เปโดร อัลโมโดวาร์ ศาสนา มารดา และประชาธิปไตย

งานออสการ์ครั้งที่ 72 เพเนโลเป ครูซ ขึ้นมาประกาศรางวัลสาขาภาพยนตร์ที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษยอดเยี่ยมคู่กันกับ อันโตนิโอ บันเดรัส ไม่กี่อึดใจหลังจากแกะซองกระดาษประกาศผล เธอก็กรีดร้องใส่ไมโครโฟนว่า “เปโดร!!” แล้วกระโดดตัวลอย ข้างๆ กันนั้นบันเดรัสเอ่ยชื่อ “All About My Mother” อันเป็นหนังที่ได้รับรางวัลนี้ 

นั่นกลายเป็นหนึ่งในภาพจำของ เปโดร อัลโมโดวาร์ (รวมทั้งเสียงกรี๊ดดีใจอย่างเก็บไม่อยู่ของครูซและบันเดรัส -สองนักแสดงคู่บุญของอัลโมโดวาร์มาตั้งแต่เริ่มทำหนังยุค 80s) คนทำหนังชาวสเปนผู้ถ่ายทอดเรื่องราวของมนุษย์ตัวเล็กตัวน้อย ความเป็นแม่และตัณหาชวนหน้ามืดไปจนถึงความซ่องแตกได้อย่างเปี่ยมเสน่ห์และบ้าพลัง นับตั้งแต่แจ้งเกิดด้วยฉาก ‘ฉี่กรอกปาก’ (!!), แม่ชีที่ฉีดเฮโรอีนเข้าเส้นเลือดตัวเองด้วยสีหน้าเปี่ยมสุขยิ่งกว่าได้เข้าเฝ้าพระผู้เป็นเจ้า, หญิงสาวที่ช่วยตัวเองด้วยการให้นักประดาน้ำของเล่นแหวกว่ายมายังจิ๋ม และเรื่อยมาจนถึงการสำรวจภาวะความเป็นแม่และเพศอันหลากหลายใน All About My Mother (1999) 

เอ่ยแต่ละฉากในหนังลำดับแรกๆ ที่อัลโมโดวาร์กำกับ คงพอเข้าใจได้ว่าทำไมชาวสเปนบางส่วนไปจนถึงเหล่านักวิจารณ์จึงวิพากษ์วิจารณ์ว่าหนังของเขาหยาบคาย ปราศจากศีลธรรม มิหนำซ้ำยังมีท่าทีท้าทายพระเจ้าอีกต่างหาก อันจะเห็นได้จากหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญในหนังของเขาคือภาพของบาทหลวง แม่ชี หรือมนุษย์ผู้มีสถานะทางสังคมได้เปรียบคนอื่น ซึ่งเขามักหยิบมาสำรวจจนปรุโปร่งกลายเป็นแม่ชีพี้ยา ครูสอนวรรณกรรมลวงเด็กผู้ชายไปล่วงละเมิดทางเพศ ที่เป็นเสมือน ‘ตบหน้ากาก’ ทางชนชั้นและศีลธรรมที่คนเหล่านี้สวมใส่อยู่กลายๆ

แต่ถามว่าตัวอัลโมโดวาร์นั้นห่างไกลศาสนาไหม อันที่จริงแล้วต้องบอกว่าตัวอัลโมโดวาร์นั้น ‘แนบชิด’ เป็นหนึ่งเดียวกับศาสนามากกว่าหลายๆ คนเสียอีก 

และก็ศาสนานี่เอง ที่สร้างบาดแผลและความชอกช้ำจนเป็นแรงผลักให้เด็กชายอัลโมโดวาร์ในวันนั้น เติบโตมาเป็นคนทำหนังเควียร์จัดจ้านในวันนี้ ที่หยิบเอาทุกองค์ประกอบความ ‘ปลอมเปลือก’ ในนามของความดีและศาสนามาขยำจนเละไม่เหลือชิ้นดีในหนังสารพัดเรื่องของเขา

