ที่ใดมี ทิลดา สวินตัน ที่นั่นย่อมมีศิลปะ

ภายหลังความเฮี้ยนระเบิดชวนคุ้มคลั่งยาวสองชั่วโมงครึ่งของ Suspiria (2018, ลูกา กัวดัญญีโน) ที่นำแสดงโดย ดาโกตา จอห์นสัน, มีอา โกธ และ ทิลดา สวินตัน สิ้นสุดลง ชื่อของ ลุตซ์ เอ็มเบอร์สดอร์ฟ ก็ปรากฏในฉากเครดิตในฐานะที่เป็นนักแสดงผู้รับบทเป็น ดร.เคล็มเปอเรอร์ ชายชราชาวเยอรมันในเรื่อง หลายคนไม่ติดใจกับชื่อของนักแสดงแปลกหูรายนี้ หากแต่นักข่าวรายหนึ่งเก็บงำความสงสัยนั้นไว้ และยกมือถามทีมงานหลังหนังฉายจบ

“ทิลดา คุณรับบทเป็นมาดามบลังใช่ไหมครับ”

“ใช่ค่ะ ฉันรับบทเป็นมาดามบลัง”

“ครับ และผมก็เดาว่าคุณยังรับบทเป็นดร.เคล็มเปอเรอร์ด้วย”

สวินตันยิ้ม ข้างๆ กัน มีอา โกธ หันมองหน้าเธอที่โน้มตัวลงมาตอบใส่ไมโครโฟน “อย่างที่คุณก็เห็นในเครดิตท้ายเรื่องกับโปสเตอร์หนังนะคะ” เธอตอบ “ว่าดร.เคล็มเปอเรอร์รับบทโดย ลุตซ์ เอ็มเบอร์สดอร์ฟ ค่ะ”

ไม่เพียงแค่เป็นอารมณ์ขันและความแสบสันเล็กๆ น้อยๆ ในงานรอบสื่อ แต่มันยังเป็นบทสนทนาที่บ่งบอกตัวตน ความซับซ้อนและการ ‘กลายร่าง’ ในโลกภาพยนตร์อันแสนแยบยลในแบบของ ทิลดา สวินตัน อย่างที่ในเวลาต่อมา หลังจากหนังเข้าฉายในโรงได้สักระยะ เธอก็ออกมาให้คำตอบว่า “ถ้ามีคนถามฉันว่า ‘คุณรับบทเป็นดร.เคล็มเปอเรอร์ในเรื่อง Suspiria หรือเปล่า’ ฉันก็จะตอบว่าคนที่รับบทนี้คือลุตซ์ เอ็มเบอร์สดอร์ฟอยู่ร่ำไป

“แต่ถ้ามีคนถามฉันว่า ‘คุณรับบทเป็นลุตซ์ เอ็มเบอร์สดอร์ฟหรือไม่’ ฉันก็จะตอบว่า ใช่ค่ะ”

อาจจะพูดได้ว่ามันเป็นความสนุกในแบบของสวินตันร่วมกันกับกัวดัญญีโน และหากมองย้อนกลับไปยังตัวตน เส้นทางที่ผ่านมาของเธอก็คงสรุปได้ว่ามันไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจเท่าไหร่นัก นอกเหนือจากโลกภาพยนตร์ เธอยังไปปรากฏตัวอยู่ในแวดวงศิลปะ มีส่วนร่วมสำคัญในการแสดงงานหลายๆ ครั้ง และที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคืองานในปี 1995 ที่แกลลอรี่เซอร์เพนไทน์ในลอนดอน ที่เธอไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากปีนขึ้นไปนอนในกล่องแก้วให้คนเข้ามามุงดูเฉยๆ! (และกลับมาแสดงงานชิ้นนี้อีกครั้งในปี 2013 ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ กลางกรุงนิวยอร์ค), เลื้อย เลีย กระทำสิ่งต่างๆ กับเสื้อผ้าในงานแสดงศิลปะของ โอลิเวียร์ เซลลาร์ด เมื่อปี 2015, ร่วมเขียนบทและกำกับ The Seasons in Quincy: Four Portraits of John Berger (2016) สารคดีสำรวจชีวิต จอห์น เบอร์เกอร์ ศิลปินและกวีชาวอังกฤษ, จับมือกับแบรนด์แฟชั่น Viktor & Rolf จัดโชว์ที่ให้นางแบบแต่งตัวทำผมเหมือนสวินตัน โดยเจ้าตัวอ่านบทกวี (แต่งเองด้วยนะ) ที่พูดถึงตัวตนอันจริงแท้เพียงหนึ่งเดียว 

