ความพยายามของคนภาพยนตร์ญี่ปุ่นในการรักษาโรงภาพยนตร์อาร์ตเฮ้าส์ท่ามกลางวิกฤติ COVID-19 และหลังจากนี้

ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้นไปถึง 15,000 ราย ขณะนี้ประเทศญี่ปุ่นกำลังสู้รบกับ COVID-19 จากในประเทศของตนเอง

การตอบสนองต่อสถานการณ์นี้เริ่มต้นขึ้นอย่างเชื่องช้า หนึ่งคือรัฐบาลไม่อาจรู้เลยว่าจะจัดการกับวิกฤติในเรือสำราญ Diamond Princess อย่างไร เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและไม่มีตำราใดๆ ให้อ้างอิง (ซึ่งเป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นไม่ถนัด) สองคือวิกฤตินี้เริ่มต้นขึ้นในขณะที่พวกเขากำลังวุ่นอยู่กับการเตรียมงานช่วงโค้งสุดท้ายก่อนโตเกียวโอลิมปิค ซึ่งจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า และรัฐบาลพยายามทำทุกทางที่จะผลักดันให้โอลิมปิคเกิดขึ้นให้ได้ โดยประเมินวิกฤตินี้ต่ำกว่าความเป็นจริง ทั้งตรวจน้อยและไม่มีมาตรการกักกัน

กระทั่งในที่สุดพวกเขาก็ต้องเลือกการตัดสินใจที่เจ็บปวดด้วยการเลื่อนการจัดโอลิมปิค และเริ่มใช้มาตรการต่างๆ อย่างจริงจังในเวลาต่อมา – แต่มันก็สายเกินไป และในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกงและที่อื่นๆ สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย เวทีการต่อสู้ของญี่ปุ่นนั้นเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น

ซึ่งมาตรการเหล่านั้นก็ประกาศใช้อย่างแปลกประหลาด – รัฐบาลไม่ได้บังคับให้มีการปิดกั้นอย่างเข้มงวด แต่เป็นเพียง “การขอ” ความร่วมมือจากสาธารณะหรือเรียกว่า “การขอให้ควบคุมตนเอง” ทั้งในเรื่องการล้างมือ, การสวมหน้ากาก, การอยู่บ้าน, ทำงานจากบ้าน, ปิดสถานที่ซึ่งผู้คนจะมารวมตัวกัน, ยกเลิกหรือเลื่อนการจัดงาน, ขอให้ไม่ไปปาร์ตี้ ฯลฯ คำขอนั้นคลุมเครือจนผู้คนต้องถามตัวเองหลายครั้งเช่น “ฉันควรยกเลิกการเดินทางหรือไม่?” “เราควรยกเลิกการแข่งขันชกมวยครั้งต่อไปหรือเปล่า?” และอื่นๆ ซึ่งวิธีนี้ของญี่ปุ่นก็ทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วโลกงงงวยไม่แพ้กับสื่อเลยทีเดียว

 รัฐบาลไม่ได้บังคับให้มีการปิดกั้นอย่างเข้มงวด แต่เป็นเพียง “การขอ” ความร่วมมือจากสาธารณะหรือเรียกว่า “การขอให้ควบคุมตนเอง”

สื่อไทยรายงานสิ่งนี้ว่ามันเป็นวิธีที่ ‘ใช้วิธีดูแลสุขลักษณะและการฝึกฝนแบบญี่ปุ่น’ ซึ่งก็จริงในระดับหนึ่งเพราะการล้างมือและสวมหน้ากากป็นสองสิ่งที่ญี่ปุ่นทำมานานหลายทศวรรษด้วยตัวเองโดยไม่เกี่ยวกับไวรัสโคโรน่า ถึงกระนั้นก็อาจมีอีกด้านหนึ่งของญี่ปุ่นที่รัฐบาลนำมาใช้ : คือการส่งสัญญาณการร้องขออย่างซ่อนนัย ซึ่งชาวญี่ปุ่นก็ต่างรับรู้ได้และเข้มงวดกับตนเอง เพื่อที่พวกเขาจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาใดๆ ต่อสาธารณะ รักษาตัวเองเพื่อค้นหาว่ามี “ผู้กระทำผิด” คนอื่นใดในสายตาและกดดันผู้กระทำความผิดหรือผู้ที่คัดค้านให้ปฏิบัติตาม วิธีการนี้ใช้พลังแห่งการ “กดดันกันเอง” แบบญี่ปุ่น ซึ่งก็ดูเหมือนว่าจะทำงานได้ในระดับหนึ่งเนื่องจากจำนวนผู้เสียชีวิตยังคงต่ำมาก (ประมาณ 566 รายในขณะที่เขียนนี้)