“ผมถูกส่งไปเรียนที่โรงเรียนประจำเคร่งศาสนาตั้งแต่เก้าขวบได้” เขาเล่าถึงช่วงที่ถูกส่งไปเรียนที่แคว้นเอซเตรมาดูรา, ตะวันตกของสเปน จากพ่อแม่ผู้หวังว่าสักวันจะได้เห็นลูกชายเป็นนักบวชของบ้าน “ตอนนั้นผมก็เริ่มถามคำถามที่พวกคุณใช้ถามตัวเองทุกเมื่อเชื่อวันนี่แหละ ว่าพวกเรามาจากไหน เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร และตัดสินใจจะให้นักบวชกับศาสนาเป็นผู้มอบคำตอบให้ผม แล้วไงรู้ไหม ผมรอคำตอบอยู่สักปีได้มั้งแต่ก็ไม่เห็นได้อะไรกลับมา 

“ผมว่าพระเจ้าคงเลือกคนที่พระองค์จะมอบโอกาสให้ได้ศรัทธาละมั้ง -แล้วพระองค์ก็แค่ไม่ได้เลือกผมน่ะ”

โรงเรียนประจำที่อัลโมโดวาร์ถูกส่งไปเรียนนั้นไม่เพียงทำให้เขาสูญเสียศรัทธาต่อพระเจ้าเท่านั้น แต่ยังทำให้เขาต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์รุนแรงและสร้างบาดแผลทางจิตใจให้เหล่าเด็กผู้ชายในชั้นเรียน “ในโรงเรียนนี่มีการคุกคามกันบ่อยครั้งมาก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กๆ จำได้ว่าเด็กอย่างน้อย 20 คนถูกล่วงละเมิด พวกนั้นพยายามมายุ่มย่ามกับผมด้วยนะแต่ผมหนีเอาตัวรอดออกมาได้ตลอด อย่างพวกนักบวชที่ชอบเอามือมาวางบนมือผมตอนอยู่ในสนามเด็กเล่น แล้วให้ผมจูบมือพวกเขา แต่ผมก็วิ่งหนีออกมาเสมอ ตอนนั้นเรากลัวกันมากเลย” แล้วเชื่อไหม ไอ้ข่าวลือว่ามีการล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียนเนี่ยมันหึ่งอยู่ตลอดแหละ เหยื่อก็มีให้เห็นตั้งมากตั้งมาย แต่คณะซาเลเซียน (คณะนักบวชคาทอลิกชาย) ก็หาทางยื่นมือเข้ามาปิดปากเรื่องพวกนี้จนได้ แล้วย้ายไอ้พวกคนทำผิดพวกนั้นไปโรงเรียนประจำสำหรับเด็กวัยรุ่นแทน แบบไม่ต้องเจอบทลงโทษอะไรสักนิด”

Dark Habits (1983)

ความหลัง -ที่อาจหมายรวมถึงบาดแผลและความแค้นเคืองจากนักบวช ครูและผู้ใหญ่ต่างๆ- ถูกหยิบมาเล่าใน Dark Habits (1983) เมื่อนักร้องไนต์คลับ โยลันดา (คริสตินา ซานเชส ปาสกูอัล -ผู้โปรยปรายจริตจะก้านได้อย่างเฉิดฉาย) พบว่าคนรักหนุ่มชักตายคาเฮโรอีนที่เธอมอบให้ เลยหนีไปกบดานในสำนักนางชีเล็กๆ ซึ่งให้การช่วยเหลือและที่พักพิงแก่หญิงที่ตกระกำลำบาก แม้ระยะหลังจะเผชิญวิกฤติการเงินอย่างหนักจากการถูกตัดงบก็ตาม โดยเธอได้พบกับนางชีผู้เลี้ยงเสือเบงกอลราวกับลูกในไส้ (แถมยังตีกลองบองโกให้มันฟังด้วยนะ), แม่ชีที่เคยพลั้งมือฆ่าคนจะรอดคุกมาได้ด้วยความช่วยเหลือจากคนในโบสถ์ ตลอดจนแม่ชีเลสเบี้ยนที่ติดยาอย่างหนัก และอาศัยงานการกุศลต่างๆ เพื่อพบปะหญิงสาวผู้ยากไร้ ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะตกหลุมรักโยลันดาและกอดคอกันดำดิ่งลงไปในโลกอันเวิ้งว้างของโคเคนและเฮโรอีน

