Coreหนัง 11: Parallel – “หนังส่วนตัว” และ “การอุ้มหาย”

เมื่อวันเสาร์อาทิตย์ที่ 20 -21 มี.ค. ที่ผ่านมา มีกิจกรรมฉายภาพยนตร์ธีซิสของนักศึกษาภาพยนตร์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือที่รู้จักกันในชื่องาน ‘Coreหนัง’ ซึ่งครั้งนี้จัดมาเป็นครั้งที่ 11 และใช้ชื่อธีมว่า Parallel หากดูจากช่วงเวลาที่จัดจะพบว่าดูแปลกๆ ที่หนังธีซิสมาจัดฉายกันตอนที่กำลังก้ำกึ่งกำลังจะสอบปลายภาคเช่นนี้ แถมที่ผ่านมาก็มักเลือกฉายกันช่วงกลางปีเสียมากกว่า ความสงสัยนี้ติดอยู่ในใจตั้งแต่แรกเห็นทางเพจประกาศกิจกรรม

ผมเองติดตามงาน Coreหนัง มาตลอดหลายปี พอวันงานอดรนทนสงสัยไม่ได้ จึงได้สอบถามกับทางทีมงาน พบว่างานครั้งนี้เป็นงานของนักศึกษารุ่นที่จบไปแล้ว เป็นรุ่นที่ระหว่างพัฒนาตัวงานก็เจอสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสจนไม่สามารถออกกองถ่ายทำให้เสร็จลุล่วงได้ ในเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 24 จึงไม่มีภาพยนตร์ตัวธีซิสจบจากคณะวารสารฯ ธรรมศาสตร์เข้าร่วมฉายเลย แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย การเป็นเด็กเรียนภาพยนตร์ย่อมอยากให้ผลงานตัวเองส่งท้ายการจบการศึกษา น้องๆ รหัส 59 เหล่านี้ก็หยิบเอางานเหล่านี้มาพัฒนาถ่ายทำจนนำมาสู่งาน ‘Coreหนัง’ ครั้งนี้ 

ภาพรวมของหนังตัวจบของเด็กภาพยนตร์ วารสารฯ ธรรมศาสตร์มักจะมีความยาวมากเป็นพิเศษ บางปีมีความเฉลี่ยอยู่ที่ 50 นาที ในหลายๆ มหาวิทยาลัย การทำหนังที่มีความยาวเกิน 30 นาทีอาจจะมีสักเรื่องสองเรื่องในแต่ละปี แต่ที่นี่กลับกัน อย่างในปีล่าสุดนี้มีภาพยนตร์ทั้งสิ้น 6 เรื่อง โดยเป็นหนังที่มีความยาวไม่เกิน 30 นาที 2 เรื่อง ส่วนอีก 4 เรื่องนั้นแตะๆ หนึ่งชั่วโมงตลอด แถมหนึ่งในนั้นยังยาวถึง 90 นาที 

ทีนี้มาว่ากันรวมๆ ถึงหนังใน ‘Coreหนัง’ ปีนี้ 

พอจะแบ่งกลุ่มหนังทั้ง 6 เรื่องนี้ออกได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกนั้นผู้กำกับเอาประสบการณ์ส่วนตัวในเรื่องครอบครัวและความรู้สึกภายในมาผสมกับตระกูลภาพยนตร์ (Genre) กลายออกมาเป็นหนังที่พูดเรื่องตัวเองในทีท่าที่มากกว่าหนังดราม่า ในขณะที่อีกกลุ่มเป็นหนังประเด็นการเมืองสังคมที่หลายเรื่องมี “ความเดือด” และร่วมสมัยเข้ากับเหตุการณ์ที่เกิดในวันที่ฉายเมื่อวันเสาร์แบบเป๊ะๆ

หนังเรื่องแรกที่ผมได้ชมคือ โรงเรียนอลวน ชมรมอลเวง โดย จิรวัฒน์ โตสุวรรณ หนังมิวสิคัลว่าด้วยเด็กชายผู้เปลี่ยวเหงาและแปลกแยกได้มาเป็นเพื่อนกับผีทั้งสามในชมรมที่ 13 ในตำนาน หนังเพลงแบบนี้ดูเป็นความฝันของเด็กภาพยนตร์หลายคนที่อยากลองสร้างออกมา ก่อนหน้านี้หนังเพลงมักจะมีแต่นิสิตนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ที่สร้างกันปีละเรื่องสองเรื่อง มาปีหลังๆ ที่ซาๆ ไปบ้าง และ โรงเรียนอลวน ชมรมอลเวง เท่าที่ผมเคยได้ติดตามดู น่าจะเป็นหนังเพลงเรื่องแรกจากคณะวารสารฯ 

