่วงเวลาคืนเกาะ

มันจึงมีการเมืองโดยไม่ได้ตั้งใจอยู่ในหนังเรื่องนี้ ความเป็นการเมืองที่มาจากความละเอียดลออในการพูดถึงชีวิตตัวละครจริงๆ เพราะการเมืองแฝงฝังอยู่ในชีวิตแต่ละคนอยู่แล้ว เมื่อทำหนังที่พูดถึงชีวิตมันจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่พูดเรื่องการเมืองไม่ว่าจะอยากพูดหรือไม่ก็ตาม

สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นอย่างยิ่งในหนัง คือการที่หนังเลือกใช้เพลงของเติ้งลี่จวิน และเล่าเรื่องตัวละครล้อไปกับชีวิตของเติ้งลี่จวิน ปีเตอร์ ชานเล่าอย่างติดตลกว่าเขาเองไม่ได้เป็นแฟนเพลงของเติ้งลี่จวิน คนทำหนังที่เกิดในฮ่องกง โตในไทยแล้วไปเรียนทำหนังที่อเมริกาคนนี้บอกว่าในช่วงเวลาทองของเติ้งลี่จวินนั้นตัวเขาฟัง The Beatles เสียมากกว่า

เติ้งลี่จวินก็เช่นกัน เพลงรักอ่อนหวานของเธออาจปราศจากการเมืองโดยตัวเพลงแต่การฟังเพลงของเธอนั้นกลับเป็นการเมืองอย่างยิ่ง

เติ้งลี่จวินเป็นลูกสาวของทหารก๊กมินตั๋งที่อพยพไปไต้หวัน เธอร้องเพลงตั้งแต่เด็กเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวจนโด่งดัง ตลอดการปฏิวัติวัฒนธรรม การฟังเพลงรักเป็นเรื่องต้องห้าม เพลงของเธอถูกเรียกว่า ‘เพลงเสื่อม’ (decadent music/yellow music) จวบจนหลังแกงค์สี่คนล่มสลายโลกจึงเปิดออก การฟังเพลงของเติ้งลี่จวินในขณะนั้นมักลักลอบฟังกันในเวลากลางคืนจนมีสำนวนจีนที่ล้อกับแซ่งเติ้งของเธอว่า ‘เฒ่าเติ้ง (เติ้งเสี่ยวผิง) ครองทิวา เติ้งน้อย (เสี่ยวเติ้ง/ เติ้งลี่จวิน) ครองราตรี หรือการที่มีคนนิยามเพลงของเธอว่า เป็นเพลงที่มี น้ำตาลเจ็ดส่วนน้ำตาสามส่วน (seven parts sweetness, three parts tears) เพื่อล้อเลียนสำนวนของประธานเหมาที่บอกว่า คนเรามีเจ็ดส่วนดีสามส่วนเลว การฟังเพลงของเธอจึงมีนัยของการต่อต้านของคนหนุ่มสาวในจีนเพราะเธอร้องเพลงรัก มีเรื่องเล่าว่ามีนักแต่งเพลงรับใช้พรรคคนนึงบังเอิญได้ฟัง ‘แสงจันทร์แทนใจ’ ตามถนน แล้วเขาก็ร้องไห้ออกมา เพราะสงสัยว่าตัวเองทำอะไรมาตลอด ทำไมเขาไม่เขียนเพลงที่เพราะอย่างนี้ (ดูฉากที่พูดถึงการลักลอบฟังเพลงของเติ้งลี่จวินได้ใน Youth (2017, Feng Xiaogang) เพลงของเธอไม่ได้ฮิตแค่ในจีน แต่ยังลามไปทั่วภูมิภาครวมถึงเอเชียอาคเนย์ เพลงภาษาจีนกลางของเธอจึงไม่ได้เป็นแค่เพลงของชาตินิยมไต้หวัน แต่ยังเป็นเพลงของคนจีนพลัดถิ่นที่หวนคำนึงถึงบ้านเกิด บ้านเกิดแบบที่ไม่มีพรรคคอมมิวนิสต์ปกครอง เป็นเพียงทัศนียภาพอันสวยงามและความรักอันหวานซึ้ง

เพลงของเธอไม่ได้ฮิตแค่ในจีน แต่ยังลามไปทั่วภูมิภาครวมถึงเอเชียอาคเนย์ เพลงภาษาจีนกลางของเธอจึงไม่ได้เป็นแค่เพลงของชาตินิยมไต้หวัน แต่ยังเป็นเพลงของคนจีนพลัดถิ่นที่หวนคำนึงถึงบ้านเกิด บ้านเกิดแบบที่ไม่มีพรรคคอมมิวนิสต์ปกครอง เป็นเพียงทัศนียภาพอันสวยงามและความรักอันหวานซึ้ง

ตัวเติ้งลี่จวินเองก็มีความเป็นการเมืองไม่น้อย ตลอดชีวิตเธอไม่เคยไปเปิดการแสดงที่จีนเลย ในบทสัมภาษณ์ Liu Zhongde ที่เคยเป็นรมต.วัฒนธรรม สมัยที่จะเชิญเติ้งลี่จวินมาเมืองจีน เขาบอกว่าเขาชอบเพลงที่สวยงามของเธอ แม้เพลงของเธอจะเป็นเพลงที่ไม่ดีต่อสุขภาพ (ของสังคมนิยม) แต่มันก็เป็นเพลงที่จะติดอยู่ในหัว เขาเล่าต่อว่า เติ้งลี่จวินเองก็วางแผนจะมาเปิดคอนเสิร์ตในจีน และมีการเตรียมการแล้ว แต่ไม่กี่วันหลังการอนุมัติ หนังสือพิมพ์ก็ลงข่าวว่าเธอเข้าร่วมกับองค์กรชาตินิยม ทางจีนจึงต้องสอบสวนเรื่องนี้เสียก่อนแต่กว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้น เติ้งลี่จวินก็มาเสียชีวิตที่เชียงใหม่เสียก่อนแล้ว3http://www.zonaeuropa.com/culture/c20060805_1.htm