และแม้อัลโมโดวาร์จะออกตัวว่าตอนทำหนังเรื่องนี้ “ก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีอุปสรรคอะไรเท่าไหร่นะ ไม่มีใครมาฉุนหนังของผม แค่อาจจะรู้สึกว่ามันเร้าอารมณ์อยู่บ้างเท่านั้นแหละ” แต่เอาเข้าจริง ภายหลังเมื่อมันออกฉายก็มีคน ‘ฉุน’ กับเรื่องนางชีเลสเบี้ยนและเสพยา -ทั้งฉีดเข้าเส้นและซี้ดผงให้เห็นกันเต็มตา- ไม่น้อย เทศกาลหนังเมืองคานส์ปีนั้นก็ปฏิเสธจะจัดฉาย Dark Habits อันเนื่องมาจากประเด็นเรื่องศาสนาและศีลธรรม หรือเมื่อมันได้ไปฉายรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลหนังนานาชาติเวนิซ นักวิจารณ์หลายคนก็ชี้ว่าหนังเรื่องนี้มีเนื้อหาต่อต้านคาทอลิกอย่างเห็นได้ชัด ทั้งหลายคนยังไม่พอใจท่าทีของหนังที่จับจ้องไปยังแม่ชีและศาสนาด้วย

“เอาจริง ยุค 80s ในสเปนคือยุคของความใจกว้าง ความงามและเสรีภาพโดยแท้ ซึ่งหาไม่พบในสเปนยุคนี้อีกแล้วล่ะ” อัลโมโดวาร์บอก และอาจจะกล่าวได้ว่า หากเราไล่เลียงดูต้นธารการทำหนังของเขา หมุดหมายสำคัญของอัลโมโดวาร์ก็เริ่มในยุค 80s อันเป็นยุคทองของวัฒนธรรมต่อต้าน (Counter Culture) ในสเปนหรือที่เรียกว่ายุค The Madrilenian Scene ซึ่งส่วนใหญ่ระเบิดตัวขึ้นในกรุงมาดริดหลังจอมเผด็จการ ฟรานซิสโก ฟรังโก เสียชีวิตลงในปี 1975 และสเปนก็ได้ฤกษ์เปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยภายหลังตกอยู่ใต้เงาเผด็จการนานร่วมสี่ทศวรรษ (แม้กองทัพพยายามหวนกลับมายึดอำนาจจากรัฐบาลประชาธิปไตยอีกครั้งในปี 1981 แต่ก็ล้มเหลวในที่สุด) พร้อมบรรยากาศการปลดแอกกฎเกณฑ์ที่รัฐเผด็จการของฟรังโกขีดไว้ -ไม่ว่าจะห้ามผู้หญิงออกจากบ้านในช่วงค่ำหรือการกำหนดให้ความรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องผิดกฎหมาย- ก็ระเบิดออกมาเป็นงานศิลปะสารพัดชนิด ทั้งดนตรี, กราฟิตี้, วรรณกรรมและภาพยนตร์ สังคมที่เริ่มเปิดเผย สนทนาเรื่องราวทางเพศอย่างตรงไปตรงมา การเติบโตของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ตลอดจนการใช้ยาเสพติดที่แพร่ระบาดไปทั่วในเมืองใหญ่ๆ โดยเฉพาะมาดริด 

Pepi, Luci, Bom and Other Girls Like Mom (1980)