ตัวหนังเต็มไปเปี่ยมไปด้วยความทะเยอทะยาน เปิดฉากด้วยการถ่ายลองเทคในเห็นชีวิตของนักเรียนในโรงเรียนแห่งนี้ที่มีชมรมต่างๆ มีทั้งการร้องการเต้นตามขนบของหนังมิวสิคัล แม้จะดูขลุกขลักและไม่เนี้ยบอยู่บ้างแต่ฉากเปิดนี้ก็ชวนจดจำไม่น้อย 

สิ่งที่ผมรู้สึกว่าเป็นจุดเด่นในงานมากกว่าการร้องเพลงคือการเอาผีมาผสมกับหนังเพลง ซึ่งปกติดูไม่ค่อยจะเข้ากันเท่าไหร่ แม้ว่าผีในหนังเรื่องนี้จะไม่ใช่ผีน่ากลัว แต่ผีทั้งสามก็พอเผยให้เห็นถึงการถูกกดทับของวัยรุ่นไทยได้ อาจจะน่าเสียดายไปหน่อยที่หนังยังถ่ายทำไม่ครบ ซึ่งสงสัยเหมือนกันว่าถ้าหนังครบจะยาวขนาดไหนเพราะฉบับนี้ก็ 90 นาทีแล้ว 

อีกเรื่องที่มีดนตรีเข้ามาเกี่ยวพันกับตัวละครคือ แฟนคลับอันดับหนึ่งของคุณ โดย รัญญ์ สุขณรงค์ หนังที่สร้างจากความรู้สึกภายในของการเป็นแฟนคลับแล้วอยากจะปลอบประโลมใจกลับไปให้กับศิลปินที่เขาหรือเธอชื่นชอบ (ชวนให้นึกถึงหนังธีซิสจากรั้วศิลปากร เรื่อง แด่เธอผู้เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง ที่สร้างเมื่อสองปีที่แล้ว) รัญญ์ ผู้กำกับสร้างเรื่องให้ กอด หนึ่งในนักร้องวง Pastel Cloud เกิดเผชิญปัญหาร้องเพลงไม่ได้เพราะแม่ความจำเสื่อม แต่แล้ววันหนึ่งเขาก็เกิดเจอผีสาวที่เป็นแฟนคลับผู้พยายามทำทุกอย่างให้เขากลับมาร้องเพลงตามเดิมได้ 

ผมเกิดสนใจในการคิดบิ๊กไอเดียไม่น้อย ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่มักคุยกันกับเพื่อนๆ ผู้สนใจภาพยนตร์สั้นว่า อะไรคือภาพยนตร์ได้บ้าง เนื่องจากแต่ละมหาวิทยาลัยอาจมีการสอนวิธีคิดจุดเริ่มต้นของเรื่องที่ต่างกันออกไป ส่งผลให้โจทย์เดียวกันนี้หากถูกสร้างจากรั้วมหาวิทยาลัยต่างๆ จะมีคาแรคเตอร์บางอย่างที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างจากคณะที่ผมสอน ประเด็นแฟนคลับนี้ถ้าเป็นเด็กภาพยนตร์ศิลปากรเล่า เดาได้ไม่ยากว่าหนังจะออกมาโทนดรามาเรียบง่ายแทนการเล่าแบบแฟนตาซี 

แฟนคลับอันดับหนึ่งของคุณ มีจุดเริ่มที่แข็งแรงและน่าสนใจ แต่ในเชิงบทอาจยังต้องเพิ่มเติมเสริมแต่งให้เพราะปมปัญหาชัดๆ ของตัวละคร “กอด” นั้นยังไม่ถูกแก้ไขตรงๆ แต่ตัวละครกลับคลี่คลายเริ่มพลอยทำให้คนดูสงสัยไม่น้อยว่าเขาจัดการปมดังกล่าวได้จากจุดไหนกันแน่ และหน้าที่ของตัวละคร “จอย” ผีสาวที่เป็นภาพแทนผู้กำกับก็ยังถูกใช้ไม่เต็มศักยภาพนัก ไม่ว่าจะเป็นปมของเธอเองที่ก็ไม่แน่ใจว่าถูกคลี่คลายไหม ไหนจะเบื้องหลังตัวละครที่ยังไม่ได้ถูกเล่ามานักเลยทำให้ไม่รู้ว่าเธอคิดอะไรลึกๆ กันแน่ และที่สำคัญกลวิธีที่เธอมาช่วยเยียวยาใจศิลปินที่เธอรักก็ดูถูกใช้มาเล่าน้อยไปนิด