ในด้านงานแสดง สวินตันก็ไปโผล่ทั้งในหนังอินดี้ฟอร์มเล็กจ้อยไปจนถึงใหญ่ยักษ์ เธอคือแม่มดขาวที่แฝงฝังตัวอยู่ในความทรงจำของเด็กต้นยุค 2000s หลายๆ คนจาก Chronicles of Narnia: The Lion, the Witch and the Wardrobe (2005) และในปีเดียวกันนั้นก็ยังเป็นเทพเกเบรียลใน Constantine (2005) หรือในอีกหลายปีให้หลัง เธอจะไปเป็น เอเชียน วัน ผู้แสนสุขุมในหนังบล็อคบัสเตอร์ทุนสร้างสองร้อยล้านเหรียญฯ Doctor Strange (2016) และไปอยู่ในหนังซอมบี้โป๊งเหน่งของ จิม จาร์มุช The Dead Don’t Die (2019)

เท่าๆ กันกับที่เธอไปอยู่ในหนังอิสระฟอร์มเล็ก รวมทั้ง Memoria (2021) หนังพูดภาษาต่างประเทศเรื่องแรกของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, แม่ผู้แหลกสลายจาก We Need to Talk About Kevin (2011) เรื่อยไปจน Young Adam (2003) หนังวาบหวามที่ทุ่มการแสดงกันสุดตัวทั้งสวินตันและ ยวน แม็กเกรเกอร์ ซึ่งแน่นอนว่าหากเราชั่งน้ำหนักจำนวนภาพยนตร์ที่เธอร่วมแสดงมาตลอดสามทศวรรษ น้ำหนักฝั่งหนังทุนต่ำน่าจะมีปริมาณมากกว่าอย่างไม่ต้องสงสัย

Caravaggio (1986, Derek Jarman)

เหตุผลหนึ่งอาจมาจากการที่หนังเรื่องแรกในชีวิตของเธอก็เป็นหนังอาร์ตทุนสร้างสี่แสนปอนด์ของคนทำหนังชาวอังกฤษ ดีเร็ค จาร์มาน Caravaggio (1986) ที่สร้างสายใยลึกล้ำระหว่างสวินตันกับโลกของการแสดง รวมทั้งกลายเป็นคนทำหนัง-นักแสดงคู่บุญด้วยกันต่อจากนั้นอีกเนิ่นนานจนจาร์มานเสียชีวิตในปี 1994 ก่อนหน้านั้น สวินตันนักเรียนในโรงเรียนประจำหรูหราในย่านเคนต์ ร่วมชั้นเรียนเดียวกับ ไดอานา สเปนเซอร์ (ในเวลาต่อมากลายเป็นเจ้าหญิงแห่งเวลส์) และเบื่อหน่ายเกลียดชังโรงเรียนประจำจับใจ ภายหลังเธอบอกว่า มันช่างเป็นสถานที่ที่ “โหดร้ายและไม่เหมาะแก่การเติบโตเลย ฉันไม่คิดว่าเด็กๆ จะได้รับประโยชน์ทางการศึกษาใดๆ จากที่แห่งนี้ได้” หลังจากเรียนจบ เธอใช้เวลาว่างสองปีก่อนเข้ามหาวิทยาลัยไปเป็นอาสาสมัครที่แอฟริกาใต้และเคนย่า หมกมุ่นกับการเป็นนักกวีเขียนบทกลอนแล้วจึงเข้ามาเป็นนักศึกษาสังคมศาสตร์และรัฐศาสตร์ที่หาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เพื่อจะพบว่าบรรยากาศในรั้วการศึกษาทำลายความฝันอยากเป็นนักเขียนของเธอจนย่อยยับ พร้อมกันนี้ สวินตันสมัครเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์และพบว่าตัวเองไปได้ไม่สวยกับแนวทางนี้เท่าไหร่ “หมอนั่นในพรรคเอาแต่บอกว่า ‘ที่เธอเกลียดการทำงานเพราะเธอถูกเอาเปรียบอยู่ต่างหากล่ะ’ ซึ่งฉันได้แต่เถียงว่า ‘เปล่าเว้ย กูแค่ขี้เกียจ'” สวินตันระลึกความหลัง (อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นเธอสมัครเข้าพรรคแรงงานสก็อตต์ ซึ่งเป็นพรรคฝั่งซ้ายในสก็อตแลนด์) 