และนั่นก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หนังยุคแรกๆ ของอัลโมโดวาร์เล่าเรื่องราวชวนหวาดเสียว ท้าทายขนบและศีลธรรมต่างๆ ในสังคม ไม่ว่าจะ Dark Habits เองก็ดี -ทั้งประเด็นครูกับการล่วงละเมิดทางเพศนักเรียนยังถูกหยิบมาเล่าอย่างโฉ่งฉ่างอีกครั้งใน Bad Education (2004)– หรือ Pepi, Luci, Bom and Other Girls Like Mom (1980) หนังแจ้งเกิดกับเรื่องราวชวนอ้าปากค้างของแก๊งเพื่อนสาวสามนาง ที่คนหนึ่งเป็นสาวหัวสมัยใหม่ อีกคนเป็นแม่บ้าขี้อายผู้เป็นมาโซคิสม์และหวังได้คู่นอนที่จะมอบเซ็กซ์อันเผ็ดร้อนให้แก่เธอได้ กับนักร้องพังค์ร็อคเลสเบี้ยน เมื่อเพื่อนคนหนึ่งในกลุ่มถูกนายตำรวจ -ผู้แสนจะเป็นภาพแทนของความเป็นชายและรัฐในเรื่อง- ข่มขืน พวกเธอจึงร่วมมือกันเอาคืนตำรวจนายนี้ เพียงเพื่อจะพบว่าไปกระทืบน้องชายฝาแฝดของเขาเข้า! ความที่ตัวหนังเต็มไปด้วยคำหยาบแถมยังเพียบไปด้วยฉากเซอร์แตกมากมายก็ทำให้คนดูหลายคนไม่ปลื้มมันมากนัก แม้เมื่อถอยออกมามองจะพบว่า ตัวหนังเก็บบรรยากาศความรุ่งเรืองของวัฒนธรรมต่อต้านในสเปนที่ค่อยๆ เรืองอำนาจขึ้นมาหลังฟรังโกตายได้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นดนตรีพังค์ร็อค (ซึ่งเพิ่งจะงอกเงยในยุคนั้น) ผู้หญิง ความหลากหลายทางเพศและเรื่องเซ็กซ์อันแสนจะเดือดดาล 

Labyrinth of Passion (1982)

เช่นเดียวกันกับ Labyrinth of Passion (1982) อันเป็นหนังเรื่องแรกที่บันเดรัสได้ร่วมงานกับอัลโมโดวาร์ เล่าเรื่องชวนหัวของนักร้องชื่อดังที่เสพติดเซ็กซ์ ไปตกหลุมรักเจ้าชายเกย์จากประเทศลึกลับแห่งหนึ่งแถบตะวันออกกลางซึ่งถูกผู้ก่อการร้ายตามล่าเอาชีวิตอยู่ ก่อนที่เรื่องจะเปิดเปิงเมื่อผู้ร้ายหนุ่มก็ดันไปตกหลุมรักเจ้าชายด้วยอีกราย เรื่องราวของสามคนสามคมจึงชวนปวดเศียรเวียนเกล้าอยู่ระหว่างเซ็กซ์ ความรักและการเอาชีวิต และ Matador (1986) หนังฉาวระเบิดระเบ้อจนคว้าเรต NC-17 ไปครอง เมื่อมันพูดถึงเซ็กซ์ -ทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศ- อย่างร้อนแรง (กับฉาก ‘ขย่ม’ อันบ้าคลั่ง) รวมทั้งศาสนาและพิธีมิสซาในคาทอลิก เมื่อนักสู้วัวกระทิงที่บาดเจ็บหนักจนต้องปลดระวางตัวเอง มาสอนวิชาสู้วัวกระทิงให้คนหนุ่มรุ่นใหม่ๆ ที่หนึ่งในนั้นเป็นชายที่มักฝันเห็นภาพหลอนว่ามีผู้หญิงสังหารผู้ชายด้วยปิ่นปักผมขณะร่วมรักด้วยท่วงท่าราวกับมาธาดอร์ด้วยหอก ก่อนที่เรื่องราวจะเลยเถิดไปถึงการข่มขืนและการฆาตกรรมอันลึกลับ

“ผมเริ่มทำหนังในยุค 80s และมันเป็นช่วงเวลาที่ผมได้เยียวยาวัยเยาว์ของตัวเอง รวมทั้งประสบการณ์ของการได้ซึมซับบรรยากาศการมีเสรีภาพที่ระเบิดตัวในสเปนกับในมาดริดหลังฟรังโกตาย และประชาธิปไตยมาเยือน” อัลโมโดวาร์เล่า “หนังหลายเรื่องของผมในยุคหลังๆ อย่าง The Skin I Live In (2011), Broken Embraces (2009) หรือ Volver (2006) ล้วนอุทิศให้แก่ช่วงเวลาในยุค 80s ของสเปนทั้งสิ้น”