วิธีคิดเรื่องแบบนี้ปรากฏให้เห็นอีกในเรื่อง Memories of A Grey House ของ ธีรพล กิตติศิริพรกุล หนังยาว 78 นาทีเรื่องนี้เล่าเรื่องของธัญย์และแทน เด็กวัยมัธยมต้นที่มีพ่อผู้ไปมีครอบครัวใหม่ มีลูกใหม่ ทั้งคู่เลยไปร้านเวทมนตร์ในบ้านร้างเพื่อขอให้ครอบครัวเธอกลับมารักกันอีกครั้ง ในช่วง Q&A ธีรพล ผู้กำกับได้เล่าให้ฟังว่าเรื่องเหล่านี้มาจากประสบการณ์ส่วนตัวในชีวิตของเขาผสมผสานเขากับเรื่องการ์ตูนที่เขาชื่นชอบ เลยกลายเป็นหนังดรามาที่ผสมแฟนตาซีกึ่งๆ ย้อนอดีต

ธีรพลเลือกเล่าหนังเรื่องนี้คล้ายๆ กับขนบของการเล่าซีรีย์ดังๆ หลายเรื่องในตอนนี้ คือการออกแบบโครงสร้างเรื่องให้ผู้ชมได้เห็นเหตุการณ์ในปัจจุบันซึ่งเป็นผลลัพธ์ของรอยแตกร้าว ก่อนจะย้อนสลับเวลาด้วยเวทมนตร์ไปยังช่วงเวลาต่างๆ รวมถึงช่วงตรงกลางที่กลายเป็นบทสรุปของเรื่อง ตัวบทได้ทำให้ผมเกิดข้อสงสัยในตัวปมปัญหาของเรื่องเป็นอย่างมากว่า มันใช่เหตุที่พ่อกับแม่ต้องเลิกรากันจริงหรือ แต่เมื่อหนังดำเนินมาถึงซีนไคลแมกซ์ปมปัญหาตัวละครที่เผยให้เห็นความสัมพันธ์ของตัวละครก็ถูกคลี่ออกมา เลยทำให้มุมในการมองตัวละครเปลี่ยนไป รวมถึงตัวเราที่เป็นคนดูก็เกิดเข้าใจความเป็นไปมากขึ้นโดยเฉพาะของตัวละครพ่อ 

หากจะเสียดายก็ตรงที่หนังมีบางมุมที่น่าสนใจ อาทิ การที่พ่อไปมีครอบครัวใหม่แต่ก็ยังกลับมาเป็นเพื่อนและยังรักแม่อยู่ มุมนี้ (และมุมฝั่งผู้ใหญ่) เป็นมุมที่หนังเลือกที่จะไม่เล่าให้คนดูได้รู้เลย จุดนี้ถ้าถูกเพิ่มเติมในบทอาจทำให้ตอนจบที่เป็นบทสรุปแข็งแรงได้กว่านี้ 

หนังอีกกลุ่ม ถ้าพูดอย่างหยาบๆ ก็คงพอเรียกได้ว่าเป็นกลุ่ม “หนังการเมือง” เอาจริงๆ จุดเริ่มต้นของภาพยนตร์ก็มาจากความรู้สึกภายในเช่นกันเพียงแต่เป็นประเด็นสังคมมิใช่ปัญหาภายในใจเชิงครอบครัว 

ช่วงปี พ.ศ. 2563 หนังสั้นประเด็นการเมืองของนิสิตนักศึกษาที่ฉายในเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 24 นั้นมีเงื่อนไขบางประการได้แก่ การปิดรับภาพยนตร์ในสิ้นเดือนสิงหาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การประท้วงยังไม่ยกเพดานประเด็นที่พูด ส่งผลให้หนังสั้นนักศึกษาที่ถูกสร้างในช่วงเวลาก่อนหน้ายังมีท่าทีในการเล่าประเด็นที่ไม่แตะเพดานเท่าเวลาปัจจุบัน สิ่งที่ผมติดตามคือ นับแต่ที่ทนายอานนท์ นำภากล่าวปราศรัย ณ ราชดำเนินจนเพดานการอภิปรายในสาธารณะถูกขยับจนเราไม่เคยคิดฝัน แล้วหนังสั้นนักศึกษาไทยจะเป็นอย่างไรกันบ้าง