หากนอกเหนือจากความพยายามส่วนบุคคลแล้วนั้น ยังมีกลุ่มของกิจการโรงละคร ภาพยนตร์ ดนตรี และเหล่ากิจกรรมบันเทิง ที่เดิมตอบสนองต่อ “คำขอ” ของรัฐ และยกเลิกกิจกรรมของพวกเขาโดยสมัครใจ รวมถึงการปิดสถานที่จัดงาน ผลก็คือพวกเขาเป็นกลุ่มแรกที่ต้องประสบกับความยากลำบาก บางทีอาจจะมากที่สุดด้วยซ้ำ พวกเขาจึงเริ่มส่งเสียงทีละนิด เพื่อบอกว่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์จะตายลงหากรัฐไม่ให้ความช่วยเหลือ และเพราะว่านี่ไม่ใช่การปิดกั้นอย่างเป็นทางการ หากเป็นการขอความร่วมมือโดยสมัครใจ รัฐบาลจึงไม่จำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบใดๆ ต่อความสูญเสียที่เกิดจากการปิดทำการ

Image Forum หนึ่งในโรงภาพยนตร์อาร์ตเฮ้าส์ที่ญี่ปุ่น

คนดังคนแรกที่ออกมาพูดถึงความเสียหายนี้คือผู้กำกับและเขียนบทละครเวที Hideki Noda เขาตีพิมพ์แถลงการณ์อย่างเป็นทางการว่าด้วยการปิดโรงละครลงในเวบไซต์ของเขา ระบุว่าการปิดโรงละครคือความตายของวัฒนธรรมการละคร เพราะหนทางเดียวที่โรงละครจะสมบูรณ์แบบได้คือต้องมีผู้ชม ซึ่งต่างไปจากกิจกรรมกีฬา นอกจากนี้ผู้คนที่ทำงานในอุตสาหกรรมการละครนั้นมีชีวิตอยู่ได้จากรายได้ของการขายตั๋ว คนดังอีกคนคือผู้กำกับและเขียนบทละครอย่าง Oriaz Hirata ก็แสดงความเห็นด้วยในเรื่องนี้ หากคำแถลงดังกล่าวทำให้เกิดการถกเถียงออนไลน์อย่างมาก โดยนักวิจารณ์บางคนกล่าวหาว่าพวกเขาเป็นชนชั้นนำที่ดูถูกเรื่องกีฬาและกิจกรรมอื่นๆ ว่า “ไม่ใช่วัฒนธรรม” ขณะที่ทำให้หลายคนเริ่มคิดเกี่ยวกับบทบาทของผู้ชมระหว่างสิ่งที่เป็นและไม่เป็นวัฒนธรรมนั้นแตกต่างกันตรงไหน

การปิดโรงละครคือความตายของวัฒนธรรมการละคร เพราะหนทางเดียวที่โรงละครจะสมบูรณ์แบบได้คือต้องมีผู้ชม

จากนั้นก็มาถึงเสียงของฝั่งโรงภาพยนตร์ Takashi Asai ผู้บริหารของ ‘Uplink’ โรงภาพยนตร์อาร์ตเฮ้าส์ในโตเกียวและเกียวโตบอกว่า โรงภาพยนตร์อิสระ หรือที่เรียกกันในญี่ปุ่นว่า มินิเธียเตอร์ แบบเดียวกันกับโรงของเขากำลังจะตายเพราะให้ความร่วมมือกับคำขอจากรัฐบาล โรงภาพยนตร์ขนาดเล็กหลายแห่งในญี่ปุ่นที่ถูกปิดต่างก็ต้องดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดจากการที่มีผู้ชมลดลง และเพื่อแก้ปัญหานี้ เจ้าของโรงเล็กและผู้สร้างภาพยนตร์อินดี้บางคนเกิดความคิดที่จะเปิดตัวแคมเปญระดมทุนเพื่อสนับสนุนโรงภาพยนตร์ขนาดเล็กที่กำลังต่อสู้