หนังหลายเรื่องของเขาในยุคนั้น -อันที่จริงลากยาวมาถึงยุค 90s- ล้วนแล้วแต่พูดเรื่องเซ็กซ์ เรื่องผู้หญิง เรื่องความฉาวและตัณหาเดือดดาลของมนุษย์ โดยมีฉากหลังเป็นสเปนและมาดริดในยุคที่เปลี่ยนผ่านมายังประชาธิปไตยและข้ามไปไม่พูดเรื่องยุคสมัยเผด็จการ “ตอนที่เริ่มทำหนัง ผมก็ทำหนังราวกับว่าฟรังโกไม่เคยมีตัวตนมาก่อน มันเป็นวิธีแก้แค้นแบบของผมที่จะใช้ต่อต้านลัทธิฟรังโก (Francoism) เองแหละ ผมไม่แม้กระทั่งพูดถึงความทรงจำในยุคสมัยของฟรังโกด้วยซ้ำไป แต่ผมก็ย้ำเตือนตัวเองผ่านหนังเสมอว่าในอดีตนั้นมันมีความดำมืดอยู่ และอดีตนั้นก็เพิ่งจะผ่านพ้นไปเมื่อไม่นานมานี้เอง”

“เป้าประสงค์ของผมคือการย้ำทั้งตัวเองและชาวสเปนว่า เราไม่อาจหวนกลับไปยังช่วงเวลาแห่งความมืดมิดเช่นนั้นได้อีกเพราะเราต่างสูญเสียความรู้สึกของความหวาดกลัวนั้นไปแล้ว ความทรงจำแรกสุดที่ผมมีต่อลัทธิฟรังโกคือความกลัวนี่แหละ เป็นความกลัวแบบคาฟคาเอสก์ (Kafkaesque -ดัดแปลงมาจากแนวการเขียนของ ฟรันซ์ คาฟคา นักเขียนชาวเยอรมัน มีนัยถึงความสิ้นหวัง จนตรอกและมืดมน) ซึ่งอิงแอบอยู่ในหัวของผม มันคือความกลัวต่อทุกสิ่งอย่าง ซึ่งปัจจุบันความกลัวลักษณะนี้มันไม่เหลืออยู่ในบรรยากาศแล้วและส่งผลให้ผมรู้สึกปลอดภัย ขณะที่ผู้คนเองก็เติบโต มีวุฒิภาวะมากขึ้น”

และอีกเช่นกัน ตลอดมาและตลอดไปในหนังของอัลโมโดวาร์ องค์ประกอบสำคัญซึ่งจะขาดเสียไม่ได้คือ ‘ผู้หญิง’ เป็นแม่ เป็นเมีย เป็นคนที่เพิ่งรู้ว่าผัวกำลังจะตกงานเลยต้องหาทางรับมือ 

“ตัวละครหลักในหนังของผมส่วนใหญ่ก็เป็นผู้หญิงทั้งนั้นแหละ แถมยังพูดเรื่องความเป็นแม่ด้วย ตัวละครของผมล้วนเป็นเหล่าแม่ๆ ทั้งนั้น” เขาว่า “และผมมั่นใจด้วยว่า ‘แม่ๆ’ ในหนังของผมนั้นแตกต่างกันไปทุกเรื่องอย่างแน่นอน” (อย่างไรก็ตาม เขาเคยกล่าวว่าฮอลลีวูดนั้นไม่ขยันเขียนบทดีๆ ให้ตัวละครหญิงเลย “ฮอลลีวูดเนี่ยน้า เสียโอกาสไปมหาศาลแท้ๆ พวกนั้นไม่ยักกะสร้างบทดีๆ ให้ผู้หญิงทุกช่วงวัย เพราะไม่ค่อยมีบทดีๆ ที่พูดถึงแม่ พูดถึงแฟน พูดถึงลูกสาว พูดถึงน้องสะใภ้เลย”)

ด้านหนึ่ง อัลโมโดวาร์มักเล่าเรื่อง -และสำรวจ- ชีวิตตัวเองผ่านหนังหลายต่อหลายเรื่องของเขา และ ‘แม่’ ก็มักเป็นองค์ประกอบหลักในฐานะผู้หญิงที่เขาผูกพันมาค่อนชีวิต อัลโมโดวาร์เล่าว่า ภายหลังจากคุณตาของเขาตายจากไปก่อนช่วงที่เขาจะเกิด แม่ก็สวมชุดไว้ทุกข์ยาวนาน 35 ปี รวมทั้งวันที่หล่อนให้กำเนิดเขาด้วย 

High Heels (1991)