ทั้ง 3 Ways to Ged Rid of Mr. Tissue ของ กนกพล หรรษภิญโญ และ Colombe ของ จักรภัทร ทรงพลนภจร น่าจะเป็นหนังธีซิสนักศึกษาเรื่องแรกๆ ที่เป็นหมุดหมายของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์สั้นไทยในแง่ทั้งการผลิตและการออกเผยแพร่ว่านี่คือหนังสั้นที่ถูกสร้างหลังจากคำปราศรัยของทนายอานนท์ 3 Ways to Ged Rid of Mr. Tissue เล่าเรื่องในลีลาเหนือจริงและแอบเสิร์ดว่าด้วยบริษัทหนึ่งที่มีประธานบริษัทเป็นกระดาษทิชชู่ พนักงานทั้งสี่ที่อาจจะพอแทนสมการได้ว่าใครเป็นภาพแทนของคนกลุ่มไหน ถกเถียงกันถึงความไม่เหมาะสมที่กระดาษทิชชู่จะทำหน้าที่นี้ผ่านกฎบริษัท ในแง่วิธีการเล่า 3 Ways to Ged Rid of Mr .Tissue ใช้วิธีการแบบหนังแก๊กเล่าไปทีละมุกตลก (หนังแบบเรื่องเป็นสี่ตอน) ซึ่งถูกใช้จนพรุนแล้ว เลยทำให้คนดูอาจไม่ว้าวเท่าไหร่ยามได้ชม รวมถึงสัญญะการแทนค่าต่างๆ ที่เอามาใช้ก็ชวนคิดไม่น้อยว่าเถียงกันผิดประเด็นหรือเปล่านะ

ในขณะที่ Colombe เลือกทางที่เล่าอย่างสมจริงด้วยท่าทีจริงจัง หนังผสมเอาเรื่องการเผยปัญหาในโรงเรียนที่คนเปิดโปงมันถูกต่อว่าเชิงทำชื่อเสียงโรงเรียนเสียหายเข้ากันกับประเด็นทางการเมืองร่วมสมัย ตัวเรื่องเริ่มเมื่อเด็กสมาชิกชมรม Colombe ได้เห็นการใช้อำนาจบาตรใหญ่ของสารวัตรนักเรียนที่จัดการกับเด็กผู้หญิงที่โพสต์ต่อว่าโรงเรียน จนนำไปสู่การพยายามเชิญชวนให้นักเรียนทุกคนมาร่วมประท้วง 

ตัวหนังเลือกใช้โรงเรียนมาเป็นเวทีจำลองสถานการณ์การเมืองไทย โรงเรียนนั้นถูกใช้เป็นภาพจำลองปัญหาและเป็นอุปลักษณ์เล่าแทนภาพอำนาจที่อยู่เหนือสังคมไทย ก่อนหน้านี้เรามักพบหนังนักศึกษากลุ่ม “โรงเรียนเผด็จการ” แบบเดียวกันกับ Mary is Happy, Mary is Happy ของนวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ โรงเรียนเหล่านั้นมักมีแต่งกายด้วยเครื่องแบบเฉพาะและมีกฎประหลาด อาทิ ต้องบูชาเห็ด ฯลฯ ให้นักเรียนต้องปฏิบัติตาม ตัวละครเอกมักเป็นนักเรียนใหม่ที่พึ่งย้ายเข้ามาแล้วตั้งคำถามรวมถึงท้าทายกฎที่ว่า แต่ใน Colombe แม้จะใช้โรงเรียนมาเป็นฉากหลักเช่นกันแต่ก็เลือกเล่าให้ท่าทีสมจริงและเลือกใช้สัญญะแทนกลุ่มคนที่เห็นปุ๊บก็รู้ปั๊บ เช่น สารวัตรนักเรียนทั้งสามที่มี “ครู” หนุนหลังผู้ใช้กำลังจัดการกับนักเรียนที่ “ชังโรงเรียน” เป็นต้น ไม่ต้องตีความอะไรมากก็รู้ว่าพวกนี้เป็นภาพแทนใคร ทั้งกร่างทั้งหลงอำนาจเสียขนาดนั้น 