ตัวอย่างภาพยนตร์ “Harmonium” กำกับโดย Koji Fukada หนึ่งในผู้ก่อตั้งกองทุน “Mini-Theatre AID”

หนึ่งในนั้นคือกองทุน “Mini-Theatre AID” ที่เริ่มต้นโดยผู้สร้างภาพยนตร์ Koji Fukada (“Harmonium” “A Girl Missing”) และ Ryusuke Hamaguchi (“Happy Hour” “Asako I & II”) ระดมทุนเพื่อสนับสนุนโรงภาพยนตร์ขนาดเล็กทั่วญี่ปุ่นเพื่อให้พวกเขาสามารถอยู่รอดได้ในช่วงเวลานี้ ทั้งในเวบไซต์ของกองทุน และในสื่อ พวกเขาต่างแสดงคำขอบคุณโรงภาพยนตร์ขนาดเล็กทั่วประเทศญี่ปุ่นที่ให้การสนับสนุนผู้สร้างภาพยนตร์อิสระและอาร์ตเฮ้าส์และนี่คือเวลาที่ผู้สร้างภาพยนตร์จะต้องตอบแทนคืนกลับบ้าง

นอกจากนี้พวกเขายังเน้นว่าโรงภาพยนตร์ขนาดเล็กเหล่านี้มีความสำคัญต่อผู้สร้างภาพยนตร์อย่างไรในการเรียนรู้ภาพยนตร์และวัฒนธรรมที่หลากหลายประเภทรวมทั้งชื่นชมความรักและความหลงใหลในภาพยนตร์ของพวกเขา กลุ่มคนทำหนังอิสระได้ให้การสนับสนุนโดยมอบหนังของพวกเขาตอบแทนผู้บริจาคซึ่งรวมถึง “Bangkok Nights” โดย Tomita Katsuya, “2 / Duo” โดย Nobuhiro Suwa และสารคดีเบื้องหลังการทำหนังเรื่อง “In This Corner of The World” มีโรงภาพยนตร์ 114 แห่ง และ 99 องค์กรเข้าร่วม โรงภาพยนตร์ที่เข้าร่วม ได้แก่ Uplink Shibuya และ Kichijoji, Image Forum, PorePore Highashi Nakano, Eurospace, Laputa Asagaya ในโตเกียว และ Kyoto Minami Kaikan, Demachiza ในเกียวโต ขณะที่เขียนบทความนี้ยังเหลือเวลาระดมทุนอีก 9 วัน โดยระดมได้แล้ว 230 ล้านเยน ซึ่งจะได้แจกจ่ายให้กับโรงภาพยนตร์และองค์กรต่างๆ ต่อไป

โปรเจกต์ ‘Temporary Cinema’