และนั่นก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ‘แม่ๆ’ ในหนังของเขาแต่งกายด้วยสีแดงเพลิงอันแสนจะฉูดฉาดและดึงดูดสายตา ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่ใน High Heels (1991) ผู้ห่างจากลูกสาวไปร่วม 15 ปีและกลับมาเจอกันอีกทีก็พบว่าลูกดันไปมีเอี่ยวกับคดีฆาตกรรม รวมทั้ง All About My Mother (1999) ที่คว้ารางวัลหนังพูดภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมของออสการ์ เล่าเรื่องราวของ มานูเอลา (เซซีเลีย โรธ -กับการแสดงอันแสนจะเอียดหมดจดในทุกฉาก) แม่ผู้หัวใจสลายเมื่อพบว่าลูกชายประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตก่อนหน้าวันเกิดอายุครบ 17 ปีเพียงวันเดียวเพราะวิ่งไล่ตามขอลายเซ็น โรโฆ (มาริซา ปาเรเดส) นักแสดงละครเวทีชื่อดังที่ชีวิตวุ่นวายอยู่กับคู่รักเลสเบี้ยนติดยาที่อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ภายหลังลูกชายเสียชีวิต มานูเอลาตัดสินใจเยียวยาตัวเองด้วยการย้ายออกจากที่พักแล้วบินไปต่างเมืองเพื่อตามหา โลลา อดีตสามีผู้เป็นพ่อของลูกชาย แต่กลับพบเรื่องบังเอิญเมื่อได้เจอ โรซา (เพเนโลเป ครูซ) หญิงสาวที่ตั้งท้องกับโลลาทั้งยังได้รับเชื้อ HIV ด้วย ภารกิจตามหาตัวอดีตสามีของเธอจึงต้องชะงักลงเพื่อดูแลโรซา ทั้งยังพาให้เธอได้สานสัมพันธ์กับโรโฆ -ผู้ที่ลึกๆ แล้วมานูเอลาเชื่อว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ลูกชายต้องจากเธอไป

All About My Mother (1999)

All About My Mother นับเป็นหนังที่มีท่วงทำนองผิดแปลกไปจากบรรดาหนังของอัลโมโดวาร์ในยุค 80s-90s กล่าวคือมันไม่ได้มีฉากเซ็กซ์โฉ่งฉ่าง ไม่ได้มีคำผรุสวาทหนาหู หากแต่เขายังคงลายเส้นไว้ด้วยการเล่าเรื่องของผู้หญิง ของเกย์และเลสเบี้ยนผ่านสีแดงเพลิงอันเร่าร้อนและชวนเจ็บปวด -และ ‘ห้องครัว’ อันเป็นเสมือนพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในหนังของอัลโมโดวาร์แทบทุกเรื่อง

“มันเหมือนว่าเวลาผู้หญิงจะไม่พูดโกหกใส่กันเวลาอยู่ในห้องแต่งตัว ห้องน้ำหรือห้องครัวนะ ประมาณว่าบนพื้นที่เหล่านี้ เธอต้องพูดแต่ความจริงเท่านั้นนะ ผมเองไม่รู้หรอกว่าทำไม” เขาว่า “เหมือนเวลาไปงานปาร์ตี้น่ะ พวกสาวๆ จะไปอยู่ในห้องครัวแล้วพูดเรื่องผัวตัวเอง คงเพราะเมาและจริงใจกว่าปกตินิดหน่อยด้วย”

อัลโมโดวาร์มักเล่าถึงแม่ตัวเอง ที่ครั้งหนึ่งอยากให้เขาเป็นนักบวชจึงจับเขาส่งไปเรียนในโรงเรียนประจำเคร่งศาสนาของเมือง ปรารถนาให้เขาอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ แต่งงาน มีครอบครัวและอาจจะทำงานเป็นนักงานธนาคารสักแห่ง เพื่อจะพบว่าลูกชายเกลียดชีวิตเช่นนั้นจนกระเสือกกระสนมายังเมืองใหญ่อย่างมาดริดในวัย 18 ปี “ผมจะติดปีกบินไปทั่วมาดริดเลยก็ยังได้นะ ตอนนั้นน่ะ” เขาว่า “แต่เอาเข้าจริง สิ่งแรกที่ผมทำตอนไปถึงคือโทรหาแม่ และสิ่งแรกอีกเหมือนกันที่แม่ถามคือ ผมหนาวไหม ใส่เสื้อสเวตเตอร์หรือยัง” 