ไม่ใช่แค่เติ้งลี่จวิน ตัวหนัง Comrades: Almost A Love Story เองก็ ไม่ได้เข้าฉายในจีน มันถูกแบนและเพิ่งเข้าฉายเป็นครั้งแรกในปี 2015 และเข้าฉายโดยมีการคัฟเวอร์เพลงเดิมไม่ให้เป็นของเติ้งลี่จวิน4https://www.newyorker.com/culture/cultural-comment/the-melancholy-pop-idol-who-haunts-china

กลับมาที่หนังอีกครั้ง หนังจึงเป็นเช่นเดียวกับเพลงของเติ้งลี่จวิน โดยตัวมันเองทำหน้าที่เป็นเรื่องเล่าที่เกือบจะเป็นเรื่องรัก ของ ‘สหาย’ ชาวจีนที่เข้ามาแสวงโชคในฮ่องกง ความพลัดบ้านของคนจีนกลายเป็นอัตลักษณ์จำเป็นเพราะบ้านไม่มีให้กลับ ฮ่องกงที่ไม่มีอัตลักษณ์โดยตัวมันเอง เป็นเพียงบ้านชั่วคราวและในหนังเรื่องนี้ตัวละครก็ไม่ได้พบกันที่บ้านอีก พวกเขาไปพบกันอีกครั้งในที่อื่น แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อคนจีนอพยพไป พวกเขาก็สร้างชุมชนคนจีนขึ้น จนในที่สุดความไร้บ้านกลายเป็นบ้านที่ต่อให้เป็นนิวยอร์ก ไชน่าทาวน์ก็ดูเหมือนบางส่วนของฮ่องกงจนได้ ในความไร้บ้าน ทุกที่เป็นบ้านมากพอๆ กับไม่เป็นบ้าน ราวกับว่าฮ่องกง (หรือจีนที่ไม่ใช่จีนแบบคอมมิวนิสต์) ไม่ใช่สถานที่ แต่คือผู้คน

เมื่อต้นปี 2020 ผู้เขียนมีโอกาสไปเยือนฮ่องกง มันเป็นช่วงเวลาที่แสนประหลาด เพราะมันคือช่วงเวลาหลังการประท้วงใหญ่ที่จบลงอย่างเจ็บปวดจากเหตุการณ์ปิดล้อมวิทยาลัยโพลีเทคนิค และเป็นช่วงเวลาก่อนการแพร่ระบาดของ Covid-19 ในฮ่องกง พอกลับไปใคร่ครวญถึงช่วงเวลานั้น มันก็ทำให้นึกถึงหนังเรื่องนี้อีกครั้ง มิตรสหายหลายคนที่ได้พบปะต่างบอกว่าพวกเขาเป็นผู้ประท้วง ประท้วงจีนที่พยายามจะเข้ามาควบคุมฮ่องกงให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของจีนผ่านการแก้ไขแบบเรียนประวัติศาสตร์ ผ่านการจัดการการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม และการใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วง เราอาจกล่าวได้ว่า จีนในความรู้สึกของฮ่องกง ไม่ใช่คนยากจนสองคนพิงหลับกันบนขบวนรถไฟเพื่อมาหางานทำอีกแล้ว ทุกอย่างกลับตาลปัตรไปอย่างสิ้นเชิง จีนกลายเป็นความชั่วร้ายยิ่งใหญ่ที่พวกเขาไม่อาจเอาชนะ ระหว่างการพูดคุยกับมิตรสหายเหล่านั้นผู้เขียนพบว่า แม้พวกเขาตั้งใจที่จะสู้ให้ถึงที่สุด แต่พวกเขาก็คิดเสมอถึงการไปจากฮ่องกง ลึกๆ ทุกคนรู้ว่านี่คือการต่อสู้ที่จะไม่มีทางชนะ พวกเขาคิดว่าเมื่อถึงเวลาพวกเขาก็ต้องพเนจรไปเสียจากที่นี่ พวกเขาเช่นเดียวกันกับ Nathan Law หรือ Edward Leung แกนนำการชุมนุมที่ต้องลี้ภัย อาจจะเป็นเพียงอีกรูปแบบหนึ่งของหลี่เฉียว และเสี่ยวจิน คนจีนพลัดถิ่นประจำศตววรษปัจจุบัน มีที่อื่นที่เป็นบ้าน แต่บ้านในฝันที่ผู้คนมีสิทธิเสรีภาพก็ดูจะเป็นเพียงที่ชั่วคราวที่แทบไม่มีจริงในโลกใบนี้อีกแล้ว


อ่านเพิ่มเติมเรื่องเติ้งลี่จวินที่
http://www.thairath.co.th/content/619357
http://chinese2u.blogspot.com/2015/12/2.html

Filmsick
Filmvirus . เม่นวรรณกรรม . documentary club

LATEST REVIEWS