และยังมีความพยายามคล้ายๆ กันที่ริเริ่มโดยผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์อาร์ตเฮ้าส์อิสระอย่าง TOFOO Films โดยร่วมมือกับคนทำหนังสารคดีอย่าง Kazuhiro Souda (“Election” “The Big House”) Souda มีแผนที่จะฉาย Mental 0 หนังเรื่องล่าสุดของเขาซึ่งจัดจำหน่ายในญี่ปุ่นโดย TOFOO ในวันที่ 2 พฤษภาคม แต่ผลกระทบจากสถานการณ์ของ Corona Virus และวิกฤติการปิดโรงภาพยนตร์ ทำให้พวกเขาต้องตัดสินใจว่าจะเลื่อนฉายออกไปหรือจะหาวิธีอื่น และพวกเขาตัดสินใจว่าจะปล่อยฉายออนไลน์ในราคาเท่ากับราคาตั๋วของโรงภาพยนตร์ และเงินที่ได้จากการขายตั๋วก็ส่งคืนกลับโรงภาพยนตร์ซึ่งที่จริงผู้ชมก็ต้องไปดูที่นั่น และสิ่งนี้ช่วยให้พวกเขาเอาตัวรอดช่วงเวลานี้ไปได้ โปรเจกต์นี้ชื่อว่า ‘Temporary Cinema’ ซึ่งตัวมันทำงานแบบเดียวกับโรงหนังจริงๆ คุณเข้าไปเลือกโรง ซื้อตั๋ว และดูหนังออนไลน์ แต่ละโรงมีโฆษณาของตัวเอง มีคลิปขอให้ผู้ชมปิดโทรศัพท์มือถือ และงดถ่ายภาพจอภาพยนตร์ -คำขอแบบเดียวกับที่เห็นตามโรงหนังจริงๆ ต่างกันเพียงแค่ไม่มีการประกาศทางออกฉุกเฉิน และขอให้ผู้ชม ‘กลับไปชมภาพยนตร์ในโรงปกติอีกครั้งเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น’ ภาพยนตร์หลายเรื่องที่จัดจำหน่ายโดย TOFOO เช่น “Green Lie” “Tagore Songs” และ “Prison Circle” จะยังคงมีให้ชมใน Temporary Cinema สำหรับ “Mental 0” นั้นก็ฉายรอบปฐมทัศน์ทางออนไลน์เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมตามกำหนด และยังมี “การทักทายบนเวที” และถาม-ตอบโดยผู้สร้างภาพยนตร์เองอีกด้วย

Souda ได้เขียนไว้ในแถลงการณ์ของโครงการนี้ว่า

“เมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถออกฉายในโรงจริง ผมหวังว่าทุกท่านที่ดูหนังเรื่องนี้ในแบบ ‘Temporary Cinema’ จะออกไปโรงภาพยนตร์ใกล้บ้านท่าน และผมหวังให้ท่านได้รับประสบการณ์บางอย่างซึ่งแตกต่างไปจากการดูแบบออนไลน์โดยสิ้นเชิง และได้ค้นพบว่าโรงภาพยนตร์นั้นวิเศษอย่างไร เราตั้งใจจะจัดเสวนาเท่าที่มันจะเป็นไปได้ภายใต้การป้องความเสี่ยงของการติดเชื้อ เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกปลอดภัย แม้ขณะนี้เรายังคงไม่สามารถมารวมตัวในที่เดียวกันได้ ผมก็ยังคงเชื่อว่าถึงที่สุดมนุษย์ยังคงต้องการพบปะสังสรรค์กันอยู่นั่นเอง”

กระทั่งเมื่อข้อถกเถียงจากข้อเขียนของ Hideki Noda เริ่มรุนแรงขึ้น ผู้คนเริ่มตั้งคำถามถึงบทบาทของผู้ชมในความเป็น และไม่เป็นวัฒนธรรมของสิ่งต่างๆ ซึ่งแน่นอนการดูหนังก็เป็นหนึ่งในนั้น ต่างไปจากละคร การดูหนังอาจจะไม่จำเป็นต้องการผู้ชมใช่หรือไม่? ยิ่งกว่านั้น ขณะนี้มีผู้คนมากมายที่ดูหนังที่บ้าน ดูใน TV หรือแม้แต่ในโทรศัพท์ แล้วแบบนี้เรายังต้องการการ ‘พบปะสังสรรค์’ กันอย่างที่ Souda กล่าวไว้หรือเปล่า?

ขณะที่โครงการ Mini-Theatre AID มุ่งโฟกัสที่บรรยากาศของประสบการณ์รวมๆ ของการชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก กล่าวว่า

ไม่พักจำเป็นต้องกล่าวถึงการเลือกหนังมาฉายอย่างมีเอกลักษณ์ … หากยังรวมถึงแผ่นพับและสินค้าต่างๆ ที่ห้องขายตั๋ว ร้านค้า ของกินเล่น และบทความต่างๆ ที่แปะในลอบบี้เพื่อแนะนำหนังแต่ละเรื่อง ไปจนถึงใบปลิวและโปสเตอร์ของบรรดาหนังมาสเตอร์พีซที่เคยได้ฉายในอดีต การจัดแสดงในห้องโถงล้วนถูกทำขึ้นด้วยมือของสตาฟฟ์ในโรงนั้นๆ เอง และแน่นอน จอภาพยนตร์ ความรู้สึกของเก้าอี้ และสตาฟฟ์ที่สรรค์สร้างและควบคุมบรรยากาศของที่นั้นๆ… ทุกองค์ประกอบนี้ทำให้โรงภาพยนตร์เล็กๆ แต่ละแห่งเหล่านี้มีความเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนกัน เพราะความรักที่พวกเขามีต่อวัฒนธรรมภาพยนตร์ และมุมมองอันแตกต่างที่พวกเขามีต่อภาพยนตร์ นับตั้งแต่เราก้าวผ่านประตูเข้าไปเราก็สามารถที่จะได้ดูหนังในสถานที่อันแสนพิเศษ