อย่างไรก็ตาม การที่เธอตัดสินใจปล่อยมือจากความฝันอยากเป็นนักกวีก็ทำให้สวินตันมองหากิจกรรมอื่นๆ มาเยียวยาตัวเอง และมันเริ่มต้นจากการที่เพื่อนในมหาวิทยาลัยลากเธอไปดูละครเวที หลังจากนั้น สวินตันสมัครเข้าร่วมการแสดงด้วย ไม่กี่ปีให้หลังจากนั้น โชคชะตาพาเธอมาพบกับดีเร็ค จาร์มานใจกลางกรุงลอนดอน

“ราวๆ นั้นแหละ ฉันเริ่มงานแสดงครั้งแรกกับดีเร็ค จาร์มานเมื่อปี 1985 แล้วเราก็ร่วมงานด้วยกันมาอีกแปดปี ทำหนังด้วยกันเจ็ดเรื่อง เขาทำให้ฉันเรียนรู้การทำงานร่วมกันกับคนอื่น ทั้งบ่อยครั้งก็มักทำหนังโดยไม่มีสคริปต์ด้วย แต่แสดงจากประสบการณ์ แสดงอย่างไม่ได้วางแผนไว้หรือไม่ก็ไม่แสดงเลย” เธอเล่าถึงจาร์มานอย่างรักใคร่ “ดีเร็คคาดหวังให้ทุกคนที่ร่วมงานกับเขามีความเป็นเจ้าของของงานตัวเอง รับผิดชอบต่องานที่ตัวเองทำ และมันได้กลายเป็นประสบการณ์แรกๆ ในการทำงานแสดงของฉัน มันคือความรู้สึกของการเป็นเจ้าของงานที่ตัวเองทำ และทำให้ทุกครั้งที่รับงานอะไรมา ฉันจะพยายามใกล้ชิดเป็นเนื้อเดียวกันกับทุกองค์ประกอบในการทำงานสักอย่างให้ได้มากที่สุด”

คริสโตเฟอร์ ฮ็อบบ์ โปรดักชั่นดีไซเนอร์ของหนังเล่าถึงครั้งแรกที่สวินตันมาปรากฏตัวหน้ากล้องได้ “ตอนนั้นแหละ เป็นครั้งแรกเลยที่ดีเร็คหานักแสดงของเขาเจอในที่สุด เวลาอยู่ต่อหน้ากล้องแล้วเธอดูน่าเอ็นดูมาก วางตัวเป็น เข้าใจว่าเธอมีพื้นฐานมาจากการเติบโตในครอบครัวผู้ดีพอสมควร เลยรู้วิธีวางตัวต่างๆ”

Orlando (1992, Sally Potter)