The Flower of My Secret (1995)

เรื่องราวของแม่นี้ถูกหยิบมาสำรวจอย่างละเอียดใน The Flower of My Secret (1995) เล่าถึงนักเขียนหญิงที่ประสบความสำเร็จสุดขีดในด้านหน้าที่การงาน แต่ชีวิตสมรสกับลงเอยด้วยหายนะจนส่งผลให้ตัวเธอเองไม่อาจฝืนเขียนเรื่องโรแมนติกขายฝันใดๆ ต่อไปได้ ดังนั้น เพื่อจะหวนกลับไป ‘สัมผัส’ ความปรีดาในชีวิตอีกหน เธอจึงกัดฝันไปเยือนความสัมพันธ์ที่เคยผ่านเข้ามาในชีวิต ทั้งกับสามี เพื่อนสนิท น้องสาวและคุณแม่ -อันเป็นตัวละครที่อัลโมโดวาร์วาดไว้ว่าใกล้เคียงกับ ‘แม่’ ของเขามากที่สุด

“นี่น่ะเป็นหนังที่ใกล้กับแม่ของผมที่ผมวาดภาพไว้ในภาพยนตร์ได้มากที่สุดแล้ว” เขาว่า “สิ่งที่ตัวละครทำบางฉากบางตอนในหนังก็เป็นเรื่องที่แม่ผมเคยทำในชีวิตจริง ว่าไปแม่ก็ไม่เคยดูหนังผมเลยสักเรื่อง เพราะแม่รู้ตัวดีว่าคงไม่ชอบแน่ๆ เราเลยไม่เคยคุยถึงเรื่องนี้ด้วยกันเลย แม้ว่าแม่จะยินดีที่เห็นผมประสบความสำเร็จเอามากๆ ก็ตาม”

อัลโมโดวาร์กลับสำรวจเรื่องราวของแม่และวัยเด็กของเขาอีกครั้งใน Pain and Glory (2019) หนังที่พูดถึง ซัลวาดอร์ (บันเดรัส -ชิงนำชายยอดเยี่ยมของออสการ์) คนทำหนังชาวสเปนที่มองย้อนกลับไปยังชีวิต ความรุ่งโรจน์ในอดีตของตนผ่านสังขารอันเสื่อมโทรมและรวดร้าว ด้านหนึ่งมันแทบจะเป็นหนังอัตชีวประวัติของอัลโมโดวาร์เอง ทั้งในแง่ช่วงชีวิตวัยหนึ่งและในแง่ความป่วยไข้จากอาการปวดหลังซึ่งส่งผลให้เขาทำหนังไม่ได้อยู่พักใหญ่ (อย่างไรก็ตาม อัลโมโดวาร์จะปฏิเสธว่าตัวละครซัลวาดอร์ไม่ใช่เขาสักหน่อย แม้บันเดรัสจะสวมเสื้อผ้าแบบเดียวกันกับเขาเข้าฉากก็ตาม)

มีอยู่ฉากหนึ่ง เมื่อซัลวาดอร์กระซิบบอกแม่ผู้ใกล้จะจากไปของเขาว่า “ผมทำให้แม่ผิดหวังเพียงเพราะผมเป็นตัวเอง” และเป็นฉากที่ทำอัลโมโดวาร์น้ำตาทะลักขณะกำกับ

“ก็นั่นแหละ อย่างที่บอกว่าผมไม่ได้เป็นลูกแบบที่พ่อแม่อยากให้เป็นเท่าไหร่ แน่แท้ว่าพวกเขาน่ะรักผมนะ …แต่เรื่องที่ผมไม่ได้เป็นแบบที่พวกเขาต้องการนั้นก็เป็นเรื่องที่ผมรู้อยู่แก่ใจตั้งแต่อายุยังน้อยแล้วล่ะ”