โดยทั่วไปผู้ชมชาวญี่ปุ่นมักจะเงียบและไม่แสดงความรู้สึกอย่างเปิดเผยในโรงภาพยนตร์ พวกเขาไม่เก่งนักในการสร้างประสบการณ์แบบมีส่วนร่วมกับผู้ชมด้วยกันเอง หากแม้ว่าจะไม่มีการสนทนา แต่ด้วยการอ่านบทความในลอบบี้เงียบๆ ดูโปสเตอร์ หรือกินขนม ผู้ชมชาวญี่ปุ่นก็ได้สร้างประสบการณ์ร่วมของการไปชมภาพยนตร์ในแบบของตนเอง และต้องขอบคุณวิกฤติ COVID ที่ทำให้ผู้คนได้ตระหนักว่านี่คือความหมายของการ ‘พบปะสังสรรค์’

ตัวอย่างหนัง One Cut of the Dead

และการพบปะสังสรรค์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะในโรงภาพยนตร์ บรรดาคนทำหนังก็ปรารถนาจะกลับไปยังกองถ่ายและสตูดิโอเช่นกัน ในวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีการฉายรอบปฐมทัศน์ออนไลน์ของโปรเจกต์หนังสั้นที่ทำโดยทีมงานที่เคยทำ ‘One Cut of the Dead’ ในชื่อ ‘Mission Remote!’ ซึ่งว่ากันว่าเป็น ‘หนังที่ทำขึ้นโดยนักแสดงไม่เคยเจอกันเลย’ ทีมงานใช้เวลาเพียง 18 วันเพื่อจะทำหนังทั้งเรื่อง โดยส่วนของสารคดีเบื้องหลังและฉากที่อยู่ไม่อยู่ในหนังสั้นเรื่องนี้นั้น ถูกรวมอยู่ในโครงการ Mini-Theater AID ด้วย ซึ่งตัวโปรเจกต์หนังสั้นนี้ก็ตั้งใจทำขึ้นเพื่อร่วมในการช่วยเหลือโรงภาพยนตร์อิสระเช่นกัน

หนังสั้น One Cut of the Dead: Mission Remote ของ Shinichirô Ueda

อันที่จริง ในตอนที่ ‘One Cut of the Dead’ สร้างเสร็จนั้น ไม่มีโรงภาพยนตร์เครือใหญ่โรงไหนอยากจะฉาย เว้นแต่โรงภาพยนตร์อิสระ 2 โรง ที่ตกลงจะฉายหนังเรื่องนี้ จนเมื่อมันเริ่มได้รับความนิยมจากแรงเชียร์แบบปากต่อปาก และตัวหนังก็เกิดฮิตไปทั่วโลกอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนและทำลายสถิติของอัตราส่วนของรายรับเทียบกับทุนสร้าง (ในระดับมากกว่าพันเท่า) ซึ่งหากปราศจากโรงภาพยนตร์อิสระ “One Cut of the Dead” คงไม่แคล้วถูกกลบฝังในหลุมศพไร้ชื่อแบบเดียวกับหนังทุนต่ำอีกนับพันเรื่อง

ตอนที่ ‘One Cut of the Dead’ สร้างเสร็จนั้น ไม่มีโรงภาพยนตร์เครือใหญ่โรงไหนอยากจะฉาย เว้นแต่โรงภาพยนตร์อิสระ 2 โรงที่ตกลงจะฉายหนังเรื่องนี้