ช่วงระยะแรกๆ สวินตันยังวนเวียนอยู่ในแวดวงคนทำหนังชาวอังกฤษ Edward II (1991) คือหนังเรื่องแรกที่ส่งสวินตันเข้าชิงรางวัลในฐานะนักแสดงและคว้าติดมือกลับมาได้จากเทศกาลหนังนานาชาติเวนิซ เธอรับบทเป็นเจ้าหญิงจากฝรั่งเศสที่ต้องเผชิญหน้ากับความคลั่งรักของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษ ขณะที่ปีต่อมาเธอรับบทเป็นขุนนางหนุ่มน้อยที่วันหนึ่งตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าตัวเองกลายเป็นผู้หญิง (!!) ในหนัง Orlando (1992, แซลลี พอตเตอร์) รวมทั้งรับบทเป็นสาวม่ายที่สวมรอยเป็นผัวที่ตายไปแล้วเพื่อหางานทำในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองจาก Man to Man (1992) ที่ทั้งสองเรื่องทำให้สวินตันถูกพูดถึงในฐานะนักแสดงที่มีลักษณะเป็นได้ทั้งสองเพศ (androgynous) ซึ่งในเวลาต่อมาได้กลายเป็นลักษณะที่ติดตัวเธอในชีวิตจริงด้วย

ว่าที่สวินตันจะเริ่มขยับมายังอุตสาหกรรมหนังกระแสหลักก็ล่วงเข้ามาอีกหลายปีหลังจากนั้น The Beach (2000, แดนนี บอยล์) หนังร่วมทุนสร้างสองสัญชาติระหว่างสหรัฐอเมริกา-สหราชอาณาจักรที่เธอรับบทเป็น ซัล ฮิปปี้สาวจากเกาะเล็กๆ ทางใต้ของประเทศไทยที่เป็นเสมือนศูนย์รวมผู้คน, Vanilla Sky (2001, แคเมอรอน โครว) กับบทพนักงานสาวหน้าตาเรียบๆ หากแต่ทุกการปรากฏตัวของเธอนั้นชวนฉงนจนเกือบจะเข้าขั้นคุกคาม 

The Chronicles of Narnia: The Lion, the Witch and the Wardrobe (2005, Andrew Adamson)

หากแต่นั่นเป็นช่วงเวลาก่อนหน้าการ ‘เปลี่ยนเกม’ ในสายงานของเธอ เพราะหลังจากนั้นอีกไม่กี่ปี เมื่อเธอตกลงรับบทเป็นแม่มดขาวในหนังทุนสร้าง 160 ล้านเหรียญฯ อย่าง Chronicles of Narnia ที่ดัดแปลงจากวรรณกรรมชื่อเดียวกันของ ซี เอส ลูอิส มันก็เบนเส้นทางการเป็นนักแสดงจากเกาะอังกฤษที่มักรับบทเป็นตัวละครนอกกระแสในจอ ให้กลายเป็นแม่มดประหลาดที่คุกคามเด็กๆ ด้วยการชายตามองเพียงครั้งเดียว พร้อมน้ำเสียงเยือกเย็นปราศจากอารมณ์ชวนขนหัวลุก ตลอดจนสายตาว่างเปล่าที่ไม่แสดงอารมณ์รักใคร่ยินดีต่อสิ่งใดในโลก สวินตันหยิบยกเอานาซีมาใช้เป็นต้นธารในการออกแบบการแสดงเป็นแม่มด “นอกจากมันจะเป็นหนังแฟนตาซีแล้วมันยังเป็นหนังประวัติศาสตร์ด้วยนี่นะ” เธอว่า “หนังพูดถึงเด็กๆ ที่พ่อถูกส่งไปรบกับพวกฟาสซิสม์ ฉันเลยคิดว่าแม่มดขาวควรจะดูเหมือนนาซีอยู่สักหน่อย”