แม่ของอัลโมโดวาร์เสียชีวิตในปี 1999 ก่อนหน้านั้นเธอจัดแจงวางแผนงานศพของตัวเองอย่างละเอียด นับตั้งแต่พิธีกรรมจนชุดที่จะสวม คำสั่งเสียไม่กี่อย่างที่มีต่อลูกๆ คือ หากว่าสัปเหร่อผูกเท้าของเธอก่อนนำร่างวางลงในโลงศพ (โดยทั่วไปทำเพื่อจัดระเบียบร่างกายผู้ตายในโลง) ขอให้ลูกๆ แก้มัดนั้นด้วยเพื่อที่เธอจะได้จากออกวิ่งได้อย่างเสรีในสัมปรายภพ

Pain and Glory (2019)

อัลโมโดวาร์ร้อยเรียงห้วงเวลาเหล่านี้ลงใน Pain and Glory เพื่อจะพบว่าทำให้ตัวเองน้ำตาร่วงอีกครั้ง “ตอนที่เธอบอกว่าอยากจะเป็นอย่างไรตอนอยู่ในโลงศพนั้นน่ะเป็นเรื่องจริงมากๆ ผมร้องไห้ตลอดแหละพอดูมาถึงตอนที่เธอบอกว่าอยากออกเดินทางไปยังที่แห่งไหน และขอให้ลูกชายถอดรองเท้าให้เธอหน่อย คือเธอปฏิเสธที่จะทำตามวัฒนธรรมและพิธีกรรมการฝังศพน่ะ”

ด้านหนึ่ง อัลโมโดวาร์จึงเป็นผู้กำกับที่ได้รับการขนานนามว่าทำหนังที่แสนจะ ‘ส่วนตัว’ ให้เป็น ‘สากล’ ได้อย่างที่สุด ผ่านรายละเอียดและสิ่งละพันอันละน้อยในชีวิตที่กอรปสร้างอยู่ในหนังของเขา หากแต่ความมีหัวใจของมันนั้นก็แตะสัมผัสผู้คนไปได้ทั่วทั้งโลก “หนังของผมน่ะแสนจะสเป๊น-สเปน แต่อีกด้าน มันก็แสนจะส่วนตัวเหลือเกิน ดังนั้น คุณจะเอาหนังของผมไปวัดความเป็นสเปนไม่ได้หรอก ผมเป็นคนสร้างหนังพวกนี้ก็จริง แต่ก็ไม่ได้สร้างมันขึ้นมาโดดๆ เสียเมื่อไหร่ล่ะ ก็เจ้าอารมณ์ขันขื่นๆ นี่แหละที่เป็นรากของวัฒนธรรมสเปนแท้ๆ ตั้งแต่งานวรรณกรรมยันภาพวาดเลย”

“พูดจริงนะ ภาพยนตร์สเปนน่ะไม่ได้เป็นที่รู้จักเท่าไหร่หรอก ผมแค่โชคดีที่เข้ามาในช่วงที่ประเทศกำลังเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญพอดี และเป็นครั้งแรกทีเดียว -อย่างน้อยก็ตั้งแต่ที่ผมลืมตามีชีวิตขึ้นมาน่ะนะ- ที่โลกให้ความสนใจว่าเกิดอะไรขึ้นในดินแดนแห่งนี้ 

“และภายหลังเราเปลี่ยนมาสู่ระบอบประชาธิปไตย เกิดเรื่องราวมากมายในมาดริด ชาวต่างชาติก็พากันพูดว่านี่มันช่างเป็นเมืองที่สนุกสนาน เปี่ยมสีสันและปราศจากยาเสพติด อะไรต่อมิอะไร ในช่วงเวลาที่ผู้คนสนใจใคร่รู้ในตัวเมืองแห่งนี้นี่เองที่หนังของผมก็ปรากฏตัวขึ้น และนี่เองแหละมั้งที่ผมว่าเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างหนังของผมกับโลกใบนี้น่ะ”


หมายเหตุ

ภาพยนตร์ 7 เรื่องของเปโดร อัลโมโดวาร์ (What Have I Done To Deserve This? / Women on the Verge of a Nervous Breakdown / High Heels / The Flower of My Secret / All About My Mother / Talk to Her / Pain and Glory) จะมาฉายในเมืองไทยในโปรแกรม Retrospective ของ “เทศกาลภาพยนตร์สเปน” ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 11 พฤศจิกายน – 9 ธันวาคม 2021 ณ สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ (Alliance Française Bangkok) รายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่

RELATED ARTICLES