ผมเองเป็นอาจารย์ที่ได้แลกเปลี่ยนกับนักศึกษาบ่อยครั้ง จุดที่นักศึกษาของผมมักอินเป็นพิเศษในช่วงปีที่ผ่านมาคือกรณีการบังคับบุคคลให้สูญหายของนักกิจกรรมหลายคน โดยเฉพาะเคสของคุณวันเฉลิม เป็นประเด็นที่นักศึกษาของผมรู้สึกร่วมด้วยมากๆ ผมคิดว่าคุณจักรภัทร ผู้กำกับเรื่อง Colombe เองก็คงรู้สึกไม่ต่างกัน (ในวันฉายรอบวันอาทิตย์ เขาพับนกกระดาษซึ่งเป็น motif ในหนังไปวางไว้ใต้เก้าอี้นั่งเพื่อมอบให้ผู้ชมด้วย) ซึ่งหนังของเขาเองก็มีการพูดถึงเรื่องนี้ ซึ่งการบังคับบุคคลให้สูญหายนี้ก็เชื่อมมาสู่ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายคือ Bangkok Tradition ของ ฐามุยา ทัศนานุกูลกิจ

Bangkok Tradition เป็นหนังสุดเดือดและพบได้น้อยนักที่นิสิตนักศึกษาจะเล่าหนังประเด็นนี้ และด้วยวิธีที่สุดเดือดเช่นนี้ หนังย้อนไปในยุค พ.ศ. 2530 พนักงานพิมพ์เอกสารหญิงสามคนในหนังสือพิมพ์แห่งหนึ่ง (ที่พูดจาเชือดเฉือนจิกกัดกันจนเราเข้าใจหัวอกตัวละครทั้งสาม) ที่หวังว่าสักวันจะได้เป็นนักข่าว โดยบังเอิญหนึ่งในนั้นได้พบแฟ้มข่าวที่เจ้าของเคสหายไปลึกลับและพบว่าข่าวดังกล่าวกำลังจะเปิดโปงคดีฆาตกรรมที่เกิดในผับแต่แอบแฝงขายตัวซึ่งเป็นหนึ่งในการแพร่เชื้อเอดส์ในยุคสมัยนั้น

ท่าสนใจไม่น้อยว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้ผู้กำกับที่เกิดราวๆ ปี พ.ศ. 2540 เกิดสนใจประเด็นที่ก่อนตัวเองเกิดเกือบสิบปี แถมการรับรู้คนปัจจุบันต่อเชื้อ HIV และโรคเอดส์ก็เปลี่ยนไปจากสมัยก่อนที่กลัวกันถึงระดับ “แตะแล้วตาย” กลายเป็นโรคที่ใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่ได้น่ากลัวแบบภาพในอดีต

คุณฐามุยา ผู้กำกับกล่าวในช่วง Q&A ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าชวนให้คิดถึงความรู้สึกของผู้คนที่หวาดกลัวโรคเอดส์ในสมัยก่อน เธอจึงเริ่มค้นคว้าหาข้อมูลในเชิงข้อเท็จจริงและความรู้สึก (หนึ่งในฉากที่ถูกทำออกมาได้ดีมากๆ คือฉากชักเท้าหนีเลือดที่กำลังไหล) และหนึ่งในข้อมูลที่ได้พบคือมีผู้คนที่ถูกบังคับให้สูญหายเพราะไปเกี่ยวพันกับเรื่องพวกนี้ เธอรู้สึกว่าไม่ว่าเวลาผ่านไปนานขนาดไหนแต่ “อุ้มหาย” นี้ก็ยังคงมีอยู่ และกลายเป็นเหมือน “ธรรมเนียม” ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา จนนำมาสู่ชื่อเรื่อง ส่งผลให้หนังเรื่องนี้แม้จะเล่าเรื่องโรคเอดส์แต่ก็กลับร่วมสมัยไม่ว่าจะถ่ายทอดภาวะความหวาดกลัวของผู้คนต่อไวรัสที่มองไม่เห็นนี้รวมถึงการถูกอุ้มหายตลอดช่วงระยะเวลา 7 ปีมานี้ 

นี่คือหนังทั้งหกเรื่องที่ฉายในงาน ‘Coreหนัง’ ครั้งที่ 11 น่าติดตามกันต่อไปไม่น้อยว่าในงาน ‘Coreหนัง’ ครั้งที่ 12 ของนักศึกษารหัส 60 แว่วมาว่าน่าจะมีขึ้นในเดือนกันยายนปีนี้จะเป็นเช่นไร ความคุกรุ่นในจิตใจทั้งเรื่องส่วนตัว สังคมและการเมืองจะถูกนักศึกษาหยิบมาเล่าอย่างไรอีก ซึ่งคงต้องติดตามกันต่อไปช่วงกลางปีนี้ครับ 

RELATED ARTICLES