และด้วยการแสดงอันชวนขนลุกในหนังที่ทำเงินระเบิดระเบ้อไปที่ 745 ล้านเหรียญฯ จากการออกฉายทั่วโลก สวินตันจึงขึ้นทำเนียบเป็นนักแสดงที่ได้รับการจดจำเป็นวงกว้าง และรับไม้ต่อด้วย Michael Clayton (2007, โทนี กิลรอย) ที่ส่งเธอคว้าออสการ์สาขาสมทบหญิงยอดเยี่ยมจากการแสดงอันเฉียบขาด (โดยเฉพาะฉากซ้อมพูดคนเดียวหน้ากระจกที่ยังถูกพูดถึงอยู่เนืองๆ เวลามีคนเอ่ยถึงหนังเรื่องนี้) สวินตันรับบทเป็นทนายของบริษัทที่ถูกฟ้องร้องเป็นจำนวนหลายพันล้านเหรียญฯ ภายใต้สีหน้าเยือกเย็นไม่ปรากฏอารมณ์สะทกสะท้านเพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าเธอเป็นมืออาชีพ เรายังสัมผัสได้ถึงความตึงเครียดระดับเส้นเลือดในสมองแทบแตกเมื่อกล้องจับจ้องไปยังแววตาเบิกโพลง กล้ามเนื้อมัดเล็กๆ บนใบหน้าที่กระตุกทุกครั้งเมื่อถูกอีกฝ่ายจี้จุด หรือการยืนหยัดต่อสู้จากสถานะความเป็นผู้หญิงในโลกนักกฎหมายของเธอด้วย 

ในเวลาต่อมา เธอพูดถึงความสำเร็จจากหนังทั้งสองเรื่องนี้เรียบๆ ว่า “มีอยู่สักสองเหตุการณ์เห็นจะได้ที่ทำให้คนรู้จักฉันในวงกว้าง ครั้งแรกคือตอนที่แสดงในหนังของดิสนีย์ และอีกครั้งคือเมื่อหนังเรื่องนั้นได้รับรางวัลเสียจนมันดังกลบตัวหนังเอง และมันไม่ใช่ทิศทางที่ฉันอยากเดินต่อไปในภายหน้าเลย จะพูดว่ามันเป็นเรื่องขัดขวางการดำเนินชีวิตก็คงไม่ถึงขั้นนั้น เพียงแค่มันไม่ใช่ทางที่ฉันตั้งใจจะเดินไปแต่แรก และไม่ใช่วิธีที่ฉันอยากใช้ชีวิตเลย

“ฉันมักควานหาตัวเองจากงานศิลปะอยู่เสมอ พร้อมกันนั้นก็พบว่าตัวเองมักขอโทษที่ไม่เคยเป็นนักแสดงที่เหมาะควรมากพอ ประหลาดแท้ ฉันขอโทษที่ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นมืออาชีพด้านนี้เลยแม้ว่าจะทำงานนี้มากว่า 30 ปีแล้วก็ตาม ฉันไม่ได้ตั้งใจจะเข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และยังรู้สึกเช่นนี้อยู่เสมอมา”

Memoria (2021, Apichatpong Weerasethakul)

หลังจากนั้น สวินตันยังวนเวียนอยู่ในอุตสาหกรรมฮอลลีวูดอยู่เนืองๆ ด้วยการรับบทในหนังตลกร้ายของพี่น้องโคเอน Burn After Reading (2008) และที่ถูกพูดถึงอย่างหนาหูในเวลาต่อมา We Need to Talk About Kevin (2011, ลินน์ แรมซีย์) จากการรับบทเป็นแม่ของนักเรียนหนุ่ม (เอซรา มิลเลอร์) ที่ลงมือสังหารหมู่เพื่อนนักเรียนด้วยกันกลางโรงยิม (เธอโคจรมาพบกับมิลเลอร์อีกครั้งในหนังบ้องตื้น Trainwreck ที่เธอแสดงเป็นบอสจอมเฮี้ยบ อันเป็นอีกบทบาทที่พิสูจน์ว่าเธอไม่ได้จำกัดตัวเองแค่ในหนังดราม่าระเบิดพลังเท่านั้น), Snowpiercer (2013, บองจุนโฮ) หนังร่วมทุนสร้างสองสัญชาติ (เกาหลีใต้-สาธารณรัฐเช็ก) ว่าด้วยขบวนรถไฟที่แบ่งกลุ่มคนออกเป็นชนชั้น และสวินตันรับบทเป็น เมสัน ผู้คุมกฎจอมเผด็จการกับฟันปลอมแสนอลังการที่เปลี่ยนรูปโฉมของเธอให้ดูประหลาดสุดขีด แต่ถ้าเทียบกับ The Grand Budapest Hotel (2014, เวส แอนเดอร์สัน) แล้ว บทเมสันก็ ‘เด็กๆ’ ไปเลยเพราะหนนี้สวินตันปรากฏตัวในฐานะหญิงชราที่แก่จนสั่นกระตุกไปทั้งตัวแต่ยังโหยหาสัมพันธ์สวาทจากพนักงานโรงแรมสุดเข้ม 