ผู้กำกับ Shinichirô Ueda ได้อธิบายถึงโครงการเอาไว้ดังนี้

เมื่อเดือนที่แล้วนี้เอง ผมเริ่มคิดว่าจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้ผมจะทำอะไรได้บ้าง และตัดสินใจที่จะทำหนังอย่างปัจจุบันทันด่วน ความตั้งใจของผมคือการทำหนังที่มันตลกและสนุกซึ่งจะทำให้ผู้ชมมีความสุขไม่ว่าจะยังไงก็ตาม!…กระนั้นมั้นก็มีสองฉากที่ผมอดร้องให้ไม่ได้ตอนที่กำลังตัด ก่อนหน้านี้ผมรู้ดีว่าหนังเรื่องนี้ได้กลายเป็นสิ่งที่ไปไกลเกินกว่าความคาดหวังของผมเอง ผมคิดว่าผมได้ทำหนังที่ส่วนหนึ่งจะมอบความบันเทิงให้ผู้ชม และส่วนหนึ่งเป็นการเยียวยาตัวผมเอง ผมคิดว่าผมได้สร้างบางสิ่งที่ผมสามารถจะทำได้เฉพาะในเวลา ‘ขณะนี้’ เท่านั้น โปรดดูหนังเรื่องนี้ ‘ตอนนี้’ บางทีหนังเรื่องนี้อาจะช่วยอารมณ์ของคุณสว่างไสวขึ้นได้บ้างตามที่ผมหวังไว้…

เช่นเดียวกันกับ ‘One Cut of the Dead’ หนังเริ่มจากเรื่องของผู้กำกับ Takayuki Higure (เล่นโดย Takayuki Hamatsu นักแสดงคนเดิม) ผู้ซึ่งนิยมทำหนังเกรดบีทุนต่ำทำเร็วๆ ครั้งนี้เขาได้รับข้อเสนออันไร้เหตุผลจากโปรดิวเซอร์ ให้ทำหนังดรามาอาชญากรรมโดยที่ทีมงานทั้งหมดต้องทำงานจากระยะไกล และต้องให้เสร็จภายในสิ้นเดือน แล้วก็เช่นเดียวกับหนังเรื่องก่อนหน้า ครอบครัวของผู้กำกับก็ต้องลงมาให้ความช่วยเหลือผู้กำกับเจ้าปัญหาอีกครั้ง ลูกสาวเจ้าปัญญามาพร้อมกับไอเดียที่จะไปขอให้ใครก็ได้ส่งวิดีโอเซลฟี่มาและบอกให้พ่อใช้ฟุตวิดีโอเซลฟี่นี้เป็นวัตถุดิบในการทำหนัง แล้วหนังก็ประกอบขึ้นจากสามโครงสร้างใหญ่นี้ กระบวนการทำหนัง หนังที่เป็นเส้นเรื่องหลัก และวิดีโอเซลฟี่ของจริงที่ถูกขอให้ส่ง SMS ไปยังโปรดิวเซอร์ของหนัง (ซึ่งมาจากวิดีโอ 305 ชิ้นจากทั่วญี่ปุ่นรวมไปถึงจากเกาหลี แคนาดา และ กัมพูชา)

นอกจากเรื่องของการที่คนทำหนังสามารถก้าวข้ามวิกฤติอย่างไร และเราจะสามารถทำหนังจากระยะไกลกันได้อย่างไรแล้วนั้น หนังยาว 27 นาทีเรื่องนี้ ได้แตะสัมผัสความจริงของสังคมญี่ปุ่นที่มีอยู่มายาวนาน ยาวนานก่อนการเกิดวิกฤติ Covid อย่างเรื่องของ สภาพการทำงานของเหล่าฟรีแลนซ์ -สำหรับรัฐบาลที่ฝักใฝ่เสรีนิยมใหม่ มันได้ทำให้เกิดภาะวะที่แรงงานนับล้านถูกแทนที่ด้วยลูกจ้างชั่วคราวที่ไม่ได้รับสวัสดิการใดๆ จากบริษัท และเฉพาะเพียงในโตเกียวที่เดียวก็มีคนอย่างน้อย 4,000 คนที่ถูกเรียกว่า ‘ผู้ลี้ภัยชาวร้านเนต’ ซึ่งคือบรรดาคนไร้บ้าน อาศัยในร้านเนตตลอดคืน และต้องไปไล่หาที่นอนหลังจากร้านเนตปิด – นอกจากนี้ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวของชาวญี่ปุ่นเองก็ได้กลายเป็นความสัมพันธ์ ‘ระยะไกล’ มากขึ้นเรื่อยๆ ครอบครัวที่มีชีวิตแยกขาดจากกันและกัน และพ่อที่ได้กลายเป็นคนแปลกหน้าของครอบครัวที่เหลือทั้งหมดเพราะเขามีเวลาให้ครอบครัวน้อยเหลือเกิน และเมื่อเราเห็น หน้าจอ ZOOM ในหนังที่แตกเป็นกรอบขีดกั้นแบ่งแยกคนแต่ละคน เราก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า – ประเทศญี่ปุ่นนี้เป็นประเทศของฮิคิโคโมริ (คนที่แยกตัวออกจากสังคม) อยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีโคโรนาไวรัสหรือเปล่า?