บทบาทของสวินตันกระจัดกระจาย เธอคือแม่ที่ทุกข์ตรมและต้องรับมือกับสิ่งที่ตามมาหลังลูกชายสังหารหมู่เพื่อนนักเรียนด้วยกัน เท่ากันกับที่เป็นจอมเวทย์หญิงสุดแกร่งผู้กุมความลับจักรวาล ราวกับว่าการแสดงคือจักรวาลที่ให้เธอได้ทดลองกลายร่างและกลายเป็นคนอื่นอย่างไม่มีขีดจำกัด

“จำได้ว่าฉันได้มีโอกาสได้รู้จักกับ ไมเคิล โพเวลล์ (คนทำหนังชาวอังกฤษ) ก่อนหน้าที่เขาจะเสียชีวิต ตอนนั้นฉันเพิ่งลงจากเครื่องไปนิวยอร์ก เขาถามฉันว่า ‘ตอนอยู่บนเครื่องบินนี่ดูหนังเรื่องอะไรล่ะ มันดีไหม’ ฉันตอบไปว่า ‘ไม่เลย ไม่ดีสักนิด ก็มันเรื่อง Batman'” สวินตันเล่า “แล้วเขาตอบกลับมา -และเป็นไม่กี่ครั้งที่มีคนพูดแบบนี้- ว่า ‘ผิดถนัด มันเป็นหนังที่ดี มันเป็นหนังที่ดีเลยล่ะ หนังเรื่องใดๆ ก็ตามที่สร้างโลกของมันขึ้นมาเองนั้นล้วนเป็นหนังดีด้วยกันทั้งสิ้น’ และจำได้ว่าฉันเก็บคำประโยคนี้ติดตัวกลับไป ปล่อยมันค่อยๆ แทรกซึมในเนื้อตัวอยู่นานหลายปีทีเดียว”

สวินตันยังเปล่งประกายในมิติอื่นๆ นอกเหนือจากงานแสดงและงานศิลปะ ในรอบสื่อภาพยนตร์ Memoria -หนังที่เธอรับบทเป็นหญิงสาวเดินทางไปยังประเทศโคลอมเบียและพบเสียงแว่วแปลกประหลาด- จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ เธอยืนเคียงคู่ร่วมกันกับเพื่อนนักแสดงชาวโคลอมเบีย ถือธงชาติระบุข้อความ S.O.S. เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดทำร้ายประชาชนที่ออกมาลงถนนประท้วง ในอีกวันต่อมา เธอปรากฏตัวในชุดเสื้อสีขาวจากของ Loewe แบรนด์สัญชาติสเปน ประดับด้วยสีเหลือง น้ำเงินและแดงซึ่งเป็นสีของธงชาติโคลอมเบีย

ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่สวินตันจะออกมาสนับสนุนการเรียกร้องของประชาชน หากวัดจากพื้นเพความสนใจที่เธอมีต่อโลกการเมืองด้วยการเข้าร่วมการเป็นคอมมิวนิสต์ในวัยเรียน ร่วมเป็นหนึ่งในพรรคแรงงาน ออกตัวเรียกร้องการเป็นเอกราชของสก็อตแลนด์ และสนับสนุนความหลากหลายทางเพศด้วยการยืนถือธงสีรุ้งหน้ามหาวิหารเซนต์บาซิล กรุงมอสโกว