นอกจากเรื่องของการที่คนทำหนังสามารถก้าวข้ามวิกฤติอย่างไร และเราจะสามารถทำหนังจากระยะไกลกันได้อย่างไรแล้วนั้น หนังยาว 27 นาทีเรื่องนี้ ได้แตะสัมผัสความจริงของสังคมญี่ปุ่นที่มีอยู่มายาวนานก่อนการเกิดวิกฤติ Covid อย่างเรื่องของ สภาพการทำงานของเหล่าฟรีแลนซ์

ในทางหนึ่ง การที่ญี่ปุ่นต่างไปจากอิตาลีและสเปนที่ซึ่งครอบครัวและความสัมพันธ์ทางสังคมเป็นส่วนสำคัญของชีวิตประจำวัน วิกฤติ Covid-19 ได้กลายเป็นช่วงเวลาที่คนญี่ปุ่นเพิ่งจะเริ่มค้นพบว่า มันดีแค่ไหนที่จะได้ ‘พบปะสังสรรค์’ กัน และมันดีเพียงไรที่ได้มีการมีประสบการณ์ในกิจกรรมทุกประเภทร่วมกับคนอื่นๆ ทั้งในและนอกพื้นที่ส่วนรวม

ในตอนจบของ ‘Mission Remote!’ ภรรยาของผู้กำกับ Higure ถามลูกสาวของเธอว่าอยากทำอะไรหลังจากวิกฤตินี้สิ้นสุดลง และลูกสาวเธอตอบว่า

หนูอยากไปโดดไปเต้นในคอนเสิร์ต แล้วก็อยากไปดูละคร อยากไปหัวเราะในงานเดี่ยวไมโครโฟน อยากไปผับแล้วดื่มทั้งคืนกับเพื่อนๆ แล้วก็ไปดูหนังข้ามคืนในโรง ดูแบบเรื่องต่อเรื่องต่อเรื่องต่อเรื่อง… และที่สุดก็คือ หนูอยากออกไปข้างนอกแลัวไปถ่ายหนัง…อยากไปดูหนังโรงแล้ว…

แล้วน้ำตาเธอก็ไหลออกมาเธอไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเธอทำไมเธอถึงร้องไห้ แต่เธอก็ร้อง…

หนังจบลงด้วยผู้กำกับ Higure กล่าวขอบคุณผู้มีส่วนร่วมในภาพยนตร์และผู้ชม ‘พบกันใหม่ที่กองถ่าย’ และหลังจากหนังจบลง ผู้กำกับ Ueda ก็ปรากฏตัวขึ้นบนจอ และพูดกับบรรดาผู้ชมที่ได้ร่วมกันช่วยเหลือโรงภาพยนตร์ขนาดเล็กไว้ ก่อนจะลงท้ายด้วยประโยคเดียวกันว่า ‘แล้วพบกันใหม่ที่กองถ่าย’

ด้วยรอยยิ้ม

Keiko Sei
Keiko Sei is a Japanese writer and curator. She teaches media art and media activism worldwide for independent organizations/groups as well as for universities. In 2002 she started film education in Myanmar and helped founding Wathann Film Festival/Institute.

RELATED ARTICLES