เธอไม่เคยลังเลที่ต้องตอบคำถามหรืออธิบายแนวคิดเชิงการเมืองให้คนถามได้ฟัง แม้ในโมงยามที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหลังออกมาประกาศว่าเธอสนับสนุนการแยกตัวของสก็อตแลนด์ เพราะแม้ต้นตระกูลและเชื้อสายของเธอจะเป็นชาวสก็อตต์เลือดแท้ แต่ตัวสวินตันเองเกิดที่ลอนดอนและใช้ชีวิตในอังกฤษอยู่หลายปี การที่เธอเรียกร้องให้สก็อตแลนด์ปลดแอกตัวเองจากการปกครองของสหราชอาณาจักรจึงถูกมองว่าเป็นความเห็นจากคนที่ไม่ ‘สก็อต’ มากพอ

“ฉันไม่ค่อยเชื่อในคำว่าบริทิชเลย และรู้สึกว่ามันใช้ยากด้วย ทั้งยังไม่แน่ใจว่าจริงๆ มันหมายความว่าอย่างไรกันแน่ แต่คิดว่ามันมีนัยทางการเมืองแฝงอยู่อย่างแน่นอน” เธอบอก “ในเชิงการเมือง ฉันไม่เคยรู้สึกถึงความเป็นอังกฤษ ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนอังกฤษเลยแม้แต่ครั้งเดียว และยินดีจะนิยามตัวเองว่าเป็นชาวสก็อตต์มากกว่า ซึ่งเช่นเดียวกับอีกหลายๆ คน ฉันรู้สึกว่าสก็อตแลนด์เป็นประเทศที่เป็นเอกราชตั้งแต่แรกอยู่แล้ว”

ช่วงที่สวินตันอายุครบเลือกตั้งได้เป็นครั้งแรก คือช่วงเวลาเดียวกับการเถลิงอำนาจของ มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ นักการเมืองฝั่งขวาขึ้นเถลิงอำนาจจนทำให้เหล่าแรงงานในอังกฤษเดือดเป็นไฟ สวินตันเองก็เช่นกัน “ตอนนั้นคนรุ่นเดียวกันกับฉันในสหราชอาณาจักรโกรธจัดเลยทีเดียว เราเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่ารัฐพี่เลี้ยง (nanny state) แล้วแธตเชอร์ก็ทำตัวแบบนั้นจริงๆ เธอมักมีท่าทีแบบ ‘ประชาชนอย่างพวกคุณไม่รู้หรอกว่าตัวเองกำลังต้องการอะไร เอาเป็นว่าฉันจะเลือกให้แล้วกัน’ อยู่เสมอเลย” สวินตันเล่า (ภายหลัง เธอบอกว่าใช้บุคลิกแบบแธตเชอร์มาแสดงในบทผู้ปกครองจอมเผด็จการใน Snowpiercer ด้วย) 

หากมองจากภาพรวม -ไม่ว่าจะในเชิงงานศิลปะหรือทัศนคติทางความคิดต่างๆ- เราคงเห็นการเชื่อมโยงตัวเองเป็นหนึ่งเดียวกับสังคมและโลกของสวินตัน เธอคือหนึ่งในนักแสดงที่โลดแล่นอยู่ในหนังอิสระเรื่องเล็กจิ๋วพร้อมกันกับปรากฏตัวอยู่ในหนังทุนสร้างร้อยล้านเหรียญฯ เช่นเดียวกันกับเป็นส่วนหนึ่งของงานแสดงศิลปะในแกลลอรี่ต่างๆ ซึ่งล้วนเรียกร้องส่วนเสี้ยวจากตัวตนของเธอไม่มากก็น้อย ซึ่งนี่เองที่ทำให้ทุกการปรากฏตัวของเธอในโลกของศิลปะไม่ว่าในด้านใด เป็นที่น่าจับตามองและเป็นที่รักของเราเสมอ

RELATED ARTICLES